เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 12144 ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


 เมื่อ 14 ก.พ. 11, 14:00

ผมเคยอ่านหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส เมื่อหลายปีก่อน  
พอมาทำงานต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีอะไรทำ เลยหยิบหนังสือจากที่บ้านมาอ่านหลายเล่ม
เมื่อคืนนำหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส มาอ่านอีกครั้ง
ยังรู้สึกเหมือนเดิม กล่าวคือ ค่อนข้าง "เชื่อ" และ "เห็นด้วย" กับบทวิเคราะห์ของท่านพุทธทาส
ในบท -พุทธประวัติ -ประเทศสักกะ และ -ความเป็นอยู่ของพวกศากยะ

อย่างไรก็ตาม ผมตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า ผม "เชื่อ" และ "เห็นด้วย" ง่ายเกินไปรึเปล่า
เพราะผมเองก็ไม่มีความรู้และศึกษาในประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง

อาทิ
-พระเจ้าอุกกากราช (โอกกากราช) ที่เป็นบรรพบุรุษของพวกศากยะ น่าจะครองเมืองสาเกต (อโยธยา) แห่งแคว้นโกศล  
-ศากยะ มาจากคำยกย่องของพระเจ้าอุกกากราช ที่เหล่าโอรสธิดา อาอาจสามารถ ตั้งเมืองได้เองและสมรสกันเองเพื่อรักษาความบริสุทธิ์  ไม่ได้มาจากชื่อป่าไม้สากะ
-แคว้นสักกะ เป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกศล - อันนี้มีหลักฐานแน่ชัด เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล่ว น่าเชื่อถือ -
-พวกศากยะ ไม่ได้ปกครองด้วยราชาธิปไตย แต่เป็นสภา (ศากยบริษัท) ประชุมกันที่ สันถาคาร  ถึงจะมีประมุข ก็เป็นเพียงประธานในที่ประชุม ไม่มีอำนาจชี้ขาด (เช่นเดียวกับแคว้นวัชชี และพวกมัลละ)
-พวกศากยะ นิยมมีชายา (ศากยะด้วยกัน) องค์เดียว ยกเว้นเป็นบางกรณี เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ ทางนิกายฝ่ายเหนือบางตำราว่ากันว่าไปปราบพวกชาวภูเขา ที่ประชุมในสันถาคาร จึงให้บำเหน็จเป็นพระนางปชาบดีอีกองค์
                                                     ฯลฯ

โดยเฉพาะประเด็นที่ท่านพุทธทาส วิเคราะห์ว่า เทวทหะ เป็นนิคมของพวกศากยะ (ตามที่ปรากฏในพระบาลี (พระไตรปิฎก))
กล่าวอย่างคร่าว ๆ คือ หลังจากที่พระเจ้าอุกกากราช ให้โอรส ๔ ธิดา ๕ ออกไปจากเมือง และท่านเหล่านั้นไปตั้งเมืองกบิลพัสดุ  
และทำการสมรสกันเอง เพื่อไม่ให้พระชาติระคนกับผู้มีชาติต่ำกว่า แต่พระพี่นางองค์โต ยกไว้  
ต่อมา พระพี่นางเป็นโรคเรื้อน จึงถูกนำไปไว้ในป่าไม้กระเบา วันหนึ่งพบเสือโคร่ง ตกใจร้องขึ้น จึงได้พบกับพระเจ้าราม พระเจ้ากรุงพาราณสี ที่เป็นโรคเรื้อน แต่หายเพราะกินพืชในป่า (ไม้กระเบา ว่ารักษาโรคเรื้อนได้)
และได้ทำการสมรสกัน เกิดเป็นโกลิยวงศ์ (โกละ=ไม้กระเบา) ตั้งเมืองรามคาม-หมู่บ้านของพระเจ้าราม (หรือ โกลนคร-เมืองไม้กระเบา หรือ พยัคฆบถ-ทางเสือโคร่ง)
เมื่อมีพระโอรส ก็ให้กลับไปหาพวกศากยะ  ได้สมรสกับธิดาเจ้าศากยะ  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพวกศากยะ  รวมถึงตั้งนิคมขึ้นในแดนของพวกศากยะ  คือ เทวทหนิคม
โดยพวกศากยะแห่งเทวทหะ ก็ได้สมรสกันเองกับพวกศากยะมาโดยตลอด
ส่วนที่รามคาม ยังถือเป็น พวกโกลิยะ

ท่านพุทธทาส ได้ศึกษา ค้นคว้า อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา คัมภีร์ทั้งของนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้  การค้นคว้าของชาวตะวันตก

ประเด็นที่น่าจะวิเคราะห์ได้ คือ
- ความน่าเชื่อถือของเอกสารหลักฐาน
- บทวิเคราะห์ของท่านพุทธทาส

ไม่ทราบว่ามีท่านได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ และมีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 15:05

ถ้าเกี่ยวกับศาสนาละก็  ขอฟังอย่างเดียวค่ะ

ถ้าคุณ Bhanumet จะเล่าเรื่องพุทธประวัติในหนังสือเล่มนี้ต่อ ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 15:44

ถ้าเกี่ยวกับศาสนาละก็  ขอฟังอย่างเดียวค่ะ

ถ้าคุณ Bhanumet จะเล่าเรื่องพุทธประวัติในหนังสือเล่มนี้ต่อ ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง

ขออนุญาตเสนอแบบคร่าว ๆ แล้วกันนะครับ อาจารย์  เพราะมีคอมใช้เฉพาะที่ทำงาน ... เลยไม่สะดวกพิมพ์ยาว ๆ ... แหะ ๆ   ยิงฟันยิ้ม

ข้อมูลจากหนังสือครับ

"... พุทธประวัติ เล่มนี้ไม่เคยพิมพ์เป็นเล่มมาก่อน เป็นความเรียงที่ตีพิมพ์เพื่อเก็บรักษาต้นฉบับไว้ใน น.ส.พ.พุทธสาสนา อันเป็นวารสารเผยแพร่ธรรมของคณะธรรมทานไชยา เป็นเรื่องที่อ่านเข้าใจง่าย ให้ความรู้ในแง่ประวัติศาสน์พุทธศาสนาและเรื่องราวการค้นพบหลักฐานต่างๆทางพุทธศาสนาเป็นพุทธประวัติที่แตกต่างจาก พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นงานแปลจากภาษาบาลีที่ให้อรรถรสทางภาษาศาสตร์และธรรมะ ทั้งยังแตกต่างจากเรื่อง พุทธประวัติสำหรับนักศึกษา (เดิมชื่อพุทธประวัติสำหรับยุวชน) ที่ท่านแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษของภิกษุศีลาจาระที่ให้อรรถรสแบบนิยายปะปนอยู่ แตกต่างจากเรื่อง เกียรติคุณพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพุทธประวัติในเชิงพรรณาโวหาร และเรื่อง พุทธประวัติจากหินสลักยุคก่อนมีพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเรื่องทางโบราณคดีล้วนๆที่ท่านได้ทำไว้พุทธประวัติเล่มนี้เป็นการเสนอความรู้อีกแนวหนึ่งต่างจากพุทธประวัติ ๔ เรื่องที่กล่าวมาแล้ว นับเป็นที่น่าเสียดายที่ท่านทำได้ไม่จบสมบูรณ์ แต่กระนั้นก็ตาม พุทธประวัติเล่มนี้ก็ควรจะพิมพ์ให้เป็นเล่มสำหรับผู้ใคร่ต่อการศึกษาค้นคว้าได้เรียนรู้ต่อไป ..."



:: สารบัญ ::

ศาสนา วัฒมธรรมและปรัชญาของอินเดียโบราณ
ศาสนา
วัฒนธรรม
ปรัชญา
เจ้าลัทธิ

พุทธประวัติ
ประเทศสักกะ
ความเป็นอยู่ของพวกศากยะ


พระพุทธคุณที่จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์
ก.การปฏิวัติที่เกิดขึ้นแก่ประวัติศาสตร์
ข.การปฏิวัติที่เกิดขึ้แก่ทางสมาคม
ค.การปฏิวัติทางศาสนา
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 16:41

ในหนังสือ เฉพาะตอนที่ว่าด้วย พุทธประวัติ ประเทศสักกะ และ ความเป็นอยู่ของพวกศากยะ

ได้กล่าวถึงประเด็นที่ผมกล่าวไว้ตอนตั้งกระทู้

โดยท่านพุทธทาสแสดงความเห็นว่า

พระเจ้าโอกกากราช เป็นกษัตริย์สุริยวงศ์  ซึ่งทางนิกายฝ่ายเหนือ (อุตตรนิกาย-มหายาน วัชรยาน เป็นต้น) เทียบกับ พระเจ้าอิกษวากุ ในตำนานของพราหมณ์
ได้ครองราชย์ในแคว้นโกศล โดยน่าจะมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองสาเกต (อโยธยา) - พระราม (รามจันทร์) ผู้เป็นรฆุวงศ์ ก็นับเป็นกษัตริย์สุริยวงศ์ ครองราชย์ในอโยธยา แคว้นโกศล -
ทรงมีโอรส ๔ องค์ ธิดา ๕ องค์ กับพระอัครมเหสี  
เมื่อพระอัครมเหสีสิ้น ได้ตั้งองค์ใหม่ และประสูติโอรส ๑ องค์
พระเจ้าโอกกากราช ได้ให้พรให้ขออะไรก็ได้ พระอัครมเหสีองค์ใหม่ ขอราชสมบัติให้แก่ลูกของตน
ตอนแรก พระเจ้าโอกกากราชไม่ยอม แต่ด้วยกษัดริย์ตรัสแล้วมิคืนคำ
จึงเรียกโอรสที่เกิดจากอัครมเหสีเดิม ให้ออกไปจากเมืองพร้อมด้วย อำมาตย์ และเหล่าเสนา

กองทัพเดินทางไปทางหิมพานต์ และตั้งเมืองขึ้น โดยกบิลฤๅษีเป็นผู้แนะนำสถานที่อันเป็นอาศรมของตน
จึงตั้งชื่อเมืองว่ากบิลพัสดุ เป็นที่ระลึกถึงพระฤๅษี

จากนั้น ก็เป็นไปตามที่ผมแสดงไว้เมื่อตั้งกระทู้ครับ
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 16:54

เรื่องเหล่านี้  พอจะหาข้อมูลในเน็ตอ่านกันได้

จะขอยกข้อคิดเห็นของท่านพุทธทาสเป็นประเด็นเลยทีเดียว

(ท่านพุทธทาส ได้เขียนเรื่องนี้เมื่อปี ๒๔๘๓  ผ่านไปกว่า ๗๐ แล้ว  อาจมีข้อมูลหรือหลักฐานที่ได้ค้นพบใหม่)

๑. ท่านใช้หลักฐานทางโบราณคดี และจากบันทึก รวมถึงคัมภีร์เก่า ๆ  ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า  เมืองของพระเจ้าโอกกากราช คือ เมืองสาเกต (อโยธยา) แห่งแคว้นโกศล
ในสมัยพุทธกาล แคว้นโกศล มีเมืองหลวงคือ สาวัตถี   แต่ท่านสันนิษฐานว่า วงศ์ของพระเจ้าปเสนทิ ไม่ใช่วงศ์ที่สืบทอดมาจาก พระเจ้าโอกกากราช จึงถูกศากยวงศ์ มองว่ามีชาติต่ำกว่า
(ผมมองว่า พระเจ้าปเสนทิ อาจสืบมาจากวงศ์พระเจ้าโอกกากราชก็ได้  แต่อาจไม่บริสุทธิ์ คือ เคยมีการแต่งงานกับผู้มีชาติต่ำกว่า)

๒. ด้วยเหตุที่ พวกศากยะ แยกออกไปจากแคว้นโกศลนี้เอง และคงมีกำลังน้อย จึงเป็นเพียงเมืองขึ้น (หรือเมืองลูกหลวง?) ของแคว้นโกศล มาถึงสมัยสมัยพุทธกาลก็ยังคงเป็นเมืองขึ้นของแคว้นโกศลอยู่
(มีหลักฐานชัดแจ้งอยู่หลายแห่ง)

๓. ท่านพุทธทาส ได้แสดงความเห็นว่า  ในหลักฐานเก่า ๆ มีพระไตรปิฎก และคัมภีร์ทั้งนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ เป็นอาทิ
ล้วนกล่าวตรงกันว่า ศากยะ มาจากคำเปล่งอุทาน ของพระเจ้าอุกกากราช (โอกกากราช)  มิได้มีกล่าวถึงไม้สากะเลยแม้แต่แห่งเดียว
ที่ว่ามาจากไม้สากะ ปรากฏในชั้นหลังเสียทั้งสิ้น  ท่านจึงสันนิษฐานว่า  อาจเกิดจากการตีความของผู้รจนาท่านใดท่านหนึ่ง และเกิดนิยมแพร่หลายกันขึ้น
(อาจตีความให้เข้ากับ โกลิยะ มาจาก ไม้โกละ (กระเบา) เลยให้ สักกะ (ศากยะ) มาจากไม้สากะ)
ทั้งนี้  ท่านพุทธทาส ยังต้องข้อสงสัยด้วยว่า ไม้สากะ คือ ไม้อะไร จะเป็นอย่างเดียวกับไม้สาละ หรือไม่
- ถ้าผมจำไม่ผิด - ไม้สากะ มีกล่าวถึงเฉพาะในอรรถกถาตอนที่ว่าด้วยการตั้งกรุงกบิลพัสดุ เท่านั้น

บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 17:04

๔. ทางนิกายฝ่ายเหนือ บางแห่งว่า ผู้ที่มีชาติสูง สามารถแต่งงานกับพวกศากยะได้  ยังมี  โกลิยะ และ ลิจฉวี

(ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ศากยะ โกลิยะ เจ้าในแคว้นวัชชี (ลิจฉวี วิเทหา ฯลฯ) และ มัลละ ล้วนเป็นแคว้นเล็ก ใกล้เชิงเขาหิมาลัย  
และถ้าเชื่อว่าศากยะ ปกครองแบบสามัคคีธรรม มีสภา ไม่ใช่ราชาธิปไตย ก็เท่ากับว่า ล้วนมีรูปแบบการปกครองเหมือนกัน
ปราชญ์บางท่าน เชื่อว่า พวกนี้เป็นเผ่ามงโกลด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นของท่านพุทธทาส จึงไม่ขอลงในรายละเอียด
แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยว่าเป็นมงโกล)

เรื่องการปกครอง ท่านพุทธทาส ว่าเป็น สภา มีสันถาคารใหญ่ในกบิลพัสดุ  ในนิคมเล็กก็มีอยู่บ้าง (มีปรากฏในพระไตรปิฎก)

โดยมีหัวหน้าตระกูล เป็นผู้ปกครองตระกูล
(ตระกูล ประกอบด้วยเจ้าศากยะหลายครอบครัว ที่เป็นสายเดียวกัน อยู่ในนิคมเดียวกัน และบ่าวไพร่
-ผมขอเสริมว่าเพราะเจ้าศากยะ มีนา ต้องดูแลนา เช่น เจ้ามหานาม สอนน้อง เจ้าอนุรุทธ เรื่องการทำนา เรื่องพ่อและอาของพระพุทธเจ้า มีนามลงท้ายว่า โอทนะ (ก้อนข้าว)-)
หัวหน้าจากหลายตระกูล ก็จะเป็นทำนองตัวแทนในสันถาคาร ในที่ประชุมศากยบริษัท
(ผมไม่แน่ใจว่าเฉพาะ หัวหน้าตระกูล หรือ เจ้าชายศากยะที่โตแล้ว  แต่ถ้าเอาหมด คงมีจำนวนมากเกินไป)

ท่านยังว่า สันถาคารของศากยะ คงเล็กกว่าพวกวัชชีมาก
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 17:21

๕. ในพระไตรปิฎก สุปฺปพุทฺธสกฺกวตฺถุ - เรื่อง เจ้าสุปปะพุทธะศากยะ  กล่าวคือ เรียกพระเจ้าสุปปพุทธะ "พ่อตา" ของเจ้าสิทธัตถะ ว่าเป็น ศากยะ ไม่ใช่ โกลิยะ 
อีกทั้ง เทวทหะ ที่เชื่อกันแพร่หลายว่า เป็น "กรุง" ของโกลิยะ  พระไตรปิฎก ว่า เป็นเพียง นิคม ของศากยะ เท่านั้น 
และมีคัมภีร์ในชั้นหลัง (รู้สึกว่าจะเป็น มหาวงศ์) ล้วนเรียกเจ้าในเทวทหะว่า ศากยะ เสีนทั้งสิ้น (ท่านพุทธทาสว่า อาจเป็นการพรรณนาเชิงยกย่อง หรือเพื่อให้ลงฉันทลักษณ์ก็ได้)
แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมด ท่านพุทธทาส ก็ได้สันนิษฐานว่า

โดยเฉพาะประเด็นที่ท่านพุทธทาส วิเคราะห์ว่า เทวทหะ เป็นนิคมของพวกศากยะ (ตามที่ปรากฏในพระบาลี (พระไตรปิฎก))
กล่าวอย่างคร่าว ๆ คือ หลังจากที่พระเจ้าอุกกากราช ให้โอรส ๔ ธิดา ๕ ออกไปจากเมือง และท่านเหล่านั้นไปตั้งเมืองกบิลพัสดุ 
และทำการสมรสกันเอง เพื่อไม่ให้พระชาติระคนกับผู้มีชาติต่ำกว่า แต่พระพี่นางองค์โต ยกไว้   
ต่อมา พระพี่นางเป็นโรคเรื้อน จึงถูกนำไปไว้ในป่าไม้กระเบา วันหนึ่งพบเสือโคร่ง ตกใจร้องขึ้น จึงได้พบกับพระเจ้าราม พระเจ้ากรุงพาราณสี ที่เป็นโรคเรื้อน แต่หายเพราะกินพืชในป่า (ไม้กระเบา ว่ารักษาโรคเรื้อนได้)
และได้ทำการสมรสกัน เกิดเป็นโกลิยวงศ์ (โกละ=ไม้กระเบา) ตั้งเมืองรามคาม-หมู่บ้านของพระเจ้าราม (หรือ โกลนคร-เมืองไม้กระเบา หรือ พยัคฆบถ-ทางเสือโคร่ง)
เมื่อมีพระโอรส ก็ให้กลับไปหาพวกศากยะ  ได้สมรสกับธิดาเจ้าศากยะ  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพวกศากยะ  รวมถึงตั้งนิคมขึ้นในแดนของพวกศากยะ  คือ เทวทหนิคม
โดยพวกศากยะแห่งเทวทหะ ก็ได้สมรสกันเองกับพวกศากยะมาโดยตลอด
ส่วนที่รามคาม ยังถือเป็น พวกโกลิยะ

และในพระไตรปิฎกนั้น  เมื่อกล่าวถึงโกลิยะ ก็เรียก โกลิยะ  แต่ถ้าเนื่องกับเทวทหะ ล้วนเป็นศากยะ เสมอ
อีกทั้ง เมื่อกษัตริย์ มาขอพระบรมสารีริกธาตุจากพวกเจ้ามัลละ หลังจากถวายพระเพลิง
มีเพียงศากยะ ที่อ้างความเป็นญาติ  ส่วนโกลิยะจากรามคาม อ้างความเป็นกษัตริย์ เหมือนเมืองอื่น ๆ

แสดงว่า เทวทหะ นับเนื่องในศากยะ  และ เทวทหะ กะ รามคาม เป็นคนละเมืองกัน (เพราะมีบางแห่งกล่าวว่าเป็นเมืองเดียวกัน)
รามคาม คือ โกลนคร หรือ พยัคฆบถ ดังที่กล่าวแล้ว  ในพระไตรปิฎก มีเรียก ชาวโกลิยะ ว่า พยัคฆปัชชะ

ส่วน เทวทหะ เป็นนิคมของศากยะ สืบเชื้อสายจากโอรสของ พระเจ้ารามแห่งโกลิยะ และพระพี่นางแห่งศากยะ
ซึ่งมาแต่งงานกับธิดาเจ้าศากยะ  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศากยะ และได้รับที่ให้สร้างนิคมขึ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 20:05

ดิฉันเคยอ่านปฐมสมโพธิกถา และพุทธประวัติในหนังสืออื่นๆ    ต่อมาอ่านเรื่องศาสนาและลัทธิต่างๆในสมัยพุทธกาล      ก็เลยอยากอ่านพุทธประวัติที่เป็นประวัติศาสตร์บ้าง
ก็ขอฟังคุณ bhanumet เล่าต่อ   ถ้าท่านใดจะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย   มิให้คุณ bhanumet เล่าคอแห้งอยู่คนเดียว ก็ขอเชิญค่ะ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 07:58

ดิฉันเคยอ่านปฐมสมโพธิกถา และพุทธประวัติในหนังสืออื่นๆ    ต่อมาอ่านเรื่องศาสนาและลัทธิต่างๆในสมัยพุทธกาล      ก็เลยอยากอ่านพุทธประวัติที่เป็นประวัติศาสตร์บ้าง
ก็ขอฟังคุณ bhanumet เล่าต่อ   ถ้าท่านใดจะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย   มิให้คุณ bhanumet เล่าคอแห้งอยู่คนเดียว ก็ขอเชิญค่ะ


ขอตามอ่านด้วยครับ ไม่เคยรู้จักและเห็นหนังสือเล่มนี้เลย
มีพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ก็ยังทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้อ่าน
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 10:45

ในเมื่อคุณลุงไก่ กล่าวขึ้นมา ผมก็ขอเสริมด้วย พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ของท่านพุทธทาส (เล่มนี้ยังอ่านไม่จบนะครับ แหะ ๆ และอยู่ที่บ้าน ไม่ได้นำมาต่างจังหวัดด้วย   รูดซิบปาก)

ซึ่งท่านพุทธทาส รวบรวมพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงพระองค์เอง เฉพาะจากพระบาลี คือพระไตรปิฎกเท่านั้น  

เท่าที่จำได้ ที่ผมสนใจมีประเด็น  คือเรื่อง การออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช)
(เนื่องจากหนังสือไม่อยู่ในมือ ขออนุญาตอ้างอิงจากลิงก์อื่น)

...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!  
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า

เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด
 
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖

นอกจากนี้
ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด
 
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.๑๓/๖๖๙/๗๓๘


ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช ซึ่งนักวิชาการพุทธศาสนาบางท่านอ้างว่าการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่ทรงเสด็จออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว โดยอ้างจากโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. ๑๓/๔๔๓/๔๘๙

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตามพุทธวจนะไม่ได้กล่าวว่าทรงผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดา เพียงแต่ตรัสว่าทรงผนวชขณะทั้งสองพระองค์กรรแสง ซึ่งอาจเป็นเพราะทรงหนีจากพระราชวังแล้วผนวชในตอนเช้า (สอดคล้องกับอรรถกถา) เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทราบในเช้านั้นจึงเสียพระทัย การผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะและการกรรแสงของพระราชบุพการีจึงเป็นเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่


http://th.wikipedia.org/wiki/พระโคตมพุทธเจ้า



๑. ไม่ปรากฏในพระบาลี ว่าพระองค์พึ่งเคยเห็นเทวทูต ๔ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ) เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งออกชมเมืองก่อนผนวช  มีแต่ตรัสถึงความรู้สึกนึกคิดของพระองค์ถึงเหตุผลในการออกบวช
ตามความคิดเห็นของผม เจ้าสิทธัตถะ คงเคยเห็น เทวทูต ๔ มาหลายครั้งแล้ว  แต่เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อ  ยังไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา  หรืออาจเพราะยังทรงตัดใจออกบวชมิได้  เพราะเคยอ่านรู้สึกจะพระไตรปิฎกทำนองว่า  ก่อนจะออกผนวช ก็ทรงทราบว่ากามคุณ ๕ ไม่ทำให้หลุดพ้น ทำให้เกิดทุกข์ แต่ยังทรงตัดใจออกบวชมิได้

๒. เรื่อง ออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระบิดา พระมารดา (พระมารดาเลี้ยง ซึ่งเป็นพระน้านางแท้ ๆ)  หรือหนีออกผนวช คงต้องให้ท่านผู้เชี่ยวชาญบาลี แปลจากพระบาลีโดยตรง เพื่อพิจารณาว่าจะตีความในลักษณะใดได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม  มิได้ทรงตรัสในเชิงปาฏิหาริย์  ดั่งในพุทธประวัติที่เราหาได้ทั่ว ๆ ไป
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 14:08

ขออนุญาตแวะข้างทางเล็กน้อยครับ

ด้วยการนำเสนอบทความประกอบ

เรื่องอายุของคัมภีร์ต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก

ไม่มีคัมภีร์พุทธศาสนาฉบับใดที่เชื่อได้ว่า  เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรในครั้งพุทธกาล  แต่ข้อความในคัมภีร์ที่ตกมาถึงเราก็ถือว่าเป็นพุทธวจนะ  ซึ่งบรรดาพระสาวกรุ่นแรกๆ หลายองค์ที่มีความสามารถนำเอาพุทธวจนะมาจำแนกหมวดหมู่  และประพันธ์เป็นคาถาเพื่อให้ง่ายในการทรงจำ

ในการสังคายนาพระไตรปิฎกแต่ละครั้งจะปรากฏว่า  พระพุทธศาสนาแตกแยกเป็นหลายนิกายเพิ่มขึ้น  การสังคายนาครั้งที่ ๔  ในศรีลังกา  จึงมีการบันทึกข้อธรรมะเป็นลายลักษณ์อักษร  เป็นภาษาบาลี  ซึ่งใช้ในพุทธศาสนาเถรวาทเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พระไตรปิฎกจำแนกออกเป็น  ๓  ปิฎก  คือ

-->>  พระวินัยปิฎก  ประกอบด้วย

ก. สุตตวิภังค์ (มหาวิภังค์, ภิกขุนีวิภังค์,) ถือเป็นรุ่นเก่าที่สุด
ข. ขันธกะ (มหาวรรค, จุลวรรค)
ค. ปริวาร  หรือปริวารปาฐะ  เชื่อกันว่ารวบรวมขึ้นในลังกา

ส่วนสำคัญที่สุดและเก่าที่สุด  คือ  พระปาติโมกข์  ในมหาวิภังค์  ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุสงฆ์

-->>  พระสุตตันตปิฎก  ประกอบด้วย

ก. ทีฆนิกาย
ข. มัชฌิมนิกาย
ค. สังยุตตนิกาย
ง. อังคุตตรนิกาย
จ. ขุททกนิกาย

พระสุตตันตปิฎกสี่นิกายแรก  ประกอบด้วยพระสูตรต่างๆ เป็นพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง  พระสาวกบ้าง 

ส่วนต้นของแต่ละพระสูตรมักจะเล่าถึงสาเหตุของการแสดงพระธรรมเทศนา  บางทีก็เป็นบทสนทนา  พระสูตรมักจะเป็นร้อยแก้ว  มีบางพระสูตรเท่านั้นที่เป็นร้อยกรอง  บางสูตรก็ปนร้อยกรองในระหว่างกลางด้วย

ทีฆนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรขนาดยาว  มักจะเป็นเรื่องโต้แย้งกับความคิดที่มีมาก่อนพุทธศาสนาจะอุบัติ  แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในระยะต้นของการประดิษฐานพระพุทธศาสนา  และเป็นพระสูตรที่เก่าแก่มาก (เว้นพระสูตรที่มีคำว่า  “มหา” นำหน้า  ซึ่งอยู่ในเล่มที่ ๒  คือ มหาวรรค  บางสูตรเข้าใจว่าเติมเข้ามา)

มัชฌิมนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรซึ่งมีความยาวปานกลาง  ถือเป็นพระสูตรที่เก่าแก่มากเช่นเดียวกับทีฆนิกาย  พระสูตรในมัชฌิมนิกายนี้มีทั้งพระธรรมเทศนาและบทสนทนาธรรม  เนื้อหาจะเกี่ยวกับหลักพุทธปรัชญาที่สำคัญ ๆ เช่นเรื่องอริยสัจ  เรื่องกรรม  นิพพาน  และยังมีการแก้ทิฏฐิที่มีมาก่อน  หรือที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาลด้วย

สังยุตตนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรที่เรียงตามหมวดบุคคลหรือข้อธรรม  มีเรื่องประกอบ  น่าจะได้รวบรวมขึ้นในสมัยที่พระพุทธและพระธรรมตั้งมั่นแล้ว

อังคุตตรนิกาย  ประกอบด้วยพระสูตรที่เรียงตามจำนวนข้อธรรม  แต่ละพระสูตรเขียนอย่างสั้นๆ เข้าใจว่าอยู่ในสมัยใกล้เคียงกับสังยุตตนิกาย  หรืออาจจะอยู่ในยุคหลังกว่าเล็กน้อย  คือในช่วงที่มีการเริ่มนับถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู  ลักษณะการรวบรวมอังคุตตรนิกายคล้ายคลึงกับวิธีการรวบรวมพระอภิธรรม 

ขุททกนิกาย  เป็นนิกายสุดท้าย  มีลักษณะที่ต่างออกไป  คือ  ประกอบด้วยคัมภีร์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาต่างกัน  ๑๕  คัมภีร์  ได้แก่  ขุททกปาฐะ, ธรรมบท, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต, วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา, ชาดก, นิทเทส, ปฏิสัมภิทามรรค, อปทาน, พุทธวงศ์  และจริยาปิฎก  คัมภีร์เหล่านี้รจนาขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน  กล่าวคือ  สุตตนิบาตและธรรมบทเก่าที่สุดในขุททกนิกาย  ในสุตตนิบาตถือว่าปารายนวรรค  และอัฏฐกวรรคเป็นพระสูตรที่เก่าแก่ที่สุด  อาจจะเขียนก่อนพระสูตรอื่นทั้งหมด(๑) 

ทั้งนี้พิจารณาจากภาษาที่ใช้  รองลงมาได้แก่  อิติวุตตกะ  อุทาน  นิทเทส  ขุททกปาฐะ  เถร-เถรีคาถา  ส่วน อปทาน  พุทธวงศ์  และจริยาปิฎก นั้น  เข้าใจว่าแต่งขึ้นหลังคัมภีร์อื่นๆ (๒) โดยทั่วไปเชื่อกันว่า  แต่งในช่วงระยะเวลาระหว่างการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒  และ ๓  ในสมัยพระเจ้าอโศก

-->>  พระอภิธรรมปิฎก  มีเนื้อหากล่าวถึงหลักธรรมคล้ายคลึงกับพระสุตตันตปิฎก  แต่อธิบายละเอียดกว่า  ไม่ได้ยกตัวอย่างประกอบธรรมะ  มีลักษณะเป็นตำรา  คือมีการอธิบายและจำแนกศัพท์คล้ายๆ พจนานุกรม  ประกอบด้วยคัมภีร์ ๗ คัมภีร์  คือ  ธรรมสังคณี  วิภังค์  ธาตุกถา  บุคคลบัญญัติ  กถาวัตถุ  ยมก  ปัฏฐานปกรณ์  หรือมหาปกรณ์  เชื่อกันว่าพระอภิธรรมเกิดขึ้นภายหลังพระสูตร  และพระวินัย  เพราะเมื่อมีการสังคายนาครั้งแรกมีกล่าวถึงพระวินัยและพระสูตร  แต่ไม่มีการกล่าวถึงพระอภิธรรม  ในบรรดาพระอภิธรรมทั้งหมด  ถือว่าบุคคลบัญญัติเก่าแก่ที่สุด

ส่วนคัมภีร์อื่นๆ นอกจากพระไตรปิฎกอาจแบ่งได้เป็น  ๓  สมัย  คือ

สมัยแรก  ตั้งแต่ภายหลังการรวบรวมพระไตรปิฎก  ถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑  ก่อนมีอรรถกถาบาลี  มีคัมภีร์ต่างๆ เช่น  เนตติปกรณ์  เปฏโกปเทส  มิลินทปัญหา  และอรรถกถาภาษาสิงหล

สมัยกลาง  ระหว่างพุทธศตวรรษที่  ๑๑  ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗  เป็นสมัยแห่งการรจนาภาษาบาลีในประเทศศรีลังกา  ซึ่งมีอนุราธปุระเป็นเมืองหลวง  คัมภีร์ที่รจนาในยุคนั้น  มีอรรถกถา  ซึ่งไขความในพระไตรปิฎกพอจะแสดงได้ตามตารางดังนี้(๓)

พระไตรปิฎก                            อรรถกถา                                          พระอรรถกถาจารย์
                                           วิสุทธิมรรค(๔)
ก.   พระวินัยปิฎก                     สมันตปาสาทิกา                                  พระพุทธโฆษะ
     พระปาติโมกข์                    กังขาวิตรณี                                        พระพุทธโฆษะ

ข.   พระสุตตันตปิฎก                                   
     ทีฆนิกาย                          สุมังคลวิลาสินี                                    พระพุทธโฆษะ
     มัชฌิมนิกาย                      ปปัญจสูทนี                                        พระพุทธโฆษะ
     สังยุตตนิกาย                     สารัตถปกาสิยี                                     พระพุทธโฆษะ
     อังคุตตรนิกาย                    มโนรถปูรณี                                       พระพุทธโฆษะ
     ขุททกนิกาย
๑.   ขุททกปาฐะ                       ปรมัตถโชติกา                                    พระพุทธโฆษะ
๒.   ธรรมบท                           ธัทมปทัฏฐกถา                                   พระพุทธโฆษะ(๕)
๓.   อุทาน                              ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๔.   อิติวุตตกะ                         ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๕.   สุตตนิบาต                        ปรมัตถโชติกา                                    พระพุทธโฆษะ
๖.   วิมานวัตถุ                          ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๗.   เปตวัตถุ                            ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๘.   เถรคาถา                           ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ
๙.   เถรีคาถา                           ปรมัตถทีปนี                                       พระธรรมปาละ
๑๐.ชาดก                                ชาตกัฏฐกถา                                      พระพุทธโฆษะ(๖)
๑๑.นิทเทส                              สัทธัมมปัชโชติกา                               พระอุปเสนะ
๑๒.ปฏิสัมภิทามรรค                   สัทธัทมปกาสินี                                  พระมหานามะ
๑๓.อปทาน                              วิสุทธชนวิลาสินี                                ไม่ทราบนามผู้รจนา
๑๔.พุทธวงศ์                            มธุรัตถวิลาสินี                                   พระพุทธทัตตะ
๑๕.จริยาปิฎก                           ปรมัตถทีปนี                                      พระธรรมปาละ

พระอภิธรรมปิฎก
    ธรรมสังคณี                          อัตถสาลินี                                       พระพุทธโฆษะ
    วิภังค์                                  สัมโมหวิโนทนี                                 พระพุทธโฆษะ
    กถาวัตถุ                              ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ปุคคลบัญญัติ                       ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ธาตุกถา                              ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ยมก                                   ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ
    ปัฏฐาน                               ปัญจัปปกรณัฏฐกถา                            พระพุทธโฆษะ

อรรถกถาของพระสูตร  ๔  นิกายแรกถือว่าเก่าที่สุด  คืออยู่ในพุทธศตวรรษที่  ๑๐-๑๑ (ในช่วงชีวิตของพระพุทธโฆษะ)

สมัยปลาย  พุทธศตวรรษที่ ๑๘  เป็นต้นมา  มีการรจนาฎีกาต่างๆ

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

(๑) ดูรายละเอียดเรื่องการเทียบอายุของสุตตนิบาตได้จาก Introduction ของ  V.Fausboll  ในชุด S.B.E. Volume X  Part II  ซึ่งสรุปได้ว่า Fausboll  มีความเห็นว่า  สุตตนิบาต  เก่ากว่าพระสูตรในนิกายต่างๆ ทั้งหมด
(๒) นักปราชญ์บางท่าน  เช่น เอ็ม วินเตอร์นิทซ์  และ วิลเฮลม์  ไกเกอร์  เชื่อว่าแต่งในลังกา
(๓) จากหนังสือ  E.W. Adikaram, Early Hisly of Buddhism in Ceylon (Columbo : M.D. Gunasena Co., Ltd., 1953), p. l.
(๔) ท่านจัดวิสุทธิมรรคอยู่ในบรรดาอรรถกถาด้วย  แต่ไม่ได้เป็นอรรถกถาของคัมภีร์ใดโดยเฉพาะ
(๕) – (๖) กล่าวกันต่อๆ มาว่า  คัมภีร์ทั้งสองเป็นของพระพุทธโฆษะ  แต่ดูจากสำนวนภาษานั้น  ไม่น่าเชื่อว่าเป็นของท่าน  เพราะต่างจากสำนวนในคัมภีร์อื่นของพระพุทธโฆษะ

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  คัดมาจาก

หัวข้อวิทยานิพนธ์    ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อนิสิต                  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
อาจารย์ที่ปรึกษา     ศาสตราจารย์  หม่อมหลวงจิรายุ  นพวงศ์
ภาควิชา                 ภาษาตะวันออก
ปีการศึกษา             ๒๕๒๓

****
http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-22/215849?page=1
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 15:15

แวะข้างทาง ภาค ๒  ยิงฟันยิ้ม

พระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต

พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทนำ
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามานาม แต่การศึกษาพระพุทธศาสนานิกายอื่นก็เหมือนจะผิวเผินไม่ลุ่มลึกพอควร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะทัศนะแบบเถรวาท ที่มองอะไรแบบเคร่งครัดและตามกรอบ หรือเพราะระบบการศึกษาของเรายังคับแคบก็อาจเป็นได้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต ท่านผู้อ่านอาจสับสนงงงวยว่ามีอยู่หรือ เพราะว่าเราทราบแต่ว่า พรไตรปิฎก ท่านเขียนด้วยภาษาบาลี ข้อเขียนนี้เป็นความพยายาม ที่จะปิดโลกทัศน์เรื่องนี้ให้กว้างขวางออกไป โดยนำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาสันสกฤตของ นิกายสรวาสติวาทมาศึกษาเปรียบเทียบกับฉบับภาษาบาลี เท่าที่สติปัญญาและเวลาของผู้เขียนจะพึงมี ด้วยความหวังว่า จะทำให้เราได้แง่คิดเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนและพระไตรปิฎกใหม่ ๆ น่าจะเกื้อกูลต่อวงการศึกษาพระพุทธศาสนาในบ้านเมืองเราอยู่บ้าง

ภาษาคัมภีร์
ความจริงภาษาที่บันทึกพระธรรมวินัยยุคแรก ๆ มิใช่มีแต่ภาษาบาลี แต่โดยทั่ว ๆ ไปเราทราบกันเพียงว่า นิกายเถรวาทหรือหินยาน ได้ใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาคัมภีร์ แล้วเชื่อมต่อไปว่าภาษานี้เก่าแก่เป็นภาษาของชาวมคธ เรียกว่า มคธภาสาบ้าง มาคธีภาสาบ้าง มูลภาษาบ้าง1 ตันติภาสาบ้าง เชื่อว่าพระพุทธเจ้า เป็นคนอินเดียเหนือ ตรัสรู้และเสด็จจาริกไปประกาศพระศาสนาในบริเวณแคว้นมคธ คือ รัฐพิหารปัจจุบัน และแคว้น อื่น ๆ ราวเจ็ดชนบท สรุปรวมก็อยู่ในอินเดียตอนเหนือคือรัฐพิหารและอุตตรประเทศในปัจจุบัน
ปัญหาว่า ภาษาบาลี คือภาษาอะไร? และเป็นภาษาของคนพื้นเมืองในแคว้นใดแน่ ก็ยังไม่มีคำตอบที่พอใจของทุกคนได้ เช่นบางท่านบอกว่า บาลีก็คือภาษาปรากฤต ชื่อไปศาจี ซึ่งผู้คนแถบเทือกเขาวินธัย พูดกัน บางท่านว่าคงพัฒนามาจากภาษาของชาวบ้านแคว้นอุชเชนี (หรือ อุชเชน) ในรัฐมัธยมประเท
บางท่านว่า ภาษาบาลีคือภาษาของชาวบ้านแคว้นกาลิงคะ (แคว้นโอริสสาและอานธระปัจจุบัน) เป็นสถานที่ ๆ คณะพระมหินทเถระ เมื่อจะเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในศรีลังกา หลังสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น หรือคณะชาวพุทธอื่น ๆ ได้พากันมาลงเรือกันที่นั่น แต่มีอีกมติหนึ่งแย้งว่า ภาษาบาลีคือ ภาษาเศารเสนี ตระกูลหนึ่งของภาษาปรากฤตเพราะมีเกณฑ์การออกเสียงและสกดคำเหมือนกัน เป็นต้น1
ถ้าสรุปแบบกำปั้นทุบดิน ภาษาบาลีก็คือภาษาบาลีหรือภาษามคธ แต่รูปแบบปัจจุบันกับภาษาดั้งเดิมน่าจะไม่เหมือนกันทั้งหมด คงต้องมีการพัฒนากันอยู่บ้างเมื่อนำมาบันทึกคำสอน หรือมาใช้เป็นภาษาคัมภีร์
มีหลักฐานยืนยันว่า นอกจากภาษาบาลีที่นิกายเถรวาทใช้เป็นเป็นภาษาคัมภีร์บันทึกการสอนแล้วนิกายสรวาสติวาท ซึ่งมีความความเก่าแก่ไล่เลี่ยกับเถรวาท ได้บันทึกคำสอนไว้ด้วยภาษาสันสกฤต นิกายสัมมีติยะ ใช้ภาษา อปพรหมศา ขณะที่นิกายมหาสังฆิกะใช้ภาษาปรากฤต
เมื่อพูดถึงภาษาสันสกฤต มีปัญหาอีกเหมือนกัน เช่น ทำไมพระพุทธศาสนานิกายนี้จึงใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกคำสอน ในเมื่อพระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระสงฆ์เรียนภาษาพระพุทธพจน์ด้วยภาษของตนไม่ยกกล่าวโดยฉันท์2 ดูเหมือนพระพุทธเจ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งประชาชนทุกชั้นวรรณะมีสิทธิเท่าเทียมกันให้การแสวงหาความรู้ ไม่เหมือนกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาคัมภีร์ ศึกษากันอยู่เฉพาะชั้นสูง ปิดกั้นมิให้คนในวรรณะต่ำ เช่น ศูทรและจัณฑาลได้ศึกษาเล่าเรียน
ข้อนี้อาจเนื่องด้วยความจำเป็นในการปรับตัวของพระพุทธศาสนา ให้โดดเด่นจนสามารถครองใจคนชั้นสูงของสังคมได้
ภาษาสันสกฤตที่พระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทใช้นี้ ก็เป็นภาษาสันสกฤตแบบพุทธ คือ สันสกฤตพันทาง (Hybrid Sanskrit) หรือสันสกฤตผสมกับภาษาบาลี (Mixed Sanskrit) มิใช่สันสกฤตมาตรฐาน (Classical Sanskrist) ถ้าเราศึกษาเปรียบเทียบดูดี ๆ กับภาษาบาลีก็คงพอจะเข้าใจได้

ดูเพิ่ม http://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาสันสกฤตผสม

ภาษาคัมภีร์
คำว่า "สรวาสติวาท" แปลว่า นิกาย (=วาท) ที่เชื่อว่าทุกสิ่ง (สฺรว) มีอยู่ (อสฺติ) จริง ตรงกับคำว่า "สพฺพตฺถีกวาท" ในคัมภีร์ กถาวตฺถุ พระอภิธัมมปิฎก ฝ่ายบาลี นิกายนี้มีทัศนะว่า "ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ มีอยู่จริงทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบัน เพราะอำนาจแห่งสันตติ คือ การสืบต่อกัน" แต่เถรวาทปฏิเสธทัศนะนี้.
คัมภีร์ทีปวังสะ ว่าสัพพัตถีกวาท (หรือสรวาสติวาท) แตกย่อยมาจากมหิสสาสกะ และมหิสสาเสกะ ก็สืบมาจากเถรวาท ซึ่งนับเป็นนิกายดั้งเดิมอีกทอดหนึ่ง
ส่วนปกรณ์สันสกฤต (คือเภทธรรมมติจักรศาสตร์) ของท่านอาจารย์วสุมิตร ให้ความสำคัญสรวาสติวาท เท่ากับเถรวาท ถือว่าเป็นนิกายเก่าแก่ ซึ่งถือกำเนิดในพุทธศตวรรษที่ ๓ 1
สรวาสติวาทนี้ เดิมทีน่าจะเจริญคู่เคียงกับเถรวาทในแคว้นมคธนั่นเอง เพราะได้อ้างพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นโยมอุปัฏฐากของตนด้วย แต่ต่อมาอาจจะเพลี่ยงพล้ำแก่เถรวาทจึงได้ไปยึดอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ คือ คันธาระ และมถุรา2 เป็นศูนย์กลาง โดยท่านมัธยานติกเถร ศิษย์ของพระอานนทเถร เป็นสังฆปาโมกษ์อยู่มถุรา ท่านอุปคุปตเถรองค์ที่ถวายวิสัชชนาปัญหาใจให้พระเจ้าอโศกจนหันมาสมาทานพระพุทธศาสนา ศิษย์ของท่านศาณวาสิกะ เป็นประมุขอยุ่ในเขตคันธาระ
ท่านมัธยานติกะ และท่านอุปคุปตะ ถูกอ้างว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายนี้ หรือเป็นประมุขสงฆ์นิกายนี้
แต่ท่านบูสตัน (Bu’ston) ผู้รจนาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียและทิเบตว่าผู้ก่อตั้งนิกายนี้คือ พระราหุลภัทร ผู้ออกผนวชจากขัตติยตระกูล

สรวาสติวาท - ไวภาษิกะ
ในคัมภีร์ว่าด้วยปรัชญาอินเดียนั้น เวลาพูดถึงนิกายพระพุทธศาสนา จะจำแนกออกเป็น ๔ นิกายคือ เสาตรานติกะ ไวภาษิกะ มาธยมิกะ (หรือสุญญวาท) และวิชญาณวาท (หรือโยคาจาร) ในจำนวนนี้ นิกายไวภาษิกะ ซึ่งถือคัมภีร์ภาษยะ (หรืออรรถกถา) พระอภิธรรมซึ่งเรียกว่า (มหา) วิภาษาศาสตร์ ท่านกล่าวว่า คอ นิกายเดียวกันกับ สรวาสติวาท
เป็นเรื่องยืนยันได้ว่า การจัดสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่หลักฐานฝ่ายบาลีทั้งมหาวังสะ และสมันตปาสาทิกา มิได้เอ่ยถึงเลยนั้น เป็นสังคายนาของสรวาสติวาท โดยการอุปถัมภ์ของพระภิกษุผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และพหิรวิทยาต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีจำนวน ๕๐๐ รูป ท่านบุสตันว่า เวลานั้น ตกปี พ.ศ. ๓๐๐ พระเจ้ากนิษกมหาราช อุปถัมภ์สังคายนาขึ้นในวัดกุวาน เมืองชลันธร มีพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป พระโพธิสัตว์ และศาสนบัณฑิตอีกจำนวนมาก ได้รับนิมนต์ / เชิญ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
ท่านสมณะจีนเฮี่ยนจัง เล่าว่า การสังคายนาครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อร่วมกันร้อยกรองคัมภีร์ แก้ – อธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า ภาษยะ ปรากฎว่าบรรลุเป้าหมาย คือที่ประชุมได้รจนา คัมภีร์ภาษยะไว้ดังนี้.
- คัมภีร์แต่งแก้ - อธิบาย พระสุตตันตปิฎก ชื่อ อุปเทสศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
- คัมถีร์แต่งแก้ - อธิบาย พระวินัยปิฎก ชื่อ วินยภาษาศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
- คัมภีร์แต่งแก้ – อธิบาย พระอภิธรรมปิฎก ชื่อ อภิธรรมวิภาษาศาสตร์ ยาว ๑ แสนโศลก
รวมคัมภีร์ภาษยะทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน ก็เป็นคาถาถึง ๓ แสนโศลก พระเจ้ากณิษกมหาราชโปรดให้จารึกลงบนแผ่นทองแดง แล้วบรรจุหีบศิลา และโปรดให้ก่อพระสถูปบรรจุหีบศิลาอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังโปรดฯ ให้จัดเวรยาม รักษาความปลอดภัยไว้ด้วย
ด้วยอิทธิพลของคัมภีร์ อภิธรรมวิภาษาศาสตร์ หรือคัมภีร์มหาวิภาษาศาสตร์นี้เอง นิกายสรวาสติวาทจึงได้นามใหม่ว่า “ไวภาษิกะ” ในกาลต่อมา

สรวาสติวาทเป็นมหายานหรือเถรวาท
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแบ่งนิกายเป็นเถรวาทและมหายานมานานแล้ว เพราะเราไปถือปทัฏฐานที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกตั้งให้ว่า มหายานมีลักษณะดังนี้คือ
๑. เจริญอยู่ทางอินเดียตอนเหนือ จึงเรียกว่า นิกายฝ่ายเหนือ (Northern School)
๒. ใช้ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาคัมภีร์
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจว่า สรวาสติวาท เป็นนิกายสังกัดฝ่ายมหายาน ความจริง สรวาสติวาทเป็นหีนยานหรือเถรวาท แม้จะใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก ก็มิได้ทำให้ความเป็นเถรวาทลดน้อยลงไป ทั้งนี้ เพราะลักษณะคำสอนของสรวาสติวาท มีความเป็นคำสอนยุคแรก (Early Buddhism) มากเหลือเกิน เทียบได้กับคำสอนที่เราพบในพระสูตรใน ๓-๔ นิกายแรกของพระสุตตันตปิฎกผ่ายบาลี ข้อนี้ศึกษาได้จากคัมภีร์อภิธรรมโกศะและคัมภีร์เศษเสี้ยว (Fragments) อื่นๆ อีกประการหนึ่ง เมื่อตรวจดูประวัติการพัฒนาของนิกายนี้จะเห็นว่า สังกัดอยู่ฝ่ายเถรวาทแน่ แม้นักปราชญ์ฝ่ายฮินดู ก็ยังบอกว่า นิกายเสาตรานติกะ และไวภาษิกะ เป็นหีนยาน ส่วนนิกายมาธยมิกะและวิชญาวาทเป็นมหายาน

แหล่งข้อมูล (Sources)
พระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นในอินเดีย และแพร่ขยายอย่างมากในช่วง ๕๐๐ ปีแรก โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้รับยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ (State Religion) พลเมืองอินเดียเกือบร้อยทั้งร้อย จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก ล้วนแต่เป็นชาวพุทธ ประชาชนอ่านออกเขียนได้กว่าร้อยละ ๖๐
อีก ๕๐๐ ปีต่อมา พระพุทธศาสนานิกายมหายานเกิด และเจริญรุ่งเรืองไม่น้อย จะเห็นจากสถาปัตยกรรม – จิตรกรรมวัดถ้ำอชันตะ เอโรลล่า และซากวัดในเขตนาครชุนโกณฑะ รัฐอานธรประเทศ พระอาจารย์สำคัญของฝ่ายมหายาน เช่นท่านอาจารย์นาคารชุน และท่านวสุพันธุ ก็มีชีวิตอยู่ในช่วงนี้
หลัง พ.ศ. ๑,๐๐๐ ปีต่อมา พุทธศาสนาได้ปฏิรูปตัวเองมากขึ้น เพราะอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้น มหาวิทยาลัยพุทธสำคัญ ๆ เช่นมหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา ฯลฯ ก็เกิดในช่วงเวลานี้ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนายุคนี้ ได้รับการศึกษาในแง่ของปรัชญามาก ส่วนการปฏิบัติล้วนเป็นเรื่องพิธีกรรม เข้าฝ่ายตันตระไปมาก
พระพุทธศาสนาได้ปิดฉากสุดท้ายลง ก็เมื่อมหาวิทยาลัยนาลันทา ถูกกองทัพมุสลิมบุกเข้าทำลาย เข่นฆ่าพระภิกษุไปเป็นจำนวนพัน ส่วนที่เหลือหนีเตลิดเข้าเนปาล ทิเบต จีน เป็นต้น มีบันทึกประวัติศาสตร์เล่าว่า หอสมุดของมหาวิทยาลัยนาลันทา ๓ แห่ง ซึ่งบรรจุคัมภีร์สำคัญ ๆ ของพระพุทธศาสนาและลัทธิอื่น ๆ ไว้มากมาย ต้องใช้เวลาเผาอยู่เป็นเดือน จึงไหม้หมด
เป็นอันว่า คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายสันสฤตในอินเดียได้สูญหาย และพินาศไปพร้อมกับความเสื่อมของพระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผา หลังจากนั้นอินเดียได้เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งหนึ่ง อย่างว่าแต่เรื่องคัมภีร์เลย ที่คนอินเดียไม่รู้จัก แม้แต่พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา คนอินเดีย (หลัง พ.ศ. ๑๗๐๐ มาจนถึงราว พ.ศ. ๒๔๐๐ ) ก็ยังสับสนเอามาก ๆ ด้วย
ท่านศาสตราจารย์ พี.วี. บาพัด ปราชญ์ผู้เป็นบรรณาธิการพิมพ์หนังสือ “๒๕๐๐ ปีของพุทธศาสนา” กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาสาบสูญไปจากอินเดียหมด มีอยู่ ๓ ประการคือ
๑. การศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์เหล่านี้ จำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ของพระภิกษุ – สามเณร ภายในวัดเท่านั้น
๒. คัมภีร์พระพุทธศาสนาเหล่านี้ จะถูกเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดของวัดหรือในกุฏิ ของพระภิกษุ – สามเณร ไม่ยอมแบ่งให้ชาวบ้านได้ช่วยเก็บรักษาไว้บ้าง
๓. เพราะวัดหรือสถาบันการศึกษาถูกทำลาย ด้วยเงื้อมมือของผู้คลั่งศาสนา หรือพวกป่าเถื่อน หรือทรุดโทรมไปเอง ตามกาลเวลา พระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา จึงพลอยถูกทำลายไปด้วย
โชคดีที่บาลีพระไตรปิฏก ข้ามไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่เกาะลังกา พม่า ไทย ฯลฯ เสียก่อน จึงรอดพ้นจากการถูกทำลาย ส่วนคัมภีร์สันสกฤต ก็พบในประเทศอื่น ๆ เช่น เนปาล เอเชียกลาง เมืองกิลกิต (Gilgit) ทิเบต จีน ฯลฯ นอกเหนือจากฉบับที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาจีนและทิเบต 
ในส่วนข้อมูลของพระไตรปิฎก ภาษาสันสกฤตของสรวาสติวาทนี้ ได้มีการค้นพบต้นฉบับคัมภีร์พระวินัย และพระสูตรหลายฉบับในที่หลายแห่ง เช่นมีการพบพระปราติโมกษสูตร เขียนด้วยอักษรราชวงศ์คุปตะ บนใบเบิช (Birch) ในเขตเอเชียกลาง , นาย วี.เอ. สมิธ (V.A. Smit) และนาย ดับบลิว.ฮวย (W.Hoey) ได้พบพระไตรปิฎก (บางส่วน) เขียนแผ่นอิฐ อายุระหว่าง ๒๕๐ - ๔๐๐ AD ที่เมืองโคปาลปุระ
นอกจากนี้ ท่านศาสตราจารย์ เอน. ดุทท์ ( N. Dutt) ได้ค้นพบคัมภีร์เศษเสี้ยว (Fragmrnts) ของพระวินัย ที่ในเขตเมืองกิลลิต (Gillit) ในเขตปากีสถาน (บางท่านว่าแคสเมียร์ก็มี)


http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_22.htm
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 16:14

โอ้โห คุณภาณุเมศวร์   
ตอนแรก เห็นบอกว่ามาปฏิบัติหน้าที่ภาระกิจที่ต่างจังหวัด คงจะยุ่งน่าดู
แต่ดูๆไป ก็ยังหาเวลามาเพิ่มเติมข้อมูลได้ตลอดเลยนะครับ


อันที่จริง ผมเองกะว่าจะลองดูประเด็นจากหัวกระทู้และความคิดเห็นแรกๆ และรวมไปถึงการถกพุทธประวัติ เทียบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์
เช่น ความสััมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาชนบท ทั้ง ๑๖ แคว้น ซึ่งส่งผลต่อแคว้นเล็กแคว้นน้อย
หรือ การที่พระพุทธองค์ใช้พระชนม์ชีพ หลังจากออกจากราชสำนักพระเจ้าสุทโธธนะ ในอาณาเขตของมหาชนบทเป็นหลัก ฯลฯ


แต่ทว่า เห็นทางคุณภาณุเมศวร์ แวะเสริมบาลี ไปแล้ว
ก็คงต้องถอยตัว หลบลงข้างทางไปก่อน


ปล. คุณภาณุเมศวร์ออกปฏิบัติราชการจังหวัดใหนหรือครับ หากมีโอกาสมาหัวเมืองตะวันออก ก็เชิญแวะมาพบปะกับผมบ้างก็ได้นะครับ
พบกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยเลย
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 16:23

ข้อสันนิษฐานส่วนตัว

คิดว่าเป็นอิทธิพลจาก
"มหากาพย์พุทธจริต" แต่งโดย มหากวี อัศวโฆษ เมื่อราว พุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ทำนองวรรณคดีเช่นเดียวกับมหากาพย์มหาภารตะ และมหากาพย์รามายณะ
http://en.wikipedia.org/wiki/Buddhacarita
และมหาวัสตุ ราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙
http://th.wikipedia.org/wiki/มหาวัสตุอวทาน
และคัมภีร์อื่น ๆ ทั้งนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ เช่น มหาวังสะ (มหาวงศ์) ทีปวังสะ (ทีปวงศ์) ของทางลังกา  เป็นอาทิ

ซึ่งก็มีเรื่องราวในทางปาฏิหาริย์อยู่มาก อันน่าจะเป็นต้นแบบของพุทธประวัติในปัจจุบัน
เพราะแม้แต่ อรรถกถาบาลี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายพระบาลี (ไตรปิฎก) ที่เรายึดถือเป็นหลักกันนั้น ก็ยังรจนาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 16:26

โอ้โห คุณภาณุเมศวร์   
ตอนแรก เห็นบอกว่ามาปฏิบัติหน้าที่ภาระกิจที่ต่างจังหวัด คงจะยุ่งน่าดู
แต่ดูๆไป ก็ยังหาเวลามาเพิ่มเติมข้อมูลได้ตลอดเลยนะครับ


อันที่จริง ผมเองกะว่าจะลองดูประเด็นจากหัวกระทู้และความคิดเห็นแรกๆ และรวมไปถึงการถกพุทธประวัติ เทียบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์
เช่น ความสััมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาชนบท ทั้ง ๑๖ แคว้น ซึ่งส่งผลต่อแคว้นเล็กแคว้นน้อย
หรือ การที่พระพุทธองค์ใช้พระชนม์ชีพ หลังจากออกจากราชสำนักพระเจ้าสุทโธธนะ ในอาณาเขตของมหาชนบทเป็นหลัก ฯลฯ


แต่ทว่า เห็นทางคุณภาณุเมศวร์ แวะเสริมบาลี ไปแล้ว
ก็คงต้องถอยตัว หลบลงข้างทางไปก่อน


ปล. คุณภาณุเมศวร์ออกปฏิบัติราชการจังหวัดใหนหรือครับ หากมีโอกาสมาหัวเมืองตะวันออก ก็เชิญแวะมาพบปะกับผมบ้างก็ได้นะครับ
พบกันเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยเลย


กำลังจะวกกลับเข้าเรื่องแล้วครับพี่

ส่วน ป.ล. ตอบไปทางข้อความส่วนตัวแล้วนะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 20 คำสั่ง