เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2848 ขอความกระจ่างเกี่ยวกับสำนวนหนึ่งซึ่งผมสงสัยครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 06 มี.ค. 11, 11:22

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านผู้รู้ทุกท่านครับ

   ก่อนจะเริ่มกระทู้ สิ่งแรกที่ผมพึงกระทำ นั่นคือ กราบขมาต่อดวงวิญญาณท่านสมัคร สุนทรเวช เพราะมีข้อความพาดพิงถึงท่าน ครั้นจะทิ้งข้อฉงนไว้ไม่ตั้งกระทู้ถาม ความข้องใจก็ไม่ปลดเปลื้อง หากดวงวิญญาณท่านสมัครสามารถรับรู้ได้ด้วยวิถีใดก็ดี โปรดยกโทษให้ผมคนโฉดเขลาด้วยเถิดครับ

   สมัยที่ท่านสมัคร สุนทรเวช ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๕๑) อยู่นั้น มีสำนวนประจำตัวของท่านสำนวนหนึ่งที่ผมแหละเพื่อนๆฟังแล้วรู้สึกพิกลๆและขัดหู สำนวนดังกล่าวก็คือ “กำลังนี้” ซึ่งท่านจะใช้บ่อยๆเมื่อต้องการสื่อสารให้ผู้รับสารเข้าใจว่า “กำลังนี้” ของท่าน ก็คือ “เดี๋ยวนี้” “ขณะนี้” นั่นเอง

   “พูดออกมาได้ยังไง กำลังนี้ ผิดหลักภาษาไทยหรือเปล่าวะเนี่ย” เพื่อนผมเคยบ่น ส่วนผมก็เป็นลูกคู่รับสอดคล้องกับเขา เรื่องมันคงจะจบลงเพียงแค่นั้น  หากผมมิเผอิญพบหลักฐานชิ้นสำคัญเข้า ทำให้ต้องสะดุดหยุดคิดครับ

   เมื่อผมฟังหนังสือนวนิยาย “ผู้ชนะสิบทิศ” ของท่านยาขอบอีกหน  ผมพบสำนวน “กำลังนี้” อยู่ในนวนิยายเรื่องอมตะนี่ด้วย เนื่องจากผู้ชนะสิบทิศมีขนาดยาว ผมจึงมิสามารถสำรวจได้ถี่ถ้วนว่ามีสำนวนดังว่านั้นกี่แห่ง เอาเฉพาะที่ตั้งใจจดจ่อฟัง และจดเป็นอักษรเบรลล์ไว้สำหรับเป็นหลักฐาน ขอยกมาสองแห่งจากสองตอนครับ

   ๑. ตอนที่ ๒๙: เพลงมีดสั้นหงสาวดี ความช่วงหนึ่ง ท่านผู้นิพนธ์บรรยายว่า
   “แต่พระอัครเทวี เมื่อพ้นสุมทุมไม้ออกไปแล้ว ได้คิดว่า แม้นออกไปให้สองหนุ่มเห็นร่างแล้วก็เหมือนทำลายพิธีเขา จึ่งถดถอยแล้วรั้งตัวพระราชธิดาไว้ ชี้แจงว่า ไม่ควรออกไปกำลังนี้ ทั้งสองคนเลิกเสียจะชวดดูดี”

๒. ตอนที่ ๙๕: ฝากแผลไว้กับแสกหน้าผัว คำปรารภของสอพินยาต่อไขลูคนสนิท มีว่า
”ข้าพเจ้านี้ ความเจ็บที่ปรากฏแก่ใจสุดที่จะพูดออกมาแล้ว บัดนี้เล่า ไอ้ศัตรูก็มาอยู่ใกล้แค่นี้ จะปล่อยให้เภรีแลเสียงฆ้องกลองแห่งทหารมันระเริงกันทั่วนั้นเหลือกำลังทน มาตรว่าตัวจะตายกำลังนี้ ความเสียดายชีวิตก็ยังน้อยกว่าชีวิตตัวอยู่แต่มิได้ฝากรอยทวนไว้แก่ศพทหารตองอูบ้าง”

   สิ่งที่ผมคิดๆก็คือ “กำลังนี้” น่าจะมิใช่สำนวนท่านสมัครคิดขึ้นใช้เป็นปัจเจกหรอกกระมัง แต่ก็ยังลังเลครับ เพราะไม่เคยเจอ หรือกล่าวให้ตรง ไม่เคยฟังหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติม ดังนั้น ขออนุญาตเรียนถามท่านผู้รู้ครับ สำนวน “กำลังนี้” เคยมีใช้อยู่ในภาษาไทยสมัยก่อน ทว่าปัจจุบันเลิกใช้แล้วใช่หรือไม่ ท่านโปรดเมตตาเอื้ออนุศาสน์ให้ผมผู้มืดมนอนธการทางปัญญาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 09:41

อย่างที่คุณชูพงศ์เข้าใจ    มันเป็นสำนวนเก่า ที่หายไปแล้วในปัจจุบัน    ความหมายก็คือ ขณะนี้ หรือเดี๋ยวนี้
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 10:56

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างยิ่งครับ ถ้าผมไม่เจอ "กำลังนี้" ในผู้ชนะสิบทิศ ก็คงลงความเห็นไปแล้วว่า เป็นสำนวนเฉพาะตัวของผู้พูด คิดขึ้นเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ไม่เหมือนใคร คนฟังจะได้ติดหู แต่พอพบในงานท่านยาขอบ เลยปล่อยความกังขาให้ผ่านไปไม่ได้ครับ ท่านยาขอบนั้นเป็นนักอ่านชั้นเซียน นักเขียนขั้นเทพ การรจนาผู้ชนะสิบทิศกระทำอย่างเจียระไนเพชร ถ้อยคำบางคำ สำนวนบางสำนวน ผมไม่คุ้นเคยมาก่อน จึงขอความรู้ไว้ประดับกรรณ ประทับกมลครับ
   
บันทึกการเข้า
kwang satanart
อสุรผัด
*
ตอบ: 48


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 02:16

คุณชูพงศ์คะ   ในเชิงการเมืองตัวเองก็มองคุณสมัครท่านไปแบบหนึ่ง   แต่ในเรื่องทั่วๆไป หรือในเชิงความรู้ต่างๆ  ก็ขอบอกว่ายอมรับนับถือท่านว่า คุณสมัครท่านเยี่ยมยุทธอยู่เหมือนกัน   รู้เยอะ  รู้กว้าง  แมัท่านยังไม่เท่าคุณชายคึกฤทธิ์  ปราโมช   แต่ก็พึ่งความรู้ท่านได้หลายๆ เรื่อง  คำพูด  สำนวนบางสำนวนที่ท่านนำมาพูดจนติดปากอาจฟังดูแปลกสำหรับคนรุ่นเรา  แต่เชื่อว่าคงมีที่มา
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 พ.ค. 11, 11:51

ครับ... คุณ kwang satanart
ท่านสมัครถือเป็นผู้รู้รอบอีกท่านหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาจะพาดพิงถึงท่าน ผมมักจะต้องขอขมาท่านก่อน เพราะในส่วนของการเมืองแล้ว ผมไม่ศรัทธาท่าน แต่เคารพในคุณวุฒิท่านครับ

   อยากจะเรียนเสริมว่า นอกจาก “กำลังนี้” แล้ว ผมยังพบสำนวน “กำลังนั้น” (ซึ่งน่าจะแปลว่า ขณะนั้น ตอนนั้น) ด้วยนะครับ ในหนังสือนวนิยายเรื่อง “เล็บครุฑ” ของท่านพนมเทียน ซึ่งเขียนขึ้นช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐  ถือเป็นหลักฐานพยานทางลายลักษณ์บันทึกคำพูดจาของคนยุคห้าสิบกว่าปีก่อนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ตอนแรกที่ฟังเจอ ก็รู้สึกแปลกๆดี แต่ก็น่ารักไปอีกแบบนะครับ
 

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง