เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 141470 ของเสวยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 04 เม.ย. 11, 21:53

^
^

เจ้าจอมเอิบท่านเก่งหลายอย่าง

ถ่ายรูปก็เก่ง



ทอดปลาทูก็เก่ง

บทความเรื่อง “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ในหนังสือ พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร ของ บุญมี พิบูลย์สมบัติ หน้า ๒๐๖ เล่าถึงการที่ทรงเอาจริงเอาจังมากกับปลาทู ซึ่งเป็นอาหารโปรดเวลาที่เสด็จเมืองเพชร และคนทอดปลาทูที่ถูกใจก็เห็นมีแต่เจ้าจอมเอิบเท่านั้น

“การเสวยปลาทูนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพิถีพิถันมาก แม้แต่คนทอดปลาทูก็ทรงใช้คนที่มีความรู้ความเข้าใจในการปรุง การทำให้ถูกต้องคือกินอร่อย ใช่สักแต่ว่าทำได้พอเสร็จ โดยเฉพาะทรงเลือกหาคนทอดปลาทูที่ถูกใจ และมีฝีมือตามพระราชประสงค์นั้นคงได้แก่ เจ้าจอมเอิบ ซึ่งเป็นท่านหนึ่งในจำนวนเจ้าจอมจากสกุลเมืองเพชร ๘ ท่านนั่นเอง”

ในงานขึ้นพระตำหนักพญาไท  เมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๙ ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาบุรุษในเรื่องการทอดปลาทู โดยให้รถไปรับเจ้าจอมเอิบมาที่พระตำหนักพญาไทเพื่อมาทอดปลาทูโดยเฉพาะ ดังความว่า

สวนดุสิต
๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๙

พระยาบุรุษ

เรื่องทอดปลาทูข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบออกไปทอดเตรียมเตาและกระทะไว้ให้พร้อม”

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 04 เม.ย. 11, 22:05

เมื่อเอ่ยถึงเพชรบุรี  ก็ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ของเสวยอีกอย่างจากเมืองเพชร คือ "น้ำ"  ในแม่น้ำเพชรบุรี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465  ตอนหนึ่งว่า

"...เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันว่าเป็นน้ำดี    เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่านิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่ง พระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้ว    เสวยน้ำอื่นๆไม่อร่อย  เลยต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรีและน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริงๆตลอดมากาลปัจจุบัน"

ข้อความในใบบอกเมืองเพชรบุรี พ.ศ. 2420 จากพระยาสุรินทรฤาไชย

" ด้วยมีตราพระคชสีห์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปแต่ก่อน     ให้ข้าพเจ้าแต่งกรมการกำกับกัน คุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไช (วัดท่าไชยศิริ) ส่งเข้ามาเป็นน้ำสง (สรง) น้ำเสวยเดือนละสองครั้งๆละยี่สิบตุ่มเสมอทุกเดือนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งให้ขุนลครประการคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไชยี่สิบตุ่ม     ได้เอาผ้าขาวหุ้มปากตุ่มประทับตรารูปกระต่ายประจำครั่ง   มอบให้ขุนลคร ประการคุมมาส่งด้วยแล้ว"


ความสำคัญของน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีอีกอย่างหนึ่ง คือใช้เป็นน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยโบราณอีกด้วย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 04 เม.ย. 11, 22:14

ให้ชมอีกภาพ เป็นภาพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่อน) เห็นการเสวยไหมครับผม ทรงใช้มีด-ส้อมได้อย่างถนัด และมีสุนัขพันธุ์ฝรั่งด้วย  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 08:52

ภาพใน คห.164 และ 167 ขอชมภาพเต็มได้ไหมคะ  ยิงฟันยิ้ม
อยากเห็นบรรยากาศรอบๆ ด้วยค่ะ
ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 11:14

เมื่อเอ่ยถึงเพชรบุรี  ก็ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ของเสวยอีกอย่างจากเมืองเพชร คือ "น้ำ"  ในแม่น้ำเพชรบุรี

เรื่องนี้มีอยู่ในเรื่อง "น้ำเพชร" ในหนังสือ ปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕ โดย นายแพทย์นวรัต ไกรฤกษ์ บุตรพระยาบุรุษรัตนพัลลภ

น้ำเพชรนี้ ตามที่เจ้าคุณพ่อเล่าว่า มีคุณภาพชอบกลอยู่ จนถึงพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชโปรดเาสวยประจำเป็นนิตย์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ต้นน้ำแม่น้ำเมืองเพ็ชรนี้มาจากแควไทรโยคแยกที่ลำภาชี เป็นทางน้ำที่ไหลผ่านกรวดทรายโดยมาก น้ำจีึงใสสะอาดตลอดลำน้ำเพชรนี้

ตำบลที่ตักน้ำมาใช้เป็นน้ำเสวยพ้นจากตำบลบ้านปืนไปอีกไกลจนหมดหมู่บ้านเรือนของราษฎรที่่อยู่ริน้ำ น้ำในตอนนี้่จึงเป็นน้ำที่ใสสะอาด การตักน้ำเสวยนี้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรีที่จะต้องควบคุมดูแล เจ้าคุณพ่อเล่าว่าท่านได้เคยเห็นเจ้าหน้าที่ต้มน้ำด้วยกระทะใหญ่หลายเตา เมื่อน้ำสุกแล้วก็ถ่ายลงเก็บไว้ในตุ่มให้เย็นเสียก่อนแล้วเอาขึ้นกรองในหม้อกรองใหญ่ ให้น้ำหยดลงจากเครื่องกรอง ซึ่งมีตุ่มรองรับอยู่ข้างล่าง น้ำที่หยดลงมานี้เป็นน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ หม้อกรองนี้มีเรียงรายอยู่มากในโรง หม้อกรองนี้ทำด้วยปูนชนิดหนึ่ง สีขาว รูปร่างคล้ายลูกปัสตัน ปากกว้างประมาณ ๕๐ ซม. และลึกประมาณ ๖๐-๗๐ ซม.

จนถึงคราวที่จะนำน้ำมาส่งในกรุงเทพฯ ก็ตักถ่ายจากตุ่มที่กรองจนใสสะอาดดีแล้ว ใส่ในตุ่มเคลือบใบใหญ่ ซึ่งบรรทุกอยู่ในเรือ ใช้ผ้าปิดปากตุ่ม เพื่อกันผงละอองที่จะปลิวมาตกและมีฝาปิดอีกชั้นหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็นำเรือน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯ ส่งยังเจ้าหน้าที่กรมกองน้ำเสวยน้ำสรง เจ้าหน้าที่ก็รับน้ำที่มาส่งนั้นเก็บไว้ในตุ่มเคลือบตุ่มสามโคก มีผ้าและฝาปิดในโรงใหญ่ ซึ่งเป็นที่รักษาอย่างสะอาดมิดชิดกวดขัน น้ำที่นำมาส่งนี้จะต้องเก็บไว้และหมุนเวียนตามลำดับเรื่อยไป ถึงเวลาก็นำบรรจุหม้อกรันซึ่งเป็นหม้อดินเผาปั้นด้วยฝีมือประณีต มีฝาปิดเป็นจุกยอดแหลมและผูกผ้าขาวตึตรานำส่งยังคุณพนักงานฝ่ายใน สำหรับเป็นน้ำสุธารสและชงพระสุธารสร้อยประจำเป็นนิตย์ และส่งมหาดเล็กเก็บรักษาไว้ เืพื่อเป็นน้ำพระสุธารสเย็นและร้อยในเวลาที่เสด็จออกข้างหน้า เว้นแต่บางคราวที่เสด็จไปต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถจะนำน้ำนี้ไปได้ด้วย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 14:43

ในคราวหนึ่งน้ำที่เคยเสวยเกิดมีรสไม่ถูกพระโอษฐ์ จึงได้เกิดเรื่องขลุกขลัก ตามพระราชหัตถเลขา ดังที่จะได้อัญเชิญมาเล่าต่อไปนี้

"มีพระราชดำรัสขออารักขามายังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระยาสุรินทรฤๅชัย พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เจ้าหมื่นสรรพเพ็ธภักดี เจ้าหมื่นเสมอใจราช หลวงศักดิ์นายเวร และเจ้าจอมข้างในผู้ที่ตั้งเครื่อง หม่อมเจ้าถนอม จงทราบความเป็นไปในความจำเป็น ซึ่งจะรักษาพระองค์ให้ทรงพระสำราญ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

แต่ไหนแต่ไรมา เสวยน้ำโซดานอกหรือโซดาในน้ำแร่ หรือแอพพอลลินารีให้อิ่มต่างน้ำไม่ได้ เมื่อเสวยน้ำเหล้านั้นแล้วต้องเสวยน้ำท่าล้าง จึงนับว่าเป็นเครื่องดื่มอย่างหนึ่งคล้ายกับเหล้า ต่างแต่ไม่เมา เมื่อเสด็จในประเทศทิศใดซึ่งน้ำเสวยจะพาไปด้วยมิได้ ก็จำเป็นต้องเสวยน้ำในเมืองนั้น อันใครเขาจะไปกินกลัวจะผิดน้ำนั้น

การที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก่อนมาเคยเสวยน้ำเมืองเพ็ชรบุรีอยู่เป็นนิตย์ แต่บางคราวมีเหตุัขัดข้องต้องงดตักน้ำเมืองเพ็ชรใช้น้ำกลั่น ย่อมทรงเดือดร้อนทุกครั้ง บางเวลาเจ้าพนักงานมักง่ายใช้น้ำเมืองเพ็ชรเสียหมด ส่งน้ำอื่นปลอมเข้ามาว่าน้ำเพ็ชร์ เสวยครั้งไรก็เสวยไม่ได้ ให้กระสับกระส่ายไปต่าง ๆ เป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรถึง ๔๐ ปีล่วงมาแล้ว

บัดนี้มีพระโรค ซึ่งเสวยน้ำมากไม่ได้ หมอฝรั่งทูลไว้ว่าเสวยน้ำน้อยที่สุดเท่าใดยิ่งดี ก็ได้ทรงบำเพ็ญที่จะเสวยน้ำน้อยเช่นนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ไม่สำเร็จ ไม่ใคร่จะได้เสวยน้ำอร่อยสมพระราชประสงค์เนือง ๆ เป็นเหตุให้ต้องเสวยมาก หวังจะให้สิ้นกระหายก็ไม่รู้อิ่ม จึงต้องแก้ได้แต่เพียงหยอดน้ำแข็งลงไปให้เย็นเสียรสน้ำ แต่ครั้นเสวยมากพระนาภีก็อืดไป เพราะเย็นเกินธรรมดายิ่งนัก ความรำคาญพระราชหฤทัยในเรื่องเสวยน้ำไม่อร่อยได้มีมาเนือง ๆ ในหมู่นี้ได้ทรงรับความเดือดร้อน เพราะน้ำไม่อร่อยนี้เป็นอันมาก ทรงพิจารณาเห็นว่า ที่เป็นดังนี้ด้วยพระศอเป็นไทยไม่ยอมเป็นฝรั่ง จะเสวยโซดาน้ำกลั่นอะไรทนไม่ได้ทั้งสิ้น"

ครั้นวันที่ ๑ ธันวาคมนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศักดิ์นายเวรจัดหาน้ำกรอกขวดมา ๔ ขวด ขวดหนึ่งน้ำฝน ขวดหนึ่งน้ำเพ็ชร์ ขวดหนึ่งน้ำบ่ออาติเซียนแวล ขวดหนึ่งน้ำกลั่น อย่าให้แปลกกันเป็นที่สังเกตว่าเป็นน้ำอันใดส่งขึ้นมาถวาย ได้ทรงอมน้ำน้ำไม่ได้กลืนทีละขวด ได้ทรงเลือกน้ำใน ๔ ขวดนั้น ขวดหนึ่งว่าอร่อยกว่าทั้งหมด ครั้นเมื่อดูเครื่องหมายได้ความว่าขวดนั้นคือน้ำเพ็ชร์ การเป็นอัศจรรย์เช่นนี้ประหลาดกว่าวัดไผ่ล้อม (คือ มีสมภารองค์หนึ่ง อยู่ที่วัดไผ่ล้อม เลื่องลือกันว่าขลังในการเสกเป่าและทำนายแม่นนัก) ทรงพระราชดำริเห็นว่าน้ำ ๓ อย่างนั้นจะบริสุทธิ์เกินไปอย่างไรกว่าพระศอที่เคยเสวยน้ำอย่างต่ำ จึงทำให้เสวยไม่อิ่มเสียเลย ไม่ระงับกระหายได้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขออารักขาท่านทั้งหลาย อันได้ออกนามมาแล้วข้างต้นได้เป็นธุระขวนขวายตามหน้าที่เพื่อความสงเคราะ ให้ได้เสวยน้ำเพ็ชร์ให้เสมอไป จะทรงแบ่งส่วนพระราชกุศลให้แก่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่ได้จัดการให้สมพระราชประสงค์นั้นเสมอไป

ขออารักขามา วันที่ ๑ ธันวาคม รัตนโกสินทร ๔๑ ศก ๑๒๗
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 15:13

แต่ไหนแต่ไรมา เสวยน้ำโซดานอกหรือโซดาในน้ำแร่ หรือแอพพอลลินารีให้อิ่มต่างน้ำไม่ได้ เมื่อเสวยน้ำเหล้านั้นแล้วต้องเสวยน้ำท่าล้าง จึงนับว่าเป็นเครื่องดื่มอย่างหนึ่งคล้ายกับเหล้า ต่างแต่ไม่เมา เมื่อเสด็จในประเทศทิศใดซึ่งน้ำเสวยจะพาไปด้วยมิได้ ก็จำเป็นต้องเสวยน้ำในเมืองนั้น อันใครเขาจะไปกินกลัวจะผิดน้ำนั้น

แอพพอลลินารี  คือน้ำอะไรคะ?

บัดนี้มีพระโรค ซึ่งเสวยน้ำมากไม่ได้ หมอฝรั่งทูลไว้ว่าเสวยน้ำน้อยที่สุดเท่าใดยิ่งดี ก็ได้ทรงบำเพ็ญที่จะเสวยน้ำน้อยเช่นนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ไม่สำเร็จ ไม่ใคร่จะได้เสวยน้ำอร่อยสมพระราชประสงค์เนือง ๆ เป็นเหตุให้ต้องเสวยมาก หวังจะให้สิ้นกระหายก็ไม่รู้อิ่ม จึงต้องแก้ได้แต่เพียงหยอดน้ำแข็งลงไปให้เย็นเสียรสน้ำ

คงจะหมายถึงพระโรควักกะ  (ไต) จึงเสวยน้ำมากไม่ได้ เพราะจะทำให้มีอาการบวมน้ำ ?

น้ำแข็งที่เสวย คงจะมาจากตู้น้ำแข็ง ในห้องเครื่อง     ตู้เก็บความเย็นในสมัยนั้นเรียกว่า ice box  เราแปลตรงตัวว่าตู้น้ำแข็ง  อย่างในรูปข้างล่างนี้ค่ะ



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 15:35

แอพพอลลินารี  คือน้ำอะไรคะ?

คุณวิกกี้เขาว่าไว้อย่างนี้

http://en.wikipedia.org/wiki/Apollinaris_(water)

Apollinaris is a German naturally sparkling mineral water, very well known in German-speaking countries as "The Queen of Table Waters".

The spring was discovered by chance in 1852 in Georg Kreuzberg’s vineyard, in Bad Neuenahr, Germany. He named it after Saint Apollinaris, a patron saint of wine.

Today the source and the brand of Apollinaris belong to Coca-Cola, which acquired it from the multinational Cadbury-Schweppes in 2006.

คุณเทาชมพูจะลองขวดไหนดี

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 15:37

http://en.wikipedia.org/wiki/Apollinaris_%28water%29
 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 15:52

^
ตอบเร็วทันใจ
มาเสิฟให้ทั้งคุณเพ็ญและคุณ hobo


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 16:04



ครั้นวันที่ ๑ ธันวาคมนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศักดิ์นายเวรจัดหาน้ำกรอกขวดมา ๔ ขวด ขวดหนึ่งน้ำฝน ขวดหนึ่งน้ำเพ็ชร์ ขวดหนึ่งน้ำบ่ออาติเซียนแวล ขวดหนึ่งน้ำกลั่น อย่าให้แปลกกันเป็นที่สังเกตว่าเป็นน้ำอันใดส่งขึ้นมาถวาย ได้ทรงอมน้ำน้ำไม่ได้กลืนทีละขวด ได้ทรงเลือกน้ำใน ๔ ขวดนั้น ขวดหนึ่งว่าอร่อยกว่าทั้งหมด ครั้นเมื่อดูเครื่องหมายได้ความว่าขวดนั้นคือน้ำเพ็ชร์ การเป็นอัศจรรย์เช่นนี้ประหลาดกว่าวัดไผ่ล้อม (คือ มีสมภารองค์หนึ่ง อยู่ที่วัดไผ่ล้อม เลื่องลือกันว่าขลังในการเสกเป่าและทำนายแม่นนัก) ทรงพระราชดำริเห็นว่าน้ำ ๓ อย่างนั้นจะบริสุทธิ์เกินไปอย่างไรกว่าพระศอที่เคยเสวยน้ำอย่างต่ำ จึงทำให้เสวยไม่อิ่มเสียเลย ไม่ระงับกระหายได้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขออารักขาท่านทั้งหลาย อันได้ออกนามมาแล้วข้างต้นได้เป็นธุระขวนขวายตามหน้าที่เพื่อความสงเคราะ ให้ได้เสวยน้ำเพ็ชร์ให้เสมอไป จะทรงแบ่งส่วนพระราชกุศลให้แก่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่ได้จัดการให้สมพระราชประสงค์นั้นเสมอไป

ขออารักขามา วันที่ ๑ ธันวาคม รัตนโกสินทร ๔๑ ศก ๑๒๗


น้ำบ่ออาติเซียนแวล   หมายถึงน้ำบาดาล ?
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 16:09

artesian  well  ควรเป็นน้ำพุครับ
ร 5 ทรงเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าที่คิดครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 16:18

ทำนองบ่อน้ำพุร้อนนั่นแหละ

Artesian wells were named after the former province of Artois in France, where many artesian wells were drilled by Carthusian monks from 1126.

http://en.wikipedia.org/wiki/Artesian_aquifer



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 16:43

ที่ถามเพราะยังไม่ได้คำตอบว่าเป็นน้ำแร่ส่งจากยุโรปมาถึงสยาม   หรือว่าเป็นน้ำบาดาล (หรือน้ำพุร้อน)ในประเทศเรานี่เอง    

คำนี้ มีที่มาจากน้ำพุใต้ดิน เมืองอาตัวส์ ประเทศฝรั่งเศส    แต่ต่อมาก็กินความหมายกว้างไปถึงน้ำใต้ดินที่มีแรงดันให้พลุ่งขึ้นมาเหนือดิน   ไม่ว่าจะจากประเทศไหน
พิจารณาจากน้ำ ๔ ขวดที่ทรงเลือก ก็คือน้ำประเภทต่างๆไม่ซ้ำแบบกัน   น้ำฝน  น้ำจากใต้ดิน   น้ำแม่น้ำเพชรบุรี   น้ำกลั่น   ล้วนเป็นน้ำดื่มชั้นดี
เลยค่อนไปทางเชื่อว่าเป็นน้ำแร่จากยุโรป  ที่เจ้านายนิยมเสวยกันในปลายรัชกาลที่ ๕
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 05 เม.ย. 11, 16:48

artesian ตามพจนานุกรมแปลว่า น้ำบาดาล ซึ่งน้ำบาดาลนี้อยู่ลึกในชั้นใต้ดินมาก ไม่ใช่น้ำระดับผิวดิน ทำให้น้ำมีแรงดันสูง เมื่อใส่ท่อเจาะลงไปทำให้น้ำนั้นพุ่งออกมายังผิวโลก ซึ่งไม่เหมือนน้ำพุร้อนตรงที่ ใต้น้ำพุร้อนจะมีชั้นหินที่ร้อนอยู่ ดันก๊าซและน้ำที่เดือด พุ่งออกมาโดยแรงดันน้ำ + ความร้อนของน้ำเดือด ขึ้นสู่เปลือกโลก


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.124 วินาที กับ 20 คำสั่ง