เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 11601 โหราศาสตร์กับพระมหากษัตริย์ไทย
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


 เมื่อ 18 มี.ค. 11, 11:43

     ผมมีโอกาสได้อ่าน "ลิลิตยวนพ่าย" ในตู้หนังสือของเรือนไทย  เมื่ออ่านมาถึงโคลงที่กล่าวว่า

                              เชองโหรเหนแม่นแม้น     มุนิวงศ
                         สบศาสตราคมยล               ล่งล้วน
                         สบศิลปสำแดงทรง             ทายาท ไส้แฮ
                         สบสิพาคมกถ้วน                ถี่แถลง
 
     อ่านถึงตอนนี้ผมถึงกับสะดุ้งเลยทีเดียว  จึงเดินไปหยิบหนังสือการ์ตูนพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก" ลายเส้นของ
คุณชัย ราชวัตร มาดู เปิดไปที่หน้า 114-115 จึงซาบซึ้งดวงใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันของพวกเรา
ทุกคนนั้น  พระองค์ท่านเองคงจะทรงช่ำชองในวิชาโหราศาสตร์เช่นเดียวกับบุรพกษัตริย์หลายพระองค์
     เมื่อเราได้อ่าน "รามเกียรติ์" เราก็จะรู้ว่า รัชกาลที่ ๑ ก็ทรงช่ำชองวิชาโหราศาสตร์อย่างยิ่งยวด
     ผมเข้าใจว่า "ลิลิตยวนพ่าย" แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา
จึงน่าที่จะให้ผู้ทรงภูมิรู้วิเคราะห์ว่า ทำไมจึงยอยกพระเกียรติพระองค์ท่านถึงขนาดว่า เชองโหรเหนแม่นแม้น มุนิวงศ หรือ
มีความชำนาญในด้านโหราศาสตร์ราวกับจอมปราชญ์คือพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 09:47

โคลงบทที่คุณยกมา ว่า
เชองโหรเหนแม่นแม้น     มุนิวงศ
หรือสะกดปัจจุบันว่า
เชิงโหรเห็นแม่นแม้น       มุนิวงศ์

ดิฉันไม่ได้ตีความว่า เทียบเท่าพระพุทธเจ้า     ในบทสวดหลายบทเช่นพาหุงและสรภัญญะ  เรียกพระพุทธองค์ว่า มุนินทร  คือนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่   ไม่ใช่มุนี เฉยๆ   ซึ่งแปลว่านักปราชญ์
ส่วนมุนิวงศ์ หมายถึงผู้สืบเชื้อสายจากนักปราชญ์  หรืออยู่ในแวดวงนักปราชญ์  
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 15:26

     ขอบพระคุณอาจารย์ใหญ่ที่เมตตาให้ความคิดเห็นมา   ผมคิดเช่นเดียวกับอาจารย์ในครั้งแรกที่อ่าน  เพราะไม่คิดว่า
จะมีบัณฑิตคนใดจะกล้ายกบุคคลขึ้นเทียบเท่าพระพุทธองค์  แต่เมื่ออ่านต่อไปอีก ๕ บทผมก็พบอีกครั้ง ดังนี้
                                 
                                ๏ พระเบญเญศรยิ่งพ้ยง      สูรยจันทร แจ่มแฮ
                              อดีตานาคต                     ปล่งแปล้
                              ประจุปันทังสามสรร             เพชญถึง แถลงแฮ
                              เลงล่งไตรภพแท้               ทั่วทรยน ฯ

     ผม copy มาจากตู้หนังสือเลย    รากศัพท์ของ "สรรเพชญ" คือ "สพฺพญฺญู" ซึ่งเมื่ออ่านประกอบกับบาทที่ ๒
และบาทที่ ๔ อาจารย์จะให้ผมหมายถึงใครเล่าครับ  อาจารย์จะเห็นว่าผมใช้คำเมื่อโพสท์ครั้งแรกว่า "สะดุ้ง" นั่นคือ
ผมคาดไม่ถึงครับ  ผมจึงตั้งกระทู้ขึ้นเพื่อขอความเห็นจากท่านผู้รู้ไงครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 15:46

                                   พระเบญเญศรยิ่งพ้ยง      สูรยจันทร แจ่มแฮ
                              อดีตานาคต                     ปล่งแปล้
                              ประจุปันทังสามสรร             เพชญถึง แถลงแฮ
                              เลงล่งไตรภพแท้               ทั่วทรยน ฯ

ดิฉันแปลว่า
พระปัญญาอันยิ่งใหญ่ สว่างดังพระอาทิตย์และจันทร์
ทรงหยั่งรู้ทั่วถึง  ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งสามประการ
มองเห็นทั่วถึงทั้งสามภพ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 18:50

     แปลได้ใกล้เคียงกันเลยครับอาจารย์  แต่อาจารย์ยังไม่ได้บอกเลยครับว่า  ใครที่หยั่งรุ้อดีต อนาคต รวมทั้งปัจจุบัน
อย่างถ่องแท้ และแลเห็นไปจนตลอดทั้งสามโลก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 19:13

ผู้ที่บรรลุญาณขั้นอภิญญา ๕  มีทิพพจักขุ  ตาทิพย์  สามารถมองเห็นสวรรค์นรกและโลกได้   ปุพเพนิวาสานุสสติ  คือญาณที่ทำให้ระลึกถึงชาติได้   เป็นขั้นโลกียอภิญญา   คือยังไม่พ้นโลก  ฤๅษีชีไพรที่เก่งๆในสมัยพุทธกาลก็ทำได้
นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติกรรมฐาน สามารถทำได้ถึงขั้นบรรลุ ๑)อตีตังสญาณ สามารถมองเห็นอดีตชาติของตัวเองและผู้อื่นได้  ๒)อนาคตังสญาณ มองเห็นอนาคตได้   ๓) ปัจจุปปันนังสญาณ  มองเห็นปัจจุบันได้ว่าใครทำอะไรที่ไหนบ้าง
ผู้บรรลุทั้งหมดนี้  มนุษย์ปุถุชนเป็นได้โดยไม่จำเป็นต้องถึงขั้นพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า

การยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์   กวีอาจยอแบบอติพจน์ (Hyperbole)    คือกล่าวเปรียบเทียบให้ยิ่งใหญ่เกินจริง  โดยไม่มีเจตนาจะกล่าวมุสา เพียงแต่ย้ำให้เกิดความรู้สึกชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
ช่วยหาตัวอย่างอื่นมาเพิ่มได้ไหมคะ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 21:23

     ครับผม  ผมจะอ่านเพื่อค้นหาต่อไป  แต่ภาษาที่ใช้ยากมากจะอ่านเพียงผ่านตาเหมือนอ่านร้อยกรองไม่ได้  ผมไม่ทราบว่า
อาจารย์จะให้ความกรุณาสนทนากับผมด้วยจึงไม่ได้อ่านต่อจนจบ
     ผมใช้เวลาตั้งแต่ตีสองท่องไปตามเว็บเพื่อค้นหาหลักศิลาจารึกหลักที่ห้า (จารึกวัดป่ามะม่วงหลักที่หนึ่ง) เพื่อค้นหาข้อความ
ในหลักศิลาจารึกหลักนั้นเพราะจำได้ว่ามีข้อความและภาษาคล้ายคลึงกับในลิลิตยวนพ่าย  ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถในด้าน
โหราศาสตร์ของสมเด็จพระมหาธรรมราชาฦๅไท  แต่ผมเคยอ่านมานานมากจนจำไม่ได้ว่าหนังสือนั้นชื่ออะไรจึงค้นหาได้ยาก  แต่
กลับไปพบจดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๑
และพอจะยกมาโพสท์ได้แทนซึ่งผมจะลงต่อไป
     ผมพอทราบว่าการยอพระเกียรติมักเกินความเป็นจริง  แต่ต้องอยู่บนฐานของความเป็นจริงด้วย  การยอพระเกียรติจนถึงขั้น
สัพพัญญูรู้แจ้งแทงตลอดประดุจพระพุทธเจ้า (สัพพัญญุตญาณเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ร่มมหาโพธิในยามสาม) นั่นย่อมไม่ใช่
ความสามารถธรรมดาเป็นแน่แต่ผมกลับไม่เคยรับรู้มาก่อนทั้งๆ ที่อ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย  ความสามารถระดับนี้ย่อมต้อง
สามารถคำนวณคัมภีร์สุริยยาตรใช้โดยพระองค์เองแน่  แต่ผมไม่เคยเห็นปรากฎในที่ใดมาก่อน  ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงถึงผลงาน
ของพระองค์เลย  แม้แต่สามัญชนอย่างพระโหราธิบดี (บิดาของศรีปราชญ์) ยังมีผลงานเลื่องลือถึงการทายหนูจนสมเด็จพระนารายณ์
มหาราชออกโอษฐ์ว่า "แม่นยิ่งกว่าตาเห็น"   ด้วยเหตุนี้ผมจึงตั้งกระทู้เพื่อขอรู้ที่มาที่ไปครับ
     พระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านโหราศาสตร์ที่พอมีหลักฐานเหลืออยู่เท่าที่ผมทราบ (เฉพาะตัวผมนะครับ) ก็มี
     ๑. สมเด็จพระมหาธรรมราชาฦๅไท คือ ทักษสังคปกรณ์
     ๒. สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ ดวงพระฤกษ์สถาปนากรุงเทพมหานคร และ....
     ๓. สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การแก้ดวงพระฤกษ์สถาปนากรุงเทพฯ  การกำหนดวารกำเนิด (วันในสัปดาห์) ขึ้นแทน
         นามกำเนิด (นับจำนวนบุตรหญิง-ชาย) และ.....
     ๔. พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน คือ หนังสือการ์ตูนพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก"
     
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 มี.ค. 11, 11:23

     ผมพยายามค้นคว้าหาเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตรฺิย์ไทยที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์  แต่ยอมรับว่าหาได้ยากจริงๆ  จึงได้
หวนกลับมาหาสมุดบันทึกเก่าๆ ส่วนตัวที่ได้จดบันทึกสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้อ่านพบและจดเป็นบันทึกเอาไว้  แต่น่าเสียดายที่บางครั้งก็หละหลวมไม่
ได้บันทึกเอาไว้ว่าจดบันทึกมาจากที่ใดเอาไว้  ในบันทึกส่วนตัวของผมฉบับนี้มีส่วนหนึ่งที่ได้จดบันทึกเอาไว้ว่า
     (หลักศิลาจารึกหลักที่ ๕ หรือจารึกวัดป่ามะม่วงหลักที่ ๑) .....ทรงอาจเรียนพระไตรปิฎกจบเสร็จ เรียนพระวินัย พระอภิธรรม โดยโลกาจารย์
มีพราหมณ์และดาบสเป็นต้น   "พรรษา มาส สุริยคราธ จันทรคราธ ทรงสรรพพิจารณา".....
     และ
     .....พระองค์ทรงพระปรีชาโอฬาริก ฝ่าย "ผาลคุณานุต.....ศักราช" ที่เกินทรงแก้ให้สั้น เบา ถูกต้อง "อูณอธิกมาส ทิน วาร นักษัตร" ให้ทราบ
 โดยสังเขป โดยกรรมสิทธิ์สมเด็จบพิตรอาจถอน อาจลบ อาจเติม.....โดยสิทธิศักดิพระกรรมทุกมาตรา.....
     ข้อความที่ผมใส่ไว้ใน (") เป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ที่เข้าใจว่าเป็นการคำนวณปฏิทินแบบ "จันทรคติ สุริยยาตร" หรือ "คัมภีร์สุริยยาตร"
นั่นเอง
     และมีอีกข้อความหนึ่งที่ผมได้บันทึกเอาไว้จากหลักศิลาจารึกเดียวกัน
     .....แต่พระพุทธเจ้าเข้านิรพานมาเถิงวันบวสนั้นได้พันเก้าร้อยห้าปี นับด้วยวันแต่พระนิรพานมาเถิงวันบวสนั้นได้หกแสนเก้าหมื่นห้าพันหกร้อยวันหนึ่ง.....
     น่าประทับใจมากครับ  เพราะนี่เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าสำหรับนักโหราศาสตร์ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น   ดังนั้นก่อนที่ผมจะเขียนเรื่องอื่นๆ ต่อไป  ผมอยากจะ
ออกนอกเรื่องพูดคุยกันในเรื่องนี้ก่อน เป็นการปูพื้นฐานเกี่ยวกับปฏิทินคัมภีร์สุริยยาตรกันสักนิด

     ผมขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่นักโหราศาสตร์หรือแม้จนกระทั่งชั้นหมอดู  แต่ชอบศึกษาหาความรู้ไปเรื่อยๆ เท่านั้น  ไม่เชื่อถือเรื่องการดูดวง โชคชะตา
แต่ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามโดยเด็ดขาด ขอย้ำว่าไม่โดยเด็ดขาด

     นักโหราศาสตร์จะคุ้นเคยกับคำว่า "ยุค" และ "ศักราช"    แล้วอะไรล่ะที่เรียกว่า "ยุค" นักโหราศาสตร์เขามีมาตราการคำนวณของเขาเหมือนมาตราต่างๆ
ในยุคปัจจุบัน คือ
     1 มหายุค                            =   4,320,000   ปี
     1 ยุค                                 =   1,800,000   ปี
            ซึ่งเท่ากับ                        400,750,450  ดิถี
                "                             394,479,450  วัน
     ส่วน "ศักราช" นั้น มีมาราวห้าพันปีเศษแล้ว  ศักราชแรกเรียกกันว่า "กาลียุคศักราช"  ถ้าไม่มีการล้มเลิกไป ปีปัจจุบัน (2554) จะเป็นกาลียุคศักราชที่
5112     ศักราชต่อมาเรียกว่า "อัญชนศักราช" (อัญชญ, อัญชณ ไม่เป็นที่ยุติ) เมื่อกาลียุคศักราชผ่านไปได้ 2411 ปี      ต่อมาเมื่อสมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ก็มีการตั้ง "พระพุทธศักราช" ขึ้นใหม่ หลังอัญชนศักราช 147 ปี
     พระพุทธศักราชผ่านไปได้  622 ปี           มีการตั้ง "มหาศักราช"
                  "              1181 ปี             "      "จุลศักราช"
                  "              2324 ปี             "      "รัตนโกสินทร์ศก"
     ส่วนคริสต์ศักราชเกิดขึ้นหลังพระพุทธศักราช 543 ปี (หักตามแบบสากลแล้ว)

     บรรพบุรุษของเราใช้ พ.ศ., ม.ศ., จ.ศ. และ ร.ศ. (ช่วงสั้นๆ) สลับกันไปมาโดยตลอดแล้วแต่ราชประเพณีนิยมตามยุคสมัย  จนบางครั้งทำให้นัก
ประวัติศาสตร์สับสนงุนงงจนต้องใข้การ "สันนิษฐาน" เอา เมื่อได้ศึกษาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์   จนกระทั่งล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในบ้านเรา  พระองค์จึงทรงยึดแนวสากลนิยมโดยมีการปรับ พ.ศ. เสียใหม่ตามแบบฝรั่ง
เนื่องจากการนับศักราชก่อนหน้านั้นใช้วิธีนับแบบอายุโหร  คือเมื่อพระพุทธองค์ทรงพระนิพพานก็เริ่มนับศักราชเป็น 1 เลย  แต่พวกฝรั่งเขาถือว่านิพพาน
ยังไม่ถึงปีต้องเริ่มจาก 0 ก่อน        เมื่อพระองค์ทรงยึดถือตามแนวสากลนิยมจึงต้องตัดปี พ.ศ. ออกเสียหนึ่ง  ดังนั้นจึงเกิดความลักลั่นกันในบันทึก
เอกสารเก่าๆ ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยังไม่มีการปรับแก้ไข
     มีเกร็ดอีกนิดหนึ่งที่อยากบอกเล่าให้กันฟัง (ถ้าท่านที่ทราบอยู่แล้วก็ต้องขออภัยด้วย)    ก่อน พ.ศ. 2483 ประเทศไทยยังถือเอาเดือน เมษายน
เป็นเดือนที่เปลี่ยน ศักราชและนักษัตร ซึ่งเรียกว่า "วันขึ้นปีใหม่" แต่วันขึ้นปีใหม่จริงๆ ของโหรจะถือเอาวัน "เถลิงศก" เป็นหลัก  กรุณาอย่าไปเข้าใจว่า
"วันมหาสงกรานต์" หรือ "วันสงกรานต์" เป็นวันขึ้นปีใหม่นะครับ  นั่นไม่ถูกต้อง       ขอได้โปรดเข้าใจว่า "วันมหาสงกรานต์" ก็คือวันที่ พระอาทิตย์ยกขึ้น
สู่ ราศี เมษ ที่ 0 องศา  0 ลิบดา  0 พิลิบดา  วันนี้จึงเรียกว่าวันสงกรานต์    แต่วันขึ้นปีใหม่หรือวันเถลิงศกนั้น พระอาทิตย์ข้าม 1 องศาของราศีเมษเข้า
ไปแล้ว  เขามีสูตรการคำนวณหาวันเถลิงศกอยู่  ก็ไม่ยากอะไรมากมายนัก  หากท่านใดสนใจอยากจะรู้สูตรการคำนวณหาวันเถลิงศกจริงๆ ก็บอกมาได้
ผมจะนำลงให้  รับรองว่าท่านคำนวณวันปีใหม่ไทยได้ล่วงหน้าไปเป็นร้อยปีเลยครับ  แล้วถ้าไม่นอกเรื่องออกไปมากผมอาจจะบอกวิธีคำนวณหา "กาลโยค"
สำหรับคนที่ยังยึดถือหรือเดินตามรอยเท้าคนโบราณอยู่ ท่านจะได้รู้ว่าวันไหนเป็น วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ โดยไม่ต้องไปอาศัยตำรา
โหราศาสตร์เล่มใดเลย
     การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทยเราตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน  เท่าที่ผมสืบค้น (ถูกผิดไม่รับผิดชอบนะครับ เพราะเป็นการส่วนตัวของผมเอง)  เห็นมี
อยู่ 4 ครั้ง คือ
     1. วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย
     2. วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า
     3. วันที่ 1 เมษายน
     4. วันที่ 1 มกราคม
     ที่กล่าวมานี่เป็นการเปลี่ยนปีหรือศักราชของทางราชการนะครับ  อาจเป็นไปเพื่อการเฉลิมฉลองหรือเพื่อสิ่งใดก็ตามที่ไม่เกี่ยวกับทางโหราศาสตร์
เพราะทางโหราศาสตร์จะถือเอาวันเถลิงศกเป็นวันขึ้นปีใหม่เสมอตามทางการคำนวณของสุริยยาตรว่าตรงกับวัน เวลาใด เพื่อคำนวณหาเส้นทางโคจร
ของดาวพระเคราะห์ต่อไปอีกครั้ง
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 มี.ค. 11, 07:52

     ขอแก้ไขข้อผิดพลาดสองจุดนะครับ  จุดที่หนึ่งคือ "อัญชนศักราช" เปลี่ยนเป็น "อัญชันศักราช"  กับอีกจุดหนึ่งคือ "เมื่อพระพุทธศาสนาผ่านไปได้ 622 ปี"
แก้ไขเป็น "621 ปี" ผมลืมปรับให้เป็นแบบสากลนิยม   ขอให้รับทราบตามนี้ด้วยครับ
     มีท่านที่นับถือท่านหนึ่งสงสัยถึงความแตกต่างของ "ดิถี" กับ "วัน" ว่าไม่เหมือนกันหรือ  ซึ่งขอยอมรับว่าความรู้แบบงูๆ ปลาๆของผมไม่แน่ใจว่าจะอธิบาย
ได้กระจ่างหรือไม่
     "ดิถี" เป็นวันในทางจันทรคติ โดยอาศัยการคำนวณจากการโคจรของดวงจันทร์ที่สัมพันธ์กันกับกับดวงอาทิตย์  เรียกเป็น ข้างขึ้น ข้างแรม ส่วน
     "วัน" เป็นวันในทางสุริยคติ  เอ! ผมขออธิบายอย่างนี้ดีกว่า  การวัดค่าอัตราหรือหน่วยการโคจรของดวงจันทร์ ภาษาโหรเรียกว่า "อวมาน"
                              692 อวมาน  เป็น   1 ดิถี
                              703 อวมาน  เป็น   1 วัน
     จะเห็นว่า "วัน" มีค่าอวมานมากกว่า "ดิถี" อยู่ 11 อวมาน    กล่าวอีกแบบก็คือดิถีจะเหลื่อมล้ำหน้าวันอยู่ 11 อวมาน   ทีนี้หากต้องการจะทราบการเหลื่อมล้ำ
หน้าไปจนให้เต็ม 1 ดิถี เราก็นับไปทีละวันๆ ละ 11 อวมาน  พอนับไปได้ถึงวันที่ 63 เราก็จะได้จำนวนอวมานที่ 693 อวมาน  แปลความหมายได้ว่าทุกๆ 63 วัน
"ดิถี" จะเหลื่อมล้ำหน้า "วัน" ไป 1 ดิถีกับ 1 อวมาน (1 ดิถี = 692 อวมาน)  หรือ   63 วัน = 64 ดิถี 1 อวมาน   วันที่ 63 หรือ ดิถีที่ 64 นี้ ภาษาโหรเรียกวันนี้
ว่า วัน "อวมานโอน" (อันที่จริงต้องเรียกว่าดิถีที่ 65 เพราะเกิน 64 ไปแล้ว 1 อวมาน)  วันอวมานโอนนี้โหรจะไม่ให้ฤกษ์ทำการมงคลตลอดทั้งวัน
     คนไทยเรามีปฏิทินใช้กันอยู่สองรูปแบบคือปฏิทินสุริยคติแบบสากลทั่วไป กับปฏิทินจันทรคติบอกข้างขึ้นข้างแรมและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่ก็
จะรวมอยู่ด้วยกัน   การกำหนดปฏิทินแบบสุริยคติจะคำนวณจาก 1 ปีมี 365 วันเศษ เศษของปีก็นำเอาไปรวมกันครบ 4 ปี จึงเอาไปเพิ่มไว้ที่เดือนกุมภาพันธ์อีก 1 วัน
รวมเป็น 29 วัน ซึ่งปีนั้นเรียกว่าปี "อธิกสุรทิน"   แต่ปฏิทินจันทรคติกำหนดให้ 1 ปี มี 354 วันเศษ เศษของปีก็เก็บสะสมไว้จนครบสามปีแล้วก็นำไปเพิ่มเอาไว้ที่เดือน 7
อีกหนึ่งวันให้เป็นเดือนถ้วน 30 วัน (สังเกตุ : เดือนไทยที่เป็นเลขคี่ เช่นเดือน 1-3-5-7-9-11 จะมี 29 วัน)  ปีที่เดือน 7 มี 30 วันถ้วนเรียกว่าปี "อธิกวาร"
     อัตราความเร็วในการโคจรระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ที่แตกต่างกันมาก เมื่อต้องมาคำนวณให้ลงตัวกันพอดีในปฏิทินแบบสุริยคติกับจันทรคติคงจะยุ่งยากไม่ใช่น้อย
ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก 360 องศาใช้เวลา 365 วันเศษ (365.25875 วัน)   แต่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 360 องศาใช้เวลาเพียง 29 วันเศษ (29.530588 วัน) ดังนั้น
เมื่อเอา 12 เดือน คูณ 29 วันเศษ  ในหนึ่งปีของจันทรคติก็จะมีเพียง 354 วันเศษ เท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับทางสุริยคติถึง 10 วันเศษทีเดียว  ทางแก้ก็คือต้องปรับให้เท่ากัน
โดย เมื่อครบ 3 ปี (30 วัน) ก็เพิ่มเดือน 8 เข้าไปในปฏิทินอีกหนึ่งเดือนโดยให้ปีนั้นมี 13 เดือนเป็นปีที่มีเดือน 8 สองหน คือเดือนแปดหน้า และเดือนแปดหลัง   ปีที่มี
เดือนแปดสองหนท่านเรียกปีนั้นว่าปี "อธิกมาส"
     ส่วนที่ท่านสงสัยว่า "หกแสนเก้าหมื่นห้าพันหกร้อยวันหนึ่ง" สำคัญอย่างไร ทำไมท่านจึงจำหลักไว้ในศิลาจารึก   ผมขออธิบายง่ายๆ อย่างนี้ว่า  เป็นเรื่องของโหร
ตัวเลขดังกล่าวนั้น เรียกว่า "หรคุณ"  ถ้ามีโอกาสผมจะขยายข้อสงสัยให้ต่อไปคราวหน้าครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 มี.ค. 11, 17:29

     ขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่าคำว่า "ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก" นี้เป็นภาษาโหรนะครับ  ไม่ใช่ความเป็นจริงทางดาราศาสตร์  แต่ถ้าไปพูดกับ
ตุลาการบางท่าน  ท่านอาจเห็นว่าการที่ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลกเป็นความจริงทางดาราศาสตร์ก็อาจเป็นไปได้  เพราะท่านเคยตัดสินความโดยใช้
หนังสือพจนานุกรมเป็นหลักแทนหนังสือกฎหมายมาแล้ว   เดี๋ยวท่านเกิดไปเปิดพจนานุกรมคำว่า "วสันตวิษุวัต" แล้วไปเจอคำอธิบายว่า....(ดารา)
 น. พระอาทิตย์โคจรไปถึงจุดราตรีเสมอภาค เรียกจุดนั้นว่า วิษุวัต (equinox)......  แล้วพจนานุกรมก็วงเล็บบอกเอาไว้ด้วยว่าเป็นคำที่ใช้ใน
ดาราศาสตร์  ท่านอาจจะเห็นจริงไปตามพจนานุกรมก็เป็นได้ (และสามารถอธิบายให้เราทราบในแง่มุมของกฎหมาย) ว่าพระอาทิตย์โคจรไปถึงจุด
ราตรีเสมอภาคจริงๆ
     ถ้อยคำที่ปรากฎในหลักศิลาจารึก (ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์นัก) บ่งบอกถึงพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถในด้านโหราศาสตร์ และดาราศาสตร์
ของพระมหาธรรมราชาฦๅไท (พญาลิไท) บุรพกษัตริย์ของเราชาวไทยเป็นอย่างดี
     เป็นที่น่าเสียดายว่าผมไม่สามารถจำได้ว่าบันทึกเรื่องราวนี้มาจากหนังสือเล่มใด   ผมต้องขอยกคุณความดีทั้งหลายให้แก่ท่านเจ้าของหนังสือที่
ผมได้จดจำคัดลอกใส่สมุดบันทึกส่วนตัวของผมมาไว้ในที่นี้  และขออนุญาตนำบางช่วงบางตอนมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไป
     ในความเห็นที่ 7 ย่อหน้าที่ 2 ผมได้ตัดทอนบางข้อความออกเพื่อมาใส่ไว้ตรงนี้คือ ....และดาบสเป็นต้น "สมเด็จบพิตรทรงพระราชบัญญัติ
คัมภีร์เพท ศาสตราคม ธรรมนิยาย โชฺยติศาสตร์เป็นต้น" พรรษา มาส สุริยคราธ....ฯลฯ.....พอจะเห็นความคล้ายคลึงกับโคลงเฉลิมพระเกียรติ
"ลิลิตยวนพ่าย" บ้างไหมครับ
     กล่าวโดยรวมในความหมายของหลักศิลาจารึกก็มีอยู่ว่า  พระมหาธรรมราชาฦๅไท ได้ทรงใช้พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านเปลี่ยนแปลง
ศักราชเสียใหม่ให้ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ พร้อมกับเปลี่ยนนักษัตรเสียด้วย ทรงใช้ความรู้ทางจันทรคติคำนวณหาวันเข้าพรรษา-ออกพรรษา
โดยพระองค์เอง  รวมทั้งใช้ความสามารถทางด้านดาราศาสตร์คำนวณรู้ถึงวันจันทรุปราคา-สุริยุปราคาได้  ทรงบัญญัติคัมภีร์เวทต่างๆ ขึ้นมา   แต่
ที่น่าสนใจคือ โชฺยติศาสตร์  คือ วิชาใด จะเป็นวิชาโหราศาสตร์ได้หรือไม่  ขอให้ท่านผู้รู้ช่วยกันพิจารณากันต่อไป
     
     มาถึงเรื่องจำนวนวันที่ปรากฎอยู่บนศิลาจารึกว่ามีความสำคัญอย่างไร  ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องนี้จะต้องทราบความหมายของคำว่า "หรคุณ" เสียก่อน
หรคุณก็คือจำนวนวันที่เริ่มนับตั้งแต่วันก่อตั้งศักราชมาจนถึงวันประสงค์  เพราะฉะนั้นจำนวนวันที่ปรากฎอยู่ก็คือจำนวนวันตั้งแต่วันแรกที่พระพุทธเจ้า
นิพพานมาจนถึงวันที่พญาลิไททรงอุปสมบท  การจะอธิบายในเรื่องนี้ให้เข้าใจเป็นเรื่องยากเพราะมีอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวข้องหลายอย่าง   จะขอพยายาม
อย่างง่ายๆ ดังนี้
     หากท่านมีปฏิทินดาราศาสตร์-โหราศาสตร์-ฤกษ์ แล้วเปิดดูส่วนแรกของหน้าหนังสือ  จะเห็นมีคำว่า มาสเกณฑ์-อวมาน-หรคุณ-กัมมัชพล-อุจจพล
-ดิถี-วาระ ซึ่งรวมเรียกว่า "อัตตาเถลิงศก" อยู่เสมอ เพราะส่วนนี้คือหัวใจของการคำนวณปฏิทินจันทรคติ สุริยยาตร นั่นเอง ซึ่งผมขออธิบายความหมาย
ของคำต่างๆ พอสังเขป โดยจะใช้จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นหลักในการอธิบาย
     มาสเกณฑ์     = จำนวนเดือนทางจันทรคติ  ตั้งแต่วันเถลิงศกของ จ.ศ. 0 ถึงวันเถลิงศกของปีนั้น
     อวมาน         = หน่วยการโคจรของดวงจันทร์ ของวันเถลิงศกปีนั้น
     หรคุณ          = จำนวนวันตั้งแต่วันเถลิงศกของ จ.ศ. 0 จนถึงวันเถลิงศกของปีนั้น (บวกด้วย 1.46625)
     กัมมัชพล       = หน่วยการโคจรของดวงอาทิตย์ ของวันเถลิงศกปีนั้น
                         1 วัน                                      =       800 กัมมัชพล
                         1 ปี (360 องศา)                         = 292207 กัมมัชพล
     อุจจพล         = จุดเคลื่อนที่บนท้องฟ้าที่สัมพันธ์กับแกนโลกกับดวงจันทร์ ซึ่ง 1 รอบ = 3232 วัน
     ดิถี              = วันทางจันทรคติ (ขึ้น, แรม)
     วาระ            = วันในสัปดาห์ (1 = อาทิตย์, 2 = จันทร์, 3 = อังคาร ฯลฯ)

     เมื่อแรกตั้งกาลียุคศักราช (หรือกลียุคศักราช) คือกาลียุคศักราช 0 อุจจพลอยู่ที่ 813   เมื่อเปลี่ยนมาใช้จุลศักราช คือ จ.ศ. 0 อุจจพล อยู่ที่ -621
คือยังเดินไม่ครบรอบ (3232) ขาดอยู่อีก 621 จึงจะครบรอบ
          อุจจพลเคลื่อนที่ 1 วัน ต่อ 1 อุจจพล
          อุจจพลเคลื่อนที่ครบรอบ  = 3232 วัน
     ด้วยความรู้เช่นนี้โหรจึงคำนวณหาอุจจพลได้  ไม่ว่าจะเปลี่ยนศักราชเป็นอะไรหรือเมื่อใด  และใช้เป็นบันไดคำนวณหาส่วนอื่นต่อไป
     ถ้าหากไม่ยกตัวอย่างให้ไว้ก็อาจจะไม่เข้าใจว่าตัวเลขอุจจพลของ จ.ศ. 0 เป็น -621 ได้อย่างไร
     
     ผมไม่มีเครื่องคิดเลขแบบ 12 หลักจึงไม่สามารถคำนวณอย่างละเอียดได้  แต่จะใช้วิธีคำนวณแบบหยาบให้ดู
     เมื่อจะเรีิ่มเปลี่ยนจากกาลียุคศักราชเป็นจุลศักราช  เราต้องหา "หรคุณ" เสียก่อนคือ
          กาลียุคศักราช                     2411 ปี
          อัญชันศักราช                       147 ปี
          วันก่อตั้งจุลศักราช                 1181 ปี
                                รวม          3739 ปี
     1 ปี มี 365.25875 วัน                                               3739x 365.25875  =  1365702.47 วัน
     เอา 1 รอบอุจจพล (3232) ไปหาร                               1365702.47 % 3232   = 422.556457 รอบ
          หมายถึงอุจจพลเคลื่อนที่ไปแล้ว 422 รอบ
          นำเศษทศนิยมมาคูณด้วย 3232 เพื่อให้กลับมาเป็นวัน             .556457 x 3232   = 1798.46902 วัน
     รวมความว่าอุจจพลเคลื่อนที่ไปแล้ว 422 รอบ กับอีก 1798 วัน (ไม่ต้องใส่ใจกับ 422 )
          นำ 1798 มาบวกกับ 813 (อุจจพลของกาลียุคศักราช 0)               1798 + 813   = 2611
     แต่อุจจพลเต็มรอบเท่ากับ 3232 ดังนั้นจึงเอา 3232 ไปลบ                   2611 - 3232  = -621
     ผลลัพธ์ อุจจพล จ.ศ. 0 จึงเท่ากับ  ***-621***

     คราวนี้ก็มาถึงของจริงบ้าง  การคำนวณอัตตาเถลิงศกจะต้องเริ่มจาก "หรคุณ" เป็นอันดับแรกเสมอ จึงจะสามารถคำนวณส่วนอื่นๆ ต่อไปได้
มีวิธีการดังนี้
     จ.ศ. (ประสงค์)  x  365.25875  +  1.46625          =     หรคุณ
ตัวอย่าง :-  ต้องการทราบหรคุณของ จ.ศ. 1373 (พ.ศ. 2554)
                1373  x 365.25875  +  1.46625           =     501501.73
     หรคุณ ของ จ.ศ. 1373 คือ 501501 (แปลว่าตั้งแต่เริ่มจุลศักราชเป็นต้นมาจนถึงวันเถลิงศกของ จ.ศ. 1373 ผ่านมาแล้ว 501501 วัน)
     ต่อไปจึงหา มาสเกณฑ์-กัมมัชพล-ดิถี-อวมาน-อุจจพล-วาระ ไปตามลำดับ โดยใช้ตัวเลขของหรคุณที่คำนวณได้เป็นบันไดหรือกุญแจ

     
     
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 มี.ค. 11, 15:22

     ช่วงเวลาที่ผมไม่อยู่ 2 วันนี่  มีท่านที่นับถือมีคำถาม ชี้คำที่ผิดพลาด และตักเตือนถึงข้อความบางข้อความที่ผมโพสท์เอาไว้ว่าอาจจะไม่เหมาะสมนัก
ซึ่งผมได้ชี้แจงเป็นส่วนตัวไปแล้ว  แต่ยังคงอยากจะชี้แจงไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง
     สิ่งที่ท่านห่วงใยคือผมไม่ควรก้าวล่วงเข้าไปในขบวนการยุติธรรม เพราะกระทู้ของผมเป็นเรื่องของโหราศาสตร์  ผมขอชี้แจงดังนี้ครับ
     เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑ ได้มีการตัดสินคดีที่ท่านนายก สมัคร สุนทรเวช (ตำแหน่งในขณะนั้น) ถูกฟ้องร้องว่า มีการกระทำอันมีลักษณะต้องห้าม
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๗ ซึ่งในแวดวงโหราศาสตร์ให้ความสนใจพอสมควรว่ารูปคดีจะออกมาเช่นใด  แต่พอคาดเดาได้ว่าโอกาสแพ้คดีของท่านมีสูงเพราะ
ดวงชะตาของท่านตกมากในระยะนั้น  แต่ที่ฮือฮากันก็คือสาเหตุหรือเหตุผลของการแพ้คดีที่คณะตุลาการยกขึ้นมาอ้างประกอบในครั้งนั้น
     โดยความเห็นส่วนตัวของผม   การตัดสินอรรถคดีของกระบวนการตุลาการน่าที่จะ หรือควรจะยึดตัวบท "กฎหมาย" เป็นหลัก พจนานุกรมนั้นชื่อก็บอกอยู่
แล้วว่าเป็น "พจนานุกรม" ดังนั้นถ้อยคำที่ไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งของพจนานุกรมที่มีต่อถ้อยคำในกฎหมายจึงไม่น่าที่จะยกขึ้นมาอ้างเพื่อหักล้างถ้อยคำใน
กฎหมายได้  เปรียบเสมือน "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก   หากถ้อยคำใดในกฎหมายรองฉบับต่างๆ ขัดหรือแย้งกับถ้อยคำในรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าที่จะยก
ขึ้นมาเพื่อหักล้างรัฐธรรมนูญได้ดังนี้
     ส่วนคำอธิบายของคำว่า "วสันตวิษุวัต" นั้นผมไม่ได้ยกขึ้นมาเพื่อการเสียดสีดังที่ท่านเข้าใจ   แต่ผมยกขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า  ทำไมจึงไม่ควรใช้
พจนานุกรมเป็นหลักในการตัดสินอรรถคดีครับ   แต่อย่างไรก็ดีผมขอน้อมรับความห่วงใยนี้ไว้ด้วยความขอบคุณอย่างจริงใจ  และจริงดังที่ท่านกล่าวครับว่าเรื่องนี้
ถูกจารึกเอาไว้แล้วในแผ่นดิน  ไม่ใช่ธุระอะไรของผม  เป็นหน้าที่ของอนุชนรุ่นหลังจะพิจารณากันต่อไป
     ส่วนคำผิดที่ท่านบอกคือ "รวมความว่าอุจจพลเคลื่อนที่ไปแล้ว 422 รอบ กับอีก 1798 วัน" ขอเปลี่ยนเป็น 1798 อุจจพล ครับ ขอบคุณมาก

     แล้วมาถึงคำถามที่ว่า  ตัวเลขต่างๆ ที่ผมนำมาแสดงไว้เกี่ยวข้องกับปฏิทินสมัยก่อนที่มี เกณฑ์พิรุณศาสตร์ เกณฑ์ธาราธิคุณ...ฯลฯ อย่างใดหรือไม่  ผมขอ
อธิบายดังนี้นะครับ
     ตัวเลขการคำนวณต่างๆ ที่ผมได้นำมาลงไว้ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการคำนวณแบบ "คัมภีร์สุริยยาตร" เป็นการคำนวณที่ยากและละเอียดลึกซึ้ง  แต่ส่วนที่
ท่านถามมาเป็นปฏิทินจันทรคติซึ่งมีการคำนวณแบบง่ายๆ โดยอาศัยเพียงต้วเลขของจุลศักราชเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น  ซึ่งแยกออกเป็นอีกส่วนหนึ่ง
     ปฏิทินดังที่กล่าวนั้น  ในสมัยก่อนทางราชการประกาศให้ประชาชนทราบอาจเพื่อเป็นไปในทางพิธีกรรมหรือเพื่อผลประโยชน์ของราษฎรในการทำกสิกรรม-
เกษตรกรรม (คล้ายกับการเสี่ยงทายพระโคในวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ)  จะมีส่วนสำคัญที่น่ารับทราบเอาไว้ดังนี้
     ๑. ประกาศวันสงกรานต์
     ๒. ประกาศนางสงกรานต์
     ๓. เกณฑ์พิรุณศาสตร์
     ๔. เกณฑ์นาคให้น้ำ
     ๕. เกณฑ์ธาราธิคุณ
     ๖. เกณฑ์ธัญญาหาร
     ๗. กาลโยค
     ส่วนใหญ่ก็จะมีอยู่เท่านี้  แต่อาจจะมีบ้างที่แยกย่อยออกไปอีกโดยเพิ่ม เกณฑ์ฝน เกณฑ์ข้าว เกณฑ์ชาวนา เป็นต้น     การคำนวณหาเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้
จะใช้ตัวเลขของจุลศักราชในปีนั้นๆ เป็นหลักในการคำนวณ  จะมีเพียงประกาศนางสงกรานต์เท่านั้นที่ใช้ วัน เวลา ของวันมหาสงกรานต์เป็นหลัก ซึ่งก็จะมีเพียง
เจ็ดวัน กับอีกสี่อิริยาบทเท่านั้น  ผมจะบอกให้ท่านทราบไว้ในที่นี้เสียเลยคือ

     เมื่อดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษที่ 0 องศา 0 ลิบดา 0 พิลิบดา และคำนวณได้แล้วว่าตรงกับวันใดและเวลาใด  ให้ดูดังต่อไปนี้
วันอาทิตย์ :-     นางสงกรานต์ชื่อ ทุงสะเทวี  ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม  แก้วปัทมราชเป็นอาภรณ์   ภักษาหารอุทุมพร  พระหัตถ์ขวาทรงจักร  พระหัตถ์ซ้าย
                   ทรงสังข์   เสด็จ...............มาบนหลังพระยาครุฑ
วันจันทร์  :-      นางสงกรานต์ชื่อ โคราคเทวี   ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ   แก้วมุกดาหารเป็นอาภรณ์   ภักษาหารน้ำมัน เนย   พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์
                   พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า   เสด็จ...............มาบนหลังเสือ
วันอังคาร :-      นางสงกรานต์ชื่อ รากษสเทวี   ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง   แก้วโมราเป็นอาภรณ์   ภักษาหารโลหิต   พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล
                   พระหัตถ์ซ้ายทรงธนูศร   เสด็จ...............มาบนหลังสุกร
วันพุธ :-         นางสงกรานต์ชื่อ มณฑาเทวี   ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา   แก้วไพฑูรย์เป็นอาภรณ์   ภักษาหารนม เนย   พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม
                   พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า   เสด็จ...............มาบนหลังลา
วันพฤหัสบดี :-   นางสงกรานต์ชื่อ กาฬกินีเทวี   ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา   แก้วมรกตเป็นอาภรณ์   ภักษาหารถั่ว งา   พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง
                   พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน   เสด็จ...............มาบนหลังช้าง
วันศุกร์ :-        นางสงกรานต์ชื่อ กิมิทาเทวี   ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกล   แก้วบุษราคัมเป็นอาภรณ์   ภักษาหารกล้วย น้ำ   พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์
                   พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ   เสด็จ................มาบนหลังมหิงสา
วันเสาร์ :-        นางสงกรานต์ชื่อ มโหธรเทวี   ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว   นิลรัตนมณีเป็นอาภรณ์   ภักษาหารเนื้อทราย   พระหัตถ์ขวาทรงจักร
                   พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล   เสด็จ...............มาบนหลังนกยูง
     เมื่อทราบเวลามหาสงกรานต์แล้ว  พิจารณาตามนี้
                   06.01 น.   -   12.00 น.           เสด็จยืน
                   12.01 น.   -   18.00 น.           เสด็จนั่ง
                   18.01 น.   -   00.00 น.           เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร
                   00.01 น.   -   06.00 น.           เสด็จไสยาสน์หลับเนตร
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 มี.ค. 11, 05:46

ส่วนการหาเกณฑ์ต่างๆ ประจำปี จะอาศัยตัวเลขของ จ.ศ. ของปีนั้นๆ เป็นหลักในการคำนวณ  ตัวอย่างเช่นการหา"เกณฑ์พิรุณศาสตร์"
     ตั้งตัวเลขของ จ.ศ. (ประสงค์) ลง
     นำ 4 มาลบ
     นำ 7 มาหาร ได้ผลลัพธ์เท่าใดปัดจำนวนเต็มทิ้ง
     นำเศษทศนิยมมาคูณด้วย 7
     ผลลัพธ์คือ "เศษ" เรียกเศษนี้ว่า อธิบดีฝน (1 = อาทิตย์,  2 = จันทร์, 3 = อังคาร...ฯลฯ)
แล้วพิจารณาคำทำนายดังต่อไปนี้
     เศษ 1 หรือ 7          จะมีฝนตก 400 ห่า
     เศษ 2 หรือ 5              "       500 ห่า
     เศษ 3                      "       300 ห่า
     เศษ 4 หรือ 6              "       600 ห่า
แบ่งจำนวนฝนออกเป็น 10 ส่วน
     ตกในโลกมนุษย์                      1  ส่วน  (= ....? ห่า)
     ตกในมหาสมุทร                       2 ส่วน   (= ....? ห่า)
     ตกในป่าหิมพานต์                     3 ส่วน   (= ....? ห่า)
     ตกในจักรวาล                         4 ส่วน   (= ....? ห่า)

เกณฑ์อื่นๆ ที่เหลือก็มีวิธีการคำนวณคล้ายๆ กับเกณฑ์พิรุณศาสตร์ดังนี้  จะต่างกันก็เพียงแต่ตัวเลขที่นำมาใช้ในการคำนวณ
น่าเสียดายที่ปฏิทินที่มีรูปนางสงกรานต์เสด็จโดยประทับอยู่บนหลังพาหนะต่างๆ ในอิริยาบทต่างๆ และมีคำทำนายประจำปีแจ้ง
เอาไว้ไม่มีแล้วในปัจจุบันนี้  ถ้าใครยังพอมีภาพปฏิทินเก่าๆ ชนิดนี้เก็บเอาไว้ ก็น่าที่จะโพสท์ลงมาให้ชมกันบ้างนะครับ
     นี่ก็ใกล้วันสงกรานต์เข้ามาเต็มที ปีนี้ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ 0 องศา 0 ลิบดา 0 พิลิบดา ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่
14 เมษายน จ.ศ. 1372  เวลา 13 นาฬิกา 33 นาที 36 วินาที เป็นวันมหาสงกรานต์   วันศุกร์เป็นวันเนา   วันเสาร์เป็นวัน
เถลิงศก ย่างเข้าสู่ จ.ศ. 1373 ซึ่งตรงกับเวลา 17 นาฬิกา 31 นาที 12 วินาที ของวันที่ 16 เมษายน ถ้าเป็นในอดีตเราจะเห็น
ปฏิทินรูปนางสงกรานต์เสด็จประทับนั่งมาบนหลังช้าง  พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง  พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน กันบ้างแล้ว    ปีนี้นางสงกรานต์
ชื่อ กาฬกินีเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา มีแก้วมรกตเป็นอาภรณ์ ภักษาหารถั่ว งา   ซึ่งก็คงจะเห็นรูปตามหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับ
ที่จะลงไว้เป็นดังนี้ คอยดูภาพเอาในวันที่ 14 เมษายน นะครับ
     ส่วนเกณฑ์พิรุณศาสตร์ในปีนี้   วันพุธเป็นอธิบดีฝน  จะบันดาลให้มีฝนตก 600 ห่า  ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า  ตกในมหาสมุทร
120 ห่า  ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า  และตกในจักรวาล 240 ห่า
     
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 มี.ค. 11, 22:54

     ผมขอฝากถึง อ. เทาชมพู นะครับ   ผมได้อ่านโคลงเฉลิมพระเกียรติ "ลิลิตยวนพ่าย" จนจบแล้ว  และไม่มีโคลงบทใดจะยกขึ้นมาอ้างถึงได้อีก  จึงยังหาผลสรุป
ที่ชัดเจนไม่ได้  การมองต่างมุมผมถือเป็นเรื่องปกติ  เมื่อราว 25 ปีที่แล้ว ผมก็เคยมองต่างมุมกับพระมหาเปรียญรูปหนึ่ง  ซึ่งท่านสอนญาติโยมว่า  ชาวพุทธแท้ต้องไม่
เชื่อถืองมงายในเรื่องของเวทมนตร์คาถา   แต่ผมกลับมองว่าชาวพุทธแท้ๆ ควรต้องเชื่อถือแต่ไม่งมงายในเวทมนตร์คาถา ถ้าเวทมนตร์คาถานั้นอยู่ในวิถีทางที่ถูกต้อง   
ต่างก็มีเหตุผลของตนครับ ทั้งๆ ที่เราก็ศิษย์ตถาคตองค์เดียวกัน และอยู่ในเพศสมณะเช่นเดียวกัน
     การตีความของอาจารย์ต่างกับผมอยู่นิดๆ ว่าบุคคลผู้แต่งโคลงเฉลิมพระเกียรตินั้นจะยอยศสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเทียบถึงบุคคลชั้นใด  คำแปลคำโคลงของอาจารย์
ก็คล้ายคลึงกับผม   ผมแปลคำโคลงว่า "1. ทรงพระปรีชาญาณกระจ่างแจ้งประหนึ่งแสงอาทิตย์และจันทร์  2. ทรงแลเห็นโล่งตลอดไปทั้งอดีต-อนาคต  3. รวมถึงปัจจุบัน
พระองค์ (พระบรมไตรโลกนาถ) ก็ทรงแลถึงหมด   4. ทรงเล็งเห็นโล่งไปจนทั่วทั้งสามโลก"    ซึ่งเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันหรือพูดได้ว่าเหมือนกัน   แต่ผมตีความชี้ไปถึง
พระพุทธองค์เมื่อนำไปเชื่อมโยงกับคำว่า "มุนิวงศ" ในบทแรก-บาทแรก วรรคสอง    นักปราชญ์ ฤๅษี ย่อมแลเห็นไปไม่ตลอดถึงสามโลก  แต่พระสงฆ์ผู้สำเร็จเห็นได้แน่
ดังนี้  มุนิวงศ จึงน่าจะมีความหมายเกินไปกว่า ผู้สืบเชื้อสายจากนักปราชญ์นะครับ  และผู้ที่จะเล็งเห็นตั้งแต่ชั้นอรูปพรหมไปจนถึงชั้นอเวจีมหานรกจึงไม่น่าจะมีนักปราชญ์หรือ
ฤๅษีตนใดแลไปถึง (ตามความเห็นของผม)  หรือถ้ามีจริงผมก็คงไม่รู้จักชื่อพอที่จะอ้างถึงได้
     อย่างไรก็ดี  ผมตั้งกระทู้นี้ก็เพื่อขอคำแนะนำจากคณาจารย์ที่พอจะรู้ว่า  ผมควรไปค้นหาพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ได้จาก
ที่ใดบ้าง  ถ้าผมไม่ได้อ่านลิลิตยวนพ่าย ผมก็จะไม่รู้เลยว่าพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถขนาดนี้  เพราะไม่เคยเห็นผลงานของพระองค์ท่านปรากฎอยู่ที่ใดเลย
     ผมหวังว่า อ. เทาชมพู คงไม่ถือสากับความเห็นต่างของผมนะครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 02 เม.ย. 11, 14:05

     ขณะพักผ่อนอ่านหนังสือในวันหบุดอยู่  ท่านผู้ที่ชอบพอนับถือกันท่านหนึ่งโทรศัพท์มาถึงผมจากต่างจังหวัด  ถามว่าทำไมจึงหยุดเขียนไปเสียเฉยๆ รออ่านต่อหลายวันแล้ว
ผมก็อธิบายให้ท่านทราบไปแล้ว  ผมเปิดกระทู้ขึ้นเพื่อขอคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ว่า  ผมพอจะหาผลงานของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อ่านได้จากที่ใด
บ้าง    เมื่อไม่มีผู้ใดทราบ  กระทู้ก็ต้องปิดตัวไปโดยปริยาย  แต่ท่านก็ต่อรองว่าขอให้ผมเขียนต่อจากเรื่องที่ผมได้เขียนค้างคาเอาไว้จนจบได้ไหม  เพราะเหมือนกับผมตักอาหาร
ใส่ช้อนแล้วไม่ยอมป้อน  มันทรมานใจ  ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากนักก็จะตามใจท่าน

     อันที่จริงท่านผู้นี้ก็มีรายได้เสริมจากวิชาโหราศาสตร์ไม่ใช่น้อยทีเดียว  ผมเสียอีกที่ไม่มีวิชาชีพเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์เลย เพียงแต่ให้ความสนใจเท่านั้น ไม่ถึงกับเชื่อถือ
งมงายมากนัก   การเรียนรู้ก็มาจากการจด บันทึก สังเกตุจากตำราเก่าๆ ที่พบและอ่าน  ผมถูกพ่อจับครอบครูและครอบวิชามาตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ  จึงไม่ค่อยกลัวเกรงกับคำสาป
แช่งที่บันทึกอยู่ในสมุดข่อยหรือใบลานเช่น ถ้าทำผิดขอให้ตาบอดอะไรทำนองนี้  เพราะผมก็ไม่เคยทำอะไรนอกลู่นอกทาง   การอ่านก็แสนจะลำบากเพราะท่านใช้ภาษาขอม
มากพอๆ กับภาษาไทย  การสะกดคำก็แตกต่างออกไป  ผมต้องใช้เวลานานพอสมควรในการศึกษาวิธีการอ่าน เขียน ภาษาขอม จึงจะอ่านตำราของตา ลุง และพ่อรู้เรื่อง  แต่
ตอนนั้นยังอยู่ในวัยรุ่นๆ อยู่ไฟยังแรง  พอทำงานทำการมีครอบครัวแล้วก็ทอดทิ้งไป

     ส่วนที่ผมจะนำมาเปิดเผยนี้ถึงแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับตำราในสมุดข่อยหรือใบลาน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมหาทักษา เวทมนตร์คาถา ตำรายา ซึ่งผมไม่สนใจมากมายนัก)   
แต่ผมก็จะเผยเพียงบางส่วนที่เห็นว่าพอจะทำได้เท่านั้น  เพราะผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเป็นตำรา  หวังว่าท่านคงจะเข้าใจ

     เมื่อผมย้อนกลับไปอ่านข้อความของผมเองว่าได้เขียนอะไรค้างคาไว้บ้าง ก็เห็นว่ามีเพียงปฏิทินแบบจันทรคติ  และบางส่วนของอัตตาเถลิงศก  ผมก็จะเขียนต่อเพียงเท่านี้
เมื่อจบแล้วก็ขอให้จบกัน  กระทู้นี้ก็จะได้ปิดตัวลง

     ขอเริ่มด้วยปฏิทินแบบจันทรคติก่อน  ผมบอกเรื่องประกาศนางสงกรานต์ กับเกณฑ์พิรุณศาสตร์ไปแล้ว  แต่ยังไม่ได้บอกวิธีการคำนวณหาวันเถลิงศก ซึ่งเป็นการข้ามขั้นตอน
ไปหน่อย  จึงขอย้อนกลับมาบอกถึงวิธีการคำนวณหาวันเถลิงศกเสียก่อนนะครับ  ผมจะทำเป็นสูตรเอาไว้ให้ เพื่อท่านจะได้คำนวณได้ง่ายขึ้น

     ๑. จ.ศ. (ประสงค์) x .25875               = ..........?   จำนวนเต็มตั้ง (เก็บทศนิยมเอาไว้)                                  ...............(๑)
     ๒. จ.ศ. (   "    ) % 4 + .5               = ..........?   เศษทศนิยมปัดทิ้ง            จำนวนเต็มไปลบ (๑)                 ...............(๒)
     ๓. จ.ศ. (   "    ) % 100 + .38          = ..........?   เศษทศนิยมปัดทิ้ง            จำนวนเต็มไปบวก (๒)                ...............(๓)
     ๔. จ.ศ. (   .    ) % 400 + .595        = ..........?   เศษทศนิยมปัดทิ้ง            จำนวนเต็มไปลบ  (๓)                ...............(๔)
     ๕. นำลัพธ์จำนวนเต็มจาก (๔) + ทศนิยมจาก (๑) - 5.53375  = .......?                                                      ................(๕)
         ก. ผลลัพธ์จำนวนเต็มของ (๕)                                 คือ     วันที่
         ข. เศษทศนิยมของ (๕) x 24   ผลลัพธฺจำนวนเต็ม           คือ     นาฬิกา
         ค. เศษทศนิยมของ ข. x 60     ผลลัพธ์จำนวนเต็ม          คือ      นาที
         ง. เศษทศนิยมของ ค. x 60     ผลลัพธ์จำนวนเต็ม           คือ     วินาที
   
     เมื่อท่านประสงค์จะทราบวันเถลิงศกของปีใด  ถ้าเป็น พ.ศ. ก็เปลี่ยนให้เป็น จ.ศ. เสียก่อนโดย เอา 1181 ไปลบปี พ.ศ. เสีย  แล้วนำตัวเลขที่ได้มาคำนวณ
ตามขั้นตอนที่บอก  ท่านก็จะได้วันเถลิงศกของปีนั้นๆ
     สำหรับการคำนวณหา วัน เวลา ของวันมหาสงกรานต์ ผมขอปฏิเสธครับ  ไม่ใช่เพราะผมหวงวิชา  แต่เมื่อมานึกว่าผมจะต้องมาอธิบายถึงคำว่า มณฑภุช มณฑโกฏิ
มัธยมระวิ มหาสมผุส ขันธ์ ฉายาเท่าขันธ์...... ฯลฯ ผมก็ท้อก่อนท่านเสียอีกครับ  ไม่ใช่เรื่องที่จะเรียนรู้กันได้ง่ายๆ อย่างที่ท่านคิดครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 03 เม.ย. 11, 11:35

     มีบางคนแซวผมมาว่า  คำว่า "ลิบดา" "พิลิบดา" ที่ผมเขียนถูกต้องดีแล้วหรือ?    ครับ! ผิด  ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน   ที่ถูกต้องคือ "ลิปดา" และ "พิลิปดา" น่ะครับ
แซวอย่างนี้ผมชอบ  คนเราผิดพลาดกันได้  ช่วยๆ เตือนกันหน่อยนะครับ   สงสัยผมคงต้องไปฝากตัวเป็นศิษย์ของคุณหลวงเล็กเรียนวิชาภาษาไทยเสียใหม่อีตอนแก่นี่เสียแล้ว
กระมัง
     คงทราบกันแล้วว่าวันเถลิงศกก็คือวันขึ้นปีใหม่ของโหร   เป็นวันเริ่มต้นของศักราชใหม่ (จุลศักราช)   แต่ถ้าผมจะละเลยไม่กล่าวถึงการเปลี่ยน "ปีนักษัตร" ก็จะกระไรอยู่
เหมือนหัวมังกุ ท้ายมังกร อย่างไรก็ไม่รู้  ผมก็จะเขียนรวมเอาไว้ในที่นี้เสียเลย
     โหรแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน   (สำหรับผู้ที่เคร่งครัดและผู้รู้) จะยึดเอาวันแรกของเดือนจิตรมาส (วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕) เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร (ชวด, ฉลุ.......กุน)
โดยเฉพาะโหรด้าน "ทักษา"  และโหร "ให้ฤกษ์" จะยึดถือเป็นพิเศษ   แต่สำหรับบุคคลโดยทั่วไปจะยึดตามประกาศของทางราชการหรือปฏิทินซึ่งผมจะไม่กล่าวถึง   เมื่อเป็น
อย่างนี้ก็เกิดการลักลั่นกันขึ้น และค่อนข้างสับสน เพราะวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ก็หมายถึงว่ายังไม่ถึงวันเถลิงศก  แต่ปีนักษัตรเปลี่ยนไปแล้ว  จะนับศักราชกันอย่างไร  ผมจะ
พยายามอธิบายอย่างดีที่สุดตามความสามารถของผมก็แล้วกัน
     ผมคำนวณเอาไว้แล้วว่าวันเถลิงศกของ จ.ศ. ๑๓๗๓ ตรงกับวันเสาร์    ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๓๑ นาที ๑๒ วินาที
               "             วันเถลิงศกของ จ.ศ. ๑๓๗๔ ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๒๓ นาฬิกา ๔๓ นาที ๔๘ วินาที
     ขอให้ยึดวันเถลิงศกทั้งสองเป็นหลักสังเกตุไว้ให้ดี

     เมื่อถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ปฏิทินทั่วไปจะถือว่าย่างเข้าปี 'เถาะ' แล้ว  แต่โหรจะถือว่ายังเป็นปี 'ขาล' อยู่  ดังที่ผมจะเขียนบอกไว้ดังนี้

     วันที่  ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่  ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔                 
     โหรเรียกว่า    ปีขาล   โทศก   จุลศักราช ๑๓๗๒

     วันที่  ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔  เวลา ๑๗ นาฬิกา ๓๑ นาที ๑๑ วินาที                     
     โหรเรียกว่า    ปีเถาะ  โทศก   จุลศักราช ๑๓๗๒

     วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๓๑ นาที ๑๒ วินาที ถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕                               
     โหรเรียกว่า    ปีเถาะ   ตรีศก   จุลศักราช ๑๓๗๓

     วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงวันที่  ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕  เวลา ๒๓ นาฬิกา ๔๓ นาที ๔๗ วินาที                         
     โหรเรียกว่า    ปีมะโรง  ตรีศก   จุลศักราช ๑๓๗๓

     วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๒๓ นาฬิกา ๔๓ นาที ๔๘ วินาที เป็นต้นไป                                                         
     โหรเรียกว่า    ปีมะโรง จัตวาศก  จุลศักราช ๑๓๗๔

     วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ และ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕  เป็นวันแรกของเดือนจิตรมาส คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ นะครับ
     พยายามอ่านอย่างช้าๆ แล้วจะเข้าใจครับ     คิดแต่เพียงว่า ปีนักษัตรเปลี่ยนเมื่อถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เท่านั้นก็พอ
แล้วจึงค่อยไปเทียบกับวันเถลิงศกที่ผมบอกไว้ให้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง