เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 271693 ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้และผู้สนใจ) ๔
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 11:46

คำถามข้อที่ ๗๓.
คำถามข้อนี้  อาเจ็กท่านหนึ่งฝากถามมา
"อาคุงหลวง   คงจีงนะชอบอ่างสามก๊ก  เพาะว่าสามก๊กสองกางเป็งผู้นำและกางบริหางคง
คงทายก็ชอบอ่างสามกีกเหมืองกัง  แต่อั๊วะว่า  รามเกียงของคงทายก็ใช้สองกางเป็งผู้นำ
และกางบริหางคงไล่เหมือนกังนะว่าไหมอาคุงหลวง   อั๊วะอยากให้ผู้เข้าแข่งขังค้งหาตัวอย่าง
เหกกางตองใลตองหนึ่ง  จำนวง ๒ ตองนะ  ที่แสดงให้เห็งกางเป็งผู้นำและกางบริหางคง
มาให้ลูหน่อย  
ข้อนี้  ๑๐  คะแนง  ตัวอย่างละ ๕ คะแนน  ตอบหน้าไมค์  ตั้งแต่เก้าโมงเช้า
ใครตอบซ้ำกับคงอื่ง  หัก ๑ คะแนนนะ"  ยิงฟันยิ้ม

ส่วนคุณดีดี  ตอบมาโดยยกตอนท้าวมาลีวราชว่าความ
กับตอนพาลีสอนสุครีพ  มาเป็นตัวอย่างนั้น
ท้าวมาลีวราช ยังเป็นอย่างของผู้นำไม่ชัดเจนนัก
แต่ถ้าเป็นตัวอย่างของผู้ใหญ่ผู้อาวุโสที่วางตัวเป็นกลาง
ก็ใช้ได้   แต่เรื่องเป็นผู้นำนั้น  ไม่ชัด  ให้ได้  ๑ ๑/๒ คะแนน
ส่วนคำสอนของพาลีที่สอนสุครีพองคตนั้น
ก็ยังไม่มีข้อใดที่บ่งบอกเกี่ยวกับการบริหารจัดการคน
เพื่อใช้มีประสิทธิภาพเหมาะกับงาน  เป็นคำสอนก็จริง
แต่ยังไม่นับเป็นตัวอย่างของการบริหารคนได้ชัดเจน
ให้ได้ ๑ คะแนน   รวมแล้ว  ๑  ๑/๒  คะแนน
ถ้ายังประสงค์คะแนน  ผมอนุญาตให้ตอบใหม่

ขอตอบใหม่ละกันนะคะ  ยิงฟันยิ้ม

เหตุการณ์ ที่แสดงให้เห็นการเป็นผู้นำและการบริหารคน จากรามเกียรติ์ 2 ตอนคือ

1.ตอนพระรามปูนบำเหน็จ
 “หลังจากเสร็จศึกแล้ว พระรามกลับไปครองเมือง และปูนบำเหน็จความดีความชอบแก่เหล่าทหาร พระลักษมณ์ให้ครองเมืองโรมคัล พระพรตและพระสัตรุต ให้เป็นอุปราชอยู่ในกรุงศรีอยุธยา หนุมานแบ่งกรุงศรีอยุธยาให้ครองกึ่งหนึ่ง แล้วตั้งชื่อให้ใหม่ว่าพระยาอนุชิต สุครีพนั้นให้มีชื่อว่า พระยาไวยวงศา ครองเมืองขีดขิน    พิเภกให้ชื่อว่า ท้าวทศคิริวงศ์ ไปครองเมืองลงกา องคตให้ชื่อว่า พระยาอินทรนุภาพศักดา เป็นฝ่ายหน้าเมืองขีดขิน ชมพูพานให้ไปครองเมืองปางตาล สุรเสนไปครองเมืองสัทธาสูร ชมพูวราช นิลราช นิลนนท์ เป็นอุปราชทั้งหมด โดยให้ชมพูวราชเป็นฝ่ายหน้าเมืองปางตาล นิลราชเป็นฝ่ายหน้าเมืองอัสดงค์ นิลนนท์เป็นอุปราชเมืองชมพู  ไชยามและโคมุท เป็นมหาเสนาซ้ายขวาที่เมืองขีดขิน สัตพลีให้เป็นอาลักษณ์ ส่วนพลลิงอื่น ๆ ก็ให้ยศฐาบรรดาศักดิ์ตามสมควร
          ฝ่ายหนุมานทูลคัดค้านว่า เมืองโรมคัลเป็นเมืองยักษ์ ไม่ควรให้พระลักษมณ์ไปครอง แต่ควรจะอยู่ใกล้ชิดพระรามจะดีกว่า  ส่วนพระพรตกับพระสัตรุต นั้นควรจะให้ไปอยู่ที่เมืองไกยเกษ พระรามเห็นด้วย ได้ให้สุรกานต์ไปครองเมืองโรมคัล แล้วให้ศรรามเป็นมหาอุปราช กุขันพรานป่าให้เป็นพระยากุขันธิบดินทร์ ครองบุรีรัม สำหรับพิเภกนั้นเป็นผู้ไม่มีความชำนาญการรบและไม่มีฤทธิ์ หากมีศัตรูมารุกราน ให้เขียนสาสน์แขวนศรมา เมื่อพระรามแผลงศรมาถามข่าว”

หลักในการเป็นผู้นำและการบริหารคน :
- พระราม  เป็นผู้นำและการบริหารคนที่ดี หลังจากที่ตัวเองได้รับผลสำเร็จของงานแล้ว ก็ให้บำเหน็จรางวัล ตัดเค็กแบ่งปันให้กับลูกน้องอย่างถ้วนหน้าด้วย  
-  พระราม  มีศิลปในการ “ดูคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น” มองลูกน้องจากพฤติกรรมและนิสัยเดิม เช่น พิเภก ซึ่งเคยทรยศต่อญาติพี่น้องมาแล้วหากเปิดโอกาสให้ก็อาจทรยศพระองค์ได้ พระรามเลยให้ท้าวทศคิริวงศ์ (พิเภก) ต้องรายงานตัว โดยส่งสารแขวนมากับศรที่ท่านแผลงไป เป็นความแยบคายทำทีเป็นห่วงเป็นใย แต่จริงๆ แล้วเป็นการตรวจสอบความสวามิภักดิ์ และแสดงอำนาจที่เหนือกว่า
- การปูนบำเหน็จของพระราม ไม่ได้เป็นการให้ตามความพอใจ แต่ให้แบบมีกุศโลบายที่แยบคาย เป็นการแต่งตั้งเพื่อให้มีการคานอำนาจกันอยู่ในที เพื่อลูกน้องทั้งหลายจะได้ไม่มีโอกาสรวมกำลังกันแข็งเมืองขึ้นได้ ทำให้การปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น

