เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 48054 ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 พ.ค. 11, 10:35

อีกตอนหนึ่งที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าถึงสมเด็จฯ

“ผมเองเคยมีประสบการณ์แปลกในเรื่องนี้
ครั้งหนึ่งได้รับข่าวว่า อุปัชฌาย์ของผมคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ กำลังจะสิ้นพระชนม์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมก็รีบวางการงานทั้งหมดและรับไปที่นั่น
จะไปดูใจอาจารย์ ว่ายังงั้นเถิด
พอไปถึงก็เห็นท่านนอนเงียบหลับตาสนิท ชีพจรก็ไม่มี หมอบอกว่าท่านหายไปสิบแปดชั่วโมงแล้ว แต่ที่ยังรู้ว่าท่านยังไม่สิ้นพระชนม์ ก็เพราะท่านยังอ่อนและยังอุ่นอยู่บ้าง

ตอนนั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จฯมาเยี่ยมพระอาการ และประทับอยู่ข้างนอกห้องประชวรแล้ว
หมอเอาเข็มฉีดยามาจิ้มที่แขนสมเด็จ ฯ แล้วทูลถามที่ข้างพระกรรณท่านด้วยเสียงธรรมดาว่า

“สมเด็จ พ่ะย่ะค่ะ ทรงรู้สึกเจ็บบ้างไหม”

หมอทำอยู่อย่างนั้นสองสามครั้ง ท่านก็นอนเฉย ผมจึงบอกว่าหมอว่า ถึงตอนนี้เข้าขั้นปรมัตถ์แล้ว อย่ามัวไปใช้มารยาทหรือราชาศัพท์กับท่านอยู่เลย ต่อกันไม่ถึงหรอก
ผมเอาเอง ถ้าไม่ฟื้นก็หมดทางกันละ
ว่าแล้วผมก็จับแขนท่านแรง ๆ แล้วตะโกนที่หูของท่านกึกก้องไปทั้งโรงพยาบาลว่า

“สมเด็จ ! สมเด็จ ! หายไปไหนนั่นน่ะ กลับมาก่อนเหอะ !ในหลวงเสด็จมาประทับอยู่นอกห้องแล้ว !”

ท่านก็ลืมตาขึ้นมาเห็นหน้าผม ท่านก็รับสั่งว่า
“เอ็งเสือกมาทำไมอีกล่ะ”
เพราะท่านทรงเมตตาผมมาก

ผมลงกราบรับพรท่าน แล้วท่านก็ลุกขึ้นนั่ง บอกพระที่อยู่ในห้องว่าอยากกินหมากสักคำ พระก็หัวเราะบอกว่าหายแล้ว และหาหมากมาถวาย
พอท่านทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ท่านก็ห่มผ้าเรียบร้อยและนั่งอยู่บนเตียง
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้ามา ท่านก็ถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นปกติ

อีกสองสามเดือนต่อมา ผมไปเฝ้าท่าน ทูลถามว่าวันนั้นท่านหายไปไหนมาตั้งสิบแปดชั่วโมง ชีพจรก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ท่านตอบว่า
“ตัวเป็นกับตัวตายมันเป็นเส้นสองเส้น มีขนาดเท่านิ้วก้อย เวลายังมีทุกข์อยู่มันก็อยู่ห่างกัน แต่ถ้าพอมันทับกันได้เป็นเส้นเดียวกันก็สิ้นทุกข์”

ผมบอกว่า เออ ! สมเด็จทำเหมือนกับเล็งกล้องถ่ายรูปไลก้า แล้วยังไง

ท่านตอบว่า “ของข้ามันกำลังจะทับกันเป็นเส้นเดียวดีอยู่แล้ว พอดีเอ็งมาร้องเอะอะ สิ้นสมาธิ เส้นมันก็เลยแตกจากกัน ข้าก็เลยเดือดร้อนมาจนถึงเดี๋ยวนี้

ผมก็ทูลว่า ไม่รู้นี่ว่าสมเด็จฯ กำลังจะหาโฟคัส สงสัยก็ตะโกนถามดู

ต่อมาอีกสองปี ผมได้ข่าวว่าท่านกำลังจะสิ้นพระชนม์อีก รับไปเฝ้า เห็นหมอเขาต่อสายไว้เต็มองค์ ดูไปเหมือนถังประปา ไม่ใช่สมเด็จอุปัชฌาย์ของผมเสียแล้ว
และผมก็รู้ว่าท่านตั้งโฟคัสของท่านให้เส้นทับกันเรียบร้อยแล้ว
ผมก็ไม่ตะโกนเรียกท่านอีก
เพราะถังประปาที่หมอต่อท่อไว้นั้น ถึงจะตะโกนเรียกก็คงไม่ขานรับ”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 พ.ค. 11, 10:48

ผู้ปฏิบัติธรรม ที่เคยฝึกเรื่องฌาน หรือสมาธิ  คงจะพอเข้าใจว่าสมเด็จฯ ท่านทรงหมายถึงอะไร เกี่ยวกับเส้นเป็นและเส้นตาย     เราทุกคนที่ยังอ่านข้อความนี้ได้อยู่  ล้วนแต่มีเส้นสองเส้นในระยะห่างกันอยู่ทั้งนััน   จึงยังมีทุกข์อยู่ด้วยกันทุกคน   มากบ้างน้อยบ้าง
สมเด็จฯทรงเปรียบเทียบง่ายๆ   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เล่าด้วยภาษาง่ายๆ เป็นกันเองระหว่างสมเด็จฯกับท่าน     อ่านแล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเย็นเกินเข้าใจ      จะไปยากอีกครั้งก็ตรงที่ยังปฏิบัติไม่ได้ เท่านั้นเอง

ที่ยกตัวอย่างมานี้ เพื่อจะอธิบายถึงความเป็นนักประพันธ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่าท่านมีลีลาการเขียนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร    เรื่องของสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงวชิราญาณวงศ์ ถ้าจะเล่าใหม่ให้ยากขึ้น ก็เล่าได้
ดูตัวอย่าง

"สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  มีนามเดิมว่า ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์    ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสูติตั้งแต่พระบรมชนกนาถยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ทรงพระเยาว์  ณ วัดบวรนิเวศ   สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นเจ้าอาวาส  และเป็นพระอาจารย์
สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงสอบครั้งแรกได้เปรียญ ๕ ตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณร  ต่อมาทรงได้เปรียญ ๗ เป็นพระมหาชื่น  เมื่อพระชันษา ๒๐ ปี    เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นเจ้าอาวาสที่เข้มงวดกวดขัน   พระมหาชื่นจึงคิดลาสิกขามาเป็นฆราวาส  จึงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ก่อนจะถึงฤกษ์สึก   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่วัดบวรนิเวศ    เมื่อทรงทราบก็มีพระกระแสรับสั่งทัดทานพระมหาชื่น ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้รู้บาลีหาตัวจับยาก    พระมหาชื่นจึงเปลี่ยนความตั้งใจ ขออยู่ในเพศบรรพชิตต่อไปตลอดพระชนมายุ"

ก็เนื้อความเดียวกัน   แต่รสของภาษาผิดกันลิบลับ   อย่างหลังนี้เขียนถูกต้องตามข้อมูล  แต่ไม่ใช่ภาษาของนักประพันธ์
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 พ.ค. 11, 09:00

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบาตรสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 พ.ค. 11, 11:16

นอกจากเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ แล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังเขียนบทละครไว้จำนวนหนึ่งด้วย     บางเรื่องเขียนเพื่อนำออกแสดงทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม    ในช่วงทศวรรษ 2500
อย่างเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง ลูกคุณหลวง ในพ.ศ. 2503    เรื่องนี้คุณบอย ถกลเกียรตินำมาทำเป็นละครเวทีซ้ำเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

เนื้อเรื่อง ลูกคุณหลวง   มีส่วนคล้ายละคร(และหนัง) เรื่อง Mamma Mia  ที่ชาวเรือนไทยบางคนอย่างคุณ SILA คงเคยดูมาแล้ว  แต่ไม่ได้ดัดแปลงมาแน่นอน เพราะลูกคุณหลวง เขียนขึ้นก่อน MM เกือบสามทศวรรษ

เรื่องเปิดฉากขึ้นที่บ้านของผกามาศ   สาวใหญ่อดีตนางเอกละครรำและละครร้องชื่อดัง เมื่อประเทศไทยมีโทรทัศน์เธอก็หันมาเป็นนางเอกจอแก้ว    เธอมีลูก 3 คน คือ  พิชัย  อัปษร และลูกชายคนเล็กชื่อ ศรีธรณ์ โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว   ลูกทั้งสามรู้แต่ว่าพ่อเป็นคุณหลวง ผู้เป็นผู้ดีเก่าและถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ลูกๆยังเล็ก    เห็นแต่รูปซึ่งติดอยู่ในห้องรับแขก

วันหนึ่ง  พิชัย และอัปษร แจ้งข่าวแบบสายฟ้าแลบแก่ผกามาศว่า ทั้งคู่จะแต่งงานกับลูกสาวลูกชายของคุณนายพูนทรัพย์ เจ้าของโรงงานน้ำปลาผู้ร่ำรวย ทำให้ผกามาศกลุ้มใจมาก   เพราะเธอมีความลับสุดยอดที่เก็บซ่อนไว้ไม่เคยให้ใครรู้มาก่อน นอกจากหมอพรเพื่อนเก่าแก่    ว่าความจริงคุณหลวงในรูปนั้นเป็นใครก็ไม่รู้     ผกามาศไปเจอรูปเข้าที่ร้านขายของเก่าเวิ้งนาครเขษม  เห็นลักษณะภูมิฐานเหมาะจะอุปโลกน์เป็นพ่อของลูกทั้งสามคน   ก็เลยซื้อมาด้วยราคาสิบสลึง  แขวนประดับห้องรับแขก   แล้วบอกว่าเป็นพ่อ

ที่สำคัญที่สุดคือ  ลูกสามคนเกิดจากสามพ่อ!!!
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 พ.ค. 11, 14:31

        ผกามาศเปิดเผยความจริงให้ลูกๆทุกคนฟังว่า พ่อของแต่ละคนเป็นใคร มาจากไหน    ทุกคนต้องการแต่งงานกับเธอ แต่เธอเลือกที่จะไม่แต่งและหนีพวกเขาไป จนไปพบอีกคน  เป็นแบบนี้ซ้ำกันทุกครั้ง      เธอส่งจดหมายไปเชิญพ่อของลูกๆ ทั้งสามมาที่บ้านพร้อมกัน เพื่อที่จะเลือกใครคนใดคนหนึ่งมาแต่งงานด้วย ให้เป็นหลักเป็นฐาน  เพราะลูกๆที่แต่งงานจะได้มีพ่อตัวจริงเสียที
 
        เมื่อพ่อทั้งสามมาตามจดหมายเชิญ  ก็พบว่าทุกคนยังรักผกามาศไม่เสื่อมคลาย และดีใจที่พบว่าตัวเองมีลูก   ต่างคนต่างเต็มใจจะแต่งงานกับเธอ  ลูกๆก็พากันเชียร์พ่อของตัว   ลงคะแนนโหวตกันก็ไม่สำเร็จ  เพราะกลายเป็นว่าแต่ละคนได้คะแนนจากลูกตัวเองคนละ 1 เสียง เท่ากัน   ผกามาศก็ปวดหัว  จนต้องตัดสินใจเลือกเอง เมื่อคุณนายพูนทรัพย์มาถึง    คือเลือกคุณหลวงในรูปเป็นสามี  ส่วนสามีตัวจริงทั้งสามก็กลายเป็นเพื่อนคุณหลวง   
       ผกามาศโล่งอกที่ทุกอย่างจบลงด้วยดี  และก็โล่งอกเมื่อรู้ความลับจากคุณนายพูนทรัพย์ว่า  ลูก 2 คนของคุณนายก็หาใช่ลูกของเถ้าแก่เจ้าของโรงน้ำปลาไม่   แต่เป็นลูกใครก็ไม่รู้แบบเดียวกับผกามาศ    ในที่สุดเธอก็สรุปว่า...ขอให้ทุกคนคิดว่าเป็นลูกคุณหลวงเหมือนกันก็แล้วกัน
      จบ

      เรื่องนี้โดยตัวของมันน่าจะเป็นเรื่องเครียด   เพราะพูดถึงปัญหาสังคมหนักๆทั้งนั้น   ไม่ว่าปัญหาลูกไม่มีพ่อ   ปัญหาหญิงหลายสามี   ปัญหาแม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง( single mom)    แต่วิธีเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้เรื่องหนักเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเบาได้หมด     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 18 พ.ค. 11, 14:06

หลักการเขียนเรื่องตลก ข้อหนึ่งก็คือความไม่คาดคิด หรือพลิกผันในเหตุการณ์      คนเขียนปูพื้นเรื่องเหมือนจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่แล้วก็กลับเป็นอีกอย่างหนึ่งที่คนอ่านไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน    แต่ความไม่คาดคิดนั้น จะต้องเป็นไปได้      ความขำก็เกิดขึ้นตรงนี้
"ลูกคุณหลวง" มีความพลิกผันแบบนี้แทรกอยู่ทั่วไปในเรื่อง  จากเรื่องเล็กๆ  แล้วไปถึงเหตุการณ์ใหญ่ในตอนจบ   เป็นการปูพื้นให้เรื่องเดินไปในแนวเดียวกัน    ความสนุกของคนอ่านก็จะถูกจูงไปตามรอยนี้    ไม่สับสน

เมื่อผกามาศเล่าให้ลูกๆฟังว่า พวกเขาเกิดจากพ่อสามคน     ลูกๆเริ่มงุนงง   ฟังแม่เล่าอดีต คลี่คลายปมให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น   คนอ่านก็พลอยลุ้นไปด้วยกับลูกทั้งสามคน       ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ใช้ลูกเล่น "ความไม่คาดคิด" แทรกเข้าไปเป็นระยะ

อัปษร          คุณแม่คะ  ถึงตาหนูหรือยัง
ผกา            หนูพูดยังกะเล่นหมากเก็บ   เอาละ อยากรู้แม่จะเล่าให้ฟัง    ตอนหนูอัปษรเกิด แม่เป็นนักร้อง   เลยได้รู้จักคุ้นเคยกับคุณเอื้อ....
(หมายเหตุ   คุณเอื้อ ในที่นี้หมายถึงครูเอื้อ สุนทรสนาน  นายวงดนตรีสุนทราภรณ์ซึ่งโด่งดังมากในยุค 2500)
อัปษร  (ตบมือดีใจ)  คุณเอื้อ! ..... หนูเคราะห์ดีจัง ได้เป็นลูกคุณเอื้อ
ผกา           ไฮ้! อัปษร เอาอะไรมาพูด     หนูไม่ใช่ลูกคุณเอื้อสักหน่อย( อัปษรแสดงท่าผิดหวัง)  คุณเอื้อแกแนะนำให้แม่รู้จักกับพ่อหนูต่างหาก
อัปษร          โธ่! หนูหลงดีใจเกือบตาย
********************
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 พ.ค. 11, 14:09

อีกตอนหนึ่ง   เมื่อผกาเล่ามาถึงพ่อของศรีธรณ์

ผกา            ตอนศรีธรณ์จะเกิด  แม่ขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่หน้าหนาว     แม่ได้รู้จักใครต่อใครหลายคนที่เชียงใหม่    บังเอิญแม่ไปพักโรงแรมเดียวกับหม่อมคึกฤทธิ์...
ศรีธรณ์        (สะดุ้งโหยง ร้องเสียงหลง)   หม่อมคึกฤทธิ์   งั้นผมก็เป็นหม่อมหลวงซีคุณแม่!
               (หมายเหตุ   ถ้าเป็นละคร  เหตุการณ์ตอนนี้จะต้องเว้นจังหวะชั่วอึดใจหนึ่ง   ก่อนผกาจะตอบ)
ผกา            ศรีธรณ์ละก็ชอบตีตนไปก่อนไข้เสมอ    แม่รู้จักหม่อมแกเฉยๆเท่านั้น

(ถึงตรงนี้ ก็จะเป็นช่วงที่คนดูฮากัน)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 20 พ.ค. 11, 21:21

ฝีมือนักประพันธ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์  อีกแบบหนึ่ง คือการปรุงรสของนิยายหรือเรื่องสั้นจากของฝรั่งมาเป็นไทย เหมือนเอาซุปมาทำเป็นต้มยำได้ ไม่ปร่าไม่เฝื่อนเลย
ต้องขออธิบายพื้นหลัง ว่า ในสมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์เริ่มเขียนหนังสือ คือสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงใหม่ๆ จนถึงหลังปี 2500     รสนิยมของวรรณกรรมบันเทิงในยุคนั้น ตรงข้ามกับปัจจุบัน      เรื่องแปลจากฝรั่งไม่เป็นที่นิยมของคนอ่านเท่ากับเรื่องไทย   
คนไทยชอบอ่านเรื่องรสชาติไทยๆ  แม้จะเป็นไทยที่กลิ่นอายเป็นฝรั่ง  เช่นพระเอกสวมหน้ากากดำ แต่งเสื้อกางเกงดำล้วน ออกปฏิบัติการอย่างเร้นลับยามค่ำคืน     ในยุคที่ชายไทยยังสวมเชิ้ตขาวนุ่งกางเกงสีขาวหรือกากีกันทั้งเมือง  ไปไหนก็นั่งสามล้อ   คนอ่านก็ยังอยากอ่าน ตราบใดที่ชื่อพระเอกเป็นไทยและฉากก็ยังเป็นประเทศไทยอยู่  แม้เนื้อเรื่องไม่ใช่ไทยเลยก็ตาม

ยุคนั้นยังไม่มีคำว่าลิขสิทธิ์   นักเขียนสามารถดัดแปลงเรื่องจากต่างประเทศได้โดยไม่ต้องบอกที่มา  คือจะบอกก็ได้ ไม่บอกก็ได้   บอกไปก็ดี      ไม่บอกก็ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องเสียหาย
หลายเรื่องที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เขียน จึงมีที่มาจากเรื่องต่างประเทศ     แต่ว่าไม่ได้เป็นการคัดลอก หรือแปลงนิดๆหน่อยๆ ประเภทเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็นไทยเท่านั้นพอ

อย่างเช่นเรื่องสั้นชื่อ ฆาตกรรมจากก้นครัว  ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด "เพื่อนนอน"   ท่านนำมาจากเรื่องสั้นอเมริกันชื่อ Recipe for Murder   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 24 พ.ค. 11, 08:46

    พยายามไปหาในกูเกิ้ลว่า Recipe for Murder เป็นเรื่องสั้นของใคร แต่ก็ยังไม่เจอ   พิมพ์รวมในชุดเรื่องสั้นของ Alfred Hitchcock

    ฝีมือการประพันธ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อยู่ที่ดัดแปลงเรื่องจากคดีสาวใหญ่ชาวฝรั่งเศส ถูกผู้กำกับตำรวจสอบสวนคดีต้องสงสัยว่าฆ่าสามีเศรษฐีไปถึง 2 คน   เธอก็รับสารภาพว่า เธอเป็นลูกสาวของอดีตศิษย์หัวกะทิของพ่อครัวเอกของโลก   พ่อถ่ายทอดวิชาปรุงอาหารให้หมด     จึงนำมาปรนเปรอสามีจนตายไปทั้งสองคน     
    เมื่อนำมาเป็นเรื่องไทย  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ดัดแปลงมาดามสาวใหญ่เป็นคุณนายองุ่น เศรษฐินีวัย 40 ที่ยังพริ้งเพราทั้งรูปร่างหน้าตา    นั่งอยู่ในเรือนไทยหลังโอ่โถงในชนบท    เคยเป็นนางข้าหลวงในวัง ประจำอยู่ในห้องเครื่อง จนปรุงอาหารชาววังได้ไม่มีใครเทียบ   เมื่อแต่งงาน พบว่าสามีเป็นคนเลวทั้งคู่  เธอก็ทนไม่ได้ ต้องกำจัดเสีย

   สำนวนข้างล่าง เป็นฝีมือท่านล้วนๆในการบรรยายกับข้าวชาววัง  ชวนให้น้ำลายไหลอย่างยิ่ง

   " เช้าขึ้นมาก็ใช้อาหารเบาแต่มีประโยชน์ ไข่ลวกแต่พอดีบ้าง ไข่ดาวทอดให้เต็มจานน่ารับประทาน ไม่สุกไม่ดิบเกินไป บางทีก็ไข่เจียวแบบฝรั่ง ใส่ไส้เซี่ยงจี๊บ้าง เห็ดบ้าง ไก่บ้าง แล้วก็ต้องมีนมสด มีขนมปังกาแฟพร้อม ถ้าเห็นจะเบื่อ ดิฉันก็พลิกแพลงไปเป็นไข่ไก่ผิงไฟแบบไทยๆ ทานกับข้าวตุ๋นร้อนๆเอากำลัง    มื้อกลางวันดิฉันก็ใส่สำรับเข้าไปเต็มเพียบ ใช้อาหารน้อยชนิด แต่ทำให้ชวนกิน บางวันก็กับข้าวฝรั่ง ใช้เนื้อสันบ้าง ลิ้นวัวบ้างถ้าหาได้ ดิฉันก็ให้รับหอยนางรมสดๆ บางวันก็ยักย้ายไปเป็นพวกขนมจีน ขนมจีนบ้านนอกหรือเจ้าคะจะมาสู้ขนมจีนในวัง..................แต่ของดิฉันไม่อย่างนั้น น้ำพริกของดิฉันต้องคั่วถั่วทองให้หอมแล้วโขลก ใส่มันกุ้ง  ใส่ปูทะเล ขนมจีนแป้งสดหัวเล็กๆ  เหมือดหั่นเป็นฝอย   ขยำน้ำมะนาวให้ขาวสะอาด รับกับทอดมันกุ้งฝอย ทอดให้กรอบ ผักทุกชนิดทอดกรอบ    มีทั้งไข่ต้มไข่ดาวทอดกรอบเช่นเดียวกัน ถ้าถึงหน้าร้อนดิฉันก็ตั้งข้าวแช่ กะปิทอดเม็ดเล็กๆน่ารับประทาน หอมสอดไส้ พริกทอดโรยไข่เป็นฝอยอย่างมือชาววังเท่านั้นจะทำได้     ผักก็มีมะม่วงดิบ แตงกวา กระชาย ต้นหอมจักเป็นรูปต่างๆ น้ำข้าวก็แช่น้ำแข็งใส่ดอกกระดังงา มะลิอบควันเทียนเสียก่อน ก่อนจะรับก็โรยพิมเสนเล็กน้อย     ยามบ่ายก็มีของว่าง ไส้กรอก ปลาแนมบ้าง ขนมแป้งสิบบ้าง บางทีก็หมูแนมแข็ง อาหารค่ำก็มีสำรับเต็มที่พร้อมทั้งของเคียง หมี่กรอบของดิฉันหาที่ติมิได้ แกงก็มีแกงปลาไหล ปูเค็มตัวเล็กๆคลุกหัวกะทิใส่มะดัน บางทีก็แกงมัสมั่นไก่ทั้งตัวใส่มันฝรั่ง ยำทวาย หั่นผักกองเป็นกองๆให้น่าดู ก่อนจะรับจึงให้ราดน้ำ เครื่องจิ้มก็ต้องดูให้ถูกต้อง ถ้าเป็นผักต้มกะทิก็ตำน้ำพริกให้เหลวสักน้อย ถ้าเป็นผักดิบก็ตำให้ข้น ถ้าเป็นปลาร้าหลนก็ใส่กะลามะพร้าวขัดมัน ถ้าถึงฤดูก็น้ำพริกปูนา เอากระดองปูตัวเล็กๆประดับ จิ้มสายบัวผักกระสัง............
   


ขอหมายเหตุว่า   เพื่อนนอนชุดที่พิมพ์ใหม่  ปรู๊ฟผิดหลายแห่งน่าเสียดายมาก  แสดงว่าผู้พิสูจน์อักษรไม่รู้จักอาหารโบราณ  แกงบวนก็กลายเป็นแกงบวด    ไข่เจียวไส้เห็ดก็เป็นไข่เจียวไส้เป็ด   ต้นหอมจักเป็นรูปต่างๆ ก็กลายเป็นต้นหอมจัดเป็นรูปต่างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 24 พ.ค. 11, 16:25

ถ้าเอ่ยถึงเรื่องสั้นของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะมองข้ามเรื่อง "มอม" ไปไม่ได้   เชื่อว่าเรื่องนี้ผู้อ่านคนไหนไม่รู้จักคงไม่มี เพราะเป็นเรื่องสั้นในตำราเรียนชั้นมัธยมด้วย

เรื่องนี้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนไว้ในคำนำว่า  เมื่อเขียน ท่านทำใจเป็นหมา  เขียนด้วยความรู้สึกของหมา   ขณะเขียนก็เสียน้ำตาไปไม่รู้เท่าไร     ผลก็คือคนอ่านเสียน้ำตาไปเหมือนกัน  เมื่อติดตามความรู้สึกนึกคิดของหมา   ทั้งความสุข ความรัก ความไร้เดียงสา ความทุกข์และท้ายสุดคือความหวัง     จนบางคนอาจรู้สึกว่า เมื่อมอมหัวใจสลายเพราะสูญเสียนายหญิงและลูกไปจากภัยสงครามโลก  คนอ่านก็เหมือนหัวใจสลายตามไปด้วย     เมื่อมอมได้นายกลับมาอีกครั้ง   หัวใจคนอ่านจำนวนมากที่เคยยุบแฟบลงไป ก็พองฟูขึ้นมาอีก

ความสามารถที่ทำให้คนอ่านจะเป็นจะตายตามเรื่องไปด้วยได้เช่นนี้    เรียกว่าฝีมือการประพันธ์   ทำได้มากเท่าใดก็เป็นยอดฝีมือมากเท่านั้น

-ความรักของหมา  (ซึ่งหมาเท่านั้นจะรักได้แบบนี้)
พอมอมจำความได้มันก็รู้ว่ามีคนมุด เข้าใต้ถุนบ้านนั้นบ่อยๆ อีกคนหนึ่ง มันรู้สึกว่ามีคนนั้นมาอุ้มชูลูบคลำมันเล่นเสมอ มอมมันคันเขี้ยวซึ่งกำลังจะขึ้น มันก็กัดมือนั้นเล่นบ้าง เลียเล่นบ้าง บางที่เจ้าของมือนั้นก็ยกตัวมันขึ้นใกล้ๆ ติดกับหน้า มอมมักกระดิกหางดีใจจนตัวสั่น เลียหน้า เลียปาก คนๆ นั้นก็ไม่ว่า ปล่อยตามใจมัน มอมมันจำกลิ่นไว้ได้ กำหนดสัญญาไว้ว่าคนๆนั้นเป็นนายของมัน แล้วมันก็รัก

ประโยคอมตะในเรื่อง ที่บรรยายความรักของมอมไว้สั้นๆ แต่ความหมายกว้างใหญ่ไพศาล

มอมมันโตวันโตคืนจนกลายเป็นหนุ่มใหญ่ แม่หายไปจากโลกของมัน ซึ่งเดี่ยวนี้เหลือแต่นาย มอมไม่ได้รักนายเท่าชีวิต แต่นายเป็นชีวิตของมอม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 24 พ.ค. 11, 16:32

ประโยคท้ายที่พิมพ์ตัวแดงไว้นั้น   ทางภาษาเรียกว่า ภาพพจน์ หรือภาษาภาพ ( Figures of Speech  หรือ Figurative language)
มอมไม่ได้รักนายเท่าชีวิต  = Simile  หรืออุปมา   คือการเปรียบเทียบว่าอะไรเหมือนอะไร หรืออะไรเท่ากับ

อะไร  เป็นการเปรียบเทียบที่ดึงออกมาเฉพาะส่วน    อย่าง ขาวเหมือนหิมะ    คือเทียบความขาวอย่างเดียว ไม่ได้เทียบลักษณะอย่าง

อื่นเช่นความเย็นหรือเป็นเกล็ด
แต่นายเป็นชีวิตของมอม    = metaphor หรืออุปลักษณ์  คือเทียบทั้งหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะส่วน     
ถ้าเทียบขนาดแล้ว  อุปลักษณ์ก็ใหญ่กว่าอุปมา     

ถ้ามอมรักนายเท่าชีวิต   มอมก็ยังมีชีวิตของตัวเองที่รักเท่าๆกับรักนาย   ถึงนายตายไปมอมก็ยังอยู่ได้ แม้เศร้าโศกเสียใจ  แต่ถ้าพูดว่า

นายเป็นชีวิตของมอม     แปลว่าถ้าไม่มีนาย ชีวิตมอมก็ไม่เหลืออะไรเลย
มีนักประพันธ์น้อยคนนักที่จะจำแนกการเปรียบเทียบทั้งสองอย่างให้เห็นชัดได้  แค่เขียนสองประโยคเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 25 พ.ค. 11, 18:31

ตอนเด็กๆอ่านเรื่องมอม ก็เข้าใจเรื่องตามที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียน  ว่าเป็นยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒  วันหนึ่งนายก็หายไปจากบ้าน นานๆถึงส่งข่าวมาสักที   ดังที่ท่านบรรยายไว้ว่า

มอมมันรู้แต่ว่านายจากบ้านไปนานแต่สักวันหนึ่งนายจะกลับ ระหว่างนี้มันก็ได้แต่จะคอยนาย มันหารู้ไม่ว่านายถูกระดมไปเป็นทหาร ไปอยู่ไกลไม่มีกำหนดกลับ และนายผู้หญิงซึ่งไม่มีรายได้อะไรเลยก็ได้แต่ขายของเก่าไปทีละชิ้น  และต้องครองชีพไปอย่างอดมื้อกินมื้อ บางวันนายผู้หญิงต้องยอมอดเพื่อให้ลูกได้กิน หรือมิฉะนั้นก็ต้องกิน แต่น้อยเพื่อให้มอมซึ่งผัวฝากไว้ได้กินอิ่มๆ

     พอเป็นผู้ใหญ่ ก็เกิดคำถามขึ้นว่า
     ๑)เหตุใดนายผู้ซึ่งเป็นพลเรือน มีฐานะพอสมควร เพราะมีบ้านของตัวเอง มีภรรยาและลูกเล็กๆ ๑ คน  เช้าไปทำงาน  เย็นๆก็กลับบ้าน  แสดงว่าอายุต้องไม่ใช่เด็กหนุ่มวัยเกณฑ์ทหาร   และทำงานทำการอยู่แล้ว  เหตุใดกองทัพจึงระดมคนแบบนี้ไปกองทัพ   ทหารประจำมีไม่พอหรือ   แล้วเด็กหนุ่มที่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหารไม่มีอีกหรือ   ถึงต้องมาเอาคนที่ทำงานแล้วมีครอบครัวแล้วไปประจำกองทัพ   มิหน้ำซ้ำ ต้องไปเป็นทหารอยู่ไกลลิบ    ห่างจากบ้านชนิดวันหยุดก็ไม่ได้กลับมา  หายหน้าไปเป็นปีๆอีกด้วย
     ๒)ในเมื่อในสงครามโลกครั้งที่ ๒   ไทยได้ยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกัน   บ้านเมืองจึงไม่มีสงครามไทย-ญี่ปุ่น   ส่วนพันธมิตรฝรั่งนั้นก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิด      ไม่มีการรบแบบยกทัพเข้าประจัญบานกัน       ถ้าอย่างนั้นนายไปประจำการอยู่ที่ไหนนานเป็นปีๆ    ถ้าไปเชียงตุง (ซึ่งเป็นที่เดียวที่ดิฉันนึกออกตอนนี้ ว่าไกลบ้านจนกลับมาเยี่ยมไม่ได้) ก็น่าจะเป็นทหารอาชีพมากกว่าพลเรือนถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร
    ๓)เป็นทหารแบบนาย ไม่มีเบี้ยเลี้ยง  หรือเงินเดือนที่จะส่งให้ลูกเมียทางบ้านมารับไปหรือ    นายผู้หญิงถึงต้องอดมื้อกินมื้อ ไม่มีรายได้อื่น   เงินเดือนของนายไปอยู่ที่ไหน    ในเมื่อนายก็มารับเงินเดือนต้นสังกัดไม่ได้อยู่ดี
    ๔)คนไทยมีญาติพี่น้องกันมากมาย เพราะไทยชอบนับญาติ  จึงมีทั้งคำว่า ญาติสนิท และญาติห่างๆ    แสดงว่าญาติเยอะจนต้องจัดกลุ่ม      นายผู้หญิงอยู่ในเมืองหลวงแท้ๆ ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวหลังเขา   เหตุใดจึงหาญาติไม่ได้เลยสักคน    แม้แต่ญาติของสามีก็ไม่เห็นมี       ครอบครัวนี้อยู่กันผิดลักษณะคนไทยโดยทั่วไปมาก
    ๕)ความจริง ถ้านายผู้หญิงจะพึ่งตัวเอง ก็สามารถค้าขายเล็กๆน้อยๆ หรือรับจ้างทำงานอะไรก็ได้    แต่ก็ดูเหมือนเธอจะทำอะไรไม่เป็นเอาเลย นอกจากขายของไปทีละอย่างสองอย่างจนหมดบ้าน     ผิดลักษณะหญิงไทยร่วมสมัยอยู่มาก   เพราะผู้หญิงไทยจำนวนมากแม้ว่าเป็นม่าย บางคนมีลูกเล็กๆหลายคน    ก็ขวนขวายหาเลี้ยงตัวเองและลูกจนได้
    เอา ๕ ข้อก่อน  ข้อ ๖ จะตามมาทีหลัง
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 28 พ.ค. 11, 16:29

ขอแทรกโฆษณาหน่อยครับ





บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 01 มิ.ย. 11, 22:02

ชีวิตแสนสุขของมอมมาถึงจุดจบ เพราะสงครามพรากนายไปห่างไกลยังไม่พอ   ระเบิดยังปลิดชีวิตนายผู้หญิงและหนูลูกเล็กๆของนายไปด้วย   หัวใจของมอมสลายลงในตอนนั้น   เช่นเดียวกับหัวใจคนอ่านจำนวนมากที่อ่านมาถึงตอนนี้   แค่บรรยายผ่านเสียงหอนของมอมเพียง ๒ ประโยคเท่านั้น    นับเป็นฝีมือของผู้ประพันธ์ที่ยากจะหาใครเทียบได้

"เสียงหอนของมันทำชาวบ้านแถบนั้นวังเวงใจ  เพราะมันเป็นเสียงคร่ำครวญของหมาพันธุ์ทางตัวหนึ่งที่หัวใจแตกสลายลง"  

มอมซัดเซพเนจรไปจนได้มาอยู่กับนายใหม่ เป็นเด็กหญิงใจเมตตาลูกสาวเศรษฐี     มอมอยู่สบายกายแต่ใจก็ไม่เคยลืมนายเก่าจนแล้วจนรอด   จนวันหนึ่งมอมก็เจอนายอีกครั้ง ในสภาพชายตกอับ ที่ต้องกลายเป็นโจรเพราะหมดทางหากิน
นายเล่าให้มอมฟังว่า

"เขาส่งข้าไปไกล ข้าไม่ได้ข่าวคราวจากใครเลย พอกลับมาบ้านเขาก็บอกว่าบ้านไฟไหม้หมด ลูกเมียถูกระเบิดตาย งานการที่ข้าเคยทำคนอื่นเขาก็เอาตำแหน่งไปหมดแล้ว ไม่มีใครเขาจะมาคอย ข้าหมดหนทางจริงๆ มอมเอ๋ย แต่เอ็งอย่านึกว่าข้าลักขโมย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก พอดีพบเอ็ง เอ็งก็ทำให้ข้าต้องอาย ทำไม่ลง"

มาถึงข้อ ๖
เกิดคำถามว่านายไปเป็นทหาร   แม้ปลดประจำการแล้วก็ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินตอบแทน  ไม่มีผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนฝูงที่ไปรบร่วมกัน  พอจะพึ่งพาได้เลยหรือ   สังคมไทยตอนหลังสงครามโลกจบลงใหม่ๆ แม้ว่ายากจนและลำบากขาดแคลน   แต่สภาพสังคมก็ยังใกล้ชิดกว่าสมัยนี้   อย่างน้อยก็มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงพอเกื้อหนุนกันได้
นายของมอม ทั้งนายชายนายหญิงดูช่างพร้อมใจกันไร้ญาติขาดมิตรและเพื่อนฝูงกันจริงๆ

อย่างไรก็ตาม  ถึงมีข้อกังขาเหล่านี้ ก็ยังเป็นประเด็นเล็กน้อย   ไม่ได้ใหญ่จนบดบังประเด็นใหญ่ของเรื่อง  คือความจงรักภักดีของหมาตัวหนึ่งไปได้

มอมติดตามนายไปในคืนนั้น อย่างไม่เสียเวลาลังเลแม้แต่น้อย  เพราะมอมอยู่กับเจ้าของกี่คนก็ตาม แต่มอมมีชีวิตเดียว    ชีวิตของมอมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของนายคนแรก   สมกับที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บรรยายไว้แต่ต้นว่า  มอมมิได้รักนายเท่าชีวิต แต่นายคือชีวิตของมอม
นายยอมแพ้จิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ ซื่อสัตย์และจริงใจของหมาตัวหนึ่งอย่างราบคาบ     หัวใจคนอ่านก็ละลายลงไปให้มอมเช่นกัน
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 02 มิ.ย. 11, 19:57

ผมชอบประโยคหนึ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เขียนไว้ในหนังสือ เรื่องของคนรักหมา ว่า

"สุนัขมันเขียนประวัติศาสตร์ด้วยฉี่ของมัน"



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง