มัสกอด ดิฉันเข้าใจว่ามาจากเมืองแขกค่ะ รอคุณเพ็ญชมพูและคุณ siamese มาเฉลยดีกว่า
คุณเทาชมพูเข้าใจถูกต้องแล้ว
จากบทความเรื่อง
ตามรอย สำรับแขกคลองบางหลวง โดย ธีรนันท์ ช่วงพิชิต นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๑๙๔ เดือน เมษายน ๒๕๔๔
มัศกอดกอดอย่างไร น่าสงสัยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ ขนมนามนี้ยังแคลง
อ่านกาพย์บทนี้จบแล้ว อดรู้สึกคล้อยตามไม่ได้ โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายที่ว่า "ขนมนามนี้ยังแคลง" ด้วยนึกสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมขนมชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า "มัศกอด" เมื่อสอบถามเรื่องนี้ กับคุณย่าคุณยาย ท่านเล่าว่า "มัศกอด" ก็คือ "ฮะหรั่ว" ชนิดหนึ่ง นอกจากฮะหรั่วขาว และฮะหรั่วแดงที่เล่ามาแล้ว ยังมีฮะหรั่วอีกประเภทหนึ่ง ที่เวลากวน ใช้น้ำมันเนยแทนกะทิ กวนค่อนข้างยาก เมื่อจวนสุกจะใส่ "มะด่ำ" หรือเมล็ดอัลมอนด์บุบ ปนไปในเนื้อขนมด้วย รสชาติจะหอมเนยเป็นพิเศษ เรียกฮะหรั่วชนิดนี้ว่า "ฮะหรั่วเนย" หรือ "ฮะหรั่วมัศกอด" บางคนเรียกว่า "ฮะหรั่วมัสกัด"
ชื่อ มัศกอด นั้น มาจากชื่อเมือง มัสกัต (Muscat) เมืองท่าบริเวณปากอ่าวโอมาน ในอดีต หากจะเดินทางจากประเทศเปอร์เชีย (อิหร่านในปัจจุบัน) จะต้องเดินทางโดยทางเรือ ผ่านอ่าวเปอร์เชียออกอ่าวโอมาน จอดเรือพักที่เมืองมัสกัต แล้วจึงออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
ขนมนี้ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ตาม เสน่ห์ของมันอยู่ที่เวลากิน จะต้องห่อด้วยแผ่นลุดตี่ ซึ่งยังเล่าค้างอยู่อีกชนิดหนึ่ง ที่ต้องกินควบกับฮะหรั่ว
"ลุดตี่" ที่ว่านี้ทำจากแป้งข้าวเจ้าเช่นกัน โดยนำน้ำแป้งมาเกรอะ หรือทับน้ำออกให้เหลือเฉพาะเนื้อแป้ง นำมานวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน นำก้อนแป้งนี้ไปต้มในน้ำเดือดพอสุก จากนั้นนำมานวดอีกครั้ง จนเนื้อแป้งเนียนนุ่ม แบ่งแป้งออกเป็นก้อนกลม ๆ ขนาดพอเหมาะ แล้วบดด้วยไม้บดแป้ง ที่ทำจากปล้องไม้ไผ่สั้น ๆ แผ่เป็นแผ่นกลม สมัยปู่ย่าตายาย จะแผ่แป้งบนก้นขันลงหินที่คว่ำอยู่ รองแป้งด้วยใบตอง คลึงแผ่แป้งจนได้ขนาดเท่ากับก้นขันลงหิน แล้วจึงนำไปปิ้ง บนกระทะร้อนจนสุกเสมอกัน เราเรียกแผ่นแป้งชนิดนี้ว่า "ลุดตี่" นำมาห่อฮะหรั่ว ก็จะได้ขนมที่รสกลมกล่อมไม่หวานเกินไป
