เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
อ่าน: 53694 “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 21 เม.ย. 11, 21:12

ในร่ายนำของโคลงภาพพระราชพงศาวดาร  ระบุไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้เลือกจินตกวี ที่ "รู้ถ้วนถ่องทางกลอน  เชิงอักษรเปรื่องปราด"  มาแต่งบทกวีประกอบภาพพระราชพงศาวดาร
กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงได้รับคัดเลือกให้แต่งโคลงถึง ๔ ตอน  แต่ละตอนมีบทโคลงประมาณ ๔-๖ บท     ถือว่าเป็น "การบ้าน" ที่หนักหนาเอาการ  แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงพระปรีชาทางด้านกวีนิพนธ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยนั้น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 21 เม.ย. 11, 21:50

        ก็เพราะว่างานนี้ชุมนุมกวีในรัชกาลที่ ๕     กรมหมื่นสถิตย์ฯ ท่านจึงสำแดงฝีพระหัตถ์เต็มที่    แต่งโคลงมีชั้นเชิง มีโวหาร เล่นศัพท์แพรวพราว  เห็นได้ว่าท่านตั้งพระทัยมากที่จะให้โคลงของท่านเป็นเพชรน้ำงาม  ในกลุ่มเพชรด้วยกัน
         ศัพท์ที่ทรงเลือกมา หลายคำเป็นศัพท์โบราณเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องอดีตหลายร้อยปีก่อน   ศัพท์บางคำจึงย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง  สมัยรัชกาลที่ ๕  เขาไม่แต่งกันแล้ว   อย่างคำว่า"โทรมศราคนี"  ในโคลงข้างล่าง     โทรม คือ รุมหรือระดมยิง     ศราคนี หรือ  ศร + อคนี แปลว่าธนูไฟ     
      คำว่าโทรมที่แปลว่ารุม  คนรุ่นหลังไม่รู้จัก    รอยอินเองก็ไม่เก็บความหมายนี้เอาไว้    เหลือร่องรอยอยู่ในศัพท์กฏหมายอาญา  เป็นคำซ้อน  คือคำว่า  "รุมโทรม" 
       คำนี้สมัยอยุธยา  พบในลิลิตพระลอ  ตอนพระลอกับพระเพื่อนพระแพงต้องธนู สิ้นพระชนม์ทั้งสามองค์
 
            เขาอยู่แต่ไกลบมิใกล้      ให้โทรมยิงสามกษัตริย์     ธ  ก็เอาดาบวัดกระจัดกระจาย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 21 เม.ย. 11, 22:47

ลักษณะโคลงของกรมหมื่นสถิตย์ฯ ที่มีลักษณะเฉพาะ นอกเหนือจากใช้ศัพท์โบราณ คือโปรดการเล่นศัพท์
ทรงแทรกศัพท์แปลกๆเอาไว้ในโคลงพระนิพนธ์     ศัพท์บางตัวน่าจะเป็นการผูกศัพท์ขึ้นมาเอง  อย่างคำว่า  "เวฬุพ่วง"   เวฬุแปลว่าไม้ไผ่  พ่วง ก็คือโยง อย่างในคำว่า เรือพ่วง     รวมความแล้ว คือไม้ไผ่ผูกโยงเข้าด้วยกัน  ก็คือแพ นั่นเอง

โคลงข้างล่างนี้ทรงบรรยายภาพ ตอนพระมหาธรรมราชาปล่อยแพไฟ    คือปล่อยแพจำนวนมาก ที่จุดไฟไว้  ไปทำลายทัพศัตรู     ทรงระบุว่าเป็นวันขึ้นสิบค่ำ เดือนสี่ ก็ทำแพเสร็จ    แพนั้นราดเชื้อเพลิงจนชุ่ม   พอถึงคืนเดือนมืดไม่มีพระจันทร์ก็จุดไฟที่แพต่อเนื่องกัน แล้วปล่อยตามน้ำไปเผาทำลายทัพเรือของข้าศึก   
ลวก คือ ไหม้จากไฟหรือความร้อน   ก็ยังใช้กันอยู่   อย่าง บาดแผลจากไฟลวก



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 08:21

     ศัพท์ที่ทรงเลือกมา หลายคำเป็นศัพท์โบราณเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องอดีตหลายร้อยปีก่อน   
ศัพท์บางคำจึงย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง  สมัยรัชกาลที่ ๕  เขาไม่แต่งกันแล้ว   
อย่างคำว่า"โทรมศราคนี"  ในโคลงข้างล่าง     โทรม คือ รุมหรือระดมยิง     ศราคนี หรือ  ศร + อคนี แปลว่าธนูไฟ


ศราคนี  น่าจะแปลว่า  ลูกกระสุนปืนไฟคือปืนคาบชุดมากกว่า
ถ้าพิจารณาจากภาพและยุคสมัยแล้ว   คำว่าปืนของคนไทยสมัยก่อน
หมายถึง ธนู หรือหน้าไม้   เช่น  พระนารายณ์ทรงปืน
ก็คือ พระรามทรงธนู  เป็นต้น  ครั้นต่อมาเมื่อมีปืนฝรั่งเข้ามาใช้ในสยาม
เราก็เรียกปืนฝรั่งนั้นว่า  ปืนไฟ  ด้วยเหตุว่าใช้ไฟจุดชนวนยิงกระสุนออกจากกระบอกปืน
ต่างจากปืนที่มาแต่เดิมที่ใช้แรงจากสายธนูหรือหน้าไม้ดีดส่งกรสุนหรือศรออกไป

คำที่มีความหมายว่า ปืนไฟ หรือ ศรไฟ ที่หมายถึง ปืนไฟของฝรั่งนี้
ยังใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  โดยเฉพาะในการตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางทหาร
ที่อยู่ประจำกรมกองที่ใช้ปืนไฟด้วย


ทราบว่ากรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ทรงเป็นนักเลงกลอนเพลงและสักวาด้วย
คุณเทาชมพูอย่าลืมเอามาลงด้วยนะครับ 
เพลงยาวพระนิพนธ์กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ รวมอยู่ในหนังสือประชุมเพลงยาวภาคที่ ๔
 ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 11:26

กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงใช้คำว่า ศร ในโคลงอีกแห่งหนึ่ง  ในรูปที่ ๑๘  พระเจ้าหงษาวดีให้ถมถนนข้ามน้ำ
เสียดายไม่มีรูป   ไม่งั้นคงเห็นว่าเป็นปืนหรือธนู


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 11:30

^
เจอคำโบราณคำนี้ แปลว่าอะไรครับ อ.เทาชมพู  "เฉนียน"

ถ้าตามกลอนแล้ว "แผลงมหัคนีศร" แผลงใช้กับการโก่งธนู + มหัคนี (ลูกไฟ) + ศร คงแบบนี้ คือ การยิงด้วยธนูไฟ ซิครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 15:03

กรมหมื่นสถิตย์ฯ ทรงใช้คำว่า "ศร" ในฐานะอาวุธที่ใช้รุมยิงศัตรูอยู่ ๒ ครั้งในพระนิพนธ์   ครั้งที่ ๒ มีคำว่า "แผลง" ประกอบ  ซึ่งไม่ได้แปลว่าปืนเป็นแน่  เป็นธนูไฟอย่างที่คุณ siamese เข้าใจค่ะ

เฉนียน  มาจากภาษาเขมร  แปลว่า ฝั่ง  หรือฝั่งน้ำ ค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 เม.ย. 11, 13:30 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 15:16

ท่าน NAVARAT.C   ให้การบ้านดิฉันมา 181 หน้า ไม่รวมปก      เป็นต้นฉบับหนังสือ  พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ดีดแบบโบราณ  ซึ่งพิมพ์จากต้นฉบับสมุดไทย   พื้นดำตัวดินสอขาว  หน้าตาทำนองนี้



มีความเป็นมาว่า เดิมเป็นของพระองค์เจ้าวงจันทร์  พระขนิษฐาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญและกรมหมื่นสถิตย์ฯ   ตกทอดมาถึงกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) พระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ 
พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงเก็บสมุดไทยและสมุดฝรั่งรวบรวมไว้เป็นจำนวนหลายพันเล่ม  ตกทอดมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   โดยมากเป็นสมุดของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  บทละครของเจ้าจอมมารดาเอม  และมีสมุดของกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์รวมอยู่บ้าง

สมุดนี้ถ้าไม่ใช่ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงใช้เวลาแต่งกาพย์กลอน   ก็คงจะเป็นของกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ทรงใช้ในเชิงกวีเหมือนกัน



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 15:37

^
ไว้รอติดตามอ่านด้วยนะครับ  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 16:02

คุณ siamese  จะช่วยดิฉันทำการบ้านไหมคะ   ยิงฟันยิ้ม

ตั้งแต่หน้า ๓ - ๑๒๑ แต่ละหน้าเป็นการรวบรวมศัพท์ในวรรณคดี  จดลง แล้วบอกความหมายของศัพท์     การเรียงศัพท์ไม่ได้เรียงตาม ก.-ฮ.  แต่ก็เห็นได้ว่าบางตอนรวบรวมศัพท์ ที่ตัวอักษรตัวต้นเหมือนกันมารวมไว้เป็นกลุ่ม
น่าเสียดายว่า ไม่รู้ว่าส่วนไหนของสมุดเล่มนี้  ระบุว่าเป็นของกรมพระราชวังบวรฯ และส่วนไหนเป็นของกรมหมื่นสถิตย์ฯ  ก็ได้แต่อ่านไปเดาไป

อย่างแรกคือถามว่าศัพท์พวกนี้มีไว้ใช้อะไร
ดูจากวิธีรวบรวมศัพท์แล้ว   ผู้เขียน (จะเป็นเจ้านายพระองค์ไหนในสองพระองค์นี้ก็ตาม)ทรงศึกษาวรรณคดีหลายเล่มด้วยกัน    แล้วทรงรวบรวมศัพท์ในวรรณคดีเหล่านั้น จดลงพร้อมกับความหมายของศัพท์     จุดมุ่งหมายคือเพื่อจะได้จดจำว่าศัพท์เหล่านี้แปลว่าอะไร    ไม่ได้ลงลึกถึงขั้นว่าศัพท์นี้มาจากบาลีว่าอะไร    ผูกขึ้นมาจากคำอะไรบ้าง  
ดูๆคล้ายเด็กนักเรียนที่จดศัพท์ในหนังสือลงตามที่ครูสอน     ครูบอกไปก็จดไป     แต่เด็กนักเรียนจดคำแปลศัพท์ลงในหนังสือเลยทีเดียว   ส่วนพระองค์ท่านนั้นคงเรียนหนังสือในสมุดไทย ซึ่งไม่สามารถจดลงบนต้นฉบับได้  ก็เลยต้องแยกมาต่างหาก   อาจจดลงในกระดานชนวนก่อน  แล้วมาเรียบเรียงลงในสมุดไทยที่คัดโดยอาลักษณ์อีกที

ศัพท์เหล่านี้คงไม่ได้ทรงจดรวดเดียวหมด   คงจะสะสมไว้นานปี ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนกระทั่งเจริญพระชันษาขึ้น แต่ก็ยังทรงศึกษาวรรณคดีอยู่   จึงจดศัพท์ไว้มากมายนับเป็นร้อยหน้า    เราได้เห็นเล่มเดียว   ของเดิมที่ตกทอดจากพระองค์เจ้าวงจันทร์มาถึงกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เฉพาะที่จดศัพท์แบบนี้ น่าจะมีหลายเล่ม รวมแล้วหลายพันหน้า



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 19:46

     พยายามจะถอดรหัสว่าศัพท์พวกนี้มาจากวรรณคดีเรื่องอะไร    อย่างแรก มีศัพท์ทางด้านพุทธประวัติ   ก็น่าจะทรงจดจากวรรณคดีศาสนาเล่มใดเล่มหนึ่ง (หรือหลายเล่ม)     แต่ไม่ได้มีศัพท์ทางพุทธศาสนาอย่างเดียว   มีศัพท์เทพเจ้าของพราหมณ์ด้วย
จนหน้า ๕ ถึงดูออกว่า มีการอ้างถึงโองการแช่งน้ำ   ในคำแปลคำว่า แผน    คือคำว่า
      ขุนแผนแรกเอาดินดูที่


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 19:55

ศัพท์ที่มาจากโองการแช่งน้ำ   พบอีกหลายคำในหน้า ๑๗   เช่่น ผาหลวง ผาเผือก  ผาหอมหวาน   ศัพท์เหล่านี้เป็นการเรียกชื่อภูเขาต่างๆ  ที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์      ท่านก็ทรงแปลไว้ด้วย  ผาหลวง คือภูเขาใหญ่สุด    ได้แก่เขาพระสุเมรุ   ผาเผือกหรือผาขาว คือเขาไกรลาส    ผาหอมหวานคือเขาคันทมาทย์
อย่างน้อยก็แกะรอยได้ว่า เจ้านายที่รวบรวมศัพท์นี้เคยอ่านโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยต้นอยุธยามาก่อนแน่ๆ
ส่วนศัพท์อื่นๆ มาจากวรรณคดีเรื่องอื่น หลายเรื่อง   ส่วนใหญ่นับแต่อยุธยาตอนกลางลงมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีศัพท์พวกนี้อยู่มาก    จึงไม่แน่ใจว่ามาจากเรื่องไหนกันแน่  หรืออาจจะหลายๆเรื่องรวมกันไป


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 20:43

พอมาถึงหน้า ๒๖ - ๒๘  เป็นการรวบรวมศัพท์ในความหมายคล้ายๆกันมาไว้ด้วยกัน    คราวนี้คงไม่ใช่จากวรรณคดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดอีกแล้ว แต่เป็นการจดลงเป็นหมวดหมู่
คำที่ทรงรวบรวมไว้คือศัพท์ที่มีความหมายว่าผู้หญิง    โดยเฉพาะหญิงสาว  บางคำก็หมายถึงผู้หญิงเฉยๆ บางคำก็ชี้เฉพาะลงไปว่าเป็นหญิงงาม
คิดว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์  ทรงรวบรวมศัพท์เหล่านี้ไว้ เพื่อประโยชน์ในการแต่งกวีนิพนธ์   ไม่ใช่จดแบบนักเรียนจดศัพท์จากตำรา   เพราะมีการรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ค้นหาง่าย    ก็แสดงว่ารวบรวมไว้เพื่อใช้ในงานประพันธ์
กาพย์กลอนโคลงฉันท์ต้องอาศัยศัพท์ที่มีความหมายเดียวกัน แต่หลากหลายคำ        เพราะการแต่งบทกวี ไม่นิยมใช้คำซ้ำๆซากๆ    นอกจากไม่เพราะ  ยังแสดงว่ากวียังรู้ศัพท์ไม่กว้างขวางพออีกด้วย  นับเป็นความอ่อนด้อยฝีมือแบบหนึ่ง
ดังนั้นถ้าเอ่ยถึงนาง    เอ่ยว่า พนิดา  หนหนึ่งแล้ว  หนที่สองกวีจะไม่เรียก"พนิดา" ซ้ำซากอยู่อีก   แต่จะใช้ศัพท์อื่นที่แปลว่านางเหมือนกัน เช่นนงราม กัลยา ยุพดี   ฯลฯ   วิธีนี้ใช้กับศัพท์อื่นๆเช่นกัน อย่างคำว่าพระฤๅษี  ในรามเกียรติ์เรียกหลากหลายเป็นพระมุนี  พระโยคี พระนักสิทธิ์   

ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดกวีจึงต้องรวบรวมศัพท์เอาไว้มากๆ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 22 เม.ย. 11, 20:46

เมื่อได้อ่านเอกสารชิ้นนี้  ผมนึกถึง "คำฤษฎี"  
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
และเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ทรงพระนิพนธ์ร่วมกัน)

คำฤษฎี เป็นหนังสือประเภทอภิธานศัพท์(ไม่ใช่พจนานุกรม เพราะไม่ได้เรียงตามลำดับพยัญชนะ)
ที่เรียบเรียงโดยอาศัยรูปแบบอย่างคัมภีร์อภิธานทีปิกา  คัมภีร์อภิธานศัพท์ภาษาบาลี
ซึ่งอาศัยรูปแบบการเรียบเรียงมาจากคัมภีร์อมรโกศที่แต่งด้วยภาษาสันสกฤต
คัมภีร์อภิธานศัพท์บาลีสันสกฤต   เป็นคัมภีร์ที่รวมรวมคำศัพท์ที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกันไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มๆ
เช่น  กลุ่มคำศัพท์พระพรหม  พระพุทธเจ้า  ภูเขา  น้ำ  ไฟ  ฯลฯ
นอกจากนี้ยังรวบรวมคำศัพท์ที่มีหลายความหมายไว้ตอนท้ายด้วย  (แต่ในคำฤษฎีไม่มีส่วนนี้)

คำฤษฎีน่าจะได้รูปแบบการเรียบเรียงจากคัมภีร์อภิธานทีปิกาและหรือคัมภีร์อมรโกศ
(มีหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๓ คัมภีร์เหล่านี้มีอยู่ในประเทศไทยแล้ว)
อันที่จริงก่อนจะมีคำฤษฎี   เรามีอักษรศัพท์ในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี
ที่มีลักษณะการเรียบเรียงอย่างเดียวกัน  แต่ยังไม่ได้แยกเป็นหนังสือต่างหาก

ถ้าถามว่าคำฤษฎีและหนังสือวังหน้าเล่มนี้  ทำขึ้นไว้ทำไม  
สันนิษฐานว่า  ผู้แต่งคงจะเรียบเรียงขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการอ่านวรรณคดี
และการแต่งหนังสือ  ผมคิดว่าดีไม่ดี  หนังสือวังหน้าเล่มนี้อาจจะคือคำฤษฎีก็ได้

เมื่อพระยาศรีสุนโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร)แต่งตำราภาษาไทย
ก้ได้รับเอาอิทธิพลจากคำฤษฎีมาด้วย แสดงว่าในหมู่เจ้านายขุนนางสมัยรัชกาลที่ ๕
คงจะรู้จักหนังสือคำฤษฎีกันและคงได้ใช้กันแพร่หลาย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 23 เม.ย. 11, 23:21

การรวบรวมศัพท์ในช่วงนี้ของเล่ม      เป็นการรวบรวมโดยไม่จัดระเบียบแยกแยะที่มาของคำว่า เป็นบาลี สันสกฤต หรือเขมร     แต่ปะปนกันไปในหน้าเดียว   ไม่เรียงตามอักษร  และการรวมกลุ่มก็มีมากบ้าง น้อยบ้าง   ลักษณะไม่ใช่งานวิชาการ   แต่น่าจะไปทางด้านรวบรวมศัพท์เพื่อเป็นความรู้สำหรับเจ้าของสมุด
ชวนให้คิดว่าศัพท์น่าจะมีที่มาหลายแหล่ง   จากหนังสือวรรณคดีหรือตำราหลายเล่ม      ศัพท์บางคำก็ลงไว้เฉยๆ  ไม่มีคำแปล   เหมือนท่านผู้รวบรวมทรงเจอเข้าในหนังสือไหนสักเรื่อง  แต่ยังหาคำแปลไม่ได้   ก็ทรงทิ้งเอาไว้อย่างนั้นก่อน
เช่นคำว่า พรรณทาษี   และ  อำไพรู
บางคำก็อาจจะแค่จดลงไว้  แล้วยังไม่ได้หาคำแปล อย่างสองคำท้ายในหน้านี้    คือไฉไล และลาวัน    เพราะดูๆแล้วไม่ใช่ศัพท์ยากอะไร   แต่อาจเป็นศัพท์ใหม่    ดิฉันไม่คิดว่าในรามเกียรติ์ อิเหนา และขุนช้างขุนแผนมีคำชมโฉมผู้หญิงว่า ไฉไล หรือลาวัณย์

มีศัพท์แปลกๆหลายคำ นอกจากสองคำข้างบนนี้   ไม่เคยเห็นในที่อื่น  เช่นคำว่า  นงถนิมกาม   นงถนิมเมือง    สองคำนี้มาจากภาษาเขมร   แต่กลายพันธุ์เป็นเสียงไทยไปแล้ว   คำว่า นง ท่านแปลว่า นาง  ถนิม แปลว่า ฟ้า หรือ ประดับ
คำ นงถนิมกาม กับ นงถนิมเมือง   ทรงจัดเรียงอยู่ในกลุ่มคำ ๓ คำ ที่แปลว่า หญิงแพศยา หรือนางนครโสภินี (สะกดด้วย น. ภายหลังเรามาสะกดด้วย ณ)  ซึ่งถูกต้อง    นงถนิมกาม คือนางผู้เป็นเครื่องประดับกามตัณหา    ส่วนนงถนิมเมือง คือนางผู้เป็นเครื่องประดับของเมือง ตรงกับความหมายของ นางนครโสเภณี   หรือนครโสภิณี
 นครโสภินีเป็นคำเต็มของโสเภณี แปลว่าหญิงงามแห่งนคร    เพราะในสมัยพุทธกาล   เมืองบางเมืองเช่นกรุงอุชเชนี  ก็มีโสเภณีเป็นนางงามแห่งนคร  ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาแก่เมืองนั้น   ไม่ได้ถือว่าต้องปราบปรามจับกุมอย่างสมัยนี้ค่ะ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 20 คำสั่ง