เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 21392 จมื่น - เจ้าหมื่น
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 05 มี.ค. 11, 01:04

เข้ามาลงชื่ออีกคนครับ
ไม่ค่อยมีความเห็นนะครับ หนังสืออ้างอิงไม่มีในมือ
เพิ่งจะกลับจากเดินทางข้ามแดนมา
แต่ใหนๆเข้ามาแล้ว ก็เอาเสียหน่อย

อ้างถึง
อ้างจาก: luanglek ที่  02 มี.ค. 11, 14:58
ว่ากันว่า  พญา นั้น น่าจะอิทธิพลวัฒนธรรมมอญ  เท็จจริงอย่างไร  ยังไม่มีเวลาตรวจสอบ   

เคยได้ยินว่าตรงกับ พินยา ของมอญ แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่า จริงหรือไม่ หรือใครรับใครไป หรือรับมาจากที่อื่น

เข้าใจว่า เจ้า นั้น เป็นคำไทย และน่าจะมีรากมาจาก ไท-กะได

เอามาจากวิกี้ นี่แหละครับว่า
"Binnya" was the highest title of royalty in Mon language.
และยิ่งไปกว่านั้น
ถ้าย้อนไปดูรายพระนาม พระราชาแห่งรามัญเมาะตะมะ-หงสาวดี(หรือราชอาณาจักรพะโค)จะเห็นได้ว่า
Wareru· Hkun Law · Saw O · Saw Zein · Zein Pun · Saw E · Binnya E Law · Binnya U

มาขออ่านออกเสียงกันหน่อยนะครับ
Wareru หรือ ฟ้ารั่ว / ฟ้าหะหรู ท่านนี้ รู้จักกันดีครับ คือ "มะกะโท" นั่นเอง
Hkun Law  ผมขออ่านว่า ขุนเลาะ(ลอดหรือลอกก็ไม่รู้)ขอเรียกง่ายว่าขุนลอนะครับ เป็นน้องชายของ"ฟ้าหะหรู"(ฟ้ารั่ว)  ขุนลอ เป็นลูกครึ่งไทใหญ่-มอญ ครับ
Saw O, Saw Zein,  Saw E    ผมก็ขออ่านว่า เจ้าอ้า..ว(อ้าย) เจ้าเช(ง) เจ้าเอ่(เอก) หลานเหลนของขุนลอ  ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทใหญ่-มอญ ทั้งนั้น
Binnya E Law  พินยา เอ่.. เลาะ...  เป็นลูกเสี้ยวไปแล้วครับ ไทใหญ่ ๑ ส่วน มอญ ๓ ส่วน

แล้วต่อมาจะเห็นพัฒนาการชัดเจนว่า พระราชาแห่งรามัญจะเป็น พินยา แทบทั้งสิ้น

Binnya U       ราชาธิราชว่า  พระยาอู่ (พระเจ้าช้างเผือก)
Binnya Nwe         "        พระยาน้อย   (ราชบุตรพระยาอู่)หรืออีกพระนามหนึ่งคือพระเจ้าราชาธิราช
Binnya Dhammaraza  (ไม่ปรากฎในราชาธิราช แต่ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นราชบุตรองค์โต ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าราชาธิราช)
Binnya Ran         "         พระยารามราชบุตร (ราชบุตรของพระยาน้อยหรือพระเจ้าราชาธิราช) ตามประวัติศาสตร์บอกว่าครองราชย์ต่อจาก"พินยาธรรม(ะ)ยาซา"
Binnya Kian        "         พระยาเกียรราชบุตร                "                               (ในราชาธิราชเขียนว่า ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าราชาธิราช)
ฯลฯ

ขอเสริมอีกนิดครับ
Saw Binnya  ท่านยาขอบทับศัพท์ว่า สอพินยา
คำนี้ อาจจะตรงกับคำว่า เจ้าพระยา ก็ได้ครับ

ในเรื่องของคำว่า จมื่น จ่าหมื่น เจ้าหมื่น  ผมขอสงวนความเห็นไว้ก่อนครับ
ขอกลับบ้านไปค้นฟ้า(คว้าดาว) เอ๊ย!! ค้นคว้า อีกสักพัก
ขออภัยคุณ luanglek และคุณ Bhanumet รวมถึงท่านอื่นๆ ไว้ก่อนนะครับ


 ยิงฟันยิ้ม
 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 05 มี.ค. 11, 08:12

คำว่า "เจ้าหมื่น" นี้มิได้ใช้เฉพาะในกรมมหาดเล็กหลวงครับ
ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็กวังหน้า  รวมทั้งในพระราชสำนักสมเด็กพระพันปีหลวง  ก็เป็น จมื่นเหมือนกัน
เมื่อจัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๗  มีการเวนคืนบรรดาศักดิ์ชั้นนายเวร หรือรองหัวหมื่นที่ต้องออกจากราชการ  ก็มีการเปลี่ยนบรรดาศักดิ์
หลวงสิทธิ์  นายเวร (แจ่ม  สุนทรเวช)  เป็นจมื่นอมรดรุณารักษ์
หลวงฤทธิ์  นายเวร (เฉลิม  เศวตนันทน์)  เป็นจมื่นมานิตย์นเรศร์
ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง

ส่วนคำว่าเจ้าหมื่นมาจากคำใดนั้น  สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ  ได้กล่าวถึงลำดับศักดิ์ของพลเมืองและขุนนางล้านนาตามที่ปรากฏใน “มังรายศาสตร์” หรือ “กฎหมายพระญามังราย”  ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรล้านนา โดยเรียงลำดับสายการบังคับบัญชาตามลำดับจากต่ำไปหาสูง ดังนี้
ไพร่ ๑๐ คน    ให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายสิบ ๑ คน
นายสิบ ๒ นาย  ให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายห้าสิบ ๑ คน
นายห้าสิบ ๒ นาย  ให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายร้อย ๑ คน
นายร้อย ๑๐ นาย  ให้อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพัน ๑ นาย
เจ้าพัน ๑๐ นาย  ให้อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าหมื่น ๑ นาย
เจ้าหมื่น ๑๐ นาย  ให้อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าแสน ๑ นาย

นอกจากนั้นในเอกสารบางฉบับยังมีการกล่าวถึงตำแหน่ง  “เจ้าล้าน” ว่า เป็นตำแหน่งสูงสุดของขุนนาง ล้านนารองลงมาจากพญาผู้เป็นเจ้าเมืองด้วย  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 มี.ค. 11, 09:31 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 07:49

มีเรื่องเกียวข้อง ขอคัดลอกมาให้อ่านกันครับ

จาก หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ต.ม.,ว.ป.ร.,ป.ป.ร. ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑  หน้า ๑๖๘ - ๑๖๙

บรรดาศักดิ์ประจำฉะเพาะหมาดเล็กใกล้ชิด มีดังนี้ -

      ยศ                        บรรดาศักดิ์
๑.  หัวหมื่น. ๑             เจ้าหมื่นสรรเพชรญ์ภักดี
         "                  เจ้าหมื่นเสมอใจราช
         "                  เจ้าหมื่นไวยวรนาถ
         "                  เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์

ความเป็นมา
๑. บรรดาศักดิ์ชั้น เจ้าหมื่น คำนี้ในประเทศไทยมีอยู่ ๔. ชื่อเท่านั้น. ส่วนชั้น ขุน. หลวง. พระ. พระยา. เจ้าพระยา. นั้นมีจำนวนมากจนไม่มีใครนับได้   ผู้ใหญ่ที่รู้ดีได้เล่าให้ฉันฟังว่า. ถ้านับเวลาหลังตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป บรรดาศักดิ์เป็น จมื่น เช่นหนังสือเรื่อง ขุนช้างขุนแผน. ซึ่งสุนทรภู่. แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีตัวเอกชื่อ จมื่นไวยวรนาถ. เป็นต้น นัยว่าแต่เดิมเป็นที่ แม่ทัพ ต้นเหตุที่จะทรงเปลี่ยน จมื่น เป็น เจ้าหมื่น ก็เพราะมีเรื่องเล่าว่า-

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ยังทรงผนวชอยู่นั้น รู้สึกไม่แน่พระราชหฤทัยว่า. จะได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากรัชกาลที่ ๓. เท่าใดนัก. บังเอิญขณะนั้นมีมหาดเล็กรับใช้ที่เฉลียวฉลาดองพระองค์คนหนึ่ง (ดูเหมือนชื่อโต) ได้ถวายบริการถูกพระราชหฤทัยยิ่งนัก --

เช่นคอยดูขณะที่เห็นทรงพระบรรทม(จำวัด) เวลาเที่ยง. ก็จะรอเวลาตีกลองเพลไว้ จนเห็นว่าทรงตื่นพระบรรทมเมื่อใด ก็จะตีกลองเพลเชิญเสด็จเสวยพระกระยาหารทันที.

พระองค์ทรงชมเชยศิษย์หัวหน้าหมาดเล็กถึงความรอบรู้เฉลียวฉลาดผู้นี้บ่อยครั้ง.

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มหาดเล็กผู้นี้กราบบังคมทูลเป็นเชิงถวายความบันเทิงว่า-

"เกรงด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าต่อไปภายหน้าพระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วจะทรงลืมข้าเก่าของพระองค์เสียเท่านั้น"
พระองค์ขณะนั้นมิไดทรงคาดการณ์ว่าจะได้ทรงลาผนวชมาเสวยราช จึงทรงรับสั่งกับมหาดเล็กคนโปรดผู้นั้นว่า.

"เออ! ถ้าข้าได้เป็นพระเจ้าอยู่หัวเมื่อใด ข้าจะตั้งเองให้เป็นเจ้า"
ครั้นต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราช. มหาดเล็กผู้นั้นก็กราบบังคมทูลทวง ตามที่ได้เคยลั่นพระโอฐไว้.

จึงทรงแก้คำว่า จมื่น ให้เปน. เจ้าหมื่น.มีคำว่า เจ้า นำหน้า. และทรงแต่งตั้งให้มหาดเล็กผู้นั้นได้เป็นที่ เจ้าหมื่นสรรเพชรญ์ภักดี. สืบแต่นั้นเป็นต้นมา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มี.ค. 11, 10:02 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 09 มี.ค. 11, 09:06

กราบขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาให้ความรู้ค่ะ

ระยะนี้ดิฉันไม่ค่อยมีเวลาว่างมาตามอ่าน แต่ไม่ทิ้งค่ะ เพราะอะไรที่ถาม คือ สนใจจริง ๆ นะคะ

เพิ่งจะทราบว่า พระยา มาจาก ภาษา มอญ Biya ทำให้นึกถึง ผู้ชนะสิบทิศ "สอพินยา" คงจะเป็น พระยา คนหนึ่ง

เรื่อง เจ้าหมื่น และ ศักดินา คงไม่ได้หมายถึงมีนาเป็นหมื่นเท่ากับชื่อยศเป็นแน่
เหมือนยศทหาร นายพล นายพัน ทุกวันนี้ ไม่ได้มีทหารเป็นสมบัติส่วนตัว
เป็นแต่ขอบเขตอำนาจบังคับบัญชาเท่านั้น

ตำแหน่ง "พระยานรรัตน์ราชมานิต" เคยนึกว่า มีแต่เจ้าคุณ นรฯ ที่บวชอยู่วัดเทพศิรินทร์เพียงผู้เดียว
ความรู้ใหม่จากกระทู้นี้ บอกว่า ไม่ใช่

จางวาง คือผู้บังคับบัญชามหาดเล็ก หรือ หัวหน้า มหาดเล็กนั่นเอง
ดังนั้น จางวางทั่ว พาทยโกศล คงเป็นหัวหน้ามหาดเล็กที่คุมงานด้านดนตรี ใช่ไหมคะ

ยังเหลือตำแหน่ง หุ้มแพร ที่ไม่ทราบว่า คือ ตำแหน่งใด
ต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนมาไหว้ครู คุณหลวงเล็ก  เพื่อขอความรู้ค่ะ
คุณครูกรุณาเมตตาด้วยนะคะ ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม

ขอบพระคุณ Admim ที่แยกประเด็นออกมาเป็นกระทู้ การจัดเก็บเรื่องราวไว้ศึกษา จะสะดวกมากขึ้นค่ะ
 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 09 มี.ค. 11, 09:27

เรื่องยศศักดิ์ บรรดาศักดิ์ ศักดินา (ของข้าราชสำนัก) ขุนตำรวจเอก  เนื่อง สาคริก บันทึกไว้ว่า

 “ในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งมหาดเล็กคนใดเป็นผู้บังคับกองร้อยทหาร ก็จะโปรดเกล้าฯพระราชทานพระแสงดาบที่มีฝักหุ้มแพรสีแดง มีปลอกเงินรัดเป็นปล้อง ๆ มีคำจารึกตำแหน่งและชื่อไว้ที่โกร่งดาบด้านใน”

และยังบันทึกต่อไปอีกว่า

 “ภายหลัง ที่ผู้นั้นออกจากที่เฝ้าฯแล้วผู้ที่พากันแสดงความยินดีด้วยในตอนนั้น มักจะใช้สรรพนามเรียกท่านผู้นั้นว่า ออกหุ้มแพร เช่นเดียวกับออกขุน ออกหลวง ฯลฯ เป็นต้น”

ทีนี้ว่าถึงท่านปลายเชือก ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก มีด้วยกัน ๔ ท่าน คือ

๑. เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (หรือบางทีเขียนว่าสรรพเพธภักดี)

๒. เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์

๓. เจ้าหมื่นเสมอใจราช

๔. เจ้าหมื่นไวยวรนารถ

หัวหมื่นทั้ง ๔ ท่าน นี้ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่เท่ากัน เทียบยศทหารปัจจุบัน (สมัย ร.๖) เท่ากับชั้นนายพันเอก

(ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยศทหารมีคำว่า ‘นาย’ นำหน้า เช่นนายพลตรี นายพันตรี นายร้อยตรี)

บรรดาศักดิ์ชั้นยศหัวหมื่นทั้ง ๔ นี้ ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ ใช้ว่า ‘จมื่น’ เช่นเดียวกันกับจมื่น ในกรมกองอื่น ๆ

แต่ศักดินา ‘จมื่น’ ของหัวหมื่นมหาดเล็กนั้นสูงกว่า ศักดินาของจมื่นกรมกองอื่นอยู่หลายร้อยไร่ การเรียกขานก็ยกย่องเรียกว่า ‘คุณพระนาย’ เฉพาะหัวหมื่นมหาดเล็กเท่านั้น ซึ่งโดยธรรมดาแล้วผู้น้อยจะเรียกว่า ‘คุณพระนาย’ ผู้เหนือกว่ามักเรียกว่า ‘พระนาย’ ส่วนจมื่นโดยทั่วๆไปเคยได้ยินเรียกกันว่า ‘คุณจมื่น’

ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงโปรดฯให้เรียกหัวหมื่นมหาดเล็กว่า ‘เจ้าหมื่น’

ด้วยเหตุผลสองนัยคือ

นัยหนึ่ง เล่ากันว่า เมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ทรงรับเลี้ยงนายเพ็ง เสมอดังราชบุตรบุญธรรมออกพระโอษฐ์ไว้ว่า หากเสด็จครองราชย์จะโปรดฯให้เป็นเจ้าครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดฯให้นายเพ็งเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก จึงทรงแก้คำว่า ‘จมื่น’ เป็น ‘เจ้าหมื่น’

ส่วนอีกนัยหนึ่งว่า คงจะทรงพระราชวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็กนั้น สูงกว่า จมื่นกรมกองอื่น ไม่น่าจะมียศ ‘จมื่น’ อย่างเดียวกัน จึงแยกกันเป็น ‘เจ้าหมื่น’ และ ‘จมื่น’

(‘เจ้าหมื่น’ อยู่ระหว่างพระและพระยา จากเจ้าหมื่นขึ้นไปเป็นพระยา ส่วน ‘จมื่น’ อยู่ระหว่างหลวงและพระ จากจมื่นขึ้นไปจึงเป็นพระ)

อนึ่งเคยมีผู้สงสัยชื่อ หรือบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก จมื่นมานิตย์นเรศท่านจึงเรียงไว้ให้ทราบตามทำเนียบในรัชกาลที่ ๖ จากต่ำขึ้นไปหาสูง ดังนี้

๑. มหาดเล็กชั้นต้น เรียกว่า เด็กชา

๒. เลื่อนขึ้นเป็นพันเด็กชา ตรี โท เอก และ พันจ่าเด็กชา

๓. แล้วเป็นมหาดเล็กสำรอง เทียบว่าที่นายร้อยตรี (ชั้นสัญญาบัตร)

๔. เป็นมหาดเล็กวิเศษ เทียบเท่าชั้นนายร้อยตรี

๕. ชั้นนายรอง เทียบเท่านายร้อยโท มีบรรดาศักดิ์ เช่น นายรองกวด นายรองขัน ฯลฯ ทั้งหมด ๒๐ ตำแหน่ง

๖. ชั้นหุ้มแพร เทียบเท่านายร้อยเอก มีหุ้มแพรต้นเชือก ๔ นาย คือ นายกวดหุ้มแพร นายขันหุ้มแพร นายฉันหุ้มแพร นายชิดหุ้มแพร ทั้ง ๔ นาย ถือศักดินา ๕๐๐ ไร่ หุ้มแพรนอกนั้นศักดินา ๔๐๐ ไร่ หุ้มแพร รวมทั้งหมด ๒๐ นาย

๗. แล้วจึงจะขึ้นไปถึงชั้นนายจ่า ๔ คือ นายจ่ายวด นายจ่ายง นายจ่ารง นายจ่าเรศ ถือศักดินา ๖๐๐ ไร่ (ต้องมีคำว่า ‘นาย’ นำหน้าเสมอ)

๘. แล้วก็ชั้นรองหัวหมื่น ๔ คือ หลวงศักดิ์ นายเวร หลวงสิทธิ์ นายเวร หลวงฤทธิ์ นายเวร หลวงเดช นายเวร ถือศักดินา ๘๐๐ ไร่ เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘คุณหลวงนาย’ หรือ ‘หลวงนาย’

๙. ชั้นหัวหมื่น ๔ ดังที่เล่ามาแล้วข้างต้น ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่

๑๐. ยศจางวางมหาดเล็ก คือ เจ้ากรมมหาดเล็ก บรรดาศักดิ์เป็นพระยาหรือเจ้าพระยาแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

จาก บทความเรื่อง ‘ท่านปลายเชือก' โดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์
นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๖๒๙ ปีที่  ๕๑ ประจำวัน อังคารที่  ๘ มีนาคม  ๒๕๔๘

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3665&stissueid=2629&stcolcatid=2&stauthorid=13
 


 


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 09 มี.ค. 11, 19:05

วันนี้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่ในสกุลโชติกเสถียร 
ท่านออกนาม พระมหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (ฉัตร  โชติกเสถียร) ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของท่านว่า "พระนาย" ตลอด
เพราะเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ สวรรคต  คุณพระมหามนตรีฯ ท่านยังเป็นหลวงเดช นายเวร  และได้เลื่อนเป็นคุณพระนาย  จะเป็นเจ้าหมื่นอะไรก็ลืมถามมา  ซึ่งถัดจากนั้นท่านจะต้องเลื่อนเป็นพระยาจางวางมหาดเล็ก  แต่ที่ไม่ได้เลื่อนเป็นพระยานั้น  พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง  สาคริก) ท่านเล่าว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ มีรับสั่งว่า สองคนนี้อายุยังน้อย  ถ้าจะเป็นพระยาก็จะหนุ่มไป (คุณพระมหาเทพฯ ท่านว่าเวลานั้นก็สามสิบกว่าแล้ว)  จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ทั้งสองท่านนี้โอนจากกรมมหาดเล็กไปอยู่กรมพระตำรวจ  พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "พระมหา"  ทั้งสองคน  คือ  ให้เป็นใหญ่กว่าคุณพระทั้งหลาย  เพราะเป็นถึง "พระมหา"  หรือเตรียมเป็นพระยา  แต่เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อนทั้งสองท่านเลยอดเป็นพระยาด้วยประการฉะนี้

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  คนรุ่นใหม่เห็นราชทินนาม พระมหาเทพกษัตรสมุห  ก็หลงคิดว่าเป็นพระราชาคณะฐานานุกรมสมเด็จพระสังฆราช  เพราะพระราชาคณะปลัดฐานานุกรมสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศนั้นจะมีราชทินนามว่า พระมหานายก  พระจุลนายก  วัดราชบพิธ เป็น พระมหาคณิศร  พระจุลคณิศร  เป็นต้น  คุณพระมหาเทพฯ ท่านเล่าว่า ลางคราวท่านก็มีคนมาอาราธนาท่านเจ้าคุณมหาเทพไปร่วมงานบำเพ็ญกุศล  โดยเข้าใจไปว่าคุณพระมหาเทพฯ เป็นพระราชาคณะชั้น "เจ้าคุณ" 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 09 มี.ค. 11, 19:12

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชบันทึกทำเนียบนามข้าราชการกรมมหาดเล็กไว้ตามลำดับ ดังนี้

ทำเนียบข้าราชการ
ในกรมมหาดเล็กและกรมขึ้น

กรมมหาดเล็ก
นามชั้นผู้ใหญ่
จางวาง  (นา ๓๐๐๐)

พระยาวรพงษ์พิพัฒน์
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
สองตำแหน่งนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔

พระยานรรัตนราชมานิต
พระยานรฤทธิ์ราชหัช
พระยาศิริสัตย์สถิต
พระยาวรสิทธิเสวิวัตร์
สี่ตำแหน่งนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔

พระยาประเสริฐศุภกิจ
พระยาประสิทธิ์ศุภการ
พระยาบำรุงราชบริพาร
พระยาบริหารราชทานพ
สี่ตำแหน่งนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๖

จางวางผู้ช่วย (นา ๒๐๐๐)
พระยาบำเรอบริรักษ์
พระยาภักดีภูบาล

ปลัดจางวาง (นา ๑๐๐๐)
พระดรุณรักษา
พระพลัษฎานุรักษ์
สี่ตำแหน่งนี้กำหนดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔

(ยังมีต่อ)
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 09 มี.ค. 11, 19:17

มหาดเล็กรับใช้
(ทำเนียบวังหลวงเดิม)


หัวหมื่น (นา ๑๐๐๐)
   เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี
   เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์
   เจ้าหมื่นไวยวรนารถ
   เจ้าหมื่นเสมอใจราช

นายเวร (นา ๘๐๐)
   หลวงศักดิ์
   หลวงสิทธิ์
   หลวงฤทธิ์
   หลวงเดช

จ่า (นา ๖๐๐)
              นายจ่าเรศ
                  นายจ่ารง
                  นายจ่ายง
                  นายจ่ายวด

หุ้มแพร (ต้นเชือก นา ๕๐๐  นอกนั้น ๔๐๐)
นายกวด
นายขัน
นายฉัน
นายชิด
สี่นามนี้เป็นต้นเชือก

นายสนิท
นายเสน่ห์
นายเล่ห์อาวุธ
นายสุจินดา
นายพลพ่าย
นายพลพัน
นายไชยขรรค์
นายศัลยวิไชย

นามมหาดเล็กทั้งหมดนี้มีพระราชบันทึกว่าเป็นนามที่มีมาแต่กรุงเก่า  แต่ "นายฉัน" นั้นเปลี่ยนมาจาก "นายจันมีชื่อ"  และ "นายชิด" เปลี่ยนมาจากนายจิตรเสน่ห์"

นายเสนองานประภาษ
นายสนองราชบรรหาร
นายบำเรอบรมบาท
นายบำรุงราชบทมาลย์
นายพิจารณสรรพกิจ
นายพิจิตรสรรพการ
นายพิไนยราชกิจ
นายพินิจราชการ
นามชุดนี้  มีพระราชบันทึกว่า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๔ ทรงคิดขึ้นใหม่

นายรอง (นา ๓๐๐)
นายรองกวด
นายรองขัน
นายรองฉัน
นายรองชิด
นายรองสนิท
นายรองเสน่ห์
นายรองเล่ห์อาวุธ
นายรองสุจินดา
นายรองพลพ่าย
นายรองพลพัน
นายรองไชยขรรค์
นายรองศัลยวิไชย
นายรองเสนองานประภาษ
นายรองสนองราชบรรหาร
นายรองบำเรอบรมบาท
นายรองบำรุงราชบทมาลย์
นายรองพิจารณสรรพกิจ
นายรองพิจิตรสรรพการ
นายรองพิไนยราชกิจ
นายรองพินิจราชการ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 09 มี.ค. 11, 19:25

(ทำเนียบวังน่าเดิม)

หัวหมื่นผู้ช่วย  (เทียบชั้นนายเวร)
จมื่นมหาดเล็ก
จมื่นเด็กชาย
สองตำแหน่งนี้มีพระราชบันทึกว่า มีมาในทำเนียบครั้งกรุงเก่า

จมื่นมหาสนิท
จมื่นจิตรเสน่ห์
สองตำแหน่งนี้มีพระราชบันทึกว่า ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์

นายเวรผู้ช่วย  (เทียบชั้นจ่า)
หลวงชิตภูบาล
หลวงชาญภูเบศร
สองตำแหน่งนี้มีพระราชบันทึกว่า มีมาในทำเนียบครั้งกรุงเก่า

หลวงเสน่ห์รักษา
หลวงมหาใจภักดิ์
สองตำแหน่งนี้มีพระราชบันทึกว่า ตั้งขึ้นในภายหลัง

จ่าผู้ช่วย  (เทียบชั้นหุ้มแพร)
นายจ่าเนตร
นายจ่านิตย์
นายจ่าสรวิชิต
นายจ่าจิตรนุกูล

หุ้มแพรผู้ช่วย  (เทียบชั้นนายรอง)
นายราชจินดา
นายสุริยาวุธ
นายสุดจำลอง
นายฉลองไนยนารถ
นายราชจำนง
นายทรงใจรักษ์
นายพิทักษ์ราชา
นายปรีดาราช
นายภักดีนารถ
นายราชบริรักษ์
นายจงใจภักดิ์
นายรักษ์ภูมินทร์
นายนรินทร์ธิเบศร์
นายนเรศร์ธิรักษ์
นายราชาภักดิ์
นายรักษ์ภูวนารถ
นายบำเรอราชา
นายนราภิบาล
นายพิศาลสรรพกิจ
นายจิตร์ปรีชา

(ทำเนียบใหม่)    (ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๖)
รองหัวหมื่น (นา ๘๐๐)
   จมื่นเทพดรุณาทร
   จมื่นอมรดรุณารักษ์
   จมื่นวสุศักดิ์การัณย์
   จมื่นสุรพันธาทิตย์
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 09 มี.ค. 11, 19:27

หุ้มแพรพิเศษ

น่าที่อาลักษณ์

นายจำนงราชกิจ  (นา ๕๐๐)
นายลิขิตสารสนอง     (ว.ป.ร.) 
นายจำลองราชสาสน   (ว.ป.ร.)

น่าที่ภูษามาลา
นายราชวุธาทร  (นา ๕๐๐)

น่าที่ฟังคดีศาลหลวง
นายหัศบำเรอ  (นา ๕๐๐)

น่าที่พิเศษ
นายภัณฑ์ภักดี
นายวรกิจบรรหาร
นายวรการบัญชา

ตำแหน่งฃ้าหลวงเดิม
พระยาเทพทวาราวดี  (เจ้ากรมฃ้าหลวงเดิม)
พระยาบุรีนวราษฐ  (ปลัดกรมฃ้าหลวงเดิม)
หลวงชาญชาติเกไดสวรรย์ (สมุห์บาญชีฃ้าหลวงเดิม)

ราชทินนามที่มีวงเล็บ ว.ป.ร. ต่อท้าย  หมายถึงนามที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงคิดขึ้นใหม่
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 10 มี.ค. 11, 00:06

ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความกระจ่างค่ะ เริ่มมองเห็นระบบยศชัดเจนขึ้นมาก
ชื่อต่าง ๆ ที่เคยนึกว่าเป็นชื่อคน ชื่อบรรดาศกดิ์ทั่วไป ที่แท้ก็เป็นตำแหน่งมหาดเล็กทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
monologa
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 15 มี.ค. 11, 14:01

กว่่าจะได้เป็นเจ้าหมื่นนี่ลำบากไม่ใช่้เล่นเลยนะครับเนี่ย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง