เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 10914 คำว่า สัปปะรังเค
summer
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


 เมื่อ 06 เม.ย. 11, 17:12

รบกวนท่านผู้รู้ทุกท่าน
คำว่า สัปปะรังเค (พิมพ์ถูกไหมครับ ?) มีที่มาอย่างไร ใช่ภาษาไทยหรือเปล่าครับ และอยากทราบความหมายที่ชัดเจนด้วยครับ  ยิงฟันยิ้ม
ขอบคุณครับ

ปล.เวลาพี่เข้ามาในห้องผมแล้วห้องไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะโดนบ่นว่า ห้องสัปปะรังเค  ลังเล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 06 เม.ย. 11, 21:19

หาคำนี้ไม่เจอในรอยอิน   ฝากคุณเพ็ญชมพูช่วยหาอีกทีค่ะ
ดิฉันสะกดว่า สับปะรังเค

ไม่ได้ว่ารกรุงรัง  แต่แปลว่าคับแคบ  ซอมซ่อ   คร่ำคร่า จะพังมิพังแหล่  ทำนองนั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 เม.ย. 11, 22:12

มีคนอธิบายว่า  สับปะรด มาจาก สรรพ + รส  ถ้างั้น สับปะรังเค อาจมาจาก สรรพ + รังแค

โปรดอย่าถือเป็นเรื่องจริงจัง

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 เม.ย. 11, 10:39

วิเคราะห์ตามรูปศัพท์

สัปปะรังเค 
สัปปะ  บาลี แปลว่า  พญางู 
มาจากคำกริยาว่า  สปฺปติ  แปลว่า เลื้อยคลาน

รังเค  บาลี มีคำว่า  รังคะ  แปลว่า  สี เครื่องย้อม  เครื่องทา
เวทีโรงละคร  สถานที่ฟ้อนรำ   บางทีก็แปลว่า ที่โล่งกว้าง ก็ได้ด้วย

จากความหมายที่ว่ามาข้างต้น   สัปปะรังเค  จะแปลว่าอะไร
ก็คงไม่เข้ากับบริบทที่ใช้ในภาษาไทยเป็นแน่

ถ้าเป็นสัพพะ + รังเค  จะแปลว่าอะไร  สีทั้งปวง  งั้นหรือ
เบื้องต้นสันนิษฐานว่า  อาจจะไม่ใช่คำบาลีสันสกฤ๖
ส่วนจะมาจากภาษาใดนั้น   ไม่ทราบ
บันทึกการเข้า
kwang satanart
อสุรผัด
*
ตอบ: 48


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 02:22

เคยได้ยินคุณพ่อ ซึ่งถ้าท่านยังอยู่อายุก็คง 92 ปีแล้ว  พูดคำนี้  เช่น  ของสับปะรังเค  โดยนัยยะ  คำพูดของท่านกับของที่เราเห็น  เลยพอเข้าใจว่า  หมายถึงของที่เก่ามากๆ   ใกล้เสีย  ใกล้พัง  หาค่าไม่ได้  สมควรทิ้งแล้ว อะไรทำนองนี้ล่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 ส.ค. 18, 09:37

เพื่อนส่งข้อมูลนี้มาให้  ขออนุญาตเอามารวมไว้ด้วยกัน  เพิ่งทราบเหมือนกันว่ารอยอินทร์ไม่มีข้อมูลคำนี้  อันที่จริงก็เป็นคำคุ้นหูอยู่


https://www.facebook.com/100000138663290/posts/2238366756177925/

วันนี้วิ่งเสร็จ นั่งรับประทานข้าวไปคุยกะอาปาไป ถึงเรื่องแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย บอกอาปาว่ามีคนเสียชีวิตเกือบร้อยแล้ว น่าสงสารมาก

อาปาบอกว่า ย่านนี้ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นเขตวงแหวนไฟ (火圈-ฮวยเควง ออกเสียงยากมาก) อยู่แล้ว (อาปายังแม่นมาก แม้อายุจะร้อยแล้วเนี่ยะ) เรื่องภูเขาไฟแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นประจำ

จากนั้นอาปาก็เล่าให้ฟังว่า ในยุคปลายราชวงศ์ชิง (清朝-เช็งเชี้ยว) คนจีน โดยเฉพาะคนแต้จิ๋ว (เตี่ยจิว) ต้องดิ้นรนหนีออกจากประเทศ ไม่ได้หนีพวกแมนจูนะ แต่หนีความยากจนข้นแค้นที่เกิดขึ้นทั่วแผ่นดินจีน อันเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารแผ่นดินของช่วงปลายของราชวงศ์นี้ คนจีนต้องกินน้ำต้มใบไม้ ขุดรากไม้มากิน อดตายไปก็มาก อยู่ต่อไม่ได้แล้ว

การอพยพออกนอกประเทศเรียกได้ว่า ไปตายดาบหน้า ซึ่งแน่นอน ตายไปก็เยอะ ที่เหลือรอดก็มากโข บ้างก็ไปยากจนต่อในดินแดนอื่น (ฮาาา) บ้างก็ร่ำรวยมีหลักมีฐานมั่นคง เราเรียกคนจีนเหล่านี้ว่า "จีนโพ้นทะเล" หรือ "หั่วเคี้ยว-华侨" (จีนกลางออกเสียงหัวเฉียว) นั่นเอง

คนจีนอพยพเหล่านี้ ไม่เคยลืมบ้านเก่า ยังไงก็ต้องกลับไปเยี่ยมบ้านเก่าให้ได้ โดยนั่งเรือหัวแดง (红头船-อั่งเถ่าจุ๊ง) กลับเตี่ยจิว มาขึ้นที่ท่าในเขตเถ่งไฮ้ (澄海市) ไม่ไกลจากบ้านอาปามากนัก เวลามีชาวจีนกลับบ้าน ชาวบ้านแถวๆ นั้น ก็จะไปดู "แขก" กัน ผมเข้าใจเอาเองว่า คำว่า"แขก" ที่แปลว่าผู้มาเยือน น่าจะมาจากภาษาแต้จิ๋วคำว่า "หนั่งแขะ-人客" และเป็นคำเดียวกับ คำที่เรียกชาวจีนแคะ ซึ่งออกเสียงว่า "แคะนั้ง-客人" (การออกเสียงภาษาแต้จิ๋วจะเปลี่ยนเสียงสูงต่ำขึ้นกับตำแหน่งของคำ) ที่จริงถ้าจะเรียกให้ถูกก็ต้องเรียกชาวจีนแคะว่า "แคะแก-客家" หรือ ฮากก้า นั่นเอง อาปาเคยเล่าว่า ชาวจีนแคะนั่น อพยพมาจากมณฑลอื่น แล้วมาอยู่กับพวกเราชาวแต้จิ๋ว เราเลยเรียกพวกเค้าว่าชาวแขก(ผู้มาเยือน)นั่นเอง

อ้าว ผมพาออกทะเลไปไกล กลับมาๆ เรื่องชาวแต้จิ๋วโพ้นทะเลกลับบ้านต่อ

จีนมุงที่ท่าเรือหัวแดง (อาปาเคยเล่าเรื่องเรือหัวแดงนี้ไว้แล้ว) พากันมาดูพวกแขก แล้วก็จะวิพากษ์วิจารณ์ (นินทานั่นแหละ) แขกจากที่ต่างๆ เช่น แขกจากเมืองไทย (เรียก ฮวงแขะ หรือ เสี่ยมหล่อแขะ) พวกนี้จะเป็นพวกรากเลือด (ขออภัย-555) คือจะนุ่งกางเกงปังลิ้ม เคี้ยวหมาก บ้วนน้ำหมากราวกับพวกอาเจียรเป็นเลือด (เคยเล่าไว้แล้วเช่นกัน), พวกแขกจากฮ่องกง (เรียก เฮียงกังแขะ) พวกนี้จะแต่งตัวดี ทันสมัย เนี้ยบ ดูมีชาติตระกูล แต่จะมีอีกแขกนึงที่เป็นที่มาของหัวเรื่องวันนี้ (เกริ่นยาวไปไม๊เนียะ)

อาปาเล่าว่า อาม่าของอาปาเคยพูดให้ฟังว่า จะมีชาวแต้จิ๋วที่สิ้นไร้ไม้ตอก ส่วนนึง ต้องอพยพไปไกลมากๆๆ (สำหรับคนโบราณ) เรียกว่าไปในดินแดน "อู่ที บ่อหยิกเท้า-有天無日头" หรือ มีฟ้าแต่ไม่มีพระอาทิตย์ ซึ่งอาปาจำได้ 3 ที่ คือ "หลื่อส่ง" "กาลาปา" และ "ซำปาลัง" ซึ่งอาปาก็ไม่สามารถระบุได้ว่า แต่ละที่คือที่ไหนในโลกปัจจุบัน

อาปาคาดว่า "หลื่อส่ง กาลาปา" อยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ผมเดาต่อว่า "หลื่อส่ง"น่าจะเป็นเกาะ"ลูซอน"นั่นแหล่ะ แต่กาลาปานี่ คงไม่ใช่ กาลาปากอสหรอก นั่นไกลไปและไม่มีคนอยู่ (ฮาาา) ส่วน "ซำปาลัง" อาปาบอกว่า อยู่ในอินโดนีเซีย (ซึ่งมาจากประเด็นที่ผมเปิดเรื่องแผ่นดินไหวนั่นแหล่ะ อาปาเลยนึกถึงคำนี้ขึ้นมา) อันนี้ผมลองไล่ๆ ดูแผนที่อินโดฯ พบชื่อเมืองที่ออกเสียงใกล้ๆ กันคือเมือง Semarang ชื่อภาษาจีนคือ ซันเป่าหลง 三宝珑 แต้จิ๋วออกเสียง "ซำปอเล้ง" ซึ่งก็ไม่แน่ใจครับ ห่างจากคำว่า "ซำปาลัง" พอสมควร ไว้ถ้าเจอ หรือเพื่อนคนไหนมีข้อมูล รบกวนด้วยนะครับ

ดินแดน"ซำปาลัง" นี้ อาปาบอกว่าแร้นแค้นไม่แพ้จีน (แล้วจะไปทำม๊าาายยย) แต่ก็ยังทำกินได้มั่นคงกว่าจีน เหล่าจีนโพ้นทะเลที่กลับแต้จิ๋วจาก "ซำปาลัง" นี้ จีนมุงที่ท่าเรือเรียกว่า"ซำปาลังแขะ" อาม่าของอาปาเล่าว่า พวกนี้ดูพังมาก ดูจน ดูบ้านนอก (เอ๊า) ไม่เจริญหูเจริญตา คนจีนแต้จิ๋วเลยเรียกอะไร หรือใครที่แลดูกระจอก แลดูพังๆ ว่า พวก "ซำปาลังแขะ" ซึ่งผมเข้าใจ (เอาเอง) ว่า นี่แหล่ะคือที่มาของคำว่า "สับปะรังเค" ของไทยเรานั่นเอง

คำว่า สับปะรังเค เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจไม่รู้จักคำนี้มั้งครับ ไม่ค่อยได้ยินแล้ว ความหมายก็เหมือนกับ "ซำปาลังแขะ" นั่นแหละ คือ อะไรที่ดูพัง ดูกระจอกนั่นเอง คำๆ นี้ ไม่มีในพจนานุกรมไทยนะครับ ถามกูเก้อ ก็เก้อสมใจ มีคนคาดเดาเยอะแยะ เช่น มาจากกล่องใส่สับปะรสจากเกาหลี มีตัว "เค" พิมพ์อยู่ (แล้วมันกระจอกตรงไหน?) ไปจนถึง สับปะรสมีรังแค (อันนี้เอาฮาแน่นอน) โน่นเลย

ถึงแม้อาปาจะก้าวตามโลกดิจิตัลไม่ทัน ใช้เน็ตไม่เป็น แต่ความรู้อาปาที่เก็บสะสมมาเกือบศตวรรษ ยังคงแจ่มใสอยู่เลย การได้ฟังอาปาเล่าเรื่องเก่าเป็นสิ่งที่สุดยอดมาก เพราะแม้แต่ Google ก็ยังไม่มี
(ปล. เมือง Semarang ปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่นะครับ รุ่งเรืองมากไม่แร้นแค้นแบบแต่ก่อนแล้วครับ)
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ส.ค. 18, 09:52

คำลักษณะนี้ เป็นคำที่ได้ยินบ่อยๆ แต่ก็ไม่รู้ความหมายหรือที่มานะครับ อย่าง สัปปะรังเค โกโรโกโส อินุงตุงนัง เป็นต้น 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ส.ค. 18, 11:18

คำสุดท้ายคือ อีนุงตุงนัง

มีอีกหลายอี

อีล่อยป่อยแอ
อีหน็องอีแหน็ง
อีหลักอีเหลื่อ
อีหลุกขลุกขลัก
อีเหละเขละขละ
อีโหน่อีเหน่
อีโหลกโขลกเขลก

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง