เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
อ่าน: 59727 โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 26 ก.ค. 11, 13:39

การเลือกใช้คำ  ผมมีประสบการรณ์จากการไปแต่งกลอนสด

หลายที่ที่ไปแข่งขันแต่งกลอนสด  มักให้เริ่มแต่งกระทู้กลอนอาศิรวาท
สุดแต่ละว่าจะตั้งหัวเรื่องว่าอะไร  โดยมากเกี่ยวกับเจ้านาย
ซึ่งทุกทีมจะเก็งกระทู้เหล่านี้มาแล้ว  บางทีมอาจจะเอากลอนที่เคยฝึกแต่ง
มาใส่ในกลอนที่แต่งสด  (บอกแล้วว่าไม่สดหรอก) ปรับคำนิดหน่อย
ก็ใช้ได้  กลอนอย่างนี้  คนแต่งมักใช้คำสูงคำยากๆ
เพราะคิดว่าจะทำให้ได้คะแนนมาก   หรือหวังว่ากลอนจะไพเราะ
กว่าของคนอื่น   บางทีก็ใช้คำยากเต็มทุกวรรค  ถ้าอ่านให้ฟัง
บางทีก็คิดตามไม่ทันว่า  เขาแต่งว่าอะไร  เพราะคำยากเยอะเกินไป
แปลไม่ออกทันทีที่ได้ยิน   ยิ่งถ้าคนไม่รู้จักศัพท์เลยจะงงมาก


ผมได้ครูดีช่วยแนะนำให้ว่า  ถ้าจำเป็นต้องใช้คำยาก
ให้เลือกใช้คำที่ไม่ยากมาก   คนฟังแล้วพอแปลออก
และให้วรรคละคำ  อย่าใส่เสียเต็มวรรค  และควรจะเกลี่ยให้ทุกวรรค
ของกลอนที่แต่งมีคำยากในระดับเดียวกันเหมือนกันทุกวรรค
อย่าพยายามใช้คำที่ไม่ค่อยมีคนใช้หรือคำบางคำที่มีความหมาย
บางความหมายที่คนสมัยนี้ไม่ใช้แล้ว  หรือบางคนเท่านั้นที่ใช้
เอามาใช้  เพราะจะทำให้กลอนมีตำหนิ  คือ  คนแต่งรู้
แต่คนอ่านไม่รู้กับคนแต่งด้วย 

กลอนอะไรที่เปิดพจนานุกรมแต่ง เอาศัพท์ยากๆ มาใส่พราวไปหมด
อาจจะไพเราะ  แต่คนอ่านจะหน่ายว่า  อ่านไปแล้วไม่เข้าใจ
ผมอยากจะยกตัวอย่างจากงานของ น.ม.ส. หลายเรื่อง
เช่น กนกนคร และ พระนลคำฉันท์ 
งานของน.ม.ส.ที่กล่าวมาแล้วนี้  มีตำหนิอยู่ที่ทรงเปิดดิกชันนารี
สันสกฤตแล้วเลือกใช้คำในดิกฯนั้นมาแต่ง   คำเหล่านั้นไม่มีใช้ในภาษาไทย   
ทำให้ต้องทรงทำคำอธิบายศัพท์ไว้ท้ายเรื่อง
บางทีก็ใช้คำไทยโบราณซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้ในความหมายเดิมแล้ว
แต่ก็ทรงเลือกเอาความหมายเดิมมาใช้  คนอ่านถ้ารู้ไม่ถึงก็เข้าใจพลาดได้
บางทีก็ทรงเอาความหมายบางความหมายของคำบางคำซึ่งปกติคนไม่ใช้กันมาใช้
ก็ทำให้เข้าใจยากเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
อกนิษฐ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 11 ส.ค. 11, 10:52

ขออนุญาตร่วมวงเหล้า(เล่า)ความหลังมั่งครับ  ยิงฟันยิ้ม

จากที่ผมชอบแต่งโคลงตอนม.3 พอขึ้นม.4 อ.ประจำชมรมวรรณศิลป์จึงมาคว้าตัวผมไปเป็นตัวแทนโรงเรียน ทั้งที่ผมไม่เคยย่างกรายไปชมรมของท่านเลย แต่เพื่อนในชมรมรู้จักผมดีว่าฝีมือเหนือกว่าพวกเขา อาจารย์ล็อคตัวผมไปเลย สภาพตอนนั้นน่าขำมาก ผมนั่งเรียนคณิตศาสตร์อยู่ดี ๆ อ.เดินมาพร้อมนักเรียนตัวโต ๆ อีก 2 คน ขออนุญาตอ.ที่สอนอยู่พาผมไปพบ ผอ.โรงเรียน ผอ.พยักหน้าหงึก ๆ ผมมีเวลาเตรียมตัว 3 วันก่อนถูกจับยัดใส่รถตู้ไปแข่งโคลงสดที่กรุงเทพฯ พร้อมเพื่อนอีก2คนนั้น ทีมโรงเรียนต่างจังหวัดไร้อันดับอย่างโรงเรียนผมเขี่ยทีมจากโรงเรียนดัง ๆ ร่วงระนาว ทะลุเข้ารอบชิงชนะเลิศที่หอสมุดแห่งชาติ อ.มนตรี ตราโมช เป็นประธานกรรมการตัดสิน แข่งเสร็จไม่ได้ชนะเลิศหรอกครับ แต่ตอนมอบรางวัล อ.มนตรี ยกโคลงที่ผมแต่งมาวิจารณ์ แทนที่จะเป็นโคลงที่ชนะเลิศ ท่านบอกว่าโคลงผมควรชนะเลิศแต่ต้องตัดตกไปเพราะผิดไปหนึ่งคำ เป็นคำยากที่แม้แต่กรรมการท่านอื่นยังไม่แน่ใจ ต้องเรียนถามอ.มนตรีเพื่อตัดสินใจ อาจารย์ท่านบอกใช้คำผิด ถูกตัดคะแนนบานเลย และอาจารย์เกลาให้สดๆ เปลี่ยนแค่อักษรนำตัวเดียวเท่านั้นก็อาจจะชนะเลิศได้... ตอนนั้นร้องไห้เลย ไม่รู้ว่าดีใจหรือเสียใจ แต่ฝังใจจนบัดนี้ครับ

บทเรียนที่ได้รับคือ 1. การแต่งสด จริง ๆ แล้วก็ไม่สดหรอก เพราะผมงัดกระทู้ที่ผมเคยฝึกไว้ก่อนหน้านั้นมาดัดแปลงนิดหน่อย สามวันผมแต่งไว้เกิอยร้อยกระทู้ โดยมีอ.ตรวจทานและให้คำแนะนำ แข่งจริงเจอกระทู้ซ้ำกับที่แต่งไว้เกือบร้อยละ 70 ส่วนบทเรียนที่ 2. คือไม่ควรใช้คำยาก เพราะคำยากมีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับริบทนั้น หากไม่ระวัง คนอ่านอาจตีความผิด เผลอ ๆ ความที่มันเป็นคำยาก เราอาจใช้มันในความหมายที่ผิด ๆ เสียเอง ถึงกับทำให้บทกลอนเสียหายได้เลย

จึงเห็นด้วยกับคุณลุงหลวงเล็กว่าควรพิถีพิถันในการเลือกใช้คำ และหลีกเลี่ยงการใช้คำยากครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 16 ส.ค. 11, 20:41

สวัสดีครับคุณอกนิษฐ์

     ผมหวนนึกไปถึงโคลงบทหนึ่งที่ว่า

     นาคีมีพิษเพี้ยง        สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช             แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส          แมงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า             อวดอ้างฤทธี ฯ

     ผมก็คือแมงป่องตัวนั้นนั่นเอง    ส่วนนาคีทั้งหลายท่านก็ซุ่มตัวเองคอยมองแมงป่องอย่างผมชูหางอวดอ้างฤทธี  แล้วก็คงหัวเราะอยู่ในใจ

     ผมเปิดกระทู้นี้ขึ้นตามคำขอร้องของเยาวชนกลุ่มหนึ่งเพื่อขอความรู้เรื่อง “กลบท” จากท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย  เนื่องเพราะรู้ถึงความสามารถอันมี
อยู่อย่างจำกัดของตนเอง   แต่ไม่มีท่านใดมาร่วมแต่งให้เยาวชนดูเป็นตัวอย่างบ้างเลย  ผมก็ต้องเขียนเอง แต่งเองไปเรื่อยๆ   แต่เมื่อแต่งไปเพียงแค่สิบ
กว่ากลบทเท่านั้นเด็กก็รับไม่ไหวเสียแล้ว   เพียงแค่ “กลบทกบเต้นต่อยหอย” เพียงชนิดเดียวจนป่านนี้ยังไม่มีเด็กคนไหนเขียนแต่งได้ถูกต้องสักที   เด็ก
จึงขอเปลี่ยนเป็นอะไรที่ง่ายกว่า   นั่นจึงเป็นที่มาของการสอน รูปแบบของโคลงชนิดต่างๆ เบื้องต้น   จริงอยู่ที่ผมอาจจะแต่งร้อยกรองชนิดไหนก็ได้เท่าที่
ผมรู้จัก   แต่ถ้าถึงกับเป็นการสอนแล้ว   ดูเหมือนว่าผมกำลังประจานตัวเองอยู่ต่อหน้าสาธารณะชนไปเสียแล้ว   

     การด้นกลอนสดอย่างที่คุณหลวงเล็กและคุณอกนิษฐ์กล่าวไว้นั้นเป็นอะไรที่ผมไม่เคยทำได้เลย   ผมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีสมุดและดินสอเท่านั้น   แต่ถึง
อย่างนั้นก็ตามในยามที่มีใครมาอยู่ใกล้ๆ ผมขณะที่กำลังเขียนร้อยกรอง  ผมก็เขียนแต่งไม่ออกเช่นเดียวกัน  ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร   อาจจะเป็นเพราะ
สมาธิยังไม่นิ่งพอ      ถ้าเทียบกับคุณหลวงเล็กและคุณอกนิษฐ์แล้ว  ผมก็เป็นแค่ฝุ่นธุลีนั่นเอง

     ภายหลังจากที่ผมได้อ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็ก,  คุณ chupong  และคุณอกนิษฐ์ แล้ว  ผมก็ชักรู้ตัวของผมเองแล้วว่าผมมีความสามารถน้อยขนาด
ไหนแต่ยังกล้าบังอาจมาเขียนร้อยกรองสอนเยาวชนอย่างไม่เจียมตนเสียอีก  นึกแล้วก็ขันตนเอง  ขยายขี้เท่อไปเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ซี

     ยังโชคดีอยู่บ้างที่ระยะหลังนี้ผมเข้าหน้าเว็บเรือนไทยไม่ค่อยจะได้เอาเสียเลย  ประกอบกับปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผมต้องห่างๆ ไป  รวมทั้งจ้องมองจอ
คอมพิวเตอร์นานๆ ไม่ได้ จึงไม่ได้เขียนแต่งอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา  มิฉะนั้นอาจจะมีข้อผิดพลาดให้เห็นอีกก็เป็นได้   แต่ก็เป็นโชคดีของเยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้
ด้วยเช่นกันที่ยังมีคุณหลวงเล็ก คุณอกนิษฐ์ คอยแก้ไข  ชี้แจง  เพิ่มเติมสิ่งที่ผมพลาดไป

     การเขียนร้อยกรอง หรือบทกวี หรืออะไรก็ตามที  นอกจากมีพรแสวงแล้วยังต้องมีพรสวรรค์ประกอบด้วย  ผมนั้นมีแต่พรแสวงแต่ขาดพรสวรรค์  เมื่อผม
เปิดกระทู้ใหม่ๆ นั้นคุณ D D ได้กรุณานำกลบทของครู มนตรี ตราโมท กับ โคลงกลบทช้างประสานงา มาลงไว้ให้ชม   จนบัดนี้ผมยังไม่สามารถแต่งตาม
ครูมนตรีได้เลย  ยากมากๆ  เป็นความสุดยอดในความสามารถเฉพาะตัวของท่านจริงๆ    ส่วนโคลงกลบทช้างประสานงาถึงแม้จะแต่งได้  แต่อ่านแล้วเอาดี
ไม่ได้เช่นกัน    ผมจึงไม่เคยเร่งรัดต่อว่าพวกเด็กๆ ว่าทำไมเขียนร้อยกรองให้ดีไม่ได้สักทีเพราะเข้าใจธรรมชาติในเรื่องนี้   ถ้าคุณอกนิษฐ์มีเคล็ดลับอะไรดีๆ
ที่คิดว่าพอจะช่วยส่งเสริมเด็กๆ ได้บ้าง  ผมขอเรียนเชิญบอกให้เด็กได้ทราบบ้างนะครับ  เด็กเหมือนไม้อ่อนที่ยังดัดได้ง่าย   ถ้าได้เริ่มต้นอย่างถูกต้องและมี
ความเข้าใจแล้ว  เราอาจจะมีกวีประดับแผ่นดินเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้   ผมยังนึกเสียใจที่ได้มาอ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็กช้าไปสี่สิบปีเลย  จนยากจะแก้ไข
สำนวนเดิมๆ ที่คุ้นเคยได้เสียแล้ว   และเกรงว่าเด็กๆ จะลอกเลียนการเขียนแบบเอาความง่าย ความเร็วเข้าว่าอย่างผมจนลืมความละเอียดอ่อนไป

     แต่มีอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงก็คือ  บังเอิญผมได้เห็นเด็กบางคนคัดข้อความสำคัญออกมาจากสิ่งที่ได้อ่าน  เช่นข้อเขียนของคุณหลวงเล็ก
และของผม  รวมทั้งจากหนังสืออื่นๆ แล้วบันทึกลงในสมุดอย่างที่ผมเคยทำในอดีต  แต่ไม่บันทึกแหล่งที่มาของข้อความเช่นกัน  เมื่อผมเริ่มเขียนกระทู้ผมจึง
ได้เห็นจุดอ่อนในข้อนี้เพราะไม่สามารถอ้างอิงถึงแหล่งที่มาจึงไม่สามารถติดตามรายละเอียดได้  ผมจึงบอกให้เด็กแก้ไขในส่วนนี้เสีย   เพราะต่อจากนี้ไปก็จะ
เป็นโลกของ E-Book แล้ว  หากมีข้อมูลของต้นแหล่งก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวของเด็กเองในอนาคตในการค้นคว้าหารายละเอียด  ส่วนนี้เรียกว่าผลพลอยได้
ของเด็กแท้ๆ

     หากคุณอกนิษฐ์มีสิ่งใดที่พอจะแนะนำได้  โปรดเจียดเวลามาเขียนเล่าสู่ให้อ่านกันบ้างนะครับ
บันทึกการเข้า
อกนิษฐ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 18 ส.ค. 11, 11:35

สวัสดีครับคุณน้าวิลลี่ และทุก ๆ ท่าน

ตัวผมเองยังอ่อนอาวุโสอยู่มาก ฝีมือยังอยู่ในขั้นฝึกหัดเสมอมา ไม่กล้ารับคำชมของคุณน้าหรอกครับ ความรู้ที่มีอยู่ก็ได้แต่จำขี้ปากของคนอื่นมาเล่าต่อ ที่นำมาลงประกอบการเสวนาก็ขายขี้เท่อผมเสียมากกว่าครับ อย่านำมาเปรียบเทียบอะไรเลยครับ ร้อยกรองของน้าวิลลี่ถือว่าอยู่ในชั้นครูมีครบทุกอย่างที่ร้อยกรองควรมีแล้วครับ

ผมเชื่อทั้งพรแสวงและพรสวรรค์ครับ คนมีพรสวรรค์จะดีในช่วงเริ่มต้น ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว คนมีพรแสวงอาจเหนื่อยกว่าในการตั้งตัว แต่พอถึงขั้นทำเป็นแล้ว ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย แถมคนมีพรแสวงจะได้เปรียบเรื่องมีบทเรียนที่มากกว่าด้วยซ้ำ

การเขียนร้อยกรองนั้น ผมเห็นด้วยว่าสมาธิต้องดีครับ ถึงจะไหลออกมาได้ หากไม่มีสมาธิ คำเดียวก็เขียนไม่ออกครับ เพียงแต่ผมชอบคิดชอบคิดโคลงในสมองเมื่อมีเวลาว่างจากอื่น ๆ คิดได้สักบท วาดไว้ในอากาศแล้วก็มีความสุข ไม่ค่อยร่างในกระดาษเท่าไหร่ เพราะร่างลงกระดาษทีไร ก็ต้องแก้ไปแก้มาให้วุ่นวาย เลยคิดจนเสร็จแล้วค่อยจดลงในกระดาษครับ

บางคราวขณะขับรถไป รถติด มองเห็นฝนตกลงกระจกหน้ารถ ก็วาดโคลงในอากาศ ฆ่าเวลาเล่น ๆ

        เปาะแปะเปาะแปะหน้า           กระจกรถ  ฝนเอย
        ชวนปะติดปะต่อโคลงสด        เสนาะน้ำ

จากนั้นก็ลืมไปครับว่าจะแต่งอะไรต่อ รถติดนาน ๆ เข้าเริ่มเป็นเรื่อง ใจร้อนรนครับ กลัวไปถึงที่หมายไม่ทันเวลา ผบ.ทบ.(ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน) ต้องหน้าบึ้งแน่ ๆ คิดว่าเราแวะไปเจ๊าะแจ๊ะสาวที่ไหนแน่ ๆ หาคำแก้ตัว จะตอบว่า "ติดฝน" แม่ก็ต้องว่า อีฝนไหน? ไปนั่นแน่ ๆ ว้า ๆ คิดไปคิดมาก็เลยต้องรีบชิงเป็นฝ่ายรุกเสียก่อน โทรไปบอกว่าฝนตกมากรถติดหนึบ แม่หัวเราะว่ารู้แล้วเขาออกข่าวทีวีด้วย พอรู้ดังนั้นก็เย็นใจเหมือนฝนโบกขรพัตรตกมาต้องกาย โคลงที่เหลือก็ไหลมา

        รถติดจิตเริ่มสลด                ผิดนัด   แม่ฮา
        ฝนหนัก, รีบโทรย้ำ              พี่นี้ติดฝน ฯ

แล้วก็ครื้มอกครื้มใจ คิดได้อย่างไรนะเนี่ยเรา บาทสุดท้ายใช้ลักษณะ "กลบทครอบจักรวาล" เริ่มและจบด้วยคำเดียวกันคือ "ฝน" แถมฝนมีหลายความหมายให้ตีความเล่น เข้าลักษณะการเล่นคำสลับความหมาย ใช้คำง่าย ๆ ท่องกลับไปกลับมาสองสามรอบจำได้ มองน้ำฝนแล้วก็มีความสุข

        เปาะแปะเปาะแปะหน้า          กระจกรถ  ฝนเอย
        ชวนปะติดปะต่อโคลงสด        เสนาะน้ำ
        รถติดจิตเริ่มสลด               ผิดนัด   แม่ฮา
        ฝนหนัก, รีบโทรย้ำ             พี่นี้ติดฝน ฯ

ผมคิดว่าหากจะฝึกเด็กแต่งโคลง คงต้องเขียนอะไรง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัว เขียนเรื่องธรรมดาเสียก่อน เด็กรู้สึกสนุก จะฝึกเขียนให้ดีขึ้น และอยากเขียนกลบทอยากเขียนอะไรที่ยาก ๆ ขึ้นเองครับ

ผมเคยเขียนโคลงแบบ (โครงที่เน้นรูปเอก ๗ โท ๔ ครบ) เล่นกับเพื่อน ๆ มีคนแต่งตามบ้าง แต่สักพักก็มีหลายคนไปหากลบทมาเล่น หาโคลงดั้นมาเล่น เพื่อแสดงความสามารถ ก็นับว่าเป็นตัวจุดชนวนได้ดีทีเดียว ...

        ๏ โคลงแบบคือบ่เน้น            ในความ
        คงแต่รูปตรงตาม                 แต่งจ้า
        เจ็ดเอกสี่โทงาม                  งอนดั่ง    แบบนา
        คำส่งสัมผัสห้า                    แห่งต้องตำรา ๚

        ๏ โคลงความคือท่านเน้น        ในความ
        สารสื่อชัดเจนตาม               แต่งไว้
        โคลงคงค่างดงาม               งามแง่   ความนา
        สารส่งภาษาไซร้                บ่สู้ฉวัดเฉวียน ๚

        ๏ โคลงเสียงคือส่งเน้น          ในเสียง
        เสนาะสื่อสรรสำเนียง            หนุ่มเหน้า
        คำคลาคล่ำความเคียง           ขวักไขว่  นาพ่อ
        เสียงส่งหวานสุขเศร้า            ซ่านซึ้งหทัยหวาม ๚

        ๏ โคลงเคลงคือเล่นเน้น          สนุกสนาน สนองพ่อ
        ละเลงเล่นจนแหลกราญ          เรื่อยเจื้อย
        ยกมาสี่บทหาญ                  สนองห่าม
        โคลงสี่บาทสลึงเลื้อย             ลั่นฆ้องฉลองชัย ชะโย โห่ฮิ้ว เป๊กพ่อ แฮ่ ๆ ๚

        อกนิษฐ์, ๒๒ พ.ย.๔๖


ยกมาขายขี้เท่อครับ เป็นการเขียนสนุก ๆ ไร้สาระหน่อยก็ขออภัยครับ

บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 18 ส.ค. 11, 14:12

     น่าทึ่งมากครับคุณอกนิษฐ์  ทั้งเรื่องที่เล่าและโคลงที่นำมาประกอบ  นี่ละครับคือความคล้ายคลึงและแตกต่าง   ความคล้ายคลึงคือการคิดร้อยกรองได้ตลอดเวลา 
ความแตกต่างคือผมต้องจดบันทึกเดี๋ยวนั้นทันที   มิฉะนั้นได้หลังจะลืมหน้าและจะพาลืมไปถึงหลังด้วย   แค่ลุกจากที่ๆ ผมนั่งเขียนอยู่ผมก็ลืมแล้วครับถ้าไม่เขียนบันทึก
เอาไว้ก่อน   วาดไว้ในสมองโดยไม่ลืมอย่างคุณอกนิษฐ์ผมทำไม่ได้ครับ  ผมจึงด้นกลอนสดไม่ได้   ข้อนี้ผมเทียบคุณอกนิษฐ์กับคุณหลวงเล็กไม่ได้เลยครับผม

     ผมถูกคุณครูจัดผมไว้เป็นพวก “นอกคอก” คือมักจะคิดอะไรไม่เหมือนนักเรียนคนอื่นๆ เสมอ  อย่างเช่น  คุณครูบอกว่าปัจจุบันไม่นิยมการใช้ “เอกโทษ-โทโทษ”
กันแล้ว   แต่ความคิดของผมในขณะนั้นคือ  นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการประพันธ์โคลง  เอกโทษ-โทโทษ น่ารักจะตาย ทำไมจึงไม่นิยมกัน   เมื่อคิดดังนั้นผมก็เริ่มแต่ง
ร่ายและโคลงสุภาพ (โคลง ๒-๓ และ ๔ สุภาพ) มากมายหลายบท  ใช้เวลาเป็นเดือนๆ โดยใช้วรรณยุกต์ เอกโทษ-โทโทษ ล้วนๆ ตรงจุดที่บังคับ  ทั้งๆ ที่ยากแสนยาก
เพราะมันผิดธรรมชาติ    แต่ผมก็เพียรแต่งจนสำเร็จ   นี่เป็นสันดานของผมตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ

     เมื่อผมอยู่ ม. ๑ ผมได้แต่ง “นิราศถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” หลังจากขึ้นต้นบทด้วยการไหว้ครูเสร็จ  ผมก็เริ่มตั้งแต่สถานีหัวลำโพงไปจนถึงสถานีปลายทางคือสถานีหนองโดน
(จ. สระบุรี) และกล่าวเลยไปถึงสถานีป่าหวายและลพบุรีเล็กน้อย   แต่นิราศของผมเป็นแต่เรื่องเสียดสีทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นสถานีไหนผมก็เอามาเขียนเป็นด้านเสียดสีไปหมด 
อย่างเช่นสถานีบางเขนเพราะคนบางเขนใช้ดาบไม่เป็น  สถานีหลักสี่เพราะนับเลขไม่เป็นนับได้แค่สี่  สถานีชุมทางบ้านภาชีแต่ไม่เห็นมีม้าคงจะอดอยากจนจับม้าไปกินหมด 
สถานีบ้านหมอคงจะมีแต่คนป่วยกันยกหมู่บ้าน ฯลฯ  กล่าวง่ายๆ ก็คืออะไรที่เขาไม่ทำกัน  เด็กอย่างผมกลับทำไปเสียหมด  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยขาดในการแต่งเรื่องยาวก็คือ
การเล่นคำหรือการใช้กลบทมาประกอบบทร้อยกรองแทรกไว้เป็นระยะเสมอ (แต่ยอมรับว่าไม่ค่อยสันทัดในเรื่องโคลงสักเท่าใด)

     พอได้อ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็กแล้วผมจึงรู้ว่าเป็นความเขลาในวัยเด็กของผมแท้ๆ หลงผิดคิดไปว่าถ้าได้แต่งอะไรที่ยากๆ แล้วจะเด่นเหนือกว่าคนอื่น  จะเพราะกว่าคนอื่น   
ตอนนี้ผมสำนึกตัวแล้วครับ  ผมจึงว่าผมเป็นเพียงแค่ “แมงป่อง” เท่านั้นเอง

     ส่วนที่ผมบอกว่าผมมีแต่พรแสวงไม่มีพรสวรรค์นั้นเพราะ เมื่ออยู่ชั้น ป. ๖-๗ ผมก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ โดยทั่วไปคือพอจะแต่งกลอนสุภาพได้บ้างเล็กน้อย  แต่กลับไปเขียนส่งให้
เพื่อนทางจดหมายสองสามบท  แต่แล้วเธอกลับเขียนตอบเป็นกลอนสุภาพทั้งฉบับเลย   ตั้งแต่นั้นผมบ้าไปเลย (เพราะไม่อยากยอมแพ้เด็กผู้หญิงต่างจังหวัด) ผมเอาแต่อ่านๆๆ
พระอภัยมณี-นิราศต่างๆ ของสุนทรภู่  เรื่อยไปจนถึงวรรณคดีเรื่องอื่นๆ อีก เพื่อหาวิธีการแต่งร้อยกรองอื่นๆ เอามาอวดเธอเท่านั้น   แต่พื้นฐานด้านนี้ผมไม่มีเลย  ดูได้จากหลังจาก
ที่ผมละทิ้งเรื่องร้อยกรองไป  ผมก็ชักสมองตันยามเมื่อต้องการแต่งใหม่   คนมีพรสวรรค์คงไม่เป็นอย่างนี้

     จากโคลงของคุณอกนิษฐ์ที่ยกมาลงไว้และปีที่ระบุการแต่ง  แสดงถึงความเฉียบคมของคุณอกนิษฐ์ที่มีมานานแล้ว  น่าเสียดายนะครับถ้าจะเก็บเอาไว้อ่านเพียงลำพังตน  ผมขอ
อนุญาตเสนอว่าถ้ายังมีอีกน่าจะนำมาลงไว้เผื่อแผ่แก่บุคคลอื่นที่ได้เข้ามาอ่านในกระทู้นี้บ้างนะครับ   คิดเสียว่ามาร่วมสนุกด้วยกันก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 19 ส.ค. 11, 10:29

พรสวรรค์เราไม่มีแต่กำเนิด            ความชำนาญล้วนแต่เกิดจากฝึกฝน
หมั่นเรียนรู้ดูตัวอย่างของบางคน     และต้องค้นต้องอ่านอย่าคร้านคลาย
พื้นฐานนั้นต้องจดจำย้ำบ่อยบ่อย     แล้วค่อยค่อยพัฒนาให้หลากหลาย
แต่งร้อยกรองก็จะเป็นเรื่องง่ายดาย   อย่ามัวหมายพรสวรรค์ มันไม่มี
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 19 ส.ค. 11, 10:58

^    ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
อกนิษฐ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 12 ก.ย. 11, 18:34

 ยิงฟันยิ้ม ชอบกลอน คำของพี่ ของท่านประยอม ซองทอง ที่คุณเทาชมพูเอามาลงครับ



ระหว่างรอ เอาโคลงที่เขียนไว้นานแล้วมาลงครับ


โคลงกระทู้โบราณ

๏ ทะ..เลจักจัดตั้ง...............เมืองลอย
ลุ่ม..ฤ ดอนหอคอย.............เสียดฟ้า
ปุ่ม..กลสั่งงานประดอย.........ประดิษฐ์วิทย์..เจริญเฮย
ปู..สะพานหินระย้า..............ยื่นคว้าดาวไฉน ๚

๏ ทุ..รชนจักขจัดสิ้น............จากภพ
มุ..ทิตาน้อมนบ.................คติตั้ง
สุ..ธีปราชญ์ครันครบ............นครเฟื่อง..ฟูฮา
ดุ..ริยะครึกครื้นทั้ง...............ค่ำเช้าสนุกสนาน ๚

๏ อุ..ดมสิทธิพร้อม..............เสรี
สา..ธุชนภักดี....................ช่วยค้ำ
นา..ครรุ่งเรืองศรี.................ศิลป์ศาสตร์
รี..รี่รสธรรมล้ำ...................เลิศเลี้ยงใจเมือง ๚

๏ โก..ลาหลห่อนรู้................รานชน
วา..จกสอนศาสน์กมล............ผ่องแผ้ว
ปา..ลีรุ่งเรืองผล..................จิตผ่อง
เปิด..ส่องใจเมืองแก้ว............เกริกฟ้าเกินสวรรค์ ๚

๏ จก..กายเป็นเขื่อนกั้น..........อุปสรรค
จี้..จิตวิริยะจัก....................ขจัดคร้าน
รี้..พลพหลพรรค.................เพียงอัช..ฌาแฮ
ไร..รี่ตริรอบด้าน.................ดับร้ายสลายหลง ๚ะ๛

อกนิษฐ์ - 31 ต.ค. 45
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง