เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5696 พระปฏิเวทย์วิศิษฎ์ และ เรื่องแปลของท่านที่หายากที่สุดเล่มหนึ่ง ดอกตุลิปดำ
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 19 มี.ค. 11, 17:51



       ประวัติ

       พระปฏิเวทย์วิศิษฐ์​(สาย   เลขยานนท์) เป็นบุตรของ นายกี่ และนางทรัพย์  เลขยานนท์

เกิดเมื่อวันที่  ๒๘  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๓๘  ปีมะแม

สถานที่เกิด  ตำบลตรอกโรงพิมพ์พานิชศุภผล  สำเพ็ง  พระนคร


พี่น้อง(ไม่นับผู้ที่ถึงแก่กรรมเมื่อเยาว์)

คุณหญิง สิน  วิเศษสงคราม (สิน จันทรสนธิ)

นางชัยประชา (สรวล  สุนทโรทัย)

ท่านเจ้าของประวัติ

พระสุทธิอรรถนฤมนตร์​(สุข  เลขยานนท์)

นายสวัสดิ์   เลขยานนท์

นายโพยม  เลขยานนท์


       คุณพระได้ศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔ต   จนจบหลักสูตรไทยและอังกฤษ

ได้รับประกาศนียบัตรของโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔   

      สอบไล่ได้ชั้นมัธยมสามัญบริบูรณ์ของกรมสามัญศึกษาในปีเดียวกัน        ในระหว่างการศึกษาเป็น

ผู้ที่เอาใจใส่ในการเรียน  มีความประพฤติดี  และได้รับคะแนนสูงตลอดมา


       
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 มี.ค. 11, 05:46



       ได้อุปสมบทที่วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส

       สมรสกับน.ส. ชื่น  บูรณฤกษ์   ธิดาพระยานนทบุรีศรีเกษตราราม (เล็ก  บูรณฤกษ์) และคุณหญิงแช่ม

       บุตรธิดา คือ

นางสุลี  อิทธิกุล

น.ส. สุรางค์ 

นายสุรัติ   

ร.ท. สุโรจน์  เลขยานนท์์  ร.น.


       เมื่อ นางปฎิเวทย์วิศิษฐ์​(ชื่น  เลขยานนท์) ถึงแก่กรรมแล้ว      ได้สมรสกับ น.ส. เฉลียว  พิณโรจน์  ธิดานายเสน่ห์ และนางเที่ยง  พิณโรจน์

       มีบุตร  ๑ คน  คือ

นายสุรฤทธิ์


       เริ่มรับราชการใน พ.ศ. ๒๔๕๕   ตำแหน่งครูผู้ช่วยของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ตั้งอยู่ริมประตูพิมานไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง)

สังกัดกรมมหาดเล็ก       พ.ศ. ๒๔๕๗ ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก   ได้เป็นมหาดเล็กวิเศษ   โดยได้รับตำแหน่งเลขานุการอธิบดีกรมชาวที่มหาดเล็ก  เพราะย้ายกลับมารับราชการที่กรมนั้น


      วันที่ ๑ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๖๒   ย้ายเข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม  และปฎิบัติงานเรื่อยมาจนครบเกษียณอายุ


       ตำแหน่งที่ได้รับ

๒๔๖๒   ล่ามฝรั่งศาลโปรีสสภาที่ ๑

๒๔๖๔   เลขานุการเสนาบดี

๒๔๖๙   ปลัดกรมชั้น ๑

๒๔๗๑   เลขานุการเสนาบดี

๒๔๗๗   เจ้ากรมกองกลางในกรมบัญชาการ

๒๔๗๗   หัวหน้ากองกลาง  สำนักงานปลัดกระทรวง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 มี.ค. 11, 05:53


ยศและบรรดาศักดิ์

๒๔๕๘       รองหุ้มแพร

๒๔๕๘       ขุนรัตนพิบูลย์

๒๔๕๙       หลวงรัตนพิบูลย์

๒๔๖๑       หลวงเลขาสุขกิจ

๒๔๖๒       หลวงพรหมวิจารณ์

๒๔๖๓       รองอำมาตย์โท

๒๔๖๔       รองอำมาตย์เอก

๒๔๖๕       อำมาตย์ตรี

๒๔๖๖       พระปฎิเวทย์วิศิษฎ์

๒๔๗๒       อำมาตย์โท

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 มี.ค. 11, 06:35


พระปฏิเวทย์วิศิษฎ์ (สาย  เลขยานนท์)  ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่  ๓ มีนาคม  พ.ศ.​๒๕๑๓


       งานพระราชทานเพลิงศพ จัดขึ้น ที่เมรุวัดธาตุทอง  พระโขนง  เมื่อวันที่ ๒๑  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๑๓

ข้อมูลทั้งหมด  อ่านมาจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ


เพิ่งได้หนังสือเล่มนี้มาจากร้านหนังสือมือสองแถววัดพระศรีมหาธาตุในกิจกรรมตามล่าหนังสือก่อนงานหนังสือ   

เฉพาะชื่อเรื่อง  ตุลิปดำ  เรื่องแปลที่ตามหาอ่านมานานแล้ว

คำไว้อาลัยจากบุคคลพึงเคารพก็มีคุณค่า   ควรแก่การนำมาเล่าต่อดังต่อไปนี้



กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

บ้านถนนเพชรบุรีในพระนคร ฯ

วันที่ ๑๕  กันยายน  พุทธศักราช ๒๕๑๓


     "พระปฏิเวทย์วิศิษฐ์ กับข้าพเจ้า เพิ่งได้รู้จักคุ้นเคยกันต่อเมื่อแก่ลงแล้วทั้งสองคน   แต่ข้าพเจ้าก็ยังมีเวลาที่

ได้เห็นคุณสมบัติของคุณพระที่หาได้ไม่ง่ายนัก  กล่าวคือ  เป็นผู้สุจริตทั้งในตัวเอง  ทั้งต่อเพื่อนฝูงและมหาชนทั้งมวล

นอกจากนั้นยังเป็นผู้คงแก่เรียน   รู้ว่าถูกแล้ว  ไม่ยอมให้เป็นอย่างอื่นไปได้      ซึ่งเป็นที่หายาก  น่าสรรเสริญ

ข้าพเจ้าได้เคยร่วมงานหนังสือกับคุณพระมามาก      ขอชมได้โดยจริงใจว่า  คุณพระเป็นคนจะหาได้ยาก   

สังคมไทยขาดมากในการที่คุณพระถึงแก่กรรมลงนี้"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 มี.ค. 11, 21:12


นายเกษม  บุญศรี  กรรมการชำระปทานุกรม  ราชบัณฑิตยสถาน  เล่าว่า


       "รำลึกถึงคุณพระปฏิเวทย์วิศิษฐ์


       มีคำพูดอยู่ในภาษาไทยคำหนึ่งว่า  "จักเส้นผม"  ซึ่งหมายถึงกิริยาที่คิดข้อใดหรือเรื่องราวหรือคำต่างๆอย่างละเอียดละออ

ซึ่งตามปกติแล้วเขามักจะพูดกันว่า  เกินขอบเขตไปหรือละเอียดละออจนเกินไป    กิริยาเช่นนั้นมักจะไม่ใครมีในคนทั่วไป  แต่มีในคุณพระ

ในหมู่คณะกรรมการด้วยกันก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า  คุณพระเป็นคนละเอียดละออยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน     ชนิดที่เรียกว่า

จักเส้นผมทีเดียว         คุณพระพิจารณาคำต่าง ๆ ด้วยความละเอียดละออ  อย่างชนิดว่าจะไม่ให้มีช่องโหว่ได้เลย   ข้อที่ว่าเอา

พอไปได้นั้น  คุณพระจะไม่ยอมให้ผ่านไปได้เป็นอันขาด      ทุกคำจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเป็นที่สุด   แม้กรรมการอื่นจะเห็นว่า

รอบคอบที่สุดแล้ว  ถ้าคุณพระยังไม่เห็นด้วย  ก็ยังไม่ยอมให้ผ่านไปได้เป็นอันขาดนอกจะได้นำหลักฐานต่าง ๆ มาอ้างอิงได้จึงจะยอม

บางครั้งท่านประธานกรรมการคือท่านเจ้าคุณอนุมานราชธน  ต้องเป็นผู้ชี้ขาดให้ผ่านไปบ้างก็มี"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 มี.ค. 11, 21:25


นิลวรรณ  ปิ่นทอง   เลขานุการสมัยก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย   เล่าว่า


       "พระปฏิเวทย์วิศิษฐ์เป็นนักอ่านอย่างเอาเรื่องเอารส        ท่านเคยตั้งคำถามที่ยังไม่มีใครช่วยตอบคราวหนึ่งว่า 

เหตุใดนักเขียนบางคนจึงนำเรื่องของท่านผู้อื่นแต่งไว้เดิม  มาเขียนทับขึ้นใหม่  และบอกชื่อว่าตนเป็นผู้แต่ง

ท่านนำหนังสือแบบนวนิยายขายดีเมื่อ ๖๐ กว่าปีมาแล้วเรื่องหนึ่ง ชื่อ "โชคมาวาสนาเกื้อ"   มาให้พิเคราะห์กันและให้ข้อสังเกตว่า 

นวนิยายขายดีสมัยปัจจุบันสองเรื่องสองราย  ดำเนินความเหมือนกับกดพิมพ์ลอกมาจาก "โชคมาวาสนาเกื้อ" นั่นเอง

เพียงแต่ไม่บอกที่มาให้ผู้อ่านทราบ  แต่นักอ่านยุคก่อนยังจำได้ดี"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 มี.ค. 11, 21:58


       "ดอกตุลิปดำ"  พระปฏิเวทย์วิศิษฎ์  แปลในปี พ.ศ. ๒๔๖๑  ใช้นามปากกาว่าสายัณห์   จากวรรณกรรมเรื่อง  The Black Tulip

หรือชื่อเดิม    La Tulup Noire   Allexandre Dumas   นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสเขียนขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๕๐

การแปลนั้นใช้วิธีแปลและเรียบเรียง  เพื่อให้ถ้อยสำนวนอ่านเข้าใจง่าย

       โรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง  กรุงเทพ ฯ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑  แบ่งเป็นสามเล่มจบ  แต่ละเล่มมี ๑๑ บท



ข้อความบนปกในเขียนว่า  บรรยายคดีศุทธบันเทิง   พากย์อังกฤษ  ชื่อ ดอกตุลิปดำ  ของ  สายัณห์คารม


        กระทรวงศึกษาธิการไทยเคยกำหนดให้ใช้เป็นแบบเรียนภาษาอังกฤศอยู่ระยะหนึ่ง  เช่นเดียวกับเรื่อง  Count Monte Cristo



ในช่วงเวลาประมาณสามสี่อาทิตย์ก่อนงานหนังสือในวันศุกร์ที่กำลังจะมาถึงนี้      นักอ่านหนังสือเก่าได้เพียรพยายามไปบุกหรือเยี่ยมเยียนแหล่งสะสมหนังสือเก่า

ต่างๆ        สามารถล่าหนังสือโบราณได้มาจำนวนหนึ่ง      ซึ่งจะทยอยคัดเลือกหนังสือที่มีค่า  น่าอ่าน  หรือฉบับที่ไม่มีประวัติเป็นที่รู้จักมากนักมาลงไว้เผื่อท่านที่

สนใจอาจใช้ประโยชน์ได้บ้าง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 มี.ค. 11, 22:11

เคยไปชมมาแล้ว "ดอกตุลิปดำ" เป็นดอกสีม่วงจนดำ ฝากให้คุณ Wandee ครับ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 05:46



ขอมอบกาพย์สังคีต  "ผกาเวท"  ในหน้า ๑๗๕   เพื่อตอบแทนความใจดีของคุณไซมีสค่ะ


       ตัวเราสิธิดาพระเพลิงนาถ

เทวราชแทรกแผ่นดินทุกถิ่นฐาน

บุตรอรุณแสงแววเแก้วประพาฬ

น้ำค้างหยัดนั้นเป็นมารดาเรา

อันพระพายเทพบุตรเป็นบิดา

พระคงคามาตุเรศบังเกิดเกล้า

ยังนอกนั้น  ท่านบิดามารดาเรา

ผู้เป็นจ้าวในสวรรค์ชั้นฟ้าเอย


มานุษฆ่า  เรามี  สิเนหา

ตัวเราเกาะ พสุธา  ด้วยรากเหง้า

กล่าวคือ เส้นสาย  ชีวิตเรา

สาธุการ แด่พระเจ้า  ในเมืองฟ้า


เทวโลก  นั้นสถาน  บ้านเมืองเกิด

วิญญานเรา  เอากำเนิด  จากสวรรค์

นัยว่ามัน  สิต้องคืน  ไปเมืองนั้น

วิญญาณคือ 'รสสุคันธ์'  แห่งเราเอย


       เป็นบทเพลงละห้อยหวลไพเราะที่ คอนเนลลีอัศ พระเอกขณะเมื่อติดจองจำ  ขับครวญเพราะต้นตุลิปถูกโขมยไป

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 06:05



       อเลกซอง ดูมาส์นั้นมีสองคน   คือคนที่เป็นพ่อกับคนที่เป็นลูก       ผู้ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ ผู้ที่เป็นพ่อ 

อเลกซอง  ดูมาส์   เกิดที่วิลเลอ คอตเตเรท์ ประเทศฝรั่งเศส  เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๒   เป็นลูกของ

นายพล Alexandre  Davy Dumas ในสมัยพระเจ้านโปเลียน  ซึ่งเมื่อตายแล้ว  มีแต่ความยากจนและมีที่ดิน

ในชนบทเพียง ๓๐ เอเคอร์เหลือไว้ให้ภรรยากับลูก    นางดูมาส์  มารดาของเขาได้อุตสาหะเลี้ยงดูเขาให้เติบโตขึ้นในชนบทนั้น

ครั้นพอเขาอายุได้  ๒๑ ปี   ได้เดินทางไปเสี่ยงโชคที่ปารีส   ณ  ที่นั้น  อเลกซอง  ดูมาส์ได้ต่อสู้กับความยากจนอย่างทรหด

และได้เป็นเสมียนของดุ๊ก เดอเลออง     ซึ่งภายหลังเป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป       เขาได้มานะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและมุ่งมั่นจะ

ฝึกอาชีพนักเขียนบทละคอนซึ่งเขาได้รับความสำเร็จอย่างดี

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 มี.ค. 11, 14:30



       ในปี ๑๘๙๒  ได้เขียนบทละคอนเรื่อง เฮ็นรี่ ที่ ๓   บทละคอนเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  และส่งให้ดูมาส์มีชื่อเสียงขึ้น

ในระยะนั้นการต่อสู้ระหว่างบทละคอนคลาสสิค  กับโรแมนติคเป็นไปอย่างรุนแรง     ผลงานของ อเลกซอง ดูมาส์   

ได้รับการยกย่องว่านำชัยชนะมาสู่นักแต่งบทละคอนประเภทโรแมนติค   และผลงานทำให้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบรรณารักษ์

แห่งราชสำนัก          แต่เนื่องจากดูมาส์เป็นผู้ฝักใฝ่ในการปฎิวัติ  ในปี ๑๘๓๐ ถูกออกจากงาน  และถูกบังคับให้เดินทางไปสวิสเซอร์แลนด์

เพราะถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวกับการปฎิวัติ          ดูมาส์ได้เขียนรายงานการเดินทางส่งมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง  ปรากฏว่ามีผู้สนใจกันมาก

ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังอย่างรวดเร็ว  และดูมาส์มีอุปนิสัยรักการเดินทาง


       งานของดูมาส์มีทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๒๗๗ เรื่อง  มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ อีกมาก         ผลงานที่เป็นที่ยกย่องมากตือ

Count Monte  Christo

The Three Musgueteers   และ

Twenty Years After

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 มี.ค. 11, 14:53



       อเลกซอง ดูมาร์มีบุตรชายนอกสมรสคนหนึ่ง  ชื่อเหมือนบิดา  แต่เป็นที่รู้จักดีในนาม ดูมาส์(ลูก)

ดูมาส์เป็นคนใช้เงินเปลือง  ขณะมีชีวิตอยู่มีรายได้จากการเขียนหนังสือสูงกว่าปีละห้าหมื่นดอลล่าร์   และสร้างคฤหาสน์

ใช้ชีวิตที่หรูหรามีคนติดตามเป็นจำนวนมาก   ในบั้นปลายชีวิตเป็นคนที่ยากจน  ต้องอาศัยอยู่กับดูมาส์(ลูก)

ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕  ธันวาคม  ค.ศ. ๑๘๗๐
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 มี.ค. 11, 15:18



       The Black Tulip  เป็นเรื่องที่มีส่วนเท้าความถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อยู่บ้าง

คือเป็นเรื่องของพี่น้องสกุล เดอวิตต์


       พระปฎิเวทย์วิศิษฎ์  แปล  Tales from Shakepeare  ไว้ตั้งแต่ออกจากโรงเรียนใหม่ ๆ เช่น

Cymbelline    ต้นทุกข์ปลายสุข,

Othello    แพ้ภัยตัว,

All Well that Ends Well    ต้นหน่ายปลายรัก    เป็นต้น


         เรื่อง ตุลิปดำ นี้  เล่ากันมาว่าหาอ่านยากมาก     สหายเจ้าของร้านหนังสือมือสองแถวราบ ๑๑  ยอมขายให้ด้วยความจำใจ

เพราะเกรงว่า นักอ่านหนังสือเก่าจะกวาดอีกหลายชั้น

สำหรับท่านที่สนใจ   นักอ่านหนังสือเก่า ซื้อจากโกดังส่วนตัว  ไม่เปิดขายทั่วไป   ซื้อจากกรุมหึมา  มีหนังสือ ๕ - ๗ หมื่นเล่ม ที่กำลังปิดตัวลง

ซื้อจากร้านหนังสือที่ส่งเฉพาะหนังสือก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐   ไปออสเตรเลีย

ดังนั้นในงานหนังสือปีนี้    จะเดินเล่นอย่างเดียวค่ะ  และพาขบวนการไปกินไอติมริมน้ำตามประเพณี
   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 23 มี.ค. 11, 05:29



     ในประเทศวิลันดา ปี ค.ศ. ๑๖๗๒  ชาววิลันดาเบื่อหน่ายการปกครองบ้านเมืองแบบรีพับลิค

กลับมีใจนิยมชอบพอในวิธีอย่างมี เสตทโฮลเดอร์(อย่างพระเจ้าแผ่นดิน)  จึงก่อการวุ่นวายและสังหารผู้นำฝ่ายรีปับลิคสองคน

คอนนีลีอัส  เดอ วิตตี้มีหลานชาย  คอนเนลลีอัส  แวนบีล  ผู้ไม่สนใจการเมือง  แต่สนใจการเพาะพันธุ์ดอกทิวลิปเพียงอย่างเดียว

ในชีวิต       ศัตรูของเขาคือบอกส์เตลนักเพาะพันธุ์ดอกทิวลิปเหมือนกัน


       บอกส์เตลเพื่อนบ้านของแวนบีล   ได้อดออมอย่างระมัดระวังแข็งขัน   ได้คิดดินประสมประกอบเขื้ออย่างดี   ทำพื้นที่ของสวน

ให้ได้รับความร้อนของแดดและอากาศบริสุทธุ์ตามวิธีข้อบังคับของการปลูกต้นตุลิป  โดบบริบูรณ์     ได้ทอนความร้อยในสวนลงได้หนึ่งในยี่สิบ

ของจำนวนองศา  และรู้จักกำลังความไหวของลม          จึงได้คิดผ่อนให้มีลมพัดเพียงโชยให้ลำต้นสะเทือนไหวเพียงเล็กน้อย   

ดอกที่เพาะขึ้นงดงามและผิดแปลกไปจากพันธุ์เดิม


       แวนบีลได้ร่ำเรียน  มีนิสัยเป็นนักเลงเล่นอะไรเล่นจริง  มีทุนรอนมากและเงินรายได้ประจำปี

       บอกซ์เตลเห็นความสำเร้จของเพื่อนบ้านได้ทันที        เขารู้สึกหน้าอกแปลบปลาบเหมือนมีเหล็กอันแหลมคมมาทิ่มแทง

ทำให้มือเท้าอ่อนเพลียไม่มีแรง


       เรื่องราวทั้งหมดเกิดจากความริษยาทุกขเวทนาของบอกต์เตล  ได้ใส่ความให้แวนบีลถูกจับกุมคุมขัง      ขณะนั้นแวนบีลได้ผสมดอกตุลิปสีดำ

บริสุทธ์ได้แล้วสามหัวได้นำติดตัวไปด้วย


       ในการประกวดพันธุ์ตุลิปประจำปี     ผู้ที่ผสมพันธุ์ดอกสีดำได้จะได้รับรางวัลมหาศาล

       การอ่านหนังสือที่เล่าเรื่องการสังหารนักโทษและพี่ชายอย่างทารุณ    และกลับมาที่ธรรมชาติของพันธุ์ไม้ที่ละเอียดอ่อน   กระเทือนใจวูบวาบ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 23 มี.ค. 11, 06:43


       หลังจากอ่านคำนำในหนังสือเล่มนี้แล้ว     ได้อ่านภาษาไทยอันงดงามของพระปฎิเวทย์วิศิษฏ์  ด้วยความประหลาดใจ

ว่าภาษาของท่านงดงาม  ไม่ล้าสมัย       ไม่ได้ถูกจำกัดโดยกาล


       "เมื่อ แวนบีล กำลังรดน้ำต้นไม้  และผสมดินด้วยเชื้อปุ๋ย    เขานั่งยอง ๆ พิจารณาดูตามลายดอกไม้  ด้วยความพินิจพิเคราะห์

ทำให้คิดไปว่า   ถ้าผสมสีอย่างไรให้ถูกสัดส่วนแล้วอาจทำให้เปลี่ยนพันธุ์ได้        ในเวลานี้  บอกซ์เตล  แอบซ่อนตัวมองอยู่ที่ต้นไทรที่กำแพง

จ้องดูจนน้ำลายออกมาสอ ๆ ด้วยความโลภอยากได้     เมื่อเห็นอิริยาบทท่าทางของ แวนบีล เป็นที่ยิ้มแย้มแจ่มใส    หรือหัวเราะด้วย

ความอิ่มอกอิ่มใจทีไร   บอกซ์เตล เป็นต้องรู้สึกอิจฉาและนึกแช่งชักหักกระดูก    และมีความชิงชังอันร้ายกาจสามานย์

เมื่อมีปีศาจอันชั่วสิงสู่อยู่ในวิญญาณของผู้ใด   ก็ยากนักยากหนาที่ผู้นั้นจะอดทนความดิ้นรนไปได้"

 

       "แวนบีลเอาเมล็ดแช่น้ำซึ่งผสมทำให้สีเข้มขึ้นกรอง    แล้วเอาเมล็ดบางอย่างขึ้นตั้งอังไฟ    และจุ่มลงในน้ำปนกับเมล็ดอื่น

และแบ่งเก็บส่วนที่จะทำให้เป็นสีดำไว้ในที่มืด            ส่วนที่จะเป็นสีแดงไว้ให้เห็นแสงสว่าง          ได้ใช้วิธีผันแปรถ่ายเทต่าง ๆ

ที่จะให้เป็นผลดังปรารถนา"
     


     "โรซา  จับตะเกียงขึ้นมือหนึ่งซึ่งหล่อนจุดไว้ยกเสมอซี่เหล็ก      อีกมือหนึ่งข้อนกระถางต้น ตุลิป ชูขึ้นเสมอแสงสว่าง

คอนเนลลีอัส  ร้องด้วยความดีเนื้อดีใจ  จนแทบจะสิ้นสติเป็นลมล้มกลิ้ง

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า  ได้ประทานบำเหน็จสำหรับความบริสุทธิ์ของข้าที่หาโทษมิได้   และสำหรับข้าที่ต้องถูกคุมขัง

โดยได้ทรงยอมให้ดอกไม้ทั้งสองนี้เกิดต่อหน้าประตูห้องขังนี้

       ต้นตุลิปนั้นงดงามมาก   ลำต้นสมทรงกระทัดรัด       กิ่งของดอกไม้สูงกว่าคืบหนึ่ง   งอกขึ้นจากใบเขียว ๔ ใบ

เกลี้ยงเกลารูปตรงราวกับปลายหอกเหล็ก         ดอกทั้งดอกดำสุกใสเป็นมันขลับราวกับเม็ดนิล"



เรื่องราวจบอย่างสมหวังค่ะ   พระเอกได้ออกจากคุกมาในที่สุดและแต่งงานกับนางเอกลูกสาวผู้คุมคุกที่ช่วยพระเอกปลูกตุลิป

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง