ไทยกับกัมพูชา "มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานมาก มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกันมากมาย พูดได้ว่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ"
ถ้าพูดถึงในแง่ประวัติศาสตร์ การศึกสงคราม "เราก็จะพบว่ามีการสู้รบกันมาตลอด มีการกวาดต้อนผู้คนเป็นจำนวนมากจากกัมพูชามาไว้ที่อยุธยาและบริเวณต่าง ๆ ในภาคกลางหลายครั้งหลายครา ซึ่งคนกัมพูชาเหล่านั้น ก็หล่อหลอมกลายเป็นคนไทยในปัจจุบันนี้ด้วย"
เราจะเชื่อได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้อย่างไรว่า เราเป็นคนไทยบริสุทธิ์ บางคนหน้าตาดำคล้ำ ยังมีญาติสายแม่มาจากเมืองจีน ในประเทศไทยเชื่อว่ามีไม่น้อยที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวเขมร และถ้ามองในมุมกลับกัน เขมรเองก็คงไม่น้อย ที่มีบรรพบุรุษเป็นคนไทย
ประเด็นที่กล่าวมานี้ ไม่ได้นับชาวไทยที่เกาะกง
พูดถึงในด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ไทยกับกัมพูชาก็มีคล้าย ๆ กัน เพราะต่างรับอารยธรรมจากอินเดียมาเหมือนกัน วันสำคัญ ๆ ทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันโกน วันพระ การทำบุญตักบาตร ก็ล้วนแล้วแต่เหมือนกัน
วันสำคัญอื่น ๆ เช่น วันปีใหม่ ทั้งไทยและกัมพูชาที่ถือกันมานาน ได้แก่ วันสงกรานต์ ก็เป็นวันเดียวกัน วันทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษที่ชาวกัมพูชาถือว่ามีความสำคัญคือ "วันผชุมบิณฑ์" ก็คือวันสารทใหญ่ของไทยภาคกลาง ประเพณีตานก๋วยสลากของไทยภาคเหนือ และประเพณีชิงเปรตของไทยภาคใต้นั่นเอง
ขนบธรรมเนียม การไหว้ การกราบ การเคารพผู้ใหญ่ และราชประเพณีต่าง ๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน
"ที่ชัดเจนเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ ภาษา ทั้งไทยและกัมพูชานอกจากจะยืมภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันแล้ว ยังมีการหยิบยืมภาษาของกันและกันไปใช้เป็นจำนวนมาก โดย เฉพาะอย่างยิ่งคนไทยเรายืมภาษาเขมรมาใช้นานจนรู้สึกคุ้นชินแล้วว่าไม่ใช่ภาษาอื่น เช่น เดิน เหิน จมูก"
ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าในภาษาเขมรเองก็มีการหยิบยืมภาษาไทยไปใช้ด้วยเช่นกัน เช่น ผ้าห่ม และจำนวนนับตั้งแต่ ๓๐ ขึ้นไปจนถึง ๑๐๐ เป็นต้น
คนไทยมักจะบอกเสมอว่า คำภาษาเขมรเป็นคำสูง เพราะเรายืมคำเขมรธรรมดามาใช้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น ดำเนิน เขนย บรรทม ขนง บัญชา สรวล เป็นต้น
แท้จริงแล้ว ไทยเราไม่ได้รับภาษาจากเขมรมาใช้เป็นคำราชาศัพท์แต่ฝ่ายเดียว ผศ.ดร.กังวลบอกว่า ถ้าเราลองไปเหลือบดูคำราชาศัพท์ในภาษาเขมร ก็จะพบว่า มีการนำคำสามัญของไทยไปใช้เป็นคำราชาศัพท์เขมรด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น "เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไป คำราชาศัพท์เขมรจะใช้ว่า ยาง (เขมรออกเสียงว่า เยียง) ก็คือคำว่า ย่าง ที่มีความหมายว่า เดิน ในภาษาไทยเก่าก่อนนั่นเอง"
และยังมีคำราชาศัพท์เขมรอื่น ๆ ที่เป็นคำจากภาษาไทย
"เช่น ขึมขาด่ (เขมรออกเสียงว่า เขิม-ขัด) หมายถึงเข็มขัดที่ทำจากเงินหรือทอง คำว่า จุดหฺมาย (เขมรออกเสียงว่า จด-มาย) หมายถึง พระราชสาส์นที่ส่งไปยังเจ้าผู้ครองแผ่นดินเช่นเดียวกัน เตีน (เขมรออกเสียงว่า เติน) หมายถึง ตื่นบรรทม ทีนำง, ทีนัง (เขมรออกเสียงว่า ตี-เนียง) หมายถึง พระที่นั่ง อาเจียน (ออกเสียงว่า อา-เจียน) หมายถึง อาเจียน เป็นต้น"
คำราชาศัพท์ของเขมรที่ยกมา ถ้ามองมาในภาษาไทย จะเห็นว่าคำ เข็มขัด จดหมาย ตื่น ที่นั่ง อาเจียน ล้วนแล้วแต่เป็นคำสามัญ ที่คนไทยยุคกินไข่ชั่งกิโลขายยังใช้กันอยู่ แต่เขมรนำเอาไปใช้เป็นคำราชาศัพท์
ถ้ามองมุมกลับก็จะเห็นว่า ขณะที่ไทยรับเอาคำเขมรมาเป็นราชาศัพท์ เขมรเองก็รับเอาคำไทยไปใช้เป็นคำราชาศัพท์เช่นกัน ทั้งนี้เกิดมาจากการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม อันเกิดจากการไปมาหาสู่กันมาแสนนาน
ครั้นจะระบุว่า เราสองมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมาแต่ปางใดนั้น คงเป็นเรื่องยากยิ่ง สำหรับวัฒนธรรมเขมรที่ไทยรับเข้ามา ที่พอจะเห็นเป็นหลักฐานสำคัญคือ สมัยพระเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ไปตีเมืองพระนคร
ผลจากสงครามครั้งนี้ นายคอลริช เวลส์ นักประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องการเมืองไทยในสมัยโบราณระบุว่า "เมื่อไทยสามารถตีนครธมได้ในปี พ.ศ. ๑๙๗๔ ก็ได้กวาดต้อนบรรดาพราหมณ์และขุนนางจำนวนมากเข้ามายังอยุธยา จึงมีผลทำให้ความคิดเกี่ยวกับการปกครองของเขมร เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น..."
อิทธิพลที่นายคอลริชพูดถึง อาจส่งผลมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย เห็นได้จากคำพูดว่า "อ่าน เขียน เรียนขอม" คนไทยสมัยก่อน กลุ่มปัญญาชนต้องเรียนรู้ภาษาขอมด้วย แต่ปัจจุบันเหลือผู้เรียนที่เด่นชัดอยู่กลุ่มเดียวคือ "คนสักยันต์"
รากร่วมเหล่านี้ ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชาติไทยและชาติกัมพูชาเป็นต้นไม้ที่เติบโต แข็งแรง แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา ผลิดอกออกผลหล่อเลี้ยงประชาชนทั้งไทยและกัมพูชา ได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
การทะเลาะกัน หรือขัดแย้งกัน ย่อมมีเป็นธรรมดาของโลก แต่หากจะรุนแรงต่อกัน อย่าลืมหันกลับไปดูรากเหง้าของตัวเองด้วย
เราทั้งสอง ไทย-เขมร หาใช่คนอื่นไกลกันไม่.
