เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 12172 ว่าด้วยหนังสือพุทธประวัติ (ฉบับวิจารณ์) ของท่านพุทธทาส
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 16:39

ขอเริ่มจากที่พี่ไปตอบไว้ในพันทิปก่อนนะครับ

  ความคิดเห็นที่ 1   

ผมยังไม่เคยอ่านหนังสือ ที่คุณ จขกท แนะนำนะครับ

แต่จำได้คร่าวๆแล้วสืบค้นง่ายๆ จากในอินเทอร์เนทเพื่อยืนยัน จำความได้ว่า
เผ่าโกลิยะ มี ๒ สาย ครับ คือ สายรามะคาม กับสายเทวะทหะ

นอกเหนือไปจากนั้น ในเทวทหสูตร ได้กล่าวไว้ว่า สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมเทวทหะของศากยะทั้งหลายในสักกชนบท.
(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค หน้า ๕)

และมีข้อมูลนอกพระสูตรอีก
จำได้เลาๆว่า กษัตริย์ศากยะ ได้ขยายอาณาเขต ข้ามแม่น้ำโรหิณีไปทางตะวันออก
และได้ตั้งนิคมขึ้นที่ริมสระน้ำ ใกล้หมู่บ้านชื่อเทวะทหะ (ประมาณ ๓๘ กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของสวนลุมพินีวัน)
ต่อมาจึงได้เป็นนครใหญ่ขึ้นครับ

ส่วนในเรื่องพระเจ้าอุกกากราช นั้น มีอรรถกถาไว้แล้วใน พระไตรปิฎก เล่ม ๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑  ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้า ๘๕ -๘๖ ว่าด้วยศากยวงศ์ครับ
เรื่องคำอุทานนั้น น่าจะมาจากบาลีที่ว่า
"อถโข ราชา อุกฺกาโก อุทานํ อุทาเนสิ สกฺยา วต โภ กุมารา ปรมสกฺยา วต โภ กุมาราติ "
กระมังครับ

พอดีว่า ออกมาทำงาน ตจว เหมือนกัน ต้องกลับบ้านไปค้นหนังสือ เพื่อความมั่นใจอีกที
ก็เลยหาคำตอบจากในเนทนี้ก่อน
รอท่านผู้รู้ท่านอื่นมาเสริมบ้างดีกว่า

จากคุณ : Diwali   
เขียนเมื่อ : 15 ก.พ. 54 02:18:01   
ถูกใจ : เจ้าคุณแม่ทัพ



ก่อนจะเข้าประเด็น เทวทหะ และเรื่อง ๑๖ มหาชนบท

ขอทิ้งท้ายเรื่องนาม ศากยะ ไว้หน่อย

บางส่วนจากพระบาลีที่พี่ยกมา

สกฺยา วต โภ กุมารา  ปรมสกฺยา วต โภ กุมารา
กุมารผู้อาจหาญหนอ  กุมารผู้อาจหาญอย่างยิ่งหนอ

สกฺยา (สักยา) จึงกลายเป็นชื่อของพวก ศากยะ (สันสกฤต) - บาลีว่า สักยะ สากิยะ

ที่ว่ามาจาก ไม้สากะ ผมได้แสดง คคห. ของท่านพุทธทาสเอาไว้แล้ว คคห. ๔

นอกจากนั้น บางท่านว่า มาจาก สกสังวาส คือ แต่งงานกันเองในหมู่พี่น้อง
ท่านพุทธทาสก็ว่า ไม่มีในคัมภีร์ทั้งนิกายฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้
ท่านจึงลงมติว่า มาจากการเปล่งอุทานของพระเจ้าโอกกากราช
(อถโข ราชา อุกฺกาโก อุทานํ อุทาเนสิ)


 
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 17:42

มาขอเสริมสักหน่อย ก่อนไปถึงเรื่องอื่นๆ

ที่มาที่ไป ของการยกเอาคำอุทาน "อถโข ราชา อุกฺกาโก อุทานํ อุทาเนสิ สกฺยา วต โภ กุมารา ปรมสกฺยา วต โภ กุมาราติ " ขึ้นมานั้น

ผมขอขมวดเรื่องให้กระชับนะครับ

คือในสมัยพุทธกาลนั้น มีพราห์มผู้หนึ่งคือ "อัมพัฏฐมาณพ" ได้เดินทางพร้อมเหล่ามาณพคณะหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
แล้ว"อัมพัฏฐมาณพ" ไม่รักษามารยาท คือยืนบ้าง เดินบ้าง ในขณะที่สนทนากับพระพุทธองค์

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถาม "อัมพัฏฐมาณพ" ก็กล่าวดูถูกเหยียดหยาม "ศากยวงศ์" หลายครั้ง
โดยเหตุมาจากตอนที่ "อัมพัฏฐมาณพ" ไปทำธุระที่กรุงกบิลพัศดุ ได้รับการต้อนรับที่ไม่ดีจาก"ศากยะวงศ์"

พระพุทธองค์ จึงได้เล่าที่มาที่ไปของ "ศากยวงศ์" ว่าเป็นกษัตริย์ สืบเชื้อสายจาก พระเจ้าอุกกากราช ตามที่ได้สาธกไว้แล้ว

ในขณะที่ "อัมพัฏฐมาณพ"นั้นเป็น กัณหายนะ ผู้สืบเชื้อสายจากกัณหะ
กัณหะ เป็นบุตรของพระเจ้าอุกกากราช กับนางทาสี ชื่อ ทิสา
ซึ่งถือเป็นบุตรที่เกิดจากชนต่างวรรณะ

ดังนั้น เหล่า"ศากยะ" จึงดูถูก "กัณหายณะ" ว่าเป็นเพียงผู้สืบสายจากทาส

เนื้อความของ "เรื่องอัมพัฏฐมาณพ" ในตอน "ว่าด้วยศากยวงศ์" และตอน"ว่าด้วยวงศ์ของอัมพัฏฐมาณพ"
ก็สรุปได้ตามนี้ครับ
ตามอ่านได้ที่   http://84000.org/ พระไตรปิฏก เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้า ๘๑- ๙๒ ครับ

ที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ ที่ถูกใช้สนับสนุนว่า "ศากยะ" นั้น ค่อนข้างจะยึดติดในความสูงส่งของ "โคตร" ของตนอยู่



เหตุการณ์อื่นๆ ที่ปรากฎในพระคัมภีร์ ที่น่าสนใจอีก ก็คือ สงครามแย่งนำ้ ระหว่างศากยะ กับ โกลิยะ
และเหตุการณ์สุดท้ายของวงศ์ ก็คือ พระเจ้าวิฑูฑภะ ยกทัพไปล้างวงศ์ศากยะ


ผมว่า ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการถอดความเป็นพุทธออกก่อน เราก็จะสามารถจะแยกประเด็นมาถกกันได้อย่างกว้างขวางและอาจจะนำไปสู่แนวทัศนะใหม่ๆเพิ่มเติมได้นะครับ
ตัวกระผมเองไม่เคยบวชเรียน  ศีล ๕ ยังรักษาได้แค่ ๓  จึงไม่กล้าอาจเอื้อมขึ้นถกในแนวปรัชญา
แต่ถ้าเอากันเป็นวิเคราะห์เหตุการณ์ หรือประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์  ผมเองอาจจะพอขอร่วมส่งเสียงเล็กๆน้อยๆ ได้บ้าง

แต่ให้คุณภาณุเมศวร์ ฉายเป็นหลัก ไปก่อนแล้วกันนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 15 ก.พ. 11, 21:38

แต่ถ้าเอากันเป็นวิเคราะห์เหตุการณ์ หรือประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์  ผมเองอาจจะพอขอร่วมส่งเสียงเล็กๆน้อยๆ ได้บ้าง

แต่ให้คุณภาณุเมศวร์ ฉายเป็นหลัก ไปก่อนแล้วกันนะครับ

เข้ามาติดตามทุกระยะ
ขอต้อนรับคุณ Diwali เข้าร่วมวง    อยากอ่านข้อวิเคราะห์ค่ะ
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ก.พ. 11, 01:01

มาเพิ่มอีกนิด เกี่ยวกับเรื่อง เผ่าสักกะ กับ วงศ์ศากยะ ครับ

อ้างถึง
ปราชญ์บางท่าน เชื่อว่า พวกนี้เป็นเผ่ามงโกลด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นของท่านพุทธทาส จึงไม่ขอลงในรายละเอียด
แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยว่าเป็นมงโกล)


ประเด็นนี้ โดยส่วนตัวผม เห็นว่าน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนและเป็นการจับแพะชนแกะ ครับผม
ตามประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอนุทวีปนี้

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ มีการแผ่ขยายอิทธิพลของเผ่าพันธุ์หนึ่ง คือ Indo-Scythians สืบเชื้อสายจากเผ่าที่เขียนเป็นบาลีได้ว่า  "สักกะ"
เผ่าสักกะนี้ยังเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นอารยันโบราณเผ่าหนึ่ง
ในขณะที่ ปโตเลมี ได้ลงความเห็นว่า เผ่าสักกะเป็น เผ่า nomads ดั้งเดิม ที่หลบหนีการกวาดล้างโดยเผ่าซงหนู จากแถบมงโกเลีย-เอเชียกลางลงมา
จนในที่สุดก็สามารถดินแดน "สักกะสถาน" อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุได้

ในช่วงประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๔ เผ่าสักกะ จากราชอาณาจักรต่างๆ ก็สามารถต่อกร ทำสงครามกับเผ่าพันธุ์เจ้าถิ่นเดิมจากอาณาจักรอดีต"โสฬสมหาชนบท"ได้สูสี
หากช่วงใด อาณาจักรจากดินแดนภารตะทางตะวันออกเข้มแข็งกว่า เผ่าสักกะบางเมืองก็อาจยอมอ่อนน้อม
ในขณะเดียวกัน ทางตะวันตก ก็มีมหาอาณาจักรเปอร์เซีย ก็คอยคุกคามอยู่เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เผ่าพันธุ์"สักกะ"เหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่ได้หลายร้อยปีครับ

ในที่สุด เผ่าสักกะ ตั้งเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งได้ก็ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๙ นั้นก็คือ อาณาจักรคันธาระ โดยมีดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของอนุทวีปนี้ครับ



จากที่เกริ่นร่ายมาคร่าวๆ น่าจะพอเห็นแล้วนะครับว่าทำไมผมถึงกล้าใช้คำว่า "(บางท่าน)จับแพะชนแกะ"
ก็เพราะพระพุทธรูปยุคต้น ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะคันธาระ (โดยเผ่าสักกะ)
พุทธลักษณะ ย่อมถ่ายแบบจากมนุษย์ในเผ่าพันธุ์นั้นๆ
เลยผนวกเอาดื้อๆว่า เผ่าสักกะ ก็คือ เผ่าสักยะ(ศากยะ) จากแคว้นสักกะดั้งเดิม(กบิลพัสดุ์)
และโดยที่ เผ่าสักกะ นี้ อาจจะอพยพมาจากทะเลทรายจากมองโกเลีย  ดังนั้น พระพุทธเจ้า ก็น่าจะมีเชื้อสาย เผ่ามองโกเลีย
หุ หุ หุ ผมว่า ไปกันใหญ่ ครับ  เศร้า เศร้า


ท่านอาจารย์ มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ



บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 16 ก.พ. 11, 11:11

เรื่องเผ่าสกะไซเธียนส์ นั้น  บังเอิญชื่อมาพ้องกับ สักกะ (สักยะ-ศากยะ) ทำให้ไขว้เขวกัน  
ทั้งที่ความจริงแล้ว  พวกนี้เข้ามาหลังพุทธกาล ดังที่ คุณ Diwali กล่าวไว้

พวกไซเธียนส์ นั้น  บางท่านก็ว่าเป็นพวกอินเดีย-ยุโรป (Indo-European) หรือที่เรียกกันแบบง่าย ๆ ว่า ชนชาติอารยัน

นอกจากนี้ ฝ่ายที่ว่า ศากยะ เป็นมงโกลนั้น ยังมีเหตุผลว่า

๑. เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้า (และในอรรถกถาเมื่อกล่าวถึงพวกศากยะ) กล่าวว่า สุวัณณะวัณโณ (ผิวดั่งทอง)

ฝ่ายนี้เลยกล่าวว่า ผิวสีทอง ก็ต้องเป็นผิวเหลือง  แสดงว่าเป็น มองโกลอยด์


๒. การปกครองของพวกศากยะ โกลิยะ ลิจฉวี มัลละ ซึ่งมีดินแดนแถบที่ลาดเชิงเขาหิมาลัย ล้วนเป็นแบบสภา มีสันถาคารเป็นที่ประชุม
ถึงจะใช้คำว่า "ราชา" ก็เป็นเพียงประมุขของรัฐ เป็นประธานสภา ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาด  
หรือมิฉะนั้นก็เป็น ราชา กันทุกองค์ (เช่น พวกลิจฉวี ทำนองว่า หัวหน้าตระกูลก็เป็นราชาในนิคมของตน คล้าย ๆ สมาพันธรัฐ)

แตกต่างจากราชาธิปไตยของ ๑๖ มหาชนบท ซึ่งเป็นอารยัน


๓. พวกศากยะ โกลิยะ แต่งงานกันแต่ในพวกตัว เพราะหวงความเป็นมงโกล ไม่อยากผสมกับพวกอารยัน
ในนิกายฝ่ายเหนือว่า  พวกลิจฉวีก็มีสิทธิ์แต่งงานกับพวกศากยะได้
และพระพุทธเจ้า ทรงเลือกไปปรินิพพานในแดนเจ้ามัลละ น่าจะเป็นการสงเคราะห์ญาติ หรือชนเผ่าพวกเดียวกัน ให้ได้เป็นผู้จัดการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

ดังนั้น ทั้ง ๔ พวก จึงล้วนเป็นมงโกลเหมือนกัน


๔. พวกนี้มีธรรมเนียมหวงตนอย่างยิ่ง  ไม่ยอมร่วมกับวงศ์อื่น แม้เป็นกษัตริย์ด้วยกัน  หรือแม้แต่เป็นอธิราชผู้ยิ่งใหญ่ เพราะรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ ไม่ให้กลืนไปกับพวกอารยัน
อีกทั้งมีธรรมเนียมแตกต่างจากพวกอารยันหลายประการ เช่น  พระนางมายา เสด็จกลับพระนครเดิ เพื่อให้พระประสูติกาล  
ทั้งที่ อารยัน ถือว่า สตรีย่อมเป็นสมบัติตระกูลสามี  แต่พวกศากยะนั้น  ปรากฏว่าให้เกียรติแก่สตรีสูงผิดจากอารยันทั่วไป  
และพระอานนท์ ซึ่งเป็นพวกศากยะ ก็เป็นผู้ขวนขวายให้สตรีได้บวชเป็นภิกษุณี

ซึ่งหลังพุทธกาล พระอานนท์ถูกสงฆ์ตำหนิในกรณีนี้  แสดงว่า สงฆ์นั้นโดยมากเป็นอารยัน ที่ไม่ให้เกียรติแก่สตรีมากนัก



ฝ่ายนี้ยังเห็นด้วยว่า  พระเจ้าโอกกากราชนั้น ก็เป็นพวกมงโกล 
ก่อนที่เผ่าพันธุ์มงโกลจะเสียอำนาจให้ชาวอารยัน  และถูกเหยียดเป็น มิลักขะ เช่นเดียวกับพวก นาคา ทราวิฑ
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 16 ก.พ. 11, 11:53

ในประเด็นเหล่านี้ ผมเห็นว่า น้ำหนักยังอ่อนเกินไป  และคล้ายจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูล เพิ่อให้ได้ผลตามธงที่ต้องกาล
(เพราะคนไทยก็ถือว่าเป็นมองโกลอยด์)

๑. เรื่องผิวดั่งทอง  อาจมองว่าเป็นการยกย่องว่าผิวพรรณงดงาม ผุดผ่อง เปล่งปลั่ง
การถือว่าเป็นพวกผิวเหลืองเป็นการด่วนสรุปที่ลากเข้า คคห.ตนเอง

๒. พวกอินเดีย-ยุโรป (ขอเรียกว่าอารยัน) เป็นพวกเร่ร่อนในทุ่งหญ้ามาก่อน ปกครองแบบชนเผ่า
ซึ่งก่อนจะมีระบบวรรณะ ก็คงมีพวกหมอผี (พัฒนาเป็นพราหมณ์) นักรบ (พัฒนาเป็นกษัตริย์) ชาวบ้านทั่วไป (พัฒนาเป็นไวศยะ)
และในการปกครองแบบชนเผ่านั้น พวกชนชั้นนำ ก็น่าจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทำนองสภานั่นเอง
พวกศากยะ โกลิยะ ลิจฉวี และมัลละ เป็นเพียงแคว้นเล็ก ๆ การปกครองอาจจะยังพัฒนาไปไม่มาก  จึงคงรูปแบบเดิมอยู่

และด้วยการเป็นแคว้นเล็ก ๆ การศึกษาจึงยังไม่น่าพัฒนาไปไกลมาก  น่าจะได้ศึกษาเฉพาะวิชาที่จำเป็นต่อวรรณะ และศึกษาผ่านตระกูล
เจ้าสิทธัตถะ อาจได้เรียนพระเวท ภาษาศาสตร์ กาพย์ ดนตรี นาฏศิลป์ วิชาการทหาร การปกครอง และวิชาที่เป็นประโยชน์แก่การกสิกรรมและการชลประทาน (เช่น วิศวกรรม คำนวณ เรขาคณิต?)
ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของวรรณะกษัตริย์ และเจ้าศากยะที่ต้องดูแลนา
พวกศากยะ จึงไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงตักสิลาเหมือนเจ้าจากรัฐใหญ่ ๆ

๓. เรื่องการหวงเผ่าพันธุ์ เป็นธรรมดาของผู้มีชาติตระกูลสูง ยิ่งในสังคมพราหมณ์โบราณด้วยแล้ว  ยังไม่ควรด่วนสรุปว่า เป็น มงโกล

๔. เนื่องจากเป็นแคว้นเล็ก ๆ ธรรมเนียมอาจยังติดธรรมเนียมสมัยชนเผ่ามา  อีกทั้งการแต่งงานในพวกพ้อง  ทำให้เป็นเหมือนสังคมปิด ไม่ได้รับธรรมเนียมจากที่อื่นมากนัก (อันนี้เดา)

ในสังคมชนเผ่า  ที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ขนาดใหญ่  มักจะให้เกียรติแก่สตรีอยู่มาก
เช่น พวกมงโกล  แมนจู  ให้เกียรติสตรี มากกว่าชาวฮั่น
ในอุษาคเนย์ ก่อนรับวัฒนธรรมอินเดีย  ก็เป็นสังคมแม่เป็นใหญ่  ในชนเผ่าให้เกียรติสตรีอาวุโสเป็นผู้นำ ผู้สื่อกับวิญญาณ
(อินเดียนแดง ก็เห็นในหนังว่า เป็นแบบนี้หลายเผ่า  ยิงฟันยิ้ม)
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 16 ก.พ. 11, 19:28

ลักษณะหนึ่งของอารยัน คือนับถือเทพเจ้าและรูปบูชา    ส่วนพุทธศาสนาไม่มีธรรมเนียมประเพณีในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าหลังปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายก็ยังไม่เคยประชุมกันเพื่อสร้างพระพุทธรูปไว้แทนพระองค์    พระพุทธรูปคันธาระมาเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกนาน  ไม่เกี่ยวกับหลักการใดๆทางพุทธที่นับถือกันมาก่อน

ส่วนเรื่องภิกษุณี   ในสมัยพุทธกาลไม่มีลัทธิในอินเดียยอมให้ผู้หญิงได้เป็นนักบวช     พุทธศาสนาอนุญาตให้ได้ก็ต้องถือว่าขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศไปได้มาก    แต่ถามว่าเสมอภาคกันไหม ก็ไม่เสมอภาคอยู่ดี    เพราะภิกษุณีต้องถือศีลถึง ๓๑๑ ข้อ ขณะที่ภิกษุถือ ๒๒๗ เท่านั้น 
นอกจากนี้ยังต้องรับครุกรรม ๘ ประการคือ
     ๑. ภิกษุณีที่อุปสมบทมาตั้งร้อยพรรษาก็พึงทำการกราบไหว้แสดงความเคารพ  แก่ภิกษุที่อุปสมบทใหม่แม้ในวันนั้น
     ๒. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุ
     ๓. ภิกษุณีจะต้องพึงหวังธรรม ๒ ประการจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือการถามวันอุโบสถและการเข้าไปฟังโอวาท
     ๔. ภิกษุณีออกพรรษาและพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายคือ ในภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์
     ๕. ภิกษุณีเมื่อต้องครุธรรมคือต้องอาบัติหนักก็พึงประพฤติมานัด (ระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติหนัก) ๑๕ วัน ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณี)
     ๖. สตรีที่ศึกษาอยู่ในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี (กล่าวคือรักษา ศีล ๑๐ ของสามเณร ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ โดยไม่ขาดตลอดเวลา ๒ ปี) อันเรียกว่า นางสิกขมานา เมื่อได้ศึกษาแล้วดั้งนี้จึงอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายได้
     ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุโดยปริยายใด ๆ
     ๘. ภิกษุทั้งหลายสั่งสอนห้ามปรามภิกษุณีทั้งหลายได้ แต่ว่าภิกษุณีทั้งหลายจะสั่งสอนห้ามปรามภิกษุทั้งหลายไม่ได้
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 17 ก.พ. 11, 14:32

ขอออกนอกทาง ด้วยการเสริมลิงก์เรื่องอารยัน เผื่อท่านที่สนใจ

เป็นการพูดคุยกันในพันทิปครับ

มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่พวกเปอร์เซียจะเป็นพวก "อสูร" ในคัมภีร์พระเวท

การกระจายตัวของชนชาติอารยัน{แตกประเด็นจาก K8515200}

การกระจายตัวของชนชาติอารยันอินเดียสู่ลุ่มแม่น้ำสินธุ และความขัดแย้งกับอารยันอิหร่าน{แตกประเด็นจาก K8663299}

[Aryan migration] สู่ดินแดนเปอร์เซีย และความสัมพันธ์ักับฮารัปปา, โมเฮนโจ-ดาโร{แตกประเด็นจาก K8760781}


และเรื่องเกี่ยวกับภาษาบาลีครับ

ขอถามเรื่องชาวอารยัน-ภาษามคธ ทีขอรับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 17 ก.พ. 11, 18:44

ขอแยกซอยออกไปอีกหน่อย    เจอบทความนี้ เลยนำมาฝากกันค่ะ

"เรามีหลักฐานอะไรที่ทำให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง"
โดย
พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  วัดบวรนิเวศวิหาร

ปุจฉา ... ทำไมจึงทราบประวัติพระพุทธเจ้าได้ ทั้งที่ปรากฏว่า พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้ว และเรามีหลักฐานอะไรที่ทำให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง พระพุทธเจ้าในอนาคตจะมีอีกไหม ? ถ้าจะมี เมื่อไร ?

วิสัชชนา ... ปัญหาที่ถามมีหลายตอน ขอแยกตอบเป็นตอน ๆ ดังนี้

ประเด็น แรกที่ว่า ทำไมจึงทราบประวัติพระพุทธเจ้าได้ ทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่า พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้วนั้น เราจะเห็นได้ว่าเรื่องอดีตเป็นอันมาก ไม่จำเพาะแต่ประวัติของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่เราได้ทราบและยอมรับกันอยู่ว่า เป็นเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นจริง สิ่งที่ช่วยให้เราได้ทราบ ส่วนมากแล้วก็คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะพระประวัติของพระพุทธเจ้านั้น เราได้ทราบมาหลายทางด้วยกัน เช่น

ก. จากตำรับตำราต่าง ๆ ที่พระโบราณาจารย์ได้รจนาไว้ ซึ่งได้รับการสั่งสอนศึกษาสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคือ พระไตรปิฎก อันรวบรวมพระพุทธวจนะ คือ คำสั่งและคำสอนแล้ว ยังได้แสดงประวัติของพระองค์ไว้ในพระสูตรต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญก็คือว่า เรื่องราวเหล่านั้นตรงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นประเทศพระพุทธศาสนาแล้ว จะลงรอยเป็นอันเดียวกัน เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะพิสูจน์ได้ และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ส่วนข้อปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น อาจจะมีแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่หาใช่เป็นประเด็นสำคัญไม่

ข. หลักฐานจากสังเวชนียสถานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่น สถานที่ประสูติ แสดงปฐมเทศนา ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะดูได้ในประเทศอินเดีย และเนปาล ในปัจจุบันนี้ โบราณสถานเหล่านี้ นักโบราณคดีจะบอกให้เราทราบได้อย่างดีว่า เป็นมาอย่างไร และเกิดขึ้นในครั้งไหน นอกจากนั้น หลักฐานในทางอื่น ๆ เช่น ทางพุทธศิลป์ เจดียสถาน ตลอดถึงวัดวาอารามต่าง ๆ อาจจะช่วยให้เราได้ทราบประวัติของพระพุทธเจ้า ได้ทั้งนั้น

ประเด็น ที่สอง ที่ถามว่า เรามีหลักฐานอะไรที่ทำให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง เมื่อพูดถึงหลักฐานแล้ว เราก็มีมากเหลือเกิน ที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น คือ นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ดังได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่จะช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดี ประการต่อไปก็คือ

๑. ความมีอยู่ของพระธรรม อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ข้อนี้อาจจะมีคนแย้งว่า พระธรรม นั้นใครจะแต่งเอาก็ได้ เราจะไปรู้ได้อย่างไร ข้อนี้แหละที่น่าสนใจ คือ คนที่แต่งหรือคำสอนเช่นนี้แหละ ก็เราเรียกว่า พระพุทธเจ้า ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ หรือเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โดยเราพิจารณาได้จากคำสอนเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนธรรมดาคงไม่สามารถสอนได้ เช่น หลักอริยสัจ ๔ ประการ หลักอนัตตา หลักพระนิพพาน เป็นต้น ซึ่งเป็นคำสอนที่ละเอียดประณีต และที่เป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัด ในคำสอนของพระองค์ ก็คือว่า ไม่มีแต่เพียงหลักการอันสวยหรูเพียงอย่างเดียว แต่มีวิธีการและขั้นตอนแห่งการปฏิบัติไปถึงขั้นนั้น จะเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเหมือนคนที่เคยเดินทางนั้นฟังว่า ในหนทางแต่ละตอนมีอะไรอยู่บ้าง คนควรจะทำตนอย่างไร เมื่อเดินถึงทางตอนหนึ่ง ๆ และเขาจะได้รับประโยชน์อะไร ขณะที่เดินไปถึงหนทางตอนนั้น ๆ ด้วย

๒. ลักษณะคำสอนที่อัศจรรย์ คือ คำสอนที่พระองค์ทรงสอนไปแล้ว จะไม่มีใครคัดค้านได้ ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ และกาลไหนก็ตาม เช่น พระองค์ทรงสอนว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นทุกข์ เป็นต้น คนเราที่ต้องทุกข์กันนั้น ก็เพราะตัณหา คือ ความทะยานอยากตัวเดียว ถ้าไม่มีตัณหาเสียได้แล้ว ก็ไม่ต้องทุกข์กัน คำสอนเหล่านี้นานเหลือเกินแล้ว แต่ก็ยังเป็นความจริงที่ใครไม่อาจคัดค้านได้ หรืออย่างที่ทรงสอนว่าคนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น ก็เป็นความจริงที่ใครไม่อาจจะคัดค้านได้ เช่นเดียวกัน แม้คำสอนข้ออื่น ๆ ก็อยู่ในทำนองนี้ทั้งหมด ตรงกันข้าม คำสอนของนักปราชญ์ หรือทฤษฎีของนักวิชาการทั้งหลายในอดีต พอเวลาล่วงเลยมาไม่นานนัก ไม่สามารถทนต่อการพิสูจน์ได้ ต้องล้มไปเป็นจำนวนมากต่อมากแล้ว แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นอัศจรรย์นัก เพราะ ใครไม่อาจคัดค้านได้

ความ อัศจรรย์ประการต่อไป คือ ความบริบูรณ์และกระชับแห่งถ้อยคำ เช่น ทรงสอนว่า สติจะต้องใช้ในการทำงานทั้งปวง คนฟังจะรู้สึกเห็นจริง ๆ และเป็นเช่นนั้นจริงเสียด้วย หรืออย่างที่พระองค์ตรัสว่า มารย่อมไม่พบเห็นทางของผู้มีศีลบริบูรณ์ ไม่ประมาทเป็นปกติ และหลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า แต่ละตอนเป็นคำพูดที่รัดกุม เพราะ ถ้ามีศีลเฉย ๆ ความหมายและผลที่เกิดขึ้น ก็จะบกพร่องไป คนผู้ปฏิบัติอาจจะไม่พ้นจากอำนาจของความชั่วได้ เป็นต้น

ความ อัศจรรย์ประการต่อไป คือ คำสอนอันใดก็ตาม ที่พระองค์บอกว่าดี และให้ผลเป็นความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ ก็จะให้ผลจริงเช่นนั้น หรือว่าสิ่งใดที่พระองค์ทรงแสดงว่าไม่ดี ให้โทษแก่ผู้กระทำ สิ่งนั้นก็จะให้โทษจริงเสียด้วย คนที่สอนได้อย่างอัศจรรย์เช่นนี้ หาใช่วิสัยของคนธรรมดาไม่ ท่านผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้นามว่า พระพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัย

๓. ความมีอยู่ของพระสงฆ์ ก็เป็นหลักฐานอันหนึ่งที่จะยืนยันได้ว่า มีบุคคลผู้หนึ่งในอดีตกาล ได้ตรัสรู้พระธรรมอันสูงสุด และได้สั่งสอนธรรมอันนั้นแก่โลก จนมีพระสงฆ์สาวกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะพระสงฆ์จะมีไม่ได้เลย ถ้าขาดพระพุทธเจ้าเสียแล้ว เนื่องจากว่า รัตนะทั้งสามนี้ มีความเกี่ยวข้องกัน อย่างที่ไม่อาจจะแยกกันได้ เพราะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม พระธรรมเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ พระสงฆ์เล่า ก็เป็นกลุ่มชนที่รับนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีการศึกษาปฏิบัติสืบต่อกันมา จนถึงปัจจุบันดังได้กล่าวมาแล้ว นี้ก็เป็นหลักฐานอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เชื่อว่า เคยมีท่านผู้หนึ่งได้นามว่า พระพุทธเจ้า เกิดขึ้นในโลก และได้ปรินิพพานไปแล้ว ยังเหลือแต่พระธรรมและพระวินัย เป็นตัวแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกที่ได้นับถือ ปฏิบัติสืบต่อกันมา นี้เป็นหลักฐานซึ่งกล่าวมาโดยย่อ พอเป็นแนวพิจารณา

ประเด็นปัญหาในตอนต่อไป ที่ถามว่า พระพุทธเจ้าในอนาคตจะมีอีกไหม ? ถ้ามีจะมีเมื่อไร ?

เมื่อ ว่ากันตามหลักฐานทางบาลี หรือตำรับตำราที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ท่านก็ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ในภัทรกัปนี้ จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น และสั่งสอนสัตว์โลกถึง ๕ พระองค์ด้วยกัน และได้เกิดมาแล้ว ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป และพระโคดม ในอนาคตจะมีอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย หรือที่เราพูดกันโดยทั่วไปว่า พระศรีอาริย์ จนถึงกับคนเป็นจำนวนมาก หลังจากได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการให้ทานเป็นต้น ก็จะอธิษฐานขอให้ได้เกิดพบศาสนาของพระศรีอาริย์ เพราะท่านเล่าไว้ว่า ในยุคนั้น จะมีอะไร ๆ หลายอย่างดีกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีคนต้องการไปเกิดกันมาก คงจะคิดว่า น่าสนุกดี แต่การจะพูดเพียงตำราเท่านั้น บางท่านก็อาจจะติงว่า ตำรานั้น ใครแต่งเอาก็ได้ จะจริงเท็จอย่างไร ใครพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องไกลเหลือเกิน จึงน่าจะพิจารณากันในแง่ของเหตุผล และประเด็นของความน่าจะเป็นไปได้ หรือว่าจะเป็นไปไม่ได้อย่างไรด้วย

เมื่อ ว่ากันตามหลักแล้ว ตำแหน่งหรือฐานะความเป็นทั้งหลายในโลก เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเศรษฐี เป็นนักปราชญ์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นตำแหน่งผูกขาดทั้งนั้น ใคร ๆ ก็อาจจะเป็นได้ ถ้าเขามีอุปกรณ์ในการที่จะช่วยให้ได้ตำแหน่งเหล่านั้น เพียงพอ เช่น ถ้าต้องการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ไม่มีใครหวงตำแหน่งนั้นไว้ ถ้าใครมีความขยันหมั่น และความตั้งใจจริง เขาก็อาจจะเป็นได้เหมือนกันหมด แต่ถึงอย่างนั้น เราก็พบความจริงข้อหนึ่งว่า คนอยากจะเป็นนั้นมีมากจริง แต่คนที่ได้เป็นมีน้อยเหลือเกิน ทั้งนี้เป็นเพราะว่า "การได้เป็นนั้น ไม่ง่ายเหมือนกับอยากจะเป็น" เพราะ ผู้ที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นต้นได้ จะต้องประกอบด้วยองค์คุณสมบัติหลายประการ มีความขยัน เป็นต้น

ตำแหน่ง พระพุทธเจ้า ก็ทำนองเดียวกัน โดยความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่มีใครผูกขาดไว้สำหรับตนเลย ถ้าหากจะมีการผูกขาด ก็ผูกขาดไว้สำหรับคนที่ได้บำเพ็ญบารมีมาบริบูรณ์ ก็อะไรเรียกว่า บารมีเล่า บารมีนั้นได้แก่ การเก็บ การสั่งสมความดีนานาประการ มี "ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และ อุเบกขา" ขั้นธรรมดาสามัญ จนถึงขั้นที่จะยอมเสียได้ทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ และจะต้องทำมาเป็นเวลาหลายแสนชาติ โดยไม่บกพร่อง เขาผู้นั้นก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าสมตามปรารถนา จากความจริงข้อนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงลักษณะอันเด่นชัด ของพระพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาที่ถือหลักธรรมาธิปไตย ความเป็นทุกอย่างในพระพุทธศาสนา เปิดโอกาสเพื่อคนทุกคน ที่มีความตั้งใจ อาศัยศรัทธา เป็นต้น เป็นเครื่องมือในการก้าวไปสู่จุดหมายปลายทาง ที่ทุกคนประสงค์  จึงอาจยืนยันได้ว่า พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ยกย่อง และเทิดทูนผู้ที่ช่วยตนเอง มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิต หรืออุดมคติในทางพระพุทธศาสนา ถ้าทำได้แล้ว เขาจะเป็นใคร มาจากไหนก็ตาม ย่อมได้รับผลเสมอกันหมด ไม่มีข้อยกเว้น
การเป็นพระพุทธเจ้าในศาสนา เนื่องมาจากการบำเพ็ญบารมีดังกล่าวแล้ว ให้สมบูรณ์ ซึ่งท่านแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นบารมีธรรมดา ชั้นอุปบารมี และชั้นปรมัตถบารมี เมื่อทำได้ เขาก็จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ แม้พระพุทธเจ้าเอง เมื่อก่อนก็เป็นคนธรรมดาสามัญ แต่ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยบารมีธรรมดังกล่าวมาแล้ว ที่พระองค์ได้บำเพ็ญมาในชาติก่อน และในปัจจุบันชาติ ก่อนการตรัสรู้ ดังนั้น เมื่อว่ากันตามหลักทั้ง ๒ ประการดังกล่าวมา พระพุทธเจ้าในอนาคต จึงมีได้แน่นอน

ปัญหาตอนสุดท้ายที่ถามว่า พระพุทธเจ้าในอนาคต จะมีเมื่อไรนั้น

ว่ากันตามตำนานที่มีปรากฏในตำราทางพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านแสดงว่า เมื่อพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ ได้เสื่อมหายไปยุคหนึ่ง ในอนาคตอันไม่ใกล้นัก โลกก็จะว่างจากพระพุทธศาสนา ไประยะหนึ่ง ซึ่งก็คงจะเป็นเวลาอีกนานอยู่เหมือนกัน และพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็จะมาบังเกิดและตรัสรู้ แล้วสั่งสอนธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงกระทำมาแล้ว ทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะตรัสรู้ ย่อมจะตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ ประการ เหมือนกันหมด ดังนั้น กาลที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติก็ต้องเป็นกาลที่ชาวโลกไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจอยู่เลย แม้จะเป็นเพียงการรู้ตามธรรมดา ด้วยการศึกษาเพียงอย่างเดียวก็ตาม

ถ้าไม่ถึงขั้นนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดมา เพราะถ้าสอนตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ในขณะที่ชาวโลกทั้งมวลยังทราบหลักอริยสัจ เราก็ไม่เรียกว่าเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากแต่เรียกว่า สัตพุทธ หรือ อนุพุทธ ซึ่งแปลว่า ท่านผู้รู้เพราะฟัง และผู้ตรัสรู้ตาม เท่านั้น ถ้าจะถามว่า ตรัสรู้ตามใคร ก็ตอบได้ว่า ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เพราะหลักอริยสัจอันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มาก่อน และสั่งสอนไว้ คนมาตรัสรู้ทีหลัง ในขณะที่คำสอนของพระองค์ยังปรากฏอยู่ จึงเป็นได้เพียงอนุพุทธ ดังกล่าวมาแล้ว

ขอแทรกข้อคิดเห็นสักเล็กน้อย มีคนเป็นคนเป็นจำนวนมาก ที่ปรารถนาพบศาสนาของพระศรีอาร์ย เชื่อกันว่า จะมาตรัสรู้ในอนาคต เห็นได้ว่า เป็นเรื่องแปลกมาก เพราะ พระศรีอาร์ย หรือ พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม ทรงเป็นเพียงผู้สอนเท่านั้น พระองค์ไม่อาจจะช่วยใครให้เป็นพระอรหันต์ได้ โดยที่ผู้นั้นไม่ได้ใช้ความเพียรพยายามเลย และคำสอนของท่านเล่า ก็หาได้ต่างไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าของเราไม่ ผู้ที่ปรารถนาพบพระศรีอาร์ย จึงเป็นเสมือนคนป่วยหนักที่พบหมอแล้ว แต่ไม่ต้องการจะรักษา กลับปรารถนาพบหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งยังไม่แน่ว่า จะมาเมื่อไร และตนจะได้พบกับหมอนั้นหรือเปล่า

บุคคลผู้ปรารถนาศาสนาพระศรีอาร์ย ทั้ง ๆ ที่ศาสนานั้น ก็ไม่แตกต่างอะไรกับศาสนาในปัจจุบัน เพราะเป็นพระพุทธศาสนเหมือนกัน จึงชื่อว่า เป็นผู้ประมาทโดยแท้ และเขาย่อมได้ชื่อว่า ปล่อยเวลาแห่งชีวิต ให้ล่วงเลยไป โดยไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนาเท่าที่ควร ดังนั้น หน้าที่ของศาสนิกที่ดี คือ การพยายามทำตามศาสโนวาท เท่าที่เวลาแลโอกาสจะอำนวยให้ โดยการไม่พยายามใฝ่ฝันที่จะได้รับผลในอนาคต เพียงอย่างเดียว แต่กลับมาให้ความสนใจในปัจจุบัน โดยการดำรงตนอยู่ ด้วยความไม่ประมาทตามพระพุทธโอวาท เมื่อทำได้เช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่า ทำหน้าที่ของตนให้บริบูรณ์ และไม่ต้องเสียใจในกาลภายหลัง 
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 18 ก.พ. 11, 22:51

ขอบพระคุณ อ. เทาชมพู มากครับ

เป็นบทความที่ดีมาก ๆ กล่าวได้ชอบ ได้ถูกต้องนัก
 อายจัง

ตอนพญามิลินท์ (เมนานเดอร์) ตั้งปุจฉา แก่พระนาคเสน ว่า พระพุทธเจ้า มีจริงหรือไม่ ไม่เคยเห็นจะรู้ได้อย่างไร
พระนาคเสน ถามกลับว่า ปฐมกษัตริย์ต้นวงศ์ของพระองค์มีจริงหรือไม่
พญามิลินท์ ตอบว่า มี
พระนาคเสน ถามว่า ทรงเกิดไม่ทันรู้ได้อย่างไร
พญามิลินท์ ตอบว่า เพราะทรงมีพระบิดา พระบิดาก็มีพระบิดา สืบขึ้นไปเช่นนี้ จึงทราบได้ว่ามีจริง
พระนาคเสน วิสัชนาว่า เช่นเดียวกัน ภิกษุมีอุปัชฌาย์ แล้วก็มีอุปัชฌาย์ของอุปัชฌาย์ ย้อนขึ้นไปดังนี้ จนถึงพระพุทธเจ้า
จึงทราบได้ว่ามีตัวตนจริง ด้วยการอนุมาน

ถ้าจำมาผิด ต้องขออภัยนะครับ
 รูดซิบปาก



บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 18 ก.พ. 11, 23:21

๑. ไม่ปรากฏในพระบาลี ว่าพระองค์พึ่งเคยเห็นเทวทูต ๔ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ) เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งออกชมเมืองก่อนผนวช  มีแต่ตรัสถึงความรู้สึกนึกคิดของพระองค์ถึงเหตุผลในการออกบวช
ตามความคิดเห็นของผม เจ้าสิทธัตถะ คงเคยเห็น เทวทูต ๔ มาหลายครั้งแล้ว  แต่เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อ  ยังไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา  หรืออาจเพราะยังทรงตัดใจออกบวชมิได้  เพราะเคยอ่านรู้สึกจะพระไตรปิฎกทำนองว่า  ก่อนจะออกผนวช ก็ทรงทราบว่ากามคุณ ๕ ไม่ทำให้หลุดพ้น ทำให้เกิดทุกข์ แต่ยังทรงตัดใจออกบวชมิได้

๒. เรื่อง ออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระบิดา พระมารดา (พระมารดาเลี้ยง ซึ่งเป็นพระน้านางแท้ ๆ)  หรือหนีออกผนวช คงต้องให้ท่านผู้เชี่ยวชาญบาลี แปลจากพระบาลีโดยตรง เพื่อพิจารณาว่าจะตีความในลักษณะใดได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม  มิได้ทรงตรัสในเชิงปาฏิหาริย์  ดั่งในพุทธประวัติที่เราหาได้ทั่ว ๆ ไป

กลับมาบ้าน ได้หยิบพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ มาอ่าน
ไม่ปรากฏในพระบาลี ว่าพระองค์พึ่งเคยเห็นเทวทูต ๔ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ) เป็นครั้งแรก เมื่อครั้งออกชมเมืองก่อนผนวช 
แต่ใน พุทธวงศ์ ขุททกนิกาย กล่าวว่า
"เพราะได้เห็น นิมิตทั้งสี่ เราจึงออกด้วยม้าเป็นพาหนะ ..."

ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า เพิ่งเคยเห็น เทวทูต ๔ "เป็นครั้งแรก" เมื่อออกชมเมืองก่อนผนวช
และการที่ออกด้วย "ม้า" เป็นพาหนะ ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า ทรงผนวชต่อหน้าพระบิดามารดา หรือหนีออกผนวช 

อย่างไรก็ตาม  ขุททกนิกาย นั้น น่าจะรวบรวมในสมัยหลัง ดังที่กล่าวไว้ใน คคห. ๑๐


โดยใน นวมสูตร เทวทูตวรรค ปฐมปัณณาสก์ ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย
กล่าวถึงการได้รับการบำเรออย่างยิ่ง ทั้งสระบัวทั้ง ๓  ปราสาท ๓ ฤดู 
๔ เดือนฤดูฝน ไม่ลงจากปราสาท แวดล้อมด้วยสตรี ปราศจากบุรุษ
ของใช้ทุกอย่างมาจากกาสี (ถือว่าเป็นของดีเลิศ แคว้นกาสี มีเมืองหลวงคือ พาราณสี ในพุทธกาล เป็นเมิองขึ้นของแคว้นโกศล เช่นเดียวกับแคว้นสักกะ)
มีคนคอยกั้นเศวตฉัตร ทั้งกลางวันกลางคืน ถึงพร้อมด้วยการได้ตามใจตัว ได้รับความประคบประหงมถึงเพียงนี้
แต่ก็ได้พิจารณา จนหมดความมัวเมาในความหนุ่ม (พิจารณาชรา) ความไม่มีโรค (พิจารณาคนเจ็บ) ความเป็นอยู่ (พิจารณามรณะ)

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์นั้น  มีเรื่องทางอิทธิปาฏิหาริย์ น้อยกว่าพุทธประวัติที่เราพบเห็นกันทั่วไปมาก
หากเป็นความจริง มิได้แต่งเติมเข้าไป  ก็ยังพอเชื่อได้ ว่าเป็นธรรมดาของพระโพธสัตว์ เป็นธรรมดาของพระมหาบุรุษ พระพุทธเจ้า

ส่วนพุทธประวัติ ที่แพร่หลายนั้น บางเรื่องออกจะเกินไป เช่น ม้ากัณฐกะ ไปได้ทีเป็นหลายสิบโยชน์ กระโดดทีข้ามแม่น้ำ นายฉันนะแต่เกาะหางไป ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 ก.พ. 11, 15:15

มาดึงกระทู้ขึ้น   
     สาเหตุที่ดิฉันสนใจพุทธประวัติ ในแง่ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในแง่อิทธิปาฏิหาริย์ ก็เพราะว่าเคยอ่านประวัติของมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชนในอินเดียซึ่งอยู่ร่วมยุคกับพุทธศาสนา   สะดุดใจว่าทำไมประวัติถึงละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าของเรามาก  ก็เลยอยากรู้ว่าพุทธประวัติที่เคยเรียนมา  แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

 มหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนมีนามเดิมว่า  เจ้าชายวรรธมานะ  แปลว่า  ผู้เจริญ  ประสูติ ณ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ในภาคเหนือ ของอินเดีย  ในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช  เป็นโอรสของพระเจ้าสิทธารถและพระนางตฤศลา
                ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชที่นครเวสารีอย่างใหญ่โต มโหฬาร  พระเจ้ากรุงเวสาลีทรงบำเพ็ญทานโปรดให้แจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคแก่คนยากไร้อนาถา และให้ประกาศนิรโทษแก่นักโทษที่ถูกจองจำ  ยิ่งกว่านั้นบรรดา นักพรตและเหล่า พราหมจารย์ ต่างก็ได้พยากรณ์ ว่า เจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ โดยมีคติเป็น 2 คือ
                1. ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ
                2. ถ้าทรงออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก
                เจ้าชายเสกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธา  เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา ก็ได้ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวออกจากกรุงเวสาลีไป  พร้อมอธิษฐานจิตว่า  “ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี จะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว” เมื่อเวลาถือปฏิญาณครบ 12 ปี พระมหาวีระก็ทรงคิดและมั่นพระทัยว่าพระองค์ทรงพบคำตอบ ต่อปัญหาชีวิตครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จออกไปเพื่อเผยแพร่ความคิดคำสอนใหม่ของพระองค์ ทรงตั้งศาสนาใหม่เรียกว่า ศาสนาเชน ศาสนาของผู้ชนะตนเอง
                พระมหาวีระใช้เวลาในการสั่งสอนสาวก และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 ปี ทรงประชวรหนัก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้ายพระมหาวีระดับขันธ์ในเช้าวันต่อมา สรีระของพระมหาวีระได้กระทำการฌาปนกิจที่เมืองปาวา จึงเป็นสังเวชนียสถาน         
           
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 21 ก.พ. 11, 15:22

          หลักคำสอนที่สำคัญพื้นฐานของศาสนาเชน คือปัญจพรตหรือพรต ๕ ข้อ มี
           ๑. อหิงสา การไม่เบียดเบียนกันทั้งกายวาจาใจ
           ศาสนาเชนสอนว่าสิ่งที่มีชีวิตถูกทำลายไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ “ทุกชีวิตย่อมเกลียดชังความเจ็บปวด เพราะฉะนั้นอย่าทำร้ายหรือฆ่าใคร” ก็การไม่ฆ่าไม่ทำร้าย นอกจากจะไม่ทำร้ายด้วยตัวเองทางกาย วาจา หรือทางใจแล้ว จะใช้ให้คนอื่นทำตลอดถึงสนับสนุนหรือยินดีที่คนอื่นทำก็ไม่ได้
          เนื่องจากศาสนาเชนเคร่งครัดมากในเรื่องไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ ดังนั้นพระในนิกายทิคัมพรเมื่อเดินไปไหนจะต้องมีไม้กวาดคอยปัดกวาดทางจะได้ไม่เหยียบย่ำแมลง อีกทั้งมีผ้าปิดจมูกและปากเพื่อปกป้องกันแมลงเล็กๆ และจุลินทรีย์ต่างๆเข้าไปทางปากและลมหายใจอีกด้วย
           ๒. สัตตยะ พูดแต่ความจริง ไม่พูดเท็จ ตลอดทั้งไม่พูดคำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
           ๓. อัสเตยะ ไม่ลักขโมย ศาสนาเชนสอนว่า ทรัพย์สมบัติเป็นชีวิตภายนอกของคน การลักทรัพย์ผู้ใดก็เสือนว่าได้ทำลายของชีวิตผู้นั้น ศีลข้อนี้ยังรวมไปถึงการไม่หลบหนีภาษี ไม่ปลอมแปลงธนบัตร ไม่ชั่งตวงวัดโกงอีกด้วย
           ๔. พรหมจริยะ ประพฤติพรหมจรรย์ ศาสนาเชนให้ความสำคัญต่อศีลข้อนี้มาก ชีวิตที่ประเสริฐแท้ต้องเป็นชีวิตนักบวช เพราะเป็นชีวิตที่ประเสริฐดุจพรหม ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยกามรมณ์ ศีลข้อนี้ยังรวมไปถึงการละเว้นสิ่งที่ต้องห้าม เช่น ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่เสพยาเสพติดต่างๆอีกด้วย
           ๕. อปริครหะ ไม่ละโมบมาก อยากได้โน่นอยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดจนอยากได้สิ่งที่ไม่สมควรด้วย
           ศีล ๕ ข้อนี้เรียกว่ามหาพรต เป็นข้อปฏิบัติของพระ ส่วนคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติตามศีลทั้ง 5 นี้ด้วย เพียงแต่ปฏิบัติผ่อนลงมา เรียกว่าอนุพรต        อย่างเช่นศีลข้อ ๑ คฤหัสถ์ก็ละเว้นไม่เบียดเบียนทำร้ายเฉพาะชีวิตที่เคลื่อนที่ได้เท่านั้น ศีลข้อ ๒ ก็งดเฉพาะการพูดเท็จเท่านั้น ศีลข้อ ๔ ยังยินดีในคู่ครองของตนได้ และศีลข้อ ๕ ยังยินดีสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรมหรืออาชีพสุจริตได้

           พรตทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นพื้นฐานของคำสอนในศาสนาเชน ส่วนคำสอนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อขยายหรือสนับสนุนพรตทั้ง ๕

           ศาสนาเชนมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ศาสนิกกำจักกิเลสอาสวะทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด เพื่อบรรลุโมกษะ ภูมิที่พ้นจากสังสารวัฎการเวียนว่ายตายเกิด    ไม่กลับคืนมาเกิดใหม่อีก ในศาสนาพราหมณ์การหลุดพ้นของชีวาตมันจะกลับคืนไปรวมอยู่กับพรหม ในศาสนาเชนเมื่อวิญญาณหลุดพ้นจากอัตตาได้แล้ว วิญญาณจะไปอยู่ในส่วนหนึ่งของเอกภพที่เรียกว่า “สิทธิศิลา” ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุขนิรันดร ไม่ต้องกลับมาเกิดให้มีทุกข์อีก   
          แนวความคิดเช่นนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า เป็นแนวความคิดที่สืบเนื่องต่อจากแนวความคิดของพราหมณ์แล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า เป็นแนวความคิดที่มองเห็นวิญญาณและอัตตาเป็นคนละส่วนกันดังนั้น ความพยายามทำให้วิญญาณแยกออกไปจากอัตตาจึงมีวิธีการต่างๆ เช่น ทำให้วิญญาณมีความบริสุทธิ์โดยการบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยการปฏิบัตินิชรา และ โยคะ เป็นต้น
          
        ส่วนเรื่องเสมอภาคทางเพศ  ทีแรกดิฉันเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในสมัยพุทธกาลที่อนุญาตให้สตรีเป็นนักบวชได้   แต่มาอ่านเจอว่า ศาสนาเชนให้ความยกย่องและให้เกียรติสตรี   ถึงขั้นถือว่าสตรีมีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษทุกประการทั้งในเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรม ให้บรรลุธรรมที่สูงขึ้นได้ ด้านสังคมสตรีชาวเชนได้รับเกียรติจากสังคมและสามารถเข้าร่วมพิธีกรรมทาง ศาสนาได้อย่างเสนมอภาค แม้การบวชเป็นนักบวชสามารถกระทำได้ในนิกายเศวตัมพรเท่านั้นโดยเราเรียกท่าน ว่า สาดีพ
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 21 ก.พ. 11, 15:54

ขอบพระคุณครับ

ที่สงสัย คือ "สาดีพ" ไม่ทราบว่า มาจากคำว่าอะไร ?

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา  (เชื่อกันว่า) เรียก เชน ว่า นิครนถ์  และเรียก มหาวีระ ศาสดาของเชนว่า นิครนถ์นาฏบุตร



พูดถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยแล้ว  นักวิชาการบางท่าน เชื่อว่า พุทธศักราชของเถรวาทนั้น นับเร็วไป ๖๐ ปี กล่าวคือ

พุทธศักราช เริ่มนับเมื่อวันปรินิพพาน คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขปุณณมีปูชา)
ถ้านับปีเต็มแบบไทย ก็คือ พ.ศ. ๐ ถ้านับปีย่าง เช่น พม่า ลังกา กัมพูชา ก็เป็น พ.ศ. ๑
(บ้างก็ว่านับปีย่างกันมาโดยตลอด แต่ในสยามมานับพลาดเมื่อ ร.๔    ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะจารึกสุโขทัยก็นับปีย่าง ทั้งเวลาพระเทศน์ ท่านก็บอกศักราชเป็นปีย่าง)

ใน ศรีลังกา ยังเปลี่ยนพุทธศักราชในวันวิสาขบูชาอยู่
ส่วนสยาม ร.๖ ทรงใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศก จึงเริ่มเปลี่ยน พ.ศ.ในวันขึ้นปีใหม่ (๑ เมษายน ๒๔๕๖)
ในสมัย จอมพล ป. ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ในไทยจึงเลื่อนมาเปลี่ยนในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๔

--- นี่ว่าเฉพาะการนับตามแบบเถรวาทลังกาทั่วไปนะครับ เพราะบางตำราเริ่มนับที่วันตรัสรู้ ---



อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงกันมาก และในวงวิชาการเชื่อกันว่า พ.ศ. (นับจากวันปรินิพพาน) ผิดไปประมาณ ๖๐ ปี (คือประมาณ ๔๘๖-๔๘๓ ปีก่อน ค.ศ.)

ศ. ดร. ประเสริฐ  ณ นคร  ว่าผิดไป ๖๐ ปี คือ ๔๘๓ ปี ก่อน ค.ศ.
(อาศัยวิธีการนับรอบแบบโบราณ (พฤหัสบดีจักร) รอบหนึ่ง ๖๐ ปี  เมื่อเกิดการสับสนว่า รอบที่นับอยู่นั้น นับ "รอบเต็ม" หรือ "รอบย่าง"  เป็นเหตุให้ผิดไป ๖๐ ปี)

นักวิชาการตะวันตก        ว่าผิดไป ๕๘ ปี คือ ๔๘๕ ปี ก่อน ค.ศ.
(อาศัยหลักฐานการบันทึกของกรีกที่เข้ามามีความสัมพันธ์กับอินเดียตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเลกซานเดอร์ (อลิกสุนทระ) และการเทียบกับปีรัชกาลพระเจ้าอโศก)

หรืออย่าง " ต่อซัมป๊อกี่ " (บันทึกเรื่องประวัติพระรัตนตรัย) ก็ว่าได้จุดหนึ่งจุดต่อปี นับแต่พุทธปรินิพพาน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วได้ ๔๘๕ ปี ก่อน ค.ศ.

นอกจากนั้นบางท่านว่าผิดไป ๔๘ ปี ก็มี

ส่วนนิกายที่ว่าผิดไปหลายร้อยปีนั้น ไม่ได้รับความเชื่อถือครับ

ขอแนะนำหนังสือ " ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา " ของ อ.เสถียร โพธินันทะ ครับ


โดยส่วนตัว เชื่อว่า พระพุทธเจ้า ปรินิพพาน เมื่อประมาณ ๔๘๖-๔๘๓ ปี ก่อน ค.ศ.  แตกต่างจากความเชื่อของเถรวาทลังกา ประมาณ ๖๐ ปี
ส่วนที่ไม่สามารถเจาะจงไปได้ว่า  ๔๘๖  ๔๘๕  ๔๘๔ หรือ ๔๘๓ เพราะยังไม่เคยเห็นหลักฐานแน่ชัด
และอาจเป็นปัญหา "ปีเต็ม"  หรือ   "ปีย่าง"   อีกก็ได้นะครับ อิอิ
 รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 21 ก.พ. 11, 16:08

ที่สงสัย คือ "สาดีพ" ไม่ทราบว่า มาจากคำว่าอะไร ?
สงสัยจะผิด  อักษร ด. ไม่มีในภาษาสันสกฤต ค่ะ    ถ้าเห็นตัวสะกดโรมันอาจพอนึกออก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง