ผมคิดว่าที่ราชทินนามซ้ำกันระหว่างของวังหลวงกับวังหน้าในช่วงนั้น
คงเป็นเพราะว่าวังหน้าเลิกไปแล้ว และมีข้าราชการวังหลวงเพิ่มจำนวนมากขึ้น
จึงจำเป็นต้องนำราชทินนามของวังหน้ามาใช้บ้าง เลยเกิดการซ้ำกันเช่นนี้

แต่เรียนถามคุณหลวง
ที่ว่าซ้ำกันนี้ คือ
1. ขุนนางวังหน้ามีตัวอยู่แล้ววังหลวงตั้งซ้ำกัน
2. ขุนนางวังหน้าหมดตัวไปแล้ว ทางวังหลวงจึงเอาราชทินนามมาใช้ตั้งคนใหม่แทนที่
(รับราชการวังหลวงแต่ราชทินนามของวังหน้า)
หรือ
3. ไม่เกี่ยวดองหนองยุ่งกันเลยระหว่างวังหลวงและวังหน้า เพราะต่างฝ่ายต่างมีราชทินนาม
นี้ของตนในสารบบ ไม่จำเป็นต้องเอามา เช่น พระยาเทพาธิบดี วังหลวง เป็นเจ้าเมืองพิจิตร (พระอัยการนาทหารหัวเมือง)
ส่วนพระเทพาธิบดี วังหน้า เป็นเจ้ากรมพระสุรัสวดีซ้าย (ตามข้อมูลของคุณหลวง-แต่ในทำเนียบขุนนางวังหน้าไม่ปรากฏ)
เป็นอย่างไรแก้ไขปุจฉานี้ด้วยเถิด
การที่ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร และวังหลวงมีราชทินนามซ้ำกัน
ตามเอกสารข้างต้น เป็นเพราะวังหน้ากับวังหลวงต่างก็โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขุนนาง
ให้มียศและบรรดาศักดิ์ โดยต่างฝ่ายต่างไม่ได้ตรวจสอบกันและกันว่า
ฝ่ายใดตั้งข้าราชการที่มีราชทินนามนั้นๆ แล้ว (ต่างฝ่ายต่างมีบัญชีของตนเอง
แต่ไม่ได้เอามาสอบทานกันและกัน)
เมื่อวังหน้าเสด็จทิวงคตแล้ว ข้าราชการวังหน้าส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทั้งหมด)
ได้ย้ายลงมาสมทบทำราชการกับฝ่ายวังหลวง ถึงคราวนี้เกิดปัญหาว่า
ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรกับวังหลวงมีราชทินนามซ้ำกันมาก
ปัญหาอย่างนี้ รัชกาลที่ ๕ เคยมีพระราชปรารภกับกรมพระสมมตอมรพันธุ์
เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นว่า ข้าราชการสองฝ่าย
มีราชทินนามซ้ำกัน ถ้าเกิดมีราชการอันใดที่ต้องเกณฑ์ข้าราชการที่มีราชทินนามซ้ำกัน
สังกัดกรมกองใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน อาจจะทำให้สับสนได้
ในช่วงปี ร,ศ, ๑๑๕-๑๑๖ เป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงราชการ
จากจตุสดมภ์มาเป็นกระทรวงกรมอย่างใหม่ จึงยังปรากฏทั้งกระทรวงอย่างใหม่
และกรมกองอย่างเก่า แต่หลังจากนี้ข้าราชการที่มีราชทินนามซ้ำกัน
เข้าใจว่าจะมีน้อยลง และข้าราชการวังหน้าบางส่วนส่วนก็จะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์
เป็นอย่างอื่น กับได้ย้ายไปอยู่ในสังกัดและทำราชการในกระทรวงกรมกองอย่างใหม่
บรรดาศักดิ์ของวังหน้าก็จะนำมาผนวกเข้ากับตำแหน่งราชการวังหลวงทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องค่อยๆ เป็นไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้เพียงข้ามคืน
ประการหนึ่ง ที่พึงทราบเอาไว้อย่างยิ่ง
ทำเนียบตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร นาหัวเมือง ในกฎหมายตราสามดวง
เป็นตำแหน่งนาที่ตั้งกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์
ตำแหน่งนาดังกล่าว เป็นคล้ายๆ กับการกำหนดตำแหน่งในกรมกองต่างๆ
แต่ในทางปฏิบัตินั้นเราไม่ทราบได้แน่นอนว่า ในแต่ละช่วงเวลา
นับตั้งแต่มีทำเนียบตำแหน่งนาข้าราชการดังกล่าว ตำแหน่งข้าราชการได้เป็นไปตามนี้
ทุกประการ เพราะการแต่งตั้งการข้าราชการในแต่ละยุคสมัยย่อมมีปัจจัยที่แตกต่างกัน
และราชการก็มีมากน้อย ผิดแผกแตกต่างกัน การจะไปเอาทำเนียบเก่า
มากำหนดตัวข้าราชการจริงๆ ในแต่ละสมัยนั้น ย่อมใช้ไม่ได้
ข้าราชการสมัยรัชกาลที่ ๑ ย่อมมีที่ต่างจากข้าราชการสมัยรัชกาลที่ ๔
ข้าราชการสมัยรัชกาลที่ ๔ ย่อมมีที่แตกต่างจากข้าราชการสมัยรัชกาลที่ ๕
แม้แต่ข้าราชการที่ ๕ เอง ช่วงปีรัชกาลที่ยาวนานก็ทำให้ตำแหน่งข้าราชการมีการเปลี่ยนแปลงได้
ฉะนั้นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้าราชการต้องยึดเอกสารร่วมสมัยเป็นหลัก
ไม่ใช่เอกสารเอกสารล่วงสมัยมาใช้กับยุคสมัยที่ห่างกันมาก ข้อมูลจะไม่เหมือนกัน
และการสันนิษฐานอะไรก็จะพลอยผิดพลาดไปไกล