เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 53553 “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 23:10

การเข้าไปพึ่งกงสุลอังกฤษ นี่หมายรวมถึง ต้องยอมให้ตนเองเข้าสังกัดเป็นคนในบังคับอังกฤษ ด้วยหรือไม่ครับ อ.NAVARAT.C  หากมีกรณีพิพาทก็ต้องขึ้นศาลอังกฤษ เสมือนตนเองเป็นคนอังกฤษ

ตัวอย่างใบลงทะเบียนการเข้าเป็นคนในบังคับอังกฤษ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 23:24

ผมไม่อยากจะเดาหรอกครับ พอดีพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงตัดสินพระทัยอย่างรวดเร็วที่เสนอการประนีประนอมโดยทันที เรื่องจึงไม่เลยเถิดจนกรมพระราชวังบวรฯต้องทรงถลำลึกลงไปกว่าขั้นที่มาขอลี้ภัยชั่วคราว และขอให้อังกฤษช่วยไกล่เกลี่ย ประกันความปลอดภัยของพระองค์ท่าน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 08:53

โดยส่วนตัว  คิดว่าไม่ ค่ะ 
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีการศึกษาดีทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก สมาคมกับฝรั่งมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ท่านย่อมรู้ดีว่าลี้ภัยการเมือง ก็คือพาตัวเองไปอาศัยชั่วคราวในที่ปลอดภัย     จบเรื่องแล้วก็กลับออกมาได้โดยไม่ต้องมีอะไรผูกมัดต่อกัน    แต่เข้าไปเป็นคนในบังคับอังกฤษคือเอาคอเข้าไปอยู่ในบ่วงของเขา  ดิ้นไม่หลุด  เปลี่ยนจากอันตรายจากวังหลวงมาเป็นอันตรายจากอังกฤษ  ซึ่งหนักพอๆกัน หรือมากกว่า
การเปลี่ยนเป็นคนในบังคับอังกฤษ เท่ากับท่านสละความเป็นคนไทย   ต่อให้อังกฤษทำศึกชนะวังหลวง  และยกท่านขึ้นเป็นใหญ่ ท่านก็จะได้ชื่อว่ายกแผ่นดินสยามให้เป็นเมืองขึ้นต่างชาติ     ตัวเองก็เป็นข้าของต่างชาติ     เหลนทวดของรัชกาลที่ ๑ คงไม่ทำเช่นนั้น

กรมพระราชวังบวรฯลี้ภัยอยู่ในสถานกงศุลนานเกือบ ๒ เดือน   จากการเจรจากันไปมากับทางฝ่ายวังหลวงและสมเด็จเจ้าพระยา จะเห็นว่าสิ่งที่ท่านกังวลคือความปลอดภัย และสถานภาพของวังหน้า ที่จะถูกบีบหรือลิดรอนอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้      ถ้าสองอย่างนี้ มีคำรับรองให้เชื่อถือได้ ว่าไม่มีอะไรน่าห่วง   ท่านก็ขอแค่นั้น 
แต่ก็ยังอ่านไม่พบว่า มีเงื่อนไขต่อรองในทำนอง...ถ้าวังหลวงไม่ยอมอย่างที่ข้าพเจ้าเสนอไปละก็   ข้าพเจ้าจะ...  ยังไม่เห็นมีนะคะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 09:05

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อค่อยๆเอามาแยกแยะวิเคราะห์กันละเอียดอย่างที่ทำกันอยู่   ก็พอมองเห็นได้ว่า ในเมื่อวังหลวงก็ไม่ได้คิดร้ายต่อวังหน้า  วังหน้าก็ไม่ได้คิดร้ายต่อวังหลวง    ก็ต้องมีบุคคลที่สามมาทำให้เรื่องที่ไม่ควรเกิด เกิดกันขึ้นมาจนเป็นเหตุใหญ่
หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดอาจเป็นผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ    ถึงได้เผ่นหนีไปแบบวางแผนล่วงหน้าไว้แล้ว    แต่ว่าถึงขั้นลงมือทำเองนั้นคงไม่ใช่  อย่างแรกคือเป็นผู้หญิงซึ่งสังคมสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ยังไม่ได้ยกย่องสตรีเป็นผู้นำถึงขนาดนั้น  อย่างที่สอง  ในฐานะหม่อมของพระองค์เจ้าวังหน้า ซึ่งไม่มีบทบาททางการทหารหรือเศรษฐกิจ  ท่านไม่มีบารมีขนาดก่อแผนวินาศกรรม ล้มสถาบันได้แน่นอน



