หนูดีดีขอตอบค่ะ

๑.ภาพนี้เป็นภาพรามเกียรติ์ตอนใด จงเล่าเรื่องอธิบายภาพมา
ภาพข้างบนนี้เป็นภาพรามเกียรติ์ ตอนศึกภุมภกรรณ
จับความตั้งแต่ สุครีพถอนต้นรัง(ภาพบน) จนอ่อนแรงและเป็นเหตุให้พลาดพลั้งเสียทีในการต่อสู้
สุครีพถูกกุมภกรรณโถมทะยานเข้าใส่ (ภาพกลาง)
ในที่สุด กุมภกรรณก็สามารถหนีบสุครีพไว้ใต้ซอกรักแร้(ภาพล่าง)
๒.ภาพนี้วาดอยู่ที่ไหน ที่แห่งนั้นสำคัญอย่างไร จงเล่ามา อย่างละเอียด
ภาพวาดนี้เป็นผลงานของพระอาจารย์นาค วาดไว้บนแผ่นไม้ด้านข้างและเหนือประตูทางเข้า
ในหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม
หอพระไตรปิฎกนี้เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่ง
ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงาม
เพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก
๓.ภาพวาดนี้มีประวัติการซ่อมแซมอย่างไร เล่ามา
อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ( ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘
ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖)
ได้ทำการซ่อมแซมภาพวาด และอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม
แล้วเสร็จสมบูรณ์ทันฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕
และได้รับการยกย่องว่า เป็นงานบูรณะที่มีรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด
อาจารย์เฟื้อเริ่มสนใจศิลปกรรมในหอไตร วัดระฆังฯ ตั้งแต่กลับจากอินเดีย
ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยแวะเวียนหมั่นไปเยี่ยมชมอยู่เนือง ๆ
ควบคู่กับใช้น้ำยาทำความสะอาดภาพเขียนนับครั้งไม่ถ้วน จากแผ่นไม้มืดคล้ำดำทึบ
มองไม่เห็นรายละเอียดไร้ร่องรอยของงานจิตรกรรมใด ๆ อยู่เลย
จนกระทั่งภาพเขียนค่อย ๆ ปรากฏขึ้นทีละน้อย ดังพระดำรัส
ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ว่า "ภาพเขียนบนฝาปะกนทั้งสองฝา
(ด้านตะวันออกและตะวันตก) นั้น เป็นฝีมือพระอาจารย์นาค
นอกนั้นเป็นฝีมืออาจารย์อื่นที่ไม่ทราบนาม คาดว่ามีอยู่หลายท่านด้วยกัน"
เมื่อพบภาพเขียนของพระอาจารย์นาค ที่อยากเห็นแล้ว
อาจารย์เฟื้อก็ทำเรื่องเสนอกรมศิลปากร เพื่อขอย้ายภาพทั้งสองนี้
ไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
จากนั้นในปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ทางวัดได้หาช่างมารื้อกุฏิ
เพื่อจะได้เปลี่ยนเสาที่เริ่มผุ อาจารญ์เฟื้อเห็นว่าจะกระทบกับภาพเขียนนี้ด้วย
จึงขอให้อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ช่วยเจรจากับทางวัด
ผลคือได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการบูรณะหอไตรขึ้น
เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๑ และงานบูรณะหอไตร ฯ
เริ่มต้นขึ้นในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๓ (ใช้เวลาในการ วางแผน
ระดมเงินทุน กำหนดรายละเอียดว่าจะซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร ประมาณ ๒ ปี)
การบูรณะเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๔ รวมเป็นเวลา ๑ ปี กับ ๔ เดือนครึ่ง
โดยได้มีการย้ายที่ตั้งหอไตร จากตำแหน่งเดิมในเขตสังฆาวาส ใกล้ ๆ เมรุเผาศพ
มาอยู่ข้างพระวิหาร ในเขตพุทธาวาส เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา,
เสาบางต้น ไม้กระดานปูพื้น, รางน้ำฝน, เสาต่อม่อ ฯลฯ
งานของอาจารย์เฟื้อยังไม่เสร็จ “หน้าที่ผมหลังจากย้ายหอพระไตรมาแล้ว
ก็รักษาภาพ ผมมานั่งล้างความสกปรกอยู่หลายปี พยายามเสาะหาน้ำยาดี ๆ
ที่ใช้ในการอนุรักษ์มาใช้.."
จากจุดเริ่มต้นเพียงแค่อยากเห็นจิตรกรรมฝีมือพระอาจารย์นาค
นำมาสู่การทำความสะอาดเพื่อให้สามารถมองเห็นผลงานของปรมาจารย์,
คลี่คลายมาเป็นการซ่อมแซมบูรณะหอไตรฯ ที่ผุเก่าจวนพัง ให้กลับมาสวยงามมั่นคง
ท้ายสุดอาจารย์เฟื้อก็เยียวยาแทบทุกตารางนิ้วในหอไตรฯ