เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 59726 โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 14:52

ที่คุณwillyquiz กล่าวมานั้น ถูกเพียงส่วนเดียว
คัมภีร์กาพย์วิสารวิลาสินีและคัมภีร์กาพย์คันถะซึ่งนับถือกันมาแต่โบร่ำโบราณว่า
เป็นต้นกำเนิดของโคลงนั้น  แท้จริงเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในเมืองไทยนี่เอง
ในดินแดนที่เป็นอาณาจักรล้านนา   เข้าใจว่าพระภิกษุเป็นผู้แต่งคัมถีร์ดังกล่าว
โดยอาศัยแบบอย่างจากคัมภีร์ภาษาบาลีอื่นๆ เป็นต้นแบบ

อันที่จริงคัมภีร์กาพย์ทั้ง ๒ คัมภีร์  ก็ไม่ได้มีฉันทลักษณ์โคลงเท่านั้น
ยังฉันทลักษณ์ที่คล้ายกับร่าย และกาพย์อยู่ด้วย

โคลงโบราณเหล่านั้น  กำหนดแต่รูปโท  ไม่ได้กำหนดรูปเอก
โคลงโบราณเหล่านั้น  นิยมใช้เสียงเป็นเกณฑ์ในการกำหนดคำเอกคำโท
ลักษณะดังกล่าวทำให้โคลงโบราณมีฉันทลักษณ์ที่ยืดหยุ่นและแต่งได้หลากหลายแบบ
แต่ต่อมา  ผู้ที่แต่งโคลงคงค้นพบว่า  โคลงบางแบบไพเราะดีจึงพยายามรักษาเอาไว้
จนกลายเป็นโคลงดั้นและโคลงสุภาพต่อมา  ซึ่งก็มีที่มาจากโคลงโบราณเหล่านั้น

อันที่จริงโคลงเป็นฉันทลักษณ์ดั้งเดิมของคนในดินแดนแถบนี้
เพราะโคลงมีการกำหนดเอกโท  ซึ่งปรากฏเป็นเอกลักษณ์ในภาษาตระกูลไท-ไต
ถ้าพิจารณาจากวรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือและภาคอีสาน
จะเห็นได้ว่าโคลงเริ่มมาจากพื้นเมือง  และเมื่อโคลงแพร่หลายในภาคกลาง
ก็ได้ยกระดับเข้าไปสู่ราชสำนัก   เพราะโคลงนั้นเริ่มมีการแต่งที่ประณีตขึ้น
อันที่จริงโคลงที่ดี  ต้องใช้คำน้อยแต่งแล้วกินความมาก ถึงจะแสดงว่าผู้แต่งมีความสามารถ
โคลงที่แต่งแบบบรรยายความเหมือนความเรียงนั้น  โบราณมักไม่ทำ
เพราะจะเสียลักษณะโคลง   ในราวช่วงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา
การแต่งโคลงจะเป็นแบบบรรยาย  ใช้คำใส่ลงไปตรงๆ ไม่ใช่คำน้อยกินความมากอย่างก่อน
ทำให้โคลงเริ่มด้อยความไพเราะลง  ซึ่งไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างื  เพราะหาได้ทั่วไป

ส่วนว่าชาวบ้านไม่สนใจการแต่งร้อยกรองคงไม่ใช่  ร้อยกรองชาวบ้าน
อย่างกลอนหัวเดียว  แหล่ต่างๆ หรือคำประพันธืพื้นบ้าน นั่นก็เป็นร้อยกรอง
เพียงแต่ชาวบ้านอาจจะไม่นิยมจดเก็บไว้  ขณะที่ราชสำนักจดเก็บไว้ดี
วรรณกรรมชาวบ้านสมัยก่อนใช้หูฟัง  จึงแต่งบรรยายให้เข้าใจง่าย
ได้ฟังแล้วเข้าใจทันที  ในราชสำนักนั้นมีทั้งที่อ่านฟังเอาศิลปะและความงาม
การแต่งร้อยกรองจึงประณีต  อ่านแล้วอาจจะต้องอ่านซ้ำเพื่อเข้าถึงอรรถรสที่ซ่อนไว้

โคลงโบราณนั้น  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้ทรงศึกษาและทรงประดิษฐ์โคลงเยี่ยงโบราณขึ้นมาหลายแบบ
แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม  เพราะฉันทลักษณ์ได้พัฒนามาเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปหาของเก่าได้อีก
โคลงเยี่ยงโบราณจึงไม่เป็นที่ยม   

ร้อยกรองปัจจุบันไม่ว่ากาพย์กลอนโคลงร่าย(ไม่ต้องพูดถึงฉันท์)ที่แต่งยาก
เพราะเราเพิ่มข้อบังคับให้มากขึ้นไปเอง  เพราะเห็นว่า คนนั้นแต่งอย่างนี้เพราะดี
จึงเอาอย่างบ้าง   แต่หารู้ไม่ว่า  ความไพเราะไม่ได้จำกัดเพียงรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างกลอนสุนทรภู่  มีสัมผัสในก็เพราะดี  พอไปอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนบางตอน
ที่เป็นสำนวนของเก่าไม่เน้นสัมผัสในเลย  ก็อ่านเพราะดีเหมือนกัน  แต่คนสมัยต่อมานิยมว่า
กลอนมีสัมผัสในเพราะ  ต้องวางจังหวะในวรรค ๓-๒-๓ หรือ ๓-๓-๓ จึงจะไพเราะดี
แต่หารู้ไม่ว่า  นั่นเท่ากับบังคับให้การแต่งกลอนที่บังคับน้อย เป็นเรื่องยุ่งยาก
จึงมีคนคิดฉันทลักษณ์อื่นๆ ขึ้นใหม่  หรือแม้แต่กลอนเปล่า  เพราะเบื่อฉันทลักษณ์เก่า

พูดมายาว ขอยุติเท่านี้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 15:04

^
พูดมายาว ขอยุติเท่านี้
+++

เขาเรียกว่าจัดให้ชุดใหญ่  ยิ้มเท่ห์


ด้วยการอธิบายของคุณหลวงเล็ก นั้นงดงามและเฉียบคมเสมอ อีกหน่อยจะได้เป็นปราชญ์แห่งสยามแน่นอน  ยิ้มเท่ห์ ควรค่าแห่งกระทู้นี้ยิ่งนักครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 16:09

ผมกำลังจะเข้ามากราบขอบพระคุณ คุณหลวงเล็ก คุณ Siamese แอบเข้ามาทำหน้าที่แทนเสียแล้ว

ผมก็เลยไม่ต้องเสริมอะไรอีก  นอกจากขอย้ำว่า ขอบพระคุณ คุณหลวงเล็ก คุณ Crazy HOrse

และคุณ Siamese มากๆ ครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 16:29



ก่อนจะได้เป็นอะไร  ต้องได้เป็นคุณพระก่อน
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 08 ก.ค. 11, 21:14

ผมต้องขออภัยคุณ chupong เป็นอย่างยิ่งครับ  ผมไม่ทันเห็นข้อความของคุณ chupong ทั้งสองครั้งที่ส่งมาด้านหลังจริงๆ เพิ่งจะเห็นเมื่อสักครู่นี่เอง
ปล่อยผ่านไปเสียหลายวัน

ผมอยากเรียนให้คุณ chupong ทราบว่า กระทู้นี้มีขึ้นได้ก็เพราะความคิดของเยาวชนกลุ่มหนึ่งซึ่งติดต่อกับผมโดยตรงไม่สะดวก  จึงมาอาศัยช่องทางนี้ 
ลำพังผมทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลยครับ  นี่ก็กำลังค่อยๆ เรียนรู้อยู่

ผมไม่กล้ายกตัวว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านร้อยกรองเลยครับ  ตรงกันข้าม ผมคิดว่าผมรู้น้อยมากจึงมาขอความช่วยเหลือจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เว็บนี้  ผมน่ะ
แก่เกินแกงไปแล้วครับ  ยอมรับว่าสมองฝ่อไปเยอะเพราะขาดความต่อเนื่อง   แต่ดูเหมือนว่ามีคนสนใจเรื่องร้อยกรองโดยเฉพาะ "กลบท" น้อยมากๆ ผม
จึงเหมือนฉายเดี่ยวไปเลย  ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ใครมายึดถือร้อยกรองของผมเป็นตัวอย่าง  ผมเพียงแต่แต่งให้ลูกหลานของผมกับเพื่อนๆ ดูเค้าโครง ลีลา
ของกลกลอนแต่ละชนิดเท่านั้น  ผมต้องถูกเด็กพวกนี้กำหนดโน่นนี่อยู่เสมอ  ผมก็อายเหมือนกันครับ แต่เด็กๆ แกภูมิใจกับชื่อที่ให้ผมใช้เป็นตัวอย่าง  ผมก็
ไม่เข้าใจพวกแกนักหรอก  แต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยอย่างนี้  ถ้ามีสิ่งใดที่ดึงพวกแกออกมาจากอบายมุขทั้งหลายแหล่ได้  ผมยินดีทำให้ครับ

โคลงของคุณ chupong เพราะมาก ผมขออนุญาตนำมาแสดงที่กระทู้นี้ได้ไหมครับ  ผมอยากให้เด็กๆ ได้เห็นว่านี่คือผลงานของผู้พิการทางสายตา  ให้มี
ความมานะอย่างคุณ chupong บ้าง  อย่าทำอะไรเหลาะแหละเป็นเด็ดขาด   ถ้าคุณ chupong อนุญาต กรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วยนะครับ

ขอบพระคุณต่อถ้อยคำทุกถ้อยคำ ตัวอักษรทุกตัวอักษรที่ได้เขียนไว้และสิ่งที่ส่งไปให้ด้วยความสำนึกในบุญคุณครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 09 ก.ค. 11, 11:39

เรียน คุณ willyquiz
 ที่เคารพยิ่งครับ

   ผมขอย้ำยืนยันครับ ว่าผมเคารพ ศรัทธา ในฝีมือของคุณเสมอ และสำนึกตลอดเวลา ในข้อที่ ฝีมือของผมนั้น ยังมิได้แม้เศษหนึ่งส่วนโกฏิของคุณเลย แต่ถ้าคุณ willyquiz
 พอจะเล็งเห็นค่าของงานอันด้อยราคานี้อยู่บ้าง ถึงกับนำลงกระทู้ ก็ถือเป็นเกียรติสำหรับคนเล็กๆอย่างผมเหลือเกิน ซึ่งผมขอกราบขอบพระคุณด้วยจิตคารวะสูงสุดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 09 ก.ค. 11, 14:44

     ผมขอขอบคุณในคำยกย่องของคุณ chupong ครับ  แต่ดังที่ผมเรียนไปแล้วว่า  ผมไม่เก่งถึงขนาดนั้น  ผมจะชี้ให้คุณ Chupong เห็นถึงความ
บกพร่องของผมตอนนี้เลยก็ได้    ถ้าคุณ chupong ย้อนกลับไปอ่าน "โคลงคั้นบาทกุญชร" เสียใหม่จะพบความผิดพลาดทันที

    วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

พบแล้วใช่ไหมครับ  ผมมีโอกาสแก้ตัวตอนที่คุณหลวงเล็กทักท้วงเรื่องการส่งสัมผัสผิดพลาด  แต่ผมก็พลาดอีกเป็นครั้งที่สองจนได้  รู้ตัวก็ต่อเมื่อได้ส่ง
ข้อความไปแล้ว  และแก้ไขอะไรไม่ได้  นอกจากจะนำมาลงซ้ำใหม่อีกครั้ง
     กวีที่เก่ง และดี จะไม่ทำอย่างผมหรอกครับ  เขาจะต้องรีบแก้ไขทันทีที่พบเห็นข้อบกพร่องในงานของตนเอง  แต่ผมไม่ใช่กวี เป็นเพียงคนชอบเขียน
ร้อยกรองเท่านั้น ผมจึงปล่อยผ่านไปเสีย  ถ้ามีคนทักท้วงผมก็จะแก้ไขให้  ถ้าไม่มีคนทักท้วงผมก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร  ถ้าอ่านกันอย่างสังเกตจริงๆ
จะเห็นข้อผิดพลาดอย่างนี้หลายแห่งครับ  อย่างเช่น ขนมในวันไหว้พระจันทร์ เป็นต้น  ข้อบกพร่องอย่างนี้กวีที่ดีรับไม่ได้  แต่ผมรับได้ เพราะผมถือว่าผม
ไม่ได้ไปลอกเลียนดัดแปลงของใครมา  ผมใช้สติปัญญาของตนเองเขียนขึ้นมา  พวกชอบลอกสิครับน่ารังเกียจ  เพราะฉะนั้นผมไม่เคยเดียดฉันท์ผลงาน
ร้อยกรองของคนที่ใช้ความสามารถของตนเองเขียนขึ้นเลย ไม่ว่าจะดูย่ำแย่สักขนาดไหน  ดังนั้น จะเอาผลงานของผมไปเป็นตัวอย่างไม่ได้โดยเด็ดขาด 
แม้แต่ลูกหลานของผม  ผมก็บอกดั่งนี้   ถ้าจะอ่านเล่นเพื่อความเพลิดเพลินก็พอได้  โปรดเข้าใจด้วยนะครับ
และกระทู้นี้ ไม่มีสีครับ สีเดียวที่มีคือ สีผ้ากาสาวพัสตร์  คุณ chupong แสดงความสามารถได้เต็มที่ถ้าไม่ไปละเมิดบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้า

เรียน คุณ willyquiz  ที่เคารพยิ่งครับ
« ส่งให้: willyquiz เมื่อ: 07 ก.ค. 11, 10:53 »
อ้างถึง  ตอบ  ลบทิ้ง 
โดยส่วนตัวผมชอบลีลาโคลงห้าพัฒนา เพราะฟังกระชับกระชั้นทรงพลังดีนักครับ ถ้าแต่ง ผมมักใช้กับอารมณ์เคร่งเครียด ดังเช่นบทนี้ครับ

   มวลหมู่ร้าย                  มารุม
กินเมืองสุม                     สิ่งเปื้อน
ยลชุกชุม                       ชอบโอ่
ยังยิ้มเยื้อน                     อย่างเสบย

   เผยธาตุแท้                  ทวยผอง
ภูตลำพอง                      เผ่นผ้าย
หืนจองหอง                     ใจห่าม
หลากล้วนร้าย                  เรื่องราว

   หลายข่าวย้ำ                 ยิน ยล
ชวนปวงชน                     ช่วยเกื้อ
รวมทุกหน                      ทุกแห่ง
มาล้างเชื้อ                      ชั่วทราม

   ตามเอ่ยอ้าง                 เอิกขาน
ใดสามานย์                     หมั่นจ้อง
ใดสาธารณ์                     โซรมถิ่น
เร็วพร้อมพร้อง                  พร่ำแถลง

   แจงเล่ห์แล้                  แลเห็น
ใครเลือดเย็น                   ย่าม ปล้น
กอปรความเข็ญ                ขมขื่น
ขับให้พ้น                       พ่านหนี พาลหนี

   จัดรูปแบบการพิมพ์ไม่สวยอีกแล้ว แถมฝีมือแต่งของผมยังแสนต่ำต้อยด้อยเดี้ยอีกต่างหาก ผมส่งมาให้คุณ Willyquiz
พิจารณา เพื่อโปรดวิจารณ์ ปรับปรุง แก้ไข ชี้แนะ สั่งสอน เอื้อวิทยาทานตามแต่คุณจะเมตตาเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

ผมได้นำลงให้ทั้งหมดโดยมิได้แต่งเติมแก้ไขเลยแม้แต่น้อย

ขอบพระคุณ คุณ chupong มากครับ
บันทึกการเข้า
อกนิษฐ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 15 ก.ค. 11, 08:53

ที่ว่า โคลงโบราณ มาจาก คัมภีร์กาพย์วิสารวิลาสินีและคัมภีร์กาพย์คันถะ นั้นน่าจะเป็นการ "จับบวช" อย่างที่ จิตร ตั้งสมมติฐานไว้

นั่นคือ โคลง เป็นรูปแบบคำประพันธ์ที่มีมานานแล้วในดินแดน ล้านนา-ล้านช้าง ด้วยธรรมชาติการเอื้อนคำสูงต่ำตามวรรณยุกต์

แต่เพื่อให้ขลัง นักปราชญ์บางกลุ่มก็เลยต้องอ้างให้เหมือนมีมาจากคัมภีร์ แต่ทว่าคัมภีร์บาลี สันสกฤตไม่มีที่ใดใช้เอก-โทเลย ก็เลยต้องโมเมว่าโคลงนี้นะโบราณ ตั้งแต่สมัยยังไม่บังคับเอก-โท  มีการจัดรูปแบบออกมาให้เข้าเค้า แต่ก็เมื่อแต่งขึ้นมาชั้นหลัง (เชื่อว่าใหม่กว่า โองการแช่งน้ำ) ไม่มีใครนำไปใช้จริง มันก็เลยอยู่แต่ในตำราเรียน ถึงรัชกาลที่ ๖ จะพยายามปลุกผีขึ้นมา ด้วยโคลงเยี่ยงโบราณ อีกหลายรูปแบบ แต่ก็เฉาเหมือนเดิม

...แม้แต่ปัจจุบัน กวีชั้นแนวหน้าอย่าง อังคาร จันทาทิพย์ จะปรับ โคลงสินธุมาลี มาใช้ในบทกวีสมัยใหม่ ก็ยังคงเคร่ง เอก-โท ตามพื้นฐานแห่งโคลงอยู่ดี

โคลงที่อ้างว่าไม่บังคับเอก-โท จึงตายไปกับนิยามของมันเองแต่ต้น ตายเพราะขัดกับหลักแห่งโคลงที่ชี้วัดด้วยเอก-โท ตายเพราะมันเป็นแค่ "จับบวช" ในบางสมัยเท่านั้นเอง

"โคลงโบราณ" จึงไม่ "โบราณ" จริง แต่แอบอ้าง "โบราณ" เท่านั้น
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 15 ก.ค. 11, 11:47

     กลับมาจากวัดตั้งใจจะมาโพสท์ข้อความฝากถึงเด็กคนหนึ่งซึ่งมาขอความช่วยเหลือ  แต่ได้มาเห็นข้อความของคุณอกนิษฐ์ทำให้รู้สึกดีใจเหมือนได้พบ
กับมิตรสหายเก่าที่จากกันไปนานอีกครั้งหนึ่ง  ขอต้อนรับด้วยความยินดีครับ
     ขอเรียนถามคุณอกนิษฐ์ว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับ "โคลงโบราณ" เพิ่มเติมมากกว่านี้ไหมครับ  ของผมมีแต่เพียงบันทึกสั้นๆ ที่เขียนเอาไว้เท่านั้น  ผมไม่สามารถ
จดจำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เลย  ข้อความที่ผมโพสท์ลงไปล้วนแต่เป็นความทรงจำในอดีตเท่านั้น  จึงเกิดความผิดพลาดของข้อมูลขึ้น
     บางข้อความที่คุณอกนิษฐ์ได้เขียนไว้นั้นทำให้ผมสงสัยเป็นอย่างยิ่ง คือ  "...แม้แต่ปัจจุบัน กวีชั้นแนวหน้าอย่าง อังคาร จันทาทิพย์ จะปรับ โคลงสินธุมาลี
มาใช้ในบทกวีสมัยใหม่ ก็ยังคงเคร่ง เอก-โท ตามพื้นฐานแห่งโคลงอยู่ดี"
   ถ้ามีการเคร่ง เอก-โท แล้วจะเรียกโคลงโบราณได้อย่างไรเล่าครับ  ก็
ควรจะเรียกชื่อไปตามชนิดของโคลงที่มีแบบแผนบังคับนั้นๆ มิใช่หรือ  ผมขออนุญาตนำ "โคลงสินธุมาลี" ที่ผมได้เขียนขึ้นไว้ในอดีตสักชิ้นหนึ่งมาแสดงเพื่อปรับ
ความเข้าใจให้ตรงกัน  และคุณอกนิษฐ์จะได้อธิบายให้ผมเข้าใจได้บนรากฐานความของความเข้าใจเดียวกันนะครับ

                                             โคลงสินธุมาลี

                             เนตรมองนองมากเหลือ           ชลธาร
                        ลอยคอรอคอยนาน                    มารศรี
                        มองหามาหายขาน                     เสียงเพรียก
                        เห็นนวลหวนเนตรหนี                  เสียวทรวง     ฯ

                                              ท่าน้ำวัดราชสิงขร
                                  วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

     ถ้านับจนถึงวันนี้ โคลงสินธุมาลีที่ผมแต่งขึ้นนี้มีอายุได้ ๔๓ ปีเศษแล้ว  คุณอกนิษฐ์จะเห็นได้ว่าผมมิได้ใช้วรรณยุกต์เลยแม้แต่ตัวเดียว  แต่ใช้วิธีการบังคับเสียงแทน
อันที่จริงเขามิได้ห้ามการใช้วรรณยุกต์แต่อย่างใด  สามารถใช้ได้โดยไม่บังคับตำแหน่งเท่านั้น  แต่ผมยังอยู่ในช่วงของวัยรุ่นต้องการความแปลกใหม่  ผมก็แต่งมันให้
แหวกแนวออกไปเท่านั้นโดยการไม่ใส่รูปวรรณยุกต์เสียเลย
     ผมขอคำแนะนำถึงความแตกต่างของโคลงโบราณที่มีการบังคับวรรณยุกต์ที่คุณอกนิษฐ์กล่าวถึง  กับโคลงโบราณที่ไม่มีการบังคับตำแหน่งวรรณยุกต์ตามที่ผมเข้าใจ
ว่าแตกต่างกันด้านไหนบ้าง  มีผังของการบังคับรูปหรือไม่ครับ

ขอบคุณคุณอกนิษฐ์ล่วงหน้าครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 15 ก.ค. 11, 13:28

     คุณทศพลส่ง Email ถึงผมโดยไม่แจ้งให้ผมทราบว่าได้มาได้อย่างไร  ปล่อยให้ผมคาดเดาเอาเองอย่างนี้ไม่ถูกต้องนะครับ  ผมจะตอบให้ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว
ครั้งหน้ากรุณาสมัครเป็นสมาชิกเรือนไทยเสียให้เรียบร้อยเสียก่อนนะครับ  และผมไม่ตอบ Email กับคนที่ผมไม่รู้ที่มาที่ไปครับ
     กลอนทั้งแปดบทที่คุณส่งไปให้ผมดูและขอให้ผมช่วยดัดแปลงแก้ไขโดยที่คุณบอกว่าเป็น "กลอนเพลงยาว" นั้น  ผมขอบอกว่าผมไม่ทำการบ้านให้ใครนะครับ
เพราะผมสงสัยว่านี่อาจจะเป็นการบ้านก็ได้  เนื่องจากดูคุณรีบร้อนเหลือเกิน  แต่ผมจะขอแนะนำชี้แจงแทนก็แล้วกัน
     กฎเกณฑ์และหลักการของกลอนเพลงยาวคุณคงได้เรียนรู้มาจากคุณครูผู้สอนแล้วผมจะไม่อธิบายเพิ่มอีก   กลอนของคุณยังเรียกว่ากลอนเพลงยาวไม่ได้นัก
เพราะขาดสัมผัสในมากเกินไป  ไม่มีการเล่นคำใดๆ เลย  แต่งเหมือนบรรยายความเสียมากกว่า  แม้กระนั้น ในบทที่สองและบทที่เจ็ดก็ยังมีความหมายเดียวกันเป็น
การบรรยายความซ้ำซากที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับกลอนเพียงแปดบท   มีการใช้คำที่ไม่เหมาะสมเช่น "หน่อมแน้ม" ในบทที่สี่   ผมเข้าใจดีว่าคุณต้องการให้สัมผัสกับคำว่า
"แก้ม" ในวรรคหน้า  แต่ควรเลือกใช้คำที่ดีกว่านี้   ข้อสรุปก็คือ
๑. ขาดสัมผัสในมากเกินไป ทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ
๒. ขาดการเล่นคำ  การเล่นคำเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกลอนเพลงยาว จะขาดไปเสียมิได้ (คุณอาจจะใช้กลอนกลบทชนิดใดชนิดหนึ่งแทนก็ได้)
๓. มีการใช้คำแสลงโดยไม่เหมาะสมกับทางกลอน
๔. มีการใช้ถ้อยความโดยมีความหมายซ้ำซาก
     ลองใหม่อีกครั้งนะครับ  ต้องใช้ความใจเย็นค่อยๆ คิด  อย่าบีบคั้นตนเองมากเกินไป  แต่ดูเหมือนคุณกำลังตกอยู่ในสภาพที่กำลังสับสนอยู่  ผมสังเกตได้จาก
คำถามสองข้อที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเองของคุณ
ถาม  : ทำอย่างไรผมถึงจะแต่งกลบทได้เก่งอย่างคุณลุงอ่ะคับ?
ตอบ  : ก. ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกับกาลเทศะ
         ข. ใช้หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) ช่วย  และตามมาด้วย  แต่ง แต่ง แต่ง และ แต่ง ให้มากๆ
ถาม  : คุณลุงว่าเราจะเรียนโคลงกลอนไปทำไมอ่ะคับ?  ผมไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย
ตอบ  : ผมไม่มีความคิดเห็น  นอกเสียจากว่าคุณจะบอกผมเสียก่อนว่า  อะไรทำให้คุณถามคำถามข้อแรก
     ผมอยากบอกคุณทศพลว่า  คุณนั้นใกล้เกลือกินด่าง  คุณมีคุณครูผู้สอนอยู่ใกล้ตัวอยู่แล้ว  ทำไมจึงไม่ปรึกษาท่านล่ะครับ  คุณต้องหัดตัวเองให้มีความไว้วางใจ
ในตัวของคุณครูผู้สอนเสียก่อน  ไม่ใช่มาไว้วางใจคนที่คุณไม่รู้จักอย่างผม  ไม่เข้าใจสิ่งใดคุณก็เข้าหาท่านเพื่อปรึกษาเลย  คุณควรถือบทกลอนทั้งแปดบทที่คุณแต่ง
ขึ้นนี้ไปเรียนปรึกษาท่าน  ให้ท่านชี้ถึงข้อบกพร่อง  แล้วคุณก็แก้ไขตามที่ท่านบอก  นั่นจึงจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง
     สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในกลอนของคุณคือ  มีความมานะพยายามแฝงอยู่ในบทกลอน  แสดงว่าคุณเขียนขึ้นเองจริง  และเมื่อเขียนขึ้นเองแล้วจงภูมิใจในต้วเองเถิดว่า
เราได้ใช้ความสามารถที่เรามีอยู่ในขณะนี้โดยไม่ได้ไปลอกใครเขามา  ผมขอยกย่อง และอย่าเพิ่งท้อใจนะครับ  ผมขออวยพรให้คุณประสบความสำเร็จด้วยดี
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 15 ก.ค. 11, 16:41

เรียนท่านผู้อ่านกระทู้นี้ทุกๆท่านครับ

   ผมอ่านเรื่องโคลงสินธุมาลีแล้ว ทำให้นึกอะไรขึ้นมาได้อย่างหนึ่ง ขออนุญาตคุณ willyquiz
  บันทึกไว้เสียเลยครับ

   ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นกวีท่านหนึ่งซึ่งดัดแปลงรูปแบบโคลงสินธุมาลีของเก่าทำให้กลายเป็นโคลงชนิดหนึ่ง ที่มีฉันทลักษณ์ผสมระหว่างโคลงสี่สุภาพกับโคลงดั้น  กล่าวคือ บาทแรกถึงบาทสาม ตำแหน่งคำเอกคำโทก็ดี การส่งสัมผัสก็ดี เช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ ข้อแตกต่างอยู่ตรงบาทสุดท้าย คือวรรคหน้าคำที่สี่แหละห้าใช้โทคู่ (คำโทสองคำติดกัน) วรรคหลังมีเพียงสองคำ ให้คำหนึ่งเป็นคำเอก อีกคำใช้ปิดท้ายบท ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ดุจเดียวกับบาทสี่ของโคลงดั้นวิวิธมาลี หรือบาทกุญชรนั่นเอง ท่านใดได้อ่านหนังสือ “เพียงความเคลื่อนไหว” ก็จะพบโคลงดังกล่าวในบทกวีชื่อ “ที่ราบแล้ง ณ แหล่งลุ่ม” ครับ

   “ปลาตีนปีนไต่เต้น                  ตมตีน
ตีนเตอะตมจมปีน                     ป่ายจ้อง
ปูดำหลับจำศีล                  ปาริสุทธิ์
คลื่นไป่ครืนครื้นคล้อง                  ขลาดโหม

   เหือดโพยมล่มแล้งทั่ว            ทะเลหนาว
หอมกลิ่นโคลนปนคาว               คละคลุ้ง
เวิ้งว้างว่างวายยาว                  ยืดเหยียด
ฟ้าจรดฟ้าเฟื้อยฟุ้ง                     ฝั่งฝัน

   เงียบวันยันค่ำคล้าย               ความตาย
ดึกดื่นดื่นดาวราย                  หรี่แล้ง
ตาแห่งห่าโหงพราย               พร่าผุด
อำมหิตโหดเหี้ยมแห้ง               หุ่นผี

   เสียงสีเสียงส่ายแสร้ว            ใบสน
เสียงปิศาจสวดมนต์               มี่ซ้อง
เสียงสาปสั่งบังหน                  หกคว่ำ
คว่ำบาตรบาปบ้ายต้อง               ติดดิน

   อย่ายินอย่ารู้เรื่อง                  ใดเลย
สูประชาชนเฉย                     ชืดชื้น
เช่นนั้นนั่นเทียวเหวย               หวามนุษย์
กี่ชาติกี่ชั้นตื้น                  ต่ำทราม”

   สิ่งที่ผมต้องกราบขอขมาท่านผู้อ่านมีอยู่สองประการครับ หนึ่ง เนื่องจากคนตาบอดพิมพ์ แหละในขณะพิมพ์นั้นมิอาจรบกวนคนตาดีได้ (เนื่องด้วยท่านมีภารกิจ) รูปแบบโคลงจึงออกมาโย้เย้ ขอท่านโปรดอย่าถือสาเลยนะครับ สอง ผมพิมพ์บทกวีนี้จากความทรงจำล้วนๆ ฉะนั้น หากมีคำใดวิปลาสคลาดเคลื่อน “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” แหละหากท่านใดจะกรุณาแก้ไขให้ทุกคำตรงตามหนังสือของท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็จะเป็นพระคุณยิ่งครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ




 
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 13:12

สวัสดีครับคุณ chupong

ผมประมวลข้อความจากคุณหลวงเล็ก  + คุณอกนิษฐ์ + คุณ chupong  ก็พอจะมองเห็นภาพขึ้นลางๆ บ้างแล้วเกี่ยวกับโคลงโบราณและโคลงเยี่ยงโบราณ  คาดว่าเป็นเรื่องของ
ข้อสันนิษฐานใหม่หักล้างข้อสันนิษฐานเดิมและถ้ามีข้อสันนิษฐานที่ใหม่กว่าเพิ่มเข้ามาก็คงจะนำมาหักล้างกันอีกต่อไป  ในทำนองเดียวกันกับคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต
จริงหรือไม่  จนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ
และเมื่อได้อ่านข้อความของคุณหลวงเล็กที่ได้กล่าวไว้ว่า
คัมภีร์กาพย์วิสารวิลาสินีและคัมภีร์กาพย์คันถะซึ่งนับถือกันมาแต่โบร่ำโบราณว่า
เป็นต้นกำเนิดของโคลงนั้น  แท้จริงเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในเมืองไทยนี่เอง
ในดินแดนที่เป็นอาณาจักรล้านนา   เข้าใจว่าพระภิกษุเป็นผู้แต่งคัมถีร์ดังกล่าว
โดยอาศัยแบบอย่างจากคัมภีร์ภาษาบาลีอื่นๆ เป็นต้นแบบ
ผมจึงมิได้ประหลาดใจอะไรมากนัก  เพราะแม้แต่ในขณะบวชเป็นภิกษุสงฆ์พรรษาแรกยังเป็นพระนวกะ     ขณะที่กำลังท่องจำบทขัดสัคเค (บทขัดชุมนุมเทวดา) ผมก็ได้พบ
ความผิดปกติของพระคาถาบางประการ  รู้สึกถึงความคุ้นตาอันเนื่องจากเคยแต่งมาก่อน  จึงลองตรวจสอบดู  แล้วก็พบว่า เป็นคำฉันท์นั่นเอง  แต่จะเรียกว่าฉันท์อะไรผมเองก็ไม่ทราบ 
แต่รูปแบบของพระคาถาตั้งแต่  “สะรัชชัง สะเสนัง.....จนถึง.....ปะริตตัง ภะณันตุ.” เป็นรูปแบบของ “ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒”  ผิดกันแต่รูปแบบของสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน  กับคำ
สุดท้ายของบทตรงคำว่า “ภะณันตุ” ซึ่ง “ตุ” เป็น ลหุ ผิดรูปแบบไป   และตั้งแต่ “สัคเค กาเม.....จนถึง.....สาธะโว เม สุณันตุ”  นี้เป็นรูปแบบของ “สัทธราฉันท์ ๒๑” อย่างไม่ต้อง
สงสัย  แต่ก็เช่นเคย  รูปแบบของสัมผัสไม่ตรงกับแบบแผนที่เคยได้รับรู้ร่ำเรียนมา  และคำว่า “ตุ” เป็นคำ ลหุ ปิดท้ายเช่นเดิม  ก็ไม่รู้ว่าผู้ประพันธ์ บทขัดสัคเค นี้นำมาจากคัมภีร์ฉบับ
หรือผูกใดและนำมาประพันธ์ไว้เป็นบทสวดมนต์ให้พวกเรายุคหลังได้ใช้ในการอัญเชิญเทวดาก่อนจะทำการสวดมนต์ตามปกติมาตั้งแต่สมัยใด
ดังนั้นเมื่อได้อ่านข้อความของคุณหลวงเล็กผมจึงรู้สึกเฉยๆ  คัมภีร์ใดจะเป็นต้นกำเนิดผมก็นับถือเป็นแบบอย่างเช่นเดียวกัน  สิ่งที่ได้ก็คือความรู้เพิ่มเติมเท่านั้น  ผมก็ยังอาศัยรูปแบบนั้นๆ
เป็นครูตามปกติ   แต่ที่เรียกความสนใจของผมก็คือความพยายามฟื้นฟูโคลงโบราณขึ้นมาอีกโดยกำหนดรูปแบบเสียใหม่ดังที่คุณ chupong ได้นำโคลงของคุณ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
มาลงไว้ให้ชม  แต่ไม่ได้บอกชื่อไว้  ดังนั้นผมขอเรียกว่า “โคลงดั้นโบราณสินธุมาลี” ไปก่อนก็แล้วกัน 
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 13:18

โคลงดั้นโบราณสินธุมาลี ที่คุณ chupong นำมาลงไว้นี้ไม่ได้เป็นของแปลกใหม่สำหรับผมเลย  ผมเคยแต่งและกำหนดรูปแบบเอาไว้ก่อนหน้านั้นนานแล้วโดยนำเอาโคลงสี่สุภาพกับ
โคลงดั้นวิวิธมาลีกับโคลงดั้นบาทกุญชรมาผสมผสานกัน  แต่เมื่อพิจารณาไปแล้วรู้สึกเกิดความลำบากใจในการส่งสัมผัสระหว่างบทขึ้นมา  อุปสรรคคือจะส่งสัมผัสไปยังคำใดของบท
ต่อไปดีนั่นเอง  ของเก่าท่านก็กำหนดเอาไว้เหมาะสมดีแล้ว  และถ้าจะแต่งเดี่ยวแบบโคลงสี่สุภาพ  ผมก็ไม่เล็งเห็นถึงความแตกต่างของโคลงสี่สุภาพที่มีความไพเราะอยู่แล้วเลย  ผม
จึงละความสนใจแล้วมุ่งไปหาแนวทางอื่นๆ ต่อไป  อันที่จริงถ้าจะคำนึงถึงข้อเขียนของคุณหลวงเล็กที่กล่าวไว้ว่า
ร้อยกรองปัจจุบันไม่ว่ากาพย์กลอนโคลงร่าย(ไม่ต้องพูดถึงฉันท์)ที่แต่งยาก
เพราะเราเพิ่มข้อบังคับให้มากขึ้นไปเอง  เพราะเห็นว่า คนนั้นแต่งอย่างนี้เพราะดี
จึงเอาอย่างบ้าง   แต่หารู้ไม่ว่า  ความไพเราะไม่ได้จำกัดเพียงรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างกลอนสุนทรภู่  มีสัมผัสในก็เพราะดี  พอไปอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนบางตอน
ที่เป็นสำนวนของเก่าไม่เน้นสัมผัสในเลย  ก็อ่านเพราะดีเหมือนกัน  แต่คนสมัยต่อมานิยมว่า
กลอนมีสัมผัสในเพราะ  ต้องวางจังหวะในวรรค ๓-๒-๓ หรือ ๓-๓-๓ จึงจะไพเราะดี
แต่หารู้ไม่ว่า  นั่นเท่ากับบังคับให้การแต่งกลอนที่บังคับน้อย เป็นเรื่องยุ่งยาก
จึงมีคนคิดฉันทลักษณ์อื่นๆ ขึ้นใหม่  หรือแม้แต่กลอนเปล่า  เพราะเบื่อฉันทลักษณ์เก่า

อ่านจบแล้ว เราจะมองเห็นสัจธรรมที่ว่า  ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด  เรามีรูปแบบของโคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย มากมายอยู่แล้วให้เลือกใช้ตามความสามารถของแต่ละ
บุคคล  แต่เราก็ไม่ยอมหยุดยั้งอยู่แค่นั้น  เราก็พยายามจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ มาเพิ่มเติมอีก  ซึ่งจะว่าผิดก็ไม่ได้อีกเช่นกัน  เพราะการหยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับเรียกหาความเสื่อมโทรมเท่านั้น
เอง   อย่างตัวผมเองผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องบังคับตัวเองให้แต่งกลอนโดยมีสัมผัสในอยู่ด้วยเสมอ  ทำไมจึงต้องพยายามแต่งกลบทต่างๆ ด้วยทั้งๆ ที่ปวดสมองจะตาย  ทำไมต้อง
พยายามคิดค้นร้อยกรองรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เห็นมีในตำรามาตั้งแด่วัยเด็กเพื่อที่ว่าจะได้ชื่อว่าตนเองเป็นคนบัญญัติขึ้นมาแล้วก็ถูกคุณครูบอกว่า “พวกนอกตำรา”    ดังที่คุณหลวงเล็กบอก
เอาไว้ว่า  เป็นเรื่องยุ่งยาก  “ความไพเราะไม่ได้จำกัดเพียงรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง”  ข้อนี้ผมว่าเป็นความจริงอย่างที่สุด  มันอยู่ที่ฝีมือของผู้ประพันธ์เสียมากกว่า ถ้าฝีมือดี จะแต่งร้อยกรอง
ชนิดใดก็เพราะทั้งนั้น      คุณ chupong เองก็มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์พอตัว  ลองแต่ง “โคลงมหาสินธุมาลี” โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ของรูปแบบวรรณยุกต์ให้ปวดสมองมาให้เพื่อนสมาชิก
เรือนไทยอ่านบ้างสิครับ  ผมอยากชมรูปแบบของโคลงโบราณในความคิดของผู้พิการทางสายตาว่าจะออกมาในทางไหน  แตกต่างจากพวกเราที่มีสายตาปกติหรือไม่  ใครจะบอกได้ว่าคุณ
chupong อาจมองโลกในความมืดได้เข้าใจถ่องแท้กว่าพวกเราที่อยู่ในโลกของความสว่างเสียอีกก็เป็นไปได้  คนตาดีแต่อาจจะเป็นประเภทตาบอดตาใสอย่างผมก็คงมีอยู่บ้างละครับ  โลกนี้
บางครั้งมันก็โสมมจนอาจจะเป็นการโชคดีที่ไม่ได้เห็นเสียเลยก็มีอยู่มากมายหลายมุม  แต่ถ้าเป็นการรับรู้โดยผ่านทางโสตสัมผัสกับจากการอ่านและนำมาถ่ายทอดในแง่มุมของตนเอง  ผมคิดว่า
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก  ผมอาจจะนำเอารูปแบบความคิดของคุณ chupong มาเป็นแม่แบบของผมบ้างก็เป็นไปได้ครับ
บันทึกการเข้า
willyquiz
องคต
*****
ตอบ: 501


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 16:39

เหมือนกับกลอนตอนหนึ่ง  ในบทลครเรื่องเวนิชวาณิช
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า

  "อันชนใดไม่มีดนตรีกาล         ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ       เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก               มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก            ราวนรกเช่นกล่าวมานี้
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้             เราควรมาฟังดนตรีเถิดชื่นใจ..."

ก็ต้องอ่านว่าอับ-ปะ-หลัก เช่นกัน 

ในกลอนวรรณคดีเก่าๆ หลายเรื่องก็มีอย่างนี้  ถ้าไม่เข้าใจวิธีอ่าน
ก็เข้าใจว่าคนโบราณแต่งพลาด 

ได้เข้าไปอ่านกระทู้ “บทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา” และได้เห็นข้อความของคุณหลวงเล็กในส่วนนี้  และเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทู้นี้โดยตรง   ผมจึงขออนุญาตคุณหลวงเล็กนำข้อความ
ข้างบนนี้มาบรรจุไว้ในกระทู้นี้ด้วยนะครับ  ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณาพิจารณาให้ด้วยครับ

ข้อความด้านบนนี้ทรงคุณค่าต่อเยาวชนในยุคนี้เป็นอย่างยิ่งและรวมไปถึงบุคคลทั่วไปด้วย  ผมบอกได้เลยว่าเป็นประสบการณ์ตรงต่อตัวผมหลายครั้งหลายหน   (เยาวชนคนใดที่สนใจด้านการ
ประพันธ์และวรรณคดีควรต้องจำใส่ใจไว้ให้มั่นเลยทีเดียว)  เมื่อผมได้นำบทพระราชนิพนธ์แปลตรงบาทที่คุณหลวงเล็กได้กล่าวไว้คือ “อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ  เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์“
ไปให้หลายๆ บุคคลอ่าน รวมถึงคุณครูท่านหนึ่งที่สอนเด็กมาตั้งแต่เรียนจบครู จนกระทั่งเกษียณ   ต่างก็อ่านว่า อับ-ปะ-ลัก ทุกคน  เมื่อผมบอกว่า อ่านว่า อับ-ปะ-หลัก ไม่มีใครเชื่อผมเลยยกเว้น
คุณครูที่ผมกล่าวถึง

ผมได้เอา ”นิราศภูเขาทอง” ในบท

     ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด                      คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร                   แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด                 ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                         ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย                ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                         ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป  ฯ

ให้เด็กๆ อ่านให้ฟัง   เด็กเกือบทุกคนอ่านผิดหมดตรงคำที่ผมให้สีแดงเอาไว้     ผมว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของเด็กหรอกครับ   แต่เป็นปัญหาของคุณครูผู้สอนบางท่านว่ารู้จริงหรือเปล่า   
หรือรู้แล้วแต่ละเลยไปเสีย    แม้แต่คำประพันธ์ของผมเองตรงวรรค “น้ำใจน้องนาฏนุชกุสุมาลย์”   เมื่อผมให้ลูกหลานผมอ่าน  ต่างก็อ่าน กุ-สุ-มาน กันหมดทุกคน   จนกระทั่งผมบอก
นั่นแหละจึงจะเข้าใจ    ปัจจุบันเยาวชนกลุ่มนี้รู้วิธีการอ่านลักษณะนี้กันหมดแล้วทุกคนแต่ไม่ทราบว่าเยาวชนท่านอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้ามาอ่านในบ้านเรือนไทยจะเข้าใจหรือไม่หากขาดการ
อบรมสั่งสอนจากคุณครู
ที่จริงแล้วนิราศภูเขาทองบทดังกล่าวเป็นเสมือนบทอาขยานในยุคสมัยของผม  คุณครูก็จ้ำจี้จ้ำไชบอกให้อ่านอย่างถูกวิธีตลอดเวลาจนจำได้ขึ้นใจ  แต่ในยุคสมัยปัจจุบันไม่ทราบว่ายังมีการ
สอนแบบนี้อยู่อีกหรือไม่  ทำไมจึงดูเหมือนว่าเยาวชนในยุคนี้ไม่ค่อยเข้าใจกันเลย

แต่เนื่องมาจากบทพระราชนิพนธ์ท่อนที่คุณหลวงเล็กอัญเชิญมาผิดไปจากหนังสือเรียนอยู่บ้าง  และในตู้หนังสือเรือนไทยก็ไม่มีให้ดูเปรียบเทียบ  ผมจึงขออนุญาตอัญเชิญมาลงไว้อีกครั้ง
เพื่อการเปรียบเทียบของเยาวชนครับ

จากหนังสืออ่านกวีนิพนธ์เรื่อง เวนิสวาณิช ของกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓๘  พ.ศ. ๒๕๒๖)

องค์ที่ ๕   : ลอเร็นโซ สนทนากับ นางเช็สสิกา
..............................
..............................
ชนใดที่ไม่มีดนตรีกาล
ในสันดาน, เป็นคนชอบกลนัก,
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ,
เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก;
มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี,
และดวงใจย่อมดำสกปรก
ราวนรก: ชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้.
เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ.
บันทึกการเข้า
อกนิษฐ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 16 ก.ค. 11, 18:10

สวัสดีครับ มาเสวนาเรื่องโคลงโบราณไม่โบราณจริง ต่อครับ

ความเห็นเกี่ยวกับโคลงโบราณของจิตร ภูมิศักดิ์ ขอคัดมาดังนี้

"...ด้วยเชื่อกันว่าโคลง, ทั้งของไทยและของลาว, เป็นกาพย์กลอนที่มีต้นกำเนิดจากคัมภีร์สันสกฤตชื่อ 'กาพย์สารวิลาสินี' และคัมภีร์ 'กาพยคันถะ' ฉะนั้นชื่อโคลงต่าง ๆ จึงออกมาจากคัมภีร์ทั้งสองนี้แทบจะทั้งสิ้น โดยเฉพาะจากคัมภีร์แรก.

คัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีนั้น เดิมเป็นตำรากาพย์ของสังสกฤต แล้วมาภายหลังได้มีผู้ถอดเป็นภาษาบาลี ไทยได้ถอดตำรานี้ออกเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง เป็นหนังสือที่เชื่อถือกันว่าเป็นต้นตำราโคงไทย ... เป็นหนังสือที่ถอดไม่นานนัก.

ผู้ถอดตำรานี้ ได้นำเอากาพย์ของสันสกฤต-บาลี มาวางแยกวรรคออกแบบไทย ทั้งนี้เพราะกาพย์เหล่านั้น ล้วนมีบาทละ ๗ คำ และมี ๔ บาท แยกออกเป็นวรรคหน้า ๕ คำ และวรรคหลัง ๒ คำ ได้อย่างโคลงดั้นของไทยพอดี

กาพย์เดิมของของบาลี-สันสกฤต มิได้กำหนดเสียงวรรณยุกต์เอกโท เพราะทั้งสองภาษานั้นไม่มีวรรณยุกต์ และไม่มีระดับเสียง ผู้ถอดออกเป็นไทยได้พยายามเอาเอกโทเข้าช่วย ทำให้รูปร่างดูคล้ายโคลงดั้นมากทีเดียว แต่ก็ยังบอกำกับไว้ว่าไม่บังคับเอกโท มีแต่บังคับสัมผัสเช่น

วิชชุมาลี:
            ข้าแต่พระพุทธเกล้า       มุนินทร์
    ลายลักษณะพระบาท             วิจิตร
    ชนนิกรไว้อาจิณ                   คืนค่ำ
    ตั้งกระหม่อมข้านิตย์              เท่ามรณ์ ฯ

จิตรลดา:
            พระจันทร์เพ็งแผ้ว          สรัทกาล
    ชช่วงโชติพรายงาม                 รุ่งฟ้า
    ในชนชื่นบานนิตย์                  ทุกหมู่
    รัศมีเรืองกล้าแหล่ง                 เวหา ฯ

และมีมีอีกมากอย่าง และแต่ละอย่างนั้น ถ้าคำลงท้ายเพิ่มเป็น ๔ คำ ก็ให้เพิ่มคำ 'มหา' นำหน้าชื่อเข้าไป เช่น 'มหาสินธุมาลี' ซึ่งคล้ายโคลงสี่สุภาพ ดังนี้ :

            ข้าแต่พระพุทธเจ้า            ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                       รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด              โลมโลก
    สัตบุรุษทั่วหล้า                       ชมนิตย์ชื่อธรรม ฯ

แต่อย่างไรก็ดี ผู้ถอดก็ยังกำกับไว้เสมอว่า ไม่บังคับเอกโท ซึ่งข้อนี้เราก็จับได้ชัด ๆ ทีเดียวว่า ผู้ถอด, ในขณะที่เขียนบอกว่าไม่บังคับเอกโทนั้น, ก็อดที่จะเอาเอก-โท ตามความเคยชินของไทยวางลงไปด้วยไม่ได้อยู่ดี, ก็ถ้าหากว่าไม่ถือเอก-โทจริง ๆ, และไม่มีความเคยชินในเอก-โทจริง ๆ แล้ว, ตัวอย่างที่แสดงทั้งหมด ก็ไม่น่าจะลงท้ายบาทสองด้วยคำโทเสียแทบทั้งนั้น

และถ้าหากไม่เคยมีความรับสำนึกในความงามของเอกโทมาก่อน, ในความไพเราะมาก่อน, ก็คงจะไม่ต้องบอกใคร เพราะไม่มีใครสนใจเอกโทกันทั้งนั้น, ที่ต้องบอกไว้ว่าไม่บังคับเอกโทนั้น ก็เพราะในชีวิตวรรณคดีของชนชาติไทย ได้มีความรับสำนึกในรสไพเราะของระดับเสียงเอกโทอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง

เรื่องของตำรากาพย์สารวิลาสินี จึงเป็นเรื่องของการดัดแปลงกาพย์กลอนบาลี-สันสกฤตให้เข้ากับลักษณะของไทย หรือถ้าจะพูดกันอย่างเข้มงวด ก็คือพยายามจะลากเอาเรื่องโคลงไทย-ลาวให้เป็นของที่มีกำเนิดจากภาษาบาลี-สันสกฤต ...

...เป็นเรื่องของการ จับบวช, และแม้แต่คำว่า บวช นั้นเอง ก็โดนจับบวชนานแล้วด้วย เขมรโบราณสมัยก่อนนครหลวงใช้ว่า โบส มาถึงสมัยนครหลวง เขมรทางแถบทะเลสาบ ออกเสียง โอ เป็น อัว จึงใช้ว่า บวส ไทยสุโขทัยยืมคำนี้มาใช้ว่า บวส ตรงตามรูปพื้นเมือง แต่มาภายหลังนักเลงดีจับมาเข้าวัดเสียเป็น บวช ดังที่พระสังฆราชวชิรญาณวงศ์ อธิบายว่า คำนี้ มีรากเหง้ามาจากภาษาบาลีว่า ปพฺพชา, เอา พ เป็น ว ได้รูปเป็น ปวฺวชา แล้วตัดเป็นไทยว่า "บวช" โคลง-กาพย์กลอนที่ถือระดับเสียงวรรณยุกต์เป็นหลักสำคัญของไทย-ก็ได้ถูกจับบวชดังนี้เช่นกัน

จะให้เรายอมเชื่อว่า โคลงไทย-ลาว ที่ถือเอกโทเป็นหลักชี้ขาดมีกำเนิดมาจากกาพย์กลอนบาลี-สันสกฤต ที่ไม่มีระดับเสียงเอกโทนั้น เราสุดที่จะกลืนลงคอได้ !"

(จิตร ภูมิศักดิ์, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, พิมพ์ครั้งที่ ๓, เมษายน ๒๕๔๗. หน้า ๒๔๘.)

จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าโคลงไทย-ลาว ไม่ได้กำเนิดมาจาก คัมภีร์กาพทั้ง ๒ เล่มนั้น การจับบวชดังกล่าว จึงไม่สำเร็จมากนัก ไทยยังคงเรียกโคลงอย่างไทยอยู่ เช่น โคลงดั้น โคลงสุภาพ แต่ดูเหมือนว่าลาวคงได้รับอิทธิพลจากราชสำนักสยามเหมือนกันที่นำชื่อ วิชชุมาลี และ มหาสินธุมาลี เป็นชื่อโคลงของตน ทั้งที่มีลักษณะเอกโทของตนเฉพาะ

โคลงโบราณ หรือโคลงสี่ในตำรากาพย์ ไม่ค่อยปรากฎในวรรณคดีไทย นอกจากงานพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น พระนลคำหลวง และลิลิตนารายณ์สิบปาง เป็นต้น (สุภาพร มากแจ้ง, กวีนิพนธ์ไทย ๑, โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๕.)

โคลงโบราณ ๑๐ ชนิด มาจากคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี ๘ ชนิด คือ วิชชุมาลี, มหาวิชชุมาลี, จิตรลดา, มหาจิตรลดา, สินธุมาลี, มหาสินธุมาลี, นันททายี, มหานันนททายี  และจากคัมภีร์กาพย์คันถะ ๒ ชนิดคือ ทีฆปักษ์ และรัสสปักษ์ (กำชัย ทองหล่อ - หลักภาษาไทย)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดัดแปลงสัมผัสโคลงโบราณ เพิ่มเป็นโคลงโบราณแผลง ๔ ชนิด คือ วิชชุมาลีแผลง, จิตรลดาแผง, สินธุมาลีแผลง และนันททายีแผลง และทรงประดิษฐ์โคลงสี่เลียนแบบโคลงโบราณอีก ๔ ชนิด คือ วชิระมาลี, มุกตะมาลี, รัตนะมาลี และจิตระมาลี

จริง ๆ ไม่ค่อยชอบคำว่าโคลงโบราณเท่าไหร่ เพราะมันโบราณไม่จริง ซึ่งจะเห็นว่าตำราของ อ.สุภาพร มากแจ้ง เรียกว่าโคลงตามตำรากาพย์ ดูจะเข้าที บอกที่มาที่ไปได้ดี ไม่ใช่เหมาเอาว่าโบราณ คือเก่ากึ๊กโบราณ

กวีที่แต่งโคลงชนิดนี้ มีไม่มาก

๑. พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) -  มูลบทบรรพกิจ (พ.ศ.๒๔๑๔)

    เอกองค์ทรงภาคย์พ้น     พรรณา
พระเบิกบงกชบาน            คลี่คล้อย
ปวงสัตว์เสพย์นิทรา          เตือนตื่น
สรวมบาทพระนั้นสร้อย       เทริดเศียร

ดวงเดียวโอภาสพ้น          พันทิวา   กรเฮย
บานเบิกบงกชคลา           คลี่คล้อย
เตือนสัตว์สร่างนิทรา         ใสผ่อง   ภักตร์แฮ
บัวบาทเรณูสร้อย            เทริดเกล้าเราเกษม

ข้อสังเกต
- โคลงทั้งสองบทมีเนื้อหาเดียวกัน
- ตำแหน่งเอกโทครบตามอย่างโคลงดั้น และโคลงสี่สุภาพ
- โคลงบทที่สองเป็นลักษณะโคลงสี่สุภาพ ขณะที่บทแรกไม่ใช่โคลงดั้น เพราะผิดธรรมชาติโคลงดั้งที่ต้องแต่งสองบทขึ้นไป (พ.ณ.ประมวลมารค ให้ข้อสังเกตว่าโคลงแบบนี้น่าจะเรียกว่า สินธุมาลา/มหาสินธุมาลา)


๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบรมราชาธิบายในการประพันธ์

มีพระบรมราชาธิบายในการประพันธ์โคลงแบบต่าง ๆ รวมทั้ง โคลงโบราณ โคลงโบราณแผลง และโคลงเยี่ยงโบราณ โดยในโคลงมหาสินธุมาลี นั้นทรงบอกไว้ว่า เหมือนโคลงสุภาพ แต่ไม่จำกัดโท

สินธุมาลี
            ข้าแต่พระพุทธเจ้า          ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                     รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด            โลมโลก
    สัตบุรุษทั่วหล้า                      ชมนิตย์ ฯ

สินธุมาลีแผลง
            ข้าแต่พระพุทธเจ้า          ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                     รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด            โลมโลก
    สัตบุรุษส้าเสก                       ชมนิตย์ ฯ   

มหาสินธุมาลี
            ข้าแต่พระพุทธเจ้า          ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                     รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด            โลมโลก
    สัตบุรุษทั่วหล้า                      ชมนิตย์ชื่อธรรม ฯ

ข้อสังเกต
- แม้จะไม่เคร่งคำเอก แต่จุดที่เป็นคำโทในโคลงสี่มักจะใช้วรรณยุกต์โท หรือบางครั้งก็เป็นคำตาย  เพื่อรักษาระดับเสียงให้ใกล้เคียงโคลงสุภาพ/โคลงดั้น


๓. ขรรค์ชัย  บุนปาน - ฟ้าแล่บแปล๊บเดียว

ขาวกลีบบัว (พ.ศ.๒๕๑๒)

     ถวายพิษฐานพระไว้        บูชา   ฟังแม่
เกิดเพื่อแรงปรารถนา           แห่งรัก
โกมุทแผ่วลอยมา              รับพี่  รักพี่
โกมุทรักพี่แล้ว                 อย่าสลาย ฯ

    หนึ่งชาติหนึ่งเสน่ห์ด้วย      ดอกบัว   เดียวเอย
ใครสดับใครใคร่หวัว            ใคร่เถิด
เหยียดหยันเยาะเย้ยทั่ว          สามโลก  ก็ดี
พี่จักเชิดหน้าท้า                  โลกสาม ฯ

ข้อสังเกต
- คล้ายโคลงดั้นแต่ไม่ใช่โคลงดั้น
- จบอย่างโคลงดั้น แต่ไม่มีการส่งสัมผัสแบบโคลงดั้น
- ใช้คำตายในตำแหน่งคำโทวรรคที่สอง, แต่ตำแหน่งเอกโทอื่น ๆ กลับเคร่งเหมือนโคลงสี่ทั่วไป 
- ขณะที่สัมผัสวรรค ๑-๒-๓ เป็นอย่างโคลงสินธุมาลี แต่การสัมผัสวรรค ๒ กับ วรรค ๔ ลึกเข้าไปถึงตำแหน่งที่ ๓ (สินธุมาลีแผลง จะรับสัมผัสตำแหน่งที่ ๔) 


๔. เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ -  เพียงความเคลื่อนไหว

ที่ราบแล้ง ณ แหล่งลุ่ม (๒๕๑๘) (ก๊อปจากคุณชูพงศ์ ซึ่งมีความจำเก่งมาก ผิดแค่คำเดียว คือ ซร้อง, คุณชูพงศ์คงจะอ่านโคลงด้วยหู จึงจำแม่นและเขียนโคลงด้วยเสียงไม่เพี้ยนเลย น่านับถือจริง ๆ )

ปลาตีนปีนไต่เต้น                 ตมตีน
ตีนเตอะตมจมปีน                 ป่ายจ้อง
ปูดำหลับจำศีล                    ปาริสุทธิ์
คลื่นไป่ครืนครื้นคล้อง            ขลาดโหม

   เหือดโพยมล่มแล้งทั่ว          ทะเลหนาว
หอมกลิ่นโคลนปนคาว             คละคลุ้ง
เวิ้งว้างว่างวายยาว                 ยืดเหยียด
ฟ้าจรดฟ้าเฟื้อยฟุ้ง                 ฝั่งฝัน

ข้อสังเกต
- เคร่งครัด เอก ๗ โท ๔
- วรรคสุดท้ายมี ๒ คำ อย่างโคลงดั้น และใช้โทคู่อย่างโคลงดั้น
- สัมผัสอย่างโคลงสี่สุภาพ (รวมทั้งร้อยโคลงด้วย)
- พ.ณ.ประมาลมารค เขียนไว้ชัดว่านี่คือ โคลงสินธุมาลี


๔. ศักดิ์ศิริ  มีสมสืบ - มือนั้นสีขาว

ถอดหน้ากาก (๒๕๓๑)

พี่ชายสวมหน้ากาก     ผีร้าย
น้องสาวหวีดวี้ดว้าย     วุ่นวิ่ง
พี่โยนหน้ากากทิ้ง       ยิ้มแฉ่ง
น้องน้อยวิ่งรี่แย่ง        ฉกหน้ากากสวม

น้องสาวสวมหน้ากาก    ผีร้าย
พี่ชายร่ายมนต์ขลัง      ขมังขม้ำ
น้องสาวเข้ากอดปล้ำ    ดุเดือด
กอดพิชิตดูดเลือด       เสื่อมแล้วมนต์ขลัง

ข้อสังเกต
- วรรคสุดท้ายมี ๔ คำ แบบโคลงสี่สุภาพ
- เสียงในตำแหน่งเอกโทยังคงเป็นแบบโคลงสี่สุภาพ แม้จะไม่เคร่งรูปวรรณยุกต์
- สัมผัสแบบกาพย์ นั่นคือคำสุดท้ายของวรรคสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคถัดไป
-แบบนี้ไม่นับเป็นโคลงโบราณแน่ ๆ เพราะฉีกตำราเรื่องสัมผัสไปมาก

๕. อังคาร  จันทาทิพย์ - แนวรบด้านตะวันออก (ก.พ.๒๕๕๔)

โคลงสินธุมาลี
ต้นสายปลายเหตุ ต้น-------------------กำเนิดไหน
หลักแหล่งคุ้มชีวิตไหล------------------เลือดข้น
ว่านเครือ รัฐ ชาติ ใคร------------------กำหนดเขต
แยกเหล่า ทำลายต้น-------------------ตัดสิน

ถิ่นฐาน ทาง ซ้อนทับ-------------------อารยธรรม
พันผูกวิถีชีวิตกำ-----------------------เนิดสร้าง
สู่กรอบครอบปิดงำ---------------------เงื่อนเปลี่ยน
รุกประดังพนมดงรักร้าง------------------แรมรา

ข้อสังเกต
- กวีระบุอย่างตั้งใจว่านี่เป็น โคลงสินธุมาลี ไม่ใช่โคลงดั้น
- ตำแหน่งที่ควรจะเป็นเอกโทในโคลงสี่ทั่วไปก็ยังคงเป็นคำเอกคำโท ยกเว้นวรรคสุดท้ายที่ลดโทไป ๑ ตำแหน่ง และไม่เคร่งเอก


ตามที่กล่าวมา โคลงโบราณจึงไม่โบราณจริง ถึงแปลงสัมผัสอย่างไรก็ต้องมีเอกโทจึงจะนับเป็นโคลง

โคลงที่แสดงความโบราณจริง ๆ คือ โคลงห้า อย่างลิลิตโองการแช่งน้ำ เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครฟันธงว่ามีฉันทลักษณ์เป็นอย่างไร มีแต่จิตร ภูมิศักดิ์ ที่อธิบายและจัดรูปแบบโคลงได้อย่างน่าเชื่อถือที่สุด และได้เสนอแนะรูปแบบใหม่ คือ โคลงห้าพัฒนา ก็มีคนแต่งไม่มากนัก อย่างที่รู้กันอยู่

ที่เสวนาเรื่องนี้ แค่แลกเปลี่ยนความรู้ อย่าเข้าใจผิดว่าห้ามแต่งนะครับ ใครอยากประดิษฐ์อย่างไร ก็ตามใจเถิด แต่บางอย่างบูรพาจารณ์ก็ทดลองมาแล้ว อะไรใช้ได้ ใช้ไม่ได้ก็ควรเรียนรู้และปรับปรุงกันต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.393 วินาที กับ 19 คำสั่ง