ก็ขอทิ้งคำถามถึง"ไอ้โม่ง" ไว้เฉยๆ   ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีตัวตนหรือไม่   อาจเป็นแค่ความเข้าใจผิด และมีเจ้ากรมข่าวลือซึ่งเก่งในทางทิ้งบัตรสนเท่ห์ให้ปั่นป่วนกันไปเล่นๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 21:21

" เกาวนา" อังกฤษที่เข้ามาประนีประนอม คือ Sir Andrew Clarke  หน้าตาเป็นอย่างนี้



ส่วนหนึ่งในประวัติของเซอร์แอนดรู  กล่าวไว้ว่า

He maintained great friendship throughout his life with King Chulalongkorn of Siam whom he met when he was sent to Siam to settle a political dispute.

เขาได้ดำรงมิตรภาพอันดียิ่งยาวนานตลอดชีวิต กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม  ผู้ที่เขาได้พบเมื่อถูกส่งตัวมาสยาม เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเมือง

ท่าทีแข็งกร้าวของนายนิวแมนที่จะเฉือนสยามแบ่งออกเป็นสองหรือสามส่วน   คงจะดำเนินการโดยพลการ    เซอร์แอนดรูถึงไม่เห็นด้วย   แต่กลับสนับสนุนให้วังหลวงและวังหน้าตกลงกันได้เอง   หลังจากนั้นเหตุก็สงบ   กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จกลับวังหน้าตามเดิม
เหมือนอย่างที่กรมหมื่นสถิตย์ฯ นิพนธ์ไว้ว่า

      นิพนธ์พจน์บอกเบื้อง        บทปฐม
บำราศที่สราญรมณ์                เร่าร้อง
ต่างประเทศมาระดม               ดับเหตุ หายแฮ
ลุสวัสดิ์กลับห้อง                  เสร็จสิ้นอวสาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 22:55

ในหนังสือ "โครงกระดูกในตู้"  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงวิกฤตวังหน้าไว้ในตอนหนึ่งว่า

"พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ กลับเข้ามาจากเมืองราชบุรีที่ท่านไปตั้งบ้านเรือนอยู่นั้นโดยด่วน    และมีพระราชกระแสเล่าเรื่องราวให้ฟังทั้งหมด     สมเด็จเจ้าพระยาฯ   ท่านก็ออกมาจากที่เฝ้าแล้วตรงไปสถานกงศุลอังกฤษ   จะเข้าไปเจรจาว่ากล่าวอย่างไรก็ไม่ทราบได้     แต่ท่านสามารถนำพระองค์พระบัณฑูรกลับคืนมายังพระราชวังบวรได้   เหตุการณ์ที่คาดกันว่าจะรุนแรงต่อไปนั้นก็สงบลง"

ดิฉันก็เข้าใจอย่างนั้นมาตลอดว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญออกจากสถานกงศุลกลับมาได้   จะด้วยเจรจาประนีประนอมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง       ก็เพิ่งมาได้อ่านนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชั้นที่ ๑ (primary source) เพราะบันทึกจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง      ว่า


 
กรมพระราชวังบวรฯ ท่านทรงปฏิเสธ  ว่า "จะขอคอยเกาวนาเข้ามาก่อน"  สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เลยต้องกลับไปตามลำพัง   ไม่ได้เชิญเสด็จกลับไปด้วยอย่างที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เข้าใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 10:53

โดยส่วนตัว  คิดว่าไม่ ค่ะ 
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีการศึกษาดีทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก สมาคมกับฝรั่งมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ท่านย่อมรู้ดีว่าลี้ภัยการเมือง ก็คือพาตัวเองไปอาศัยชั่วคราวในที่ปลอดภัย     จบเรื่องแล้วก็กลับออกมาได้โดยไม่ต้องมีอะไรผูกมัดต่อกัน    แต่เข้าไปเป็นคนในบังคับอังกฤษคือเอาคอเข้าไปอยู่ในบ่วงของเขา  ดิ้นไม่หลุด  เปลี่ยนจากอันตรายจากวังหลวงมาเป็นอันตรายจากอังกฤษ  ซึ่งหนักพอๆกัน หรือมากกว่า
การเปลี่ยนเป็นคนในบังคับอังกฤษ เท่ากับท่านสละความเป็นคนไทย   ต่อให้อังกฤษทำศึกชนะวังหลวง  และยกท่านขึ้นเป็นใหญ่ ท่านก็จะได้ชื่อว่ายกแผ่นดินสยามให้เป็นเมืองขึ้นต่างชาติ     ตัวเองก็เป็นข้าของต่างชาติ     เหลนทวดของรัชกาลที่ ๑ คงไม่ทำเช่นนั้น

กรมพระราชวังบวรฯลี้ภัยอยู่ในสถานกงศุลนานเกือบ ๒ เดือน   จากการเจรจากันไปมากับทางฝ่ายวังหลวงและสมเด็จเจ้าพระยา จะเห็นว่าสิ่งที่ท่านกังวลคือความปลอดภัย และสถานภาพของวังหน้า ที่จะถูกบีบหรือลิดรอนอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้      ถ้าสองอย่างนี้ มีคำรับรองให้เชื่อถือได้ ว่าไม่มีอะไรน่าห่วง   ท่านก็ขอแค่นั้น 
แต่ก็ยังอ่านไม่พบว่า มีเงื่อนไขต่อรองในทำนอง...ถ้าวังหลวงไม่ยอมอย่างที่ข้าพเจ้าเสนอไปละก็   ข้าพเจ้าจะ...  ยังไม่เห็นมีนะคะ


ตอบเพลิดเพลินไปจนจบค.ห. ไปแล้วหลายวัน     เพิ่งกลับไปอ่านโครงกระดูกในตู้ใหม่อีกครั้ง  พบประโยคว่า

"พระบัณฑูรเสด็จออกจากวังหน้าไปประทับในกงสุลอังกฤษ   และประกาศว่าพระองค์อยู่ใต้บังคับของรัฐบาลอังกฤษ   สุดแล้วแต่อังกฤษจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไร...."

ก็เลยอยากถามคุณ siamese ว่าเคยเจอเอกสารที่ลงนามว่ากรมพระราชวังบวรฯ ท่านทรงลงพระนามเป็นสัปเยก (subject) ของอังกฤษบ้างหรือไม่    ดิฉันขอเดาล่วงหน้าว่าไม่มี      เพราะขั้นตอนยังไปไม่ถึงตอนนั้น  คือแค่ไปลี้ภัยการเมือง ไม่ใช่ไปตกลงเป็นสัปเยกเรียบร้อย ขาดจากเป็นชาวสยามในบังคับสยาม 
ถ้าจะสันนิษฐานจากข้อเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์   ก็คือ ท่านไม่ได้หมายความว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงบอกหรือลงพระนามกันโต้งๆว่าอยู่ใต้บังคับอังกฤษ     แต่การที่ไม่ยอมเสด็จออกจากสถานกงสุล ทั้งที่มีพระบรมราชโองการ  แต่ทรงรอจนกว่าเกาวนาอังกฤษมาชี้ขาด ก็เป็นที่เข้าใจของทางวังหลวงว่าทรงเลือกอยู่ใต้บังคับของอังกฤษ

ป.ล.  เกาวนา = governor
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 11:23

ในเอกสารบางฉบับดุร้อนกว่านี้อีกครับผม อ้างถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เล่ม ๑ หน้า ๘๐๑ : ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม

"..เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบปะกับเซอร์ แอนดรู คลาก เรียบร้อยแล้วและได้ทำสัญญาว่าจะช่วยเจรจาเรื่องนี้ให้เรียบร้อย และจะไม่ยอมเข้าแทรกแซงเรื่องนี้ พร้อมกับวิจารณ์การกระทำของมิสเตอร์ นิวแมน ว่าให้ความเห็นใจแก่วังหน้ามากเกินไป เป็นการฟังความข้างเดียว ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งประเทศออกเป็น ๓ ส่วน...นอกจากนี้แล้ว เซอร์ แอนดรู คลาก ยังได้บีบบังคับให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญยอมรับข้อเสอนของวังหลวงอีกด้วย เพราะถ้าไม่ยอมจะถูกไล่ออกจาก "....ธงอังกฤษ..."

และอีกทั้งในเอกสาร "The Politics of Reform in Thailand, David K. Wyatt, Page 50-62" กล่าวไว้ทำนองว่า "มิสเตอร์นิวแมน ให้ความมั่นใจแก่กรมพระราชวังบวรฯ ว่าทางอังกฤษจะส่งเรือรบเข้ามาช่วยและขณะนี้เรือรบกำลังเดินทางมาถึงเกาะฮ่องกงแล้ว" ทำให้เบื้องต้นทรงไม่ฟังคำขอร้องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ดูๆแล้วมิสเตอร์ นิวแมน ก็น่ากลัวมิใช่น้อยเลยนะครับที่พยายามในหลายๆเรื่อง และที่มีความกล้าหาญมากคือ "เจรจาแบ่งประเทศสยามเป็น ๓ ส่วนต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ถึงเพียงนี้"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 12:12

ถ้างั้นเราจะมองได้ไหมว่า การที่เหตุการณ์พลิกผันกลับตาลปัตรไปนั้น เพราะเซอร์แอนดรู คลาค ไปเข้าข้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คือไม่ประสงค์จะแบ่งสยามออกเป็น ๓ ส่วน  ตามที่นายนิวแมน รองกงศุล  ทำตัวเจ้ากี้เจ้าการ     
แต่นายนิวแมนคิดเองเออเอง หรือรับนโยบายมาจากกงสุลน็อกซ์มาอีกทีนั้นไม่รู้   

ลองกลับไปแกะรอยจากนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯอีกครั้ง   เกี่ยวกับนายนิวแมน(หรือนูแมนอย่างที่ทรงเรียก) ก็ได้ความว่าแกมีอำนาจในการตัดสินใจเต็มร้อย

มิสหนอกมอบไว้ในว่าแทน                  การประเทศเขตแคว้นในร่มธง
มีอาญานุภาพสิทธิ์ขาด                      ไทยไม่อาจทำตามความประสงค์
เขารับรองป้องกันมั่นคง                     ...........................

นายนิวแมนคงไม่ได้คิดแผนแบ่งแยกสยามขึ้นมาอย่างปุบปับในช่วงไม่กี่วัน    น่าจะเป็นความคิดที่มีกันมานานแล้ว  รู้กันกับกงศุลน็อกซ์
ก็อาจจะมองได้อีกทางว่า  ถ้าแบ่งแยกกันได้เมื่อใด    กรมพระราชวังบวรฯ ก็จะทรงอยู่ในฐานะ "นอมินี" ของกงศุลอังกฤษ   เรื่องราวคงจะไม่จบกันได้ง่ายๆ
ก็นับว่าเป็นโชคของทางฝ่ายสยาม ที่เซอร์แอนดรู คลาค ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 15:24

คัดจากหนังสือ Studies in Southeast Asian art: essays in honor of Stanley J. O'Connor - หน้า137, Cornell University
ระบุเหตุการณ์วิกฤตวังหน้าไม่กี่บรรทัด แต่ท้ายสุดเซอร์แอนดรู คลาคได้สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 15:26

แสดงเนื้อความไปในทางเดียวกันว่าเซอร์แอนดรู คลาค  สนับสนุนทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ   ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกสยามออกเป็น ๒ หรือ ๓ ส่วน

Even his father failed to negotiate.... ฮืม
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จสวรรคตไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๔   ในที่นี้คนเขียนเข้าใจผิดว่ายังมีพระชนม์อยู่ หรือเข้าใจว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯคือพระราชบิดา ก็ไม่ทราบ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 15:55

ฉบับเต็มข้อความครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 17:25

อ่านความเต็มๆ แล้ว  ก็ยังเข้าใจเท่าเดิมค่ะ   ลังเล

กลับไปอ่านนิราศกรมหมื่นสถิตย์ฯ อีกครั้ง  เผื่อจะแกะรอยบรรยากาศหรืออะไรอย่างอื่น ระหว่างวรรคได้   ก็ได้ความมาว่า


  

เจ้านายในยุคนั้นบรรทมดึกมากเกือบรุ่งเช้า   เพราะใช้เวลากลางคืนแทนกลางวัน   เมื่อเรือของวังหน้าไปเชิญเสด็จ ท่านเพิ่มจะเข้าบรรทม   ถูกเร่งให้รีบลงเรือแต่ลำพัง   เพราะใกล้รุ่ง
   น่าสังเกตว่าในท้องน้ำ  ยังสัญจรกันไปมาตามปกติ   ทางวังหลวงไม่ได้สั่งระวังใครเดินเรือผ่านพระบรมมหาราชวังแต่อย่างใด   ท่านจึงเสด็จลงเรือจากท่าน้ำแถว ASTV  ผ่านวังหน้า วังหลวง ไปถึงสถานกงศุลที่อยู่ลงไปทางใต้ได้อย่างปลอดโปร่ง
   พอไปถึง ทรงพบเจ้าจอมมารดา พระเชษฐาและพระขนิษฐา ล้วนแต่ "ยังไม่สร่างโศกาด้วยอาลัย" แสดงว่าแต่ละพระองค์ล้วนแต่กำลังอยู่ในอารมณ์ทุกข์โศก   ต่างก็ทรงรู้ว่าโทษฐานกบฏ หนักหนาสาหัสขนาดไหน

ป.ล.  ผิดพลาดทางเทคนิค  คำที่โพสตกหายไปทั้งย่อหน้า เพิ่งเห็นเลยเข้ามาแก้ไข
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 20:34

นอกจากนี้แล้ว เซอร์ แอนดรู คลาก ยังได้บีบบังคับให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญยอมรับข้อเสนขอองวังหลวงอีกด้วย เพราะถ้าไม่ยอมจะถูกไล่ออกจาก "....ธงอังกฤษ..."

มิสหนอกมอบไว้ในว่าแทน                  การประเทศเขตแคว้นในร่มธง
มีอาญานุภาพสิทธิ์ขาด                      ไทยไม่อาจทำตามความประสงค์
เขารับรองป้องกันมั่นคง                     ...........................

ผมตีความว่า “ในร่มธงอังกฤษ”  คือ เขตที่เป็นอังกฤษมีเอกสิทธิ์ ตามสญธิสัญญาทางการทูตอันเป็นที่ยอมรับระหว่างนานาประเทศ สถานทูต หรือสถานกงสุลถือเป็นเขตที่รัฐบาลต่างชาติเข้ามาตั้งทำการอยู่ สามารถชักธงชาติ ประกาศการเป็นเจ้าของครอบครองสถานที่นั้น รัฐบาลเจ้าของประเทศไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่าย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ทำให้ตัดสินพระทัยนำครอบครัวและบริวารเสด็จไปขอลี้ภัยทางการเมืองสถานกงศุลอังกฤษตามนัยดังกล่าว เป็นการชั่วคราว ไม่มีตรงไหนระบุว่า ทรงถลำไปขอเป็นสัปเยก ยอมสละสัญชาติไทยไปอยู่ใต้บังคับของรัฐบาลอังกฤษ   สุดแล้วแต่อังกฤษจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไร.
  


"พระบัณฑูรเสด็จออกจากวังหน้าไปประทับในกงสุลอังกฤษ   และประกาศว่าพระองค์อยู่ใต้บังคับของรัฐบาลอังกฤษ   สุดแล้วแต่อังกฤษจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไร...."

ตรงนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ไส่ไข่ให้ท่าน หรือเอาความมาจากที่เล่าเติมเสริมแต่งกันทางฝ่ายผู้ชนะ มาเล่าต่ออีกที โดยไม่สนใจที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อความเป็นธรรมต่อฝ่ายผู้แพ้
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 21 มี.ค. 11, 20:41

มีประวัติการรับราชการของมิสเตอร์วิลเลียม เฮนรี่ นิวแมน (Mr. William Henry Newman) นิดหน่อย
จึงขอลงเพื่อเติมเต็มความรู้ครับ

-วันที่ ๑๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๐๑                                      นักเรียนล่ามสถานกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๕                                         ผู้ช่วยล่ามชั้นที่ ๒ กองสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๕                                    ผู้ช่วยล่ามชั้นที่ ๑ กองสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๘ ถึง วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔        ทำหน้าที่แทนล่าม
-วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๕    ทำหน้าที่แทนกงสุลใหญ่
-วันที่ ๑๕ มีนาคม ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕                    ทำการแทนล่าม
-วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ ถึงวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๘    ทำการแทนกงสุลใหญ่
-วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ ถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓       ทำการแทนกงสุลใหญ่
-วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๙                                          รองกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๑๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๒๗                                      กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ
-วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๓                                      เกษียณอายุราชการ

(ที่มา-รายงานการประชุมเสนาบดีสภา ร.ศ. ๑๑๓)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง