เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 53688 “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 06:39

อ้างถึง
๒  คุณหม่อมพอจะนึกคำตอบออกไหมว่า   ทำไม คืนนั้น  กรมพระราชวังบวรฯ ถึงไม่ตรงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์    หรือว่ามีคำตอบว่าสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น  ไม่อาจแน่พระทัยได้ว่าจะทรงถูกจับกุมหรือไม่

เป็นที่รู้กันโดยเปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯสมัยที่ท่านทรงเป็นยุวกษัตริย์ภายใต้การกำกับของสมเด็จเจ้าพระยานั้น ทรงอึดอัดคับแค้นพระทัยแค่ไหน เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ สมเด็จเจ้าพระยาชิงแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้า แทนที่จะเว้นไว้ รอพระมหากษัตริย์ให้ทรงเป็นผู้แต่งตั้งเองตามพระราชประเพณี กรมพระราชวังบวรฯเลยพลอยถูกเขม่นไปด้วย น่าสงสารท่าน วังหน้าพระองค์นี้ก็ไม่มีพระบารมีในฐานะกษัตริย์พระองค์ที่๒เยี่ยงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล่าฯ แต่ยังมีภาระหน้าที่ยังต้องดูแลรักษากำลังทหาร ทั้งทัพเรือและทัพปืนใหญ่ เพื่อเป็นทัพหน้าของชาติเวลาเกิดศึกสงคราม เพียงแต่ว่าขนาดของกำลังทหารของพระราชบิดาดูเหมือนจะเกินพระองค์ไปมาก การที่จะหาเงินงบประมาณมารักษาไว้ จึงเป็นเหตุกระทบกระทั่งกับฝ่ายวังหลวงอยู่เสมอ
 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯท่านพ้นจากความเป็นเด็กเข้าสู่วัยหนุ่ม มีเจ้าพี่เจ้าน้องวัยเดียวกันหลายพระองค์เกาะกลุ่มสามัคคีกัน บางองค์ก็เลือดร้อน ต้องการเรียกคืนพระราชอำนาจจากใครก็ตามที่ขวางทาง กรมพระราชวังบวรฯถูกมองว่าเป็นตุ้มน้ำหนักตัวหนึ่งในฝั่งตรงข้ามของดุลย์แห่งอำนาจ ย่อมต้องโดนแรงกดดันอยู่เสมอๆ

แรงกดดันดังกล่าวดำเนินมาหลายปี ระหว่างนั้น ใครจะเพ็ดทูลยุแหย่ให้ทรงบาดหมางกันทั้งสองฝ่ายนั้น ต้องมีแน่นอน จนความตึงเครียดถึงขีดสุดเมื่อโรงแกสของวังหลวงระเบิด ทหารวังหน้าจะไปช่วยดับไฟแล้วทหารวังหลวงไม่ให้เข้า เกิดปะทะกันด้วยวาจาจนจะลุกลามเป็นการปะทะด้วยอาวุธ

อันที่จริง หน้าที่ดับเพลิงในพระมหานครเป็นของทหารวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงออกไปบัญชาการเองด้วยซ้ำ คืนเกิดเหตุ กรมพระราชวังบวรฯท่านก็ควรเสด็จไปเอง แต่เผอิญนอนเจ็บเพราะโรคเกาท์(หรือรูมาติซั่มไม่ทราบ ขออภัยที่อาจผิด) เลยเป็นดีไป มิฉะนั้นคืนนั้นจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้

กระนั้นก็ดี ท่านได้ถูกกล่าวหาในฐานะจำเลยทันที คืนที่เสด็จหนีนั้น ผมไม่ทราบว่าใครมาทูลอะไร ทำให้กรมพระราชวังบวรทรงต้องตัดสินพระทัยด่วน ให้เขาอุ้มหนีตายอย่างทุลักทุเลไปพึ่งเอกสิทธิ์ทางการทูตของอังกฤษ แทนการขอเข้ามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เรื่องนี้ผมเดาว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเข้าไปมอบตัวแล้วจะได้ออกมาง่ายๆ  ข้อหากบฏนั้น แค่ให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยวิธีจารีตนครบาล ไม่ตายคาเขียง ก็มาตายคาเตียง
การลี้ภัยทางการเมือง ถ้าสามารถที่จะกระทำได้ ก็ดีกว่าถูกคณะลูกขุนสอบสวนแน่นอน

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 07:11

อ้างถึงว่า ทำไมวังหน้าต้องมาช่วยบัญชาการดับไฟทุกครั้ง

"ในรัชกาลที่ ๓ จุลศักราช ๑๒๐๖ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ศฉก ณ แรม ๑ ค่ำ เวลา ๕ ทุ่มเศษ ฝนตกหนัก อสุนีบาทตกถูกหน้ามุขห้องเครื่องหลังพระมหามณเฑียร เปลวไฟนั้นพุ่งออกมาทั้งหน้าบัน เวลานั้นเสด็จออกว่าราชการอยู่ ข้าราชการพร้อมกันเข้าดับเพลิง ตักน้ำฝนที่กลางชลาลึกเพียงเข่าส่งขึ้นไปบ้าง โกยเอาโคลนที่อ่างบัวส่งขึ้นไปทางบันไดที่ขึ้นเพดาน เก็บครุที่เรือนเจ้าจอมจดหมด ช่วยกันทั้งหญิงชาย ดับลงได้เมื่อเวลา ๗ ทุ่มเศษ ตรั้นนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้เห็นเพลิงติดสว่างขึ้นก่อน รีบร้อนเสด็จเข้ามาในพระบรมมหาราชวังเป็นแม่กองดับเพลิงและเมื่อได้เสวยบวรราชสมบัติแล้ว ก็ทรงถือว่าเป็นพระราชกิจที่สำคัญ"

ลำดับระยะเวลา

แต่ไฟไหม้วังหลวง ๒๔๑๗ ครั้งนี้เกิดเวลาทุ่มเศษ ... ๗ ทุ่มฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการดับไฟ นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง....๘ ทุ่ม วังหน้าเสด็จออกวัง.....๓ โมงเช้า มีการประชุมเสนาบดี

วังหน้ามีเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ชั่วโมงในการทราบข่าวใช่หรือไม่ครับ หรือว่า ทราบหลังจากไฟดับแล้ว เมื่อเวลา ๗ ทุ่มครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 07:49

^
ตรงนี้ ผมไม่ทราบจริงๆ
แต่ไฟไหม้ตั้งแต่ทุ่มเศษ เจ็ดทุ่มถึงจะเริ่มเกณฑ์คนมาดับไฟหรือครับ

อ้างถึง
จากนั้น มีอะไรเป็นเหตุผลที่ไม่ทรงออกจากสถานกงศุล  เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็ว
ก็ทรงยังเป็นห่วงความปลอดภัยของพระองค์เองน่ะซีครับ ทรงอยากให้บุคคลที่๓ ในที่นี้คือ ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษเข้ามารับรู้ เป็นสักขีในคำรับรองของพระเจ้าอยู่หัวในคำขอประนีประนอม

ผมเชื่อว่า กรมพระราชวังบวรฯท่านมิได้มีส่วนรู้เห็นกับการที่นายนิวแมนกับนายการ์ยิเนได้เข้าเฝ้าเสนอความเห็นให้แบ่งสยามออกเป็น๓ส่วน ให้พระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรฯ และสมเด็จเจ้าพระยา ปกครองกันคนละส่วน ซึ่งเป็นการทะลึ่งเกินหน้าที่มาก
ที่ผมเชื่อว่ามิได้ทรงรู้เห็นเพราะหากว่าอยู่ในความคิดของพระองค์แล้ว ก็น่าจะจับแนวได้จากข้อเรียกร้อง๑๐ประการที่ทรงตอบการขอประนีประนอม ปัญหาของท่าน ล้วนเป็นที่ทรงคับพระทัยอยู่เดิมๆทั้งนั้น ไปๆมาๆก็เวียนไปเรื่องเงินที่ไม่พอใช้เลี้ยงดูทหารและข้าราชการวังหน้า มีข้อ๑๐ข้อเดียวที่ท่านกล่าวถึงอังกฤษ ที่จะขอให้เขาเป็นคนกลางในข้อประนีประนอม๙ข้อข้างบน  ไม่ใช่มาหนุนท่านแยกแผ่นดิน

เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงแก้ไขที่ต้นเหตุได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ทรงถือโอกาสปฏิรูปกองทัพของสยามใหม่ เลิกระบบทหารวังหน้า วังหลวง (วังหลังเลิกไปนานแล้ว) มาจัดใหม่เป็นกองทัพแห่งชาติขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว เป็นการตัดเชื้อของสงครามกลางเมืองที่เคยมีมาตลอดในประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อลดภาระทางการเงินออกไป วังหน้าก็ไม่เดือดร้อนในรายได้ซึ่งถึงแม้จะน้อยลงมากเมื่อเทียบกับแผ่นดินก่อน แต่ยังพอที่จะทรงบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรสนิยมของพระองค์ กระทู้โน้นจึงคุยกันเรื่องหุ่นกระบอกวังหน้าซะครึ่งค่อนเรื่อง

เรื่องที่นายนิวแมนกับนายการ์ยิเนเข้าไปเฝ้าเสนอให้แบ่งแยกแผ่นดินนี้ น่าจะไม่ได้ถูกเปิดเผยในสมัยโน้น นอกจากวงในจริงๆแล้วคงจะไม่มีใครทราบเลย ขอประทานโทษ ผมไม่มีเวลาไปศึกษาว่าเรื่องดังกล่าว ใครเป็นผู้นำมาเปิดเผย และเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดี ผมยอมรับว่าเนื้อหานี้แหละที่เปิดแผล ทำให้กรมพระราชวังบวรฯดูไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป คล้ายๆกับว่าท่านเกือบทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสใช้อำนาจถือโอกาสแบ่งแยกสยาม เพื่อจะได้ฮุบทีหลังได้ง่ายเข้า เข้าข่ายขายชาติทีเดียว

ความจริงทั้งนายนิวแมนกับนายการ์ยิเนเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ทูลเสนอความเห็นส่วนตัวโดยพลการ ผมคิดว่าถ้าทั้งรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสทราบและสั่งให้กงศุลกระทำไปดังกล่าว คงจะต้องแสดงพลังอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งหนุนด้วย มิฉะนั้นฝ่ายไทยก็จะเพียงแต่ปัดข้อเสนอตกโต๊ะไปอย่างที่ปรากฏนั้น เสียหน้ามหาอำนาจทั้งสองประเทศยับเยินแน่ๆ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 07:52

 ขยิบตา ไม่ใช่ครับๆๆๆ ทุ่มเศษไฟไหม้ จนดับไฟเสร็จเป็นเวลา ๗ ทุ่ม ฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการที่เข้ามาช่วยดับไฟให้นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ต้องออกไปเพื่อคอยระวังเหตุไว้  ยิงฟันยิ้ม


อ.ครับ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จออกจากวังหน้า - เสด็จกลับวังหน้า เป็นระยะเวลารวมนานเท่าไรหรือครับ ถึงจะเสด็จกลับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 07:57

^
ประมาณ๕๕วันครับ

อ้างถึง
 
๓  การที่ทรงให้คนไปเชิญเสด็จกรมหมื่นสถิตย์ฯเป็นการรีบด่วนในคืนนั้น เพื่อเข้าสถานกงศุลไปอีกพระองค์    แต่เจ้านายวังหน้าพระองค์อื่นๆที่เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเช่นกัน  ไม่มีพระองค์ไหนถูกตามเลย      จะหมายความได้ไหมว่า เจ้านายวังหน้าที่มีความสำคัญลงมาจากกรมพระราชวังบวรฯคือกรมหมื่นสถิตย์ฯ     ตอนนั้นท่านทรงกำกับกรมสำคัญอะไรอยู่หรือเปล่า


ก็สำคัญที่เป็นน้องแท้ๆ(อาจถูกจับเป็นตัวประกันได้ดี)กระมังครับ ผมไม่ทราบว่าท่านกำกับกรมใดในวังหน้า ทราบแต่ว่า ท่านทำงานหลัก ในหน้าที่ปฏิคมของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งตั้งอยู่ในวังหลวง แต่ตั้งแต่เมื่อใดผมไม่ทราบ ทราบแต่ว่าทรงทำงานที่นั่นจนสิ้นพระชนม์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 09:40

อ้างถึง
แต่ไฟไหม้วังหลวง ๒๔๑๗ ครั้งนี้เกิดเวลาทุ่มเศษ ... ๗ ทุ่มฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการดับไฟ นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง....๘ ทุ่ม วังหน้าเสด็จออกวัง.....๓ โมงเช้า มีการประชุมเสนาบดี

วังหน้ามีเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ชั่วโมงในการทราบข่าวใช่หรือไม่ครับ หรือว่า ทราบหลังจากไฟดับแล้ว เมื่อเวลา ๗ ทุ่มครับ
^
ตรงนี้ ผมไม่ทราบจริงๆ

แต่ไฟไหม้ตั้งแต่ทุ่มเศษ เจ็ดทุ่มถึงจะเริ่มเกณฑ์คนมาดับไฟหรือครับ
ไม่ใช่ครับๆๆๆ ทุ่มเศษไฟไหม้ จนดับไฟเสร็จเป็นเวลา ๗ ทุ่ม ฝ่ายวังหลวงให้ข้าราชการที่เข้ามาช่วยดับไฟให้นอนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ต้องออกไปเพื่อคอยระวังเหตุไว้
 


คุณหนุ่มสยามครับ ผมมาตรึกตรองดู การที่วังหลวงมีคำสั่ง เมื่อเวลา๗ทุ่ม สั่งให้ข้าราชการที่มาดับไฟ(ก็คือทหารนั่นแหละ)นอนในพระบรมราชวังไม่ต้องกลับบ้าน ภาษาสมัยนี้คงเรียกว่า “มีคำสั่งเตรียมพร้อม100%) พอสายข่าวของวังหน้าทราบ แล้วรายงานตรงไปยังนาย กรมพระราชวังบวรฯคงได้รับการทูลแนะนำให้รีบเสด็จหนีเถิดพระเจ้าข้า ทางโน้นสั่งทหารเตรียมพร้อมแล้ว เดี๋ยวคงบุกมา
ท่านจึงมีเวลาเตรียมพระองค์น้อยมาก พาแม่กับน้องสาวไปด้วยกันก่อน มีหมอกับข้าราชบริพารสี่ห้าคนที่ถวายงานอยู่ ตามไปรับใช้ด้วย น้องชายถ้ายังไงๆ เดี๋ยวค่อยส่งเรือมารับ

ถ้ามีเวลาตั้งห้าหกชั่วโมง คงไม่ทุลักทุเลขนาดนี้ อย่างน้อยพระองค์เจ้าเนาวรัตนคงจะไม่ถูกปลุกขึ้นมาให้ตามเสด็จลี้ภัยเอาตอนใกล้รุ่ง

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 10:05

การหนียามวิกาล

นึกถึงสภาพการตัดที่วังหน้าจะตัดสินใจออกจากวังหน้า นั่งเรือจากฉนวนน้ำวังหน้า ยังไงก็ต้องล่องผ่านพระบรมมหาราชวัง ผ่านไปปลุกพระองค์เจ้าเนาวรัตน ที่ตำหนักริมถนนพระอาทิตย์ เห็นภาพการหนีราชภัยครั้งนี้ไม่รู้ว่าได้ตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ คว้าได้คว้า ฉวยได้หยิบลงหีบหรือเปล่านะครับ และเมื่อเรือแล่นไปถึงสถานกงสุลอังกฤษด้วยแล้ว ทางกงสุลก็คงงงกับเหตุการณ์ในเบื้องต้น ถึงจะเริ่มตั้งสติพูดจาความ สืบถามความเป็นไป...ต่อด้วยการทำจดหมายต่างๆตามออกมา..

ผมว่าถ้าเป็นมุมมองของนักฉวยโอกาสที่จะยึดสยามเป็นเมืองขึ้นนั้น จุดตรงนี้ก็น่าคิด น่าจะนำจุดนี้มาเป็นประโยชน์ได้มากอยู่นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 10:05

^
ขอบคุณที่กรุณาอธิบายอย่างละเอียดค่ะ

การลี้ภัยการเมืองของกรมพระราชวังบวรฯ กับหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด แตกต่างกันเห็นชัด
กรมพระราชวังบวรฯ ท่านทรงลี้ภัยแบบฉุกละหุกมาก     เหมือนทรงรู้นาทีไหน ก็หนีกันเดี๋ยวนั้นเลย   ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จก็คือคนที่เข้าเฝ้าอยู่ในคืนนั้น       จึงเป็นคำตอบว่าทำไมไม่มีขุนนางระดับบิ๊กเวียงวังคลังนาของวังหน้ารวมอยู่ด้วยเลยสักคน    เจ้าพระยาและพระยาเหล่านั้นกว่าจะรู้ก็คงวันรุ่งขึ้น    เจ้านายเสด็จเข้าสถานทูตไปเสียแล้ว

ส่วนกรณีหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด    ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าว่า

"เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว  รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านป้าฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาหนึ่งลำ ขนทรัพย์สมบัติลงเรือ   แล้วนำละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรง พร้อมทั้งเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์รวมเป็นคนหลายสิบคน     ท่านลงเรือที่แม่น้ำใกล้ๆวังหน้าตอนใกล้ค่ำ แล่นเรือไปทั้งคืน     พอเช้ามืดก็ออกปากน้ำ     ท่านเหลียวไปดูทางท้ายเรือ  เห็นเรือกลไฟจักรข้างของหลวงแล่นตามมาลำหนึ่ง   แสดงว่าทางกรุงเทพฯ รู้แล้วว่าท่านจะหนี  จึงส่งเรือหลวงออกมาตามจับตัว     เรือหลวงคงจะออกตอนดึกจึงมาทันที่ปากน้ำ  
ท่านเล่าว่าท่านยกมือนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า  หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว  ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง      ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จ   เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี   ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ   เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร"


ดูตามรูปการณ์   หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดน่าจะเตรียมแผนในการออกทะเลมาล่วงหน้าแล้ว    ถ้าท่านไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน  มีเวลากะทันหันไม่ถึง ๒๔ ช.ม. จะหาเรือสำเภาขนาดใหญ่  ออกทะเลได้ ที่ยังทอดสมอว่างอยู่เฉยๆ มาจากไหน     เรือสำเภาไม่ใช่แท็กซี่ว่าง จะได้เรียกได้ง่ายจากข้างถนน    
แล้วยังต้องเรียกชุมนุมนางละครกับนักดนตรีหลายสิบคนจากบ้านช่อง ให้ทิ้งพ่อแม่ลูกเมียลงเรือไปทันทีทันเวลา  ไม่มีใครขัดขืนเลยสักคน  พรึ่บเดียวลงเรือไปหมด    เสบียงกรังก็มีพร้อมในเรือ  
มันน่าจะบอกถึงการเตรียมล่วงหน้ามาเป็นเดือนแล้ว   อีกอย่างอาจจะมีการสื่อสารกันกับพระเจ้าแผ่นดินเขมรล่วงหน้าแล้ว    ถึงไปอย่างมั่นใจว่าทางโน้นต้อนรับแน่   และรู้ด้วยว่าจะต้องเอาอะไรหรือใครไปบ้างจึงจะเป็นที่ต้อนรับ  อาจจะเป็นออเดอร์จากทางโน้นเสียด้วยซ้ำไป

ในเมื่อเป็นกันคนละอย่างแบบนี้ ก็น่าจะเห็นได้ว่า ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกัน     ส่วนท่านหญิงฉวีวาดคิดการใหญ่ด้วยตัวเองหรือรู้เห็นเฉยๆ  หรือว่าเป็นแผนประจวบเหมาะ   ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มี.ค. 11, 14:11 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 22:06

    ความฉุกละหุกในคืนนั้นมีมากแค่ไหน คงพอนึกออก   อย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ต้องทรงทิ้งพระโอรสธิดา    พาหนีไปด้วยไม่ทัน  พาหนีทันแต่เจ้าจอมมารดาเอม  พระอนุชาและพระขนิษฐา  แค่ ๓ ท่านเท่านั้น
    ไปหาว่าพระองค์เจ้าที่ทรงจำต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง    มีพระองค์ใดบ้าง  พบว่า มีอยู่ ๑๓ พระองค์

    ๑  พระองค์เจ้าหญิงปฐมพิสมัย  พระชันษา ๑๒ ปี
    ๒ พระองค์เจ้าชายวิลัยวรวิลาศ  พระชันษา ๖ ปี
    ๓ พระองค์เจ้าชายกาญจโนภาสรัศมี  พระชันษา ๔ ปี
    ๔ พระองค์เจ้าหญิงภัททาวดีศรีราชธิดา พระชันษา ๓  ปี
    ๕ พระองค์เจ้าชายกัลยาณประวัติ  พระชันษา ๓ ปี
    ๖ พระองค์เจ้าหญิงธิดาจำรัสแสงศรี   พระชันษา ๓ ปี
    ๗ พระองค์เจ้าหญิงฉายรัศมีหิรัญพรรณ  พระชันษา ๓ ปี
    ๘ พระองค์เจ้าหญิงกลิ่นแก่นจันทนารัตน์  พระชันษา ๒ ปี
    ๙ พระองค์เจ้าชายสุทัศนนิภาธร  พระชันษา ๒ ปี
    ๑๐ พระองค์เจ้าชายวรวุฒิอาภรณ์ พระชันษา ๑ ปี
    ๑๑ พระองค์เจ้าชายโอภาสไพศาลรัศมี  พระชันษา ๑ ปี
    ๑๒ พระองค์เจ้าอับสรศรีราชกานดา พระชันษา ๑ ปี
    ๑๓ พระองค์เจ้าชายรุจาวรฉวี  พระชันษา ๕ เดือน

        เจ้านายเล็กๆทั้งหมดนี้ มีพระองค์แรกพระองค์เดียวคือพระองค์เจ้าหญิงปฐมพิสมัย ที่เจริญพระชนม์มากพอจะโกนพระเมาลี(จุก)แล้ว    ก็เรียกว่าโตพ้นวัยเด็ก     ส่วนอีก ๑๒ พระองค์ยังเล็กๆอยู่ทั้งสิ้น  บางพระองค์ก็ยังเป็นทารกแบเบาะ บางพระองค์เห็นจะเพิ่งหัดตั้งไข่     เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นมากลางดึก    พระราชบิดาทรงรวบรวมพาไปด้วยไม่ทันแน่   ก็จำต้องทิ้งไว้ข้างหลัง   
       ส่วนหัวอกคนเป็นพ่อที่ต้องทิ้งลูกเล็กๆไม่ประสีประสาไว้ที่บ้าน  ไม่รู้ว่าลูกจะโดนอะไรเข้าบ้าง    ใจคอจะทุกข์ร้อนห่วงหน้าพะวงหลังสักแค่ไหน ใครมีลูกก็คงจะเข้าใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 22:08

       หลักฐานเล็กๆที่ยกมานี้ เพิ่มเติมเข้ากับหลักฐานอื่นๆก่อนหน้า ในกระทู้นี้  ทำให้ดิฉันเห็นว่าไฟไหม้โรงแกสเป็นฝีมือใครหรืออุบัติเหตุก็ตาม   แต่ไม่สมเหตุสมผลว่าเป็นการวางแผนของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ     
        ถ้าหากว่าทรงรู้เห็นกับแผนนี้ ก็น่าจะมีการวางทางหนีทีไล่ให้รัดกุมไว้ล่วงหน้า  อย่างน้อยลงมือเมื่อไร  ครอบครัวต้องปลอดภัย   อาจต้องโยกย้ายไปไว้ในสถานที่หลบภัยได้มิดชิด ซึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้า     ตั้งกองกำลังจู่โจมวังหลวงและอีกส่วนหนึ่งต้องคุ้มกันรักษาวังหน้าเอาไว้   ไม่ให้ทหารวังหลวงบุกเข้าถึงพระองค์และพระโอรสธิดาได้
       แต่นิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ บอกให้รู้ว่าไม่รู้พระองค์ล่วงหน้าเลย      ขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้าเฝ้าอยู่ก็ไม่มี  มีแต่หมอและข้าราชบริพารสนิทในวังเท่านั้น   พระอนุชาก็อยู่แยกออกไปต่างหากในวังของท่าน  ถูกปลุกขึ้นมาให้หนีไปพระองค์เดียว   ก็ต้องทรงทิ้งหม่อมและหม่อมเจ้าเล็กๆ เอาไว้ข้างหลังเช่นกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 22:17

ความรู้สึกของกรมหมื่นสถิตย์ฯ  ที่มีต่อหม่อมเจ้าซึ่งล้วนแต่ยังเล็กๆในวัง  ก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   
ก็ในเมื่อเป็นหัวอกพ่อด้วยกัน

          ยืนรำพึงตลึงลานสงสารบุตร         จะยากแค้นแสนสุดระทมถม
          ยังน้อยนักแต่สักคนไม่พ้นนม         จะล่มจมฉันใดไม่แจ้งความ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 22:35

ไม่มีใครทราบเกี่ยวกับข้อความใน "บัตรทิ้ง" ซึ่งเป็นข้อความที่ลอบปลงพระชนม์ เคยได้อ่านตัวอย่างบัตรทิ้งสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผู้ทำบัตรสนเท่ห์กล่าวว่าจะประทุษร้ายวิธีการที่ ๑ ทำอย่างไร บุคคลที่ ๒ จะจัดการอย่างไร บุคคลที่ ๓ จะจัดการอย่างไร โดยละเอียด มีเวลาประกอบ แต่ไม่ระบุวันที่ ซึ่งมีการระบุถึงการผูกระเบิดซุยซายด้วย

บัตรทิ้งเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็คงดุเดือดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าไร ถึงได้มีการระวังเรียกทหารเพิ่มเติม จดหมายต้องอ่านใจความแล้วคงจะหมายถึงหน่วยงานใดส่งมา ถึงได้เกิดปักใจเชื่อว่ามาจากฝ่ายวังหลวง เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง จึงได้รีบเสด็จหนีโดยองค์เองไปก่อน เนื่องจากเป็นเป้าหมายอันดับ ๑ ไปพึ่งบุคคลที่ ๓ ไว้ก่อนเป็นหลัก พระโอรส พระธิดาไม่เกี่ยวกับเรื่องการลอบทำร้าย จึงมิได้อยู่ในเป้าหมายของจดหมาย จึงมิต้องนำพระโอรสและพระธิดาติดตามไปทั้งหมด ก็เป็นไปได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 22:39

อ้างถึง
พระโอรส พระธิดาไม่เกี่ยวกับเรื่องการลอบทำร้าย จึงมิได้อยู่ในเป้าหมายของจดหมาย จึงมิต้องนำพระโอรสและพระธิดาติดตามไปทั้งหมด ก็เป็นไปได้

คุณ siamese ลืมเรื่องริบราชบาตรแล้วหรือคะ    มีสิทธิ์โดนทั้งวังละค่ะ ถ้าหากว่าถึงขั้นแตกหักกัน
สิ่งที่ดิฉันเห็นก็คือ  วิธีหนีราชภัยของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กับหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด  มาจากสาเหตุเดียวกัน คือไฟไหม้โรงหุงลมประทีป
แต่วิธีของเจ้านายทั้งสอง แตกต่างกันมาก    สะท้อนถึงเจตนาที่เป็นคนละเรื่องกันเลย

หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดหนีแบบมีแผนรัดกุม  รู้ทางหนีทีไล่   สามารถหอบละครหญิงทั้งโรงบวกนักดนตรีหลายสิบชีวิตลงเรือสำเภาใหญ่ ซึ่งอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมออกทะเล    แล่นเรือออกนอกปากอ่าวไปทันในวันรุ่งขึ้น    มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าจะไปไหน   เสบียงกรังก็พร้อมด้วย     ข้อนี้บอกให้รู้ว่ามีการเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า
ส่วนกรมพระราชวังบวรฯทรงลี้ภัยแบบไม่มีแผนล่วงหน้าเลย     พาพระญาติพระวงศ์ไปได้แค่ ๓ ท่าน      ส่วนพระโอรสธิดานั้นจะว่าไม่เกี่ยวเลยไม่พาไป นั้นไม่ใช่แน่      ราชภัยย่อมรวมการริบราชบาตร หรือแม้แต่โทษหนักกว่านั้นที่จะตกถึงพระโอรสธิดา ก็มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้  ขึ้นอยู่กับพระบรมราชโองการว่าจะหนักถึงขั้นไหน        กรมพระราชวังบวรฯ ท่านจะไม่ห่วงลูกท่านบ้างเลยหรือ   
ถ้าพาไปได้ทำไมจะไม่พา     แต่นี่พาไปอีก ๑๓ พระองค์บวกเจ้าจอมมารดาของแต่ละพระองค์อีก  ปาเข้าไปเท่าไร ไม่รวมพี่เลี้ยงนางนมด้วย  ทำกันฉุกละหุกแค่กลางดึกคืนเดียวไม่ทันแน่
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 22:42

อ้างถึง
พระโอรส พระธิดาไม่เกี่ยวกับเรื่องการลอบทำร้าย จึงมิได้อยู่ในเป้าหมายของจดหมาย จึงมิต้องนำพระโอรสและพระธิดาติดตามไปทั้งหมด ก็เป็นไปได้

คุณ siamese ลืมเรื่องริบราชบาตรแล้วหรือคะ    มีสิทธิ์โดนทั้งวังละค่ะ ถ้าหากว่าถึงขั้นแตกหักกัน


 อายจัง อายจัง อายจัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 22:49

อ้างถึง
นั่งเรือจากฉนวนน้ำวังหน้า ยังไงก็ต้องล่องผ่านพระบรมมหาราชวัง ผ่านไปปลุกพระองค์เจ้าเนาวรัตน ที่ตำหนักริมถนนพระอาทิตย์

เข้ามาขัดจังหวะแป๊บเดียวครับ ขออภัยคุณหนุ่มสยามด้วย เส้นทางลี้ภัยไปกงศุลอังกฤษของกรมพระราชวังบวรฯต้องผ่านวังหลวงก็จริง แต่มิได้ผ่านวังของพระองค์เจ้าเนาวรัตน ด้วยเหตุว่าถนนพระอาทิตย์อยู่ต้นน้ำเหนือขึ้นไปสักกิโลเมตรนึง ดังนั้นเรือจึงต้องย้อนกลับมาปลุกบรรทมในอีกเที่ยวหนึ่งให้ท่านตามไป
และผมยังอยากจะคิดว่า น่าจะเป็นรับสั่งของเจ้าคุณพระชนนี ที่ให้พระโอรสองค์ใหญ่ส่งเรือไปรับพระโอรสองค์เล็กด้วยซ้ำ

อนึ่ง ต้องบันทึกไว้ด้วยว่าทางวังหลวงก็มิได้มีแผนการณ์ใดๆที่จะจัดการกับวังหน้าในคืนนั้นตามที่ลือกัน เพราะหากมี ก็คงไม่ปล่อยให้ปลอดการระวังภัยด้านแม่น้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่าทางวังหน้ามีกองเรือรบ ติดปืนใหญ่หลายลำ ถ้าปะทะกันจริงศึกทางน้ำก็จะเป็นศึกหนัก เมื่อวังหลวงไม่มีการวางเวรยามลาดตระเวนใดๆ เรือของวังหน้าจึงวิ่งขึ้นล่องผ่านไปมาถึง๒เที่ยวได้อย่างตลอดปลอดโปร่ง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.095 วินาที กับ 20 คำสั่ง