เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 20
  พิมพ์  
อ่าน: 130200 เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 12:27

รูปนี้เป็นเครื่องแต่งกายหนุมานที่ปักใหม่ด้วยฝีมืออ.จักรพันธุ์และทีมงาน 
ท่่านอธิบายถึงการปักซ่อมแซมไว้ว่า   ถ้าของเก่ายังเหลืออยู่ เพียงแต่ชำรุด  ก็รักษาขนาดของเดิม รูปร่าง ลวดลาย ให้เหมือนเดิมทุกประการ
ถ้าชุดไหนชำรุดน้อย ก็ค่อยๆกรึงลวดลายไหมทองเลื่อมและลูกปัดของเก่าให้แน่นหนายิ่งขึ้น   ถ้าผ้าเดิมชำรุดเป็นรูๆ ก็ชุนให้เต็มด้วยไหม หาสีให้เหมือนเดิมที่สุด  โดยมีผ้าบางเนื้อแน่นรองขึงเป็นพื้นสะดึงเพื่อให้คงทน
ส่วนที่ปักใหม่ทั้งชิ้น หรือทั้งผืน  ก็ทำต่อเมื่อของเดิมชำรุดเหลือจะซ่อมแล้ว

รูปที่นำมาลงคือเครื่องแต่งกายหนุมานที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 14:03

สวยงามมากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 14:14

มีมาฝากอีกค่ะ
ภาพบนซ้าย  หนังสือบรรยายว่าเป็นผ้าห่ม นางห่มเขียว
ภาพล่างซ้าย   เชิงผ้าห่ม นางยักษ์ผีเสื้อสมุทร ปักใหม่
ภาพบนขวา    เครื่องแต่งกายกันยุเวก ปักใหม่
ภาพล่างขวา   ผ้าปิดก้นกุมภกรรณ ปักใหม่

หุ่นตัวนางที่นำมาซ่อมมี ๙ ตัว นางห่มเขียวก็คือ ตัวนางที่ห่มผ้าสีเขียว  ไม่อาจบอกว่าเป็นนางตัวไหนในรามเกียรติ์ เพราะเครื่องแต่งกายไม่เจาะจงพอจะบอกบทบาทได้


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 14:20

ผมสงสัยในฝีมือการปัก ซึ่งแน่นอนเป็นการปักจากฝีมือวังหน้า ฝีมือราชสำนัก ปราณีต วิจิตร แต่จะเป็นฝีมือการปักของบุรุษเพศ หรือ สตรีเพศ ครับ ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 14:32

ถ้าปักกันในวัง ต้องสตรีเพศอยู่แล้วค่ะ    ถ้าหากบุรุษเพศมาปัก   อย่างใกล้วังที่สุด  ก็คือนั่งปักอยู่นอกประตูวัง  ยิงฟันยิ้ม

ดิฉันเข้าใจว่าฝีมือสร้างหุ่น คงจะทำมาจากช่างสิบหมู่   เกลาเป็นรูปร่าง มีหน้าตาหัวหูทำเสร็จเรียบร้อย  แต่พอถึงขั้นตอนหุ้มเสื้อผ้าเข้าไปเป็นขั้นตอนสุดท้ายก็เอาสตรีชาววังซึ่งชำนาญด้านเย็บปัก มาทำ
เพราะช่างปักสะดึงกรึงไหม เป็นหญิงอยู่แล้ว   นางลาวทองเมื่อต้องโทษเพราะขุนแผนก่อเหตุ (ตัวเธอไม่ได้ก่อ แต่ต้องมารับเคราะห์)  ก็ถูกส่งตัวไปเป็นช่างปักอยู่ในวัง ติดอยู่ตั้งหลายปีกว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ กลับออกมาพบสามีอีกครั้ง
แต่หน้าหุ่น และเครื่องประดับหุ่นเช่นพวกศิราภรณ์ทั้งหลายที่มีกระจกเกรียบประดับประดา   เป็นฝีมือช่างชาย  ไม่ใช่ผู้หญิง   งานช่างแบบนี้ไม่ใช่ฝีมือหญิงทำ

พูดถึงงานฝีมือประดับกระจกเกรียบ    มีรูปมาให้คุณ siamese ดู    เป็นท่อนหางของนางสุพรรณมัจฉา  ส่วนท่อนบนชำรุดสูญหายไป
ฝีมือเกลาแต่ละท่อนให้อ่อนไหวได้   และฝีมือประดับเกล็ดปลาด้วยกระจกเกรียบ ตัดเส้นโลหะทอง งามประณีตเหลือพรรณนา  เห็นแค่ท่อนหางก็มองเพลินแล้ว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 14:49

เห็นทีไรขนลุกทุกครั้งในของโบราณที่ทำออกมาอย่างสุดฝีมือ ครั้งหนึ่งนางสุวรรณมัจฉา คงเข้าลีลาหลีกหลบกับ หนุมาน ร่ายรำลีลาหางพริ้ว แสงกระจกวับวาวออกมาด้วยความงาม นึกถึงขั้นตอนการทำหุ่นวังหน้า คงเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมๆ ผู้คนมากมาย คงต้องมีฝ่ายร่างแบบ ฝ่ายจัดซื้ออุปกรณ์ ฝ่ายปักสะดึง ฝ่ายปั้น ช่างเขียน ช่างทอง วังหน้าคงเต็มไปด้วยสีสัน ครึกครื้นนะครับ

กระจกเกรียบ เป็นกระจกของไทยแต่โบราณ หรือเรียกอีกอย่างว่า กระจกจีน เป็นกระจกที่ดาดบนแผ่นตะกั่ว ซึ่งมีความอ่อนนุ่มสามารถตัดได้ด้วยกรรไกร ในช่างสิบหมู่ มี "กรมหุงกระจก" เพื่อรับใช้งานประดับกระจกในงานไทยทุกประเภท ทางหัวเมืองเหนือก็ติดกระจกเกรียบใช้งานกันมากเช่นกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 15:17

งานฝีมือเหล่านี้เกิดได้ในยุคที่คนไม่ต้องทำงานแข่งกับเวลา  สามารถประดิดประดอยงานฝีมือละเอียดลออได้ด้วยใจเป็นสมาธิกับงาน    ๒๔ ช.ม.ของเขาจึงเหมือนเป็น ๔๘ ช.ม.  ส่วนของพวกเราเหมือนเหลือ ๘ ช.ม. เท่านั้นในแต่ละวัน     

มาถึงรูปหัวหุ่น ที่เป็นงานปั้นของช่างสิบหมู่      ของเดิมชำรุด   มาซ่อมแซมใหม่จนสมบูรณ์ ตามรอยของเดิม  คุณ siamese คงติดตามรอยได้ว่า ฝีมือปั้นชั้นเยี่ยมขนาดไหน  เมื่อคำนึงว่า หัวหุ่นของจริงนั้นเล็กกว่าหัวโขนมาก


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 15:48

มีอานม้า และตัวม้าที่ซ่อมเสร็จแล้วค่ะ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 15:48

งานฝีมือเหล่านี้เกิดได้ในยุคที่คนไม่ต้องทำงานแข่งกับเวลา  สามารถประดิดประดอยงานฝีมือละเอียดลออได้ด้วยใจเป็นสมาธิกับงาน    ๒๔ ช.ม.ของเขาจึงเหมือนเป็น ๔๘ ช.ม.  ส่วนของพวกเราเหมือนเหลือ ๘ ช.ม. เท่านั้นในแต่ละวัน     

ใช่ครับ ไม่ต้องทำงานดิ้นรนแข่งกับเวลา ดังนั้นศิลปะจึงออกมาได้ถึงศิลปะ ของโบราณจึงดูแล้วซึ้งตา มีอารมณ์ถึงความรู้สึกซึ่งไม่แข็งกระด้าง ช่างที่ทำได้ใส่จิตวิญญาณลงไปในชิ้นงานด้วย เหมือนเจอหุ่นโบราณสวยๆต้องก้มกราบในทักษะและฝีมือของครูโบราณที่ได้สร้างไว้

ลายกระจัง มาลัยรัด ทำออกมาย่อส่วนได้งดงาม ช่างสิบหมู่คงจิกรักเพียงปลายเล็บ แล้วปั้นให้กลม นำมาถมกดในแม่พิมพ์หินสบู่ แล้วมาติดเข้ากับหุ่นโกลน ติดรักจนรอบชั้นเป็นชั้น ต่อด้วยการปั้นหน้าหุ่น ปั้นคิ้ว ปั้นปาก ลีลาพริ้วไหว ก่อนขั้นตอนสุดท้ายงานปิดทองคำเปลว และติดกระจกเกรียบ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 19:39

เห็นรัดเกล้า แล้วนึกถึงการสัมภาษณ์ อ.จักรพันธุ์ จากนิตยสาร HELLO! ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 

".....และหลังจากที่ได้คลุกคลีอยู่กับหุ่นและการเล่นหุ่นมานาน คุณต๋องรักศิลปะการเล่นและการสร้างหุ่นกระบอกไม่น้อยกว่าผู้เป็นอาจารย์ เมื่ออาจารย์จักรพันธุ์ได้รับเชิญให้ซ่อมหุ่นหลวง ขนาดสูงราวเมตรกว่า 8 ตัวในช่วย พ.ศ. 2526-2529 เขาก็เป็นผู้ช่วยคนสำคัญอีก 10 ปีต่อมา อาจารย์จักรพันธุ์รับเชิญจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ช่วยซ่อมหุ่นวังหน้าขนาดสูงราว 28-37 เซนติเมตร จำนวน 100 ตัว เขาก็เป็นผู้ช่วยคนสำคัญ

เหตุประหลาดกับหุ่นกระบอก
           “เราขนหุ่นวังหน้ามากองเต็มบ้าน” คุณต๋องเล่าถึงเหตุการณ์ประหลาดเมื่อรับซ่อมหุ่นหน้าวัง “ผมฝันเห็นเด็กวิ่งเต็มบ้าน ฝันเหมือนจริงเลยฮะ เด็กตัวเล็กๆ เต็มเลย มายืนอยู่ข้างล่าง ไว้ผมจุก หันหน้ามามองเรา บ้างมายิ้มล้อเล่น ครูเจริญชัย (ต้นครองจันทร์) มานอนบ้านเราวันแรก เขาถาม อาจารย์เอากุมารทองมาเลี้ยงหรือครับ มันแกล้งผมทั้งคืนเลย นอนไม่หลับ เลยพาครูลงมาดูข้างล่าง หุ่นเรากองเต็มบ้านเลย”
           “แต่ผมไม่เคยเจอนะ” อาจารย์จักรพันธุ์บอก “ตอนเราซ่อมหุ่นหลวง เราทำพิธีบวงสรวง ตอนซ่อมหุ่นวังหน้า เราก็ต้องทำ ผู้ใหญ่แนะนำ เพราะไปเอาของท่านมาซ่อม และเราไม่ได้เอาท่านไปทำอะไรที่ไม่ดี เราไปทำให้ท่านกลับมีชีวิตขึ้นมา ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์อะไร
ตอนไปขนหุ่นวังหน้ามาซ่อม เด็กภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์เขาไม่รู้จักเรา ความจริง ผมแก่กว่า เธอก็บอก คนเอาไปเนี่ย ขี่มอเตอร์ไซค์คว่ำ หัวขาดไป และมีคนแขนหลุด ต่างๆ นานา คือหุ่นที่เก็บอยู่จะแขนขาหลุด หัวหาย เธอก็พูดเหมือนเราเอาไป ให้ระวังนะ เธอคงไม่อยากให้มีการซ่อม หรืออะไรก็ไม่ทราบ เธอก็นั่งเฝ้าอยู่ทุกวัน เราก็เฉยๆ ขนมาก็ไม่มีอะไร”
          แต่เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องบังเอิญ แต่ทำไมบังเอิญแล้วก็ช่างบังเอิญได้ถูกที่ถูกทาง ช่วยให้การซ่อมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี “ของที่ต้องใช้ซ่อม ลูกปัดเอย ผ้าเอย ที่หาสมัยนี้ไม่มีแล้ว ของมันคนละสมัยกัน เราก็หาจนได้โดยบังเอิญ ของบางอย่างบังเอิญมาอยู่บ้านเรา เหมือนมารออยู่ก่อนแล้ว อั๋น-พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก จะไปเมืองนอกทุกปี เขาไปที่อเมริกา ไปเจอมีลูกปัดเก่าๆ จากยุโรป แต่มาขายในอเมริกา พันธุ์ศักดิ์ก็โทรมาจากเมืองนอก...อาจารย์จะเอาไหม...เราก็บอกเอาๆ เขาก็เหมามาเลย พอได้มา ลูกปัดมันเล็กมา เข็มเบอร์เล็กสุดยังแทงไม่เข้า เราก็ไม่รู้จะไปใช้อะไร ก็เก็บไว้ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะต้องได้มาซ่อมหุ่นวังหน้า อีกหลายปีถึงได้มาซ่อมหุ่นวังหน้า นั่นคือลูกปัดที่ได้ใช้ หาที่อื่นก็หาไม่ได้”
          และเนื่องจากลูกปัดมีขนาดเล็กมา เข็มเบอร์เล็กสุดก็ยังมีขนาดใหญ่ไป ทางผู้ซ่อมต้องทากาวอ่อนๆ ที่ด้าย เป็นการปั้นให้ด้ายแข็งแล้วแยงลงรูลูกปัด จากนั้นจึงร้อยด้ายเข้าเข็มปักเช่นนี้ทีละเม็ดๆ
          “ตอนนั้นเราซ่อมหุ่นหลวง หุ่นหลวงจะมาในหีบ มาเป็นเหมือนศพ มีผ้ามีแขนเขินหลุด มีหน้ามาเป็นหีบ พอเปิดหีบออก มีรัดเกล้าอันเล็กนิดนึงหลงมา เราเห็นก็ เอ๊ะ รัดเกล้านี่ไม่ใช่ของหุ่นหลวง แต่เป็นของหุ่นวังหน้า ก็แยกออกมาเก็บไว้ในตู้ กลัวพัง เพราะอันเล็กนิดนึง เราก็ไปพิพิธภัณฑ์ ก็ไปดูๆ ไม่เห็นมีตัวละครตัวไหนใส่รัดเกล้า จะใส่ก็แต่มงกุฏกษัตริย์

           ในหีบยังมีกระบังหน้าละครคนอีกอันหลงมา เป็นหนังติดรักประดับกระจก เป็นกระบังหน้าของคน ไม่ใช่ของหุ่น เราก็พูดกับคนของพิพิธภัณฑ์ว่า กระบังหน้าสวยมากเลย ไม่ชำรุดเลย มาอยู่ในหีบหุ่นหลวง ผมขอเก็บเอาไว้ได้มั๊ย เพราะส่งคืนไป ถ้าเก็บไว้ไม่ดีจะเสียหาย และอาคารที่เก็บก็ร้อนมาก ทางโน้นบอกไม่ได้ ต้องคืน ถ้าจักรพันธุ์กลัวจะเสียหาย ก็ขโมย คือเอาไว้เอง ผมบอกไม่กล้าหรอก ภายหลังเราก็ส่งคืนไป แต่รัดเกล้าที่ตั้งไว้ในตู้จนกระทั่งซ่อมหุ่นหลวงเสร็จ ผมลืมไง ก็ติดอยู่ในตู้อย่างนั้น จนกระทั่ง 10 ปีต่อมา ได้มาซ่อมหุ่นวังหน้า ก็นึกถึงรัดเกล้าอันนั้น เราก็ดูๆ หุ่นที่เอามาซ่อม ไม่มีตัวนางตัวใดใส่รัดเกล้าเลย ใส่แต่ชฎา จนซ่อมจะเสร็จแล้วนะ เหลืองวดสุดท้าย ผมก็อธิษฐานนะ ขอให้เจอตัวหุ่นที่ใส่รัดเกล้าอันนี้ ผมไม่เห็นเลยนะ หุ่นที่จะใส่รัดเกล้าอันนี้
          งวดสุดท้ายที่เราไปเดินดูหุ่นบนพิพิธภัณฑ์ ทางผู้ใหญ่สั่งให้เอาหุ่นที่เหลือมาเรียงๆ ไว้บนชั้นให้ดู ผมก็ไป ก็มีแต่ตัวไพร่พล ไม่ใช่ตัวที่จะเข้ากับรัดเกล้า เดินๆ คุยๆ กำลังจะกลับ ขาไปสะดุดไม้แหลมที่ใต้โต๊ะ หยิบขึ้นมาเป็นนางเบญกาย หุ่นเจ้าของรัดเกล้า ผมหยิบขึ้นมาขนลุก รัดเกล้าคอยอยู่ที่บ้านผม เขาคอยอยู่ว่าเมื่อไหร่เขาจะมีชีวิต หน้าแทบไม่ต้องแต่งเลยนะ

          มีหุ่นหลวงพระพรตตัวหนึ่ง จัดสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และได้มีการปิดกระดาษซ่อมไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 อาจารย์จักรพันธุ์เสี่ยงล้างกระดาษที่ปิดหน้าออก เจอหน้าที่แดงที่เก่ากว่าอยู่ข้างล่าง ใบหน้าที่ลอกสวยสมบูรณ์ แม้โดนน้ำ สีที่ทาไม้ก็ไม่หลุดลอกทั้งที่เป็นเพียงสีฝุ่นโบราณ
          หุ่นทุกตัว อาจารย์จัดซ่อมอย่างประณีต ด้วยหัวใจที่รู้สึกว่า “เรานึกอยู่ตลอดเวลาว่า นี่คืองานที่เราทำไปแล้ว เรากลับมาซ่อมไง ตอนนั้นทางกรมศิลปากรบอกมีคนอยากจะซ่อมหุ่นมากมาย และขอยื่นมือเข้ามา แต่กรมศิลปากรไม่เลือก เราไม่ได้ไปเรียกร้องอะไร ก็อยู่ในรูนี้” อาจารย์ชอบเรียกบ้านตัวเองว่า “รู” “เขาก็โทรถามว่าจะมาซ่อมได้หรือยัง คือหลังจากซ่อมหุ่นหลวงแล้วเขาก็พอใจ อยากจะให้เราซ่อมหุ่นวังหน้า โทรมาบางช่วง ผมไม่มีเด็กไง พอช่วงนั้นเด็กเยอะเต็มบ้าน ช่างฝีมือดีๆทั้งนั้น เราก็รับซ่อม”


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 07 มี.ค. 11, 19:46

เรื่องหุ่นนางเบญกายเป็นเรื่องที่ตั้งใจจะเล่าเป็นลำดับต่อไป  คุณsiamese เกริ่นขึ้นมาพอดี   
พรุ่งนี้  จะเอารูปและเรื่องมาเล่านะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 08 มี.ค. 11, 12:17

        การค้นพบหุ่นเบญกาย เป็นเหตุการณ์เล็กๆ น่าตื่นเต้นเหมือนการผจญภัยของตัวเอกในหนังแอนนิเมชั่น  ที่เบญกายน้อยแสดงนำ   
           ในเดือนธันวาคม ๒๕๓๕  ที่มีการนำหุ่นจำนวนแรกมาซ่อม  อ.จักรพันธุ์พบรัดเกล้าอันเล็กๆ ๑ อันปะปนอยู่ในหัวหุ่น   สันนิษฐานว่าเป็นรัดเกล้าเปลว   เพราะมีกระจังใหญ่คล้ายกระจังปฏิญาณอยู่ตรงดอกไม้ทิศ พอเหลือให้เห็น นอกนั้นชำรุดหมด เปลว ๒ ข้างก็ไม่เหลือ
     ลักษณะรัดเกล้าแบบนี้ต้องตั้งบนหัวนางที่ทำผมแหวกแสกกลาง  ถึงจะรับกันได้  แต่ก็ไม่มีหุ่นนางตัวใดทำผมแบบนี้    ในบรรดาหุ่นตัวนางที่ทีมซ่อมหุ่นได้มา ๙ ตัว  ทุกนางสวมเกี้ยวยอดแหลมมีกระบังหน้า ทั้งหมด รัดเกล้ากับเจ้าของจึงค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น  หากันไม่พบ
     ล่วงเลยมาถึง ๔ ปี   อ.จักรพันธุ์ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร  ขอขึ้นไปสำรวจคลังใต้หลังคาที่เก็บหุ่นอีกครั้ง   เจ้าหน้าที่บอกว่าเหลือแต่หุ่นตัวกาก  ประเภทไพร่พล  ไม่มีหุ่นตัวเอกๆเหลือแล้ว    ขนไปให้ซ่อมหมด  แต่ในเมื่อจะสำรวจ เขาก็จัดหุ่นเรียงไว้ในตู้ให้เลือกตามสะดวก
     ขอลอกที่ท่านเล่า  ให้อ่านกัน  จะได้วาดภาพตามไปด้วยได้

       " บังเอิญข้าพเจ้าเห็นก้านไม้ดำๆอย่างแกนตัวหุ่น ๑ แกน   โผล่ออกมาจากชั้นตู้ชั้นล่างสุดที่อยู่เรี่ยติดพื้นห้อง    สงสัยว่าจะเป็นหุ่นกากตัวใดหลงหูหลงตาซุกซ่อนอยู่ชั้นล่าง    ไม่ได้เห็นแต่แรก    นึกสะดุดใจจึงนั่งลง ลองดึงก้านไม้ดำนั้นออกมาดู    ปรากฏว่าเป็นหุ่นตัวนาง  เขียนผมสีดำ เป็นผมแหวกเพื่อตั้งรัดเกล้าได้    แขนและขาส่วนล่างไม่มีเหลือ    ผิวกายสีเหลืองนวล   ผ้าห่มนางเป็นตาดสีเหลือง  ผ้านุ่งสีเขียวขาดชำรุดหมด    เหลือเศษติดตัวหุ่นพออาศัยเป็นหลักฐาน   สันนิษฐานว่าเป็นหุ่นตัวนางเบญกาย
       ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นที่ยิ่ง    หากเผลอละเลยไปไม่ถี่ถ้วน มองข้ามไป    เบญกายน้อยก็คงจะต้องคอยอยู่อย่างนั้นชั่วนาตาปี   รัดเกล้าเก่ากรอบหักพักอันนิดๆนั้น  อาจสูญหายกลายเป็นวัสดุขี้ขยะดำๆ  ป่นปี้ไม่มีค่า   เช่นเดียวกับเศษศิลปวัตถุเป็นอันมากที่ไม่ทราบหายหกตกหล่นไปไหน     และไม่อาจหาให้พบได้    ถึงทำขึ้นมาทดแทนใหม่ก็ไม่เหมือน"


     ส่วนที่พิมพ์ตัวแดงไว้นั้น  เผื่อคุณ siamese จะอธิบายให้คนอ่านเรือนไทยที่เป็นเด็กรุ่นใหม่  ไม่รู้ว่าศัพท์พวกนี้หมายถึงอะไร  ดิฉันเองก็รู้เพียงคร่าวๆเท่านั้น

     ในที่สุด เมื่อรัดเกล้ากับเบญกายได้พบกันอีกครั้ง  เสื้อผ้าที่ติดหุ่นอยู่ก็เหลือพอเป็นเค้าได้ว่าของเดิมเป็นอย่างไร   เบญกายจึงได้พลิกฟื้นคืนชีวิตมาในสภาพงามสมบูรณ์อีกครั้ง   
     หวังว่าผู้ที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้คงจะดีใจกับเธอไปด้วย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 08 มี.ค. 11, 12:20

นอกจากนี้ เบญกายยังได้พบหนุมาน  พระเอกของเธอ ที่กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์เช่นกัน
ถือว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง สำหรับหุ่น ๒ ตัวนี้


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 08 มี.ค. 11, 15:17

       การค้นพบหุ่นเบญกาย เป็นเหตุการณ์เล็กๆ น่าตื่นเต้นเหมือนการผจญภัยของตัวเอกในหนังแอนนิเมชั่น  ที่เบญกายน้อยแสดงนำ    
           ในเดือนธันวาคม ๒๕๓๕  ที่มีการนำหุ่นจำนวนแรกมาซ่อม  อ.จักรพันธุ์พบรัดเกล้าอันเล็กๆ ๑ อันปะปนอยู่ในหัวหุ่น   สันนิษฐานว่าเป็นรัดเกล้าเปลว  เพราะมีกระจังใหญ่คล้ายกระจังปฏิญาณอยู่ตรงดอกไม้ทิศ พอเหลือให้เห็น นอกนั้นชำรุดหมด เปลว ๒ ข้างก็ไม่เหลือ
     ลักษณะรัดเกล้าแบบนี้ต้องตั้งบนหัวนางที่ทำผมแหวกแสกกลาง  ถึงจะรับกันได้  แต่ก็ไม่มีหุ่นนางตัวใดทำผมแบบนี้    ในบรรดาหุ่นตัวนางที่ทีมซ่อมหุ่นได้มา ๙ ตัว  ทุกนางสวมเกี้ยวยอดแหลมมีกระบังหน้า ทั้งหมด รัดเกล้ากับเจ้าของจึงค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น  หากันไม่พบ
    
     ส่วนที่พิมพ์ตัวแดงไว้นั้น  เผื่อคุณ siamese จะอธิบายให้คนอ่านเรือนไทยที่เป็นเด็กรุ่นใหม่  ไม่รู้ว่าศัพท์พวกนี้หมายถึงอะไร  ดิฉันเองก็รู้เพียงคร่าวๆเท่านั้น

    

รัดเกล้า หมายถึง เครื่องประดับศีรษะสตรีสูงศักดิ์ในราชสํานักแต่โบราณ ซึ่งได้พัฒนามาจากมาลัยรัดผมจุก ช่างไทยได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้คลุมมุ่นผมให้สวยงาม

รัดเกล้าเปลว  หมายถึง รัดเกล้าประเภทหนึ่งซึ่งตอนบนจะติดกระจังปฏิญาณไว้ พริ้วไหวเหมือนเปลวไฟ จึงได้ชื่อตามสิ่งที่เห็นว่า รัดเกล้าเปลว

กระจังใหญ่ หมายถึง ลายไทยอย่างหนึ่งซึ่งเป็นลายพื้นฐานของลายไทย เช่น กระจังตาอ้อย กระจังฟันปลา ซึ่งลายกระจังถือกำเนิดจากการเลียนแบบสิ่งที่เห็นตามธรรมชาติแล้วนำมาเขียนลายเส้นตามที่เห็น

กระจังปฏิญาณ หมายถึง ลายไทยประเภทหนึ่งอยู่ในหมวดกระจัง ซึ่งเรียกว่ากระจังหูหรือกระจังปฏิญาณ มีทรงอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างสองส่วน สูงสามส่วน(ดูแบบ)ตอนบนมีทรงเหมือนกระจังใบเทศ แล้วต่อก้านลงมาอีกครึ่งส่วนซ้ายและขวา มีตาอ่อนหรือกระจังใบเทศห้าม แต่ภายในตอนล่างมีกาบทั้งซ้ายและขวา เช่นเดียวกับกระจังใบเทศ วิธีแบ่งตัวมีเป็นลำดับคล้ายกระจังใบเทศ ตัวโตขึ้นก็มีการแบ่งตัวมากขึ้นไป

ดอกไม้ทิศ หมายถึง ลายไทยที่ทำเป็นลายประจำยาม ตรึ่งไว้ ๔ ด้าน ทำเป็นรูปดอกไม้บ้าง มีกลีบซ้อนบ้าง
เปลว

เกี้ยว เครื่องประดับสวมศีรษะพัฒนาจากดอกไม้รัดผมจุก เช่นเดียวกัน และพัฒนาทำด้วยทองคำ หรือ โลหะมีค่า พร้อมใส่ลายไทย ดอกไม้ไหวประกอบ ซึ่งตัวดอกไม้ไหวจะมีขายาวไว้สำหรับเสียบแทนปิ่นปักผม เพื่อให้ตรึงอยู่กับศีรษะ

พระมหาพิไชยมงกุฏ, ชฎา, มงกุฎ ต่างก็เป็นเครื่องประดับชั้นสูง ซึ่งมีการนำเกี้ยวเข้าไปประกอบ เกี้ยวยิ่งมากเท่าไร ย่อมหมายถึงลำดับแห่งศักดิ์สูงกว่า
เกี้ยวยอดแหลม ถูกพัฒนาจากเกี้ยวอีกทอดหนึ่ง ซึ่งใส่ยอดแหลมเข้าไปทำให้บ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมว่า อยู่ในยศ ชั้นที่สูงศักดิ์กว่า

เกี้ยวยอดแหลม ถูกพัฒนาจากเกี้ยวอีกทอดหนึ่ง ซึ่งใส่ยอดแหลมเข้าไปทำให้บ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมว่า อยู่ในยศ ชั้นที่สูงศักดิ์กว่า

กะบังหน้า (ภาษาใหม่) ของเดิมเรียก “กรอบหน้า” หมายถึงเครื่องประดับศิราภรณ์ฝ่ายสตรี ที่มีไว้สำหรับรวบผมไม่ให้ลงมาปรกใบหน้า ซึ่งในอดีตในสมัยรัชกาลที่ ๔ กรอบหน้าเคยเป็นหนึ่งในเครื่องราชเบญจกกุธภัณฑ์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น พระมหาพิไชยมงกุฎในระยะต่อมา

ภาพวาดสีน้ำมัน ของ อ.จักรพันธุ์ ในภาพนางละครกำลังสวมรัดเกล้าเปลว


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 08 มี.ค. 11, 15:20

กระจังปฏิญาณ หมายถึง ลายไทยประเภทหนึ่งอยู่ในหมวดกระจัง ซึ่งเรียกว่ากระจังหูหรือกระจังปฏิญาณ มีทรงอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างสองส่วน สูงสามส่วน(ดูแบบ)ตอนบนมีทรงเหมือนกระจังใบเทศ แล้วต่อก้านลงมาอีกครึ่งส่วนซ้ายและขวา มีตาอ่อนหรือกระจังใบเทศห้าม แต่ภายในตอนล่างมีกาบทั้งซ้ายและขวา เช่นเดียวกับกระจังใบเทศ วิธีแบ่งตัวมีเป็นลำดับคล้ายกระจังใบเทศ ตัวโตขึ้นก็มีการแบ่งตัวมากขึ้นไป


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 20
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.103 วินาที กับ 19 คำสั่ง