เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 23861 ขออนุญาตแปะเรื่องเขาพระสุเมรุค่ะ
นวล
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 10 เม.ย. 01, 05:42

ไปอ่านเจอเรื่องเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุแบบย่อๆ
แต่ได้ใจความดี เลยแปะมาให้อ่านค่ะ เผื่อว่า
- มีคนสนใจ แต่หาอ่านไม่เจอ
- เคยอ่านแล้ว แต่ลืมแล้ว อยากอ่านอีก
- ไม่เคยอ่านเลย แต่อยากทราบ
- หลวมตัวคลิ้กเข้ามา..... (5555)
- คลิ้กเข้ามา แล้วรีบคลิ้กออกไป..... (ว้าาาาา...)

แต่ถ้าเคยมีคนมาโพส์ตไว้แล้ว กรุณาลบทิ้งเลยคะ
จะได้ไม่เปลืองเนื้อที่เรือนไทย... ขอบคุณค่ะ
<><><><><><><><><><>

ตามคติพราหมณ์นั้น เขาพระสุเมรุนี้ เป็นภูเขาที่เป็นหลักของโลก เป็นภูเขาที่ตั้ง
อยู่ในจุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล ตามตำนานกล่าวว่า พระอิศวรทรง
สร้างน้ำด้วยพระเสโท (เหงื่อ) สร้างแผ่นดินด้วยเมโท (ไคล) ของพระองค์ (บาง
ตำนานว่าทรงสำรอกพระมังสะในพระอุระออกมาบันดาลให้เป็นแผ่นดิน)

พระอิศวรมีพระประสงค์จะประดิษฐานภูเขาใหญ่ให้เป็นหลักของโลก จึงทรงเอา
พระจุฑามณี  (ปิ่นปักผม) ปักลงที่ใจกลางของพื้นภพ บันดาลให้เป็น
เขาพระสุเมรุ แล้วเอา พระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขาสวมรอยเขาพระสุเมรุอีก
7 ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรีก็เพื่อจะให้เป็นที่อาศัยของทวยเทพทั้งหลาย

เขาพระสุเมรุนี้ สูงจากพื้นน้ำ 84,000 โยชน์ ใต้เขาพระสุเมรุมีเขา 3 ลูกรองรับ
เป็นฐานเรียกว่า ตรีกูฏ (สามเส้าหรือสามยอด) มีภูเขาล้อมรอบ 7 ทิว เรียกว่า
สัณบริภัณฑคีรี คือ ทิวเขา ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตก
และอัสกัณ  เป็นที่สถิตของเทวดาจตุมหาราชิก และบริวาร ภายในจักรวาล
มีภูเขาชื่อ หิมวา (หิมาลัย)  ของของจักรวาลทั้งหมด เป็นเทือกเขายาวติดกัน
เป็นพืด เรียกว่าเขาจักรวาล ทุกๆ จักรวาลมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวดึงษ์
อุสุรพิภพ  อเวจีนรก และมหาทวีปทั้ง 4 คือ ชมพูทวีป อมรโคยาน ปุพพวิเทห
และ อุตรกุระ มหาทวีปทั้ง 4 มีทวีปน้อยๆ เป็นบริวารอีก 2000 ในทิศทั้ง 4
ของจักรวาล มีมหาสมุทรทั้ง 4 อันมีน้ำเต็มเป็นนิจ คือทิศเหนือมีมหาสมุทร
ชื่อ - ปิตสาคร มีน้ำสีเหลือง ทิศตะวันตก ชื่อ -  ผลิกสาคร มีน้ำใสสะอาด
เหมือนแก้วผลึก ทิศตะวันออกชื่อ - ขีรสาคร เกษียรสมุทร น้ำสีขาว และทิศใต้
ชื่อ - นิลสาคร มีน้ำสีเขียว

อุตรกุรุทวีป อยู่เหนือของภูเขาพระสุเมรุ มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อที่กว้าง
8,000 โยชน์ เป็นที่ราบ มีต้นไม้นานาชนิด คนรูปร่างงาม ในแผ่นดินอุตรกุรุ
มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง ถ้าอยากได้อะไร ก็ไปนึกเอาที่ต้นกัลปพฤกษ์

ชมพูทวีป คืออินเดีย อยุ่ตอนใต้เขาพระสุเมรุ รูปเหมือนเกวียน มีต้นไม้หว้ามาก
ในทวีปนี้ ด้านตะวันออกมีต้นชุมพู่ (บ้างก็เรียกไม้หว้า) สูง 1000 โยชน์ กว้าง
โดยรอบ 1000 โยชน์ น้ำของชมพู่ไหลลงมาเป็นแม่น้ำสู่ทิศตะวันตก
เป็นน้ำกายสิทธิ์ ถูกสิ่งใดสิ่งนั้นกลายเป็นสีทอง มีนามว่า พังครนที เป็นน้ำไหล
ลงมาเป็นแม่น้ำชมพู ประชาชนใช้น้ำนี้กินไม่เกิดดรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีกลิ่นตัว
ไม่รุ้สึกเหนื่อย และไม่ชรา น้ำลาดดินสองข้างฝั่ง ได้รับโอชะดูดน้ำชมพู่ไว้ต้องลม
โชยงวดเป็นทอง เรียกว่า ทองชมพูนุช ซึ่งพวกนักสิทธิ์เอาไปทำเป็น
เครื่องประดับ

ปุพพวิเทหะ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขาพระสุเมรุ มีรุกเหมือนพระจันทร์
เต็มดวง เนื้อที่กว้าง 7000 โยชน์ มีเกาะ 400 เกาะ คนหน้ากลมเหมือน
ดวงจันทร์

อมรโคยาน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเขาพระสุเมรุ มีรูปเหมือนพระจันทร์
ครึ่งซีก เป็นแผ่นดินกว้าง 9000 โยชน์ ประกอบด้วยเกาะ และแม่น้ำใหญ่น้อย
มีไม้กระทุ่มประจำทวีปนี้ คนหน้าเหมือนดั่งเดือนแรม จมูกโด่ง คางแหลม

(ต่อ)
บันทึกการเข้า
นวล - พนักงานแปะข้อมูล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 มี.ค. 01, 23:15

เหนือเขาพระสุเมรุนี้ มีไพชยนต์ปราสาทตั้งอยู่กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
(ตรัยตรึงศ์) อันเป็นที่พระอินทร์สถิตอยู่ และสวรรค์ดาวดึงษ์นี้เป็นสวรรค์ชั้นหนึ่ง
ของ ฉกามาพจร (สวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก) สวรรค์ ชั้นนี้ มีดังนี้

1. จตุมหาราชิก เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 มี"ท้าวกุเวร" หรือบางทีเรียก
ว่า ท้าวเวสสุวรรณ รักษาทางทิศอุดร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร  "ท้าวธตรฐ" รักษา
ทางทิศบูรพา มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร "ท้าววิรุฬหก" รักษาทางทิศทักษิณ มี
พวกุมภัณฑ์ (อสูรจำพวกหนึ่ง) เป็นบริวาร "ท้าววิรุฬปักษ์" รักษาทางทิศประจิม
มีฝูงนาคเป็นบริวาร

2. ดาวดึงส์ มีวิมานอยู่บนเขาพระสุเมรุ มีพระอินทร์เป็นใหญ่

3. ยามะ มีท้าวสยามเทวราชปกครอง

4. ดุสิต มีท้าวสันนุสิต เป็นใหญ่ สวรรค์ชั้นนี้กล่าวกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ คือ
เป็นที่เกิดแห่งพระโพธิสัตว์ในชาติที่กำลังบำเพ็ญบารมี และยังเป็นสวรรค์ชั้น
ที่พุทธบิดามารดา และผู้มีบุญวาสนาอื่นๆ อีกมาก เคยถือกำเนิดเป็นเทวดา
ในสวรรค์ชั้นนี้ ในวรรณคดีไทยกล่าวถึงสวรรค์ชั้นนี้มาก

5. นิมมานรดี มีท้าวสุนิมมิตปกครอง เทวดาผู้สถิตในสวรรค์ชั้นนี้มีบุญญานุภาพ
มาก มีความประสงค์สิ่งใด ก็เนรมิตได้สมความปราถนา

6. ปรนิมมิตวสวัสดี มีท้าวปรินิมมิตวสวัสดี ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้มีความเป็นอยู่
สุขสบายกว่าทุกชั้น แม้จะเนรมิตอะไร ก็มีเทวดาชั้นที่ 5 เนรมิตให้

(ต่อ)
บันทึกการเข้า
นวล - พนักงานแปะข้อมูล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 มี.ค. 01, 23:17

ป่าหิมพานต์มีสระอยู่ 7 สระ คือ สระอโนดาต มันทากินี กุณาล สหัปปดาต
กัณมุณฑ์ รดาการ ฉัททันต์  สระที่รู้จักกันดีคือ สระอโนดาต มีภูเขาล้อมรอบ
5 ลูก คือ - สุทัศนกูฏ ซึ่งล้วนไปด้วยทอง - เขาจิตรกูฏ ซึ่งล้วนไปด้วยแก้ว -
เขากาลกูฏ ล้วนแล้วด้วยนิลมณี - เขาไกรลาส ล้วนแล้วด้วยเงิน ที่สถิตของ
พระอิศวร และ - คันธมาทกูฏ ล้วนแล้วด้วยแก้วมณีและพันธ์ไม้หอมต่างๆ
บางชนิดดอกหอม บางชนิดเปลือกหอม บางชนิดยางหมอ บางชนิดรากหอม
เขานี้ ถ้าเดือนมืดจะแลเห็นรุ่งเรือง เหมือนถ่านเพลิงอันลุกโชน ถ้าเดือนหงาย
ก็เรืองเหมือนไฟไหม้ป่า ส่วนที่เชิงเขามีผาชะโงก เรียกว่า นันทมูล
เป็นที่ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายโปรดประทับ มีถ้ำคูหา 3 แห่ง คือ
สุวรรณคูหา มณีคูหา และรัชฏคูหา

น้ำในสระอโนดาตใสสะอาด และเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ สระนี้มีท่าน้ำอยู่ 4 ท่า
เป็นที่อาบน้ำของเทวดา เทพธิดาท่าหนึ่ง พระปัจจเจกพุทธเจ้าท่าหนึ่ง
ฤาษีวิทยาธรท่าหนึ่ง พระอรหันต์ท่าหนึ่ง

น้ำในสระอโนดาตนี้ไหลออกตามซอกภูเขาที่อยู่รอบ 4 ทิศ ภูเขานี้มีรูปปากช่อง
เป็นหน้าสิงห็ หน้าช้าง หน้าม้า และหน้าวัว  น้ำที่แยกออกไปทางเขาหน้าสิงห์
ผ่านไปทางแดนตะวันออกของเขาหิมพานต์  อันเป็นที่อยู่ของราชสีห์นานาชนิด
ซึ่งกล่าวว่ามี 4 ชนิด คือ - ติณราชสีห์ กินหญ้าเป็นอาหาร รูปร่างคล้ายวัว
ขนสีหม่น หรือมัว - กาฬราชสีห์ มีขนสีดำ รูปร่างคล้ายวัว กินเนื้อเป็นอาหาร
- บัณฑูสุรมฤคราชสีห์ มีขนสีเหลือง เลื่อมงาม รูปร่างเหมือนสองชนิดแรก
ที่ปลายเท้าและปากเป็นสีแดงตัดกันที่กลางหลัง ที่สะโพก โคนขามีขนรอบเวียน
ทักษิณาวัฏ (เวียนขวา) มีขนปกคลุมคอสีแดง เสพสัตว์เป็นอาหาร

ส่วนน้ำในสระที่ไหลออกจากเขาวัว ก็กลายเป็นแม่น้ำสายต่างๆ อันแยกออกเป็น
5 สาย เรียกว่า ปัญจมหานที คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู และมหิ ส่วนที่ไหล
ออกจากหน้าม้า น้ำเป็นสีเขียว ผ่านเป็นแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของม้าสินธพ
ส่วนที่ผ่านด้านหน้าเหนือที่ไหลออกจากเขาหน้าช้าง น้ำเป็นสีเหลือง ผ่านแดน
อันเป็นที่อาศัยของช้างตระกูลต่างๆ 10 ตระกูล คือ
1. กาฬวกหัตถี สีดำ เกิดที่เขากาฬคีรี
2. คังไคยหัตถี สีน้ำ เกิดใกล้แม่น้ำคงคา
3. บัณฑรหัตถี สีเหลือง หรือขาวสะอาด
4. ตามพหัตถี สีทองแดง
5. ปิงคลหัตถี สีจำปาหรือน้ำตาล
6. คันธหัตถี ช้างตระกูลนี้กลิ่นหอม สีไม้กฤษณา
7. มังคลหัตถี กิริยาท่าเดินงดงาม สีนิลอัญชัญ
8. เหมหัตถี สีทอง
9. อุโปสถหัตถี สีทอง
10. ฉัททันตหัตถี สีขาวบริสุทธิ์ มีปากและเท้าแดง

(แหล่งที่มา - ประวัติวรรณคดี : รศ. ประจักษ์ ประภาพิทยากร)
บันทึกการเข้า
นวล - พนักงานแปะข้อมูล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 มี.ค. 01, 23:24

และในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน มีกลอนสองแห่งเกี่ยวกับ
สัตบริภัณฑคีรี ไว้ด้วย.... ทราบไหมคะ กลอนบทไหน?

ขอแก้ไขตัวสะกดผิดด้วยค่ะ สัณบริภัณฑคีรี เป็น สัตบริภัณฑคีรี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 มี.ค. 01, 23:43

ขอบคุณมากค่ะคุณนวล  น่าสนใจมากค่ะสำหรับคนชอบเรื่องไทยๆ
เพราะเรื่องราวที่ว่า เข้ามาปะปนอยู่ในวรรณคดีและจิตรกรรมไทยอยู่มาก
ดิฉันคงจะผสมโรงคุยด้วยอีกหลายเรื่อง เท่าที่นึกออก

ตอนนี้นึกได้แต่ว่าสวรรค์ชั้นที่ ๓ ที่ชื่อยามา  ผู้ครองหรือนายกรัฐมนตรีตลอดกาลของชั้นนี้  ชื่อท้าวสุยามเทวราชค่ะ ไม่ใช่สยาม
ส่วนสวรรค์ชั้นที่ ๖  ปรนิมมิตวสวตี มีนกยกฯ ๒ องค์ องค์หนึ่งไม่ค่อยจะมีบทบาทนัก  
อีกองค์คือพญามารวสวตีที่มาผจญพระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้  
ทั้ง ๒ องค์แบ่งเขตกันอยู่  ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ไปมาหาสู่และไม่มีใครนอบน้อมทำความเคารพอีกฝ่ายว่าเหนือกว่า

เรื่องราชสีห์ที่เล่ามา บอกว่ามี ๔ ชนิดแต่ยกมา ๓   ที่พลัดตกหล่นไปคือไกรสรราชสีห์หรือเปล่าคะ  ดิฉันยังไม่ได้ไปหารายละเอียดเลยค่ะ  ทราบแต่ว่าสวยกว่า และมีฤทธิ์กว่าเพื่อนๆราชสีห์ด้วยกัน

คำถามเกี่ยวกับขุนช้างขุนแผน   เดี๋ยวคงมีเจ้าประจำของเรือนไทยเข้ามาตอบเองละค่ะ  ได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์ประโคมแล้วคงไม่ใจดำนิ่งเงียบอยู่หรอก
บันทึกการเข้า
นวล - พนักงานแปะข้อมูล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 01:19

ขอบคุณค่ะ คุณเทาชมพูที่ท้วงมา

แต่ในกรณีนี้ ต้องบอกว่า ผิด ตก ยกเว้น ค่ะ

เพราะมันมาอย่างนั้นจริงๆ อิฉันเลยคีย์ตามไปเรื่อยๆ (แย่จัง)

แล้วในบทเขียนของ อ. ประจักษ์ ก็ไม่ได้กล่าวถึงไกรสรราชสีห์ด้วย

... แหะ แหะ สงสัย 'จารย์ ก็คงลืมเหมือนกัน



คุณเทาชมพูช่วยเติมที่ขาดไปด้วยได้หรือเปล่าคะ

ข้อมูลจะได้ครบ ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 01:28

ราชสีห์อีกชนิดหนึ่ง พญาไกรสรราชสีห์แน่ครับ
แต่สงสัยว่า คชสีห์หายไปไหนไม่อยู่ในประเภทราชสีห์ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 10:14

ไปเปิดหนังสือของ ส.พลายน้อยเรื่องสัตว์หิมพานต์  พบว่าราชสีห์ที่หายไปจากฉบับ  อ.ประจักษ์ คือไกรสรราชสีห์จริงๆละค่ะ
แต่คำอธิบายไม่เหมือนกันนะคะ
๑) ติณสีหะ หรือติณราชสีห์  มีร่างกายสีแดงเหมือนขานกพิราบ  และใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม  กินหญ้าเป็นอาหาร
๒) กาฬสีหะ มีร่างกายสีดำ และใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม กินหญ้าเป็นอาหาร
๓)บัณฑุสีหะ หรือบัณฑุสุรมฤคินทร์  มีร่างกายใหญ่เท่าวัวหนุ่ม  กินเนื้อเป็นอาหาร
๔) ไกรสรสีหะ มีริมฝีปาก  หางและเท้าสีแดงตั้งแต่ศีรษะลงไปถึงหลัง  มีลายแดงพาดสามแถว  และวนรอบๆตะโพก ๓ รอบ   ที่ต้นคำมีขนปกคลุมลงมาตั้งแต่บ่ามีสีเหมือนผ้ากำพล   ส่วนร่างกายที่เหลือนอกจากนี้เป็นสีขาวทั้งหมด  กินเนื้อเป็นอาหาร

ดิฉันเข้าใจว่าฉบับของส. พลายน้อยถูกต้องค่ะคุณนวล  ฉบับของอ.ประจักษ์คงพิมพ์ตกไปตอนสุดท้าย

และอีกอย่างคือฉบับของท่าน แปลคลาดเคลื่อนค่ะ
ที่แปลว่าราชสีห์รูปร่างคล้ายวัวน่ะผิดค่ะ  ราชสีห์รูปร่างก็ต้องเป็นราชสีห์ซิคะ  จะไปคล้ายวัวได้ยังไง
ที่จริงคือ ใหญ่เท่าวัวค่ะ

คุณนกข.  คชสีห์ไม่ใช่ราชสีห์ค่ะ   หน้าตาเป็นลูกผสม ระหว่างช้างกับราชสีห์    ราชสีห์ของแท้หน้าตาแบบโลโก้เบียร์ไทยตราสิงห์ค่ะ  ไม่มีงวงช้าง
ในกระทู้เรือนไทยกระทู้แรกๆก็เคยบอกเว็บสัตว์หิมพานต์ไว้นะคะ   ใครจำได้บ้างว่ากระทู้ไหนช่วยบอกด้วยค่ะ ขอบคุณ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 10:36

ติดลมแล้วค่ะ
เรื่องขุนช้างขุนแผนยังไม่มีใครเข้ามาตอบ  จะรออีกวันนะคะ  ถ้าไม่มีใครยอมตอบดิฉันจะเข้ามาตอบเอง
ตอนนี้ชวนคุณนวลคุยต่อเรื่องเขาพระสุเมรุไปก่อน

วรรณคดีไทยรับเขาพระสุเมรุเข้ามาตั้งแต่สุโขทัย ในไตรภูมิพระร่วง   ป่าเขาลำเนาไพรและอมนุษย์ต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยก็ปรากฏในวรรณคดีไทย(เชื้อสายอินเดีย) มาโดยตลอด
ในโองการแช่งน้ำ   การอ้างทั้งหลายมาจากภูมิศาสตร์โลกโบราณ เกี่ยวกับดินแดนที่มีเขาพระสุเมรุเป็นหลักทั้งนั้น
ในมหาเวสสันดรชากด  พระเวสสันดรก็ออกจากเมืองไปอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์
ในสมุทรโฆษ วิทยาธรที่ถวายพระขรรค์สำหรับเหาะให้พระสมุทรโฆษ ก็มาจากแถวๆนั้นละค่ะ

มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ในรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ และ ๒  ภูมิศาสตร์ดังกล่าวกลายมาเป็นเครื่องหมายของความยิ่งใหญ่โอฬาร
อย่างตอนที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงบรรยายรถทรงของทศกัณฐ์ตอนออกศึกครั้งแรกกับพระราม  ในเมื่อจอมทัพผบ.สูงสุดแห่งลงกาออกศึกทั้งที  ก็ต้องให้ยิ่งใหญ่กว่าทัพก่อนๆของกุมภกัณฑ์ หรืออินทรชิต หรือญาติวงศ์พงศาพญายักษ์
จึงทรงแต่ง ว่า

รถเอยรถที่นั่ง.........................บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
ใหญ่ยาวเทียมเท่าเขาจักรวาล..ห้ายอดเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง.......เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน..............พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุล

ทรงแต่งถึงความมโหฬารมาได้แค่นี้ ก็หยุด   ในเกร็ดพงศาวดารเล่าว่า ยังทรงนึกไม่ออกว่าจะบรรยายต่ออย่างไร
ตอนนั้นสุนทรภู่ถูกจำคุกด้วยข้อหาทุบตีญาติผู้ใหญ่ที่เข้าไปห้ามขณะเมาสุรา     เมื่อได้รับพระบรมราชโองการให้แต่งต่อ  ก็แต่งได้ว่า

นทีตีฟองนองระลอก...................คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน.....อานนท์หนุนดินดาลสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท......สุธาวาทไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน................คลาดเคลื่อนจตุรงค์ตรงมา

ก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย  สุนทรภู่ก็เลยหลุดจากคุกกลับมาเป็นกวีได้ดังเดิม

สำนวนโวหารแบบนี้เรียกว่า อติพจน์ หรืออธิพจน์ (hyperbole) คือว่าให้เกินจริงเพื่อเน้นความรู้สึกอลังการในอารมณ์  ไม่ว่าจะรัก โศก หรือบรรยายความยิ่งใหญ่  ไม่ใช่กล่าวเท็จ

เขาพระสุเมรุเป็นหลักของโลก   ถ้ารถของทศกันฐ์วิ่งออกมา กระเทือนจนเขาพระสุเมรุเอียง และสะเทือนไปถึงปลาอานนท์ที่หนุนโลก  ก็แสดงว่า "บิ๊ก" จริงๆ น่าครั่นคร้ามมากค่ะ
แต่อย่าถามว่า ขนาดรถใหญ่ยาวเท่าเทือกเขาจักรวาลที่ล้อมโลกแล้ว  รถจะเอาแผ่นดินที่ไหนมาวิ่งนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 12:21

เอาภาพบัณฑุราชสีห์มาฝากคุณนวลและเพื่อนคนอื่นๆในเรือนไทยค่ะ

พร้อมรายละเอียด

http://www.kmitnb.ac.th/ThaiArt/Himaphan/pic15.html' target='_blank'>http://www.kmitnb.ac.th/ThaiArt/Himaphan/pic15.html
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW403x009.gif'>
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 12:24

แล้วนี่ก็ติณราชสีห์

http://www.kmitnb.ac.th/ThaiArt/Himaphan/pic13.html' target='_blank'>http://www.kmitnb.ac.th/ThaiArt/Himaphan/pic13.html
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW403x010.gif'>
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 12:35

เปิดไปเจอภาพเทพนรสีห์เข้าค่ะ เลยเอามาฝากคุณนกข.

หน้าตาเป็นเทพ    ไม่ใช่สิงห์

ถ้าจะเล่นบทผู้ร้ายอย่างในนรสิงหาวตาร  ก็คงจะเป็นผู้ร้ายรูปหล่อ

http://www.kmitnb.ac.th/ThaiArt/Himaphan/pic6.html' target='_blank'>http://www.kmitnb.ac.th/ThaiArt/Himaphan/pic6.html
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW403x011.gif'>
บันทึกการเข้า
โมโน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 13:39

คุ้นๆว่าเป็นตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง
บรรยายถึงม่านที่นางวันทองปักไว้

ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม
อร่ามพระสุเมรุภูผา
วินันตกอัศกรรณเป็นหลั่นมา
การวิกอิสินทรยุคนทร
บันทึกการเข้า
นวล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 14:30

คุณเทาชมพู... คารวะค่ะ.... อิ อิ
อ่านทวนอีกที เห็นแล้วล่ะคะว่า คำบรรยายระหว่าง
สิงห์เหลือง กับ สิงห์ขาวคาดแดง นั้น ของ อ.ประจักษ์
หายไป ขอยกความดีให้แก่ช่างพิสูจน์อักษรก็แล้วกันนะคะ อิ อิ

เทพนรสีห์ เหตุไรตัวคล้ายคน บั้นท้ายเป็นกวาง แต่ชื่อเป็นนรสีห์
มันชวนให้เข้าใจผิดได้จริงๆ นะคะเนี่ย
แต่ราชสีห์ทั้งหลายนั้น หน้าตาเหมือนเบียร์สิงห์จริงๆ ด้วย
รู้สึกว่าขนตามตัวนั้น ของสิงห์ขาวคาดแดงคงขอดหยิกหยักโศก
อะไรประมาณนั้น เพราะเห็นวาดเป็นเส้นขมวดเป็นวง
ส่วนของสิงห์เหลือง คงจะยาวสลวยตรงๆ

เห็นด้วยกับคุณเทาชมพู วรรณคดีไทยนั้น มีหลายเรื่อง
(เยอะมาก) ที่จะพบการใช้สถานที่ต่างๆ อมนุษย์ เทพ สัตว์
เต็มไปหมด จนบางขณะ ต้องมานั่งเรียงลำดับว่า ใครใหญ่กว่าใคร
สวรรค์ชั้นไหนสูงกว่าชั้นไหน ฯลฯ จนทำให้คิดว่า ถ้าไม่ทราบเรื่องเลย
จะดีกว่าทราบเรื่องหรือไม่ เพราะจะได้ไม่ต้องสะดุดหยุดอ่าน
เพราะคิดมาก... อิ อิ อิ

คุณโมโน ... ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่....
เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว...
ว่าแล้วขุนแผนก็.........................ฮืมฮืม

แต่อิสินธรนี่ อิฉันจำได้แม่นเลยว่าเป็นชื่อประเทศของทรรศิกา
ใน ดั่งดวงหฤทัย อิ อิ อิ (ขอนอกเรื่องค่ะ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 13 มี.ค. 01, 15:08

มิบังอาจค่ะ  คุณนวล  อิอิ
 เห็นด้วยค่ะ  ดิฉันเองบางครั้งก็เบื่อที่จะมัวจำรายละเอียด เพราะถ้าหากว่าหมกมุ่นกับมันมากเกินไป  เราอาจจะไปหลงกับสิ่งเล็กๆจนลืมรสชาติสำคัญกว่านั้น คือวรรณศิลป์ และการวิเคราะห์วิจารณ์

ขอลอกตอนเต็มๆจากขุนช้างขุนแผนมาลงให้อ่านกันค่ะ

ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ......................จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่
เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี........สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว
เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ.....................ขอบเขตเขาคลุ้มชอุ่มเขียว
รุกขชาติดาษใบระบัดเรียว.............พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง
ปักเป็นมยุราลงรำร่อน....................ฟายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง
แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง...............ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชม้อยตา
ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม........อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกหัสกันเป็นหลั่นมา...............การวิกอิสินธรยุคุนธร
อากาศคงคาชลาสินธุ์.....................มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน
ไกรลาสสะอาดเอี่ยมอรชร..............ฝูงกินนรคนธรรพ์วิทยา
ลงเล่นน้ำดำดั้นอโนดาต..................ใสสะอาดเยือกเย็นเห็นขอบผา
หมู่มังกรล่อแก้วแพรวพรายตา.........ทัศนารำลึกถึงวันทอง

เชิญจอมยุทธหญิงสั่งสอน   โปรดออมมือ...
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง