เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 23
  พิมพ์  
อ่าน: 164748 ภาพพระราชพงศาวดาร สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 06:10

ขอบคุณคุณเพ็ญ ขออำไพคุณหนุ่มสยาม


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 07:05

อ.NAVARAT.C ครับเมื่อค่ายต่างๆได้สู้รบกันเป็นสามารถแล้ว เมื่อถึงเวลาถอยทัพนั้น
๑. อยากทราบว่าจะมีการถอนไม้รั้วออกไปหรือไม่ คือ มีการนำกลับมาใช้กันใหม่ หรือเพียงมองว่า ป่าไม้ทรัพยากรเยอะไปหาเอาข้างหน้า

๒. การตั้งค่ายกล เพื่อหลอกล่อศัตรู เป็นอย่างไร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 07:53

^
คำถามทั้งสองคำถามมีคำตอบอยู่ในกระทู้เรื่อง " อานามสยามยุทธ สงครามสร้างชาติสยาม ภาค ๒ " โดย คุณแมวเซา ซึ่งได้รับเลือกเป็นกระทู้ยอดนิยมอันดับ ๑.ในเวปของศาลาโกหก
 
ผมคัดลอกสำนวนชั้นครูมาให้อ่านเฉพาะตอนที่คุณหนุ่มสยามอยากทราบ แม้ว่าจะเป็นสงครามระหว่างไทยกับญวนมิใช่พม่า แต่มันก็โหดเหี้ยมทารุณเหมือนๆกัน
ขออนุญาตคุณแมวเซาด้วยความเคารพด้วย
 
ข้างพระยานครราชสีมาได้เห็นกองช้างญวนไล่ฆ่าฟันกองลาดตระเวณที่ริมลำน้ำโขงฝั่งตรงข้ามแล้วก็ช่วยเหลือไม่ได้ คงเพราะปืนใหญ่ยิงไม่ถึง เรือรบก็ไม่มีแล้ว เพียงแต่เตรียมตัวรับศึกกับญวน สั่งกองเสบียงและเขมรเคลื่อนย้ายไปก่อน ให้คนโคราชถือปืนคุมไปด้วย ครั้นรอญวนข้ามน้ำอยู่สามวันก็ไม่เห็นญวนเตรียมทำแพข้ามน้ำสักที ก็ประเมินว่าญวนรอกองทัพเรือกองใหญ่ขึ้นมาช่วยเป็นแน่ จึงเปลี่ยนแผนยุทธการใหม่ทันที จัดการนำเอาปืนใหญ่ขนาดใหญ่ๆที่ขนด้วยช้างไปยากลำบากนั้น เอามาบรรจุดินดำและกระสุนให้เกินสัดส่วนหลายเท่า นำมาขุดดินฝังไว้ใต้ดินในค่ายหลายสิบกระบอก ต่อสายชนวนล่ามเข้ากันโดยรอบ แล้วต่อไปถึงเตาไฟทุกแห่ง ทำสำเร็จแล้วทำทีทิ้งข้าวของเสบียงอาหารไว้บ้าง จากนั้นก็ทิ้งค่ายออกเดินทัพล่าถอยมาเวลากลางคืน จัดให้พระยาพิไชยสงคราม และพระยาชนะพลแสน คุมไพร่พล 500คน เป็นกองรั้งหลังคอยฟังข่าวญวนด้วยว่าจะโดนระเบิดตามอุบายหรือไม่

กองทัพเรือญวนมาติดกับดักฝ่ายไทย


เมื่อกองทัพพระยานครราชสีมาได้ล่าถอยพร้อมจัดการตามแผนเสร็จแล้วกองทัพเรือญวนก็ยกขึ้นมาจริงๆ “องกูเลย”แม่ทัพใหญ่ สั่งให้ “องถูเลือก” เป็นแม่ทัพหน้าข้ามแม่น้ำมาก่อนด้วยเรือรบ 40ลำ ไพร่พล 800คน ยกขึ้นบกแล้วไม่เห็นมีทหารไทยออกไปต่อสู้ แลไม่เห็นไทยทั้งในค่ายนอกค่าย จึงกรูกันยกเข้าค่ายไทยในเวลาบ่ายสองโมงเศษ เมื่อมั่นใจว่าไม่มีทหารไทยแน่นอนแล้ว ทหารญวนเกือบหมดทั้ง 800คนรวมทั้ง“องถูเลือก”แม่ทัพหน้าด้วย พากันเข้ารื้อค้นแล้วเข้าพักกันในค่ายนั้นเอง “องถูเลือก”ก็ได้จัดส่งหนังสือข้ามไปส่งข่าวแม่ทัพใหญ่ด้วยว่า “ไทยทิ้งค่ายหนีไปเสียก่อนแล้ว”

พอได้เวลาบ่ายเย็นใกล้ค่ำวันนั้น ไพร่พลญวนก็พากันเก็บฟืนที่ไทยทิ้งไว้ให้ นำมาก่อไฟเพื่อหุงหาอาหาร ตามเตาไฟเก่าๆที่ไทยเคยใช้งานอยู่นั้นหลายสิบเตา พอไฟในเตาติดคุร้อนไหม้ไปถึงชนวนดินดำที่ฝังไว้ใต้ดินนั้น ดินระเบิดก็ประทุขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันไปทั่วทั้งค่าย “เสียงดังกัมปนาทหวาดหวั่นไหวสะเทือนสะท้านแผ่นดินดังพสุธาจะถล่ม เป็นเสียงดังดุจอัสนียบาต”

ครั้งนั้น พระยาพิไชยสงคราม และพระยาชนะพลแสน เดินทัพรอฟังเสียงระเบิดอยู่ ก็ได้ยินเสียงเหมือนฟ้าร้อง จึงแน่ใจว่ามีการระเบิดเกิดขึ้นแล้ว ตามกลอุบายของแม่ทัพใหญ่ รีบสั่งให้หลวงสุทราวุธ กับพระพรหมาธิบดี นายกองลาวเมืองนครราชสีมา คุมทหาร 50ม้าไปสืบข่าวทหารญวนล่วงหน้าแล้ว พาทหารที่เหลือติดตามมาด้วย พอมาถึงค่ายก็พบทหารญวนนอนตายกลาดเกลื่อนอยู่สัก 500เศษ ทั้งที่โดนแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดจากกระบอกปืนใหญ่ที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ที่บาดเจ็บลำบากอยู่ ประมาณหนึ่งร้อยเศษ ถามคนที่บาดเจ็บอยู่นั้นได้ความว่ามีคนหนีเข้าป่าไปได้บ้าง ก็สั่งให้กองทหารม้าไปไล่จับกลับมาได้ 64คน

พระยาพิไชยสงคราม แลเห็นเรือญวนที่จอดริมตลิ่งนั้นตั้ง 40ลำ ยังมีปืนใหญ่พร้อมอยู่ก็ไล่ต้อนทหารลงเรือทันที กะว่าจะไปตามตีพวกกองทัพใหญ่ของญวนฝั่งโน้น แต่พอข้ามมาได้กองทัพใหญ่ทางบกญวนที่เคยห้าวหาญนักก็หนีหายไปหมดเกลี้ยงแล้ว จึงยกกองเรือ 40ลำข้ามกลับมา จากนั้นก็จัดการเผาทำลายเรือรบเสียเหลือไว้เพียง 4ลำ แล้วให้ตัดศรีษะญวนที่ถูกดินระเบิดตายแล้วกับที่ใกล้ตายใส่เรือทั้ง 4ลำ กับเอาญวนที่บาดเจ็บมาตัดมือตัดเท้าเสียลองข้างให้เป็นนายท้ายเรือ คุมไปลำละ 15คน แล้วให้เขียนหนังสือผูกคอญวนที่ถูกตัดมือตัดเท้าทุกคนนั้นเป็นภาษาญวนบ้าง ภาษาเขมรบ้าง ให้เนื้อความถูกต้องตรงกันว่า

“หนังสือนายทัพนายกองฝ่ายไทย ซึ่งเป็นกองทัพปีกหนึ่งของท่านแม่ทัพใหญ่แจ้งความมาถึงแม่ทัพนายกองฝ่ายญวน หรือพลเมืองชาวบ้านและลูกค้าพานิชฝ่ายญวนได้แจ้งว่า เราได้ให้ไพร่พลในกองทัพไทยไปเที่ยวเก็บได้ศรีษะญวนห้าร้อยหกสิบสองศรีษะบรรทุกเรือสี่ลำ ส่งมาเป็นบรรณาการถวายพระเจ้ากรุงเวียดนาม ซึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกกว่างเด้ พระเจ้าแผ่นดินกรุงเว้ขอทรงทราบว่า ซึ่งนายทัพไทยได้ส่งศรีษะญวนเข้ามาถวายนี้ เพื่อจะขอพระราชทานแลกเปลี่ยนศรีษะไพร่พลในกองทัพพระยานครสวรรค์ซึ่งแม่ทัพญวนฆ่าเสียที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้ามใกล้เมืองลาวหนึ่งพันคนนั้น ขอท่านนายทัพนายกองฝ่ายญวนและเจ้าบ้านผ่านเมือง หรือด่านขนอนของญวนทุกตำบล ผู้ใดได้พบปะเรือบรรทุกศรีษะญวน 562 ศีรษะนี้ ซึ่งส่งมาแลกเปลี่ยนศพไทยพันหนึ่งนั้น แต่บรรดาท่านที่ได้พบเรือทั้งสี่ลำนี้ ขอจงเห็นแก่ทางไมตรีเพื่อนสนุกในการศึกสงครามมาด้วยกัน ช่วยสงเคราะห์ส่งเรือสี่ลำนี้ไปให้ท่านเสนาบดีกรุงเว้ ท่านจะได้นำศีรษะญวนขึ้นทูลเกล้าถวายพระเจ้าเวียดนามตามความประสงค์ของนายทัพไทยด้วยเถิด”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 08:17

กลับมาสมัยสมเด็จพระนเรศวรใหม่



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 08:29

ความตามพระราชพงศาวดารต่อจากทรงคาบพระแสงดาบปล้นค่ายพม่า

สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสว่า พระนเรศวรทำศึกอาจหาญนัก ถ้าออกมาอีกถึงมาตรแม้นเราจะเสียทหารมากก็จะแลกเอาตัวให้จงได้ แล้วสั่งให้จัดทหารที่มีฝีมือสันทัดทุกกองให้ได้หมื่นหนึ่ง เอาไปช่วยค่ายลักไวทำมูและทหารทศตำบลลุมพลี ถ้าพระนเรศวรออกมาตีค่าย ให้กุมเอาเป็นจงได้

ครั้นถึงเดือน 4 แรม 10 ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรฯเสด็จออกไปตั้งทัพซุ่มอยู่ที่ทุ่งลุมพลีหมายจะ เข้าปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดีอีก ลักไวทำมูจึงให้ทหารม้ากอง ยกมารบล่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ พระองค์ เห็นข้าศึกมีน้อยก็เสด็จทรงม้าเข้ารบพุ่งไล่โดยลำพัง ส่วนกระบวนราบตามไปข้างหลัง พม่าสู้พลาง หนีพลางล่อให้ไล่ไปจนถึงที่ที่ลักไวทำมูนำกองทหารทศซุ่มกำลังรออยู่ก็กรูกันออกมา ห้อมล้อม จะจับตัวสมเด็จพระนเรศวรฯ พระองค์ทรงต่อสู้ข้าศึกเป็นสามารถ ลักไวทำมูขับม้า เข้ามาจะจับพระองค์ พระองค์จึงทรงแทงพระแสงทวนถูกลักไวทำมูตาย ทหารทศเข้ามาแก้ ลักไวทำมู ก็ทรงฟันด้วย พระแสงดาบตายอีก1 คน แต่พวกพม่าเห็นทหารไทยมีน้อยจึงล้อมไว้ สู้รบกันอย่ากว่าชั่วโมง จนพวกทหารราบตามไปทัน จึงเข้าแก้ไขสมเด็จพระนเรศวรฯออกมาจากที่ล้อมหนีกลับพระนครได้


คราวนี้เป็นการรบกันตอนกลางวัน ทรงมีทหารราบตามไปด้วยกะจะเข้าปล้นค่ายเต็มรูปแบบ
จะเห็นว่าการเคลื่อนตัวของทหารราบช้ามาก ทรงตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกถึงกว่าชั่วโมง จึงสามารถตามไปแก้ไขพระองค์ได้
ชวนให้คิดว่า ถ้ามิใช่ประกาศิตของพระเจ้าหงสาวดีที่ห้ามทำร้าย ให้จับเป็นสมเด็จพระนเรศวรเท่านั้น พวกพม่าจึงได้แต่ล้อมไว้ รบหลอกล่อให้พระองค์อ่อนแรงแล้วจึงจะเข้าเกาะกุม โดยไม่กล้ารุมอาวุธหมายชีวิต

มิฉะนั้นประวัติศาสตร์อาจจะพลิกผกผัน ไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ก็ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 08:53

อีกสำนวนหนึ่งจาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม )

เสด็จเถิงที่ใกล้กรุงพระนครศรีอยุธยาณวันอังคารเดือนอ้ายแรม ๑๔ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตั้งทัพค่ายบางปะหันพระมหาอุปราชาตั้งค่ายกุมดอง พระเจ้าแปรตั้งค่ายสีกุก พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งตำบลวัดสังกะวาด สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าตรัสทราบว่าทัพพระเจ้าหงสาวดียกมา ก็ม้าทวนกับทหาร ๓ กอง กองหนึ่ง ๒๒ คน กองหนึ่ง ๔๒ คนกองหนึ่ง ๗๒ คน ขึ้นม้าถือทวนครบ เมื่อยกออกไปกองหน้าข้าศึก ออกมารบ ทหารกรุงเทพมหานครตีแตกฉานเข้าไป สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงคาบพระแสงดาบกับทหารปีค่ายขึ้นไป ข้าศึกในค่ายเอาทวนแทงพลัดตกลงมาเป็นหลายครั้งขึ้นมิได้ จึงทรงม้าที่นั่งกลับเข้ามาพระนคร ข้าศึกจึงเอาการซึ่งได้รบพุ่งไปกราบทูล สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีตรัสถามเสนาบดีว่า พระนเรศวรออกมาทำเป็นอย่างทหารดังนี้ เหมือนหนึ่งเอาพิมเสนมาแลกเกลือ พระราชบิดานั้นจะรู้หรือหาไม่ เสนาบดีกราบทูลว่า เห็นพระราชบิดาจะไม่รู้ หรือรู้แล้วจะมิได้ให้ออกมาทำ สมเด็จพระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสสั่งว่า พระนเรศวรทำศึกอาจหาญหนัก ถ้าออกมาอีกถึงมาตรว่าเราจะเสียทหารมากก็จะแลกเอาตัว ให้จงได้ แล้วสั่งให้จัดทหารที่มีฝีมือสันทัด ทุกทัพทุกกองให้ได้ ๑๐,๐๐๐ เอาไปช่วยค่ายลักไวทำมูทหารทดตำบลลุมพลี ถ้าพระนเรศวรออกมาตีค่าย ให้กุมเอาเป็นจงได้ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงม้าพระที่นั่งออกไปทหาร ๓ กอง ทัพล้อมวง ๑๐๐๐ ถือโตมรและดาบดั้งออกไป ได้รบพุ่งกันแต่เพลาเช้า ๓ โมงจนถึง ๔ โมงข้าศึกแตกเข้าไปอยู่สักครู่หนึ่ง กลับเอาม้า ๓๐ ออกมายั่วทัพ จึงแต่งเป็นปีกฉนางและกองซุ่มไว้ปีกหนึ่ง ลักไวทำมูปีกหนึ่ง ทหารทดสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงม้าทวนไล่ข้าศึกเข้าไป และข้าศึก ๒ ปีกออกหุ้มพระองค์และทหารนั้น เข้าไว้ ลักไวทำมูถือดาบดั้งเข้ามาจะกุมเอาพระองค์ ๆ ทรงแทรกด้วยพระแสงทวนถูกลักไวทำมู ๆ ฟันต้องพระแสงทวนเป็นแผล แต่ลักไวทำมูตาย ทหารทดถือโตมรและหอกใหญ่ตรงเข้ามา ทรงฟันด้วยพระแสงดาบถูกสะพายแล่งล้มลงตาย ก็เสด็จกลับเข้ามาพระนคร สมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ให้เข้ามาตีค่ายชาวพระนคร ถึง ๒-๓ ครั้งมิได้แตกฉาน จึงตรัสว่าจวนเทศกาลฟ้าฝนน้ำนองอยู่แล้ว ก็ส่งให้เลิกทัพเสด็จกลับไปเมืองหงสาวดี

ทหารทด(ทศ)คืออะไร? ช่วยกันค้นทีเร๊ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 10:38

ว่างๆ ขอย้อนกลับไปตอบคุณหลวงเล็กหน่อย ขอโทษที่ทิ้งไว้นาน
อ้างถึง
อนึ่งกรุงศรีอยุธยามีด่านขนอนคอยเหตุการณ์ต่างๆ
ตั้งอยู่ตามลำแม่น้ำรอบกรุงทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งเปน
ทางแม่น้ำใหญ่จะเข้ามาในพระนครนั้น
ทิศตวันออกตั้งด่านที่ตำบลบ้านเข้าม่านด่าน ๑
ทิศใต้ตั้งด่านที่ตำบลบ้านบาง.......(เอกสารขาด)ด่าน ๑
ทิศตวันตกตั้งด่านที่ตำบลบ้านปากคูด่าน ๑
ทิศเหนือตั้งด่านที่ตำบลบ้าน..........(เอกสารขาด)ด่าน ๑
รวมเปนด่าน ๔ ตำบล เรียกท่าขนอนหลวง ๔ ทิศรอบกรุง
มีขุนด่านหมื่นขนอนและไพร่หลวงรักษาด่าน
นาย ๒ ไพร่ ๒....... (เอกสารขาด) ในเดือนหนึ่งผลัดเปลี่ยนเวียน
เวรละ ๑๕ วัน สำหรับตรวจตราของต้องห้ามตามกฎหมาย
และเครื่องศาสตราวุธที่แปลกประหลาด แลผู้คนที่แปลก
............(เอกสารขาด)ออก ต้องทักท้วงไต่ถามตามเหตุการณ์
ที่ด่านทั้ง ๔ ตำบลนั้น มี.........(เอกสารขาด)ไว้สำหรับคอย
บอกเหตุการณ์มาในกรุง

คุณหลวงเก่งมากครับที่ค้นหาเอกสารมาได้ เป็นอันว่ากรุงศรีอยุธยามีขนอนหลวง(ด่าน)ทั้งสี่ทิศ แต่เมื่อไม่มีแผนที่ประกอบ ผมก็เดาว่าขนอนหลวงริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผมวงในแผนที่ คือตำแหน่งขนอนด้านใต้ของกรุง ซึ่งเป็นด่านสำคัญตามบทบาทของพระยาจีนจันตุ เพราะเป็นเส้นทางหนี ด่านอื่นไม่เกี่ยว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 10:42

อ้างถึง
การที่พระยาจีนจันตุล่องสำเภาลงมาโดยไม่มีพวกด่านจับได้นั้น
สันนิษฐานได้หลายประการ

๑.พระยาจีนจันตุอาศัยอยู่นอกด่านขนอนลงมาทางใต้
ทำให้กว่าชาวด่านจะรู้ว่าพระยาจีนจันตุล่องสำเภาหนีลงมาแล้ว
พระยาจีนจันตุก็เดินทางล่วงมาหลายได้เส้น
และลำพังชาวด่านที่เข้าเดือนเวียนเวรกัน ๑๕ วัน
มีนาย ๒ ไพร่เข้าเวร ๑๕ คน กับเรือเล็กและอาวุธเบาที่ไม่ร้ายแรง
ย่อมไม่สามารถหยุดยั้งเรือพระยาจีนจันตุได้

อ้าว เรือไปอยู่นอกด่านได้อย่างไร ตัวน่ะไปอาศัยนอนกับแม่ค้าด้านใต้ของขนอมได้ ยิงฟันยิ้ม แต่เรือยังไงๆก็ต้องผ่านด่านเข้ามาก่อน เพราะด่านเขามีไว้ให้เรือผ่านเข้ามาให้เขาตรวจนะครับ ไม่ใช่ว่าใครไม่อยากให้ตรวจก็จอดไว้นอกด่านได้ และผ่านมาแล้วก็ต้องอยู่ในด่านจนกว่าจะกลับออกไปจริงๆ แต่ก็ต้องตรวจตรากันอีกทีหนึ่ง

พระยาจีนจันตุเป็นต่างด้าวที่มีชนักติดหลังเพราะเพิ่งไปตีเพชรบุรีมาแต่ไม่สำเร็จ จึงทำทีมาขอพึ่งพระบรมโพธิสัมภาร เข้ามาแล้วไว้วางพระราชหฤทัย วันดีคืนดีจะทำเป็นรอบจัดขอเอาเรือไปไว้ใต้ด่าน หัวจะหลุดจากบ่าเสียก่อนจะหนี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 10:46

อ้างถึง
๒.ในพระราชพงศาวดารบอกว่า
...สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็เสด็จยกทัพเรือตามพระยาจีนจันตุ
ลงไปในเพลากลางคืนนั้น แล้วตรัสให้ เรือประตู เรือกัน และเรือท้าวพระยาทั้งหลาย
เข้าล้อมสาเภาพระยาจีนจันตุ และได้รบพุ่งกันป็นสามารถ
พระยาจีนจันตุก็ให้โล้สำเภาไปกลางน้ำ...

แสดงว่า พระยาจีนจันตุไม่ได้ล่องสำเภามากลางแม่น้ำ
แต่ล่องเลาะริมตลิ่งมาตลอดทาง ทำไมพระยาจีนจันตุถึงทำอย่างนั้น
สันนิษฐานว่า ถ้าล่องสำเภามากลางน้ำ ย่อมเป็นสังเกตได้ง่าย
เพราะปกติสำเภาพ่อค้าคงจะไม่ได้ล่องขึ้นลงในเวลากลางคืน
ฉะนั้นจึงล่องสำเภามาใกล้ตลิ่ง ซึ่งก็เสี่ยงที่ชนตลิ่งอยู่ไม่น้อย
และยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ที่คดที่โค้งหลายแห่ง การล่องมาเวลากลางคืน
ที่พระจันทร์ไม่สว่าง (ขึ้น ๔ ค่ำ ) โอกาสที่จะไปชนตลิ่งย่อมมีมาก
ซึ่งแม้ในฤดูกาลจะมีลม แต่คิดว่าพระยาจีนจันตุคงจะไม่ได้ใช้ใบ
เพราะการล่องสำเภาใกล้ตลิ่งโดยใช้ใบก็ยิ่งจะทำให้ชนตลิ่งง่ายเข้าไปอีก

ฉะนั้นวิธีการดีที่สุดคือ โล้ (จะโล้อย่างไรเชิญเลือกเอาตามใจชอบ)
หรือถ่อสำเภาให้แล่นเลียบตลิ่งไป ยิ่งในคืนเดือนไม่สว่างเช่นนี้
คงไม่เป็นที่สังเกตได้ง่ายนั้น เพราะริมฝั่งส่วนใหญ่ก็เป็นที่รกมากแห่ง
อีกทั้งสำเภาพ่อค้าที่มีอยู่รายทางลำน้ำก็คงพอมีบ้าง

ผมขออนุญาตเห็นต่าง

พระยาจีนจันตุเลือกเวลาน้ำขึ้นสูงสุดแล้วกำลังจะลงเป็นเวลาออกเรือกลางดึก เดือนที่เลือกก็เพราะมีลมส่ง สำเภาสามารถแล่นใบได้ เรือเมื่อกินลมแล้วไม่ต้องไปช่วยพายให้เมื่อย เพราะมันจะวิ่งเร็วกว่าฝีพายอยู่แล้ว นอกจากเวลาที่เข้าคุ้งที่โค้งเข้าทวนลม ตรงนี้จะทำให้เรือต้องชลอความเร็วตามปกติของมัน และอาจจะต้องใช้พายช่วยด้วยเพื่อรักษาแนวกลางน้ำไว้ ไม่ใช่แอบเดินทางมาริมตลิ่ง เพราะไม่กล้าวิ่งกลางน้ำกลัวจะเป็นที่สังเกตุได้ง่าย ตรงนี้ผมก็งงเป็นพิเศษเพราะการเลียบตลิ่ง ด้านไกลอาจมองไม่ชัดก็จริงอยู่ แต่ด้านใกล้ยิ่งเห็นชัดใหญ่ เผลอๆคว้าก้อนหินปาไปอาจถูกหัวพระยาจีนจันตุแตกก็ได้ แม่น้ำมันมี๒ตลิ่งนะครับ ไม่ใช่วิ่งเลียบฝั่งทะเล

ถ้าสำเภาพระยาจีนจันตุไม่ใช้ใบ แต่ใช้โล้ใช้พายอะไรก็ตาม เสร็จเรือเร็วของสมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่คืนนั้นแล้ว ท่านลองคิดง่ายๆ เอาเรือสำเภากับเรือกราบมาพายแข่งกัน ใครจะเร็วกว่ากันนั้นไม่ต้องถาม แต่จะเร็วกว่ากันกี่เท่าต่างหากที่น่าคิด

การที่พระราชพงศาวดารบอกว่า เรือสมเด็จพระนเรศวรมาทันยิงกันกับสำเภาพระยาจีนจันตุก็รุ่งสางพอเห็นท้ายกันแล้ว ผมก็พยายามสันนิฐานว่าน่าเป็นไปได้ด้วยเหตุใด และน่าจะมาทันแถวคุ้งใหญ่บางกระเจ้า เพราะสำเภาตรงนั้นต้องวิ่งสวนลมตรงๆเป็นระยะทางไกล ซึ่งพอหลุดตรงนั้นได้แล้วก็ไม่ต้องไปตาม แต่คุณหลวงก็บอกว่าขี้เกียจย้อนไปอ่านซะอีก
 
เรื่องความมืดในคืนขึ้น๔ค่ำไม่ต้องเป็นห่วงหรอกครับ วิ่งรักษาแนวกลางน้ำไว้ ยังไงๆก็มองเห็นอะไรเป็นน้ำอะไรเป็นบก ไม่ชนตลิ่งแน่นอน แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้แคบเหมือนคลองแสนแสบที่เรือเมล์วิ่งสวนกัน น้ำคลำกระฉอกคนโดยสารเปียกปอนไปตามกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 29 เม.ย. 11, 10:51

อ้างถึง
แต่เมื่อเรือสมเด็จพระนเรศวรตามมาทัน การจะโล้สำเภาเลียบฝั่ง
ย่อมไม่ปลอดภัยหนีไม่ทันแน่ พระยาจีนจันตุจึงให้โล้สำเภา
ออกไปกลางแม่น้ำ เข้าใจว่า ตอนนี้คงจะใช้ใบและให้กระแสน้ำ
ช่วยเดินเรือให้เร็วขึ้น (คิดว่าตอนนั้น น้ำคงกำลังลง)
เมื่อเป็นเช่นนี้ สำเภาพระยาจีนจันตุก็แล่นได้เร็ว และคงจะทิ้งระยะ
กับกองเรือสมเด็จพระนเรศวร พระองค์จึงให้เรือเล็กไปล้อมสำเภา
แต่ก็แปลกใจว่า ก็ในเมื่อล้อมสำเภาได้แต่ทำไมขึ้นสำเภาไม่ได้เลย
ทั้งที่กำลังคนและความเร็วกับความคล่องว่องไวของเรือเล็กน่าดีกว่าสำเภา

ก็เพราะกองเรือของพระองค์ไม่ทันได้ล้อมน่ะซีครับ เรือใบตอนกินลมเต็มที่ความเร็วไม่น้อยอย่าดูถูกนะครับ (ขอแรงย้อนกลับไปดูรูปเรือสำเภาจีนแล่นใบของคุณหนุ่มสยามหน่อย) แถมยังก่อให้เกิดคลื่นหัวเรืออีก เรือกราบเข้าไปประชิด ดีไม่ดีเรือคว่ำได้ อาจมีบางลำที่พยายามเข้าเสียบเข้าท้ายสำเภาเพราะตรงนั้นปลอดคลื่นหัวเรือ แต่ก็ปีนไม่สำเร็จเพราะท้ายเรือสูง คนบนเรือป้องกันง่าย พอเรือสำเภาวิ่งเข้าทางลมเต็มตัวก็ทิ้งห่าง ต้องเลิกรบ


หวังว่าคงจะจบเรื่องพระยาจีนจันตุนะครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 02 พ.ค. 11, 09:53

^
ผมว่ายังไม่จบครับ  ยิงฟันยิ้ม

บังเอิญไปเจอภาพเหล่าเรือสำเภาค้าขายที่เมืองฮ่องกง เห็นท้ายเรือถือพายยาว ๒ อันพร้อมคนอยู่เบื้องหลัง แบบนี้คงเป็นการโล้เรือที่ท้ายเรือแน่เลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 02 พ.ค. 11, 10:07

^
ถ้าท้ายเรือไม่สูงจากน้ำมาก ก็พอไหวครับ
ตามภาพ ไม่ใช่เรือสำเภา เป็นเรือสำปั้นขนาดใหญ่ที่ออกแบบสำหรับให้โล้เลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 02 พ.ค. 11, 10:55

อะไรกัน  จะรีบจบไปไหน

ในพงศาวดารตอนพระยาจีนจันตุหนีโดยสำเภานั้นมีข้อความว่า

แล้วเอาเรือพระที่นั่งหนุนเข้าไปให้ชิดสาเภา
แล้วทรงปืนนกสับยิงถูกจีนผู้ใหญ่ตายสามคน
พระยาจีนจันตุก็ยิงปืนนกสับมา ต้องรางปืนต้นอันทรงนั้นแตก
พระยาจีนจันตุก็รบพุ่งป้องกันเป็นสามารถ
พลทหารข้าหลวงจะปีนขึ้นสำเภามิได้
พระยาจีนจันตุก็ให้โล้สำเภาออกพ้นปากน้ำตกลึก

แม้สำเภาของพระยาจีนจันตุจะหนีจากกองเรือสมเด็จพระนเรศวร
ที่ตามตีได้

แต่อุปสรรคของพระยาจีนจันตุยังไม่ได้หมดแต่เท่านั้น
ยังมีสิ่งที่สำเภาหรือเรือใหญ่ทุกลำที่ล่องเข้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา
ต้องคำนึงถึงด้วยเสมอ  นั่นคือ สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา

สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยากินอาณาบริเวณกว้างหลายกิโลเมตร
ก่อนที่มีการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงปี ๒๔๙๔
สันดอนนี้เป็นปัญหาในการเดินเรือเข้าออกในแม่น้ำเจ้าพระยามานาน
ดังที่มีบันทึกชาวต่างชาติจดไว้มากมาย

อย่างบันทึกชาวต่างชาติฉบับหนึ่งว่า

น้ำตรงสันดอนลึกประมาณ  ๑๒ ฟุต 
น้ำตรงสันดอนตื้นที่สุดในเดือนมีนาคม
ตรงน้ำลึกจะลึกเพียง  ๑๓ ฟุตเท่านั้น 
ในเดือนพฤศจิกายน  น้ำจะลึกที่สุดถึง ๑๘  ฟุต

ที่ว่าลึกหรือตื้นสุดตามบันทึกนี้ 
เป็นความลึกเมื่อน้ำขึ้นสูงสุดในแต่ละเดือน

และก็มีหลักฐานจากทางไทยที่จดไว้ว่า

ครั้นถึงเมืองปากน้ำพอย่ำฆ้อง  ดุเหว่าร้องเพลาประจุสสมัย 
ทอดสมอรอรั้งประทังใจ  อยู่ที่ปากชลาลัยนั้นสองวัน 
ต่อน้ำขึ้นจึงได้ถอยออกลอยล่อง  จำเพาะร่องสำเภาผายผัน 
แต่ฉุดชากลากเข็นอยู่เป็นควัน  หวังให้ทันมรสุมสำเภาไป 
ครั้นข้ามโขดหลังเต่าออกตกลึก  ก็ตั้งตรึกตรมจนกมลไหม้ 
เขาผูกจัดเชือกเสาแลเพลาใบ  แล้วคอยลมที่จะได้ไคลคลา 

ข้อความนี้คัดจากนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน
เมื่อวันอังคารแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๗ ปี ๒๓๒๔
ก็ขนาดสำเภาพระยามหานุภาพไปเดือน ๗ ยังต้องรอออกจากปากน้ำ
ถึง ๒ วันเพื่อให้ถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ  น้ำจึงจะขึ้นสูงพอจะเอาเรือข้ามสันดอนได้
กระนั้นกว่าข้ามไปได้  ก็ต้องฉุดกระชากลากเข็นกันพอสมควร
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า  เดือน ๗ นั้น เป็นเทศกาลฝนแล้ว 
น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็น่าจะมากกว่าช่วงเดือน  ๓-๔ (เดือนมีนาคม) แต่ก็ยังข้ามสันดอนลำบาก

ทีนี้มาดูสำเภาพระยาจีนจันตุซึ่งหนีมาตอนวันแรม ๔ ค่ำ
ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูง  คือ วันขึ้น แรม ๑๕ ค่ำ 
(แถมวันขึ้นแรม ๑ ค่ำให้อีกวัน)  แถมช่วงนั้นเป็นช่วงฝนแล้ง
น้ำในแม่น้ำย่อมไม่มาก  จะมากก็แต่วันที่น้ำทะเลหนุนสูง
คือวันขึ้นแรม ๑๕ ค่ำ  ที่เรียกว่าวันน้ำเกิด

ปกติชาวเรือเมื่อล่องเรือมาถึงปากน้ำจะทอดสายดิ่งหยั่งความลึกของน้ำ
แล้วจะต้องรอจนกระทั่งวัน ๑๕ ค่ำก่อน
และรอน้ำขึ้นสูงสุดจึงจะเอาเรือข้ามสันดอนไป 

กรณีพระยาจีนจันตุ เอาสำเภามาในช่วงไม่ใช่เวลาน้ำเกิด
และหนีเขามา  จะได้ทอดสายดิ่งหยั่งน้ำดูหรือเราก็ไม่ทราบ
แต่พระยาจีนจันตุสามารถเอาสำเภาข้ามสันดอนปากแม่น้ำ
เจ้าพระยาด้วยการโล้จนลึกได้ในวัน แรม ๔ ค่ำ เดือน ๒
นับว่าเก่งมาก   

การที่สมเด็จพระนเรศวรให้กองเรือตามพระยาจีนจันตุมาถึงปากน้ำนั้น
คงจะคาดการณ์ไว้แล้วว่า  สำเภาพระยาจีนจันตุจะข้ามสันดอน
ไปยังไม่ง่าย  ถึงอย่างไรก็ก็อาจจะตามจับได้ที่สันดอนนั่นเอง
ซึ่งในระหว่างนั้น  กองเรือของสมเด็จพระนเรศวรอาจจะกำลังรอ
ทัพเรือที่กำลังตามมาสมทบด้วย  แต่ปรากฏว่าทัพเรือสมทบมาช้า
ไม่ทันการณ์  พระยาจีนจันตุ โล้ สำเภาพ้นสันดอนตกลึกไปแล้ว

ผมก็สงสัยอยุ่ว่า  ถ้าโล้อย่างที่คุณNAVARAT.C ว่า
พระยาจีนจันตุ  แกจะเอาสำเภาของแกข้ามสันดอน
ที่กินอาณาบริเวณกว้างเป็นหลายกิโลเมตร
ในช่วงน้ำขึ้นน้อยในเดือน ๒ ได้อย่างไร  ฮืม 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 02 พ.ค. 11, 16:27

^
อ้างถึง
ข้อความนี้คัดจากนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน
เมื่อวันอังคารแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๗ ปี ๒๓๒๔
ก็ขนาดสำเภาพระยามหานุภาพไปเดือน ๗ ยังต้องรอออกจากปากน้ำ
ถึง ๒ วันเพื่อให้ถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ น้ำจึงจะขึ้นสูงพอจะเอาเรือข้ามสันดอนได้
กระนั้นกว่าข้ามไปได้ ก็ต้องฉุดกระชากลากเข็นกันพอสมควร
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า เดือน ๗ นั้น เป็นเทศกาลฝนแล้ว
น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็น่าจะมากกว่าช่วงเดือน ๓-๔ (เดือนมีนาคม) แต่ก็ยังข้ามสันดอนลำบาก

พระยามหานุภาพคงไปกับเรือสำเภาที่แต่งสินค้าไปขายเมืองจีนด้วย คงต้องเอาของบรรทุกลงระวางเพียบเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด น้ำหนักเรือคงจะแปร้น้ำ ก็เป็นปกติที่สำเภาพวกนี้จะออกสันดอนได้ก็ในช่วงน้ำใหญ่(น้ำขึ้นสูงสุดในแต่ละปักษ์)เท่านั้น ก็เขาจะรอกี่วันก็ได้ ไม่รีบร้อนหนีตายใครมานี่

แล้วยังไงครับ เรือพระยาจีนจันตุจะต้องไปรอเหมือนเขาด้วยเหรอ ฮืม

จากพระราชพงศาวดาร

ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้นสี่ค่า ปีระกา ตรีศก ( ตรงกับ ศักราช ๙๒๓ ) เพลาประมาณ สองนาฬิกา พระยาจีนจันตุ ก็พาครัวลงสาเภาหนีล่องลงไป

ผมเคยเขียนไว้แล้วนะครับว่า
เดือนยี่ คือเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่ลมเหนือพัดพาเอาหนาวลงมาจากจีนพอดี ตรงตามที่ผมสันนิฐานไว้ พระยาจีนจันตุคงมีแผนหนีอยู่นานแล้ว ไม่ใช่เรื่อบังเอิญแบบเหตุการณ์พาไปอย่างในหนัง ขึ้นสี่ค่ำ น้ำยังเต็มฝั่งอยู่ วิ่งไม่ต้องกลัวท้องครูดเลนใต้น้ำในบางช่วงด้วย

ไม่ใช่ช่วงเดือน ๓-๔ (เดือนมีนาคม)ที่คุณหลวงว่านะครับ

อีกตอนหนึ่งก็เขียนไว้ว่า
ผมคิดว่าที่พระยาจีนจันตุเลือกออกเรือตอน๒ยาม ก็น่าจะเป็นช่วงที่น้ำกำลังจะขึ้นสูงสุดแล้ว และจะทรงอยู่สักช่วงหนึ่งก่อนที่จะเริ่มไหลลงสู่ทะเลใหม่ เรือจะได้วิ่งตามน้ำตามลมมาสบายๆ ถ้าความเร็วเรือเฉลี่ยประมาณ๘น๊อต หรือประมาณ๑๕ กม./ชม. ก็น่าจะออกปากอ่าวได้ในตอนสายๆ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 02 พ.ค. 11, 16:30

อ้างถึง
ทีนี้มาดูสำเภาพระยาจีนจันตุซึ่งหนีมาตอนวันแรม ๔ ค่ำ
ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูง คือ วันขึ้น แรม ๑๕ ค่ำ
(แถมวันขึ้นแรม ๑ ค่ำให้อีกวัน) แถมช่วงนั้นเป็นช่วงฝนแล้ง
น้ำในแม่น้ำย่อมไม่มาก จะมากก็แต่วันที่น้ำทะเลหนุนสูง
คือวันขึ้นแรม ๑๕ ค่ำ ที่เรียกว่าวันน้ำเกิด

ความจากสารานุกรม ของราชบัณฑิตสถาน

น้ำเกิด-น้ำตาย เป็นสภาวะอย่างหนึ่งของน้ำขึ้นน้ำลงในบริเวณริมทะเลหรือบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเล.

น้ำเกิด หมายถึง น้ำขึ้นในระดับสูงมากและลงต่ำมากในช่วงวัน เนื่องจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกับโลก จึงมีอิทธิพลในการดึงดูดน้ำทะเลให้มีระดับแตกต่างกันมากดังกล่าว. ในแต่ละเดือน มีน้ำเกิด ๒ ช่วง คือ ช่วงวันเดือนเพ็ญ ตั้งแต่ วันขึ้น ๑๓ ค่ำถึงวันแรม ๒ ค่ำ และช่วงวันเดือนดับ ตั้งแต่ วันแรม ๑๓ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ.

ส่วน น้ำตาย หมายถึง น้ำขึ้นน้อยและลงน้อย บางครั้งจะสังเกตไม่ค่อยได้ว่าเป็นน้ำขึ้นหรือน้ำลง ทั้งนี้เนื่องจาก ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากซึ่งกันและกัน. ในแต่ละเดือนมีน้ำตาย ๒ ช่วง คือ ช่วงกึ่งปักษ์แรก คือ ระหว่างขึ้น ๕-๙ ค่ำ และช่วงกึ่งปักษ์หลัง คือ ระหว่างแรม ๕-๙ ค่ำ


ทีนี้ผมเอาระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด ในแต่ละเดือน เก็บจากมาตราน้ำ กองทัพเรือ มาให้ดูเป็นความรู้

(หน่วยเป็นเมตร สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง)
มค  3.86-0.74   กพ 3.77-0.94   มีค 3.66 -0.88  เมย 3.68-0.72
พค  3.69-0.60   มิย 3.70-0.38   กค  0.72-0.25  สค 3.77-0.46
กย  3.61 -0.79  ตค 3.42-0.65   พย 3.75-0.42   ธค 3.89-0.53
ที่มา
http://www.navy.mi.th/hydro/services2011.htm

จะเห็นว่าน้ำในเดือนยี่หรือธันวาคมถือว่ามากที่สุดในแต่ละปี เพิ่งจะผ่านวันลอยกระทงไปได้ไม่กี่วันเอง
เมื่อคุณหลวงตั้งสมมติฐานผิด มันก็เลยผิดตลอด
และถ้าพระยาจีนจันตุเลือกหนีในวันคืนที่เป็นช่วงน้ำตายของเดือนยี่ คือวันแรม๔ค่ำ ระดับน้ำขึ้นไม่มากเกินไป ลงก็ไม่มากเกินไป จะสะดวกตั้งแต่ออกเรือจากอยุธยามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เพียงแต่กะเวลาให้เรือมาถึงสันดอนในช่วงน้ำขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็เอาตัวรอดแล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง