เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 23
  พิมพ์  
อ่าน: 164373 ภาพพระราชพงศาวดาร สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 15 เม.ย. 11, 09:16

หอบลูกจูงหลานไปชม“ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาคยุทธนาวี”มา ก็เข้าใจอยู่ว่า ตำนานนี้เป็นจินตนาภาพของท่านมุ้ยเองล้วนๆหาใช่ข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ไม่ จึงไม่ว่ากระไร พยายามดูหนังเพื่อการบันเทิงไปตามจุดมุ่งหมายของผู้สร้าง

วันนี้จะขอเอาจินตนาภาพของจิตรกรสมัยรัชกาลที่๕มาให้ดูบ้าง จะเห็นได้ว่าเพียงร้อยกว่าปีมานี้ ศิลปินต่างสมัยทั้ง๒ยุค มองเห็นภาพในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาต่างกันอย่างไร

ผมมีความเชื่อว่า วิถีชีวิตและอุปกรณ์ของมนุษย์สมัยรัชกาลที่๕เจริญขึ้นกว่าสมัยสมเด็จพระนเรศวรจะกี่เท่านั้น ก็เป็นแค่ตัวเลขคูณกับจำนวนปี ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ตัวเลขความเจริญทวีขึ้นในอัตราเลขยกกำลัง ดังนั้นความคิดความอ่านของเด็กๆและเยาวชนเดี๋ยวนี้จะมองประวัติศาสตร์อย่างไร ย่อมไม่เหมือนคนสมัยผม ที่เรียกกันว่าคนหัวโบราณ ไม่ทันโลกอย่างท่านมุ้ย ต้องขอสารภาพไว้ก่อน

บรรยากาศการรบ เครื่องแบบ และยุทโธปกรณ์ในภาพที่ผมนำมาให้ดูนี้ น่าจะใกล้เคียงความจริงในสมัยอยุธยามาก เพราะช้างศึก ม้าศึก หรือเรือรบ ปืนใหญ่ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็ยังไม่ได้แตกต่างกับสมัยอยุธยานัก จิตรกรสมัยรัชกาลที่๕ยังพอจะทันๆเห็นสิ่งเหล่านั้นอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่ปรากฎในภาพถูกต้องตามข้อเท็จจริง
หลายสิ่ง ท่านมุ้ยนำเสนอไว้ในหนังก็มีเหตุมีผลกว่า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 09:18

ภาพชุดนี้ สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยโปรดให้จิตรกรมีชื่อเขียนถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญๆ ที่จารึกอยู่ในพระราชพงศาวดาร ผมเลือกมาเฉพาะภาพที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวร และมีเพียง๕ภาพ จะค่อยๆทะยอยลงทีละภาพ เผื่อให้ท่านมีโอกาสช่วยเสริมเติมแต่ง วิพากษ์วิจารณ์ได้ตามอัธยาศัย

ภาพแรก สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงปืนข้ามแม่น้ำโสตง(สะกดตามต้นฉบับ) พระจ่าง เขียนเมื่อยังเป็นภิกษุ ภายหลังรับราชกาลได้เป็นพระวิทยประจง ได้รับรางวัลที่๖ รับพระราชทานลูกปืน๑ลูก เงิน๑ชั่ง๕บาท


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 09:20

ขยายภาพ ทรงประทับพระแสงปืนต้น ยิงบนหลังช้างทรงเครื่องคชาภรณ์ ประดับฉัตรทองเต็มยศ จะดูมากไปหน่อยสำหรับช่วงเวลาวิกฤตที่ยังทรงไม่ต่างกับเชลย เพราะยังอยู่ในดินแดนศัตรูต้องรีบหนีสุดแผ่นดินให้พ้นเงื้อมมือพม่า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 09:22

ท่านมุ้ยจัดให้พระนเรศวรลงมาประทับยิงบนพื้น ซึ่งมีเหตุมีผลกว่า เพราะปืนสมัยนั้นบวกกับความกว้างจริงของแม่น้ำ การยิงโดนเป้าหมายก็เหมือนนักกอล์ฟทำโฮลอินวัน คือ เป็นไปได้แต่ยากมากถึงยากที่สุด ยิ่งถ้ายิงบนคอช้างที่เป็นสัตว์ไม่มีวันที่จะยืนให้นิ่งๆได้ ก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อเกินกว่าจะปลงใจ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 11:57

        มารอชมภาพต่อไป ค่ะ
        นำพระราชพงศาวดารมาทบทวนความทรงจำกัน  ภาพที่วาดคงจะวาดตามหลักฐานนี้

        ปีพศ.๒๑๒๖ พระเจ้าอังวะคิดแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงได้ สั่งให้ประเทศราช (เมืองแปร ตองอู เชียงใหม่ ลาว และกรุงศรีฯ)ยกทัพไปปราบ สมเด็จพระนเรศวรทรง รอโอกาสที่จะแข็งเมืองอยู่เช่นกัน จึงทรงเดินทัพช้าๆเพื่อรอ ฟังผลการรบ ถ้าทางหงสาวดีชนะก็จะทรงกวาดต้อนคนไทยกลับกรุงศรีอยุธยา แต่ถ้าทางหงสาวดีแพ้ก็จะทรงยกทัพไปตีซ้ำ แต่ว่าทางหงสาวดีก็ไม่ไว้ใจสมเด็จพระนเรศวรอยู่แล้วจึงคิดจะกำจัด โดยสั่งให้พระยาเกียรติและพระยารามซึ่งเป็นมอญไปรับเสด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง รอตีขนาบหลังจากที่ทัพพระมหาอุปราชเข้าโจมตี

        ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรทำให้พระยาเกียรติและพระยารามนำความ เข้ามาปรึกษามหาเถรคันฉ่องพระอาจารย์ พระมหาเถรคันฉ่องจึงนำเรื่องกราบทูล สมเด็จพระนเรศวรและเล่าความจริงทั้งหมดที่ทางหงสาวดีคิดไม่ซื่อ สมเด็จพระนเรศวรทรงเรียกประชุมแม่ทัพนายกอง นิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องพร้อมด้วยพระยาทั้งสองเข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียงกัน แล้วทรงเล่าเรื่องที่พระเจ้านันทบุเรงคิดไม่ซื่อจะหลอกฆ่าพระองค์

        เวลาในการประกาศอิสรภาพได้มาถึงแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร(น้ำเต้าทอง) ทรงประกาศแก่เทพยดาต่อหน้าที่ประชุมว่า " ตั้งแต่วันนี้ กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรต่อกันดังแต่ก่อนสืบไป " พระราชพิธีนี้เกิดขึ้นในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๑๒๗ ณ.เมืองแครง จากนั้นพระองค์ ทรงมีดำรัสถามชาวมอญที่อยู่ในเมืองแครงว่าจะอยู่ข้างไทยหรือพม่า ส่วนมากจะอยู่ข้างไทยแล้วทรงรับสั่งให้จัดทัพเพื่อไปตีเมืองหงสาวดี

        สมเด็จพระนเรศวรทรงยกกองทัพข้ามแม่น้ำสะโตง จวนจะถึงหงสาวดีก็ทราบข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีรบชนะพระเจ้า อังวะ และกำลังยกทัพกลับกรุงหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรทรงคิดพิจารณาแล้วว่า การจะตีหงสาวดีครั้งนี้คงไม่สำเร็จ จึงให้ทหารเที่ยวไปกระจายข่าวบอกชาวไทยที่ถูกพม่ากวาดต้อนมาให้เดินทาง กลับเมืองไทยได้จำนวนหมื่นเศษ สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ชาวบ้านข้ามแม่น้ำ สะโตงไปจนหมด แล้วพระองค์ทรงอยู่คุมกองหลังข้ามแม่น้ำสะโตงเป็นชุดสุดท้าย(แสดงถึงความ เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมและกล้าหาญมาก) ขณะนั้นพระมหาอุปราช(มังสามเกียด)ได้จัดทัพติดตามมาให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า แล้วมาทันกันที่แม่น้ำสะโตงซึ่งมีความกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ทางพม่าก็ยิงปืนข้ามมาแต่ไม่ถูก สมเด็จ พระนเรศวรทรงประทับอยู่บนคอช้างริมแม่น้ำทรงประทับพระแสงปืนยาว ๙ คืบหรือ ๒ เมตร ๒๕ เซ็นติเมตร (แล้วทรงอธิฐานถ้าการ กู้ชาติสำเร็จขอให้ยิงถูกข้าศึก) ทรงยิงไปถูกสุรกรรมาตายอยู่บนคอช้าง ทำให้พม่าเกรงกลัวและถอยทัพกลับไป พระแสงปืนต้นนี้มีนามว่า “ พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง ” หลังจากนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา

        พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฎต่อมา ว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็น พระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้

        http://www.panyathai.or.th/wiki
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 12:11

พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง  จากเว็บปัญญาไทย

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 13:20

แนบภาพลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำสะโตง หรือ Sittang River ตั้งอยูด้านตะวันออกของเมืองหงสาวดี แม่น้ำไหลออกสู่อ่าวเมาะตะมะ ปากแม่น้ำรูปพัด สะสมตะกอนปากแม่น้ำจำนวนมาก


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 13:27

ส่วนมากจะระบุไว้ว่า การข้ามทัพของสมเด็จพระนเรศวรนั้น เลือกบริเวณที่ส่วนที่แคบที่สุดของแม่น้ำ ซึ่งทำโดยสร้างแพข้าม ให้ผู้คนอพยพข้ามแม่น้ำไป ซึ่งตรงกันข้าม (พื้นที่สีเหลือง) เป็นบริเวณเมืองโบราณสะโตง และปัจจุบันเป็นเส้นทางรถไฟข้ามผ่านบริเวณนี้ด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 14:18

เอารูปหายากมาให้ชม

ในพระราชพิธีนั้น เมื่อเจ้าพนักงานทอดพระราชอาสน์เสร็จ จะต้องอันเชิญพระแสงราชศาสตราวุธมาประดิษฐานไว้เบื่องพระปฤษฎางค์ตามโบราณราชประเพณี ประกอบด้วยพระแสงง้าวและพระแสงปืนยาว

แสดงว่ากษัตริย์ในสมัยโบราณนั้น จะไว้ใจใครไม่ได้ทั้งสิ้น แม้กระทั่งเสด็จมากระทำพระราชพิธีในโบสถ์ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และถือเป็นเขตอภัยทาน เว้นจากการกระทำปาณาติบาทก็ตาม
แต่โบราณราชประเพณีดังกล่าวในปัจจุบันถือเป็นวัฒนธรรมมากกว่าจะเอาจริงเอาจัง
พระแสงปืนได้หยุดความทันสมัยไว้ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวงมั้ง เพราะเป็นปืนลูกเลื่อนยุคแรกๆ
ส่วนพระแสงง้าว นึกภาพไม่ออกว่าจะทรงฉวยเอาออกมาใช้ได้อย่างไร

แต่ถ้าเป็นสมัยสมเด็จพระนเรศวรละก็ ผู้คิดร้ายต่อพระองค์คงไม่กล้าขยับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 14:55

ภาพที่๒ สมเด็จพระนเรศวรรบศึกเชียงใหม่

หลังประกาศอิสรภาพและเสด็จคืนสู่กรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้โปรดให้มังนรธาช่อ พระอนุชาที่ส่งมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ คุมพลลงมาตีอยุธยาทันทีแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมีพระราชดำรัสให้เตรียมการศึกเป็นครั้งที่๒ แบบยืดเยื้อ โดยพระมหาอุปราชายกพลลงมาคุมการทำนาที่เมืองกำแพงเพชร ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ ให้ยกพลลงมาขัดขวางไม่ให้บรรดาหัวเมืองอื่นๆรอบพระนครทำนาได้ หวังให้กรุงสรีอยุธยาขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อหมดหน้าฝนแล้ว พระองค์จะทรงยกทัพใหญ่ลงมาตีไทย

พระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงคุมพลแปดหมื่นไปรับทัพเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งเสด็จโดยเรือพระที่นั่งไปถึงป่าโมกน้อยเพื่อดูกำลังข้าศึก เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งบัญชาการให้ทหารไทยเข้ารบกับทหารพม่า พระนเรศวรทรงพระแสงปืนนกสับยิงถูกนายม้าผู้ดีห่มเสื้อสักหลาดแดง ขัดดาบบั้งทองตกลงมาจากหลังม้า ข้าศึกแตกพ่ายยับ ทหารไทยจึงตัดหัวนายทหารม้านั้น พร้อมทั้งนำเสื้อสักหลาด ดาบบั้งทอง และม้า กลับมาถวายพระนเรศวร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 14:58

ดูภาพขยายนี้แล้วชวนให้เข้าใจว่า ปืนนกสับสมัยนั้นน่าจะเป็นอาวุธร้ายแรง แพงและหายาก มีพระนเรศวรพระองค์เดียวที่ทรงสามารถจะมีใช้ได้ แม้พระเอกาทศรถยังถือแต่ดาบในมือ ส่วนพม่า(เชียงใหม่)ยังไม่มีใครมีเลย เมื่อเห็นนายโดนปืนไฟเสียงราวกับฟ้าผ่าตกจากหลังม้า ก็เกรงกลัวต่ออาวุธมหาประลัยดังกล่าวจนไม่เป็นอันรบ จึงพ่ายแพ้ง่ายดาย

จิตรกรผู้เขียนภาพนี้ไม่ได้รางวัล เลยไม่มีนามปรากฏ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 14:58

อ่านเจอในบางเว็บว่า พระแสงปืนนี้เรียกว่าปืนสับนก  ยาว ๙ คืบ   แต่ที่เราเคยคุยกันในกระทู้ ชาติพันธุ์วรรณาในขุนช้างขุนแผน  ท่าน
NAVARAT.C  เคยตอบว่า    

        
อ้างถึง
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 11:10
   .... ส่วนคำถามเรื่องพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงเป็นปืนคาบศิลาหรือเปล่านั้น ถ้าตอบสั้นๆตรงๆก็ -ใช่ครับ-
        แต่ปืนโบราณที่รวมๆเรียกว่าคาบศิลามี ด้วยกัน3ประเภท ในเวปมีพูดถึงพระแสงปืนต้นของสมเด็จพระนเรศวรไว้โดยพิศดารว่าเป็นประเภทไหน เหมือนกัน  

        เลยยังไม่รู้ว่าปืนคาบศิลาหรือปืนสับนก เป็นชนิดเดียวกันหรือคนละชนิด   ยาว ๙ คืบ เท่ากับกี่ฟุต หรือกี่เมตรคะ

       ป.ล. บางเว็บเรียกนกสับ บางเว็บเรียกสับนก  ไม่รู้อย่างไหนถูกค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 15:03

ปืนนี้เรียกเต็มๆว่าปืนมณฑกนกสับครับ ส่วนสับนกไม่น่าจะเป็นชื่อปืน แต่เป็นชื่อแกงป่าแบบนึงน่ะครับ ยิงฟันยิ้ม
ปืน๙คืบ=๒เมตรกับอีก๒๕เซนต์ ยาวท่วมหัวคน


ปืนที่ทรงนำไปยิงพม่าคราวนี้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นคนละกระบอกกับพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงนะครับ
ปืนขนาดยิงข้ามแม่น้ำได้ยาว๙คืบนี้ ใหญ่และหนักมาก เอาใส่เรือพระที่นั่งไปในศึกครั้งนี้คงไม่สะดวก
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 16:20

กลุ่มพระแสงราชศาสตราวุธ ซึ่งสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมทั้งปืนข้ามแม่น้ำสะโตงด้วย


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 16:26

รายละเอียดบริเวณนกสับทำเป็นครุฑ ศิลปะงานคร่ำทอง และที่สับทำเป็นหัวสิงห์ งดงามมาก ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชศาสตราวุธ รำลึกแห่งวีรกรรมครั้งสมเด็จพระนเรศวรทรงยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 20 คำสั่ง