เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 20
  พิมพ์  
อ่าน: 129870 เจ้าชายยอร์ช วอชิงตัน แห่งสยาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้าย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 06 เม.ย. 11, 21:13

ย้อนกลับไปนับพ.ศ. ดูพระราชประวัติ

พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ประสูติเมื่อพ.ศ. 2381  ในรัชกาลที่ 3  เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯพระราชบิดาทรงขึ้นครองวังหน้า  ในพ.ศ. 2393     พระราชโอรสพระองค์ใหญ่มีชันษาได้ 12 ปี  ถือว่าอยู่ในวัยเล่าเรียน     เราก็รู้กันจากประวัติสุนทรภู่ว่า หลังจากตกระกำลำบากไม่มีตำแหน่งขุนนางในรัชกาลที่ 3    สุนทรภู่ก็ได้เข้ามาพึ่งพระบารมีสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึงจางวางกรมอาลักษณ์

แต่เมื่ออ่านพระบวรราชนิพนธ์ของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่  เมื่อทรงเจริญพระชันษามากขึ้นพอจะแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนได้     ไม่มีเรื่องไหนที่พบ  มีร่องรอยกลอนตามแบบของสุนทรภู่    ไม่มีแม้แต่เรื่องที่แต่งเป็นกลอนตลาด(หรือเรียกภายหลังว่ากลอนสุภาพ) สักเรื่องเดียว  แต่ว่ามีฉันท์ถึง 2 เรื่อง  บทละครแบบละครนอก 1 เรื่อง และบทเล่นหุ่นซึ่งเป็นร้อยแก้วอีก 2 เรื่อง
ถ้าไม่นับข้อยกเว้นว่า อาจมีเรื่องแต่งเป็นกลอน  แต่กรมศิลปากรยังหาไม่เจอ     ก็จะกล่าวได้ว่า   พระบวรราชนิพนธ์นั้นบอกบ่งถึงร่องรอยพระอาจารย์ ที่ไม่ใช่สุนทรภู่     หรืออาจบอกต่อไปอีกก็ได้ว่า  สุนทรภู่ไม่ได้ถวายพระอักษร  มิฉะนั้นน่าจะมีผลงานแสดงร่องรอยความเป็นศิษย์สุนทรภู่ให้เห็นบ้าง     เพราะศิษย์สุนทรภู่ อย่างเช่นนายมี  ก็มีทางของกลอนที่เจริญรอยตามครูเห็นได้ชัด

ถ้าอย่างนั้น   เมื่อดูจากพระบวรราชนิพนธ์แล้ว มองเห็น "ทาง" ของพระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรบ้างไหม
ก็พอเห็นค่ะ  ว่า
๑   เป็นผู้เชี่ยวชาญในการแต่งฉันท์  หลากหลายชนิด 
๒   เป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาบาลีสันสกฤตและเขมร    ไม่ใช่ชำนาญเฉพาะรู้ศัพท์  แต่รู้ในการผูกศัพท์   สมาสและสนธิ ตลอดจนแผลงศัพท์ อย่างกวี    ไม่ใช่อย่างมหาเปรียญอย่างเดียว

ไม่มีหลักฐานมากกว่านี้    แต่พออ่านพระบวรราชนิพนธ์แล้ว  นึกถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขึ้นมาทันที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 08 เม.ย. 11, 11:08

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเชี่ยวชาญด้านฉันท์ ยากจะหาใครเทียบได้    ถึงขั้นนิพนธ์ตำราเรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ  นอกจากนี้ฉันท์ก็ยังเชี่ยวชาญโคลงจนทรงนิพนธ์ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี   ส่วนที่เป็นวรรณคดี ก็ทรงสร้างสรรค์วรรณคดีประเภทฉันท์ไว้หลายเรื่อง  อาทิ สรรพสิทธิคำฉันท์  สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย กฤษณาสอนน้องคำฉันท์  ฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้างพัง  ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี

ในปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533 นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้

ย้อนกลับมาถึงกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   นอกจากนิราศเมืองนครศรีธรรมราชฉันท์   ยังมีอิเหนาคำฉันท์ เป็นเรื่องที่สอง   เข้าใจว่านิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ หลังจากทรงแต่งนิราศแล้ว   พระชนม์ไม่ถึง ๓๐ พรรษา
อิเหนาคำฉันท์ พิมพ์เป็นครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาปริก ในกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๐  

ชื่อเรื่องอาจทำให้ผู้สนใจวรรณคดี สับสนได้   กวีผู้แต่งอิเหนาคำฉันท์มี ๒ ท่าน ด้วยกัน    ก่อนหน้ากรมพระราชวังบวรฯ ก็คือเจ้าพระยาพระคลัง(หน) แต่งอิเหนาคำฉันท์ไว้ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์    แต่เนื้อเรื่องเป็นคนละตอนกับพระบวรราชนิพนธ์    
อิเหนาของเจ้าพระยาพระคลัง   เล่าถึงตอนอิเหนาลักบุษบาไปไว้ในถ้ำ    ส่วนอิเหนาของกรมพระราชวังบวรฯ เป็นตอนอิเหนาเข้าห้องนางจินตะหรา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 08 เม.ย. 11, 13:13

อิเหนาคำฉันท์ เป็นฉันท์ขนาดยาว  จับความตั้งแต่อิเหนาอยู่เมืองหมันหยากับนางจินตะหรา   ได้นางสะการะวาตีและมาหยารัศมีมาอยู่ด้วย    อิเหนาเข้าห้องนางจินตะหรา   นางสะการะวาตีและมาหยารัศมีมาถวายบังคมนางจินตะหรา   และไปจบที่ท้าวกุเรปันตอบสารท้าวดาหาเรื่องเลื่อนการอภิเษกระหว่างอิเหนากับบุษบาออกไป  เพราะอิเหนามัวไปลุ่มหลงนางจินตะหราอยู่ที่เมืองหมันหยา

เนื้อความที่กรมพระราชวังบวรฯทรงเลือกมา  ไม่ได้เลือกเฉพาะตอน   แต่เลือกยาวหลายตอน แล้วไปจบลงตรงที่เนื้อเรื่องยังค้างอยู่ แต่ก็มีโคลงบอกไว้ตอนท้ายว่า นิพนธ์ไว้แค่นี้
เนื่องจากไม่มีหลักฐานบอกที่มาที่ไป  นอกจากบอกไว้แต่งถวายเป็นพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงบอกไม่ได้ว่าทรงแต่งขึ้นตามโจทย์ที่ใครให้มา  หรือแต่งขึ้นเพราะโปรดตอนเหล่านี้เป็นพิเศษ     มีแต่ตอนออกตัวอย่างถ่อมพระองค์ว่า ทรงมานะพยายามแต่งได้เพียงแค่นี้   

     อิดอ่อนและหย่อนวิริยมาน                  ฤสฤษดิ์สัมฤทธิความ
         สมมุติยุติวจนัง                           และลุดังพยายาม
     รังเริ่มเผดิมนิพนธทราม                      สติโยนิโสมันท์

       เมื่อพิจารณาจากคำที่ทรงใช้      กรมพระราชวังบวรฯ  ไม่ใช่กวี "อ่อนฝีมือ" แม้แต่น้อย    ตรงกันข้าม   น่าจะเคยศึกษาวรรณคดีสมัยอยุธยามาแล้วอย่างชำนาญ      ศัพท์ที่ทรงใช้ในเรื่องนี้ย้อนยุคเก่ากว่าสมัยรัชกาลที่ ๕  มาก     อย่างคำนี้

        เงื่อนดาวประดับดวง                     ศศิช่วง ณ คัคณานต์
     ไตรโลกยเล็งลาน                           ทิพลักษณขวัญตา       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 08 เม.ย. 11, 13:17

       คำว่า "เงื่อน"   หรือ "ไตรโลกยเล็ง" เป็นคำเก่า    สมัยอยุธยาตอนกลางและถอยขึ้นไปใกล้ตอนต้น     สมัยรัตนโกสินทร์ไม่ใช้กันแล้ว   แม้แต่อิเหนาคำฉันท์ของเจ้าพระยาพระคลัง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑  ก็ใช้คำใหม่กว่านี้มาก

       คำว่า เงื่อน ใช้ในกำศรวลศรีปราชญ์ หรือกำศรวลสมุทร (เดิมเรียกว่ากำศรวล เฉยๆ)  หลายแห่ง    นอกจากนี้ก็มีใน ลิลิตพระลอ

          มุ่งเหนอรรถ้ำท่ง      ทิวเขา      
      เขาโตกอำภิลจอม      แจกฟ้า            
      สรมุทรเงื่อนเงามุข      มยงม่าย      
      ดูดุจมุขเจ้าถ้า              ส่งศรี
                                          (กำศรวลสมุทร)

           โฉมสองเหมือนหยาดฟ้า     ลงดิน
       งามเงื่อนอัปสรอินทร์                    สู่หล้า
       อย่าคิดอย่าควรถวิล                    ถึงยาก แลนา
       ชมยะแย้มทั่วหน้า                    หน่อท้าวมีบุญ
                                           (ลิลิตพระลอ)

           ส่วน ไตรโลกยเลง (หรือเล็ง)  มาจากกำศรวลศรีปราชญ์  หรือกำศรวลสมุทร

              พรายพรายพระธาตุเจ้า      จยรจนนทร แจ่มแฮ      
          ไตรโลกยเลงคือโคม      ค่ำเช้า      
          พิหารรเบียงบรร              รุจิเรข เรืองแฮ      
          ทุกแห่งห้องพระเจ้า              น่งงเนือง ฯ        
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 08 เม.ย. 11, 13:18

        กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  ต้องเคยศึกษาวรรณคดีเก่ามาอย่างจัดเจน  เข้าถึงรสของภาษา   ถึงหยิบคำโบราณมาใช้ในพระบวรราชนิพนธ์ได้อย่างไม่ขัดเขิน       ถ้าหากว่าทรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสก็ไม่น่าแปลกใจ      สมเด็จฯ ทรงเป็นกวีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓   จนสิ้นพระชนม์ในปลายรัชกาลที่ ๔    เป็นช่วงที่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเจริญพระชันษาขึ้นพอจะเล่าเรียนวิชาการแต่งหนังสือชั้นสูงได้พอดี

          บางท่านอาจค้านว่า ถ้าทรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณะฯ จริง   ก็น่าจะมีบันทึกในพระประวัติบอกไว้บ้าง  หรืออย่างน้อย เมื่อนิพนธ์งานชิ้นไหนก็น่าจะทรงเอ่ยถึงครูของท่านไว้   ไม่น่าจะเว้นไปเฉยๆแบบนี้     ข้อนี้ก็จริง เพราะอ่านจากพระบวรราชนิพนธ์แล้ว   นอกจากไม่มีบทไหว้พระรัตนตรัย  ไม่มีบทไหว้ครู   มีแต่บทคารวะพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์    ก็เป็นน้ำหนักถ่วงอยู่ได้เหมือนกันว่าท่านอาจไม่ได้เรียนจากสมเด็จ   ไม่อย่างนั้นน่าจะทรงเอ่ยไว้บ้างแล้ว      เพราะเป็นศิษย์ของกวีเอก มีหรือจะไม่ภาคภูมิใจ
         อย่างไรก็ตาม  ก็คงจะพูดได้เต็มปากว่า ไม่ว่าท่านทรงเล่าเรียนกับครูท่านไหน   หรือพอเรียนเขียนอ่านขั้นต้นจบ จากนั้นก็ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง     กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเป็นกวีเอกพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕    ข้อนี้แน่นอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 10 เม.ย. 11, 09:50

นอกจากฉันท์ ๒ เรื่อง  กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงแต่งละครนอกเรื่อง พระสมุท ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง
พระบวรราชนิพนธ์เรื่องนี้แต่งขึ้นเพื่อเป็นบทละครให้เจ้าคุณจอมมารดาเอมใช้เล่นละคร     จึงมุ่่งถึงการร้องและรำมากกว่าการใช้สำนวนโวหาร   แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ไพเราะ  มีตอนไพเราะที่เคยยกมาลงให้เห็นแล้ว

ละครรำของไทยมีละครใน และละครนอก  ละครในมี ๔ เรื่องคือรามเกียรติ์  อิเหนา  ดาหลังและอุณรุท   ปกติเล่นกันแต่ ๒ เรื่องแรก ในวังหลวง   ส่วนละครรำนอกจากนี้เป็นละครนอกทั้งหมด   
เดิมละครในวังเล่นกันแต่ในวัง จนถึงรัชกาลที่ ๓  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่โปรดการบันเทิงเริงรำ     แต่ก็ไม่ห้ามถ้าเจ้านายและขุนนางใหญ่น้อยจะฝึกละครเล่นกันเอง     ละครจึงออกจากวังมาอยู่นอกวัง  ขุนนางบุญหนักศักดิ์ใหญ่ก็มีคณะละครของตัวเองในบ้าน
วังหน้าก็มีคณะละครของพระองค์ท่านเองเหมือนกัน      โดยเฉพาะเมื่อเจ้าคุณชนนีท่านโปรดละคร ก็ย่อมมีนางละครเก่งๆอยู่ในวังหน้าไม่น้อย   จึงปรากฏว่ามีครูละครวังหน้าออกไปเป็นครูละครในราชสำนักเขมร

พระสมุท ที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงแต่งให้ละครวังหน้าเล่น  เป็นเรื่องจักรๆวงศ์ๆ   เป็นแนวที่นิยมกันอยู่สมัยนั้นและก่อนหน้านั้น   
คือพระเอกเป็นเจ้าชาย   มีฤทธิ์ เรียนวิชากับพระฤๅษีโยคี แล้วมีเหตุให้พบลูกสาวพระราชายักษ์   จากนั้นก็พานางหนี  พ่อตาไล่ตามมา แต่แพ้ฤทธิ์ลูกเขย   เจ้าชายก็พานางกลับเมือง
เกิดเป็นสำนวนว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่อง  "ลักลูกสาวยักษาพากันจร   แล้วย้อนกลับมาฆ่าพ่อตาตาย"

ชาติพันธุ์วรรณาของยักษ์ในละครไทย มีปริศนาอย่างหนึ่งคือ  ถ้าพญายักษ์มีลูกชาย  ลูกเป็นยักษ์เหมือนพ่อ    แต่ถ้ามีลูกสาว ร้อยทั้งร้อยเป็นนางมนุษย์ทรงโฉมโสภา  ไม่รู้ว่าได้เชื้อสายมนุษย์มาจากไหน   อาจจะมาจากแม่ ซึ่งในละครส่วนใหญ่ไม่ค่อยบอกว่าเป็นนางยักษ์หรือนางมนุษย์กันแน่

เนื้อเรื่องเมื่อตอนเริ่ม  ตัดตอนมาเฉพาะตอนพระสมุทพบนางบุษมาลี     มีการเท้าความว่าก่อนหน้านี้พระสมุทเคยมีพระมเหสี  แต่ถูกนางยักขินีพรากไป    พระสมุทมาพักอยู่ในตำหนักจันท์ ในอุทยานเมืองท้าวรณจักร พญายักษ์พ่อของนางบุษมาลี
นางบุษมาลีอยากชมสวน ก็พาสาวสรรค์กำนัลในมาเที่ยว    พระสมุทเห็นเข้าก็นึกรักนาง  จึงอุ้มนางเหาะหนีไป     ท้าวรณจักรรู้ว่าลูกสาวถูกขโมยตัวไปก็รีบยกทัพติดตามมา    ในที่สุดก็แพ้ฝ่ายพระเอก ถูกฆ่าตายไปตามระเบียบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 12 เม.ย. 11, 13:53

อ่านพระสมุทอยู่หลายเที่ยวเพื่อแกะรอย มาเล่าให้ฟัง     ก็เกิดความเชื่อว่า พระบวรราชนิพนธ์เรื่องนี้ ยังมีต้นฉบับที่กรมศิลปากรค้นไม่พบ อยู่แน่นอน
เพราะตอนเริ่มเรื่องของฉบับนี้  มีการเท้าความไปถึงเหตุการณ์ก่อนหน้า ที่ไม่ปรากฏในเนื้อเรื่องตอนนี้  คือตอนพระสมุทพลัดกับชายาคนเก่า เพราะนางยักษ์เป็นต้นเหตุ  ซึ่งก็ไม่ได้อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น  เหมือนคนเขียนคิดว่าคนอ่านรู้กันอยู่แล้ว  ไม่ต้องเล่าซ้ำซาก
แสดงว่าต้องมีตอนก่อนตอนนี้ที่วังหน้าฯ นิพนธ์ไว้ อยู่ที่ไหนสักแห่ง    แต่อาจชำรุดสูญหายไป    หลังกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จสวรรคต     เมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเอมถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ละครผู้หญิงของท่านก็อาจจะยุติลงนับแต่นั้น   บทละครก็กระจัดพลัดพรายสูญหายไป
ยิ่งเมื่อเจ้านายวังหน้าเสด็จย้ายไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง    นับเป็นการอพยพย้ายบ้านครั้งใหญ่   บ้านเก่ากลายเป็นกรมทหาร  เอกสารเหล่านี้อาจสูญหายไปได้อีกทีก็ตอนนั้น

จึงคิดต่อไปว่า สำหรับกวีฝีมือเอกอย่างกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   ผลงานเพียง ๕ เรื่องสั้นๆนับว่าน้อยไปสำหรับพระองค์ท่าน  น่าจะมีพระบวรราชนิพนธ์มากกว่านี้     รอเวลาแต่ว่าเมื่อไรจะมีคนค้นพบเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 12 เม.ย. 11, 13:57

การเท้าความที่ว่า อยู่ในตอนต้นเรื่องค่ะ   
แต่ก็บอกไว้ลอยๆแค่นี้ ไม่มีการขยายความอีก   จึงเชื่อว่ามีการกล่าวรายละเอียดไว้ในตอนก่อนหน้าบทนี้


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 12 เม.ย. 11, 20:05

ลีลาการแต่งบทละครเรื่องนี้   เป็นแนวที่ย้อนหลังไปถึงต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒    พูดถึงขนบการแต่งไปแล้ว   ตอนนี้จะพูดถึงสำนวนภาษาที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงเดินรอยตามแนวรามเกียรติ์และอิเหนา
ในละคร มีฉากซ้ำๆกันอยู่หลายฉาก  เช่นก่อนจะไปไหน  ไม่ว่าไปรบหรือไปประพาสป่า  ตัวเอกต้องอาบน้ำแต่งตัว  เรื่องนี้ก็มีอย่างเดียวกัน
อีกฉากหนึ่งคือเมื่อตัวละครกลัดกลุ้มกังวลใจ หรือโศกเศร้า  เป็นต้องเอนตัวลงนอน    ไม่มีอิริยาบถอื่น ไม่ว่าจะลงนั่งกอดเข่าหรือเดินงุ่นง่านไปมา 
เมื่อทศกัณฐ์กลุ้มกับศึกลงกา เพราะพระรามยกทัพมาราวีถึงสนามรบหน้าเมือง  ก็

เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์               ยอกรก่ายพักตร์ยักษา
ทอดถอนฤทัยไปมา                      ตรึกตราถึงสงครามรามลักษณ์

อิเหนาตอนกลุ้มใจหนักๆ ก็เหมือนกัน

เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์               จะเปลื้องเครื่องอาภรณ์ก็หาไม่

โปรดสังเกตข้างล่างว่าพระสมุททำแบบเดียวกันไม่มีผิด
ทำให้คิดว่าละครที่แสดงโดยฝ่ายในของวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ น่าจะรักษาขนบเดิมของละครใน แม้ว่าเนื้อเรื่องเป็นละครนอกก็ตาม   ในเมื่อบทก็เดินรอยตามแบบเดิม   ท่ารำก็คงเหมือนเดิม ตามที่ถ่ายทอดกันมา    ไม่มีการประยุกต์ให้ผิดครู


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 14 เม.ย. 11, 16:14

ขอพูดเรื่องพญายักษ์ที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสร้างขึ้นมา
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ ๑   คนส่วนใหญ่มักไปให้ความสำคัญกับพระราม นางสีดา และหนุมาน   แต่ดิฉันกลับไปชอบยักษ์ในเรื่อง เพราะมองเห็นฝีมือกวีในการสร้างจุดเด่นให้ตัวละคร     

ยักษ์ตัวสำคัญที่สุดคือทศกัณฐ์   เป็นธรรมดาอยู่เองที่กวีต้องสร้างพญายักษ์เจ้าเมืองลงกาให้ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว    ปกติทศกัณฐ์เวลาอยู่ในปราสาท ไม่ได้มีสิบหน้ายี่สิบมือ      แต่มีหนึ่งหน้าสองมืออย่างมนุษย์นี่เอง      เวลาโกรธหรือต้องการแผลงฤทธิ์ ถึงจะกลับไปเป็นสิบหน้ายี่สิบมือ   โดยมากจะเป็นตอนสำคัญในเรื่อง   ไม่ได้ปรากฏพร่ำเพรื่อทุกฉาก

ความเก่งของกวีในราชสำนักที่ชุมนุมกันแต่งรามเกียรติ์  คือเมื่อทศกัณฐ์ป่าวร้องขอพันธมิตรญาติวงศ์ยักษ์จากเมืองต่างๆมาช่วยรบกับพระราม     กวีก็ต้องบรรยายให้เห็นความสำคัญของพญายักษ์แต่ละตน    ว่าไม่ใช่ยักษ์ธรรมดาดาษดื่น หรือเป็นแค่ยักษ์ตัวประกอบ      ดังนั้นเครือญาติเพื่อนฝูงทศกัณฐ์บางตน อย่างสหัสเดชะ  ก็ ๑๐๐๐ หน้า ๒๐๐๐ มือ   พวกนี้ มีอาวุธวิเศษต่างๆไม่ซ้ำกัน   ทั้งพิลึกสะพรึงกลัว  และสง่าน่าเกรงขาม   
แต่ก็ไม่มีตัวละครยักษ์ตัวไหนโดดเด่นเท่าทศกัณฐ์ไปได้     

ฉากที่ประทับใจฉากหนึ่งคือเมื่อทศกัณฐ์ใกล้ตาย     กลับร่างเป็นสิบหน้ายี่สิบมือ  สิบปากก็ให้วาจาต่างๆ ไม่ซ้ำกัน  ทั้งตัดพ้อพิเภก   ทั้งสั่งเสียฝากลูกเมีย   และขออโหสิกรรมแก่กัน    อ่านแล้วรู้สึกว่าทศกัณฐ์มีสติอยู่จนลมหายใจสุดท้าย   ไม่ได้เลอะเทอะฟั่นเฟือน      และมีความสง่าสมเป็นกษัตริย์ และเป็นยักษ์เชื้อสายพรหม     น่าเสียดายที่ถูกสาป หรือสมัยนี้เรียกว่าถูกล็อคสเป็คมาจากสวรรค์ ให้ต้องมาตายด้วยฝีมือพระราม  เนื่องจากไปก่อเรื่องกับเทวดามาก่อน

ขอเชิญฟังฝีปากทศกัณฐ์ก่อนตาย

   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 14 เม.ย. 11, 17:19

เป็นได้ว่ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงประทับใจในลักษณะของทศกัณฐ์   จึงทรงสร้างพญายักษ์ในละครเรื่องพระสมุท ให้มีลักษณะเดียวกัน คือท้าวรณจักรมีสิบหน้ายี่สิบมือ 
แต่การสร้างตัวละครให้มีสิบหน้า ยี่สิบมือ  กวีไม่อาจสร้างเฉยๆ แค่บอกว่ามีหน้าและมือมากกว่ายักษ์ตัวอื่น      ต้องมีบทที่แสดงบทบาทของหน้าและมือเหล่านั้นด้วย    ขัอนี้เป็นการบ้านยากขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งสำหรับกวีผู้นั้น   ถ้าเทียบกับกวีคนที่รับไปแต่งถึงยักษ์อื่นๆที่มีแค่หนึ่งหน้าสองมือ  ก็ไม่ต้องเหนื่อยคิดบทเพิ่ม
บทเพิ่มนั้นก็คือ เมื่อยักษ์แปลงร่างกลับเป็นยี่สิบมือ    กวีก็ต้องคิดหาอาวุธมาใส่ให้ครบทุกมือ   และต้องแตกต่างกันไปในแต่ละมือด้วย   ไม่งั้นไม่เห็นเดชานุภาพของพญายักษ์ที่มีมือ พิเศษกว่าตัวละครอื่น

รณจักรพ่อนางบุษมาลี  เมื่อรู้ว่าลูกสาวถูกลักตัวไปก็โกรธ   กลับร่างเป็นพญายักษ์พิเศษเต็มขั้น 
    กรหนึ่งทรงจักรแกว่งกวัด           พระหัตถ์สองทรงง้าวเฉิดฉาย
กรสามกุมคทาเพริศพราย               หัตถ์สี่น้าวสายเกาทัณฑ์
มือห้านั้นถือโตมร                        พระกรหกนั้นทรงแสงขรรค์
พระหัตถ์เจ็ดกุมจรีที่ประจัญ             กรแปดนั้นทรงตรีอันศักดา
หัตถ์เก้าถือดาบกวัดแกว่ง               กรสิบทรงพระแสงศรง่า
......................
   บางคนอาจถามว่ามียี่สิบมือ  ทำไมอาวุธแค่สิบอย่าง ไม่ใช่ยี่สิบอย่างหรือ     คืออาวุธบางอย่างต้องใช้สองมือ เช่นศรและเกาทัณฑ์     ใช้มือเดียวยิงไม่ได้     ถ้าจะบรรยายว่าอาวุธบางอย่างใช้สองมือบ้าง  บางอย่างใช้มือเดียวบ้าง  ก็จะชุลมุนวุ่นวายในการบรรยาย  ดูไม่มีระเบียบ
กวีท่านจึงตัดบทให้ใช้ ๑๐ อย่างพอ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 14 เม.ย. 11, 20:23

ถึงมีฤทธิ์ขนาดไหนก็ตาม      ท้าวรณจักรก็เป็นฝ่ายแพ้ เพราะพระเอกมีพ่อเป็นพญายักษ์เหมือนกัน ชื่อพระยากาณุราช มาช่วยรบ    สามารถพุ่งหอกมาปักอกท้าวรณจักร แล้วสาปซ้ำมิให้ถอนออกมาได้    ท้าวรณจักรก็เลยต้องตาย   แต่ก่อนตาย   กรมพระราชวังบวรฯได้ให้ตัวละครตัวนี้ สั่งเสียกับนางบุษมาลี  ทีละปาก ทีละปาก แบบเดียวกับทศกัณฐ์
แต่ว่าน่าประทับใจกว่า   เพราะเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายของพ่อให้ลูกสาว    ได้สั่งสอนอบรมลูกสาวที่จะต้องไปเป็นเจ้านายฝ่ายในของพระราชาอีกเมืองหนึ่งว่าต้องทำอะไรบ้าง
ลักษณะคล้ายกับกฤษณาสอนน้อง  หรือแม่ของนางสร้อยทองสอนลูกสาวเมื่อถูกส่งตัวมาเป็นพระสนมของอยุธยา  ในขุนช้างขุนแผน
สำนวนภาษาและคำที่ใช้ สุภาพสุขุมอย่างผู้ใหญ่ที่มีเกียรติอบรมธิดา   เมื่อพูดกับปรปักษ์ ก็พูดอย่างไว้ศักดิ์ศรี   

ภาษาที่ใช้ในตอนนี้  และตอนก่อนหน้านี้  ถอยหลังไปจากสมัยรัชกาลที่ ๕    เป็นภาษาเก่ากว่าภาษาที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงใช้ในพระบวรราชนิพนธ์เสียอีก     ย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๑     เพราะถ้าหากตัดตอนบางตอนในบทละครนี้ออกมา อาจจะนึกว่าเป็นพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ตอนใดตอนหนึ่งก็เป็นได้




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 14 เม.ย. 11, 20:33

พระสมุท จบลงห้วนๆเมื่อท้าวรณจักรตาย    ไม่มีตอนพระสมุทพานางบุษมาลีกลับเมือง    มเหสีอีกคนของพระสมุทที่กล่าวค้างๆไว้ตอนต้นเรื่องว่าพลัดจากกัน   ก็ไม่มีเอ่ยถึงอีกว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ก็เลยคิดว่า น่าจะมีบทพระสมุท มากกว่านี้ แต่สูญหายไป

พระสมุท เป็นบทละครนอก   เล่ากันมาว่าใช้เล่นละครผู้หญิงของเจ้าคุณจอมมารดาเอม      ส่วนหุ่นวังหน้าอันลือชื่อนั้น กรมศิลปากรไม่พบบทรามเกียรติ์วังหน้าที่ใช้เล่น     พบแต่บทของหุ่นจีน ๒ เรื่อง เป็นร้อยแก้วทั้งสองเรื่อง
เป็นได้ว่าหุ่นรามเกียรติ์วังหน้า ใช้เชิดประกอบบทละครในเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑      แต่ดิฉันขอสงสัยเป็นส่วนตัวว่า  เป็นไปได้ไหมว่าบทละครพระสมุท ก็นำมาใช้เชิดหุ่นได้เหมือนกัน       บางทีตัวหุ่นยักษ์ที่เราคิดว่าเป็นหุ่นทศกัณฐ์ แต่สวมเสื้อสีม่วงแดงผิดไปจากสีเสื้อทศกัณฐ์ในโขนและภาพผนังโบสถ์วัดพระแก้ว  อาจเป็นตัวหุ่นท้าวรณจักรก็ได้    เพราะท้าวรณจักรถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นยักษ์ลักษณะแบบเดียวกับทศกัณฐ์
ส่วนตัวพระนางอื่นๆ ที่มีมากมายหลายตัว   อาจจะเล่นทั้งรามเกียรติ์ และเล่นทั้งหุ่นเรื่องพระสมุทเป็นบางครั้งบางคราว   หรือจริงๆแล้วเล่นเรื่องพระสมุท
ข้อนี้เป็นแต่เพียงความคิดแวบขึ้นมาเมื่ออ่านบทละครพระสมุท เท่านั้น   ยังไม่มีคำตอบค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 14:41

พระบวรราชนิพนธ์อีก ๒ เรื่อง ที่กรมศิลปากรรวบรวมไว้ เป็นบทหุ่นจีนเรื่องซวยงัก กับเรื่องตลกชื่อหลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง    เรื่องหลังเคยเล่าแล้ว    ก็ขอไม่เล่ารายละเอียดอีก
บททั้ง ๒ เรื่อง เป็นบทสั้นๆ   เรื่องซวยงักตัดตอนมาเฉพาะตอนกิมงิดตุดแม่ทัพใหญ่ของฮ่องเต้  ทำศึกตีเมืองลูอันจิว   ตีได้สำเร็จ เจ้าเมืองชื่อเล็กเต็งและภรรยาเอากระบี่เชือดคอตาย

การแปลเกร็ดพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย ทำกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑   คือเรื่องสามก๊กกับไซ่ฮั่น    ทั้งสองเรื่องนี้แปลกันเป็นโปรเจคใหญ่ระดับชาติ   เพราะไม่ได้แปลไว้อ่านเฉยๆ  แต่แปลเพื่อ" ประโยชน์ของราชการบ้านเมือง"  คือแปลเป็นตำราพิชัยสงครามกันเลยทีเดียว     ต้องตั้งกรรมการทั้งฝ่ายจีนและไทยช่วยกันแปล      ประธานก็เป็นบุคคลสำคัญ  คือสามก๊กมีเจ้าพระยาพระคลัง(หน)   และไซ๋ฮั่นมีกรมพระราชวังหลัง เป็นผู้อำนวยการแปล
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๕   เรื่องจีนลดความสำคัญทางราชการลงไปจนไม่เหลือ    เพราะตำราพิชัยสงครามแบบยกกองทัพม้า และทัพเดินเท้ารบกันไม่มีอีกแล้ว    ศึกสงครามระหว่างอาณาจักรเพื่อนบ้านไม่มีอีก   มีแต่การจ้องฮุบสยามโดยเจ้าอาณานิคม   แต่เกร็ดพงศาวดารจีนก็ไม่ได้หายไปจากวงวรรณคดี   ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นเรื่องบันเทิงยอดนิยมของขุนนาง  
แฟนพันธฺุ์แท้ของเรื่องจีนคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์      ท่านให้ซินแสจีนแปลเอาไว้อ่านเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินหลายเรื่อง   หนึ่งในจำนวนนั้นคือซวยงัก       จีนโตกับจีนแสบั้นอั๋นแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 15 เม.ย. 11, 19:16

ตอนอ่านเรื่องซวยงัก   สงสัยว่าสำเนียงจีนในเรื่องเป็นจีนอะไร  ตั้งแต่ชื่อเรื่องคือซวยงัก  กิมงิดตุด เมืองลูอันจิว  เล็กเต็ง  ฟังแปลกหู เดาว่าเป็นฮกเกี้ยน     ถ้าคุณม้าแวะเข้ามาช่วยไขข้อข้องใจหน่อยนะคะ

บทหุ่นจีน เป็นคำเจรจาทั้งหมด   ไม่มีโคลงฉันท์กาพย์กลอนเลยสักตอนเดียว   แสดงว่ามีคนพากย์บทเจรจาเป็นหลัก    ไม่มีเพลงขับอย่างละครนอก     แต่มีศัพท์อย่างหนึ่ง เรียกว่า " ร้องซอ" ประกอบ   คิดว่าหมายถึงการออกเสียงร้องแบบจีน ประกอบดนตรีจีนคลอเป็นแบคกราวน์

กิมงิดตุด  ( ออกเจรจาบอกชื่อร้องซอสองสามคำ  เจรจาเรียกคับมิชี   คับมิชีรับฮ้อ   ออกมาคำนับนั่งเก้าอี้ เจรจาร้องซอสองสามคำ )

ในบทบอกว่า นั่งเก้าอี้    หมายความว่ามีพร็อพในละครด้วย  หรือว่าทำท่านั่งเฉยๆ ก็ไม่ทราบ  เพราะไม่เคยเห็นการเล่นหุ่นจีน  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 20
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 19 คำสั่ง