เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 272559 ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้และผู้สนใจ) ๔
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 10 มี.ค. 11, 14:40


ขอตอบค่ะ

1. เกี่ยวกับการแต่งกาย ที่งดงามตามแบบเอกลักษณ์ไทย ทั้งตัวพระและตัวนาง

ตัวอย่างตอนทัพนาคได้เปรียบ พระยากาลนาคคิดแค้นท้าวสหะมลิวันยักษา จึงยกทัพไปตีเมืองมาร    
  ประทุมแก้วโปรยปรายดังสายฝน    ทรงสุคนธานทิพย์เกสร
  สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน              อุทุมพรภูษาพื้นแดง
  ชายแครงชายไหวประดับพลอย      ฉลององค์อย่างน้อยเครือแย่ง
  ตาบทิศทับทรวงลายแทง               สังวาลเพ็ชรลูกแดงชิงดวง
  พาหุรัดทองกรมังกรเกี้ยว                ธำมรงค์พลอยเขียวรุ้งร่วง
  มงกุฎแก้วสุรกานต์ดอกไม้พวง         ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร
  จับพระแสงขรรค์แก้วแววฟ้า           งามสง่าดั่งพระยาไกรสร
  เสด็จจากแท่นทิพย์อลงกรณ์           บทจรขึ้นรถสุรกานต์

ตัวอย่างตอนท้าวโรมพัดส่งธิดา (อรุณวดี) ไปทำลายตละฤาษีกไลโกฎ      
  ชำระสระสนานสำราญองค์    ทรงสุคนธ์ธารกลิ่นเกสร
  ภูษาลายเครือกินนร            ช่อเชิงมังกรกระหวัดกาย
  สไบตาดพื้นทองกรองริม      สอดสีทับทิมเฉิดฉาย
  ทับทรวงมรกตจำหลักลาย     ตาบทิศสร้อยสายสังวาลวรรณ
  สะอิ้งแก้วแววเลื่อมมุกดาหาร ดวงประพาฬบานพับประดับถัน
  พาหุรัดทองกรมังกรพัน         ธำมรงค์เพชรกุดั่นพรายตา
  ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์         กรรเจียกจรจำรัสซ้ายขวา
  งามเพียงนางเทพกินรา          นวยนาดยาตรามาขึ้นรถ

2. เกี่ยวกับการรบ การจัดทัพและการตั้งค่ายใน
มีการจัดกระบวนทัพและการตั้งค่ายเป็นแบบต่างๆ ตามค่านิยมและความเชื่อของคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล ความได้เปรียบในการรบ สร้างขวัญกำลังใจ มีการแบ่งกำลังพลและการบังคับบัญชา รวมถึงมีการกล่าวถึงอาวุธที่ใช้ในการรบแบบไทย เช่น ศร ขรรค์ ดาบ โล่ ง้าว ปืน ธนู โตมร ฯลฯ

ตัวอย่างการจัดทัพ ตอน หนุมานเผากรุงลงกา
             ทัพหน้าเกณฑ์ให้นิลนน          คุมพลสิบสมุทรเป็นนายใหญ่
 ทัพหนุนองคตฤทธิไกร                       คุมพลสิบสมุทรวานร
 เกียกกายคำแหงหนุมาน                     คุมทหารสิบสมุทรชาญสมร
 ทัพหลวงโยธาพลากร                        ซับซ้อนยี่สิบสมุทรตรา
 ยกกระบัตรนิลพัทชาญยุททธ์                คุมพลสิบสมุทรแกล้วกล้า
 กองขันสิบสมุทรโยธา                        นิลราชศักดาบัญชาการ
 กองหลังนิลเอกคุมไพร่                       นับได้เจ็ดสมุทรทวยหาญ
 รายเรียงเพียบพ้นสุธาธาร                    เสียงสะเทื้อนสะท้านเป็นโกลี

3. เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่
มีการบรรยายเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สอดแทรกไว้ในบทพระราชนิพนธ์
ทำให้มองเห็นภาพผู้คนในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างตอน หนุมานเผากรุงลงกา
           รู้ว่าสมโภชธานี                     ต่างตนยินดีเกษมสันต์
 แต่งตัวผัดหน้าใส่น้ำมัน                      ชวนกันมาดูวุ่นไป

และ
           บัดนั้น                                ฝ่ายหมู่อสุราน้อยใหญ่
 บ้างกินเหล้ากินแกล้มวุ่นไป                 เมามายไม่สมประดี
 บ้างเต้นบ้างรำทำเพลง                      ตบมือโฉงเฉงอึงมี่
 อื้อฉาวไปทั้งธานี                             อสุรีชื่นชมปรีดา



ตัวอย่างที่  ๑  ดี  แต่อธิบายน้อยไป ไม่ค่อยตรงจุดที่อยากได้
(ถ้าบอกเรื่องรายละเอียดเรื่องเครื่องแต่งกายตัวละครไทยจะให้คะแนนเต็ม)
เอาไป ๓ ๑/๒  คะแนน

ตัวอย่างที่  ๒  ดี  แต่อธิบายน้อยไปหน่อย  
(ถ้าอธิบายว่า  การจัดทัพแบบนี้  มีแบบแผนมาอย่างไร  
มีคติความเชื่ออะไรประกอบ  ก็จะให้เต็ม)  เอาไป ๔  คะแนน

ตัวอย่างที่  ๓  ดี  แต่ตัวอย่างที่ยกมาสั้นและไม่ค่อยเห็นภาพชัดนัก
(มีตอนอื่นที่ให้ภาพชัดเจน เรื่องชาวบ้านมาเดินดูงานมหรสพสมโภชของหลวง
และถ้ายกมาให้ดูด้วยว่างานสมโภชมีการละเล่นอะไรบ้างก็จะให้เต็ม)
เอาไป ๓ ๑/๒ คะแนน

ได้ไป ๑๑  คะแนน

บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 10 มี.ค. 11, 14:54

คำถามข้อที่  ๘๖.

คำถามนี้   ใครก็ไม่รู้ส่งมาจากสนามม้านางเลิ้ง
คำถามถามว่า  
๑. ม้า ๔ ตระกูล  มีลักษณะสังเกตได้อย่างไร?
๒. ลักษณะขวัญม้าที่ดี  เป็นอย่างไร ?
๓. ลักษณะขวัญม้าที่ร้ายเป็นอย่างไร ?
๔. ขวัญม้ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?
๕. ถ้าม้าพยศวิ่งมิตรงทาง  พยศขบอกมันเอง  พยศถอยหลัง  และดีดขบ  แก้ไขอย่างไร ?
๖.  ผู้เริ่มขี่ม้าตามอย่างตำราเก่า  ท่านสอนไว้ว่าอย่างไรบ้าง ?

ข้อนี้ ให้เลือกทำ ๓ ข้อ เป็นชุดตามนี้  คือ  ๑-๓-๕   ๒-๔-๖   เท่านั้น
ตอบถูกหมด  ข้อละ ๕ คะแนน  ตอบหน้าม่าน  ตั้งแต่เวลา  ๑๔.๐๐  น.
จนถึงเวลา  ๒๒.๐๐  น.   ตอบหลังเวลานี้  หัก  ๓  คะแนน

ขอตอบชุด ข้อ ๒-๔-๖ ค่ะ

๔. ขวัญม้ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

ขวัญม้าแบ่งตามลักษณะของขน มีสองประเภทคือ
- ขวัญก้นหอย คือขวัญที่มีลักษณะขนขึ้นเรียงกันเป็นรูปวงก้นหอย
- ขวัญตะขาบ คือขวัญที่มีขนเป็นรอยเส้นขึ้นเรียงกันตามยาวคล้ายรูปตะขาบ
ขวัญเกิดได้ทั่วไปตามตำแหน่งต่างๆ ทั่วตัว และมีชื่อเรียก ต่างๆ กันตามตำแหน่ง

ประเภทของขวัญตามตำแหน่งที่ปรากฏ
1.ขวัญที่หน้า
.ขวัญหลุมผี เป็นขวัญเดียวลึกอยู่ที่หน้าผาก เปิดผมหน้าม้าจะพบ
.ขวัญรัดเกล้า อยู่บริเวณสายรัดเกล้า ใกล้หูติดกับผม
.ขวัญดวงจันทร์ หรือขวัญเทพนม อยู่กึ่งกลาง Mid line ถ้าพบขวัญอยู่ต่ำลงมาเรียก ขวัญใต้ตาขี้โกง ม้าลักษณะนี้มักจะดื้อ
.ขวัญมังกรคาบแก้ว พบบริเวณปลายจมูก ( Muzzle ) อาจพบได้หลายขวัญ ในการลงทะเบียนระบบนานาชาติจะไม่ลงบันทึกขวัญนี้
.ขวัญน้ำตาตก ขวัญข้างแก้มใกล้เบ้าตา ถือเป็นขวัญเลว
.ขวัญธงไชย อยู่ที่ปลายหู ถือเป็นขวัญดี เป็นม้าที่คู่ควรกับกษัตริย์หรือแม่ทัพ
.ขวัญหัวคิ้ว เป็นขวัญอยู่ตรงหัวคิ้ว ข้างหนึ่งข้างใน
2.ขวัญด้านข้าง
.ขวัญกาจับปากโลง พบอยู่ใต้ขากรรไกรล่าง ถือเป็นขวัญเลว มักพบในม้าเทศ แต่ไม่พบในม้าไทยตามธรรมชาติ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นขวัญใต้ขากรรไกร
3.ขวัญบริเวณลำคอ
.ขวัญทัดดอกไม้ พบหลังหู
.ขวัญข้างคอ อาจพบอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม แต่ถ้าตรงกลาง ( Middle crest of neck ) เรียกขวัญข้างคอถ้าพบทั้งซ้ายขวาเรียก ขวัญขนาบคอ
.ขวัญคอเชือก พบตรงบริเวณลูกกระเดือก
.ขวัญห้อยราชสาส์ เป็นขวัญอยู่ระหว่างคอกับหน้าอก
.ขวัญห้อยราชสาส์น้อย ขวัญนี้จะอยู่ใกล้ไปทางคอ
.ขวัญห้อยราชสาส์ใหญ่ ขวัญนี้จะอยู่ใกล้ไปทางหน้าอก
.ขวัญแสนเดือน บ้างเรียกขวัญข้างคอ พบบริเวณตรงกลางของลำคอ
.ขวัญพาดหอก อยู่ที่แนวสันคอใกล้ผมแผงคอ มีอยู่ข้างเดียว
.ขวัญอกแตก (จุกอก) พบบริเวณอก ม้าที่มีขวัญนี้มักจะไม่ใช้ในการรบ เพราะมีขวัญไม่ดี
4.ขวัญบริเวณลำตัว
.ขวัญจอมปราสาท อยู่ตรงตะโหงกม้า ( wither ) ถือเป็นขวัญดี
.ขวัญนางพิม อยู่ท้ายตะโหงก มีที่มาจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางพิมหนี นั่งมาบนม้าตัวเดียวกัน อานม้ามีขนาดเล็กจึงต้องให้นางพิมนั่งอยู่ข้างหน้า
.ขวัญที่นั่งโจร อยู่ทางท้ายอานถือเป็นขวัญเลว ผู้ที่ขี่ม้าที่มีขวัญนี้อาจจะตกม้าได้
.ขวัญแร้งกระพือปีก อยู่บริเวณหัวไหล่ด้านหน้าขาหน้า อาจพบทั้งซ้ายและขวา
.ขวัญโกลนพระอินทร์ เป็นขวัญตรงตำแหน่งโกลนถือเป็นขวัญดีี อยู่ตรงรัดทึบเหนือข้อศอกทั้งสองข้าง ถ้ามีเพียงข้างเดียวเรียกว่า ขวัญบันไดแก้ว
5.ขวัญบริเวณขาหน้า
.ขวัญหน้าอก พบที่ซอกขาด้านในม้าทุกตัวต้องมี
.ขวัญบันไดแก้ว บนขาท่อน Radius-Ulna
.ขวัญห้องโซ่ หรือห้อยโซ่ ตรงบริเวณ Carpal joint ถือเป็นขวัญไม่ดี
.ขวัญจำตรวน ตรงข้อตาตุ่มเป็นขวัญไม่ดี
6.ขวัญบริเวณขาหลัง
.ขวัญเร่ง พบในม้าทุกตัว
.ขวัญอู่ตะเภา พบบริเวณสวาบในบางตัว หากมีถือเป็นขวัญดีในม้าตัวเมีย เชื่อว่าให้ลูกมาก
.ขวัญยุ้งแก้ว บริเวณหน้าท้องตอนล่างพบทุกตัว
7.ขวัญบริเวณท้ายตัว
.ขวัญเลิกซิ่น พบบางตัวข้างๆ อวัยวะเพศเมีย
.ขวัญน่องสิงห์ หากมีแล้วถือว่าม้าวิ่งเก่ง
.ขวัญลึงค์จ้ำ เรียกในม้าตัวผู้เท่านั้น อยู่ใต้ท้องตรงลึงค์
.อาจพบขวัญจำตรวนบริเวณข้อตาตุ่มได้เช่นกัน

ขวัญที่ม้าทุกตัวต้องมี เป็นขวัญปกติ  11 แห่ง  คือ (ตำแหน่งตามภาพในคห.ถัดไป)
ขวัญหลุมผี ขวัญดวงจันทร์ ขวัญมังกรคาบแก้ว ขวัญข้างคอ ขวัญหน้าอก ขวัญเร่ง ขวัญยุ้งแก้ว

๒. ลักษณะขวัญม้าที่ดี  เป็นอย่างไร ?

ขวัญม้าที่ดี คือ ขวัญที่มีลักษณะเป็นก้นหอยหรือตะขาบก็ได้ อยู่ในตำแหน่งที่ดีตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่าม้าที่มีขวัญในตำแหน่งที่ดี จะให้คุณแก่ผู้ขี่
ขวัญม้าที่ดีมี ๗ ชนิด คือ
๑. ขวัญดวงจันทร์ เป็นขวัญอยู่ที่หน้าผากม้ามีสามขวัญ
๒. ขวัญธงชัย อยู่ปลายใบหู ม้าที่มีขวัญนี้เป็นม้าที่คู่ควรกับกษัตริย์หรือแม่ทัพ
๓. ขวัญทัดดอกไม้ อยู่บริเวณหลังหู จะข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ให้จับหูม้าพับวนโดยรอบ ถ้าอยู่ในรัศมีของหูมีขวัญอยู่เรียกว่าขวัญทัดดอกไม้ทั้งสิ้น
๔. ขวัญรัดเกล้า อยู่ชิดโคนผมด้านหน้าทั้งสองข้าง
๕. ขวัญพาดหอก รูปก้นหอยหรือ ตะขาบ อยู่ที่แนวสันคอใกล้ผมแผงคอ มีอยู่ข้างเดียว
๖. ขวัญโกลนพระอินทร์ อยู่เหนือข้อศอกกับรัดทึบมักมีสองข้าง
๗. ขวัญห้อยราชสาส์น อยู่ตามแนวใต้คอด้านหน้า

๖.  ผู้เริ่มขี่ม้าตามอย่างตำราเก่า  ท่านสอนไว้ว่าอย่างไรบ้าง ?
-





บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 10 มี.ค. 11, 14:55

ขวัญปกติ  11 แห่ง ที่ม้าทุกตัวต้องมี


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 10 มี.ค. 11, 14:58

1. การจัดพระราชพิธีบรมศพของท้าวพระยาผู้ครองเมือง
ซึ่งในสมัยนี้ไม่จัดทำแบบโบราณกันแล้ว เนื่องด้วยคิดเห็นกันว่าสิ้นเปลืองโดนใช้เหตุ
จึงทอดลดยุบดุลเหลือเพียงสิ่งสำคัญเท่านั้น ส่วนประกอบอื่นๆ ก็เลิกหายไป
ตัวอย่าง ตอนงานพระเมรุของทศกัณฐ์
"จึ่งให้ตั้งมหาเมรุมาศ                อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน
สี่มุขห้ายอดดั่งวิมาน                 สูงตระหง่านเงื้อมง้ำอัมพร
ทั้งเมรุทิศเมรุแทรกรายเรียง         ดูเพียงสัตภัณฑ์สิงขร
มีชั้นอินทร์พรหมประนมกร          รายรูปกินนรคนธรรพ์
ประดับด้วยราชวัติฉัตรจรง           พนมแก้วแถวองค์สลับคั่น
ชั้นในพระเมรุทองนั้น                มีบัลลังก์รัตน์รูจี
เพดานปักทองเป็นเดือนดาว         แสงวาวด้วยแก้วมณีศรี
ทั้งระย้าพู่พวงดวงมณี               ก็เสร็จตามมีพระบัญชา
เมื่อนั้น                              พญาพิเภกยักษา
จึ่งให้เชิญพระศพเจ้าลงกา          ขึ้นมหาพิชัยราชรถ
ประดับด้วยเครื่องสูงเศวตฉัตร       กรรชิงรัตน์พัดโบกอลงกต
ขนัดพลเกณฑ์แห่เป็นหลั่นลด       รถโยงรถนำเรียบเรียง
กลองชนะปี่ฆ้องก้องกึก             พันลึกครึกครั่นสนั่นเสียง
แตรงอนแตรฝรั่งเป็นคู่เคียง         สำเนียงเอิกเกริกเป็นโกลา
จึ่งให้เคลื่อนรถทรงบรมศพ         พระจอมภพธิราชยักษา
โดยกระบวนไปตามรัถยา           ยังมหาเมรุมาศรูจี"

2. สมโภชเด็กเกิดใหม่
ในอดีตไม่ว่าจะเป็นลูกชาวบ้าน บุตรขุนนาง หรือพระราชกุมารของพระเจ้าแผ่นดิน
ก็ย่อมมีงานสมโภชให้เด็กเกิดใหม่อยู่ทั่วไป แต่ปัจจุบันประเพณีนี้กลับหาเห็นยากนัก
ตัวอย่าง ตอนสมโภชพระราชกุมารท้าวทศรถ
"บัดนั้น                              ปุโรหิตพฤฒาผู้ใหญ่
ได้ฤกษ์ก็จุดเทียนชัย                ติดในแว่นแก้วรจนา
เวียนเอยเวียนเทียน                 ให้เวียนแต่ซ้ายไปขวา
โหรเฒ่าลั่นฆ้องสามครา             ประโคมทั้งกาหลดนตรี
ขับไม้ขับขานประสานเสียง         ดุริยางค์จำเรียงอึงมี่
ราชครูปุโรหิตเสนี                   พระศรีสุริยวงศ์พร้อมกัน
เจ็ดรอบชอบราชตำรับ              จึ่งดับเทียนชัยเฉลิมขวัญ
ชีพ่อจบหัตถ์แล้วโบกควัน           ให้พระพงศ์เทวัญกุมารา
เอาจุณเจิมเฉลิมพระนลาฏ          สี่องค์อัครราชโอรสา
แล้วโอมอ่านพระเวทพรหมา         ถวายอาเศียรพาทสวัสดี"

3. การลงทัณฑ์นักโทษ
สมัยนี้เขาไม่ทำกันแล้ว จารีตนครบาล ไม่มีหรอก
ยกเลิกไปแต่รัชกาลที่ 5 โน่น (แต่อาจจะยังมีจารีตภูธร จารีตสันติบาล รูดซิบปาก)
ตัวอย่าง ตอนหนุมานเผาลงกา
"ครั้นถึงจึ่งช่วยกันผูกมัด             รึงรัดกรกายกระบี่ศรี
แทงด้วยแหลนหลาวทวนตรี         บ้างตีด้วยตระบองเท่าลำตาล
บ้างเอาค้อนเหล็กรุมรัน              บ้างหมู่ก็ฟันด้วยขวาน
บ้างเอาพะเนินค้อนรอนราญ         บ้างประหารด้วยง้าววุ่นไป"
...............
"ครั้นถึงช่วยกันอุตลุด               กลิ้งฉุดซึ่งครกเหล็กใหญ่
ที่เหนื่อยก็หยุดหายใจ               บ้างได้สากเหล็กก็แบกมา"
...............
"จับเท้าจับกายจับหัตถ์              ซัดลงในครกเหล็กใหญ่
บ้างฉวยเอาสากด้วยว่องไว          ตำไล่กันเป็นโกลา"
...............
"บัดนั้น                              จึ่งขุนคชาขาญสมร
รับสั่งท้าวยี่สิบกร                    ก็รีบบทจรออกไป"
...............
"ครั้นถึงก็ไสเข้าให้แทง             ด้วยแรงหัสดินตัวกล้า
โจมจ้วงทะลวงลงงา                 บาทาถีบฉัดวุ่นไป"


ตัวอย่างที่  ๑  ตัวอย่างดี   แต่อธิบายไม่ดี   เอาไป ๓ คะแนน
ถ้าอธิบายว่า  พระเมรุกษัตริย์สมัยก่อนมีการสร้างใหญ่โตเพียงใด
ประกอบด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมและการตกแต่งอย่างไร
เพื่ออะไรแล้ว ด้วยคติอะไร  ก็จะให้เต็ม)

ตัวอย่างที่  ๒  ตัวอย่างดี  แต่อธิบายน้อยไป
แถมอธิบายไม่ถูก   การทำขวัญเด็กเกิดใหม่ตามที่ยกมา
โอเคว่า  เป็นประเพณีที่ชาวบ้านสามัญชนนจนเจ้านายก็ทำกัน
แต่เมื่อยกตัวอย่างในรามเกียรติ์มาก็ควรจะอธิบายว่า
นี่เป็นการทำขวัญพระกุมารตามพระราชประเพณี  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1234....   ถ้าอธิบายดังนี้  ก็จะให้เต็ม  
เอาไป  ๓  คะแนน


ตัวอย่างที่  ๓  จารีตนครบาล   แล้วยกตัวอย่าง
ตอนทศกัณฐ์สั่งให้ลงโทษหนุมานด้วยวิธีการต่างๆ
ไปเทียบกับจารีตนครบาลในกฎหมายเก่าของไทย
ที่ยกเลิกสมัยรัชกาลที่  ๕  ไม่ทราบว่า  คนตอบตรวจดูแน่ใจแล้วหรือ
ว่าตัวอย่างที่ยกมาในรามเกียรติ์เหมือนกับจารีตนครบาลของไทย
เอาไป  ๐  คะแนน

รวมได้  ๖  คะแนน
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 10 มี.ค. 11, 15:02

คำถามข้อที่  ๘๖.

คำถามนี้   ใครก็ไม่รู้ส่งมาจากสนามม้านางเลิ้ง
คำถามถามว่า  
๑. ม้า ๔ ตระกูล  มีลักษณะสังเกตได้อย่างไร?
๒. ลักษณะขวัญม้าที่ดี  เป็นอย่างไร ?
๓. ลักษณะขวัญม้าที่ร้ายเป็นอย่างไร ?
๔. ขวัญม้ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?
๕. ถ้าม้าพยศวิ่งมิตรงทาง  พยศขบอกมันเอง  พยศถอยหลัง  และดีดขบ  แก้ไขอย่างไร ?
๖.  ผู้เริ่มขี่ม้าตามอย่างตำราเก่า  ท่านสอนไว้ว่าอย่างไรบ้าง ?

ข้อนี้ ให้เลือกทำ ๓ ข้อ เป็นชุดตามนี้  คือ  ๑-๓-๕   ๒-๔-๖   เท่านั้น
ตอบถูกหมด  ข้อละ ๕ คะแนน  ตอบหน้าม่าน  ตั้งแต่เวลา  ๑๔.๐๐  น.
จนถึงเวลา  ๒๒.๐๐  น.   ตอบหลังเวลานี้  หัก  ๓  คะแนน

เอาชุด 1-3-5

1. ม้าสี่ตระกูลมีจุดสังเกตอย่างไร
   -ม้าตระกูลกษัตริย์ หูม้านั้นเป็นกนก ถ้าอยากจะใคร่รู้ไปเกี่ยวเอาคามาวัดที่หลังแล้วปูให้นอน ถ้าม้าเอาศีรษะไปทิศ
ตะวันออก บอกตระกูลกษัตริย์แท้ ถ้าไม่ดังนั้นยังสงสัย เอาเข็มสักที่ใบหูเลือดเป็นสีมันปู คือตระกูลกษัตริย์แท้
จุงลงนำเอาท้าวคุ้ยแหงนดูอากาศ ตระกูลกษัตริย์แท้
   -ม้าตระกูลพราหมณ์ ท่อนหน้าเล็กหน้าบาง ท่อนฟน้าเล็กใบหูใหญ่ ตระกูลพราหมณ์แล
   -ม้าตระกูลแพทย์พ่อค้า หน้าสั้นฟันสิบซีกไซ้เศษสอง ตระกูลแพทย์แล
   -ม้าตระกูลสูท สัณฐานหน้าตาจระเข้เขียวเป็นถั่วแปบ ผมหน้ายิกหางยุ่ง เรียกว่าตระกูลสูท

3. ลักษณะขวัญม้าที่ร้ายเป็นอย่างไร
   ลักษณะขวัญม้าที่ร้ายนั้น ก็คือลักษณะขวัญของม้าที่โบราณถือว่าไม่ดีสำหรับผู้ขี่หรือเจ้าของม้า
   ขวัญชั่วของม้า  เช่น ขวัญขนาบคา  อยู่ข้างสันคอใกล้แนวผมแผงคอ มีสองข้า (ถ้ามีข้างเดียว เรียกว่าขวัญพาดหอก ถือว่าดี)
   ขวัญกาจับปากโรง อยู่ใต้คาง
   ขวัญคอเชือด อยู่ใต้คอต่อ ใต้ขากรรไกรกับคอ

5. ถ้าม้าพยศวิ่งมิตรงทาง  พยศขบอกมันเอง  พยศถอยหลัง  และดีดขบ  แก้ไขอย่างไร
    -ม้าพยศวิ่งมิตรงทาง ให้ใส่บุ้งทั้งสองข้าง ให้ถือจงตรง ผูกอานคร่อมไหล่ ให้ถอยลงมาข้างหลังสน่อยเหมือนดังง่องๆ
นั้นผูกเครือทั้งสองข้าง ครั้นจะชักสายถือไม้นั้นผูกปากม้า ๆ นั้นวิ่งตรงทางแล ฯ
    -ม้าพยศขบอกมันเอง ให้ใส่บังเหียนบุ้งให้เจ็บแต่พอดี เอาไม้ใส่ต่างง่องปลายไม้ใส่เล่กตกต้นไม้ทานอก ม้านั้นขบอกมิได้แล ฯ
    -ม้าพยศถอยหลัง ให้ใส่บังเหียนเกลี้ยง ไว้สายถือเพียงต้นแปรงให้คลายสายถือ มือขวาถือแซ่ยาว 3 ศอกคืบ 3 นิ้ว
ปลายแซ่นั้นให้ใส่ตะกั่ว ถ้าและม้าถอยหลังเอาเชือกตีให้ถูกราวท้องตรงปลายลึงค์ ม้านั้นถอยหลังไปมิได้แล ฯ
    -ม้าดีดขบ ให้เอายานี้แก้ ให้เอาขัดมอนขึ้นที่ป่าช้านั้น เมื่อไปเอานั้นเบี้ย 3 เบี้ย หมากคำ 1 กล้วยลูก 1 เข้าปั้น 1
ให้ว่าแก่ผีว่า ม้าข้านี้ร้ายมีพยศขบกัดดีดหนัก ข้าขอจะเอาท่านไปแก้พยศซึ่งมันร้ายดีดขบกัดหนัก อย่าให้มันร้ายดีดขบกัดได้เลย
แล้วเอามาทั้งรากมาสับให้ละเอียดตากแดดไว้ให้แห้งตำเป็นผง จึงเอาเทียนเล่ม 1 ไก่ตัว 1 มะพร้าวใบ 1 เหล้ากะติก 1
เข้าตอกดอกไม้พลี เอายานั้นจงคำนับเอายานั้นใส่ปนข้าวให้ม้ากินเมื่อสงัด อย่าให้คนเห็นดีนักแล ฯ
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 10 มี.ค. 11, 15:20

อุทธรณ์คำสั่งศาลตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความ......(ไม่รู้แพ่งหรืออาญาดี)

คำพิพากษา
ตัวอย่างที่  ๑  ตัวอย่างดี   แต่อธิบายไม่ดี   เอาไป ๓ คะแนน
ถ้าอธิบายว่า  พระเมรุกษัตริย์สมัยก่อนมีการสร้างใหญ่โตเพียงใด
ประกอบด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมและการตกแต่งอย่างไร

เพื่ออะไรแล้ว ด้วยคติอะไร  ก็จะให้เต็ม)

ตัวอย่างที่  ๒  ตัวอย่างดี  แต่อธิบายน้อยไป
แถมอธิบายไม่ถูก   การทำขวัญเด็กเกิดใหม่ตามที่ยกมา
โอเคว่า  เป็นประเพณีที่ชาวบ้านสามัญชนนจนเจ้านายก็ทำกัน
แต่เมื่อยกตัวอย่างในรามเกียรติ์มาก็ควรจะอธิบายว่า
นี่เป็นการทำขวัญพระกุมารตามพระราชประเพณี  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1234.... 
  ถ้าอธิบายดังนี้  ก็จะให้เต็ม 
เอาไป  ๓  คะแนน

ตัวอย่างที่  ๓  จารีตนครบาล   แล้วยกตัวอย่าง
ตอนทศกัณฐ์สั่งให้ลงโทษหนุมานด้วยวิธีการต่างๆ
ไปเทียบกับจารีตนครบาลในกฎหมายเก่าของไทย
ที่ยกเลิกสมัยรัชกาลที่  ๕  ไม่ทราบว่า  คนตอบตรวจดูแน่ใจแล้วหรือ
ว่าตัวอย่างที่ยกมาในรามเกียรติ์เหมือนกับจารีตนครบาลของไทย

คำอุธรณ์
1. คุณหลวงบอกแค่ว่าตัวอย่างนั้นแสดงถึงวัฒนธรรมไทยอย่างไร ไม่ได้บอกว่าให้อธิบายถึงรายละเอียด
ของพิธีกรรมนั้นๆ มาด้วย ไม่เช่นนั้น ถ้าพูดถึงมหรสพหลวง ไม่ต้องยกทุกอย่างดอกหรือ
ทั้ง ญวนหก ระเบง กุลาตีไม้ รำโคม บอกวิธีการเล่น เนื้อร้อง สารพัดสารพัน... มันมากไปมั้งใต้เท้า ฮืม
2. เรื่องพิธีสมโภชกุมาร อธิบายผิดตรงไหนบอกล่าวด้วย
3. ถึงไม่ใช่จารีตนครบาล แต่ในสมัยก่อนมันก็มีการลงทัณฑ์อย่างนี้มิใช่หรือ หนักกว่านี้ก็มี
กฏหมายตราสามดวงก็เขียนไว้ (จำไม่ได้ว่าพระอัยการไหน)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 09:14

อุทธรณ์คำสั่งศาลตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความ......(ไม่รู้แพ่งหรืออาญาดี)

คำพิพากษา
ตัวอย่างที่  ๑  ตัวอย่างดี   แต่อธิบายไม่ดี   เอาไป ๓ คะแนน
ถ้าอธิบายว่า  พระเมรุกษัตริย์สมัยก่อนมีการสร้างใหญ่โตเพียงใด
ประกอบด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมและการตกแต่งอย่างไร

เพื่ออะไรแล้ว ด้วยคติอะไร  ก็จะให้เต็ม)

ตัวอย่างที่  ๒  ตัวอย่างดี  แต่อธิบายน้อยไป
แถมอธิบายไม่ถูก   การทำขวัญเด็กเกิดใหม่ตามที่ยกมา
โอเคว่า  เป็นประเพณีที่ชาวบ้านสามัญชนนจนเจ้านายก็ทำกัน
แต่เมื่อยกตัวอย่างในรามเกียรติ์มาก็ควรจะอธิบายว่า
นี่เป็นการทำขวัญพระกุมารตามพระราชประเพณี  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1234.... 
  ถ้าอธิบายดังนี้  ก็จะให้เต็ม 
เอาไป  ๓  คะแนน

ตัวอย่างที่  ๓  จารีตนครบาล   แล้วยกตัวอย่าง
ตอนทศกัณฐ์สั่งให้ลงโทษหนุมานด้วยวิธีการต่างๆ
ไปเทียบกับจารีตนครบาลในกฎหมายเก่าของไทย
ที่ยกเลิกสมัยรัชกาลที่  ๕  ไม่ทราบว่า  คนตอบตรวจดูแน่ใจแล้วหรือ
ว่าตัวอย่างที่ยกมาในรามเกียรติ์เหมือนกับจารีตนครบาลของไทย

คำอุธรณ์
1. คุณหลวงบอกแค่ว่าตัวอย่างนั้นแสดงถึงวัฒนธรรมไทยอย่างไร ไม่ได้บอกว่าให้อธิบายถึงรายละเอียด
ของพิธีกรรมนั้นๆ มาด้วย ไม่เช่นนั้น ถ้าพูดถึงมหรสพหลวง ไม่ต้องยกทุกอย่างดอกหรือ
ทั้ง ญวนหก ระเบง กุลาตีไม้ รำโคม บอกวิธีการเล่น เนื้อร้อง สารพัดสารพัน... มันมากไปมั้งใต้เท้า ฮืม
2. เรื่องพิธีสมโภชกุมาร อธิบายผิดตรงไหนบอกล่าวด้วย
3. ถึงไม่ใช่จารีตนครบาล แต่ในสมัยก่อนมันก็มีการลงทัณฑ์อย่างนี้มิใช่หรือ หนักกว่านี้ก็มี
กฏหมายตราสามดวงก็เขียนไว้ (จำไม่ได้ว่าพระอัยการไหน)



อะ...มีผู้ประท้วงมา   

เวลาที่คุณตอบคำถามในกระทู้นี้  คุณคิดว่าคุณเขียนตอบให้ผมอ่านคนเดียวน่ะหรือ
จริงแล้ว  ผมเป็นเพียงคนตรวจ   ผมอาจจะเข้าใจสิ่งที่คุณตอบ   
แต่คุณก็ต้องคิดถึงคนอื่นที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้ด้วยว่าเขามีความรู้ไม่ทัดเทียมกับเรา
บางคนรู้มากกว่า  บางคนรู้น้อยกว่า   ฉะนั้น  คุณต้องคิดเผื่อคนอ่านคนอื่นด้วยว่า
คุณตอบเท่านี้  คนอ่านคนอื่นเขาจะเข้าใจไหม  ก็เหมือนเราทำข้อสอบนั่นแหละ
คุณคิดว่าตอบย่อๆ  อาจารย์คนที่ตรวจข้อสอบคงเข้าใจได้ว่าคุณหมายความว่าอย่างไร
ถ้าคิดอย่างนั้น  คุณก็คิดผิดพลาดมาก   คุณต้องเขียนให้ละเอียดอ่านรู้เรื่อง 
อย่าย่ออย่าข้ามข้อมูลที่คุณคิดว่าคนอื่นจะรู้อย่างคุณ     เพราะรายละเอียดบางอย่าง
ไม่ใช่ข้อมูลสามัญที่ทุกคนต้องรู้ต้องทราบ    การตอบคำถามที่ผ่านมา
ผมตรวจค่อนข้างละเอียด   อาจจะมีบางข้อต้นๆ ที่ผมมองข้ามเรื่องรายละเอียดเล็กน้อยไป
เพราะเห็นว่าข้อมูลสำคัญที่ต้องการมีอยู่ครบแล้ว  แต่ในบางคำถาม
ที่ผมเน้นให้อธิบายปรกอบ  ผมอยากให้เขียนให้ละเอียด  ส่วนจะมากหรือละเอียดเท่าใด
คุณจะต้องให้ผมต้องแจงสี่เบี้ยขนาดนั้นเชียวหรือ  ขอให้อยู่ดุลยพินิจของคนตอบเถิด
ถ้าอธิบายย่อแล้วคุณเข้าใจคนเดียว   ผมไม่เข้าใจ   คนอ่านหลายคนไม่เข้าใจ
ผมจะให้คะแนนเต็มได้อย่างไร    ตอบคำถามอย่างนี้ต้องคิดเผื่อคนอ่านด้วยครับ
เพราะเราไม่ใช่เอตทัคคะกันทุกคนนี่


1. คุณหลวงบอกแค่ว่าตัวอย่างนั้นแสดงถึงวัฒนธรรมไทยอย่างไร ไม่ได้บอกว่าให้อธิบายถึงรายละเอียด
ของพิธีกรรมนั้นๆ มาด้วย ไม่เช่นนั้น ถ้าพูดถึงมหรสพหลวง ไม่ต้องยกทุกอย่างดอกหรือ
ทั้ง ญวนหก ระเบง กุลาตีไม้ รำโคม บอกวิธีการเล่น เนื้อร้อง สารพัดสารพัน... มันมากไปมั้งใต้เท้า ฮืม

แก้ว่า   คุณยกตัวอย่างมายาวเท่าไร  คุณก็อธิบายกลอนที่ยกมาสิ   นี่คุณเล่นอธิบายก่อนตัวอย่าง
คำอธิบายของคุณเลยกว้างกว่าตัวอย่างไป   ถ้าเอาตัวอย่างตั้งก่อนแล้วอธิบายว่ากลอนนี้กล่าวถึงอะไร
แสดงให้เห็นประเพณีไทยอย่างไร  อะไรบ้าง  ก็ถ้าคุณยกเรื่องมหรสพหลวงมา
ผมก็อยากรู้ว่า  การละเล่นแต่ละอย่างเป็นอย่างไร   คุณคิดว่าคนอ่านทุกคนรู้จักหมดน่ะหรือ
แต่จะอธิบายหมดที่ยกมาหรือไม่   อยู่ในดุลยพินิจของผู้ตอบ


2. เรื่องพิธีสมโภชกุมาร อธิบายผิดตรงไหนบอกล่าวด้วย

แก้ว่า  การสมโภชพระกุมารเป็นพิธีหลวง  ที่ทำเอิกเกริกกว่าของชาวบ้าน
เพราะของชาวบ้านเขาจะจัดพิธีเป็นการภายใน   เชิญแต่ญาติที่สนิทที่นับถือ
และไม่มีการประโคมโหมโรงอะไรอย่างของหลวง   
ดูในเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นตัวอย่าง  หรือในสี่แผ่นดิน
เพราะการรับขวัญเด็กเกิดใหม่นั้น  การฉลองว่าเด็กคนนั้นคลอดออกมาแล้ว
ยังมีชีวิตปลอดภัยอยู่พ้น ๓ วัน (สามวันลูกผีสี่วันลูกคน)
ฉะนั้นคุณต้องอธิบายว่า งานสมโภชพระกุมารเป็นงานของหลวง
คุณก็ต้องอธิบายในรายละเอียดงานของหลวง 
ถ้าบอกคลุมไปถึงงานชาวบ้านก็ผิดแน่ๆ   เพราะอะไรยังต้องให้อธิบายอีกไหม


3. ถึงไม่ใช่จารีตนครบาล แต่ในสมัยก่อนมันก็มีการลงทัณฑ์อย่างนี้มิใช่หรือ หนักกว่านี้ก็มี
กฏหมายตราสามดวงก็เขียนไว้ (จำไม่ได้ว่าพระอัยการไหน)

แก้ว่า  ตามพระราชบัญญัติยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล
ร,ศ, ๑๑๕  (รายละเอียดไปหาอ่านเอาเอง)  ผมไม่เห็นมีข้อไหน
ทำแรงหมายเอาชีวิตนักโทษอย่างที่ทศกัณฐ์ทำกับหนุมาน 

การเอากระบอง ค้อน กระหน่ำตี   เอาง้าวหอกแทง   
เอาใส่ครกเหล็กตำ  และไสช้างเอางาไล่แทง 
เหล่านี้มีในจารีตนครบาลด้วยหรือ 
จารีตนครบาล  เป็นส่วนหนึ่งในการทรมานผู้ต้องหาให้ยอมเผยข้อมูล
หรือยอมรับข้อหาตามวิธีการพิจารณาศาลอย่างเก่า
วิธีการ มี เฆี่ยนถาม    จำ ๕ และ ๓ ประการใส่คุก  มัดโยง
ตบปาก   ทวน  จำคาจำขื่อ  มัดแช่น้ำตากแดด   สับเสี่ยง
บีบขมับ  ตอกเล็บ   บีบนิ้ว  เป็นต้น  เหล่านั้นนี้มีอยู่ใน
พระอัยการลักษณะโจร  พระอัยการลักษณะตระลาการ
พระอัยการลักษระอุทธรณ์  กฎ ๓๖ ข้อ  พระราชกำหนดเก่า


จารีตนครบาลเหล่านี้  มุ่งทรมานให้นักโทษยอมให้ปากคำ
เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี   ไม่ได้มุ่งหมายจะเอาชีวิต
อย่างที่ทศกัณฐ์ทำแก่หนุมาน   แน่นอนว่าจารีตนครบาล
อาจจะทำให้คนถูกทรมานตายได้  ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย
แต่ก็เป็นเพราะเกิดจากการทรมานหนักมือไป   
หาได้เป็นการมุ่งเอาชีวิตแต่ต้นไม่

ก็ลองพิจารณาดูว่า  ที่คุณแย้งมากับที่ผมอธิบายนี้  มันไปด้วยกันหรือไม่


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 09:46

อย่าลืมนะคุณอาร์ท ติดฤชากร ประทับรับฟ้องศาลกรุงลงกา จึงจะฟ้องได้

๑. การที่คุณหลวงมีเจตนาดีให้คุณอาร์ท นำเรื่องมาเล่าก็เห็นเป็นประโยชน์แท้ จะได้เมตตาแก่เหล่ากุ้งปลา อย่าพวกเราได้อาศัยความรู้เพิ่มเติม

๒. เมื่อคุณอาร์ทได้อธิยายให้สมน้ำ สมเนื้อแก่คุณหลวงแล้วไซร้ คุณหลวงก็ควรยกคะแนนพิศวาส พิเศษบำเรอแก่คุณอาร์ทตามเนื้อผ้าไหมทอชั้นดีด้วยเทอญ

บรรดากุ้งปลา อย่าพวกเราจักได้พลอยยินดีปรีดาด้วยกัน


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 09:52

อย่าลืมนะคุณอาร์ท ติดฤชากร ประทับรับฟ้องศาลกรุงลงกา จึงจะฟ้องได้

๑. การที่คุณหลวงมีเจตนาดีให้คุณอาร์ท นำเรื่องมาเล่าก็เห็นเป็นประโยชน์แท้ จะได้เมตตาแก่เหล่ากุ้งปลา อย่างพวกเราได้อาศัยความรู้เพิ่มเติม

๒. เมื่อคุณอาร์ทได้อธิยายให้สมน้ำ สมเนื้อแก่คุณหลวงแล้วไซร้ คุณหลวงก็ควรยกคะแนนพิศวาส พิเศษบำเรอแก่คุณอาร์ทตามเนื้อผ้าไหมทอชั้นดีด้วยเทอญ

บรรดากุ้งปลา อย่างพวกเราจักได้พลอยยินดีปรีดาด้วยกัน

ศาลนี้ไม่ควรติดสินบนใครและก็ไม่ให้ใครติดสินบนด้วย
ไม่เช่นนั้น  ศาลนี้จะเป็นได้แค่ศาลเพียงตา  ที่ตั้งอยู่ชั่วคราว
หมดการพิธีแล้วก็รื้อลง
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 09:59

ท้าวมาลีวรราชมาเอง ยิงฟันยิ้ม

ดูเหมือนเมืองนี้ค่าเงินจะถูกนะคุณไซมีส
ฤชาอากรค่ารับฟ้องเพียงฬศเดียว
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 10:03

อย่าลืมนะคุณอาร์ท ติดฤชากร ประทับรับฟ้องศาลกรุงลงกา จึงจะฟ้องได้

๑. การที่คุณหลวงมีเจตนาดีให้คุณอาร์ท นำเรื่องมาเล่าก็เห็นเป็นประโยชน์แท้ จะได้เมตตาแก่เหล่ากุ้งปลา อย่างพวกเราได้อาศัยความรู้เพิ่มเติม

๒. เมื่อคุณอาร์ทได้อธิยายให้สมน้ำ สมเนื้อแก่คุณหลวงแล้วไซร้ คุณหลวงก็ควรยกคะแนนพิศวาส พิเศษบำเรอแก่คุณอาร์ทตามเนื้อผ้าไหมทอชั้นดีด้วยเทอญ

บรรดากุ้งปลา อย่างพวกเราจักได้พลอยยินดีปรีดาด้วยกัน

ศาลนี้ไม่ควรติดสินบนใครและก็ไม่ให้ใครติดสินบนด้วย
ไม่เช่นนั้น  ศาลนี้จะเป็นได้แค่ศาลเพียงตา  ที่ตั้งอยู่ชั่วคราว
หมดการพิธีแล้วก็รื้อลง

งั้นก็ตามแก่ใจคุณอาร์ท จะลงหรือไม่ลง

"จงแผ่เดชา วรายศ   ให้ปรากฎทั่วทิศ ทิศาศาน"

อัฐฬศ กรุงลงกา ไม่เหมือน อัฐฬศ โลกมนุษย์นะขอบอก  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ฬศเดียว ฟ้องไปทั่ว คิคิ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 16:05

คุณดีดีตอบข้อที่ ๘๖. มาดังนี้

๔. ขวัญม้ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

ขวัญม้าแบ่งตามลักษณะของขน มีสองประเภทคือ
- ขวัญก้นหอย คือขวัญที่มีลักษณะขนขึ้นเรียงกันเป็นรูปวงก้นหอย
- ขวัญตะขาบ คือขวัญที่มีขนเป็นรอยเส้นขึ้นเรียงกันตามยาวคล้ายรูปตะขาบ
ขวัญเกิดได้ทั่วไปตามตำแหน่งต่างๆ ทั่วตัว และมีชื่อเรียก ต่างๆ กันตามตำแหน่ง

ประเภทของขวัญตามตำแหน่งที่ปรากฏ
1.ขวัญที่หน้า
.ขวัญหลุมผี เป็นขวัญเดียวลึกอยู่ที่หน้าผาก เปิดผมหน้าม้าจะพบ
.ขวัญรัดเกล้า อยู่บริเวณสายรัดเกล้า ใกล้หูติดกับผม
.ขวัญดวงจันทร์ หรือขวัญเทพนม อยู่กึ่งกลาง Mid line ถ้าพบขวัญอยู่ต่ำลงมาเรียก ขวัญใต้ตาขี้โกง ม้าลักษณะนี้มักจะดื้อ
.ขวัญมังกรคาบแก้ว พบบริเวณปลายจมูก ( Muzzle ) อาจพบได้หลายขวัญ ในการลงทะเบียนระบบนานาชาติจะไม่ลงบันทึกขวัญนี้
.ขวัญน้ำตาตก ขวัญข้างแก้มใกล้เบ้าตา ถือเป็นขวัญเลว
.ขวัญธงไชย อยู่ที่ปลายหู ถือเป็นขวัญดี เป็นม้าที่คู่ควรกับกษัตริย์หรือแม่ทัพ
.ขวัญหัวคิ้ว เป็นขวัญอยู่ตรงหัวคิ้ว ข้างหนึ่งข้างใน
2.ขวัญด้านข้าง
.ขวัญกาจับปากโลง พบอยู่ใต้ขากรรไกรล่าง ถือเป็นขวัญเลว มักพบในม้าเทศ แต่ไม่พบในม้าไทยตามธรรมชาติ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นขวัญใต้ขากรรไกร
3.ขวัญบริเวณลำคอ
.ขวัญทัดดอกไม้ พบหลังหู
.ขวัญข้างคอ อาจพบอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม แต่ถ้าตรงกลาง ( Middle crest of neck ) เรียกขวัญข้างคอถ้าพบทั้งซ้ายขวาเรียก ขวัญขนาบคอ
.ขวัญคอเชือก พบตรงบริเวณลูกกระเดือก
.ขวัญห้อยราชสาส์(น) เป็นขวัญอยู่ระหว่างคอกับหน้าอก
.ขวัญห้อยราชสาส์(น)น้อย ขวัญนี้จะอยู่ใกล้ไปทางคอ
.ขวัญห้อยราชสาส์(น)ใหญ่ ขวัญนี้จะอยู่ใกล้ไปทางหน้าอก
.ขวัญแสนเดือน บ้างเรียกขวัญข้างคอ พบบริเวณตรงกลางของลำคอ
.ขวัญพาดหอก อยู่ที่แนวสันคอใกล้ผมแผงคอ มีอยู่ข้างเดียว
.ขวัญอกแตก (จุกอก) พบบริเวณอก ม้าที่มีขวัญนี้มักจะไม่ใช้ในการรบ เพราะมีขวัญไม่ดี
4.ขวัญบริเวณลำตัว
.ขวัญจอมปราสาท อยู่ตรงตะโหงกม้า ( wither ) ถือเป็นขวัญดี
.ขวัญนางพิม อยู่ท้ายตะโหงก มีที่มาจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางพิมหนี นั่งมาบนม้าตัวเดียวกัน อานม้ามีขนาดเล็กจึงต้องให้นางพิมนั่งอยู่ข้างหน้า
.ขวัญที่นั่งโจร อยู่ทางท้ายอานถือเป็นขวัญเลว ผู้ที่ขี่ม้าที่มีขวัญนี้อาจจะตกม้าได้
.ขวัญแร้งกระพือปีก อยู่บริเวณหัวไหล่ด้านหน้าขาหน้า อาจพบทั้งซ้ายและขวา
.ขวัญโกลนพระอินทร์ เป็นขวัญตรงตำแหน่งโกลนถือเป็นขวัญดีี อยู่ตรงรัดทึบเหนือข้อศอกทั้งสองข้าง ถ้ามีเพียงข้างเดียวเรียกว่า ขวัญบันไดแก้ว
5.ขวัญบริเวณขาหน้า
.ขวัญหน้าอก พบที่ซอกขาด้านในม้าทุกตัวต้องมี
.ขวัญบันไดแก้ว บนขาท่อน Radius-Ulna
.ขวัญห้องโซ่ หรือห้อยโซ่ ตรงบริเวณ Carpal joint ถือเป็นขวัญไม่ดี
.ขวัญจำตรวน ตรงข้อตาตุ่มเป็นขวัญไม่ดี
6.ขวัญบริเวณขาหลัง
.ขวัญเร่ง พบในม้าทุกตัว
.ขวัญอู่ตะเภา พบบริเวณสวาบในบางตัว หากมีถือเป็นขวัญดีในม้าตัวเมีย เชื่อว่าให้ลูกมาก
.ขวัญยุ้งแก้ว บริเวณหน้าท้องตอนล่างพบทุกตัว
7.ขวัญบริเวณท้ายตัว
.ขวัญเลิกซิ่น พบบางตัวข้างๆ อวัยวะเพศเมีย
.ขวัญน่องสิงห์ หากมีแล้วถือว่าม้าวิ่งเก่ง
.ขวัญลึงค์จ้ำ เรียกในม้าตัวผู้เท่านั้น อยู่ใต้ท้องตรงลึงค์
.อาจพบขวัญจำตรวนบริเวณข้อตาตุ่มได้เช่นกัน

ขวัญที่ม้าทุกตัวต้องมี เป็นขวัญปกติ  11 แห่ง  คือ (ตำแหน่งตามภาพในคห.ถัดไป)
ขวัญหลุมผี ขวัญดวงจันทร์ ขวัญมังกรคาบแก้ว ขวัญข้างคอ ขวัญหน้าอก ขวัญเร่ง ขวัญยุ้งแก้ว

ได้ ๔ ๑/๒ คะแนน (หักที่เขียนตก น  ๓ แห่ง)

๒. ลักษณะขวัญม้าที่ดี  เป็นอย่างไร ?

ขวัญม้าที่ดี คือ ขวัญที่มีลักษณะเป็นก้นหอยหรือตะขาบก็ได้ อยู่ในตำแหน่งที่ดีตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่าม้าที่มีขวัญในตำแหน่งที่ดี จะให้คุณแก่ผู้ขี่
ขวัญม้าที่ดีมี ๗ ชนิด คือ
๑. ขวัญดวงจันทร์ เป็นขวัญอยู่ที่หน้าผากม้ามีสามขวัญ
๒. ขวัญธงชัย อยู่ปลายใบหู ม้าที่มีขวัญนี้เป็นม้าที่คู่ควรกับกษัตริย์หรือแม่ทัพ
๓. ขวัญทัดดอกไม้ อยู่บริเวณหลังหู จะข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ให้จับหูม้าพับวนโดยรอบ ถ้าอยู่ในรัศมีของหูมีขวัญอยู่เรียกว่าขวัญทัดดอกไม้ทั้งสิ้น
๔. ขวัญรัดเกล้า อยู่ชิดโคนผมด้านหน้าทั้งสองข้าง
๕. ขวัญพาดหอก รูปก้นหอยหรือ ตะขาบ อยู่ที่แนวสันคอใกล้ผมแผงคอ มีอยู่ข้างเดียว
๖. ขวัญโกลนพระอินทร์ อยู่เหนือข้อศอกกับรัดทึบมักมีสองข้าง
๗. ขวัญห้อยราชสาส์น อยู่ตามแนวใต้คอด้านหน้า

ได้  ๕  คะแนน

๖.  ผู้เริ่มขี่ม้าตามอย่างตำราเก่า  ท่านสอนไว้ว่าอย่างไรบ้าง ?
-
ได้ ๐ คะแนน

คุณดีดีได้ไป  ๙  ๑/๒  คะแนน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 16:23

คุณอาร์ทตอบมา  ดังนี้

1. ม้าสี่ตระกูลมีจุดสังเกตอย่างไร
   -ม้าตระกูลกษัตริย์ หูม้านั้นเป็นกนก ถ้าอยากจะใคร่รู้ไปเกี่ยวเอาคามาวัดที่หลังแล้วปูให้นอน ถ้าม้าเอาศีรษะไปทิศ
ตะวันออก บอกตระกูลกษัตริย์แท้ ถ้าไม่ดังนั้นยังสงสัย เอาเข็มสักที่ใบหูเลือดเป็นสีมันปู คือตระกูลกษัตริย์แท้(ตำราของผมตรงนี้เป็นม้าตระกูลพราหมณ์ไม่ใช่ม้าคชตระกูลกษัตริย์)จุงลงนำเอาท้าวคุ้ยแหงนดูอากาศ ตระกูลกษัตริย์แท้
   -ม้าตระกูลพราหมณ์ ท่อนหน้าเล็กหน้าบาง ท่อนฟน้าเล็กใบหูใหญ่ ตระกูลพราหมณ์แล
   -ม้าตระกูลแพทย์ (แพศย์) พ่อค้า หน้าสั้นฟันสิบซีกไซ้เศษสอง ตระกูลแพทย์(แพศย์)แล
   -ม้าตระกูลสูท (ศูทร) สัณฐานหน้าตาจระเข้เขียวเป็นถั่วแปบ ผมหน้ายิกหางยุ่ง เรียกว่าตระกูลสูท

เอาไป  ๓ ๑/๒  คะแนน  (หักที่เขียนสะกดผิด  กับข้อมูลผิดและยังมีข้อมูลน้อยเกินไป )


3. ลักษณะขวัญม้าที่ร้ายเป็นอย่างไร
   ลักษณะขวัญม้าที่ร้ายนั้น ก็คือลักษณะขวัญของม้าที่โบราณถือว่าไม่ดีสำหรับผู้ขี่หรือเจ้าของม้า
   ขวัญชั่วของม้า  เช่น ขวัญขนาบคา  อยู่ข้างสันคอใกล้แนวผมแผงคอ มีสองข้า (ถ้ามีข้างเดียว เรียกว่าขวัญพาดหอก ถือว่าดี)
   ขวัญกาจับปากโรง (โลง) อยู่ใต้คาง
   ขวัญคอเชือด อยู่ใต้คอต่อ ใต้ขากรรไกรกับคอ

ได้  ๓  คะแนน (หักที่สะกดผิดและตอบน้อยไปหน่อย)

5. ถ้าม้าพยศวิ่งมิตรงทาง  พยศขบอกมันเอง  พยศถอยหลัง  และดีดขบ  แก้ไขอย่างไร
    -ม้าพยศวิ่งมิตรงทาง ให้ใส่บุ้งทั้งสองข้าง ให้ถือจงตรง ผูกอานคร่อมไหล่ ให้ถอยลงมาข้างหลังสน่อยเหมือนดังง่องๆ  (เมื่อรัดง่อง ๒ นั้น)
นั้นผูกเครือทั้งสองข้าง ครั้นจะชักสายถือไม้นั้นผูก(ถูก)ปากม้า ๆ นั้นวิ่งตรงทางแล ฯ
    -ม้าพยศขบอกมันเอง ให้ใส่บังเหียนบุ้งให้เจ็บแต่พอดี เอาไม้ใส่ต่างง่องปลายไม้ใส่เล่กตก(เหล็กปฏัก)ต้นไม้ทาน(พาน)อก ม้านั้นขบอกมิได้แล ฯ
    -ม้าพยศถอยหลัง ให้ใส่บังเหียนเกลี้ยง ไว้สายถือเพียงต้นแปรงให้คลายสายถือ มือขวาถือแซ่(แส้)ยาว 3 ศอก (๒ ศอก)คืบ 3 นิ้ว
ปลายแซ่นั้นให้ใส่ตะกั่ว ถ้าและม้าถอยหลังเอาเชือกตีให้ถูกราวท้องตรงปลายลึงค์ ม้านั้นถอยหลังไปมิได้แล ฯ
    -ม้าดีดขบ ให้เอายานี้แก้ ให้เอา(ต้น)ขัดมอนขึ้นที่ป่าช้านั้น เมื่อไปเอานั้นเบี้ย 3 เบี้ย หมากคำ 1 กล้วยลูก 1 เข้าปั้น 1
ให้ว่าแก่ผีว่า ม้าข้านี้ร้ายมีพยศขบกัดดีดหนัก ข้าขอจะเอาท่านไปแก้พยศซึ่งมันร้ายดีดขบกัดหนัก อย่าให้มันร้ายดีดขบกัดได้เลย
แล้วเอามาทั้งรากมาสับให้ละเอียดตากแดดไว้ให้แห้งตำเป็นผง จึงเอาเทียนเล่ม 1 ไก่ตัว 1 มะพร้าวใบ 1 เหล้ากะติก 1
เข้าตอกดอกไม้พลี เอายานั้นจงคำนับเอายานั้นใส่ปนข้าวให้ม้ากินเมื่อสงัด อย่าให้คนเห็นดีนักแล ฯ

ได้ ๔ ๑/๒ คะแนน  (หักที่ผิดเล็กๆ น้อยๆ )

ได้ไป ๑๑  คะแนน
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 17:06

ตำรามีแค่ไหนก็ตอบแค่นั้นนะจ๊ะ
ลอกหนังสือเก่ามา (ตำราม้าของเก่า,ประดิทินบัตรแลจดหมายเหตุ) จะไปตรวจแก้ของเก่ามันก็กระไรอยู่

ถือว่าโบราณท่านถูกไว้ก่อนแล้วกัน ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 11 มี.ค. 11, 17:11

ลอกเขามาแล้วปรับให้เป็นอักขรวิธีปัจจุบันสิครับ
เรารู้อยู่แล้วไม่ใช่หรือว่าคำใด  สะกดอย่างไรในปัจจุบัน
ไม่อย่างนั้นก็ต้องวงเล็บไว้ว่า  คัดลอกตามต้นฉบับ
จะได้ไม่ต้องตรวจกันมาก  ผิดถูก  ว่าไปตามตำราที่ลอกมา
แต่อย่างนั้นก็ดูเป็นการลอกที่ไม่ได้ใช้วิจารณญาณเท่าที่ควรนะ


จะอุทธรณ์คะแนนที่ได้อีกไหม  จะได้ร่ายยาวให้ฟัง
แบบเมื่อเช้านี้ไง  แต่วันนี้คงไม่ทัน  ต้องเป็นพรุ่งนี้แล้วล่ะ
เอาแบบสดๆ เลย  เอาไหม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 20 คำสั่ง