2.ตอนศึกกุมภกรรณ
“ภายหลังที่ไมยราพถูกหนุมานฆ่าตายแล้ว ทศกัณฐ์จึงขอให้กุมภกรรณน้องชายของตน ซึ่งมีหอกโมขศักดิ์เป็นอาวุธสำคัญทั้งได้พรจากองค์พระพรหม และมีฤทธิ์เดช กล้าหาญ ยกทัพต่อสู้กับข้าศึก ซึ่งกุมภกรรณได้พยายามทัดทานแต่ในที่สุดก็ออกไปช่วยรบและพ่ายแพ้ต่อหนุมานและสุครีพ
                ฝ่ายลูกพระพายชัยชาญ           เข้าทะยานกัดหูซ้ายขวา
                สุครีพผู้มีศักดา                       เข้ากัดนาสากุมภกรรณ
ทศกัณฐ์ นอกจากจะไม่ต่อว่าแล้วยังพูดจาปลอบใจกุมภกรรณ
               อันการศึกเสียทีแลมีชัย               มิใช่มีแต่องค์พระน้องรัก
               ตัวเจ้าก็ทรงอานุภาพ                   ปราบได้ทั่วไปทั้งไตรจักร
               อันศึกเพียงนี้ไม่หนักนัก              จงคิดหักเอาชัยแก่ไพรี
               ให้เป็นเกียรติไปภายหน้า              ตราบสิ้นดินฟ้าราศี
              จะละห้อยน้อยใจไปไยมี               เจ้าพี่เร่งคิดไปต่อกร
กุมภกรรณได้ฟังก็เกิดมานะ มีกำลังใจ คิดวางแผนการรบใหม่  ไปทำพิธีลับหอกโมกขศักดิ์แล้วมาสู้กับศัตรูใหม่  ซึ่งคราวนี้ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม พระลักษมณ์ถูกหอกบาดเจ็บสาหัส..”

หลักในการเป็นผู้นำและการบริหารคน :
-ทศกัณฑ์ มีหลักในการบริหารคนที่ดี ไม่ซ้ำเติมลูกน้อง ลูกน้องผิดพลาดสู้ไม่ได้ พ่ายแพ้กลับมาก็ไม่โวยวายลงโทษ
- ทศกัณฑ์ พูดจาปลอบโยน และให้กำลังใจ ลูกน้อง ทำให้ลูกน้องอย่างกุมภกรรณ เกิดมีความฮึดที่จะไปต่อสู้อีกครั้งเพื่อให้ได้ชัยชนะ
-มีกุศโลบายในการโน้มน้าว ชัดจูง บังคับขู่เข็ญ หว่านล้อม ให้ลูกน้องมาร่วมสู้รบเพื่อตัวเอง
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 13:02

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 13:26

คุณดีดีตอบข้อ ๗๓ มาใหม่

ผมให้  ๙   คะแนน
และจะเพิ่มเติมเล็กน้อย
ในตอนพระรามปูนบำเหน็จนั้น  ผมอยากให้อ่านให้ดีๆ
เพราะไม่ใช่ว่าพระรามจะแบ่งรางวัลเอาตามใจชอบ
แต่ได้พิจารณาตามผลงานของแต่ละคน  ใครออกแรงมาก
ใครเสี่ยงตายมาก  ใครทำความสำเร็จมาก 
ที่สำคัญคือพระรามคิดอย่างรอบคอบที่ให้บำเหน็จ
ให้สมกับผลงานของแต่ละคน

ในกรณีทศกัณฐ์ ผมติดใจคำว่า ลูกน้องที่จะใช้กับกุมภกรรณที่เป็นน้อง
น่าจะใช้ว่า  ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชามากกว่า
และกรณีทศกัณฐ์นั้น  ไม่น่าจะระบุว่าเป็นตัวอย่างที่ดี 
แต่ควรจะระบุว่าเป็นตัวอย่างของผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชา
เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ไม่สำเร็จตามที่คาด
ด้วยเหตุที่เกิดจากฝ่ายตรงข้ามสามารถแก้เกมได้อย่างชาญฉลาด
ก็ไม่โทษไม่ต่อว่า  แต่ให้กำลังใจ และในข้อท้ายที่ว่า

"มีกุศโลบายในการโน้มน้าว ชัดจูง บังคับขู่เข็ญ หว่านล้อม ให้ลูกน้องมาร่วมสู้รบเพื่อตัวเอง"

อันนี้ไม่เรียกว่ากุศโลบายหรอกครับ  ต้องเรียกว่า กโลบาย หรืออุบาย
 
ตัวอย่างที่ ๒ นี้ ผมหักคะแนน ๑ คะแนน โดยรวมที่สะกดผิดด้วย
จึงได้ไป ๙ คะแนน แต่คุณดีดีตอบได้ดีมากครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 13:30

ชื่อ ระบำพรหมาสตร์
ประเภทการแสดง ระบำ




ประวัติที่มา ระบำพรหมาสตร์ เป็นระบำของเหล่าเทวดา - นางฟ้าอีกชุดหนึ่งสำหรับแสดงประกอบการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกพรหมาสตร์ เนื่อเรื่องกล่าวถึงอินทรชิตโอรสของทศกัณฐ์ กำลังทำสงครามติดพันอยู๋กับพระลักษมณ์ จึงใช้กลยุทธลวงพระลักษมณ์และกองทัพวานร โดยอินทรชิตได้แปลงกายเป็นพระอินทร์ เจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และให้การุณราชแปลงตัวเป็นช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นพาหนะทรงของตน อีกทั้งให้บรรดาพลยักษ์นักรบในกองทัพแปลงกายเป็นเทพบุตร และนางฟ้า พากันเหาะฟ้อนรำ นำขบวนไปหน้าช้าง เพื่อลวงพระลักษมณ์ และกองทัพวานร ว่าขบวนเสด็จของพระอินทร์กำลังเสด็จผ่านมาในกลางอากาศ อินทรชิตหวังสบโอกาสเหมาะ จะลอบใช้สรพรหมาสตร์แผลงสังหารณ์พระลักษมณ์ และพลวานร ด้วยเหตุนี้ ระบำชุดนี้จึงเรียกในวงการนาฏศิลป์ไทยอีกชื่อหนึ่งว่า "ระบำหน้าช้าง" น่าจะเป็นเพราะเรียกตามลักษณะระบำ ที่รำอยู่หน้าช้าง

 เอราวัณของพระอินทร์แปลง กรมศิลปากรได้จัดโขนออกแสดงเป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละชุดจะมีชั้นเชิงและลีลาลท่าทีของศิลปะที่แตกต่างกันไปตามเจตน์จำนงของการจัด โดยมุ่งหมายให้เป็นการฝึกศิลปิน และนักเรียนของกรมศิลปากร เกิดความรู้ความชำนาญในการแสดงแต่ละชุดแต่ละตอน ซึ่งบางชุดก็เป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ บางตอนก็สืบทอดกันมาโบราณ อีกทั้งยังต้องการเสนอให้ผู้ชมเห็นความหลากหลายของการแสดงโขนด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ กรมศิลปากรได้จัดการแสดงโขนชุดนี้ที่โรงโขนหลวง มิกสักวัน สนามเสือป่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ กรมศิลปากรจึงได้จัดการแสดงโขนชุดศึกพรหมาสตร์ขึ้นอีกวาระหนึ่ง แต่ก็ยังคงรักษารูปแบบการแสดงศิลปะของเดิมไว้ด้วย ดังเช่นในองค์ที่ ๔ ศรพรหมาสตร์ ปรับปรุงโดย นายประพันธ์ สุคนธชาติท่านได้นำบทคอนเสิร์ตของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์มาใ้ช้ทั้งหมด โดยแต่งคำเจรจาแทรกในตอนท้ายของระบำพรหมาสตร์

        โขนชุดนี้ได้ปรับปรุงการแสดง พิมพ์บท และฝึกซ้อม พร้อมทั้งจัดฉาก แล้วเตรียมแสดงเป็นประจำ ณ โรงละคอนศิลปากร แต่ต้องระงับไปชั่วคราว ด้วยเกิดเหตุไฟไหม้โรงละคอนศิลปากรในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๓ การแสดงโขนชุดนี้จึงต้องย้ายไปจัดแสดง ณ หอประชุมวัฒนธรรม สนามเสือป่า (ปัจจุบันคือ ตึกกองบัญชาการ กรป.กลาง) แล้วภายหลังต่อมาโขนชุดนี้ก็ได้นำมาจัดแสดง ณ โรงละครแห่งชาติ และที่อื่น ๆ อีกหลายครั้ง ท่ารำของระบำพรหมาสตร์ชุดนี้ได้รับการถ่ายทอด แล้วสืบทอดมาโดยครูอาจารย์นวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร

รูปแบบ และลักษณะการแสดง
       ระบำพรหมาสตร์ เป็นการแสดงกลลวงของฝ่ายยักษ์ (อินทรชิต) ที่จะทำลายกองทัพฝ่ายมนุษย์ (พระลักษมณ์) ลักษณะของระบำ จึงเป็นการร่ายรำอย่างวิจิตร สวยงาม เพื่อให้พระลักษมณ์ และพลวานรเคลิบเคลิ้มหลงใหล จนลืมหลง ไม่ทันระวังตัว สามารถทำให้อินทรชิตแผลงศรไปสังหารพระลักษมณ์ และไพร่พลได้ ระบำชุดนี้เป็นระบำหมู่พระ - นาง เริ่มด้วยการรำนำในขบวนทัพ และรำตามเนื้อร้องในเพลงสร้อยสน ซึ่งเนื้อเพลงมี ๔ คำกลอน กล่าวถึงเหล่าเทวดา - นางฟ้า มาจับรำระบำบรรพ์ อย่างรื่นเริงบันเทิงใจ การแสดงระบำชุดนี้ใช้ประกอบการแสดงโขนโดยเฉพาะ แต่ด้วยความเป็นมาตรฐานในท่ารำ และเพลงร้องระบำพรหมาสตร์จึงได้เป็นท่ารำชุดหนึ่งในหลักสูตรการศึกษานาฏศิลป์ไทย

       สำหรับการแสดงระบำพรหมาสตร์จะปรากฏอยู๋ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรต์ตอนศึกพรหมาสตร์ ซึ่งเป็นการรำตามรูปขบวนเกียรติยศเครื่องสูง และมีการเรียงลำดับเพลงดนตรี เพลงร้อง และกระบวนท่ารำเป็นขั้นตอน  
การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑  รำออกตามทำนองเพลงสร้อยสน
ขั้นตอนที่ ๒  รำตามบทร้องในเพลงสร้อยสน  
ขั้นตอนที่ ๓  รำเข้าตามทำนองเพลงเร็ว - ลา

ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง เพลงช้าสร้อยสน เพลงเร็ว (ชื่อเพลงต้นบรเทศ และเพลงแขกเบรเทศ) และเพลงลา

เครื่องแต่งกาย
ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่อง พระสวมเสื้อแขนสั้น ศิราภรณ์ชฎายอดชัย นางศิราภารณ์มงกุฏกษัตรีย์

บทร้องระบำพรหมาสตร์
- ปี่พาทย์ทำเพลงสร้อยสน -
- ร้องเพลงสร้อยสน -
  ต่างจับระบำรำฟ้อน        ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา
ร่ายเรียงเคียงคมประสมตา เลี้ยวไล่ไขว่คว้าเป็นท่าทาง
ซ้อนจังหวะประเท้าเคล่าคล่อง      เลี้ยวลอดสอดคล้องไปตามหว่าง  
วงเวียนเหียนหันกั้นกาง    เป็นคู่คู่อยู่กลางอัมพร    
    
บทระบำนี้พระนิพนธ์โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ โดยทรงทำเป็นบทคอนเสิร์ตไว้สำหรับขับร้องประกอบการบรรเลง

โอกาสที่ใช้แสดง
ใช้ประกอบการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ขุนศึกพรหมาสตร์ หรือสำหรับการแสดงสาธิตระบำใบโขน

+++++++++++++++++++++++

ชื่อ หนุมานจับนางเบญกาย
ประเภทการแสดง รำ (รำคู่ที่เป็นชุดเป็นตอน)


ประวัติที่มา รำหนุมานจับนางเบญกาย เกิดขึ้นเนื่องในโอกาสที่รัฐบาลไทยเตรียมการจะเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่รัฐบาลสหภาพพม่า ณ นครร่างกุ้ง ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี ครั้งที่ ๒ ในครั้งนั้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมศิลปากรจัดการแสดงต่างๆไปแสดงให้ดู ณ เวทีหอประชุมกระทรวงวัฒนธรรมหลายคืน โดยปรารภว่าถ้ากรมศิลปากรจัดการแสดงได้ดีก็จะนำการแสดงนาฏศิลป์ไทยร่วมเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมด้วย

รายการแสดง ณ เวทีหอประชุมกรทรวงวัฒนธรรมของคืนหนึ่ง ได้มีการยืนตีเดี่ยวระนาดฝรั่ง โดยคุณครูเชื้อ อัมพผลิน ศิลปินผู้เชี่ยวชาญในแผนกดุริยางค์สากล กรมศิลปากร คืนต่อมากรมศิลปากรได้จัดให้มีการเดี่ยวระนาดเอกเพลงเชิดนอก โดนคุณครูพริ้ง ดนตรีรส ศิลปินผู้มีฝีมือเป็นเยี่ยมในการตีระนาดเอก ในแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร เป็นผู้ยืนตีเดี่ยวระนาดเอก เช่น เดียวกับการเดี่ยวระนาดฝรั่ง การแสดงทั้งสองคืนดังกล่าวสร้างความพึงพอใจให้แก่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และผู้รับชมเป็นอย่างมาก

ต่อมา นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ดำริว่า หากการแสดงเดี่ยวระนาดเอกเพลงเชิดนอกมีการแสดงท่ารำประกอบก็จะยิ่งเพิ่งอรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้นจึงได้มอบหมายให้คุณครูพริ้ง ดนตรีรส เดี่ยวระนาดเอกอัดลงแถบบันทึกเสียง โดยมอบให้คุณครูกรี วรศะริน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ – โขน) พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นผู้ประดิษฐ์กระบวนท่ารำตัวหนุมาน และคุณครูเจริญจิต ภัทรเสวี เป็นผู้ประดิษฐ์กระบวนท่ารำตัวนางเบญกาย ซึ่งได้ถ่ายทอดกระบวนท่ารำหนุมานจับนางเบญกายให้กับนาฏศิลปินของกรมศิลปากร การประดิษฐ์ท่ารำในครั้งนั้น ได้ฝึกซ้อมโดยใช้นาฏศิลปินลิงถึง ๔ ท่าน ในขณะที่ฝึกนาฏศิลปินนางเพียงคนเดียว ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้เห็นความสอดคล้องระหว่างกระบานท่ารำของตัวละครทั้งสอง ที่ต้องการมีการติดตาม โลดไล่ หลบหนี และไขว่คว้า ในที่สุดก็สามารถประดิษฐ์กระบวนท่ารำได้อย่างสวยงาม การแสดงเผยแพร่ครั้งแรกโดยนายบุญเลิศ ขำทัศน์ รับบทเป็นหนุมาน และนางรัจนา พวงประยงค์ รับบทเป็นนางเบญกายพร้อมกันนั้นยังได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ ร่วมติชมการฝึกซ้อม ตลอดจนจัดให้มีการแสดง ให้ประชาชนชมเป็นครั้งแรกในการซ้อมใหญ่ก่อนเดินทาง ณ เวทีหอประชุมกระทรวงวัฒนธรรม (สนามเสือป่า) โดยมีคุณครูพริ้ง ดนตรีรส เป็นผู้ยืนเดี่ยวระนาดเอกเพลงเชิดนอกประกอบการแสดงกระบวนท่ารำชุดหนุมานจับนางเบญกาย ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ชุด นางลอย การแสดงชุดนี้ได้มีการสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

รูปแบบ และลักษณะการแสดง
       การรำหนุมานจับนางเบญกาย เป็นศิลปะแห่งการรำคู่ที่ปรากฏอยู่ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย ที่ได้รับความนิยมชุดหนึ่งของกรมศิลปากร ลักษณะการแสดงจะประกอบด้วยกระบวนท่าการหลบหนีของนางเบญกาย จากการโลดไล่ติดตามจับของหนุมาน กระบวนท่าของนางเบญกาย จะเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นพรั่นกลัวประกอบกระบวนในท่าการเหาะหนี และความพยายามที่จะซ่อนตัวไปตามเกลียวควัน และกลุ่มเมฆ กระบวนท่าของหนุมานก็พยายามฝ่าเกลียวควัน แหวกเมฆค้นหา ขับไล่ไขว่คว้า ท่ามกลางอากาศของตัวละครทั้งสอง  
การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑  นางเบญกายออกมาซ่อนตัวหลบหนุมาน
ขั้นตอนที่ ๒  หนุมานออกติดตามค้นพบนางเบญกาย
ขั้นตอนที่ ๓  มานไล่ล่า นางเบญกายหลบหนี และจับได้ในที่สุด แล้วรำเข้า
 
ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง
       ใช้การเดี่ยวระนาดเอกเพลงเชิดนอก ประกอบวงปี่พาทย์ในการบรรเลงประกอบการแสดง
เครื่องแต่งกาย
       ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่อง หนุมานเครื่องลิงสีขาว นางเบญกาย สีเหลือง ศิราภรณ์รัดเกล้าเปลว


 

 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 13:33

คุณไซมีสตอบข้อ ๗๓. มาใหม่
ตัวอย่างแรก ตอนท้าวทศรถสอนพระราม  ข้อนี้ดี
เอาไป ๕ คะแนน  แต่เสียดายไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม
ขอหักคะแนน ๑  คะแนน

แต่ตัวอย่างหลัง  ตอบไม่เคลียร์ ไม่ชัดเจน
ให้คะแนนยากเหลือเกิน   คุณน่าจะตอบ
โดยยกตัวอย่างมาตอนใดตอนหนึ่ง
ที่แสดงให้เห็นการบริหารหรือการเลือกใช้คน
(จะตัวอย่างดีหรือไม่ดีก็ได้)  ผมจะให้โอกาสอีกเป็นครั้งสุดท้าย
หากยังตอบไม่ตรงประเด็นอีก  ผมคงต้องให้คะแนนตามจริง
ตอนนี้เอาไป  ๔ คะแนนก่อน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 13:37

คุณไซมีสตอบข้อ ๗๔

โดยยกเอาระบำพรหมาสตร์
และการแสดงรำหนุมานจับนางเบญกาย
รายละเอียดถี่ยิบครบถ้วน  เอาไป  ๑๐  คะแนนเต็ม
ไม่มีที่จะหักเลย  แถมคลิปให้ดูด้วย ให้อีก ๓ คะแนน
เป็น  ๑๓  คะแนน ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 13:42

คุณหลวงเล็กๆๆๆๆๆๆ ผมกำลังลงภาพเครื่องกระเบื้องวังหน้า กระโถนค่อมให้ อ.เทาชมพู พอดีสังเกตุว่า ภาพวาดรามเกียรติ์จับตอนเดียวกันกับเครื่องแต่งงานถวายพระเพลิง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พอดีเลย อารมณ์เดียวกัน อยู่ในป่าเหมือนกัน อย่างน้อยคุณ Art47 ก็น่าจะยิ้มออก จึงได้นำภาพมาเปรียบให้ชมกันครับ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 13:55

อืมม์ สวยดี   ขอบคุณ  แต่ดูรายละเอียดตัวละครยักษ์แล้ว  คงไม่ใช่ตัวเดียวกันกระมัง

อ้อ  ที่คุณเคยบอกว่า  มีสีเขียวๆ คล้ายๆ กับเป็นสนิม  จริงไม่ใช่สนิมนะครับ
เป็นสีลงยาครับ   จึงแจ้งมาให้ทราบ ยิ้ม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 14:04

คุณไซมีสตอบข้อ ๗๓. มาใหม่
ตัวอย่างแรก ตอนท้าวทศรถสอนพระราม  ข้อนี้ดี
เอาไป ๕ คะแนน  แต่เสียดายไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม
ขอหักคะแนน ๑  คะแนน

แต่ตัวอย่างหลัง  ตอบไม่เคลียร์ ไม่ชัดเจน
ให้คะแนนยากเหลือเกิน   คุณน่าจะตอบ
โดยยกตัวอย่างมาตอนใดตอนหนึ่ง
ที่แสดงให้เห็นการบริหารหรือการเลือกใช้คน
(จะตัวอย่างดีหรือไม่ดีก็ได้)  ผมจะให้โอกาสอีกเป็นครั้งสุดท้าย
หากยังตอบไม่ตรงประเด็นอีก  ผมคงต้องให้คะแนนตามจริง
ตอนนี้เอาไป  ๔ คะแนนก่อน

ตอบเพิ่ม
ลักษณะการเป็นผู้นำ เลือกใช้คนและกลยุทธเชิงได้อย่างล้ำเลิศ คือ การเลือกใช้ที่ปรึกษาทางการทหาร เช่นเดียวกับ เล่าปี่ มีขงเบ้งไว้ปรึกษาหาความต่างๆ ทำนองเดียวกัน พระรามก็มี “ภิเภก” ไว้ปรึกษา
แม้ว่ากำเนิดของภิเภกเองจะเป็นยักษ์ และเป็นพี่น้องกับทศกัณฐ์ ซึ่งถูกขับไล่ออกจากกรุงลงกา มาอยู่ด้วยพระราม พระรามก็แสดงน้ำใจยินดีรับไว้ให้เป็นที่ปรึกษาทางการทหาร แต่ก็ยังเคลือบแคลงเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับทศกัณฐ์อยู่มากเนื่องด้วยเป็นพี่น้องกัน เมื่อภิเภกเข้ามารับใช้พระรามก็ทุ่มเทกำลังให้โดยตลอด เช่นในครั้งแรก พระรามนั้นถามถึงกำลังของทหารฝ่ายทศกัณฐ์ว่าเป็นอย่างไร
พระรามถามภิเภกว่า
“พลในลงกาธานี  จะมีมากน้อยสักเพียงใด
แม้นมาตรจะยกพลขันธ์   เข้าโรมรันบันบุกรุกไล่
หักเอาด้วยกำลังฤทธิไกร  จะได้หรือไม่อสุรา”
ภิเภกทูลว่า
“อันลงกาธานี  พ้นที่จะคณนาได้
มากกว่าวานรในทัพขัย  ว่องไวเชี่ยวชาญชำนาญยุทธ์
แปลงกายหายตัวได้ทั้งสิ้น  ทั้งดำดินเหาะเหินเดินสมุทร
จะหักเอาด้วยกำลังไวยวุฒิ   สุดที่จะหมายกำหนดการ
ด้วยยังไม่เห็นฤทธิรอน     โยธาวานรทวยหาญ
ในใต้เบื้องบาทพระอวตาร   ไม่รู้ที่จะประมาณมือกัน”
หลังจากนั้นภิเภกก็ได้ทราบถึงกำลังรี้พล ซึ่งพอเปรียบเทียบได้ว่า กำลังของพระรามนั้นมีมาก และถ้าได้ต่อสู้กันแล้วเปรียบ “ดั่งหิ่งห้อยกับดวงอาทิตย์” และภิเภกยังได้แจ้งว่ามียักษ์แปลงตนเข้ามาในกองทัพพระราม ทำให้หนุมานจับสุกรมสารได้
ซึ่งการกระทำนี้เองทำให้พระรามและเหล่าหหารเกิดความไว้วางใจในตัวภิเภกและไม่สงสัยอีกแต่อย่างใด จนในที่สุด พระรามก็ให้ภิเภกได้ครองกรุงลงกา
-   หลักการคือ การใช้คน ต้องให้ความไว้วางใจ แม้ว่าเป็นฝ่ายศัตรูก็ตาม ให้หยั่งเชิงดูก่อน เมื่อประจักษ์ถึงความสามารถแล้วจึงปูนบำเหน็จรางวัลให้
-   พระรามรู้ว่า ภิเภก เก่งในด้านโหราศาสตร์ เรื่องยา จึงได้เอาตัวไว้ใช้งานต่างๆ เป็นการบริหารจัดการคน ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 14:06

รำ กับ ระบำ ต่างกันไหมคะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 14:17

รำ กับ ระบำ ต่างกันไหมคะ  ยิงฟันยิ้ม

จริงๆ ต่างกัน  เพราะระบำ เป็นการแสดงที่มีผู้เล่นเป็นจำนวนมากกว่า ๒ คนขึ้นไป
มุ่งเน้นแสดงความงดงามในการรำอย่างพร้อมเพรียง  การแปรแถว
การแต่งกายสวยงามและดนตรีไพเราะ


ส่วนรำ  เป็นการแสดงเดี่ยวหรือคู่ หรือมากกว่านั้น  มุ่งแสดงการรำที่สวยงามประกอบดนตรี
ไม่มุ่งเน้นเนื้อเรื่อง

แต่โดยลักษณะทั่วไปนับว่าใกล้เคียงกันทั้งรำและระบำ   เพราะมุ่งเน้นการแสดงการรำที่งดงาม
ประกอบดนตรี  ไม่มุ่งเน้นดำเนินเนื้อเรื่อง   ผมจึงอนุโลมให้ตอบเรื่องรำได้ด้วย
คุณดีดีถามมาก็ดีครับ   ฉะนั้นถ้าจะตอบรำด้วย  ผมก็จะให้คะแนนเหมือนกัน   
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 14:22

รำ กับ ระบำ ต่างกันไหมคะ  ยิงฟันยิ้ม

    ระบำ คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ความงามของการแสดงระบำ อยู่ที่ความสอดประสานกลมกลืนกัน ด้วยความพร้อมเพรียงกัน  การแสดงมีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้อง ใช้เพียงดนตรีประกอบ  คำว่า "ระบำ" รวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วยกัน เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน แตกต่างกันที่วิธีร่ายรำ และการแต่งกายตามระเบียบประเพณีตามท้องถิ่น

ระบำ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน และระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด
     ๑. ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงที่ปรมาจารย์ได้กำหนดเนื้อร้อง ทำนองเพลง ลีลาท่ารำและการแต่งกาย ตลอดถึงกระบวนการแสดงไว้อย่างแน่นอนตายตัว และได้สั่งสอน ฝึกหัด ถ่ายทอด ต่อๆ กันมาเป็นเวลานาน จนนับถือเป็นแบบฉบับ จัดเป็นระบำมาตรฐาน เป็นแม่บทที่ควรธำรงรักษาไว้ ซึ่งใครจะเปลี่ยนแปลงลีลาท่ารำไม่ได้ เช่น ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ระบำเทพบันเทิง ระบำโบราณคดี


     ๒. ระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด หมายถึง การแสดงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามประสงค์ ตามเหตุการณ์ ตามสมัยนิยม และตามเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ต้องการ  ระบำปรับปรุงแยกออกเป็น

          -  ปรับปรุงจากแบบมาตรฐาน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดแบบและลีลา ตลอดจนความสวยงามในด้านระบำไว้  ท่าทางลีลาที่สำคัญยังคงไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ดูงามขึ้นอีก หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปแสดง เช่น การจัดรูปแถว การนำเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงเข้าไปสอดแทรก เป็นต้น


          -  ปรับปรุงจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน อุตสาหกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ในแต่ละท้องถิ่นมาแสดงออกเป็นรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา รองเง็ง ฯลฯ


          -  ปรับปรุงจากท่าทางของสัตว์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำบันเทิงกาสร ระบำตั๊กแตน เป็นต้น


          -  ปรับปรุงจากตามเหตุการณ์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นรำในวันนักขัตฤกษ์ ลอยกระทงในเดือนสิบสอง ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการต้อนรับ เพื่อแสดงความยินดี อวยพรวันเกิด เป็นต้น


          -  ปรับปรุงจากสื่อการสอน เป็นระบำประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสื่อนำสู่บทเรียน เหมาะสำหรับเด็ก ๆ เป็นระบำง่าย ๆ เพื่อเร้าความสนใจ ประกอบบทเรียนต่าง ๆ เช่น ระบำสูตรคูณ ระบำวรรณยุกต์
         ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำจะไม่ตายตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือและความสามารถของผู้สอนและตัวนักเรียนเอง

     รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ เป็นการแสดงท่าทางลีลาของผู้รำ โดยใช้มือแขนเป็นหลัก

ประเภทของการรำ ได้แก่ การรำเดี่ยว  การรำคู่  การรำหมู่
๑.  การรำเดี่ยว  คือ การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว จุดมุ่งหมายคือ
     ๑.๑  ต้องการอวดฝีมือในการรำ
     ๑.๒  ต้องการแสดงศิลปะร่ายรำ
     ๑.๓  ต้องการสลับฉากเพื่อรอการจัดฉาก หรือตัวละครแต่งกายยังไม่เสร็จเรียบร้อย
การรำเดี่ยว เช่น การรำฉุยฉายต่าง ๆ รำมโนราห์บูชายัญ รำพลายชุมพล ฯลฯ


๒.  การรำคู่  แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ไม่มีบทร้อง และรำคู่ในชุดสวยงาม
     ๒.๑  การรำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ได้แก่ กระบี่ กระบอง ดาบสองมือ โล่ ดาบ เขน ดั้ง ทวน และรำกริช เป็นการรำไม่มีบทร้อง ใช้สลับฉากในการแสดง
     ๒.๒  การรำคู่ในชุดสวยงาม ท่ารำในการรำจะต้องประดิษฐ์ให้สวยงาม ทั้งท่ารำที่มีคำร้องตลอดชุด หรือมีบางช่วงเพื่ออวดลีลาท่ารำ มีบทร้องและใช้ท่าทางแสดงความหมายในตอนนั้น ๆ ได้แก่ หนุมานจับสุพรรณมัจฉา หนุมานจับนางเบญกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูร เมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ทุษยันต์ตามกวาง รำแม่บท รำประเลง รำดอกไม้เงินทอง รถเสนจับม้า

๓.  การรำหมู่  เป็นการแสดงมากกว่า ๒ คนขึ้นไป ได้แก่ รำโคม ญวนรำกระถาง รำพัด รำวงมาตรฐาน และรำวงทั่วไป การแสดงพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว         
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 15:15

คำถามข้อที่  ๗๔.
มีระบำกรมศิลปากรชุดใดบ้างที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องรามเกียรติ์  จงยกมา ๒ ชุด
พร้อมอธิบายรายละเอียดของระบำชุดนั้นๆ  ว่าใครคิดค้นขึ้น  เคยแสดงครั้งแรกเมื่อไร
มีคำร้องทำนองเพลงอย่างไร   การแต่งกายของผู้แสดง  และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  เริ่มตอบได้  ตั้งแต่  ๑๓.๓๐ น.  ตอบหน้าไมค์
ใครตอบซ้ำคนอื่นแต่สามารถตอบได้ดี และละเอียดกว่า ให้คะแนนเต็ม
แต่ถ้าตอบไม่ดีกว่า  จะหัก ๒ คะแนนในตัวอย่างที่ซ้ำ

ขอตอบค่ะ  ยิงฟันยิ้ม

1.ชื่อ : ระบำวานรพงศ์

ประวัติที่มา: ระบำวานรพงศ์เป็นชุดการแสดงที่สร้างสรรค์ใหม่ โดยนาย เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๑ สาขาศิลปการละคร ( ถึงแก่กรรม ๒๕๕๐ ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการสังคีต กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและสร้างบท
นำออกแสดงในโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานชาญสมร ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
 
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ : นาย กรี วรศะริน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๑ สาขานาฏศิลป์โขน ( ถึงแก่กรรม ๒๕๔๑ )
ผู้รับถ่ายทอดท่ารำ : นาย ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป ( เกษียณฯ ๒๕๔๕ )

การแสดงชุดนี้เป็นการนำให้ผู้ชมทราบชื่อลิงสิบแปดมงกุฏและลิงพญาวานรที่เป็นกำลังสำคัญในกองทัพฝ่ายพลับพลาของพระราม และได้เห็นลักษณะการแต่งกายและสีประจำกายของลิงแต่ละตัว

เครื่องแต่งกาย : การแต่งกายนั้นแต่งตามรูปแบบลิงสิบแปดมงกุฎ และลิงพญายืนเครื่องเต็มตัว พร้อมอาวุธประจำตัว สีเสื้อและศีรษะเป็นสีเดียวกันตามพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์

รูปแบบ และลักษณะการแสดง :  ลักษณะท่ารำนั้น ลิงสิบแปดมงกุฏออกท่าเพลงหน้าพาทย์รุกร้น แล้วตีบทในเพลงแขกโหม่งชั้นเดียว ต่อจากนั้นลิงพญาออกท่าเพลงหน้าพาทย์รัวสามลาและเพลงกราวกลาง โดยตีบทตามความหมายของบทร้อง ในกิริยาอาการของลิงผสมผสานกับลีลานาฏศิลป์เรียงตามลำดับตามชื่อด้วยความคล่องแคล่วว่องไวการแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที

ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง : ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า หรือเครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่

บทร้องระบำวานรพงศ์ :
ชุดแรก : วานรสิบแปดมงกุฏ ปี่พาทย์ทำเพลงรุกร้น ร้องเพลงแขกโหม่งชั้นเดียว
นำดัวยไชยามพวานทหารหน้า   เกสรทมาลากล้ากลั่น
ถัดมานิลราชกาจฉกรรจ์      เคียงคู่นิลขันชาญชัย
นิลเอกฤทธิไกรดังไฟกัลป์   คู่นิลปานันทหารใหญ่
วิมลรณรบว่องไว      ถัดไปชื่อวิสันตราวี
มาลุนเริงแรงกำแหงหาญ      เคียงขนานเกยูรกระบี่ศรี
ทั้งมายูรพูนพลังแข็งขันดี   คู่กับสัตพลีมีเดชา
สุรเสนเจนจบรบรอนราญ      คู่กับสุรกานต์ทหารกล้า
โกมุทวุฒิไกรไวปัญญา      เคียงมากับกระบี่กุมิตัน
ไวยบุตรรำบาญราญแรง      เคียงแข่งกับนิลปาสัน
ครบสิบแปดมงกุฎสุดฉกรรจ์   ทหารเอกทรงธรรม์รามราชา

ชุดที่ 2 : เหล่าพญาวานร ปี่พาทย์ทำเพลงรัวสามลา ร้องเพลงกราวกลาง
สุครีพโอรสพระสุริย์ฉาน      คำแหงหนุมานทหารหน้า
นิลพัทฝ่ายชมพูนัครา      องคตบุตรพญาพาลี
ชมพูพานศิวะโปรดประสาท   ชามภูวราชชาติเชื้อพญาหมี
นิลนนท์ลูกพระอัคนี      ล้วนกระบี่พงศ์พญาวานร

2. ชื่อ : ระบำมฤคระเริง หรือ ( ระบำกวาง )

ประวัติ : เป็นระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นแสดงเนื่องในงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ ประเทศสหภาพพม่า เมื่อปีพุทธศักราช 2498 โดยจัดให้มีการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนลักนางสีดา มีหมู่ระบำกวางออกมาร่ายรำเพื่อความสวยงาม เพลินเพลิน เร้าใจ ตามท่วงทำนองเพลงมฤคระเริง ที่นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ ได้แต่งทำนองเพลงขึ้น ประกอบท่ารำของหมู่กวางอย่างสนิทสนมกลมกลืน ก่อนที่กวางทอง (มารีศ) จะออกมาล่อให้นางสีดาเห็น และเกิดความใหลหลง ขอร้องให้พระรามไปจับมาให้ เมื่อพระรามตามไปทศกัณฐ์ได้แปลงตนเป็นฤษี ลักนางสีดาไปกรุงลงกา

ผู้แต่งทำนองเพลงมฤคระเริง : นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ
ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน :  คุณมานิตย์ บูชาชนก
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำระบำมฤคระเริง :  คุณครูลมุล ยมะคุปต์
การแต่งกาย : แต่งกายเลียนแบบกวาง
เพลงมฤคระเริงเป็นเพลงที่มีแต่ทำนองเพื่อประกอบระบำ ไม่มีบทร้อง ค่ะ

 






บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 15:31

คุณไซมีส  ตอบ ๗๓ มาเพิ่มเติม 
ผมให้ ๓ ๑/๒ คะแนน รวมของเดิม ๔ คะแนน เป็น ๗ ๑/๒ คะแนน

ส่วนคุณดีดี ตอบข้อที่ ๗๔.
โดยยกเอาระบำวานรพงศ์ และระบำกวาง(มฤคระเริง)
ละเอียดดีมีภาพมีคลิปประกอบ  แถมให้อีก ๓ คะแนน
รวมเป็น ๑๓ คะแนน
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 23 ก.พ. 11, 20:55

คำถามข้อที่  ๗๔.

มีระบำกรมศิลปากรชุดใดบ้างที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องรามเกียรติ์  จงยกมา ๒ ชุด
พร้อมอธิบายรายละเอียดของระบำชุดนั้นๆ  ว่าใครคิดค้นขึ้น  เคยแสดงครั้งแรกเมื่อไร
มีคำร้องทำนองเพลงอย่างไร   การแต่งกายของผู้แสดง  และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  เริ่มตอบได้  ตั้งแต่  ๑๓.๓๐ น.  ตอบหน้าไมค์
ใครตอบซ้ำคนอื่นแต่สามารถตอบได้ดี และละเอียดกว่า ให้คะแนนเต็ม
แต่ถ้าตอบไม่ดีกว่า  จะหัก ๒ คะแนนในตัวอย่างที่ซ้ำ

1. ระบำอสุเรศเศวตฤทธา
การแสดงโขนเกี่ยวกับยักษ์สีขาว ว่าด้วยความบริสุทธิ์ ของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
การแสดงชุดนี้เป็นการแสดงที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ โดยมีแนวคิดที่จะนำเอาบรรดาอสุรพงศ์ที่มีกายสีขาวตั้งแต่ต้นวงศ์อสุรพรหม
และอสุรพงศ์ที่มีอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ จำนวน ๑๐ ตน มาร่วมถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
แสดงครั้งแรกที่หอวชิรวุธานุสรณ์ วันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๑
ตัวละคร – ท้าวจตุรพักตร์, ท้าวสหมลิวัน, ท้าวลัสเตียน, ท้าวสหัสเดชะ, ท้าวจักรวรรดิ, ท้าวไพจิตราสูร, ท้าวกุเวรณุราช, มารีจ, ตรีเศียร, อัศธาดา
ประดิษฐ์ท่ารำ           นายราฆพ โพธิเวส (ศิลปินแห่งชาติ)
                          นายจตุพร รัตนวราหะ
                          นายสุดจิตต์ พันธสังข์
ประพันธ์บทร้อง          นายจรัญ พูลลาภ
บรรจุเพลง               นายสมชาย ทับพร
บทร้องระบำ
(ปี่พาทย์ทำเพลงรัวสามลา)
ร้องเพลงเขมรเอวบาง
องค์ปฐม พรหมพงศ์ เจ้าลงกา        นามมหา จัตุรพักตร์ ยักษี
ท้าวสห- มลิวัน อสุรี                 สถิตที่ บาดาล กรุงไกร
จอมอสูร ปิ่นกษัตริย์ ลัสเตียน       ปิตุเรศ ทศเศียร เป็นใหญ่
ท้าวสหัสส- เดชะ เดโชชัย          อ่าอำไพ เกียรติกระเดื่อง เมืองปางตาล
องค์ท้าว จักรวรรดิ จรัสฤทธิ์         ไพจิต- ราสูร เหี้ยมหาญ
มารีศ ตรีเศียร พระยามาร            เป็นเผ่าพงศ์ วงค์วาน ลงกา
องค์อัศ- ธาดา ผู้กล้าแกร่ง          เจ้าแห่ง วัทกัน แหล่งหล้า
กุเวรนุราช อาจอง ทรงศักดิ์ดา       ทุกตน ฤทธิ์ธา อาธรรม์
ร้องเพลงตระบองกัน
งามประยูร มวลหมู่ อสุเรศ           ทรงอินทรีย์ ศรีเศวต วิเศษสรรค์
สละโลก โมหะ ละโรมรัน          มโนมั่น บริสุทธิ์ ดุจสีกาย
น้อมนพเบื้อง ยุคลบาท นาถบพิตร จุ่งสถิต รื่นรมย์ ด้วยสมหมาย
ปวงศัตรู หมู่อรินทร์ สิ้นมลาย      น้อมใจกาย ถวายพระองค์ ทรงพระเจริญ
(ปี่พาทย์ทำเพลงพราหมณ์เข้า)

2. ระบำบันเทิงกาสร
ระบำบันเทิงกาสรเป็นระบำชุดในการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนพาลีสอนน้อง แสดงถึงความเบิกบานสำราญใจของทรพา
และบริวารกาสร ซึ่งออกมาโลดเล่นเต้นตามชั้นเชิงลีลาของนาฏศิลป์
ก่อนจะมีทรพีเข้ามาต่อสู้ด้วย
ประดิษฐ์ท่ารำ                       ท่านผู้หญิง แผ้ว สนิทวงศ์
แต่งทำนองเพลง                    ครูมนตรี ปราโมท (ศิลปินแห่งชาติ)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง