เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 10365 ควรเขียนภาษาโบราณอย่างไรในยุคนี้ให้พอเหมาะพอดีสำหรับผู้รับสารครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 24 เม.ย. 11, 14:47

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกท่านครับ

วันหนึ่งในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสคุยโทรศัพท์กับเพื่อนคนหนึ่ง เราโม้กันด้วยเรื่องจิปาถะสักครู่ ผมก็ชวนเธอคุยเรื่องภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ถามว่าไปดูมาหรือยัง รู้สึกอย่างไรบ้าง ประโยคแรกที่เธอกล่าวคือคำบ่น “เราปวดหัวกับภาษาในบทหนังมากเลย” จากนั้นตามด้วยปรัศนี
“คนโบราณพูดจากันฟังยากๆถึงขนาดนั้นเลยหรือ” ผมแย้งไปว่า “ไม่ยากนะ” แล้วเราก็เปิดประเด็นอภิปรายกันครับ ยังมิทันได้ข้อสรุป เธอก็ติดธุระเสียก่อน หลังจากวันนั้น เราไม่สนทนากันเรื่องนี้อีก แต่ความคำนึงยังกรุ่นในสมองผม เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า นักเขียน หรือผู้เขียนบันเทิงคดี (ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม) หากจะเขียนเรื่องราวยุคเก่า ควรสรรคำอย่างไร ถ้าให้โบราณสมยุคมากที่สุด คนอ่าน/ฟังส่วนหนึ่งก็โวยว่ายากต่อความเข้าใจ ไม่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเยาวชน  ครั้นทำให้โบราณแต่น้อย ผู้เสพอีกกลุ่มก็อาจวิจารณ์ได้ว่า ภาษาไม่เหมาะกับท้องเรื่อง ฉะนั้น ท้ายที่สุด ผมจึงใคร่ขอความเห็นจากทุกท่านเกี่ยวกับกรณีนี้ครับ สมมุติเล่นๆว่า ผมกำลังเขียนบทละคร โดยกำหนดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แม่ผกากำลังปรับทุกข์ด้วยอ้ายแกล้วผู้สามี ลีลาวาจาต่อไปนี้ ควรปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไรครับ

   ผกา: “ตรับข่าวชาวกรุงระบืออื้ออึงกัน เศิกครานี้ พระเจ้าหงสาวดีทรงคุมพลแสนยาเสด็จมาเอง แลทวยทกล้าพม่ารามัญอเนกอนันต์นัก ข้าวิตกมิรู้วายเลยพี่”
อ้ายแกล้ว: “เจ้าจักทังวลไย พหลแห่งอโยธยามื้อนี้ดั่งเทวาพยุหะ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าองค์จุมพลข้างฝ่ายเราทรงพระปรีชาสามารถลือเลื่องกระเดื่องก้องไปทั่วทิศานุทิศ พระราชชโยบายหลักแหลมล้ำลึก ทั้งมากด้วยพระมหากฤษฎาธิการ ทัพม่านทัพมอญ เพียงพรับตาก็จักพินาศดุจแมลงเม่าเข้าเพลิง เจ้าคอยยลเถิด”
ผกา: “กระนั้น ข้าค่อยคลายใจ ว่าแต่พี่จะออกเศิกโดยเสด็จพระองค์ท่าน ระมัดตนด้วยหนา พี่ข้าเหิมห้าวกร้าวกระด้าง ข้าเกรง...”
อ้ายแกล้ว: “มัวหวาดนั่นหวั่นนี่มิเข้าทีเลยเจ้า ในสนามรณรงค์สงครามผู้ใดจักขลาดคร้ามหดหัวดั่งเต่าเอากระดองคุ้มตัวอยู่ได้ ศัตรูมันจักไยไพ ไหนๆประจญประจัญกันแล้ว ก็ต้องเหิมต้องเหี้ยมถึงที่สุด พี่ออกยุทธ์มิรู้กี่คราหาเคยเพลี่ยงไม่ เจ้าวางใจเถิดผกาเอ๋ย ผัวเจ้ามิตายดอก”


   นี่เป็นตุ๊กตาที่ผมทดลองทำขึ้น ผิดพลาดอย่างไร กราบขออภัยทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   
 

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 เม.ย. 11, 15:29

ผมหนุ่มสยาม จะขอยกตัวอย่างภาษาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ เป็นเอกสารหนังสือออกพระวิสุทธสุนทร ถึงเมอร์สิเออร์ เด ลา ยี เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐


"เมื่อยังอยู่ ณ กรุงฝรั่งเศสแลสรรพอันวิเศษนั้นก็กลุ้มอยู่แลละสิ่งละสิ่งนั้น ก็ชักชวนน้ำใจให้ไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ให้รำคาญในอยู่น้อยหนึ่ง แลบัดนี้มีวันคืนอันเปล่าอยู่ สรรพอันตรการทั้งปวงนั้น อัตโนก็เรียกมาในความคิดพิจารณาเห็นละสิ่งสะสิ่งด้วยความยินดีให้สบายใจ แลอัตโนจำเป็นจะว่าแก่ท่านตามจริง มิคิดเห็นความสนุกสบายในแผ่นดินนี้ จะสนุกสบายเท่าหนึ่งคิดถึงยศศักดิ์แห่งพระมหากษัตริย์เจ้าผู้ใหญ่ อันหาหาผู้ใดจะแปลบุญสมภารให้สิ้นมิได้ ดุจหนึ่งพระมหากษัตราธีราชผู้เป็นเจ้าแห่งอัตโนได้ตรัสแต่ได้สองปีสามปีแล้วว่า พระมหากษัตรเจ้ากรุงฝรั่งเศสนี้เห็นสมควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ แก่พระมหากษัตริย์ทั้งปวงทั่วแคว้นยุโปร แลความคิดทั้งปวงนี้มิได้"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 เม.ย. 11, 16:03

ตอบคุณชูพงศ์
ภาษาคือการสื่อสาร   ควรเขียนให้คนปัจจุบันรู้เรื่องค่ะ   ถ้าจะใส่ศัพท์โบราณลงไป   ก็แค่พอให้เป็นกลิ่นอายของโบราณเท่านั้น
สิ่งควรระวังคืออย่าใส่ศัพท์ที่เกิดภายหลังเข้าไป   เช่นคำว่าสวัสดี   ชาวอยุธยาไม่รู้จัก   รัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงก่อนปี ๒๔๗๕   ก็ยังไม่รู้จัก พระยาอุปกิตศิลปสารเพิ่งคิดคำขึ้นระหว่างท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  นี่เอง
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 เม.ย. 11, 11:24

ขอบพระคุณคุณ siamese ครับ สำหรับตัวอย่างภาษาโบราณยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ "อัตโน" คำนี้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ใช้ในทำนองเดียวกับ "ข้าพเจ้า" ใช่หรือเปล่าครับ?

   กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งในข้อเฉลยของท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ผมกระจ่างแล้ว จะยึดถือคำตอบของอาจารย์เป็นหลักเกณฑ์สืบไปครับผม
 
บันทึกการเข้า
kwang satanart
อสุรผัด
*
ตอบ: 48


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 02:07

คงอย่างที่อาจารย์เทาชมพูท่านว่าล่ะค่ะ คืออย่าใส่ศัพท์สมัยใหม่ลงไป   คนไม่รู้ไม่เท่าไหร่  แต่คนรู้ซึ่งก็มีไม่น้อยคงรู้สึกแปลกๆ  แต่ถ้าไม่มีศัพท์โบราณเอาเสียเลย  คงดูไม่เป็นภาพยนตร์โบราณ   คาดว่าคนรุ่นอยุธยา คงจะพูดไม่ต่างจากที่คุณชูพงศ์เขียนบทมานั่นสักเท่าไหร่  ดูแต่สำนวนภาษาในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ของรัชกาลที่ ๕ หรือหนังสือ สาส์นสมเด็จ  ของกรมพระยาดำรง ฯ  หรือหนังสือในยุคใกล้เคียงสิคะ   รุ่นหลังจากอยุธยาตั้งเป็นร้อยปี  เวลาอ่านยังต้องตั้งสมาธิ และ พยายามทำความเข้าใจให้ดีเลย  เพราะสำนวน และคำศัพท์  คำพูดบางคำต่างจากปัจจุบันมาก  แทบจะเรียกได้ว่า ถ้าไม่ได้ศึกษาทางด้านภาษามา  หรือไม่มีความสนใจอย่างมาก  คงยากจะเข้าใจ   

แต่คำไทย  สำนวนไทยนี่ละเมียดละไมดีนะคะ  อย่างเพลงไทยในสมัยก่อนกว่าจะเข้าใจในความหมาย ต้องคิดตาม  แต่เมื่อคิดออกแล้วจะเข้าใจเลยว่า คนสมัยนั้นท่านช่างสังเกต   ช่างเอาธรรมชาติมาเปรียบเทียบกับวิถึชีวิต   หรือความคิด  การกระทำของคนเราได้อย่างแยบยลจริงๆ
บันทึกการเข้า
nakor
อสุรผัด
*
ตอบ: 25


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 09:37

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 11:35

แวะเข้ามาพบความเห็นคุณ kwang satanart เข้า เลยขอร่วมยกมือสนับสนุนอีกคนครับ

   ผมเป็นโรค “บ้าโบราณ” มาตั้งแต่สมัยเรียนจนบัดเดี๋ยวนี้ ชอบในเสน่ห์อันละเมียดละไมของถ้อยคำยุคเก่ามากครับ ปัจจุบัน ก่อนนอน ยังต้องหางานบันเทิงคดีที่ภาษาศิลป์/ภาษาสวยมาฟังเสมอ ฟังแล้วอิ่มอกอิ่มใจไม่รู้ลืมครับ

บันทึกการเข้า
unalum2019
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 12:56

ฟังเพลงสมัยก่อนนี่ได้ความไพเราะละเมียดละไมจริงๆครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 15:43

สำหรับตัวอย่างภาษาโบราณยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับ "อัตโน" คำนี้เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ใช้ในทำนองเดียวกับ "ข้าพเจ้า" ใช่หรือเปล่าครับ?

ลา ลูแบร์ เขียนเล่าไว้ว่า คำว่า อัตโน (Atanou) เป็นคำภาษาบาลี นำมาใช้ในภาษาไทยก่อนหน้าที่ท่านจะเดินทางมาอยุธยาเพียง ๓ - ๔ ปีนี้เอง เป็นคำเรียกตัวเองกลาง ๆ คือไม่ใช้เพื่อยกตนหรือถ่อมตน  สำหรับคำว่า ข้าพเจ้า (Ca-ppa Tchaou)  เป็นคำที่มีลักษณะแสดงความอ่อนน้อมกว่า

ลา ลูแบร์ยังเขียนถึงสรรพนามอีกหลายคำ ลองอ่านดูในภาคภาษาอังกฤษ

Of the Pronouns of the First Person

Cou, ca, raou, atamapap, ca Tchaou, Ca- ppa tchaou, atanou, are eight ways of  explaining I or we: for there is no difference between Singular and Plural.
Cou, is of the Master speaking to his Slave.
Ca, is a respectful term from the Inferior to the Superior, and in civility amongst equals: the Talapoins never use it, by reason that they believe themselves above other men.
Raou, denotes some superiority or dignity, as when we say We in Proclamations.
Roub, properly fignifies body, ‘tis as if one should say my body: to say me, 'tis only the Talapoins  that use it sometimes.
Atamapapp, is a Balie term, more affected by the Talapoins than any other.
Ca Tchaou, is composed of ca, which fignifies me, and Tchaou, which fignifics Lord; as who should say me of the Lord, or me who belong to you my Lord; that is to say, who am your Slave. The Slaves do use it to their Masters, the common people to the Nobles, and every one in speaking to the Talapoins.
Ca-ppa Tchaou, has likewise something more submissive.
Atanou is a Balie word, introduced within three or four years into the Siamese Tongue, to be able to speak of himself with an entire indifference, that is to say without Pride and without Submission.



Of the Pronouns of the Second and Third Persons.

Teu, Tan, Eng, Man, Otchaou do serve equally to the Second and Third Persons for the Singular and Plural Numbers but oftentimes they make use of the Name or Quality of the person to whom they speak.
Teu, is a very honourable term, but is used only for the third person or for the Talapoins in the second, that is to say in speaking to them.
Tan, is a term of Civility amongst equals. The French have translated it by the word Monsieur, Sir.
Eng, to an inferior person.
Man, with contempt.
Otchaou to a mean person unknown.

คุณชูพงศ์ เดาคำอ่านสรรพนามข้างบนได้กี่ตัว

 ยิงฟันยิ้ม




บันทึกการเข้า
kwang satanart
อสุรผัด
*
ตอบ: 48


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 18:28

Cou, ca, raou, atamapap, ca Tchaou, Ca- ppa tchaou, atanouc = กู   ข้า  เรา  อาตมภาพ   ข้าเจ้า   ข้าพเจ้า  อัตโน
Roub    คำนี้นึกไม่ออกเลย

Of the Pronouns of the Second and Third Persons.

Teu, Tan, Eng, Man, Otchaou =  เธอ   ท่าน   เอ็ง   มึง  คำสุดท้าย  Otchaou  นึกไม่ออกอีกแล้ว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 19:53

Roub = รูป

Otchaou = ออเจ้า

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 12 พ.ค. 11, 18:45

ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูครับ สำหรับความรู้ซึ่งยังความตื่นใจให้ผมอย่างยิ่งเมื่ออ่าน เกิดคำถามอีกแล้วครับ “รูป” นี้ เป็นบุรุษสรรพนามที่พระคุณเจ้าท่านใช้ใช่ไหมครับ ผมเคยดูละคร หรือแม้ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ แล้วได้ยินภิกษุสนทนากับฆราวาส ทำนอง

   “รูปจำพรรษาอยู่นี่มานาน จักให้สึกหนีศึกนั้นหาปรารถนาไม่ ผิอริริปูจู่มาถึง ก็สุดแต่เพรงกรรมบันดาลเถิด” (บทสนทนานี้อุปโลกน์เอาเองโดยจำเค้าอันเลือนรางจากที่เคยได้ยินผ่านหูมาครับ)
บันทึกการเข้า
bangplama
ชมพูพาน
***
ตอบ: 168



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 09:40

Cou, ca, raou, atamapap, ca Tchaou, Ca- ppa tchaou, atanouc = กู   ข้า  เรา  อาตมภาพ   ข้าเจ้า   ข้าพเจ้า  อัตโน
Roub    คำนี้นึกไม่ออกเลย

Of the Pronouns of the Second and Third Persons.

Teu, Tan, Eng, Man, Otchaou =  เธอ   ท่าน   เอ็ง   มึง  คำสุดท้าย  Otchaou  นึกไม่ออกอีกแล้ว

Man  =  มัน   
รีบพิมพ์อีกแล้วครับ ใจเย็นๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 11:18

ลา ลูแบร์น่าจะบันทึกตกหล่นคำว่า "มึง" ตกหล่นไปละมั้ง

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 พ.ค. 11, 11:25

man  ออกเสียงฝรั่งเศส ว่า ม็อง ค่ะ   ถ้าเป็นฝรั่งเศสที่ไม่ใช่ชาวเมืองหลวง เป็นพวกทางใต้ ก็ออกเสียงว่า มัง
 n = ง   
อาจจะคล้าย มึง  มากกว่า มัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง