willyquiz
|
กราบคารวะท่านเจ้าเรือนและเหล่าผู้อาวุโสทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิทุกท่านจากใจจริงของสมาชิกใหม่ ปกติก็ขออ่านเพียงอย่างเดียวเพื่ิอประเทืองสติปัญญาแห่งตน แต่อ่านมาแรมปียังไม่มีท่านผู้ใดหรือกระทู้ใดจะคลายความกระหายใคร่รู้ได้จึงจำใจต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งของเรือนไทยทั้งที่ตนเองมีความรู้น้อยซ้ำยังพิมพ์แบบสัมผัสไม่เป็นเสียอีกได้แต่จิ้มทีละตัวอักษร ทั้งนี้ก็เพียงแต่ขอตั้งกระทู้เพื่อขอความรู้จากท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายน่ะครับ ผมอยากให้ท่านที่ชำนาญในชั้นเชิงกวีช่วยประพันธ์บทกวีประเภทกลบทหรือกระทู้เป็นทานให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป สมาชิกของเรือนไทย โดยเฉพาะตัวผมเองที่เข้ามาเยี่ยมชมเพื่อไม่ให้สูญหายไปจากวงวรรณกรรมของเรา ถ้ามีเกร็ดหรือสิ่งควรรับรู้เกี่ยวเนื่องกับกลบทหรือกระทู้นั้นๆ ก็ขอความรู้นั้นเป็นทานแก่สาธารณะด้วยครับ เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้วขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น คุณครูให้การบ้านเป็นโคลงกลบทอะไรก็ได้แล้วแต่ใจ ผมนึกไปนึกมาได้ยินเพลง "บัวตูมบัวบาน" ของ อ. พร ภิรมย์ จึงนำมาตั้งเป็นโจทย์ ตั้งชื่อกลบทที่คิดขึ้นเองนี้ว่า "กลบทอักษรล้วนสลักแก้ว" แล้วส่งคุณครู ดังนี้ บัวตูมตูมเต่งตั้ง เตือนตา ตาต่อตามเต็มตา ไต่เต้า เต้าตูมเต่งต้องตา ตาตื่น ตื่นเต่งตึงตุ่มเต้า แตะต้องตูมบัว ฯ บัวบานบานเบียดแบ้ ใบบัว บัวเบี่ยงใบบังบัว บู่บี้ บี้แบนบ่าวบีบบัว บัวบ่ง บ่งบ่าวบุกบดบี้ บ่นบ้าบานบัว ฯ แล้วนำเพลง "รักเร่" ของคุณ มัณฑณา โมรากุล กับดอก "ชวนชม" ที่พ่อปลูกไว้หน้าบ้านมาเป็นโจทย์เพิ่มเพื่อให้ครบสี่บท รักเร่ระเร่าร้อน เรรวน รวนระเรรารวน เริดร้าง ร้างระร่อนรักรวน รวนร่วง ร่วงระรุ่ยรีบร้าง เร่งเร้นเร่รัก ฯ ชวนชมชวนชื่อชี้ ชายชม ชมเช่นแชเชือนชม เชื่องช้า ช้าเชิงเชี่ยวชาญชม ชมชื่น ชื่นเชื่อมชั้นเชิงช้า แช่มช้อยชมชวน ฯ จากกลบทการบ้านชิ้นนี้เองที่คุณครูบอกว่าผมเป็นคนนอกตำรา ไปเอาหลักเกณฑ์มาจากไหน ไม่มีใครเขาแต่งโคลงกันแบบนี้ ผมเลยเปลี่ยนชื่อกลบทชิ้นนี้ของผมเสียใหม่ ว่า "กลบทอักษรนอกตำรา" เสียเลย คำถาม : ใครเป็นผู้กำหนดว่ากลบทจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีหลักฐานบ้างหรือไม่ที่ตั้งกรอบแห่งกลบทไว้ ถ้ามี อ้างอิงจากแหล่งใด ขอบคุณครับ.
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 16 มี.ค. 11, 09:09
|
|
คุณทำได้ ๒ อย่าง ๑ ใช้ search engine ของเรือนไทย ดูตรงคำว่า "ค้นหา" ในแถวบนของหน้าแรก แล้วค้นคำว่า กลบท เลือกจากห้อง ภาษาและวรรณคดี จะมีกระทู้เก่าๆ พูดถึงเรื่องนี้ ๒ อ่านกระทู้ กลโคลง http://www.reurnthai.com/index.php?topic=496.0
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
luanglek
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 16 มี.ค. 11, 09:26
|
|
ผมเห็นว่า โคลงกลบทนี้ อยู่นอกตำรา อย่างที่อาจารย์ของคุณบอก เพราะโคลงกลบทไม่ว่าจะมีบังคับพิเศษอย่างไร ก็จะไม่แต่งให้คำคำเดียวกันมารับสัมผัสในบทเดียวกัน
อย่างโคลงของคุณ ใช้คำคำเดียวกันรับส่งสัมผัสทุกบท ถือว่าผิดฉันทลักษณ์อย่างแรง
โคลงกลบทที่ใช้อักษรล้วนทั้งบทนั้น คิดว่าไม่น่าจะมี มีแต่ใช้พยัญชนะล้วนเฉพาะบาท
กลบทนั้น ก็คือคำประพันธ์ที่แต่งตามข้อกำหนดฉันทลักษณ์ ของร้อยกรองแต่ละชนิด และเพิ่มลักษณะพิเศษที่ทำให้แต่งได้ยาก ขึ้นไปอีก เช่น แต่งใช้อักษรสลับในวรรคเดียว กำหนดให้คำแรกของวรรคเป็นคำสุดท้ายของวรรคด้วย กำหนดให้ใช้แต่คำตายทั้งบท เป็นต้น กลบทนั้น ก็คือ กลวิธีการแต่งร้อยกรองให้พิเศษยิ่งกว่าธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่า แต่งแล้วจะไพเราะดีเสมอไป เพียงแต่สิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้มีความสามารถในการแต่ง ที่มีความชำนาญในพื้นฐานการแต่งคำประพันธ์แล้ว ให้ประลองฝีมือกัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 16 มี.ค. 11, 09:51
|
|
มีโคลงกลบทอยู่ชนิดหนึ่งชื่อว่า "ช้างประสานงา" แต่กลบทชนิดนี้กลับแยกออกเป็นสองตำราซึ่งแตกต่างกันอย่างมากโดยไม่ทราบจริงๆ ว่าชนิดใดเป็นของแท้หรือเป็นของเทียม หรือเพียงแต่ชื่อ มาพ้องกันเข้าโดยบังเอิญ แต่ก่อนที่จะยกตัวอย่างมาให้เห็น ผมขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ผมจะตั้งโจทย์ของผม (ชื่อเรื่อง) เป็นดอกบานชื่นเสมอ เนื่องจากว่าโดยความเห็นส่วนตัวของผม บานชื่น เป็นดอกไม้ที่สะอาดหมดจด บริสุทธิ์ ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยกลิ่น (ไม่ว่าหอมหรือเหม็น) เพื่อยั่วยวน หรืออาศัยสีสันที่ฉูดฉาดเพื่อเรียกร้อง เปรียบดังสาวชนบทที่ใสซื่อและสะอาด ดอกบานชื่นจึง ประทับใจผมอยู่ตลอดมา เข้าเรื่องดีกว่าครับ กลบทช้างประสานงารูปแบบแรกจะต้องตีเป็นตารางเพื่อบรรจุอักษรเป็นลักษณะของปริศนา ผู้ที่อ่านจะต้องมีความรู้พอจึงจะอ่านได้ แต่ผมกล่าวไว้เป็นเบื้องต้นแล้วว่ามีความรู้ น้อย แม้แต่การพิมพ์ผมยังต้องจิ้มทีละตัวอักษร ดังนั้นผมจะวางรูปแบบไว้ตามธรรมดา แต่จะกำหนดตัวเลขการอ่านไว้ให้ ผู้อ่านก็อ่านไล่ไปตามหมาบเลขเท่านั้น รูปแบบมีดังนี้ ด้วยเกี่ยวนาม ๓ ๒ (๙) นิ่ม ๔ (๗) มา ๘ หมายแสวงหา ๑ (๑๐) เนื้อ ๕ (๖) ลา ราโรยบ่ ๑๓ ๑๒ (๒๑) ชื่น ๑๕ (๑๘) คง ๑๙ กลางใจเอื้อ ๑๑ (๒๒) บาน ๑๖ (๑๗) อยู่ ๒๐ ยั่วยิ้ม
ตามปกติจะต้องมีการตีกรอบไว้เพื่อบรรจุอักษรไว้ภายใน แต่ผมทำไม่เป็นนะครับ เมื่อเฉลยแล้วรูปแบบจะเป็นดังนี้ เนื้อนิ่มนามเกี่ยวด้วย มาลา ลามาหมายแสวงหา นิ่มเนื้อ บานชื่นบ่โรยรา คงอยู่ อยู่คงกลางใจเอื้อ ยั่วยิ้มชื่นบาน ฯ
นี่คือโคลงกลบทช้างประสานงารูปแบบหนึ่ง ส่วนอีกตำราหนึ่งแตกต่างออกไปไม่ยุ่งยากเท่ารูปแบบแรกนัก ดังนี้
นางเอยคมเนตรน้อง "เบนชาย" "บานชื่น" เพียงกรุยกราย 'พี่เต้น' 'เพียรติด' ดั่งเงาฉาย "เคียงร่าง" "ค่อนรุ่ง" บ หลีกเร้น ร่ำร้องรอสูรย์ ฯ ข้อกำหนดของกลบทช้างประสานงารูปแบบนี้เป็นไปตามเครื่องหมายที่ได้ทำไว้ให้เห็นเท่านั้น คำถาม : อาจารย์ท่านใดพอจะให้ความกระจ่างในเรื่อง "โคลงกลบทช้างประสานงา" ทั้งสองรูปแบบนี้ได้บ้างครับ ขอบคุณครับ.
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 16 มี.ค. 11, 13:04
|
|
ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ คล้ายกับที่คุณครูผมสอนไว้เกือบทุกประการ แต่ขณะนั้นผมมีอายุแค่ 12-13 ขวบ เพิ่งจะเรียนวิชาการประพันธ์ อยากจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง (คิดนอกกรอบ) เลยคิดค้นด้วยตนเองตามประสาเด็กๆ ด้วยเหตุนี้ผมจึงเดินตามรอยบุรพาจารย์มาตั้งแต่นั้น เดี๋ยวนี้ผมอ่านบทกวีของศิลปิน ระดับชาติที่เขียนอะไรแปลกๆ นอกกรอบที่คุณครูเคยสอน ผมจึงไม่ค่อยประทับใจเท่าไรนัก (ทั้งๆ ที่เขายกย่องกัน) ผมขอเดินตามรอยท่านดังเดิมสบายใจกว่า และกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ใหญ่เจ้าเรือนที่กรุณาแนะแนวทางให้ ผมอ่านอย่างใจจดใจจ่อทีเดียว แต่เดิมเมื่อครั้งที่ท่านแสดงความเห็นใน ชั้นเรียนวรรณกรรม (คนเขียน เพลง) ที่มีต่อเพลง Harper Valley P.T.A. นั้น ยอมรับว่าผมมองท่านด้วยความแปลกใจและไม่ยอมรับในความคิดเห็นนั้น แม่คนหนึ่งจะมีลูกสูงสุดได้สักกี่คน แต่ครูอาจารย์ เพียงคนเดียวสามารถมีลูก (ศิษย์) ได้นับหมื่น (แล้วแต่อายุราชการ) ส่วนใหญ่เด็กจะเชื่อครูหรือกลัวครูมากกว่าพ่อแม่เสียอีก ถ้าครูทำตัวอย่างที่ไม่ดีแบบเดียวกับที่แม่เด็กทำแล้ว จะถือสิทธิอันใดที่จะไปประณามแม่ของเด็ก ผลสุดท้ายเด็กนั่นเองที่เป็นผู้รับกรรม แต่ตอนนี้ผมขอกราบขออภัยท่านในมโนกรรมที่ผมก่อเอาไว้ครับ กระทู้ที่ท่านแนะให้ผมเข้าไปดูนั้นผมไม่เคยอ่านมาก่อนเลยครับ มีประโยชน์มาก คุณพลายงามเก่งจริงๆ แต่ท่านไม่คิดว่ามันยากเกินไปสำหรับยุวชนที่กำลังเริ่มต้นหรือครับ เพราะกลโคลงที่ลงกันไว้นั้นส่วนใหญ่เป็นกลโคลงอักษร (ปริศนา) เกือบทั้งนั้น ดูเอาจากหลานผมที่เบ้หน้าก็พอจะทราบว่าเกินความสามารถของแกเกินไป ผมเพียงอยากให้มีการ แสดงความสามารถในการประพันธ์เชิง "กลบท" ธรรมดาไม่ใช่ "กลบทอักษร หรือ ปริศนา" เพื่อยุวชนที่เริ่มจะให้ความสนใจสามารถที่จะเข้าร่วมแสดงความสามารถด้วย ดูตัวอย่าง จากโคลง "กลบทช้างประสานงา" ทั้งสองแบบที่ผมลงไว้ก็ได้ หนึ่งเป็นโคลงกลบทอักษร หนึ่งเป็นโคลงกลบทธรรมดา โคลงกลบทอักษรนั้น ถ้าผมไม่เฉลยไว้ให้ จะมีเยาวชนสัก กี่ท่านที่สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง แต่กลบททั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ผมตั้งกระทู้นี้เพื่อเชื้อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายได้กรุณาแสดงความสามารถของท่านประพันธ์โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย แบบ "กลบท" ให้ปรากฎไว้เป็นที่เรียนรู้แก่บุคคล ทั่วไป เรามีกลบทมากมายที่ยังไม่เป็นที่รับรู้หรือถูกเก็บงำเอาไว้ หากท่านเปิดเผยออกมาก็จะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกเรือนไทยและแก่บุคคลทั่วไปทั้งหลายที่เข้าเยี่ยมชมนะครับ ผมกราบเรียนเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิแต่งเป็นตัวอย่างเพื่อฝากฝีปาก (กา) ของท่านอีกครั้งครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 16 มี.ค. 11, 13:41
|
|
ไม่ถนัดเรื่องแต่งกลบท ขอเชิญท่านอื่นๆค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
:D :D
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 16 มี.ค. 11, 14:15
|
|
ไม่เก่งด้านกลบทเช่นกันค่ะ แต่จะขอเชิญ กลบท ของบรมครูมนตรี ตราโมท จากหนังสือ ม.ต.ปกิณกนิพนธ์ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายมนตรี ตราโมท ม.ป.ช. ม.ว.ม. ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 22 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2538 ) ถ้าสนใจด้านนี้ลองหามาศึกษาดูนะคะ
โคลงกลบทสาลินี เป็นโคลงกลบทที่ผู้อ่านสามารถอ่านเป็นสาลินีฉันท์ ๑๑ ก็ได้ และเป็นโคลงสี่สุภาพ ก็ได้ค่ะ
"หยาดฝน"
สาลินีฉันท์ ๑๑
ฝนพรำฉ่ำชุ่มพื้น สุธาชื่นหทัยชน ผาสุกเรื้องรุกขผล และดอกดาระดาษคลี่
โลกปลดกำเดาเปลื้อง อุบัติเปล้ประดาปรีด์ ชาวนาสวนซิกซี้ สราญยิ่งขยันทำ
งานเร่งจ้ำให้ทัน ฤดูกาลวรุณฉ่ำ ชนที่ชอบเที่ยวช้ำ มนัสแค้นพิรุณโปรย
โคลงสี่สุภาพ ฝนพรำฉ่ำชุ่มพื้น สุธา ชื่นหทัยชนผา- สุกเรื้อง รุกขผลและดอกดา- ระดาษคลี่ โลกปลดกำเดาเปลื้อง อุบัติเปล้ ประดาปรีด์
ชาวนาสวนซิกซี้ สราญ ยิ่งขยันทำงาน เร่งจ้ำ ให้ทันฤดูกาล วรุณฉ่ำ ชนที่ชอบเที่ยวช้ำ มนัสแค้น พิรุณโปรย
สำหรับภาพด้านล่างเป็น โคลงกลบทช้างประสานงา ค่ะ
"คนึงรัก"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 16 มี.ค. 11, 18:13
|
|
ประทับใจมากครับคุณ DD ขอบพระคุณอย่างสูงครับ จริงอย่างที่ผมบอกไว้เลยครับว่าของดียังถูกซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย อย่างน้อยผมก็ได้รับทราบเพิ่มเติมว่า ยังมีโคลงกลบท "ช้างประสานงา" อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งผมไม่เคยรับรู้มาก่อน ผมต้องบันทึกเอาไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวแน่นอน โดยปกติผมใช้วิชาครูพักลักจำ อ่านพบที่ไหนผมก็จะคัดลอกเอาไว้เพื่อเป็นแม่แบบ เมื่อหลานๆ ให้แต่งเป็นตัวอย่างผมก็จะแต่งให้โดยอาศัยแม่แบบที่บันทึกไว้ (ของเดิมมักจะเป็นภาษาโบราณขนาดบางคำหาในพจนานุกรมไม่ได้) เป็นแนวทาง การแต่งก็จะใช้ภาษาง่ายๆ ให้สมกับวัยของหลานๆ แต่ข้อจำกัดของผมก็คือ ผม ไม่รู้เลยว่าบทประพันธ์นั้นถูกต้องตามแบบแผนฉันทลักษณ์ของเดิมหรือไม่ ผมจึงได้มาขอความรู้จากเหล่าคณาจารย์ในที่นี้ครับ ล่าสุดหลานให้แต่งกลอนเพลงยาวแบบกลบทให้ดูแล้วต้องโรแมนติกหรือเป็นเรื่องราวของชีวิตคนเสียด้วย เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างหินสำหรับผมจริงๆ เพราะผมไม่ถนัด ในแนวนี้ แต่ก็จำใจต้องแต่งให้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก ผมขออนุญาตยกตัวอย่างบางช่วงบางตอนมาลงไว้ในที่นี้ ถ้ามีสิ่งใดผิดพลาดขอท่านผู้รู้ช่วยเสนอแนะด้วยครับ
๑. กลบทกบเต้นต่อยหอย :- "ยอดดวงใจไยด่วนจาก" มาพรากหนี "เจ้ามิซึ้งจึงมาซ้ำ" ทำย่ำยี "ล้วงใจพี่ลี้จำพราก" กระชากไป "เหลือแต่กายลายตกกระ" สะท้อนจิต "แม้คำนิดมิตรเคยนอน" ร่วมหมอนไหม "ยังมิเคยเย้ยแม่ค่อน" ให้ร้อนใจ "ด้วยเหตุไรได้ห่างรัก" หักอำลา
๒. กลบทกบเต้นสลักเพชร :- "เคยทั้งสุขคราทุกข์เศร้า" เจ้าอยู่ข้าง "ไม่ทิ้งห่างแม้ทางเห็น" เป็นปัญหา "จับมือพี่เจ้ามิพราก" จากสายตา "ร่วมทางมาเราท้ามัน" มิหวั่นเลย "ยามรันทดยื่นรสถ้อย" คอยปลุกปลอบ "รักต่างมอบรู้ตอบมาน" หวานเฉลย "ด้วยคำเจ้าด่ำเข้าใจ" ให้เสบย "อกอุ่นเคยอิงเอ่ยคำ" จำนรรจ์พร
๓. กลบทกวางเดินดง :- (กระทู้ ; ไยเจ้ารีบด่วนมาหนีจากไป) ไย เอ๋ยเจ้าสายใยใจสวาท เจ้า เอ๋ยคลาดคลาล่วงดวงสมร รีบ เอ๋ยเจ้ารีบพรากมาจากจร ด่วน เอ๋ยเจ้าด่วนร้อนมิผ่อนคลาย มา เอ๋ยลมเย็นเย็นมาเป็นเพื่อน หนี เอ๋ยเลือนลับไปไม่ขวนขวาย จาก เอ๋ยลาจากเร้นไม่เห็นกาย ไป เอ๋ยเจ้าไปหายคล้ายดังลม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 17 มี.ค. 11, 10:24
|
|
หลานชายบังเกิดเกล้าโทรศัพท์มาต่อว่าปู่แต่เช้ามืดว่าปู่ก็เข้าอีหรอบเดียวกันกับหนังสือกลบทสุภาษิตในตู้หนังสือของเรือนไทยนั่นแหละ คือไม่อธิบายอะไรเลยไม่บอกกลวิธีให้รู้ว่าทำไมจึงเรียกว่ากลบทชนิดนั้นๆ เคล็ดการดูอยู่ตรงไหน ปู่เองก็จนด้วยเกล้าไม่รู้จะตอบหลานให้ เหมาะสมอย่างไร ได้แต่บอกว่าปู่บอกไม่ได้เพราะตัวปู่เองก็ต้องใช้วิธีสังเกตุดูและแยกแยะความแตกต่างจากโคลงกลอนธรรมดา ผู้ที่ดูแลเว็บ แต่ละท่านล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าปู่อธิบายความผิดพลาดไปก็จะเป็นผลเสียเสียมากกว่า ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณา เอง เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "กลบท" ดังนั้นย่อมต้องมีข้อแตกต่างกว่าโคลงกลอนธรรมดาแน่นอน ปู่เองก็ทำเครื่องหมายให้ผู้อ่านสังเกตุเอา เองอยู่แล้ว อนุสนธิจากการที่หลานชายโทรศัพท์มาแต่เช้า ทำให้หวนนึกถึงตนเองตอนที่อยู่ในวัยนั้นที่เพิ่งเริ่มแต่งโคลงกลอนเป็น เห็นอะไรก็อยากเขียน ออกมาเป็นโคลงกลอนเสียทั้งหมด มีอยู่เกมหนึ่งซึ่งชอบเล่นกับเพื่อนคอเดียวกันคือ "ใครเอ่ย" และ "อะไรเอ่ย" เป็นโคลงหรือกลอน เลยอยาก ลงเอาไว้เป็นตัวอย่างให้ลองขบคิดกันดู (ขอนอกเรื่องกลบทสักนิดหนึ่ง) ใครเอ่ย? :- คือโศภิตแต่ตัน พิจารณ์ คือรัศมิมาน รุ่งเร้า คือขอวรทาน จากท่าน คือปริศนาเรียงเข้า นั่นแล้นามนาง ฯ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 18 มี.ค. 11, 10:58
|
|
เอ! ปริศนายากเกินไปหรือนี่ เอ้า งั้นลองดูใหม่ เอาชื่อเดิมนี่แหละแต่แก้แค่ชั้นเดียวก็แล้วกัน
คำแรกบอกกล่าวไว้ ดีงาม สองรัศมีวาม ผ่องแผ้ว สามคือสิ่งขอตาม ใจชอบ เรียงประสมกันแล้ว แน่แท้นามนาง ฯ
บอกใบ้ให้นิดว่า คิดคำแรกได้แล้วให้ตั้งไว้ก่อน แล้วค่อยคิดคำต่อไป หากคิดได้ถึงสองคำเชื่อว่าเมื่อนำมารวมกันแล้วก็พอจะเดาออก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 19 มี.ค. 11, 02:33
|
|
สุ คืองามแน่แท้ ความหมาย ภา ดั่งแสงพรรณราย รุ่งแจ้ง พร คือสิ่งหญิงชาย หวังมุ่ง จริงนา คงบ่มีใครแย้ง ชื่อนี้สุภาพร ฯ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 19 มี.ค. 11, 04:48
|
|
๔. กลบทกินนรเก็บบัว :- เมื่อ'คิด'ถึง'คิด'ทวนหวนเรื่องหลัง แม้'กระ'ทบ'กระ'ทั่งยังสุขสม พี่'หยอก'ล้อ'หยอก'เอินเพลินอารมณ์ เจ้า'ทำ'ซม'ทำ'ซบครบกระบวน แกล้ง'แง่'งอน'แง่'เง้าเอากับพี่ นิ้ว'ลอบ'จี้'ลอบ'จิ้มแล้วยิ้มสรวล ทำ'สะ'บัด'สะ'บิ้งล้อพอสมควร ให้'พี่'ทวน'พี่'ย้ำแต่คำ"รัก"
๕. กลบทครอบจักรวาล :- 'เจ้า'ต้องการอย่างไรตามใจ'เจ้า' 'หนัก'มิเบาเราทนมิบ่น'หนัก' 'ภักดิ์'เที่ยงแท้แน่ในน้ำใจ'ภักดิ์' 'แจง'คำ"รัก"สักล้านครั้งพี่ยัง'แจง' 'ยาม'พี่ไข้ได้เจ้านั่งเฝ้า'ยาม' 'แสง'ไฟตามต้องตาเจ้ารา'แสง' 'แรง'พิษไข้ร้อนรุ่มเจ้าทุ่ม'แรง' 'ซับ'พิษแห้งหายป่วยเจ้าช่วย'ซับ'
๖. กลบทตรีประดับ :- (อักษรสามหมู่, ตรีเพชร เห็นเรียกอยู่ในบางแห่ง) แล้วต้ม'ข้าวข่าวขาว'ขึ้นพราวหม้อ เตรียมกับ'รอร่อร้อ'พอเสร็จสรรพ เจ้ายก'ช้อนช่อนชอน'ป้อนปากรับ แกมบังคับให้'เคี้ยวเคี่ยวเคียว'กลืน ต้ม'น้ำน่ำนำ'มารอท่าพี่ ครั้นได้'ทีที่ที้'พี่แกล้งขืน เจ้า'เง้าเง่าเงา'งอดกอดอกยืน พี่'รืนรื่นรื้น'หวัวจนตัวงอ
๗. กลบทธงนำริ้ว :- "'ดูดู'ซีทำเข้าเจ้ากอดอก 'มามา'ยกน้ำมาวางข้างพี่หนอ 'แกล้งแกล้ง'หยอกดอกหนาทำหน้างอ 'งอนงอน'ง้อขอดีด้วยช่วยการุณย์ 'โอ๋โอ๋'แต่ช้าแต่แม่กานดา 'นำนำ'มาผ้าซับกับน้ำอุ่น 'เหนอะเหนอะ'เนื้อตัวแย่แล้วแม่คุณ 'ทำทำ'บุญกับพี่หน่อยเถิดกลอยใจ"
๘. กลบทบวรโตฎก :- 'สะเทิ้น'อายหน่ายหนีให้พี่คิด 'สะท้อน'จิตติดตรึงจึงหวั่นไหว 'สะท้าน'ทรวงหน่วงหนักรักทรามวัย 'สะเทื้อน'ใจไยแกล้งทำแล้งรา 'ขนาบ'ข้างพลางพลอดกอดกระชับ 'ขนาน'รับกับทรวงดวงยิหวา 'ขนอง'หันผินให้ไยแก้วตา 'ขนาง'หน้าหรือน้องต้องจุมพิต
๙. กลบทบัวบานกลีบขยาย :- 'เจ้าอาย'เอียงเบี่ยงบ่ายส่ายหน้าหลบ 'เจ้าอาย'ซบอกงุดพี่ฉุดติด 'เจ้าอาย'เหนียมเตรียมหนีพี่ประชิด 'เจ้าอาย'ปิดป้องปัดพัลวัน 'เจ้าอาย'ปรางค์พลางแนบแอบอกหวง 'เจ้าอาย'ทรวงกรกกปกสองถัน 'เจ้าอาย'โอษฐ์เม้มมิดปิดไรทันต์ 'เจ้าอาย'กรรณคู่งามหรือทรามเชย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 20 มี.ค. 11, 01:51
|
|
๑๐. กลบทบุษบารักร้อย :- จัดเตรียมพร้อมทุก'อย่างอย่าง'หน้าที่ ประเสริฐ'ศรีศรี'เรือนมิเชือนเฉย เอาใจ'ใส่ใส่'ใจไม่ละเลย สุดจะ'เอ่ยเอ่ย'ถ้อยเรียงร้อยพจน์ ทุกยามเช้าเจ้า'ตื่นตื่น'ขึ้นก่อน แต่ยาม'นอนนอน'ทีหลังดังกำหนด เป็นประ'จำจำ'ได้ไม่เคยคด เจ้าวาง'กฎกฎ'เจ้าสุดเข้าใจ
๑๑. กลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย :- แต่'ถึง'คราเคราะห์กรรมนำมา'ถึง' รักเราจึง'ไหว'เคลื่อนสะเทือน'ไหว' เจ้า'ไป'หลงคำคนจนจาก'ไป' แสนอาลัย'ช้ำ'ชอกตอกอก'ช้ำ' ใครเล่าจะ'รัก'เจ้าเท่าพี่'รัก' มาด่วนหัก'ถลำ'คลาดพลาด'ถลำ' สุด'ระกำ'กรรมบาปสาป'ระกำ' ลม'แรง'คำซ้ำซัดสะบัด'แรง'
๑๒. กลบทสะบัดสะบิ้ง :- แรกพาทีมีท่า'ละล้าละลัง' ทำดุจดังเคืองข้อง'ระหองระแหง' บึ้งใบ้ใจน้อย'ตะบอยตะแบง' หน่ายแหนงเกรี้ยวกราด'ฟูมฟาดฟูมฟาย' พี่ถามเรื่องราวเจ้า'วิงเว้าวิงวอน' กลับโดนย้อนยอกคำ'ระส่ำระสาย' ส่ายพักตร์ผมรุ่ย'ขจุยขจาย' งมงายงงหนัก'หัวปักหัวปำ'
๑๓. กลบทอักษรสังวาส :- 'เหงาเศร้า'จิตคิดไปให้'หนักนัก' 'ฤทธิ์พิษ'รักแรงร้ายร่าย'คำพร่ำ' 'เคยเอ่ย'หวานพาลขมลม'น้ำคำ' 'แกล้งแทง'ย้ำเหน็บแนมแกม'ปึ่งตึง' 'คงหลง'ผิดคิดไปใช่'แสนแค้น' 'รักหนัก'แน่นทำเอาเจ้า'จึงหึง' 'เพียงเสียง'ล้อต่อคำค'นึงอึง' 'หามา'ขึ้งขุ่นเจ็บเก็บ'มิดชิด'
๑๔. กลบทคำตาย :- (สะกดด้วยตัวอักษรคำตายทุกคำ) อนาถหนักรักขาดสวาทหลุด เพราะนาฏนุชเหน็บอกกลับปกปิด ลอบสลัดตัดพรากจากยอดมิตร มิคาดคิดผิดคาดประหลาดนัก หากหลับเนตรหยุดตรึกนึกวาดภาพ จะซับซาบอาบจิตคิดประจักษ์ อดีตแรกแตกยับกับพิษรัก ก็เพราะปักจิตพลาดคลาดเหตุลึก
๑๕. กลบทอักษรงูกินหาง :- (ซ่อนรูปเอาไว้) ใครเล่าบอกหลอกเจ้า จงตรองตรึกนึกให้ออก อย่าทักทึกนึกกล้า ศึกในใจล้ำลึก เขาคนนั้นพลันป่น เจ้าหวั่นไหวไยนั่น พูดไยไพใครปูด พี่ไม่เคยเอ่ยใส่ไคล้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
willyquiz
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 27 มี.ค. 11, 20:41
|
|
กลอนเพลงยาว :-
-: ตัวสำรอง :-
พี่หมายปองน้องนุชดุจกระต่าย หมายโลมบุหลันพรรณราย เฉิดฉายพรายประจบนภดล รักน้องน้องรักหักสวาท คลาดแคล้วแคล้วคลาดพิลาสหน ตรอมอกอกตรอมพี่ปลอมปน ช้ำทนทนช้ำน้ำตาคลอ โหยหามาหายมลายสิ้น อกวิ่นวาบไหวกระไรหนอ คนข้างคอยเคล้าพะเน้าพะนอ งอนง้องอเง้าเฝ้าเอาใจ เขาดูแลพี่แลดูอยู่ห่างห่าง เขาควงข้างพี่ครวญคร่ำน้ำตาไหล เขาอิงแอบพี่อึกอักหนักหทัย เขาจรไกลพี่จึ่งกรายหมายพบนวล คิดฮึกฮักหรือหักงิ้วให้ปลิวสิ้น เพื่อยุพินโฉมงามทรามสงวน มิกลัวแล้วงิ้วหนามจะลามลวน มัวครางครวญคำเศร้าไม่เข้าการ หากรวยรื่นฝืนจิตคิดถึงพี่ อาจจะมีใจปลงด้วยสงสาร น้ำใจน้องนาชนุฎกุสุมาลย์ ขอเป็นทานพี่หน่อยกลอยใจเอย ฯ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
อกนิษฐ์
อสุรผัด

ตอบ: 10
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 28 มี.ค. 11, 14:12
|
|
มาชื่นชมคุณ willyquiz  อ่านสำนวนที่เรียบลื่นงดงาม ชัดคม แสดงถึงวัยวุฒิ คุณวุฒิทางท่าน ดูกลบทแต่ละบทที่ยกมาก็แยบยล และเป็นแบบอย่างที่ดี น่าอิจฉาหลาน ๆ ของท่านจัง พึ่งแวะเข้ามาเห็นกระทู้นี้ ต่อไปจะแวะมาบ่อย ๆ ครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|