เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 59799 โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 05 ก.ค. 11, 18:08

                                         โคลงสามดั้น


      O     O     O     O     O                         O     O     O    เอก     โท

O    เอก    O     O    โท    โท                       เอก    O

O     O     O     O     O                               O     O     O    เอก     โท


โคลงสามดั้นให้ดูจากแผนบังคับข้างบนเป็นตัวอย่าง  แบบบังคับอื่นให้ถือตามโคลงสองสุภาพ หรือโคลงสามสุภาพ
โคลงสามดั้นมีลักษณะเหมือนโคลงสองดั้น  แต่เพิ่มวรรคหน้าขึ้นมาอีกหนึ่งวรรค มีห้าคำ  ห้ามใช้วรรณยุกต์
คำสุดท้ายของวรรคหน้าต้องสัมผัสกับคำแรก หรือคำที่สอง หรือคำที่สามของวรรคที่สอง

                         ตัวอย่าง

     ฝนซาตอนปลายวัสส์               ผลัดเหมันต์ทั่วหล้า
ชนต่างเตรียมเสื้อผ้า                    อุ่นไอ
เหลียวมองไปรอบตัว                    ใจระรัวสั่นเศร้า
ชายคู่หญิงคล้อเคล้า                    ร่าเริง
คิดเปิดเปิงไปไกล                       ใครหนอใครช่วยได้
โถพี่อกร้าวไหม้                         เปลี่ยวตน
นวลนางคนใดหนอ                      พอจะนำช่องชี้
โยงคู่ชายผู้นี้                            กล่าววอน
อาทรดวงใจหนัก                        ขาดคนรักร่วมข้าง
หนาวเอ่ยหนาวน้ำค้าง                   อ่อนทรวง
หากมีดวงยีหวา                         คนเดิมมาแต่งแต้ม
คอยส่งรอยยิ้มแย้ม                     ยั่วใจ
อกสุมไฟผิดกาล                        คงเบิกบานสร่างเศร้า
บานชื่นเอยยิ้มเย้า                       ช่วยที            ฯ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 05 ก.ค. 11, 18:50

                                          -: โคลงสี่ดั้น :-

                                          โคลงดั้น วิวิธมาลี


                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                              เอก    โท

O     O    เอก    O     O                               O    เอก         (O     O)

O    เอก    O     โท    โท                             เอก     O

                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                             เอก    โท



ลักษณะการประพันธ์ให้ดูตามแบบด้านบน  แต่ขอให้สังเกตบาทสุดท้ายของบท  จะมีวรรณยุกต์โทเพิ่มขึ้นในคำที่สี่   ซึ่งจะ
สัมผัสกับคำสุดท้ายของบาทที่สอง

บาทสุดท้าย  วรรคหลังจะมีสองคำ  บังคับวรรณยุกต์เอกที่คำแรก

คำสุดท้ายของบทจะต้องสัมผัสกับคำที่ห้าของบาทที่สองของบทต่อไป


                         ตัวอย่าง

     มาลีหอมยั่วเย้า                      ดอมดม

บานชื่น บ มิควร                          เอ่ยอ้าง

หลากสีส่งสวยสม                        แทนกลิ่น   หอมฤๅ

ราวดั่งเทพสร้างแสร้ง                     แด่ชน

     บุปผาชาติทั่วด้าว                    แดนดิน

มีชื่อตามตายล                           ทั่วหล้า

ถึอควรเช่นทรัพย์สิน                      คงคู่    ภพนา

บานชื่นงามฟ้าค้าง                        ล่องลอย        ฯ

บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 05 ก.ค. 11, 19:24

                                          -: โคลงสี่ดั้น :-

                                          โคลงดั้น บาทกุญชร


                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                              เอก    โท

O     O    เอก    O     O                               O    เอก         (O     O)

O    เอก    O     โท    โท                             เอก     O

                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                             เอก    โท


ลักษณะการประพันธ์โคลงดั้น บาทกุญชร เป็นเช่นเดียวกับโคลงดั้น วิวิธมาลี   ต่างกันเพียงเพิ่มสัมผัสระหว่างบทอีกหนึ่งจุดคือ
คำสุดท้ายของบาทที่สามของบทแรก  จะสัมผัสกับคำที่สี่ของวรรคแรกของบทต่อไป


                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง    กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     เราเดียวดายแล้งคู่                     เดินควง    นาพ่อ

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 05 ก.ค. 11, 19:29

ไม่ทราบว่าเกิดผิดพลาดขึ้นที่จุดใด  ตัวอักษรจึงหายไป  ขอยกมาใหม่ตรงนี้

                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง    กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     เราเดียวดายแล้งคู่                     เดินควง    นาพ่อ

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 05 ก.ค. 11, 19:59

หากว่าคุณลุงไก่มีโอกาสเข้ามาอ่านในกระทู้นี้  ผมขอเรียนว่า คุณลุงไก่ได้ใจผมไปเต็มๆ ในการแต่งโคลง  แต่ผมไม่อยากเข้าไปโพสท์อะไร
ในกระทู้นั้น  ผมจึงใช้เนื้อที่ตรงนี้ส่งสาส์นถึงคุณลุงไก่

คุณลุงไก่อาจจะยังไม่สันทัดในบทร้อยกรองในตอนนี้  แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรตราบใดที่ยังมีความพยายามอยู่

มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์
คุณลุงไก่สามารถเขียนได้ตามใจโดยไม่ต้องห่วงข้อบังคับเรื่องวรรณยุกต์เลย เพียงแค่รักษาจุดบังคับสัมผัสที่เขากำหนดเอาไว้เท่านั้น  โคลงของ
คุณลุงไก่เป็นดังนี้


               เลือดแดงแรงฤทธิ์กล้า          โรมรัน
          น้ำเปล่าใสดุจอัน                     บริสุทธิ์
          พี่น้องคลานตามกัน                  จากอุทร   แม่นา
          ดูดดื่มกษีราร่วมเต้า                  ย่อมเข้าใจกัน       

จุดสีแดงคือจุดที่คุณลุงไก่พลาดไป สองคำนี้ต้องสัมผัสกัน  คุณลุงไก่ลองไปแก้ไขใหม่  ผมอยากจะเรียนว่า  ถ้าคุณลุงไก่สามารถแต่งได้โดยไม่ต้องใช้
วรรณยุกต์ใดๆ เลย นั่นนับว่าเยี่ยมครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 08:31

ไม่ทราบว่าเกิดผิดพลาดขึ้นที่จุดใด  ตัวอักษรจึงหายไป  ขอยกมาใหม่ตรงนี้

                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง     กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     เราเดียวดายแล้งคู่                     เดินควง    นาพ่อ

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ


ขอทักท้วงตามเท่าที่เคยได้เรียนมาจากครู
การส่งและรับสัมผัสในตัวอย่างโคลงบาทกุญชร
ที่คุณwillyquiz มีทีผมติดใจคือ คำที่ขีดเส้นใต้ ๒ แห่งนั้น
จริงอยู่ว่า  ครูบาอาจารย์โบราณท่านอนุโลมให้สลับตำแหน่งคำเอกคำโท
ในโคลงดั้นบาทกุญชรได้  แต่การสลับตำแหน่งนั้นมีเหตุผลอธิบายได้
ว่าบางทีคำที่หาได้หรือเนื้อความไม่เอื้อให้ใส่คำเอกก่อนคำโทตามบังคับฉันทลักษณ์
เมื่อเป็นเช่นนี้  ท่านก็เลยอนุโลมให้สลับตำแหน่งคำโทมาอยู่ก่อนคำเอกได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าสลับคำเอกคำโทได้ทุกตำแหน่ง  ที่อนุโลม
คือตำแหน่งคำเอกคำโท ในบาทแรก เท่านั้น บาทที่สองไม่ได้อนุโลมตามนัยนี้

และถึงจะสลับตำแหน่งคำเอกคำโทในบาทแรก  แต่การรับสัมผัสก็ไม่เปลี่ยนแปลง
นั่นหมายความว่า  เมื่อส่งคำสัมผัสซึ่งเป็นตำแหน่งคำเอกวรรคหลังบาทที่ ๓ จากบทก่อน
ก็ต้องมารับสัมผัสด้วยคำเอกในวรรคหน้าบาทที่ ๑ โคลงบทต่อไป 
ไม่ว่าคำเอกจะอยู่ในตำแหน่งคำที่ ๔ หรือคำที่ ๕ ก็ตาม เพราะลักษระของโคลง
ย่อมส่งและรับสัมผัสด้วยตำแหน่งคำประเภทเดียวกัน  ไม่ข้ามประเภทเด็ดขาด
คือ คำสุภาพ(คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์)ส่งและรับสัมผัสกับคำสุภาพ 
คำเอกส่งและรับสัมผัสกับคำเอก และคำโทส่งและรับสัมผัสกับคำโทเท่านั้น

ฉะนั้น  จากตัวอย่างโคลงดั้นบาทกุญชรที่คุณwillyquiz นำมาแสดง
โคลงบทแรกบาทที่ ๓ วรรคหลัง คำที่ ๒ คือว่า  แต่ง  ซึ่งเป็นตำแหน่งคำเอกถูกต้อง
ส่งสัมผัสมายังตำแหน่งคำเอกในโคลงบทที่ ๒ วรรคหน้า  คำที่ ๔ (กรณีไม่สลับตำแหน่งคำเอกคำโท)
หรือคำที่ ๕ (กรณีสลับตำแหน่งคำเอกคำโท)  แต่คุณwillyquiz
ให้คำว่า แล้ง ซึ่งเป็นตำแหน่งคำโทรับสัมผัส คำว่า แต่ง ซึ่งเป็นคำเอก ซึ่งไม่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์
ที่ถูกต้อง ต้องรับสัมผัสตรงตำแหน่งคำว่า คู่ นั้น  ซึ่งคำว่า คู่ ย่อมไม่รับสัมผัสกับคำว่า แต่ง
เมื่อสลับตำแหน่งคำเอกคำโท  การรับสัมผัสก็ต้องย้ายตำแหน่งตามไปด้วยถึงจะถูก
ตัวอย่างนี้ยังไม่เหมาะที่จะใช้เป็นตัวอย่างดังได้แย้งมาด้วยประการฉะนี้


บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 08:47

หากว่าคุณลุงไก่มีโอกาสเข้ามาอ่านในกระทู้นี้  ผมขอเรียนว่า คุณลุงไก่ได้ใจผมไปเต็มๆ ในการแต่งโคลง  แต่ผมไม่อยากเข้าไปโพสท์อะไร
ในกระทู้นั้น  ผมจึงใช้เนื้อที่ตรงนี้ส่งสาส์นถึงคุณลุงไก่

คุณลุงไก่อาจจะยังไม่สันทัดในบทร้อยกรองในตอนนี้  แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรตราบใดที่ยังมีความพยายามอยู่

มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์
คุณลุงไก่สามารถเขียนได้ตามใจโดยไม่ต้องห่วงข้อบังคับเรื่องวรรณยุกต์เลย เพียงแค่รักษาจุดบังคับสัมผัสที่เขากำหนดเอาไว้เท่านั้น  โคลงของ
คุณลุงไก่เป็นดังนี้


               เลือดแดงแรงฤทธิ์กล้า          โรมรัน
          น้ำเปล่าใสดุจอัน                     บริสุทธิ์
          พี่น้องคลานตามกัน                  จากอุทร   แม่นา
          ดูดดื่มกษีราร่วมเต้า                  ย่อมเข้าใจกัน        

จุดสีแดงคือจุดที่คุณลุงไก่พลาดไป สองคำนี้ต้องสัมผัสกัน  คุณลุงไก่ลองไปแก้ไขใหม่  ผมอยากจะเรียนว่า  ถ้าคุณลุงไก่สามารถแต่งได้โดยไม่ต้องใช้
วรรณยุกต์ใดๆ เลย นั่นนับว่าเยี่ยมครับ

ขอบคุณครับที่ท้วงติง ผมแต่งไม่เป็นหรอกครับ อาศัยความจำจากที่เคยเรียนมาว่าคำจะสัมผัสกันตรงไหน มาถึงบาทสุดท้าย ตอนนั้นผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะต้องไปสัมผัสกับบาทไหน

แต่ขอความหมายอย่างที่ใจอยากจะเขียนเอาไว้ก่อน ผลก็ออกมาเช่นนี้ แล ...

สมัยที่เรียนก็มีคำโคลงปลอบใจตัวเอง

               ใดใดในโลกล้วน                   จนิจจัง
          คนไม่อ่านหนังสือยัง                    สอบได้
          (กู)อ่านหนังสือหัวแทบพัง              ยัง  สอบตก
         ......

เหลือบันทัดสุดท้ายนี่แหละครับ แต่งต่อให้สัมผัสไม่ได้จนทุกวันนี้ ... ใครก็ได้ ... ช่วยผมที    ร้องไห้   ร้องไห้     ร้องไห้




                


บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 10:18

"แต่ก็ไม่ใช่ว่าสลับคำเอกคำโทได้ทุกตำแหน่ง  ที่อนุโลม
คือตำแหน่งคำเอกคำโท ในบาทแรก เท่านั้น บาทที่สองไม่ได้อนุโลมตามนัยนี้

และถึงจะสลับตำแหน่งคำเอกคำโทในบาทแรก  แต่การรับสัมผัสก็ไม่เปลี่ยนแปลง
นั่นหมายความว่า  เมื่อส่งคำสัมผัสซึ่งเป็นตำแหน่งคำเอกวรรคหลังบาทที่ ๓ จากบทก่อน
ก็ต้องมารับสัมผัสด้วยคำเอกในวรรคหน้าบาทที่ ๑ โคลงบทต่อไป 
ไม่ว่าคำเอกจะอยู่ในตำแหน่งคำที่ ๔ หรือคำที่ ๕ ก็ตาม เพราะลักษระของโคลง
ย่อมส่งและรับสัมผัสด้วยตำแหน่งคำประเภทเดียวกัน  ไม่ข้ามประเภทเด็ดขาด
คือ คำสุภาพ(คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์)ส่งและรับสัมผัสกับคำสุภาพ 
คำเอกส่งและรับสัมผัสกับคำเอก และคำโทส่งและรับสัมผัสกับคำโทเท่านั้น"

กราบขอบพระคุณ คุณหลวงเล็ก เป็นอย่างยิ่งต่อคำทักท้วงที่มีค่าประดุจทองคำข้างบนนี้  ผมขอยอมรับความบกพร่องนี้ด้วยความซาบซึ้งอย่างที่สุด
ทำให้ผมนึกถึงคุณครูผู้สอนวิชา การประพันธ์และวรรณคดี ของผมอย่างจับใจ  ท่านคอยตักเตือนแก้ไขข้อบกพร่องของผมอยู่เสมอดุจเดียวกับที่
คุณหลวงเล็กกระทำในขณะนี้  ผมไม่ทราบว่าผมพลาดไปได้อย่างไรทั้งๆ ที่ผมก็แต่งมาเสียนักต่อนัก  ครั้งสุดท้ายที่ผมแต่งโคลงดั้นบาทกุญชร ก็เมื่อ
ครั้งที่ สมเด็จพระเทพ ฯ ท่านทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะวัดพระแก้ว  ผมได้แต่งเอาไว้ประมาณสี่สิบบท  แต่จำไม่ได้ว่าเก็บเอาไว้ที่ใด  อยาก
จะนำเอามาตรวจสอบดูว่าผมพลาดพลั้งในการส่งสัมผัสแบบนี้หรือเปล่า

ลูกหลานคนใดที่ไ้ด้เข้ามาอ่านขอให้จดจำข้อความของคุณหลวงเล็กข้างบนไว้ให้ดีอย่าพลาดพลั้งแบบนี้อีก

ผมขอเปลี่ยนแปลงบทตัวอย่างของโคลงดั้นบาทกุญชรสักเล็กน้อยเพื่อให้ถูกฉันทลักษณ์ตามที่ได้ถูกคุณหลวงเล็กทักท้วงมาดังนี้

                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง    กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     ชายชาญชิงแย่งยื้อ                    คนควง    ไปนา

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 15:11

เรียนคุณ willyquiz  ที่เคารพยิ่งครับ

   กระทู้นี้อวยประโยชน์แก่ผู้สนใจในด้านร้อยกรองเป็นอย่างยิ่ง ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาอ่านด้วยความปรีดิ์เปรมเอมอิ่มนักหนา พร้อมกัน ก็ขอเรียนเสนอความเห็นบางประการครับ

   ขณะนี้ คุณ willyquiz  กำลังเขียนถึงโคลงประเภทต่างๆ มีโคลงประดิษฐ์ใหม่ชนิดหนึ่งซึ่งตำราร้อยกรองบางเล่มลืมเลือน (อาจโดยไม่เจตนา) นั่นคือ “โคลงห้าพัฒนา” ครับ ผู้ประดิษฐ์ฉันทลักษณ์นี้ขึ้นคือ ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ลีลาทรงพลังไม่น้อยเลย กวีร่วมสมัยท่านหนึ่งที่ยังนำโคลงห้าพัฒนามาใช้ในงานนิพนธ์หลายชิ้น คือ ท่านคมทวน คันธนู นอกจากนำมาใช้แล้ว ยังขนานนามโคลงดังกล่าวว่า “โคลงจิตรลีลา” เพื่อเชิดชูกวีผู้ต้นคิดอีกด้วย ผมจึงขออนุญาตเรียนเสนอต่อคุณ willyquiz ครับ หากกระทู้นี้มีโคลงห้า ขอได้โปรดพิจารณา โคลงห้าพัฒนา หรือโคลงจิตรลีลาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 18:28

เรียนคุณ chupong ที่นับถือยิ่ง

     ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างที่สุดที่คุณ chupong ได้แวะเข้ามาเยี่ยมเยือนกระทู้นี้  ก่อนอื่นผมขอเรียนว่าผมได้ชี้นำให้เยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งดู
คุณ chupong เป็นตัวอย่างของการศึกษาที่ไม่เคยหยุดนิ่งที่คนมีร่างกายปกติสมบูรณ์ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง  คุณ chupong น่าจะเป็นกำลังใจให้เด็กๆ กลุ่ม
นี้ได้อย่างดีที่สุดนะครับ

     ผมขอเรียนคุณ chupong ว่าผมไม่คุ้นเคยกับ "โคลงห้าพัฒนา" หรือ "โคลงจิตรลีลา" นี่เลยครับ ผมรู้จักแต่โคลงโบราณ "จิตรดา" และ "มหาจิตรดา" ซึ่ง
เป็นโคลงสุภาพ เท่านั้น  อันที่จริงผมก็เคยอ่านผลงานของคุณ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่เหมือนกัน ดูเหมือนว่าบนหิ้งหนังสือของผมก็มีผลงานแปลของคุณ จิตร ภูมิศักดิ์
เรื่อง "แม่" กับ "คนขี่เสือ" (เท่าที่นึกออก) อยู่ด้วย  แต่ "โคลงห้าพัฒนา" ผมไม่เคยผ่านตาเลยครับ

     ถ้าหาก คุณ chupong ไม่รังเกียจ ผมขอเชื้อเชิญคุณ chupong นำตัวอย่างหรือผลงาน "โคลงห้าพัฒนา" มาลงไว้ให้ผมและเยาวชนได้ชมด้วยได้ไหมครับ
ผมอยากเห็นผังและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในด้านการประพันธ์ของโคลงชนิดนี้ว่ามีลีลาอย่างไร

     หากคุณ chupong มีข้อแนะนำอย่างหนึ่งอย่างใดขออย่าได้ลังเลที่จะแจ้งให้ผมทราบนะครับ  ผมพร้อมน้อมรับคำแนะนำต่างๆ ด้วยความยินดีครับ

ขอแสดงความนับถือ
   willyquiz

     
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 06 ก.ค. 11, 23:51

สมาชิกใหม่ของกลุ่มเยาวชนได้เข้ามาอ่านกระทู้นี้แล้วไม่เห็นมีกลอนหก  จึงอยากจะขอดูลีลากลอนหกของผมบ้าง  โดยปกติผมไม่ชอบเขียนกลอนหกเลย
เพราะรู้ตนเองดีว่าไม่สันทัด   จึงขาดความชำนาญ   แต่เพื่อตามใจเด็ก  จึงขอแต่งลัดคิวให้ดูก่อนพอให้เห็นเป็นแนวทางเท่านั้น

                      กลอนหก

                  -: สังขารรำพึง :-

     เจียมตน จนจิต คิดหนัก          แอบรัก บานชื่น ฝืนอยู่
แต่เพียง ลอบมอง ย่องดู              หดหู่ โหยหา อาลัย
ระริก ระรี้ ระรื่น                       เขาชื่น ชูชิด พิศมัย
เราอยู่ ผู้เดียว เปลี่ยวใจ               สงสัย สับสน อลเวง
เขาหนุ่ม เขาหล่อ พอหรือ            จึงถือ อารมณ์ ข่มเหง
เราแก่ กุฏฐัง วังเวง                   กลัวเกรง อกยับ อับอาย
แก่แล้ว เลยเจียม เสงี่ยมตน          กระมล พลอยแห้ง แรงหาย
จิตตัว นัวเนีย เสียดาย                ยังหมาย มุ่งหวัง ดังเดิม
คิดแล้ว คิดเล่า เฝ้าคิด                ปลุกจิต จนคึก ฮึกเหิม
มิหวั่น ขันแข่ง แรงเติม                จะเสริม สร้างชื่อ ลือนาม
แก่ตัว หัวใจ ไม่แก่                   ยอมแพ้ แต่ต้น คนหยาม
เขาหนุ่ม เขาหล่อ ก็ตาม              ทาบทาม ท้าสู้ ดูกัน
ใครดี ใครได้ ไว้ชม                  ใครล้ม อย่าข้าม ตามหยัน
ใช่คน พิโรธ โกรธกัน                 แบ่งปัน น้ำใจ ไว้ดี
เป็นมิตร สนิทมั่น กันเถิด             คงเกิด ผลเห็น เป็นศรี
แพ้พ่าย ในเชิง นารี                  ชีวี ใช่พ่าย แพ้เอย   ฯ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 22:44

มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์

ธรรมชาติของโคลงต้องมีการบังคับวรรณยุกต์ครับ โคลงโบราณที่เคยเห็นถ้าไม่เคร่งครัดก็จะไม่เคร่งครัดที่สัมผัส แต่เสียงวรรณยุกต์นั้นยังมีบังคับแน่ มากหรือน้อยแล้วแต่ใครจะเขียนผังบังคับมากน้อยเท่านั้นเอง

โคลงมหาสินธุมาลีก็คือโคลงสี่สุภาพที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง มีผู้ตั้งสมมติฐานว่าโคลงมาจากรูปแบบกาพย์ชนิดหนึ่งของอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีการกำกับวรรณยุกต์ เพราะภาษาบ้านเขาไม่มีวรรณยุกต์ เมื่อเขียนโคลงมหาสินธุมาลีเป็นภาษีบาลีจะเรียกว่าโคลงก็ไม่ไดแล้ว จึงมีผู้เลี่ยงไปเรียกว่า "กาพย์มหาสินธุมาลี" ครับ

โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าโคลงมีที่มาจากรูปแบบการประพันธ์ของอินเดียครับ รูปแบบการประพันธ์โคลงแพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนพูดภาษาที่มีวรรณยุกต์ นอกจากไทย-ไตแล้ว ทางจีนก็มีคล้ายๆกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 07 ก.ค. 11, 23:43

มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์

ธรรมชาติของโคลงต้องมีการบังคับวรรณยุกต์ครับ โคลงโบราณที่เคยเห็นถ้าไม่เคร่งครัดก็จะไม่เคร่งครัดที่สัมผัส แต่เสียงวรรณยุกต์นั้นยังมีบังคับแน่ มากหรือน้อยแล้วแต่ใครจะเขียนผังบังคับมากน้อยเท่านั้นเอง

โคลงมหาสินธุมาลีก็คือโคลงสี่สุภาพที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง มีผู้ตั้งสมมติฐานว่าโคลงมาจากรูปแบบกาพย์ชนิดหนึ่งของอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีการกำกับวรรณยุกต์ เพราะภาษาบ้านเขาไม่มีวรรณยุกต์ เมื่อเขียนโคลงมหาสินธุมาลีเป็นภาษีบาลีจะเรียกว่าโคลงก็ไม่ไดแล้ว จึงมีผู้เลี่ยงไปเรียกว่า "กาพย์มหาสินธุมาลี" ครับ

โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าโคลงมีที่มาจากรูปแบบการประพันธ์ของอินเดียครับ รูปแบบการประพันธ์โคลงแพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนพูดภาษาที่มีวรรณยุกต์ นอกจากไทย-ไตแล้ว ทางจีนก็มีคล้ายๆกันครับ

เราเชื่อกันว่าโคลงโบราณนั้นดัดแปลงมาจาก "คัมภีร์กาพยสารวิลาสินี"  ไทยเรานำมาดัดแปลงใช้ทั้งหมด ๘ ชนิด คือ

๑. โคลงสินธุมาลี                    ๒. โคลงมหาสินธุมาลี
๓. โคลงนันททายี                   ๔. โคลงมหานันททายี
๕. โคลงจิตรดา                      ๖. โคลงมหาจิตรดา
๗. โคลงวิชชุมาลี                    ๘. โคลงมหาวิชชุมาลี

เนื่องจากผมไม่มีหนังสืออ้างอิงอีกแล้ว เหลือแต่เพียงความทรงจำกับข้อมูลย่อๆ ที่จดบันทึกไว้ในสมุดส่วนตัว  จึงไม่สามารถอธิบายความพิสดารได้
แต่จำได้ว่าต้นฉบับภาษาบาลีจะเรียกว่ากาพย์  เมื่อมาเขียนเป็นภาษาไทยจะเรียกว่าโคลง  ซึ่งจะต่างจากโคลงทั่วไปที่มีการบังคับวรรณยุกต์   เมื่อ
ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์ จึงเรียกกันว่าโคลงโบราณ เพื่อให้เห็นความแตกต่างกับโคลงทั่วไปครับ  เนื่องจากโคลงโบราณเป็นโคลงที่แต่งได้ง่ายๆ จึง
ขาดความนิยมและค่อยๆ เสื่อมสูญหายไป
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 10:26

เนื่องจากโคลงโบราณเป็นโคลงที่แต่งได้ง่ายๆ จึงขาดความนิยมและค่อยๆ เสื่อมสูญหายไป

มันผิดธรรมชาตินะครับ
1. ถ้าแต่งง่าย ทำไมถึงขาดความนิยมและเสื่อมสูญไป มีแต่ว่าเพราะมันไม่ไพเราะหรือแต่งยากเกินไป ถึงน่าจะขาดความนิยมและเสื่อมสูญไปได้
2. หากโคลงโบราณเคยมีคนแต่งแล้วเสื่อมสูญไปในภายหลัง ทำไมไม่มี "โคลงโบราณ" ของเก่าเหลือมาให้เห็นบ้างเลย มีแต่ในตำรา(ที่เขียนในยุคไหน?) กับที่แต่เป็นภาษาบาลี (ซึ่งไม่ใช่ของเก่าแก่มาก)

โคลงที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้น่าจะเป็นโองการแช่งน้ำ หรือไม่ก็ท้าวฮุ่ง ซึ่งก็มีการบังคับวรรณยุกต์ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 12:25

     ผมขอเรียนคุณ Crazy HOrse ว่า เรากำลังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันนะครับ  คำว่า "โคลงโบราณ" มิได้หมายถึงโคลงที่มีอายุเก่าแก่ยืนนาน
นับหลายร้อยปีดังนั้น   แต่ที่เรียกว่า "โคลงโบราณ" เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นโคลงที่ถูกดัดแปลงมาจากกาพย์ต้นฉบับภาษาบาลี  เมื่อนำมาใช้จึง
ไม่มีการบังคับใช้วรรณยุกต์  จึงเรียกกันว่าโคลงโบราณ   ผมจำไม่ได้แล้วว่าต้นฉบับเดิมมีกาพย์อยู่กี่ชนิด  แต่รู้แน่ว่าเรานำมาใช้ ๘ ชนิด เพราะ
ผมโน๊ตไว้ในบันทึกส่วนตัวน่ะครับ  เพราะฉะนั้น "โคลงโบราณ" จึงเป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกโคลงชนิดหนึ่งเท่านั้น  ไม่ได้หมายถึง "โคลงเก่าแก่โบราณ"
ตามที่คุณ Crazy HOrse เข้าใจอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด
     เราทราบกันดีว่าตั้งแต่โบราณกาลมา  การประพันธ์ต่างๆ เป็นเรื่องของบุคคลชั้นสูงเท่านั้น  ชาวบ้านธรรมดาตามท้องไร่ท้องนาเห็นเป็นเรื่องสูง
เกินเอื้อม  ยกเว้นก็เพียงแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับในรั้วในวังเท่านั้น  ผมไม่เคยได้อ่านบทประพันธ์ยุคเก่าชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะชนิดไหน อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ
เลยสักครั้ง  คำที่ควรจะใช้เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ท่านก็เปลี่ยนไปใช้ศัพท์ที่ยากๆ เสียอย่างนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่โคลงโบราณจะค่อยๆ สูญหายไป
อันเนื่องมาจากการที่แต่งได้ง่ายจนเกินไปนั่นเอง  แต่งกลอนสุภาพยังยากกว่าเสียอีก   แม้แต่ในยุคปัจจุบันก็เถอะ ดูได้เลยว่ากวีชั้นนำของบ้านเราใช้ภาษา
และกฎเกณฑ์แบบปกติหรือไม่  ถ้าไม่เป็นภาษาที่ใช้ ก็ต้องเป็นรูปแบบอะไรสักอย่างที่แตกต่างออกไป
     ผมว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นะครับที่มักจะแสวงหาอะไรที่ท้าทายกว่าอยู่เสมอ  อะไรที่ง่ายเกินไปเราก็ไม่ค่อยชอบเหมือนกัน 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.102 วินาที กับ 20 คำสั่ง