เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 59721 โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 19:44

ยอดเยี่ยมเลยครับคุณอกนิษฐ์  ผมไม่ทราบว่าจะกล่าวคำขอบคุณอย่างไรดีจึงจะคุ้มค่า   ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้มีสาเหตุเพียงนิดเดียวจากที่ผมต้องการให้กำลังใจคุณลุงไก่ที่แต่ง
โคลงสี่สุภาพผิดพลาดจากรูปแบบปกติไป  ผมจึงอยากให้คุณลุงไก่เริ่มต้นด้วยการแต่งโคลงง่ายๆ ไปก่อนโดยอย่าเพิ่งไปคำนึงถึงรูปวรรณยุกต์ให้มากนัก    ซึ่งวิธีนี้เองผมก็
ใช้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก   และผมยอมรับสารภาพว่าผมเองก็รู้เรื่องโคลงโบราณไม่มากนักนอกจากที่จดบันทึกเอาไว้ในสมุดส่วนตัว   คุณหลวงเล็กมาช่วยไขกุญแจไว้ก่อนและ
คุณอกนิษฐ์ก็มาเปิดโลกของโคลงโบราณให้สว่างเบื้องหน้าผมนี่เอง

หลังจากผมเริ่มแต่งโคลงชนิดต่างๆ เป็น  ผมก็ไม่เคยให้ความสนใจกับโคลงโบราณอีกเลย    โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่มีอะไรที่ท้าทายมากนัก  แต่งทีไรก็มักจะไปลงที่รูปแบบ
ของโคลงชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่เสมอ  ผมจึงกำหนดไว้กับตัวเองเลยว่าถ้าแต่งจะต้องเป็นการเล่นคำหรือเป็นกลบทไปเลย  ถ้าผมไปพบเห็นโคลงสี่สุภาพแบบกลบทรูปแบบใหม่ๆ
ที่ไม่เคยพบมาก่อน  ผมจะฝึกหัดด้วยการแต่งแบบโคลงโบราณเสียก่อนเสมอ (ในสมัยยังเด็กนะครับ) เนื่องจากไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของการวางรูปวรรณยุกต์   และเมื่อรู้หลัก
ดีแล้วจึงจะแต่งตรงตามข้อกำหนดนั้นๆ

การที่ผมมีเจตนาที่ดีต่อคุณลุงไก่เป็นเบื้องต้น  กลับได้ผลตอบแทนเป็นคุณค่าที่ประเมินไม่ได้สำหรับผมจริงๆ  ขอขอบพระคุณคุณหลวงเล็กและคุณอกนิษฐ์ในเรื่องนี้อย่างที่สุดครับ
บันทึกการเข้า
อกนิษฐ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 20:33



สมัยที่เรียนก็มีคำโคลงปลอบใจตัวเอง

               ใดใดในโลกล้วน                   จนิจจัง
          คนไม่อ่านหนังสือยัง                    สอบได้
          (กู)อ่านหนังสือหัวแทบพัง              ยัง  สอบตก
         ......

เหลือบันทัดสุดท้ายนี่แหละครับ แต่งต่อให้สัมผัสไม่ได้จนทุกวันนี้ ... ใครก็ได้ ... ช่วยผมที    ร้องไห้   ร้องไห้     ร้องไห้




               

โคลงบทนี้ ผมก็จำได้ครับ สมัยเรียน ม.ต้น มีคนเขียนไว้บนโต๊ะเรียนหลังห้อง ผมชอบนั่งหลังห้อง ก็เลยเจอมันทุกวันจนจำได้ ดังนี้ครับ


            ใดใดในโลกล้วน         อนิจจัง
    คนไม่ดูสือยัง                    สอบได้
    คนท่องแทบหัวพัง               สอบตก    นาพ่อ
    เพราะเหตุฉะนั้นไซร้             อย่าได้อ่านมัน ฯ


พอเข้ากรุงเทพฯ เคยเสวนากับเพื่อน ๆ รู้สึกว่าโคลงบทนี้แพร่ไปทุกภาค บางจุดอาจต่างกันบ้างแต่เนื้อหาเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนแต่ง นับว่าเป็นสุดยอดแห่งโคลงจริง ๆ จำได้กันทั้งประเทศ (หมายเหตุ: บาทแรกมาจาก ลิลิตพระลอ)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 20:42

โคลงบทนี้ ผมก็จำได้ครับ สมัยเรียน ม.ต้น มีคนเขียนไว้บนโต๊ะเรียนหลังห้อง ผมชอบนั่งหลังห้อง ก็เลยเจอมันทุกวันจนจำได้ ดังนี้ครับ


           ใดใดในโลกล้วน         อนิจจัง
    คนไม่ดูสือยัง                    สอบได้
    คนท่องแทบหัวพัง               สอบตก    นาพ่อ
    เพราะเหตุฉะนั้นไซร้             อย่าได้อ่านมัน ฯ


พอเข้ากรุงเทพฯ เคยเสวนากับเพื่อน ๆ รู้สึกว่าโคลงบทนี้แพร่ไปทุกภาค บางจุดอาจต่างกันบ้างแต่เนื้อหาเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนแต่ง นับว่าเป็นสุดยอดแห่งโคลงจริง ๆ จำได้กันทั้งประเทศ (หมายเหตุ: บาทแรกมาจาก ลิลิตพระลอ)

ใดใดในโลกล้วน       อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง       เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง       ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้     ก่อเกื้อรักษา

จาก ลิลิตพระลอ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 11:01

ผมจึงมิได้ประหลาดใจอะไรมากนัก  เพราะแม้แต่ในขณะบวชเป็นภิกษุสงฆ์พรรษา
แรกยังเป็นพระนวกะ     ขณะที่กำลังท่องจำบทขัดสัคเค (บทขัดชุมนุมเทวดา)
ผมก็ได้พบความผิดปกติของพระคาถาบางประการ  รู้สึกถึงความคุ้นตา
อันเนื่องจากเคยแต่งมาก่อน  จึงลองตรวจสอบดู  แล้วก็พบว่า เป็นคำฉันท์นั่นเอง
แต่จะเรียกว่าฉันท์อะไรผมเองก็ไม่ทราบ 

แต่รูปแบบของพระคาถาตั้งแต่  “สะรัชชัง สะเสนัง.....จนถึง.....ปะริตตัง
ภะณันตุ.” เป็นรูปแบบของ “ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒”  ผิดกันแต่รูปแบบ
ของสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน  กับคำสุดท้ายของบทตรงคำว่า “ภะณันตุ” ซึ่ง “ตุ”
เป็น ลหุ ผิดรูปแบบไป   และตั้งแต่ “สัคเค กาเม.....จนถึง.....สาธะโว เม
สุณันตุ”  นี้เป็นรูปแบบของ “สัทธราฉันท์ ๒๑” อย่างไม่ต้องสงสัย 
แต่ก็เช่นเคย  รูปแบบของสัมผัสไม่ตรงกับแบบแผนที่เคยได้รับรู้ร่ำเรียนมา 
และคำว่า “ตุ” เป็นคำ ลหุ ปิดท้ายเช่นเดิม  ก็ไม่รู้ว่าผู้ประพันธ์ บทขัดสัคเค นี้
นำมาจากคัมภีร์ฉบับหรือผูกใดและนำมาประพันธ์ไว้เป็นบทสวดมนต์
ให้พวกเรายุคหลังได้ใช้ในการอัญเชิญเทวดาก่อนจะทำการสวดมนต์ตามปกติ
มาตั้งแต่สมัยใด


ในบทสัคเค  หรือบทชุมนุมเทวดา นั้น
เต็มๆ ว่า

สัคเค กาเม จะ รูปเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา
ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุฯ

หมายเหตุ  ภาษบาลีเขียนแบบไทย
เป็นสัทธราฉันท์ ๒๑

พยางค์ "ตุ" ท้ายบาทที่ ๔ นั้น  ตามคัมภีร์ฉันท์วุตโตทัย
หรือแม้แต่คัมภีร์ปิงคลฉันท์ของทางสันสกฤต 
ได้กำหนดให้ ลหุปลายบาท  นับเป็น ครุ  ทั้งสิ้น

ลองดูตัวอย่างอื่น เช่น

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
คฺรีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

บทนี้ เป็นวสันตดิลกฉันท์  "นิ" เป็น ลหุ ปลายบาทเหมือนกัน
ให้ถือเป็นครุได้เช่นกัน
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 17 ก.ค. 11, 13:48

ขอบพระคุณคุณหลวงเล็กมากครับที่ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้    ผมมีจุดอ่อนคือไม่เคยสนใจตามสืบค้นถึงที่มาของบทร้อยกรองชนิดต่างๆ อย่างจริงจังเลย   
เมื่อไปอ่านพบจากที่ใดก็จะจดบันทึกไว้เป็นข้อความสั้นๆ เท่านั้น   อย่างเช่นผมบันทึกไว้ว่า  “ตำราฉันท์อินเดียที่สำคัญมี ๒ เล่ม คือ คัมภีร์สุโพธาลังการ
และ คัมภีร์ วุตโตทัย เดิมเขียนเป็นภาษาสันสกฤตแปลเป็นภาษาบาลีในภายหลัง”
  แต่ไม่เคยติดตามสืบค้นเลยว่า  ร้อยกรองชนิดใด  มาจากคัมภีร์เล่มใด   
ทำให้ตนเองเหมือนคนตาบอดที่กำลังคลำหาทางอยู่ท่ามกลางแสงแดดนี่ละครับ

จากคำอธิบายของคุณหลวงเล็กพอจะทำให้ผมเข้าใจได้ว่า   เมื่อได้มีการแปลงฉันท์ให้มาเป็นภาษาไทย  เราก็ได้เพิ่มกฎเกณฑ์ในการบังคับสัมผัสขึ้นมาใหม่   
แต่ชื่อของฉันท์นั้นๆ ยังคงไว้ตามต้นฉบับอยู่    ความเข้าใจดังนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ   (เมื่อผมเห็นว่า ในบทขัดสัคเค เป็นรูปแบบของคำฉันท์ผมก็ตรวจสอบ
ดังที่เคยกล่าวไว้  ถึงแม้ลหุ ครุ จะตรงกัน  แต่การส่งสัมผัสไม่เหมือนกัน  ซึ่งแสดงได้ว่า ของดั้งเดิมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งสัมผัสมากนัก   แต่เรามา
กำหนดกันเองภายหลัง  แต่คงชื่อไว้ตามเดิม)

เมื่อสมัยผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น  ผมเห็นว่าการแต่งโคลงกลอน เป็นเรื่องที่ไม่ท้าทายอะไรเลย  จึงเรียนปรึกษาคุณครูผู้สอน  ท่านก็ได้นำแผนผังของฉันท์
ต่างๆ มาให้ผมมากมาย (ซึ่งยังไม่มีการสอนในชั้นเรียนปกติ) เป็น วรรณพฤติทั้งหมด  และระบุฉันท์ที่นิยมใช้ในวรรณคดีต่างๆ ไว้ให้ด้วย  ผมขอเรียนถาม
คุณหลวงเล็กว่า  รูปแบบผัง ของฉันท์ต่างๆ ที่คุณครูนำมาให้   คุณครูท่านบอกว่าเป็นของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่ง
พระองค์ท่านได้ทรงแปลงมาจากคัมภีร์ภาษาบาลี คัมภีร์วุตโตทัย  แต่ไม่ได้กล่าวถึง คัมภีร์สุโพธาลังการเลย  ผมขอเรียนถามว่าเราได้มีการแปลงคัมภีร์
สุโพธาลังการ
และ คัมภีร์ปิงคลฉันท์ ที่คุณหลวงได้กล่าวไว้มาเป็นกาพย์หรือฉันท์ของไทยบ้างไหมครับ  ขอเรียนถามเพียงเท่านี้ครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 19 ก.ค. 11, 09:01

เรียน คุณwillyquiz

คัมภีร์ สุโพธาลังการ เป็นตำราประเภทอลังการศาสตร์ 
ตำราอลังการศาสตร์ เป็น ตำราที่แสดงกลวิธีแต่งร้อยกรองให้ไพเราะ
นั่นหมายความว่า  เมื่อศึกษาการแต่งร้อยกรองจนแต่งได้แล้วถูกต้อง
ตามลักษณะของคำประพันธ์ต่างๆ แล้ว   ยังไม่พอต้องเรียนรู้ด้วยว่า
การแต่งให้ไพเราะกินใจ มีศิลปะ นั้นจะทำอย่างไร

ยกตัวอย่างว่า  เราแต่งกลอนสุภาพได้
คือ ฉันทลักษณ์ถูก จำนวนคำในวรรคไม่ขาดไม่เกิน
เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคไม่ผิดเสียง  สัมผัสบังคับครบ
แต่ถ้าพิจารณาเรื่องความไพเราะ  กลอนที่เราแต่งได้นั้น
อาจจะไม่ไพเราะ ไม่จับใจ

เพราะขาดการตกแต่งให้มีศิลปะ หรือเรียกว่าวรรณศิลป์
การตกแต่งให้มีความไพเราะนั้นทำได้หลายอย่าง
อย่างร้อยกรองไทย  ก็เพิ่มสัมผัสใน  เพิ่มสัมผัสเสียงพยัญชนะ
ซ้ำคำ  เล่มคำ  หลากคำ  ซ้ำความ  ใช้กลบท
ใช้คำตายรับส่งสัมผัส  ใส่โวหารภาพพจน์ (อุปมา อุปลักษณ์
อติพจน์  สัทพจน์  ปฏิพากย์พจน์ ฯลฯ)หรือใส่ลักษระอื่นๆ
ที่ทำให้เกิดวรรณศิลป์  คนอ่านอ่านแล้วจับใจประทับใจ

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น  คือลักษณะที่ตำราอลังการศาสตร์สอน

คัมภีร์สุโพธาลังการ เป้นคัมภีร์เดียวที่ใช้ในการแต่งร้อยกรองบาลี
ประวัตินั้นว่า แต่งโดยพระภิกษุชาวลังกา  โดยอาศัยคัมภีร์อลังการศาสตร์
ของสันสกฤตเป็นต้นแบบ มีนาฏยศาสตร์ของพระภรตมุนี เป็นอาทิ

ส่วนคัมภีร์ปิงคลฉันท์นั้น  เป็นคัมภีร์ฉันท์ของสันสกฤตที่นับถือกันว่า
เป็นคัมภีร์ฉันท์เก่าแก่สุด  ในคัมภีร์นี้มีฉันท์สันสกฤตหลายชนิด
ฉันท์เหล่านี้  ได้ตกทอดมาอยู่ในคัมภีร์วุตโตทัยด้วยหลายฉันท์

คัมภีร์วุตโตทัยนั้นเป็นคัมภีร์ที่พระภิกษุใช้เป็นตำราเรียนกันมายาวนาน
โดยรับมาจากลังกาอีกทอดหนึ่ง   พระพม่า   ล้านนา  และไทย
ล้วนให้คัมภีร์ สุโพธาลังการ และวุตโตทัย ในการศึกษาทั้งสิ้น
และมีการแต่งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา อธิบายความไว้ด้วย


ส่วนที่ถามว่า

ผมขอเรียนถามว่าเราได้มีการแปลงคัมภีร์สุโพธาลังการ และ คัมภีร์ปิงคลฉันท์
ที่คุณหลวงได้กล่าวไว้มาเป็นกาพย์หรือฉันท์ของไทยบ้างไหมครับ 

คำตอบข้างต้นคงตอบคุณได้ส่วนหนึ่งแล้วล่ะครับ
ที่เหลือไว้ผมจะมาตอบต่อไปคราวหน้า
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 20 ก.ค. 11, 22:16

ผมอ่านข้อความของคุณหลวงเล็กกลับไปกลับมาหลายเที่ยว  ด้วยความสนใจ  โดยเฉพาะตรงข้อความที่ว่า

การตกแต่งให้มีความไพเราะนั้นทำได้หลายอย่าง
อย่างร้อยกรองไทย  ก็เพิ่มสัมผัสใน  เพิ่มสัมผัสเสียงพยัญชนะ
ซ้ำคำ  เล่มคำ  หลากคำ  ซ้ำความ  ใช้กลบท
ใช้คำตายรับส่งสัมผัส  ใส่โวหารภาพพจน์ (อุปมา อุปลักษณ์
อติพจน์  สัทพจน์  ปฏิพากย์พจน์ ฯลฯ)หรือใส่ลักษระอื่นๆ
ที่ทำให้เกิดวรรณศิลป์  คนอ่านอ่านแล้วจับใจประทับใจ

ผมอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก  เพราะเป็นความฝันตั้งแต่วัยเด็กเลยทีเดียวที่จะแต่งร้อยกรองให้โดดเด่นแตกต่างจากผู้อื่น
แต่ก็ทำไม่ได้   อาจเนื่องมาจากสติปัญญาความสามารถไปไม่ถึงขั้นนั้น   ทำได้ก็เพียงแต่พยายามแต่งให้ดีเต็ม
ความสามารถของตนเองเท่านั้นเอง   แต่ไม่เสมอไปก็เป็นเฉพาะบางกรณีและบางโอกาสเท่านั้น
หากคุณหลวงเล็กมีสิ่งใดที่พอจะชี้แนะเพิ่มเติมได้อีก   ผมขอความกรุณานะครับ  ได้โปรดช่วยชี้แนะผมด้วยครับ
ผมจะสำนึกในบุญคุณอย่างยิ่ง
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 20 ก.ค. 11, 23:15

ระหว่างการค้นหาสมุดบันทึก กาพย์-ฉันท์ ส่วนตัว  ถึงแม้จะยังไม่พบ   แต่ก็ไปพบกระดาษที่ฉีกจากสมุดที่เขียนร้อยกรองในวัยเด็กเอาไว้
๒-๓ ชิ้น สอดแทรกอยู่ในหนังสือ  บางชิ้นยังเขียนไม่เสร็จแต่งคาไว้  บางชิ้นเขียนเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้เกลา   ผมอยากเอามาลงไว้ให้กับ
เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้อ่านผลงานในวัยเด็กของผม   แต่สำหรับท่านอื่นที่ได้เข้ามาอ่านโปรดเข้าใจด้วยว่า  ร้อยกรองพวกนี้ออกมาจากความคิด
ของเด็กวัยเพียง ๑๓-๑๔ ปี เท่านั้น   ไม่ใช่ความคิดเห็นในปัจจุบันที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว  และผมจะไม่แก้ไขแต่งเพิ่มเติมอะไรอีก  จะลอกออก
มาจากของเดิมทั้งหมดเพื่อให้เห็นความคิดและลีลาของเด็กอย่างผมในขณะนั้น
ชิ้นแรกนี้คาดว่าได้ไปอ่านพบสุภาษิตฝรั่งประโยคหนึ่งเข้าจากที่ใดที่หนึ่งจึงจดเอามาเป็นหัวเรื่อง  แล้วเกิดความคิดต่อต้านไม่เห็นด้วยจึงระบาย
คัดค้านออกมาด้วยโคลงสี่สุภาพ    สุภาษิตนั้นบอกไว้ว่า  "Painters and poets have leave to lie." "จิตรกรและกวีมีสิทธิที่จะกล่าวคำเท็จ"
และผมเขียนคัดค้านว่า

     จิตรกรกวิไซร้             ชำนาญ
ลวงล่อบนผลงาน              ซ่อนเร้น
มุสาต่างอาหาร                 ฤๅท่าน
ไยจึ่งจำยกเว้น                 ไป่พ้อกลโกง  ฯ

     เพียงภาพวาดแต้มแต่ง    ลวงตา
เขียนประดิษฐ์อักษรา          ล่อไว้
กลับชมชื่นหรรษา              วิพากษ์    ดีเฮย
ดูดั่งวานรได้                    เล่นแก้วธำมรงค์  ฯ

     ไตรรัตน์คือเครื่องชี้        นำทาง
ฉายส่องภพมิวาง               รุ่งเร้า
กลใดจึ่งจืดจาง                 อรุณรุ่ง
หลบดิ่งลึกลงเข้า               สู่ห้วงอเวจี  ฯ

ขอทำความเข้าใจย้ำอีกครั้งว่า  นี่เป็นความคิดของเด็กวัย ๑๓-๑๔ ปี  ผมมิได้มีเจตนาหยามหมิ่น จิตรกร หรือ กวี ผู้ใดทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 21 ก.ค. 11, 00:11

อีกชิ้นหนึ่งแต่งเป็น "อินทรวิเชียรฉันท์" แต่ไม่จบทิ้งค้างเอาไว้  แล้วหันไปแต่งเป็น "กาพย์ฉบัง ๑๖" แทน ในเรื่องเดียวกัน
แต่ถึงจะแต่งค้างเอาไว้  ก็ยังคงอยากให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เห็นอยู่ดี   สาเหตุแห่งเนื้อเรื่องเกิดขึ้นเพราะ  ได้มีเพื่อนฝูงในวัย
เด็กกลุ่มหนึ่งไปก่อความเสียหายเอาไว้และไม่มีเงินไปชดใช้เขา  บังเอิญขณะนั้นผมมีเงินอยู่จำนวนหนึ่งจึงให้เพื่อนขอยืมไป
ก่อน   แต่เมื่อถึงกำหนดกลับไม่มีใครนำเงินมาคืนจนถึงปัจจุบันนี้  จึงแต่งร้อยกรองระบายอารมณ์

๑๑
O    พลาดเป็นอุทาหรณ์                    อนุสรณ์ก็เตือนใจ
พิศพร้อมระวังภัย                            บมิควรจะนิ่งเฉย
เกิดเป็นมนุษย์ชาติ                          จะมิพลาดมิมีเลย
มากน้อยสิต้องเคย                          ผิว์บจำก็เต็มทน
ฉันเองนะพลาดแล้ว                         สหแก้วสหายกล
ร้อยลิ้นกะลาวน                             มนโลภฤชากร
สูบเลือดและเชือดเนื้อ                      ตะกละเหลือนะฝูงหนอน
ซุกไซ้และไชชอน                           มลคูถก็ดูดกิน
ถึงคราจะตอบแทน                          อุระแค้นบเคยยิน
เฉื่อยช้าและชาชิน                           ทุรมิตรกระทำลง

เนื่องจากยังไม่มีเปยยาลน้อยปิดท้าย  จึงคาดว่าผมยังแต่งไม่เสร็จและหันไปแต่งเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ แทน
เรื่องมันเกิดขึ้นและแต่งขึ้นกว่าสี่สิบปีแล้วผมจึงจำได้ไม่ค่อยแน่ชัดนัก
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 21 ก.ค. 11, 01:23

เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่แต่งเป็น อินทรวิเชียรฉันท์ เอาไว้   แต่จำไม่ได้ว่าทำไมจึงเปลี่ยนใจมาแต่งเป็น "กาพย์ฉบัง ๑๖"
อาจจะเป็นเพราะยิ่งแต่งยิ่งพลุ่งพล่าน  เพราะมีเรื่องจะต้องใช้เงินแต่เรียกเงินคืนไม่ได้ จึงเริ่มจะใช้ถ้อยคำรุนแรงซึ่งไม่เหมาะ
กับฉันท์  จึงหยุดแต่ง   เมื่ออารมณ์ดีขึ้นจึงมาแต่งใหม่เป็นกาพย์ฉบัง (คิดว่าอย่างนั้น)

๑๖
O    แม่เอยแม่พระธรณี                       ลูกสูญเสียหนี้
แม่ชี้ทางออกได้ไหม
O    ไม่เคยเอาเปรียบแก่ใคร                  แม่รู้ด้วยใจ
ลูกเป็นฝ่ายให้เสมอมา
O    มิใช่เรียกความเมตตา                     ร้องขอกรุณา
จากแม่ให้ช่วยด้วยจน
O    ลูกกล่าวด้วยเหตุด้วยผล                  ฟันฝ่าอดทน
กระทำแต่สิ่งดีงาม
O    ช่วยผู้ตกยากทุกยาม                      ทั่วทุกเขตคาม
ด้วยกายด้วยใจปรานี
O    แต่แล้วคุณงามความดี                    กลับหลีกหลบหนี
ในยามที่ลูกต้องการ
O    แม่เอยเหล่าอันธพาล                     อันโซซมซาน
คือเพื่อนอันเคยการุณย์
O    เขายืมเขาขอให้ขุน                       ด้วยเงินอุดหนุน
จากเลือดจากเหงื่อแรงกาย
O    แม่เอยเขามิอับอาย                       หน้าด้านฉิบหาย
ไยแม่จึงไม่หันมอง
O    ทำดีไยดีมิครอง                           น้ำใจเปี่ยมนอง
ของลูกเหือดหายไปไหน
O    ลูกนี้แสนอ่อนอกใจ                       ทำดีเพื่อใคร
เมื่อไรดีจึงได้มา                                ฯ























บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 21 ก.ค. 11, 02:14

O    แม่เอยแม่พระคงคา                       ลูกหลั่งน้ำตา
บูชาพระแม่แต่เดิม
O    กายนี้มีธาตุแม่เสริม                       เป็นหนึ่งแต่งเติม
จนครบไฟ ลม น้ำ ดิน
O    มนุษย์ได้ดื่มอาบกิน                       ชำระราคิน
คุณแม่เนื่องนับอนันต์
O    ลูกนี้วิโยคโศกศัลย์                        ด้วยเหตุผลอัน
ได้กล่าวกับแม่ธรณี
O    ลูกท้อต่อเพื่อนอัปรีย์                      มูลเหตุคดี
จากที่เขายืมเงินทอง
O    ปัญหามากมายก่ายกอง                   เขาบอกคับข้อง
ยากแท้ที่จะคลี่คลาย
O    แม้เป็นทรัพย์สินอย่าหมาย                หลีกลี้หนีหาย
หลบหน้าหลบตาพาสูญ
O    แม่เอยอกลูกอาดูร                        ต้องเอื้อเกื้อกูล
รินแม่ใส่ถังรั่วรู
O    เขามิอัปยศอดสู                           รีดเลือดจากปู
หรือเคยก่อกรรมกันมา
O    หากวิบากกรรมค้ำคา                      จากอดีตเวลา
ลูกจะก้มหน้าใช้กรรม
O    ขอแม่จงช่วยอุปถัมภ์                      ล้างเวรที่ทำ
ด้วยเดชแห่งพระแม่เทอญ                       ฯ

                        ด้วยความรันทดแสนสาหัส
                 วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

ชิ้นนี้ลงวันที่ที่แต่งเอาไว้ด้วย   แต่ชิ้นที่เป็นโคลงสี่สุภาพไม่ได้ระบุเอาไว้ อาจจะเป็นเพราะลืมก็เป็นได้

ความคิดฟุ้งซ่านของเด็กวัย ๑๓-๑๔ ปี ผมได้อ่านอีกครั้งแล้วก็ต้องหัวเราะกับตนเอง   ผิดหวังทำอะไรใครไม่ได้ก็ฟ้องดินฟ้องน้ำ
ไปเรื่อยเปื่อยตามเรื่องตามราว  ทวงหนี้ไม่ได้  เห็นอะไร  เกิดเหตุการณ์อะไร  ไปเที่ยวที่ไหน  มีเรื่องชกต่อยกับใคร  เก็บมาเขียน
เป็นร้อยกรองเสียหมด  ถ้าบันทึกร้อยกรองของผมไม่จมน้ำเสียเมื่อปี ๒๕๒๖ คงมีเรื่องมาเขียนลงกระทู้นี้ต่อเนื่องได้เป็นปีๆ ก็คงไม่หมด
นึกแล้วก็น่าเสียดาย  แม้แต่ มิตร ชัยบัญชา สมัครลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผมยังเก็บเอามาเขียนเป็นกาพย์ยานี ๑๑ ยาวเหยียด  อ่านกัน
สนุกสนาน มีทั้งล้อเลียน เสียดสี ชมเชย และอวยพรให้ด้วย  ก็ผมยังเป็นเด็กอยู่มาหาเสียงกับพวกเด็กๆ อย่างผม  คงไม่ปล่อยเอาไว้แน่
เหงาดินสอตายเลย
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 21 ก.ค. 11, 16:27

การแต่งร้อยกรองอย่างที่คุณ willyquiz แต่งนั้น
เปรียบเหมือนภาพวาดอิมเพรสชั่นนิสม์ 
เมื่อได้เห็น ได้ยิน หรือได้รับรู้เหตุการณ์อะไรบางอย่าง
แล้วรู้สึก "โดน"  ก็สามารถระบายออกมาได้ทันที
ยิ่งถ้าคนที่ชำนาญฉันทลักษณ์หลายแบบ
ก็จะแต่งเป็นร้อยกรองได้ยาวทีเดียว 
ส่วนจะไพเราะกินใจประทับใจคนอ่านหรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับความชำนาญและศิลปะของแต่ละคน

การแต่งแบบกระทันหันอย่างนี้  บางทีก็ได้กลอนดีๆ เหมือนกัน
ผมแต่งกลอนมานาน  โดยเฉพาะกลอนสด  มีหลักของตนเองว่า
เมื่อจะแต่งกลอนเรื่องอะไรก็ตาม  ขนาดไม่ยาวมาก
ต้องขึ้นต้นให้จับใจ  และลงท้ายให้ประทับจิต
ซึ่งเป็นหลักเดียวกับการพูดในที่ประชุมชน

ต้องมีกลอนวรรคทองในกลอนที่แต่ง
วรรคทองในร้อยกรองนั้น  ใช่ว่าจะทำให้มีกันง่ายๆ
ต้องฝึกและอ่านให้มาก   บางทีคำง่ายก็ประทับใจคนได้
ไม่ต้องใช้คำยากเสมอไป   

เมื่อแต่งเสร็จ  ให้ทิ้งไว้ก่อน  รอจนความประทับใจ
หรือความตื่นตัวตื่นเต้น  จางไปก่อน  แล้วกลับมาอ่านใหม่
ทีนี้จะแก้ไขอะไรตรงใดให้ไพเราะจับใจก็ทำได้เลย

(แต่ถ้าแต่งกลอนสด  ทิ้งระยะอย่างนี้ไม่ได้  ไม่ทันกิน)

ส่วนความยาวของคำประพันธ์นั้น  ขึ้นอยู่กับเนื้อหา
ถ้าเนื้อหาไม่มีอะไร  เป็นเรื่องอารมณ์ล้วนๆ ควรแต่งให้สั้น
อย่าให้ยาวมาก  เพราะอารมณ์จะจางไปกับจำนวนบท

บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 25 ก.ค. 11, 21:29

กราบเรียนคุณหลวงเล็กที่เคารพยิ่ง

     ข้อเขียนของคุณหลวงเล็กแต่ละครั้งทำให้ผมมีเรื่องต้องขบคิดเสมอ  และต้องคิดครั้งละนานๆ เพื่อขบให้แตก
ครั้งนี้ก็เช่นกัน   ดูเหมือนเป็นข้อคิดเห็นธรรมดาสำหรับผู้อื่น   แต่สำหรับผมนี่ไม่ธรรมดาเลย  เอาเพียงแค่ประโยค
ที่กล่าวว่า
 
เมื่อจะแต่งกลอนเรื่องอะไรก็ตาม  ขนาดไม่ยาวมาก
ต้องขึ้นต้นให้จับใจ  และลงท้ายให้ประทับจิต
ซึ่งเป็นหลักเดียวกับการพูดในที่ประชุมชน

นี่ก็มีคุณค่ามหาศาลแล้วละครับ
อ่านดูง่ายๆ  แต่ปฏิบัติจริงยากมาก   เมื่อเป็นเด็กผมมีอัตตารุนแรงมากในเรื่องร้อยกรอง  ทะนงตัวว่าเด็กในวัยเดียวกันแม้แต่กลอนสุภาพ
ยังแต่งไม่เป็นเลย    แต่ผมสามารถแต่งโคลง กาพย์ ฉันท์ ได้แล้ว  โดยที่คุณครูยังไม่ได้สอนในชั้นเรียนเสียด้วยซ้ำ
ถ้าผมมีดินสอ สมุดอยู่ในมือแล้วขอให้บอกมาเถอะว่าจะให้แต่งอะไร  จะเอาบทประพันธ์ชนิดไหน (ที่ไม่ใช่ฉันท์) ผมสามารถเขียนเป็น
โครงเรื่องออกมาได้ทันที

แต่พอได้อ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็กแล้วผมถึงกับสะดุ้ง  “ขึ้นต้นให้จับใจ  และลงท้ายให้ประทับจิต”  ทำไมผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย
ผมมัวไปมุ่งแต่กระพี้เสียมากกว่า  ไปมุ่งแต่หาคำศัพท์สูงๆ     คนอื่นเขาอ่านวรรณคดีเพื่อเอาเนื้อเรื่อง  แต่ผมอ่านเพื่อหาคำศัพท์กับบท
ประพันธ์แปลกๆ ประเภทกลบท  สมัยนั้นผมท้าเรียงตัวเลยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในเรื่องอ่านวรรณคดี  หาคนอ่านมากขนาดผมยากมาก
ดังนั้นความรู้ด้านคำศัพท์ของผมจึงกว้างมาก  สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ตีบตันง่ายๆ  อย่างเช่น ป่า ผมสามารถใช้คำได้เยอะแยะไปหมด 
สัตว์ต่างๆ  อย่างเช่น “สารไมย”  มีใครสักกี่คนที่รู้ว่าแปลว่า หมา   แต่เด็กอย่างผมรู้       แต่ผมก็ไม่นิยมเอาคำศัพท์บรรดานี้มาใส่ในบท
ร้อยกรองปกติของผมนอกจากจะเป็นประเภทกลอนพาไป หรือมีเจตนาโดยเฉพาะ  อย่างเช่นการแต่งฉันท์ซึ่งจำเป็นต้องรู้ศัพท์มากกว่าปกติ   
ผมภูมิใจมากที่พอถามถึงเรื่อง “อัษฎมูรติ” กับพวกผู้ไหญ่  แล้วเขาส่ายหน้ากัน  เพราะผมสามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ ไปเลย    แต่พอมา
ถึงปัจจุบันนี้  อักษรศักดิ์สิทธิ์ทั้งแปดตัวอักษรผมยังเรียงลำดับไม่ถูกเลย  นี่คือจุดอ่อนอย่างรุนแรงของผม    ผมจึงเอาดีทางร้อยกรองไม่ได้
เพราะมุ่งไปผิดทางตั้งแต่เด็กนั่นเอง   เดี๋ยวนี้กว่าผมจะนึกคำศัพท์ได้แต่ละคำช่างยากเย็นเสียจริง   จะเขียนจะแต่งอะไรดูติดขัดไปหมด   วาง
รูปคำผิดๆ ถูกๆ  ฯลฯ   (แต่แล้วพวกเด็กๆ ก็สอนผมเองว่าการแต่งคำประพันธ์ที่ใช้คำศัพท์ที่ยากแก่การเข้าใจเป็นสิ่งที่เด็กๆ เกลียดที่สุด  เด็กๆ
เกลียดวรรณคดีก็เพราะเรื่องคำศัพท์นี่ละครับ)

อีกประโยคหนึ่งของคุณหลวงเล็กคือ

ต้องมีกลอนวรรคทองในกลอนที่แต่ง
วรรคทองในร้อยกรองนั้น  ใช่ว่าจะทำให้มีกันง่ายๆ
ต้องฝึกและอ่านให้มาก   บางทีคำง่ายก็ประทับใจคนได้
ไม่ต้องใช้คำยากเสมอไป
 
 
ผมเข้าใจผิดมาเองโดยตลอด   วรรคทองของผมจึงกลายเป็นการเล่นคำในบทกลอน-การแสดงความสามารถในการใช้กลบทต่างๆ ไปเสีย 
ซึ่งในบทร้อยกรองของผมจะแทรกไว้ด้วยเสมอ และทำเช่นนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว  นั่นกลับกลายเป็นตรงกันข้ามกับความหมายของคุณหลวงเล็ก
ไปเลย   ผมไม่คิดว่ากระทู้นี้จะมีค่าอะไรมากมายนัก   แต่มาถึงตอนนี้ผมคิดว่าหากเยาวชนที่มีใจรักในทางการประพันธ์ร้อยกรองได้เข้ามาอ่าน
และได้เห็นความคิดเห็นของคุณหลวงเล็กกับความผิดพลาดในอดีตของผมคงจะมีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น

คำชมบางครั้งก็เสมือนยาพิษ   แต่คำติติงบางครั้งก็กลับกลายป็นยาบำรุงกำลังได้      ข้อเขียนของคุณหลวงเล็กคล้ายกับเป็นกระจกเงาให้ผม
ส่องมองความผิดพลาดของตนเองในอดีตและปัจจุบันได้ชัดขึ้น  ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 26 ก.ค. 11, 12:04

สิ่งที่คุณ willyquiz มานั้น  ผมก็เคยเป็นมาเหมือนกัน
ผมอ่านหนังสือกลวิธีการแต่งกลอนเล่มหนึ่ง  เขากล่าวว่า
คนแต่งร้อยกรองส่วนใหญ่ต้องมีทั้งอหังการและมมังการ
อหังการ คือ ตัวฉัน  มมังการ คือ ของฉัน
คนแต่งร้อยกรองมีกันแทบทั้งนั้น  สุดแต่จะมีมากมีน้อย
ถ้าไม่มีเลยก็แต่งร้อยกรองออกมาได้ไม่ดี
ถ้ามีมากไปน้อยไปก็แต่งร้อยกรองออกมาได้ไม่ดีเหมือนกัน


สมัยผมเป็นนักเรียนไปแข่งขันแต่งกลอนสด (เป็นทีม)
ครูจะให้ฝึกแต่งกลอนสดวันละ ๒-๓ กระทู้  
(ถ้าวันไหนหัวแล่นดี  ไฟแรง ก็ ๔ กระทู้)  
ฝึกอย่างนี้  สัปดาห์ละ ๓ วัน  คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ ตอนเช้า
จับเวลาเหมือนไปแข่งจริง  กระทู้ละ ๑๐-๑๕ นาที
เกินนี้  ถือว่าไม่ผ่าน  จำได้ว่าฝึกอยู่อย่างนี้ เกือบ ๓ ปี ในช่วงเรียนม.ปลาย


ถ้าช่วงไหนใกล้จะมีไปแข่งขันงานใหญ่อย่างแข่งขันกลอนสด
ที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ราวเดือนสิงหาคม (ต่อกับงานยุวกวีศรีศิลป์
ที่คุรุสภา)  จะซ้อมกันทุกวัน  แถมมีการบ้านให้แต่งต่อที่บ้านด้วย
ช่วงนั้น  จะคิดอะไร  มันไหลออกมาเป็นกลอนได้หมด
(ส่วนจะไพเราะหรือเปล่า นั้นเป็นอีกเรื่อง)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 26 ก.ค. 11, 13:08

ผมเองเริ่มเรียนรู้เรื่องร้อยกรองด้วยตนเองก่อนจะเรียนกับครู
และเริ่มมาหัดแต่งร้อยกรองเป็นเรื่องเป็นราวตอนเรียนม.ต้น

เมื่อถูกครูเลือกเป็นตัวแทนแต่งกลอนสด  สืบต่อจากรุ่นพี่
การแต่งกลอนสดนั้น ไม่เหมือนกลอนแห้ง
คือ ต้องคิดให้ไว  คิดให้แตกต่างจากคนอื่นแต่สร้างสรรค์ชัดเจน
และที่สำคัญพลาดไม่ได้เลย

การแข่งขันกลอนสด  ถ้าจะว่าไปแล้ว  มันก็ไม่สดเสียทีเดียว
เพราะทุกทีมที่เข้าแข่งขันล้วนที่แต่ซุ่มฝึกแต่งกลอนสดกันมาหลายกระทู้
การฝึกเหล่านั้น  คือการเดาใจกรรมการว่าจะออกกระทู้อะไรในเวลาแข่งขันจริง  
การแข่งขันกลอนสดแต่ละเวทีก็ตั้งกระทู้มีแนวต่างๆ กันไป

บางที่ชอบออกแนวการเมือง สังคม และเหตุการณ์ปัจจุบัน  
ถ้าเป็นแบบนี้  ถ้าติดตามข่าวสารบ้านเมือง ต้องอ่านข่าวย้อนไปหลายเดือนด้วย
ว่าเขามีข่าวอะไร  เพราะข่าวเหล่านั้น มักจะเอาเป็นกระทู้กลอนได้หมด
ใครไม่ตามข่าวสาร ไม่ทราบรายละเอียดก็แต่งไปไม่ตลอด
และถึงรู้ข่าวแต่ก็ต้องตีความให้ต่างจากทีมอื่น  อันนี้ยากขึ้นไปอีก
เพราะแต่งพื้นๆ เหมือนทีมอื่น ไม่มีแนวคิดอะไรโดดเด่นก็จะได้คะแนนน้อย
ถ้าไม่สามารถคิดให้ต่างได้ ก็ต้องแต่งให้ดีที่สุด  เวทีที่ออกแนวนี้
สำหรับทีมที่เคยผ่านมาบ้างจะชอบเพราะท้าทายดี  ตื่นเต้น
เลือกใช้คำได้เต็มที่  

บางที่ไม่ออกแนวบู๊อย่างข้างต้น  ออกแนวสุภาพหรือหวาน
ถ้าไปแข่งในเวทีอย่างนี้  ต้องระมัดระวังการใช้คำให้มาก
หวือหวามากไม่ได้เด็ดขาด  ถ้าเผลอก็เสียคะแนนทันที

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 20 คำสั่ง