เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 33634 ประวัติผู้เชี่ยวชาญด้านนาฎดุริยางคศิลป์
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 13 ก.พ. 11, 11:13


อ่านมาจาก  ทะเบียนข้อมูล วิพิธทัศนา  ชุดระบำ  รำ  ฟ้อน  เล่ม ๒
กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่


       ตั้งใจนำมาฝากสมาชิกและท่านผู้อ่านในเรือนไทย เพราะทราบว่าประวัติบุคคลเป็นที่สนใจอย่างยิ่งยวด

ข้อมูลเบื้องต้นว่าแต่ละท่านเกิดเมื่อไร  ใครเป็นบิดามารดา  ได้ฝึกหัดมาจากครูท่านใด  ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง

ความเกี่ยวพันกับบุคคลในประวัติศาสตร์ท่านอื่นเป็นมาอย่างไร       ศิลปินบางท่านเราอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียง

บางท่านเราบางคนอาจจะได้ชื่นชมการแสดงมาแล้ว          ความหอมหวลของประวัติบุคคลจะปล่อยให้สูญไปกับกาลเวลา

ไม่ได้         เมื่อเรานำชีวิตของท่านเหล่านี้มาเล่า  เราจะได้รับรู้ถึงอดีตว่านานมาแล้ว  ท่านเหล่านี้ได้เดินออกมาจากไหน

ฝ่าฟันอุปสรรคชีวิตอย่างไร  จนได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงอันเป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่า  ที่เราทุกคนภูมิใจ



นางวัลลี (หมัน) คงประภัศร์

       นามเดิมคือ ปุย         เป็นธิดาคนที่ ๓  ของนายกุก  และนางนวม  ช้างแก้ว

เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๖

มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านปากคลองวัดรั้วเหล็ก (ปัจจุบันคือวัดประยูรวงศาวาส) อำเภอ บางกอกใหญ่  จังหวีดธนบุรี


       เมื่อด.ญ. ปุยอายุได้ประมาณ ๘ ปี          บิดาถึงแก่กรรม   

นางนวมมารดาได้สมัครเป็นพนักงานประจำห้องเสวยของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธ์ กรมหมื่นไชยศรีสุริยภาส

พระอนุชาในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์         ปุยก็ติดตามมารดาไปด้วย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 11:44


       ปุยมีโอกาสได้ชมละครรำของพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์​ ฯ (เจ้าขาว) ที่เข้าไปแสดงเป็นประจำ      จนหลงใหล

พอใจบทบาทของละครรำมาก   ได้หนีมารดาตามคณะละครเจ้าขาวไป

เนื่องจาก ด.ญ. ปุย มีหน่าตาผิวพรรณสะอาดหมดจด  ไว้ผมจุกน่าเอ็นดู  รูปร่างเหมาะสมที่จะหัดละครได้

พระพี่นางทั้งสองของพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ คือ เสด็จพระองค์หญิงพริ้ง  และ เสด็จพระองค์หญิงพร้อม  ซึ่งดูแลและ

ควบคุมการแสดงละครทั้งหมดแทนพระอนุชา  จึงรับตัวไว้    หลังจากที่ได้ทรงสอบถามความสมัครใจ 

ด.ญ.ปุยยืนยันจะแสดงละครให้ได้   พระพี่นางทั้งสองจึงนำไปมอบให้  "หม่อมแม่เป้า" ครูละครคนสำคัญของวังเจ้าขาว

เป็นผู้ฝึกสอนแต่นั้นมา           แม้นางนวมมารดาเมื่อทราบเรื่องเข้า  ได้ติดตามไปขอตัวกลับเนื่องจากไม่เห็นชอบด้วย

แต่ ด.ญ. ปุยไม่ยอมจะขออยู่หัดละครให้ได้          ในที่สุดมารดาก็ตามใจให้อยู่หัดละครในวังเจ้าขาว (ปัจจุบันคือ

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)   แต่ก็หมั่นไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ   

       เมื่อ ด.ญ. ปุยอายุได้ประมาณ ๑๐ ปี  และได้แสดงละครสมความตั้งใจแล้ว  ได้ไปแสดงในงานต่าง ๆ มากมาย 

แม้การแสดงหน้าพระที่นั่งก็ยังเคยได้มีโอกาสแสดงถวายตัวหลายครั้ง        ครั้งหนึ่งได้แสดงเป็น "สมันน้อย" ในละครเรื่อง

"ดาหลัง"  ที่ละครคณะเจ้าขาวได้ไปแสดงในวังหลวง   การแสดงของปุยเป็นที่พอพระราชหฤทัยของเจ้านายฝ่ายใน

หลายพระองค์จนจำได้  และได้เรียกว่า  "ไอ้หมัน"  จนติดพระโอษฐ์     ในที่สุดชื่อ ปุย  ก็จางหายไป  เกิดมี "ไอ้หมัน" ขึ้นมาแทน

เจ้าตัวก็พอใจชื่อใหม่นี้เพราะถือเป็นมงคลนาม  ได้ใช้ชื่อนี้มาจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


       ต่อมาเมื่ออายุได้ประมาณ ๒๒ ปี  ได้เกิดชอบพอรักใคร่กับนายส้ม  คงประภัศร์์์์์  เสมียนกรมพระคลังข้างที่และเป็น

นักดนตรี (ทหารแตรมหาดเล็ก)   ได้กราบทูลลาออกมาแต่งงานและอยู่กินกับนายส้ม  โดยยังยึดอาชีพรับจ้างแสดงละครตามปกติ

ตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง   มีธิดา ๑ คน  และบุตร ๑ คน คือ

๑.   นางถนอม  ยวงศรี

๒.   นายอรุณ  คงประภัศร์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 14:20

       แม่หมันเป็นคนมัธยัสถ์  และอุตสาหะ  ได้พยายามเลี้ยงลูกทั้งสองมาด้วยดีโดยตลอด  

และยังได้พยายามเก็บหอมรอมริบค่าตัวจากการแสดงละครไว้คราวละสลึงบ้าง  สองสลึงบ้าง  เพื่อนำไปสร้าง

เครื่องแต่งตัวละคร  เพราะในสมัยก่อนนั้นหัวหน้าคณะจะจ่ายค่าตัวให้ผู้แสดงเป็น ๒ ประเภท

๑.  ผู้ที่ไม่มีเครื่องแต่งตัว  เจ้าของคณะต้องจัดหามาให้  ค่าตัววันละ ๗๕ ​สตางค์  และอย่างสูงไม่เกิน ๑ บาท

(หมายความว่าในงานรับที่มีราคาค่อนข้างสูง  ผู้แสดงจะเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษ)

๒.  ตัวละครที่มีเครื่องไปด้วย  จะได้ค่าตัว ๑ บาท ถึง ๑ บาท ๕๐ สตางค์

ดังนั้นแม่หมันจึงพยายามสร้างเครื่องแต่งตัวเองให้ได้  เพื่อจะได้มีค่าตัวเพิ่มขึ้น   แต่กว่าจะสามารถรวบรวม

เงินได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร   และในที่สุดก็สามารถสร้างขึ้นมาได้ หนึ่งชุด   และรับจ้างแสดงละคร

หาเลี้ยงบุตรทั้งสองและตนเองมาได้เป็นระยะยาวนาน


       ประมาณปี ๒๔๗๗ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง   กรมมหรสพถูกยึด   ทางราชการได้จัดตั้ง

กรมศิลปากรขึ้นมาแทน    โรงเรียนนาฏดุริยางค์เกิดขึ้น   ผู้มีความรู้ทางนาฏศิลป์โขน ละคร  ทางดนตรีถูกตามหาตัว

มาเป็นครู     ในรุ่นแรกนี้ทางราชการได้จัดหามาได้ ๒  ท่านคือ

๑.   หม่อมครูต่วน   ภัทรนาวิก  หม่อมของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์

๒.   คุณครูลมุล   ยมะคุปต์

       หม่อมครูต่วน และ อาจารย์ละม่อม  วงศ์ทองเหลือ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนนาฏดุริยางค์     ได้มาขักชวน "แม่ครูหมัน"

ให้ไปช่วยกันสอนนักเรียน     ทั้งสองท่านได้มาหว่านล้อมอยู่นานพอควร   ในที่สุด แม่ครูหมันก็ยินยอมไปสอน      ได้สมัครเข้ารับราชการ

เป็นครูชั้นสาม เงินเดือน ๓๐ บาท  ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.​๒๔๗๗



     แม่ครูหมันสามารถสอนลูกศิษย์ให้เป็นตัวแสดงได้ทุกตัว  แม้กระทั่งสัตว์  เช่นนก  ม้า  ช้าง  หมี  และควาย เป็นต้น  

นอกจากนี้ยังได้คิดแต่งท่ารำเพิ่มขึ้นมา  เนื่องจากท่าของเดิมสูญไป  เช่นท่ารำแม่บทใหญ่เป็นต้น      แม่ครูหมันได้รวม

กับคุณครูลมุล  ยมะคุปต์  ประดิษฐท่ารำเชื่อมโยงท่านำแม่บทใหญ่   โดยอาศัยเค้าโครงท่ารำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ทรงถ่ายทอดทำไว้เป็นบรรทัดฐาน          เมื่อประดิษฐ์ท่ารำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  สองท่านจึงพากันไปรำให้พระยานัฏกานุรักษ์  

และคุณหญิงเทศ​ฯ ดูเพื่อติชม   ปรากฏว่าท่านทั้งสองยอมรับว่าใกล้เคียงกับของเดิม      อนุญาตให้นำมาถ่ายทอดได้

นอกจากนี้แม่ครูหมัน และ คุณครูลมุล  ยมะคุปต์ยังได้ร่วมกันคิดประดิษฐ์ท่ารำชุดต่าง ๆ ขึ้นใช้เป็นแบบฉบับในการสอนนักเรียนมาจนวันนี้    



แม่ครูหมันได้ถ่ายทอดท่ารำพราหมณ์โต ในละครเรื่อง สุวรรณหงส์ ซึ่งเป็นท่ารำที่เก่าแก่มาก  และท่ารำที่สวยงามเช่น  ท่ารำ "เงาะ"

ที่ครูบาอาจารย์ทางนาฎศิลป์ยอมรับว่าเป็นท่าที่สวยงามมาก  และยกเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว  "แม่ครูหมัน"  ตลอดมา

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 14:39


แม่ครูหมันได้ออกแสดงเป็น เจ้าเงาะคู่กับรจนา (หม่อมครูต่วน ภัทรนาวิก)        แสดงเป็นพระวสิษฐ์ฤษี คู่กับ หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ  อินทรนัฐ)

แสดงเป็นท้าวยศวิมลคู่กับนางจันทา (คุณครูเฉลย  ศุขะวนิช ศิลปินแห่งชาติ)   แสดงเป็นปรศุรามรบกับพระคเณศ (คุณครูลมุล  ยมะคุปต์) เป็นต้น


       แม่ครูหมันได้ปฎิบัติราชการเป็นอย่างดีตลอดมา

รับราชการจนกระทั่งอายุ ๘๐ ปี  จึงได้ถูกเลิกว่าจ้างเพราะเกิดอาการหลง     ท่านได้ออกมาพักผ่อนอยู่กับบ้านพร้อมด้วยบุตรหลาน


ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.​๒๕๑๔  สิริรสมอายุ ๘๙ ปี
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 14:49


นางศุภลักษณ์         ภัทรนาวิก  (หม่อมครูต่วน)


       ศิษย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการพูดถึงท่านว่า  หท่อมครู

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๕ กรกฎ่คม  พ.ศ. ๒๔๒๖  ที่บ้านเหนือ  วัดทองธรรมชาติ  อำเภอคลองสาน  จังหวัดธนบุรี

บิดาชื่อนายกลั่น  ภัทรนาวิก เป็นบุตรพระยาภักดีภัทรากร(จ๋อง ภัทรนาวิก)       มารดาชื่อลำใย  เป็นชาวจังหวัด

พระนครศรีอยุธยา         มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ

๑.  หญิง  ชื่อ แดง

๒.  หญิง ชื่อ เจิม

๓. ชายชื่อ แสง

๔.  ศุภลักษณ์  ภัทรนาวิก

๕  พระวิเศษสาลี(สุย  ภัทรนาวิก)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 18:24


       เมื่อศุภลักษณ์ยังเล็กอยู่   บิดามารดาขายเรือนไปซื้อแพอยู่ทางบางลำภูล่าง    ต่อมาบิดาก็เสียชีวิตลง ณ แพนั้น

ศุภลักษณ์อายุ ๖ ขวบ         มารดาจึงขายแพ  แล้วพาลูกๆไปอยู่กับญาติ  แต่ไม่เป็นที่เป็นทาง     ภายหลังได้มาอยู่

กับนางจาดที่บ้านตรงสี่แยกบ้านหม้อด้านใต้   ขณะนั้นศุภลักษณ์อายุได้ ๙ ปี         นางจาดมีธิดาชื่อเลียบ  เป็นคุณหญิง

ของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์  สิงหเสนี)    ธิดาอีกคนหนึ่งชื่อเฉลิมได้ฝึกละครอยู่ในบ้านของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์

(ม.ร.ว. หลาน  กุญชร)

       เมื่อมาอยู่บ้านนางจาด   ศุภลักษณ์ได้ตามเฉลิมเข้าไปดูเขาฝึกหัดละครเนือง ๆ   เมื่อเข้าๆ ออก ๆ  อยู่ในบ้านนั้นก็เกิด

มีนิสัยรักทางละคร   เลยเข้ารับการฝึกละครกับเขาด้วย    ได้ฝึกตัวนางกับหม่อมวัน  มารดาของ

พระยาวิชิตชลธาร (ม.ล. เวศร์ กุญชร) และฝึกหัดมาตั้งแต่อายุ  ๙ ขวบ   หม่อมวันผู้เป็นครูก็รักใคร่     ภายหลังศุภลักษณ์

ก็เลยไปฝีกฝนกับหม่อมวันตลอด        ครั้นรู้ไปถึงคุณหญิงเอม  ผู้เป็นย่า   ท่านไม่ชอบใจให้หลานเป็นละคร 

จึงมาตามจะมาเอาตัวไป   แต่ศุภลักษณ์ชอบทางนี้เสียแล้ว  จึงไม่ยอมไป        คุณย่าขัดเคืองมากถึงกับตัดญาติขาดกัน

แต่ศุภลักษณ์ก็พยายามฝึกฝนจนได้แสดงเป็นตัวดีมีฝีมือ   และเป็นที่เมตตาปรานีของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์มาก

ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๖​ปี    ก็ได้เป็นหม่อมของท่านเจ้าคุณ           ศุภลักษณ์เล่าความจริงให้เจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ ฟังว่า

เนื่องจากมาเป็นละครอยู่ในบ้านท่าน  คุณย่าของตนไม่ชอบให้เป็นละคร  เมื่อห้ามปรามไม่ฟัง  ก็โกรธเคืองมากถึงกับตัดญาติ

เจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ ได้ทราบเรื่อง   ก็หาโอกาสพาศุภลักษณ์ไปทำความเคารพคุณย่าที่บ้าน  ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี

และเข้าใจว่าคงหายโกรธตั้งแต่วันนั้น


       ศุภลักษณ์เคยแสดงเป็นตัวเอก เช่นสีดา      และในรัชกาลที่ ๕ ก็ออกแสดงหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง       เมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ

ได้ร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  สร้าง และฝึกหัดละครขึ้น  แสดงในโรงละครดึกดำบรรพ์ ณ วังบ้านหม้อ  ริมถนนอัษฎางค์   

ศุภลักษณ์ก็ได้รับฝึกหัดแสดงในโรงละครดึกดำบรรพ์นั้นด้วย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 20:40

ท่ารำแม่บท ท่าช้างนางนอน ราว พ.ศ. ๒๔๖๖


บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 20:51

ท่ารำแม่บท ท่าช้างนางนอน ราว พ.ศ. ๒๔๖๖

จำได้ว่าภาพด้านบนนั้น ถ่ายที่วังวรดิศ
ต่อหน้าพระพักตร์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
โดยมี เสวกเอก พระยานัฎกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูละครหลวง เป็นผู้ควบคุมบอกท่ารำ
แก่ตัวพระและตัวนาง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 21:07

ท่ารำแม่บท ท่าช้างนางนอน ราว พ.ศ. ๒๔๖๖

จำได้ว่าภาพด้านบนนั้น ถ่ายที่วังวรดิศ
ต่อหน้าพระพักตร์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
โดยมี เสวกเอก พระยานัฎกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูละครหลวง เป็นผู้ควบคุมบอกท่ารำ
แก่ตัวพระและตัวนาง

ใช่แล้วครับ คุณ Art47 ดังภาพที่ผมแนบให้นี้ ถ่ายรูปท่าต่างๆที่วังวรดิศ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 21:11

ผู้แสดงท่ารำ คือ คุณหญิงอนินตา อาขุบุตร (เสงี่ยม นาวีเสถียร) และนายวง กาญจนวัจน

ตัวนาง แต่งกาย ๒ แบบ คือ แบบห่มผ้านาง และ ห่มสองชาย

ตัวพระ แต่งกายยืนเครื่องตัวพระ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 ก.พ. 11, 21:49

ขอบคุณในน้ำใจใสพิสุทธิ์ของคุณไซมีส เสมอมาค่ะ



       ศุภลักษณ์มีความจำดีเป็นพิเศษ     สามารถจำบท และคำร้องคำเจรจาของละครได้ทุกตัว  และทุกเรื่องของ

ละครดึกดำบรรพ์  ได้แม่นยำโดยไม่ต้องดูบท  สามารถชี้แจงข้อผิดพลาด  และคำตกหล่นหรือเกินมาบอกได้ถูกว่าตรงนั้นตรงนี้

เมื่อมีการแสดงโรงจริงได้ตัดออกแล้ว    สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ได้ทรงพระเมตตาโปรดให้ฝึกเป็นตัวนางยุบล (ค่อม)

ในเรื่องอิเหนาตอนตัดดอกไม้ ฉายกริช  และนางศุภลักษณ์ในเรื่องอุณรุท   ซึ่งศุภลักษณ์สามารถแสดงได้ดียิ่ง  โดยเฉพาะบท

ยุบลนางค่อม   ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดให้กับศิษย์บางคน  เป็นที่น่าเสียใจยิ่งที่ศิษย์ได้เสียชีวิตไปก่อนครู

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว  ศุภลักษณ์ได้ไปรำบทนางค่อมถวายหน้าพระโกศ เป็นการสักการะด้วยความกตัญญู


       ศิษย์ที่ฝึกหัดใกล้ชิด  และภายหลังได้ดิบได้ดีไปก็มี  เช่น  นายช่วง  สีดา  ซึ่งต่อมาได้โปรดเกล้าให้เป็นพระยาอินทราภิบาล

ศุภลักษณ์อยู่กับเจ้าพระยาเทเวศน์​ฯ จนอายุได้ ๒๗ ปี  จึงได้ออกจากบ้านเทเวศน์ในราว พ.ศ. ๒๔๕๓  ไปอยู่กับญาติบ้าง  ผู้อุปการะบ้าง

เมื่อ กรมพิณพาทย์ และโขนหลวงตั้งขึ้นมาใหม่ในรัชกาลที่ ๗   คุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ได้ไปชักชวนให้มารับราชการ  โดยมอบหน้าที่ให้

เป็นคนฝึกละครดึกดำบรรพ์และละครหลวง   ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘  ก็ได้อยู่มาจนสิ้นชีวิต


       ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  ท่านได้เปลี่ยนชื่อตามรัฐนิยมเป็น ศุภลักษณ์  และแต่งกายสวมหมวกเสมอเรื่อยมา

ท่านอาศัยอยู่กับพระวิเศษสาลี(สุย  ภัทรนาวิก) อธิบดีที่ดิน น้องชายที่อำเภอบางกอกน้อย  ธนบุรี

หม่อมครูถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙  อายุ ๗๓ ปีกว่า

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 05:07


       นายอร่าม  อินทรนัฏ        เรียบเรียงโดยนายปัญญา  นิตยสุวรรณ

       กราบขออนุญาตนำมาเล่าต่อเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในชีวิตของครูศิลปิน


เกิดเมื่อวันที่  ๑๒  กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖

บิดา คือ จมื่นสมุหพิมาน (หร่ำ  อินทรนัฏ)  หรือ หลวงวิลาศวงงาม        มารดาชื่อ เล็ก

ครูอร่ามเรียนที่โรงเรียนครูพร้อมวิทยามูลตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น

ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และสอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓


       ครูอร่ามเล่าว่า  ท่านได้ฝึกหัดโขนเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๒ ปี        โดยหัดเป็นตัวพระกับบิดา

ในระหว่างนั้นก็เรียนหนังสือไปด้วย

       ครั้งหนึ่ง  ขณะที่ครูอร่ามหัดโขนอยู่กับจมื่นสมุหพิมาน หรือ หลวงวิลาศวงงามบิดา   พระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ  สุวรรณภารต)

หรือที่บรรดาศิลปินเรียกว่า เจ้าคุณพรหมา  ซึ่งท่านมีฝีมือเป็นเลิศในการแสดงเป็นทศกัณฐ์ ใน รัชกาลที่ ๖   ผ่านมาพบเข้า

โดยบังเอิญ        เกิดพอใจในฝีมือร่ายรำของครูอร่าม  จึงออกปากขอครูอร่ามขากบิดา  ซึ่งบิดาก็ตกลง   แต่ครูอร่ามไม่มีบุญพอ 

เพราะเจ้าคุณพรหมาได้ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๖๙   ตอนนั้นครูอร่ามอายุได้เพียง ๑๓ ปี

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 05:23


       ครูอร่ามก็ฝึกหัดโขนกับบิดาต่อไป    วันหนึ่งเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น  อิศรเสนา)  

ผ่านมาพบเข้าจึงถามว่า บุตรใคร   มีผู้กราบเรียนแทน     เจ้าคุณบอกว่ารูปร่างสูงใหญ่ควรหัดโขนเป็นตัวสหัสเดชะ

คนอื่นๆก็เรียนว่าต้องถามความสมัครใจของครูอร่ามก่อน           ครูอร่ามจึงไปถามบิดาว่าสมควรจะหัดหรือไม่

บิดาถามว่าจะเรียนหนังสือต่อไป หรือจะหัดโขน      ครูอร่ามขอเรียนโขน   บิดาไม่สามารถขัดความประสงค์ของครูอร่ามได้

ในที่สุดก็นำตัวไปฝากกับ ครูสง่า  ศศิวณิช  ครูถม  โพธิเวส  เป็นผู้หัดโขนให้ตามปกติวิสัย          เมื่อว่างเว้นจาก

การหัดโขนของทั้งสองท่านแล้ว   ครูอร่ามก็ไปหัดตัวพระเพิ่มเติมจากบิดาเป็นประจำ          ในการหัดโขนจากบิดา  

ครูอร่ามจะถูกเฆี่ยนตีอยู่เป็นประจำ    ครั้งหนึ่งถูกเฆี่ยนจนข้อศอกแตก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 05:42


พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี  สุวรรณภารต) เห็นเข้าก็เกิดความสงสาร  จึงขอรับตัวไปอยู่ที่บ้านท่าน

และอบรมฝึกสอนให้เป็นตัวยักษ์      เนื่องจากครูอร่ามรูปร่างสูงใหญ่      ในการฝึกสอนนี้

นอกจากท่านเจ้าคุณจะเป็นผู้อบรมสั่งสอนด้วยตนเองแล้ว    ครูรงภักดี (เจียร   จารุจรณ)ผู้มีฝีมือก็ได้

ช่วยฝึกสอนให้ทั้งกลางวันและกลางคืน


       ครูอร่าม อินทรนัฏ  แสดงโขนเป็นครั้งแรกในงานรับแขกเมืองที่โรงโขนหลวงมิสกวัน  แสดงเป็นตัวมโหทร   

ครูแสดงสุดความสามารถที่ได้รับฝึกหัดมา  พระยานัฎกานุรักษ์พอใจ     และได้จัดให้แสดงเป็นทศกัณฐ์  ไมยราพณ์ 

อินทรชิต  กุมภกรรณ  ในโอกาสแสดงโขนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้่าอยู่หัวทอดพระเนตร ณ โรงโขนหลวงสวนมิสกวัน


ครูอร่าม  รับราชการเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓  ในกรมปี่พาทย์ และ โขนหลวง  สำนักพระราชวัง

ตำแหน่งเสนายักษ์  รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๘ บาท

วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕  เลื่อนตำแหน่งเป็นยักษ์ใหญ่  เงินเดือน ๑๕ บาท

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 ก.พ. 11, 21:59


       ครูอร่ามได้เป็นข้่าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก  ตำแหน่งศิลปินเอก   ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงสุดของศิลปินโขนในสมัยนั้น

เมื่อครบอายุราชการใน พ.ศ. ๒๕๑๖       ทางราชการได้จ้างต่อเป็นลูกจ้างประจำ  ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์โขน 

ฝ่ายยักษ์  ในวิทยาลัยนาฏศิลป       ครูอร่ามมีงานอดิเรกไปแสดงโขนที่บ้านบรรทมศิลป์ของพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. เฟื้อ  พึ่งบุญ) 

และเคยไปช่วยฝึกหัดโขนที่บ้านบางบัวทอง ของ นายประสาท สุขุม  และแสดงโขนร่วมกับคณะเอกชนบ้างตามสมควร


       ครูอร่าม  ชองแสดงโขนมากกว่าแสดงละคร   แต่ได้เล่นเป็นตัวเอกอยู่หลายเรื่อง เช่นเป็นชาละวัน ในเรื่องไกรทอง  ตอนไกรทองอาสา   

แสดงเป็นพระพันวษาในเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนพระไวยแตกทัพ        แสดงเป็นกุมภกัณฑ์ ในละครนอก เรื่องสุวรรณหงส์

ตอนพราหมณ์เล็ก  พราหมณ์โต


       ครูอร่ามมีฝีมือในการแสดงเป็นทศกัณฐ์  หาผู้เปรียบเทียบไม่ได้        ลีลาท่ารำอันเป็นอมตะของท่านก็คือ  ท่ารำตอนทศกัณฐ์เกี้ยวนาง

เบญกาย  ซึ่งแปลงเป็นนางสีดา       และท่าทางเก้อเขินขวยอายตอนนางเบญกายกลับเป็นร่างเดิม          การแสดงโขนอีกชุดหนึ่งที่ครูอร่าม

แสดงได้ดีคือชุดทศกัณฐ์ลงสวน        ครูแสดงกิริยาท่าทางของทศกัณฐ์ที่รักนางสีดาได้ดี  จนผู้คนเคลิ้มไปว่าหัวโขนทศกัณฐ์นั้นยิ้มได้



       ครูอร่ามมีศิษยานุศิษย์มากมาย  หลายคนมีฝีมือที่ท่านพอใจและกล่าวยกย่องชมเชยอยู่เสมอ



       ครู ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำพิธีไหว้ครูและครอบโขนละคร  จาก จมื่นสมุหพิมาน หรือ หลวงวิลาศวงงามผู้บิดา   

ในขณะที่บิดามีชีวิตอยู่  ครูอร่ามมิได้ทำพิธีที่ได้รับมอบ   เพราะถือเป็นประเพณีว่าผู้รับมอบจะไม่ทำพิธีไหว้ครูและครอบโขนละครในขณะที่ครู

ผู้มอบยังมีชีวิตอยู่            ครั้นบิดาถึงแก่กรรมแล้ว   ครูอร่ามจึงเริ่มทำพิธีไหว้ครูและครอบโขนละคร   แต่เป็นการทำให้กับมหาวิทยาลัย

และเอกชนทั่วไป   มิใช่ของทางราชการกรมศิลปากร

       ครั้งสุดท้ายครูอร่ามทำพิธีไหว้ครูและครอบให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงประมาณ ๔๐๐ คน  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๒๒

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 20 คำสั่ง