เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ มีคณะต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย จึงต้องโค่นต้นจามจุรีเพื่อสร้าง ตึกใหม่ ต้นจามจุรีจึงลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งว่าต้นจามจุรีมีความผูกพันกับคนแถวนี้มาก หากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ปลูกจะเสด็จพระราชดำเนินมาปลูกต้นจามจุรีเอง
ในหนังสือ "คราบหมอควาย" ของ
ศาสตราจารย์เชื้อ ว่องส่งสาร เขียนเล่าไว้ว่า
จุฬาสมัยนั้น (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๙ ปีที่อาจารย์เชื้อเรียนปี ๑ - เพ็ญชมพู) มีตึกอยู่สามหลัง เหมือนโบสถ์หลังหนึ่ง (คณะอักษรศาสตร์) วิหารหลังหนึ่ง (คณะวิทยาศาสตร์) และเป็นตึกสมัยใหม่หลังหนึ่ง คือตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ บริเวณด้านหน้าติดกับคู หน้าจุฬามีคู ต้นก้ามปูขึ้นเต็มไปหมด ต้นนี้เรียกว่าก้ามปู เรียกว่าต้นฉำฉา ดูเหมือนไม้จะคล้ายไม้ทำลัง ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าลังไม้ฉำฉา ต่อมาคุณหลวงสมานวนกิจพบว่าเป็นไม้ใหม่ยังไม่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เลยให้ชื่อ
Enterolobium saman และได้ชื่อใหม่ว่า จามจุรี เห็นจะเป็นเพราะดอกมีเกสรคล้ายขนจามจุรีก็ไม่ทราบ บังเอิญเกสรเป็นสีชมพูซึ่งเป็นสีมหาวิทยาลัย และก็เป็นจังหวะที่มีการใช้ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ก่อตั้งใหม่ได้มีการปลูกต้นจามจุรีเต็มไปหมดเพื่อใช้ร่ม เพราะเป็นบริเวณกลางทุ่งและแสนไกล เมื่อ
คราวมีการปรับปรุงขนานใหญ่ จุฬาโค่นต้นจามจุรีจนเกือบหมดแล้วไปเอาต้นนนทรีมาปลูกแทน ทางเกษตรต้นนนทรีก็ยังเล็กมีแต่จามจุรีเต็มไปหมด เลยงงไปว่าต้นจามจุรีและนนทรีเป็นของใครกันแน่ เดี๋ยวนี้ค่อยยังชั่ว มหาวิทยาลัยเกษตรตัดต้นจามจุรีเกือบหมด ต้นนนทรีออกดอกสะพรั่งโตงามดีทั้งที่เกษตรและจุฬา
