ก่อนจะตามเสด็จฯยังประเทศเขมรนั้น หลวงประดิษฐไพเราะได้แต่งเพลงสำเนียงเขมรไว้จำนวนหนึ่งแล้ว เช่น เขมรราชบุรี ที่แต่งร่วมกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) (พ.ศ. ๒๔๕๒), เขมรเลียบพระนคร เถา (พ.ศ. ๒๔๕๘),เ ขมรพวง เถา (พ.ศ. ๒๔๕๘-๖๐), เขมรปากท่อ เถา (พ.ศ. ๒๔๖๑), ขอมทอง เถา (พ.ศ. ๒๔๖๘), เขมรสุ่มไก่ (พ.ศ. ๒๔๗๒)
ส่วนเพลงเขมรแท้ ๆ ที่หลวงประดิษฐไพเราะได้จดจำนำมาเปลี่ยนร่างแปลงรูปให้เป็นอัตราจังหวะ ๒ ชั้น เช่น อังโกเลี้ยต (อังกอร์เวียต..หรือ..อังกอร์วัด..?), เขมรนางนก, เขมรจำปาศักดิ์, ขอมเล็ก, เครอว ศรีโสภณ ซงซาร์มะ ก๊บ ตันบ๊อกซะเรา ปลายซงซาร์ ที่นำมาทำเป็นเพลง ๓ ชั้น ก็มี แมร์กอฮอม, ขะแมร์ซอ, ขะแมร์ธม หรือที่เรียกว่าเพลงชุดสามขะแมร์ หรือแม้แต่กลายเป็นเพลงเถา ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น เพลงนกเขาขะแมร์ เถา ที่หลวงประดิษฐไพเราะได้ปรับปรุงขึ้นจากเพลงเขมรแท้ ๆ (ทำนอง ๒ ชั้น) ราว พ.ศ. ๒๔๗๓-๗๖ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร โดยต่อให้ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน ร้องเป็นคนแรก ที่สถานีวิทยุวังพญาไท
คงไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่าเพลงเขมรแท้ ๆ ที่หลวงประดิษฐไพเราะได้ยินได้ฟัง รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่กับนักดนตรีเขมร ในช่วงเวลา ๓๐ วัน น่าจะเป็นประสบการณ์อันทำให้เกิดทรัพยากรทางความคิด เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำกลับมาผลิออดออกผลในภายหลัง เกิดเป็นสำเนียงเขมรที่งดงามเป็นอมตะประดับวงการดนตรีไทยอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพลงขอมใหญ่ เถา (๒๔๗๔), เขมรไทรโยค เถา (๒๔๙๑) , เขมรภูมิประสาท เถา (พ.ศ. ๒๔๘๙-๙๓), ขอมกล่อมลูก ๒ ชั้น (ทางเปลี่ยน ๒๔๗๘) , สาลิกาเขมร เถา (๒๔๗๔) เป็นอาทิ
สำเนียงเพลงเขมรที่หลวงประดิษฐไพเราะได้นำติดตัวกลับมา ได้ทำหน้าที่มอบความสุขรับใช้ผู้คนชนสยามหลากหลายชั้นวรรณะ ทั้งไพร่ฟ้าหน้าใส เรื่อยไปจนถึงในราชสำนัก มายาวนานกว่าค่อนศตวรรษ
นับว่าเพลงสำเนียงเขมร มีส่วนก่อร่างสร้างวิถีแห่งรสนิยมในการฟังเพลงของชาวไทยอยู่มิใช่น้อย
เก็บความจากบันทึกถึงประสบการณ์การเดินทางของ อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง
Thai Music at the Court of Cambodia : a personal souvenir of Luang Pradit Phairoh’s visit in 1930 เพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารของสยามสมาคม (Journal of The Siam Society) เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓ และภายหลังได้มีการถอดความเป็นภาษาไทยโดยมธุรส วิสุทธกุล
จากเว็บของนายยางสน คนบางขวาง
http://yangson.thailifemusic.com/?p=441 