เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 10348 ควรเขียนภาษาโบราณอย่างไรในยุคนี้ให้พอเหมาะพอดีสำหรับผู้รับสารครับ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 11:57

ข้อเสนอของคุณเทาชมพูเป็นไปได้  

แต่ในหนังสือจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ซึ่งแปลโดยคุณสันต์ ท. โกมลบุตร จากต้นฉบับฝรั่งเศส  แปลว่า "มัน"

ถ้าหาก man = มึง

ลา ลูแบร์ก็ตกหล่นคำว่า "มัน"

ฤๅ ลา ลูแบร์แยกไม่ออกระหว่างเสียง "มึง" กับ "มัน"

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
nattoutataki
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 10 ต.ค. 11, 14:29

Cou, ca, raou, atamapap, ca Tchaou, Ca- ppa tchaou, atanouc = กู   ข้า  เรา  อาตมภาพ   ข้าเจ้า   ข้าพเจ้า  อัตโน
Roub    คำนี้นึกไม่ออกเลย

Of the Pronouns of the Second and Third Persons.

Teu, Tan, Eng, Man, Otchaou =  เธอ   ท่าน   เอ็ง   มึง  คำสุดท้าย  Otchaou  นึกไม่ออกอีกแล้ว


Roub คือ รูป ครับ
พระเก่าๆ เช่นสมเด็จโต ท่านมักใช้พูดแทนตัวเอง

Otchaou คือ ออเจ้า ครับ
บันทึกการเข้า
nattoutataki
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 10 ต.ค. 11, 14:32

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกท่านครับ

วันหนึ่งในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสคุยโทรศัพท์กับเพื่อนคนหนึ่ง เราโม้กันด้วยเรื่องจิปาถะสักครู่ ผมก็ชวนเธอคุยเรื่องภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ถามว่าไปดูมาหรือยัง รู้สึกอย่างไรบ้าง ประโยคแรกที่เธอกล่าวคือคำบ่น “เราปวดหัวกับภาษาในบทหนังมากเลย” จากนั้นตามด้วยปรัศนี
“คนโบราณพูดจากันฟังยากๆถึงขนาดนั้นเลยหรือ” ผมแย้งไปว่า “ไม่ยากนะ” แล้วเราก็เปิดประเด็นอภิปรายกันครับ ยังมิทันได้ข้อสรุป เธอก็ติดธุระเสียก่อน หลังจากวันนั้น เราไม่สนทนากันเรื่องนี้อีก แต่ความคำนึงยังกรุ่นในสมองผม เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า นักเขียน หรือผู้เขียนบันเทิงคดี (ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม) หากจะเขียนเรื่องราวยุคเก่า ควรสรรคำอย่างไร ถ้าให้โบราณสมยุคมากที่สุด คนอ่าน/ฟังส่วนหนึ่งก็โวยว่ายากต่อความเข้าใจ ไม่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเยาวชน  ครั้นทำให้โบราณแต่น้อย ผู้เสพอีกกลุ่มก็อาจวิจารณ์ได้ว่า ภาษาไม่เหมาะกับท้องเรื่อง ฉะนั้น ท้ายที่สุด ผมจึงใคร่ขอความเห็นจากทุกท่านเกี่ยวกับกรณีนี้ครับ สมมุติเล่นๆว่า ผมกำลังเขียนบทละคร โดยกำหนดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แม่ผกากำลังปรับทุกข์ด้วยอ้ายแกล้วผู้สามี ลีลาวาจาต่อไปนี้ ควรปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไรครับ

   ผกา: “ตรับข่าวชาวกรุงระบืออื้ออึงกัน เศิกครานี้ พระเจ้าหงสาวดีทรงคุมพลแสนยาเสด็จมาเอง แลทวยทกล้าพม่ารามัญอเนกอนันต์นัก ข้าวิตกมิรู้วายเลยพี่”
อ้ายแกล้ว: “เจ้าจักทังวลไย พหลแห่งอโยธยามื้อนี้ดั่งเทวาพยุหะ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าองค์จุมพลข้างฝ่ายเราทรงพระปรีชาสามารถลือเลื่องกระเดื่องก้องไปทั่วทิศานุทิศ พระราชชโยบายหลักแหลมล้ำลึก ทั้งมากด้วยพระมหากฤษฎาธิการ ทัพม่านทัพมอญ เพียงพรับตาก็จักพินาศดุจแมลงเม่าเข้าเพลิง เจ้าคอยยลเถิด”
ผกา: “กระนั้น ข้าค่อยคลายใจ ว่าแต่พี่จะออกเศิกโดยเสด็จพระองค์ท่าน ระมัดตนด้วยหนา พี่ข้าเหิมห้าวกร้าวกระด้าง ข้าเกรง...”
อ้ายแกล้ว: “มัวหวาดนั่นหวั่นนี่มิเข้าทีเลยเจ้า ในสนามรณรงค์สงครามผู้ใดจักขลาดคร้ามหดหัวดั่งเต่าเอากระดองคุ้มตัวอยู่ได้ ศัตรูมันจักไยไพ ไหนๆประจญประจัญกันแล้ว ก็ต้องเหิมต้องเหี้ยมถึงที่สุด พี่ออกยุทธ์มิรู้กี่คราหาเคยเพลี่ยงไม่ เจ้าวางใจเถิดผกาเอ๋ย ผัวเจ้ามิตายดอก”


   นี่เป็นตุ๊กตาที่ผมทดลองทำขึ้น ผิดพลาดอย่างไร กราบขออภัยทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   
 



ขอพูดตรงๆ ครับ ไม่เหมาะสมเลยครับ
อ้ายแกล้ว ฟังแล้วคงไม่ได้เป็นขุนน้ำขุนนางอะไร เพราะเรียกขึ้นชื่อว่าอ้าย
แล้วจะพูดจาด้วยภาษาเขียนอย่างนี้ได้ยังไงครับ
ถ้าเอาให้เหมาะ ภาษาลูกทุ่งแหละดี ไม่ได้จงใจขัดฅอนะครับ แต่ขอเรียนว่า
คนสมัยก่อน เฃาก็ไม่ได้พูดจากันอย่างนี้ครับ ภาษาพวกนี้มีไว้เขียนหนังสือครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 10 ต.ค. 11, 15:03

คุณ nattoutataki จะลองเขียนภาษาลูกทุ่งของอ้ายแกล้ว ให้อ่านกันสักนิดไหมคะ   เผื่อให้คุณชูพงศ์นึกภาษาออก
บันทึกการเข้า
nattoutataki
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 11 ต.ค. 11, 18:41

ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษครับ ผู้ชายก็ใช้สรรพนาม เอ็งฃ้า หรือเรียกตัวว่าพี่เรียกผู้หญิงว่าน้อง
ผู้หญิงเรียกผู้ชายพี่ก็โอเคแล้ว แต่เรียกตัวว่าฉัน
เติมคำเสริมน้ำเสียงมากๆ เช่น น้องเอ๋ย พี่จ๋า ให้มันเป็นภาษาพูด
คำภาษาเขียนก็ลดๆ ลงไปบ้างครับ
เช่นคำว่า
ตรับ เศิก ทวยทแกล้ว (คำว่าทวยทกล้าไม่มีครับ ถ้าจะใช้จริงๆ ให้ใช้ ทแกล้ว) อเนกอนันต์ วิตกมิรู้วาย พหล เทวาพยุหะ จุมพล ลือเลื่องกระเดื่องก้อง ทิศานุทิศ กฤษฎาธิการ จัก ยล โดยเสด็จ ระมัดตน เหิมห้าวกร้าวกระด้าง สนามรณรงค์ เพลี่ยง (ซึ่งจริงๆ แล้วปกติจะพูดว่า เพลี่ยงพล้ำ) ฯลฯ
คำเหล่านี้ ถ้าจะเอาให้สมจริง เวลาพูดออกจากปากคนแบบลักษณะสนทนา เฃาไม่พูดออกมาครับ เพราะมันต้องแต่งถ้อยคำก่อนแล้วค่อยพูด ถ้าเขียนเป็นจดหมาย ใช้อ้ายแกล้วเขียนถึงผกา ก็เอาให้เต็มที่ครับ จะสวยยังไงก็ได้ แต่ไม่ใช่คุยกันธรรมดาอย่างนี้ ถ้าแค่คุยกัน ระดับนี้ก็พอครับ

ผกา "ยินมาแต่ในกรุงเฃาลือกันทั่ว ว่าศึกนี้เจ้าหงสาฯ มันคุมทัพมาเอง ไพร่พลพม่ารามัญมืดฟ้ามัวดิน อกใจฉันไม่อยู่กะเนื้อกะตัวเลยพี่"
แกล้ว "เอ็งจะหวาดหวั่นไปไย ไพร่พลฝ่ายเราครานี้สีมือกล้าแข็งปานทัพเทวดา ข้างเหนือหัวจอมทัพเรารึก็ทรงพระปรีชาเป็นที่เลื่องลือกันทั่ว ทั้งทรงกุศโลบายฉลาดล้ำลึก มากด้วยกฤษดาภินิหาร ประสาอะไรกะทัพม่านทัพมอญ พริบตาเดียวพวกมันก็จะแหลกลาญสิ้น ดุจแมลงเม่าบินเฃ้ากองไฟนั่นแหละเอ็งเอ๋ย"
ผกา "ค่อยยังชั่ว แต่พี่เองก็เถอะ จะตามเสด็จเหนือหัวไปทัพ ระวังตัวดีๆ นะพี่ พี่น่ะมักจะบ้าบิ่นไม่ดูตาม้าตาเรือ ฉันกลัวว่า..."
แกล้ว "กลัวอะไรไม่เฃ้าท่า ในสนามรบเอ็งจะให้พี่หดหัวเยี่ยงเต่าในอองกระนั้นรึ พวกฃ้าเสือกฃ้าเสือมันจะเย้ยเอาน่ะซี ไหนๆ ฟันกันทั้งทีก็เอาให้มันดิ้นกันไปข้าง มือชั้นพี่แล้ว กรำมาก็หลายศึก เคยเสียทีให้ใครบ้างหรือ เอ็งอย่ากลัวเลยผกา ผัวเอ็งไม่ตายดอก"
 
เท่านี้ก็สมเป็นผัวเมียคุยกันครับ ไม่ต้องแต่งภาษาให้หรูหราไป เท่าที่ผมสังเกต เรื่องในชั้นหลังๆ ที่ต้องการได้กลิ่นอายย้อนยุค มักจะพยายามแต่งภาษาให้ฟังดูโบราณ จนมันเกินโบราณไปมาก ร่ำๆ จะเป็นนิยายกำลังภายในไปด้วยซ้ำ ด้วยสำคัญว่าเฃาคงพูดกันอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่จริงมันเป็นภาษาเขียนครับ ลักษณะภาษาโบราณแบบประดิษฐ์นี้ เฃาเรียกว่า pseudo-antiquity (โบราณเทียม) ซึ่งทำให้ตัวละครจากชาวบ้านธรรมดากลายเป็นจินตกวีไป ไม่สมจริง
ผมแนะนำว่าถ้าอยากใช้ภาษาอย่างที่เขียนมานี้ ให้ใช้ในฉากเขียนจดหมาย หรือฉากพระนเรศกล่าวสุนทรพจน์ หรือแม้กระทั่งจะใช้บรรยายท้องเรื่องก็ได้ถ้าสามารถเขียนให้ภาษาเสมอกันได้ตลอด ก็นับว่าเป็นสำนวนงามอย่างหนึ่ง และน่าสนับสนุน แต่ขอให้ระวังการใช้คำบางคำที่สวิงสวายเกินไป เช่น ทวยทกล้า จริงๆ ต้องพูดว่า ทวยทแกล้ว หรือถ้าจะสะบัดสบิ้งให้เป็น ทแกล้วทกล้า ก็ไม่ผิดนัก แต่ทกล้าเฉยๆ ไม่ควรพูด คำว่า เพลี่ยง ก็เช่นกัน ปกติภาษาพูดเป็น เพลี่ยงพล้ำ แม้แต่ภาษาเขียนก็ไม่เขียนว่าเพลี่ยงเฉยๆ
เวลาชาวบ้านพูดกัน เฃาจะไม่ออกพระนามพระมหากษัตริย์ครับ เรียกเหนือหัวก็ได้ เรียกในวังก็ได้ เรียกในหลวงก็ได้ (ในหลวงเป็นคำเก่ามานานแล้วครับ) และส่วนกษัตริย์ของฃ้าศึก ป่วยการไปยกย่องครับ เรียกชื่อสั้นๆ แล้วก็ใช้สรรพนาม มัน ไปเลย ผัวเมียพูดกันเองครับ ไม่ต้องสนใจมารยาท
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 11 ต.ค. 11, 19:19

ชักอยากอ่านเรื่องย้อนยุคสำนวนคุณ nattoutataki ขึ้นมาเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 11 ต.ค. 11, 19:28

คุณ nattoutataki   สุดยอดครับ

เห็นด้วยว่ามันน่าจะเป็นภาษาเขียนมากกว่า     

เช่นในปัจจุบัน  ข้อกฏหมายต่างๆ  หรือ หนังสือราชการต่างๆ  ก็แบบหนึ่ง ภาษาพูดปัจจุบันก็แบบหนึ่ง 

ดูแต่หนังสือชีวิตในวังของหม่อมหลวงเนื่อง  ซึ่งท่านก็ใช้ภาษาเขียนในรูปแบบสมัยเก่าในการบรรยาย   แต่พอเป็นบทสนทนา ท่านก็ใช้ภาษาที่พูดกันจริงๆในชีวิตประจำวัน  ซึ่งก็ไม่ได้ฟังยาก


สนับสนุน อาจารย์เทาชมพูครับ ที่ว่า ชักอยากจะอ่านสำนวนของคุณ  nattoutataki
บันทึกการเข้า
nattoutataki
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 12 ต.ค. 11, 14:37

ขอบคุณครับคุณ atsk ต้องให้ว่างมากๆ นะครับ อาจจะลองเขียนเล่นๆ  ยิงฟันยิ้ม

ตามความเห็นผมนะครับ เขียนเรื่องอะไรก็ช่าง ต้องให้สนุกและมีชีวิตชีวาไว้ก่อน ภาษาพูดนั้นเราไม่มีทางรู้ได้ว่าในสมัยนั้นเฃาพูดกันยังไง เพราะภาษาพูดมันเปลี่ยนอยู่ทุกปี เว้นแต่ถ้าเราหาหลักฐานการเขียนจดหมายโต้ตอบระหว่างคนที่สนิทกันมาได้ เราถึงจะเริ่มทราบ แต่ถ้าสมัยพระนเรศอย่างในท้องเรื่องละก็ หมดสิทธิ์หาเลยครับ คนสมัยนั้นพูดอย่างไรก็ไม่รู้ บางทีเฃาอาจจะมีคำสแลงบ้าๆ บอๆ ตามประสาเฃาก็ได้ ดูแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง แค่ร้อยกว่าปีก่อน คนสมัยนั้นพูดคำสแลงกันมากกว่าตอนนี้อีก โดยเฉพาะในวัง ลองไปหาหนังสือเรื่องปัญหาขัดข้องจากวชิรญาณอ่านดูครับ

ที่สำคัญครับ ในตอนนั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ภาษาราชการ" ยังบอกไม่ได้ว่าอะไรเป็น "ภาษาไทยมาตรฐาน" ลองดูหนังสือจากหัวเมืองทางใต้ ที่มีหลักฐานตกทอดกันมาจนทุกวันนี้ วรรณยุกต์ผิดเพี้ยนหมด เพราะเฃาเขียนกันตามความรู้สึก ต่อให้เป็นหนังสือหัวเมืองใต้ ส่งเฃ้าเมืองหลวง ก็อย่าหวังว่าเฃาจะใช้ตัวสะกดเดียวกับในเมืองหลวง

โดยสรุปแล้ว เราไม่อาจทำให้ "โบราณสมยุค" ได้โดยที่คนสมัยนี้ยังอ่านกันสบายใจได้ ทำได้แต่ "โบราณพอประมาณ" แต่อ่านแล้วสบายใจ ดีกว่า ศึกษาแค่ว่าคำไหนเกิดใหม่จริงๆ ก็อย่าใส่ลงไปเท่านั้นเอง เช่นคำว่าสวัสดี พออ้ายแกล้วเจอหน้าผู้ใหญ่บ้านก็ "สวัสดีจ้ะผู้ใหญ่" แต่จริงๆ แล้วคำนี้มันใหม่มาก หรือแต่งให้อ้ายแกล้วไปนั่งโจ้ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ซึ่งมันเพิ่งจะมีขึ้นมาตอนสมัยรัฐนิยมนี่เอง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง