เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 141173 ของเสวยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 16:58

เมนูต่อไปคือ ปลาทู

ภาพที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งคือ ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงกับข้าวแบบลำลองที่พระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆครับ



พระบรมฉายาลักษณ์นี้เป็นที่นิยมประดับไว้ในร้านอาหารทั่วไป

อยากถามว่า พระกระยาหารที่ทรงปรุงอยู่ในกระทะนั้นคืออะไร ?

 ยิงฟันยิ้ม


เคยได้อ่านบทความว่าเป็นสิ่งนี้


ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕” ว่า

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นถือว่าปลาทูเป็นของหรู เสด็จเมืองเพชรคราวใดก็มักจะเอ่ยถึงปลาทูเสมอ บุญมี พิบูลย์สมบัติ จากบทความ “ข้าวต้มสามกษัตริย์”  หน้า ๒๐๕-๒๐๖ ในหนังสือ พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร กล่าวว่า

“ปลาทูก็เป็นของกินอร่อย เพราะตัวโต และมีจำนวนมาก”

และอีกตอนว่า

“เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จมาเมืองเพชรบุรี แต่ละคราวของกินในฤดูกาลปลาทูชุก ก็ทรงโปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อคราวเสด็จประพาสเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ในวันที่ ๑๔ กันยายน ได้เสด็จลงเรือเล็ก ๒ ลำ มีเจ้าพนักงานเตรียมของแห้ง และเครื่องครัวขึ้นไปเที่ยวตอนเหนือลำน้ำเพชรบุรีจนถึงท่าเสน แล้วจอดเรือเสด็จขึ้นไปทำกับข้าวกลางวันกินกันที่ท่าน้ำวัดท่าหมูสี หรือวัดศาลาหมูสี”

พระราชหัตถเลขาจากเพชรบุรี ฉบับที่ ๕ วันที่ ๑๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๘ ที่มีมาถึงมกุฎราชกุมาร หน้า ๓๑ ได้กล่าวถึงเรื่องปลาทูไว้ว่า

“น้ำที่เพชรบุรีวันนี้ขึ้นสูงอีกมาก แต่ถ้าฝนไม่ตกก็น่าจะยุบลงได้อีก อากาศวันนี้แห้งสนิท มีฝนประปรายบ้างในเวลาจวนพลบ แต่ก็ไม่ชื้น มีความเสียใจที่จะบอกว่าปลาทูปีนี้ใช้ไม่ได้ ผอมเล็กเนื้อเหลว และมีน้อย ไม่ได้ทุกวันด้วย”

หรือในพระราชหัตถเลขาจากเพชรบุรีถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ หน้า ๑๐๙ ที่ว่า

“พระยาบุรุษ

วันนี้เห็นปลาทูตัวโต ควรจะมีการเลี้ยงได้เช่นเมื่อปีกลายนี้ เป็นอาหารเช้าเวลาก่อฤกษ์แล้วให้ไปคิดจัดการกับพระยาสุรินทร์และกรมดำรง จะหาปลาได้ฤๅไม่”

หรืออีกฉบับหนึ่งจากเพชรบุรีถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเช่นกัน

“พระยาบุรุษ

ปลาทูที่ได้มา ให้แจกไปตามเจ้านายและขุนนางคนละตัวสองตัว เพราะได้มาไม่ทันเลี้ยง”

หรือสำเนาพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๘ ที่มีมาถึงพระราชชายา เจ้าดารารัศมี จากหนังสือ ราชสำนักสยาม ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ หน้า ๖๕ มีพระดำรัสถึงปลาทูไว้ว่า

“หมู่นี้ฝนชุกหาเวลาเที่ยวยาก....ในเดือนสิงหาคมคิดจะไปกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรีสอนกินปลาทูเสียใหม่อีกสักที เพราะเหตุที่หมู่นี้กินไม่ได้ เหม็นคาว....”

บทความเรื่อง “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ในหนังสือ พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร ของ บุญมี พิบูลย์สมบัติ หน้า ๒๐๖ เล่าถึงการที่ทรงเอาจริงเอาจังมากกับปลาทู ซึ่งเป็นอาหารโปรดเวลาที่เสด็จเมืองเพชร และคนทอดปลาทูที่ถูกใจก็เห็นมีแต่เจ้าจอมเอิบเท่านั้น

“การเสวยปลาทูนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพิถีพิถันมาก แม้แต่คนทอดปลาทูก็ทรงใช้คนที่มีความรู้ความเข้าใจในการปรุง การทำให้ถูกต้องคือกินอร่อย ใช่สักแต่ว่าทำได้พอเสร็จ โดยเฉพาะทรงเลือกหาคนทอดปลาทูที่ถูกใจ และมีฝีมือตามพระราชประสงค์นั้นคงได้แก่ เจ้าจอมเอิบ ซึ่งเป็นท่านหนึ่งในจำนวนเจ้าจอมจากสกุลเมืองเพชร ๘ ท่านนั่นเอง”

ในงานขึ้นพระตำหนักพญาไท  เมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๙ ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาบุรุษในเรื่องการทอดปลาทู โดยให้รถไปรับเจ้าจอมเอิบมาที่พระตำหนักพญาไทเพื่อมาทอดปลาทูโดยเฉพาะ ดังความว่า

สวนดุสิต
๒๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๙

พระยาบุรุษ

เรื่องทอดปลาทูข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบออกไปทอดเตรียมเตาและกระทะไว้ให้พร้อม”

นอกจากจะโปรดเสวยปลาทูแบบที่ทอดตามปกติแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคิดเมนูใหม่โดยนำปลาทูมาทำข้าวต้ม เรียก “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ตามที่ บุญมี พิบูลย์สมบัติ เล่าไว้ในบทความเรื่อง “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ในหนังสือ พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร หน้า ๒๐๗ ความว่า

“ข้าวต้มสามกษัตริย์ ประกอบด้วย ปลาทู หมึก และกุ้ง ที่ได้สด ๆ จากทะเล ปรุงเป็นข้าวต้มอย่างง่าย ๆ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงคิดคราวเสด็จประพาสทางทะเล ขณะเสด็จจากปากอ่าวแม่กลอง จะมายังปากอ่าวบ้านแหลม มายังจังหวัดเพชรบุรี”


 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 17:07

ปลาทูทอดใหม่ๆ  คลุกข้าวสวยร้อนๆ อร่อยมากเลยนะคะ  ยิงฟันยิ้ม
ปลาทูสมัยนั้นคงเป็นปลาทูสดนะคะ ไม่น่าจะมีปลาทูเข่ง
การทอดก็มีพิธีรีตองมากจังเลยนะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 20:34

ชาววังกินอะไรกันแปลกๆ อย่างหนึ่งคือด้วง

ม.ล.เนื่อง นิลรัตนเล่าว่าตอนเด็กๆท่านถูกบังคับให้กินด้วงโสนผัด  แต่กินไม่ลง  จับใส่ปากทีไรเป็นอาเจียนออกมาทุกที
วิธีทำคือให้ด้วงกินกะทิจนอิ่ม ท้องบางใสนอนอลึ่งฉึ่ง  คลานไปไหนมาไหนไม่ไหว นอนก่ายกันเป็นกอง    จากนั้น ใส่น้ำมันลงในกระทะ ตีกระเทียมนิดหน่อยให้หอม แล้วเอาด้วงใส่ลงไป คน ๒-๓ ทีก็สุก  
ด้วงโสนเป็นอาหารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดว่ามีวิตามิน    ชาววังสมัยนั้นจึงกินเป็นกันทุกคน

ไปหารูปด้วงโสนมาจากกูเกิ้ล     สงสัยจะผิดตัว    เพราะหน้าตามันไม่เห็นจะกินเข้าไปได้เลย   ต้องขอถามคุณเพ็ญชมพูและคุณดีดี
คุณป้าเนื่องบรรยายว่าเหมือนหนอน ปากดำ  เห็นแล้วขนลุกขนพอง  แต่ดิฉันเห็นว่ามันเหมือนแมลงมากกว่าหนอน



ส่วนตัวที่ตรงกับคำบรรยายของคุณป้าเนื่องคือตัวพวกนี้      ในกูเกิ้ลบอกว่าเป็นด้วงมะพร้าว   ตรงกับในเรื่อง สี่แผ่นดิน  ที่ชาววังเอามาเลี้ยงจนโตได้ที่    แล้วจับใส่อ่างกะทิให้ด้วงกินกะทิไปจนอิ่ม   จึงเอาลงทอดน้ำมันจนตัวด้วงเหยียดยาวออกไป  แล้วเอาขึ้นมาหั่นเป็นแว่นๆ  ใส่จานพร้อมน้ำจิ้ม

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 20:56

จากหนังสือ  "หอมติดกระดาน" ของ ศันสนีย์  วีระศิลป์ชัย
***************

อาหารการกินของชาววัง    / หอมติดกระดาน

หมอสมิธ   บรรยายเกี่ยวกับพระกระยาหารของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไว้ว่า
“... พระกระยาหารที่พบเห็นบ่อยๆ ได้แก่ ซุปข้น ซึ่งมีส่วนผสมของข้าว และใช้ปลาปรุงรสแทนเนื้อ ชนิดของปลาที่ใช้จะต้องเลือกสรรเป็นพิเศษ  เพื่อให้มีรสชาติอร่อย ยิ่งถ้าได้ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาลก็จัดได้ว่าเป็นอาหารจานแปลกอีกชนิดหนึ่ง  พระกระยาหารจานแปลกอีกอย่างที่พบเห็นบ่อยๆ  ได้แก่เนื้อวัวหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ
นำลงทอดในน้ำมันมาก ๆ  เติมเกลือและน้ำตาลลงไปในปริมาณที่เท่ากัน  ทอดจนเกรียม เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยอย่างเดียวหรือเสิร์ฟพร้อมกับแกงก็ได้ ..”
อาหารที่หมสมิธบรรยายทั้งสองชนิด น่าจะได้แก่ “ข้าวต้มปลา” และ”เนื้อหวาน” ซึ่งเป็นอาหารที่รับประทานกันทั่ว ๆ ไป

และหมอสมิธได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่อง พระกระยาหารแปลก ๆ ในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินนทราบรมราชินีนาถไว้ว่า  “...  ในการเข้าเฝ้าอีกคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบพระองค์กำลังสำราญพระทัยอยู่กับการเสวยด้วงมะพร้าว  ตัวอ้วนใหญ่สีขาวนวลพูนจาน (ข้าพเจ้า ไม่ทราบจะอธิบายอย่างไรให้ชัดเจนไปกว่านี้) แต่เผอิญว่าในวันนั้น มีผู้เตือนข้าพเจ้าไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า  ข้าพเจ้าจึงสามารถปฏิเสธได้ทัน  อย่างไรก็ตาม มีผู้ใก้การยืนยันว่า  หากนำด้วงมะพร้าวลงทอดในน้ำมันจากตัวมันเองแล้ว จะมีรสชาติอร่อยเช่นเดียวกับเวลาที่รับประทานเนื้อมะพร้าวเลยทีเดียว

ผัดด้วงโสน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสวย เพราะทรงเห็นว่ามีวิตามินมาก เมื่อเป็นพระราชนิยม ชาววังสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงกินเป็น เห็นเป็นเรื่องธรรมดา หาอ่านได้ในหนังสือ "ชีวิตในวัง"ของม.ล.เนื่อง นิลรัตน์

ส่วนด้วงมะพร้าว ตัวสีขาวโตกว่าหัวแม่มือ ก็ใช้วิธีเตรียมคล้ายๆกัน เอาด้วงใส่ลงไปในหม้อกะทิให้มันกินกะทิ แล้วเอาลงทอดในน้ำมัน จนตัวด้วงเหยียดออกไปเป็นตัวยาว เอาขึ้นมาหั่นเป็นแว่นแล้วจิ้มน้ำจิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 21:34

พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงกำกับราชการห้องเครื่องต้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตลอดรัชกาล เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เล่าว่า

     "พระกระยาหารที่ทรงทำถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงทำสนองพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดี เช่นเดียวกับที่ทรงทำถวายพระโอรสและพระธิดา สำหรับพระองค์เองแล้วอย่างไรก็ทนได้ เสวยได้ เล่ากันว่า เมื่อคราวหนึ่งทรงซื้อเงาะ 100 ผล ราคา 100 บาท เพื่อที่จะคว้านเงาะตั้งเครื่องเสวยให้สมเด็จพระธิดาทุกพระองค์ ส่วนเครื่องเสวยของพระองค์เองไม่โปรดให้มีเงาะผลละ 1 บาท เพราะแพงเกินไป ทรงรับสั่งว่า " ขอให้ลูกให้ผัวสุขสบายก็เป็นที่พอใจแล้ว "
       พระกระยาหารก็เหมือนกัน ข้าวเสวยของพระองค์เองโปรดอย่างข้าวกรากร่วงพรู ( ข้าวธรรมดา ) ส่วนพระกระยาหารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าวเสวยของสมเด็จพระธิดาทุกพระองค์ นุ่มเหมือนกันหมด  ผลไม้ก็โปรดที่จะปอกเสวยเอง ไม่ต้องคว้านเหมือนกับอย่างเครื่องต้น จนเมื่อทรงพระชราจึงทรงให้คนอื่นปอกถวายและเงาะก็เปลี่ยนมาเป็นการคว้าน ทรงพิถีพิถันในเรื่องเครื่องต้นที่จะตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างยิ่ง ต้องทั้งสะอาด ปลอดภัย สวยงาม และมีรสชาติที่อร่อยด้วย ทรงระวังรอบคอบแม้ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทรงจัดผลไม้ทั้งผลลงในภาชนะ ถ้าจะต้องใช้ใบไม้รอง จะทรงเลือกใบไม้หรือดอกไม้ที่ทานได้ เช่น ใบเล็บครุฑ ใบมะม่วง ใบชมพู่ เพราะว่าในใบไม้บางชนิดอาจมียางหรือสิ่งที่เป็นพิษแก่มนุษย์ที่จะเข้าไปโดย ไม่ทันรู้สึกตัว จึงทรงงดเว้นโดยเด็ดขาด"
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 21:38

เห็น อ.เทาชมพู กล่าวถึง "เงาะ" จำได้ว่า ของเสวยในมื้อสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ "ทรงเสวยน้ำเงาะคั้น" ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 21:46

เคยอ่านที่ไหนจำไม่ได้  คุณ siamese หรือท่านอื่นๆ พอจะจำได้ไหมคะ  ว่าเมื่อประชวรครั้งสุดท้าย  อาการนำคือเกิดจากพระนาภีเสีย   และมีเขียนไว้ว่า  เป็นผลมาจากเนยที่เสวยในพระกระยาหารแบบฝรั่ง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 21:59

เคยอ่านที่ไหนจำไม่ได้  คุณ siamese หรือท่านอื่นๆ พอจะจำได้ไหมคะ  ว่าเมื่อประชวรครั้งสุดท้าย  อาการนำคือเกิดจากพระนาภีเสีย   และมีเขียนไว้ว่า  เป็นผลมาจากเนยที่เสวยในพระกระยาหารแบบฝรั่ง

แพทย์ลงความเห็นว่า "ทรงเสวยกุ้งแนม" ครับ

ต่อเวลาเช้าวันที่ ๒๐ ฉัน(รัชกาลที่ ๖)จึ่งได้ทราบตามพระราชหัตถเลขาซึ่งพระราชทานมาถึงฉันว่าพระอาการมีคลื่นเหียน, และได้ทรงพระอาเจียนเมื่อคืนวันที่ ๑๘ ครั้ง ๑ ต่อนั้นมาจะเสวยอะไรก็ทรงรู้สึกว่าเต็มอยู่เสมอไม่ใคร่จะพร่องเลย, ทรงพระโอสถสูบหรือเสวยพระศรีถูกเวลาไม่เหมาะก็ทรงคลื่นเหียน. ครั้นเวลาค่ำวันที่ ๒๐ ฉันเข้าไปฟังพระอาการได้ความว่า เมื่อคืนวันที่ ๑๙ มีทรงแน่น, หมอถวายฉีดยาแก้แน่นและยาถ่าย, บรรทมหลับได้บ้าง, มาวันที่ ๒๐ ไปพระบังคนหนักหลายครั้ง, มีพระอาเจียนเมื่อเสวยน้ำ

ฝ่ายหมอไทยมี
พระยาแพทย์พงศา (นาค โรจนแพทย์)

พระยาแพทย์บอกแก่ฉันว่าได้ถวายพระโอสถระบายอย่างไทย แทรกเกลือ, แล้วยังได้ทรงแถมเองอีกด้วย, พระบังคนจึ่งได้ไปมาก. ฝ่ายหมอฝรั่งได้ถวายพระโอสถแก้แน่นเฟ้อและพระโอสถทาภายนอก. ตามที่ฟังๆ ข่าวได้ความว่า พระธาตุได้เริ่มเสียเพราะเสวยกุ้งแนมเวลาดึก. เวลา ๑๑ นาฬิกาเศษคืนวันที่ ๒๐ นั้น หมอว่าพระอาการทุเลาลงมากแล้ว, และหมอฝรั่งได้ฉีดมอร์เฟียถวาย บรรทมหลับแล้ว, ฉันจึ่งได้กลับไปวังสราญรมย์.(ประวัติต้นรัชกาลที่ 6)


วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๕๓ ย่ำรุ่งบรรทมตื่นตรัสว่า พระศอแห้ง แล้วเสวยพระสุธารสเย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรๆ ให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลเงาะคั้นผล ๑ พอเสวยได้สักครู่เดียวทรงพระอาเจียนออกมาหมด หลังจากนั้นหมอว่าไม่ให้เสวยทั้งพระโอสถและพระกระยาหารใดๆ

ตอนบ่าย มีความร้อนในพระองค์ปรอท ๑๐๐ เศษ ๔ แต่เป็นเวลาทรงสร่างเพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๒ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน ในเรื่องพระบังคนเบาน้อยเป็นครั้งที่ ๒ นี้ เจ้านายออกจะสงสัย ทรงถามหมอๆ ก็ให้การว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไร เสวยแต่พระสุธารสชั่ว ๒-๓ ช้อนเท่านั้นก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด เพราะฉะนั้นพระบังคนเบาจึงน้อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 22:07

กุ้งแนม  คืออะไรคะ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 22:13

กุ้งแนม  คืออะไรคะ

ไม่ทราบเช่นกันครับ อาจจะทำเหมือนปลาแนม
วิธีทำปลาแนม
วิธีทำ
   1. แกะเนื้อปลายี ให้เป็นชิ้นเล็กๆ เลือกก้างออกให้หมด
   2. ใส่กะทิในหม้อ ตั้งไฟให้เดือด ยกลง คนให้เย็น ผสมน้ำส้มซ่า น้ำข่า เกลือ น้ำตาลทราย น้ำมะนาว จนเข้ากัน ใส่เนื้อปลายี ให้ขึ้นฟู ใส่ข้าวคั่ว ถั่วลิสง ใช้พายไม้คลุกเคล้าให้เข้ากันดี ใส่หนังหมู หมูสามชั้น และผิวส้มซ่า คลุกเคล้าจนเข้ากันดี
   3. วิธีการจัด จัดใบผักลงข้างจาน ตักปลาแนมลงข้างๆ โรยด้วยหอมซอย กระเทียมดอง และแต่งด้วยพริกแดง หั่นไส้กรอก เป็นชิ้นขนาดพอคำประมาณ 1 นิ้ว รับประทานด้วยกัน

เครื่องแนม
เป็นคำเรียกสิ่งที่รับประทานประกอบกับอาหารบางอย่าง เช่น น้ำพริกผักจิ้มมีปลาทูเป็นเครื่องแนม น้ำพริกดอกโศกมีกุ้งเผาเป็นเครื่องแนม คำว่า แนม แปลว่า แกม แนบเข้าไป แทรกเพิ่มเติม แนบชิด เครื่องแนม เป็นคำเรียกอาหารอีกอย่างหนึ่งที่รับประทานประกอบกับอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ต้องมีจึงจะครบตำรับอาหาร
ส่วน แนม ในชื่อ ไส้กรอกปลาแนม ไม่ใช่เครื่องแนม แต่เป็นอาหาร ๒ อย่าง ที่นิยมรับประทานด้วยกัน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ใช่ไส้กรอกปลาแนม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 17 มี.ค. 11, 22:21

อาจเป็นได้ค่ะ     คือใช้เนื้อกุ้งแทนเนื้อปลา ในการทำส่วนผสมปลาแนม
หนุ่มสาวรุ่นนี้กินไส้กรอกปลาแนมไม่เป็นเสียแล้ว   ของว่างชนิดนี้ก็หากินยากมาก

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 09:51

ไปหารูปด้วงโสนมาจากกูเกิ้ล     สงสัยจะผิดตัว    เพราะหน้าตามันไม่เห็นจะกินเข้าไปได้เลย   ต้องขอถามคุณเพ็ญชมพูและคุณดีดี
คุณป้าเนื่องบรรยายว่าเหมือนหนอน ปากดำ  เห็นแล้วขนลุกขนพอง  แต่ดิฉันเห็นว่ามันเหมือนแมลงมากกว่าหนอน




ตัวในรูปของคุณเทาชมพูคือ ด้วงก้นกระดก เป็นแมลงมีพิษ กินเข้าไปถึงตายเชียวนา



โปรดอ่านคำเตือน

http://www.naresuantaskforce.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=39&start=0&postdays=0&postorder=asc&highlight=

 ตกใจ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 09:54

ม.จ.หญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่าไว้ใน หนังสือ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ" โดย สมภพ จันทรประภา ว่า
"ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม เป็นวันพุธ ตรัสสั่งให้พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวี ตั้งขนมจีนน้ำยาเป็นเครื่องตอนกลางวัน ส่วนตอนเย็นนั้นให้ทรงจัดเป็นกระทงสังฆทาน กระทงใหญ่และกระทงเล็ก เครื่องคาว ๗ สิ่ง มี ฉู่ฉี่ปลาสลิดสด, แกงเผ็ด, หมูหวาน, ผัด, น้ำพริก, ผัก และปลาดุกย่างทอด เครื่องหวาน ๗ สิ่ง พระกระยาอยู่ก้นกระทง มีใบตองปิดเป็น ๓ ชั้น เสวยพระกระยาได้ แต่เริ่มพระนาภีไม่สู้จะดีจึงเสวยพระโอสถปัด"

กระทงสังฆทาน น่าจะถวายพระนะคะ แต่มาจัดเป็นเครื่องเสวยก็แปลกดีค่ะ...
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 18 มี.ค. 11, 10:04

บันทึก ของ พระยาบุรุษรัตน์ราชพัลลภ  จากหนังสือ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ" โดย สมภพ จันทรประภา 

วันที่ ๒๑ ตุลาคม
"ค่ำวันนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย มาฟังพระอาการเต็มไปทั้งพระที่นั่ง เจ้านายก็ยังเชื่อกันว่า พระบังคนเบาคงจะมีออกมามากแน่ ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้วมีพระบังคนหนัก ๓ ครั้ง เป็นสีน้ำดำๆ หมอฝรั่ง หมอไทยตรวจดูก็ว่าดีขึ้น คงจะมีพระบังคนปนอยู่ด้วย วันนี้เสวยน้ำซุปไก่เป็นพักๆ พักละ ๓ ช้อนบ้าง ๔ ช้อนบ้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ชงน้ำโสมส่งขึ้นไปถวายให้ทรงจิบเพื่อบำรุงพระกำลัง หมอฝรั่ง หมอไทย ไม่คัดค้านอะไร คืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการกลับดึกกว่าคืนก่อนๆ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 19 มี.ค. 11, 09:25


ตัวในรูปของคุณเทาชมพูคือ ด้วงก้นกระดก เป็นแมลงมีพิษ กินเข้าไปถึงตายเชียวนา



โปรดอ่านคำเตือน

http://www.naresuantaskforce.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=39&start=0&postdays=0&postorder=asc&highlight=

 ตกใจ

อ้าว งั้นในวิกิก็ผิดน่ะซีคะ    ควรมีการแก้ไขให้ถูกต้อง



คุณเพ็ญชมพูพอจะรู้ไหมว่า ด้วงมะพร้าวที่เอามากินกันนี่  คุณค่าทางอาหารคือโปรตีนหรือวิตามินอะไร
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 20 คำสั่ง