เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 16149 งานวัด
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 ก.พ. 11, 11:48

เห็นภาพ ท้องพระโรง แล้ว นึกถึง ลิเกตอนโหมโรง ได้ยินแต่เสียงระนาดกับเสียงกลอง ผู้ใหญ่บางคนพูดว่า  “แค่ลิเกโหมโรง” ซึ่งหมายถึงยังหัวค่ำหรือยังไม่มีอะไรน่าสนใจ ยังไม่ต้องรีบไปก็ได้  ตามธรรมเนียมของลิเก ก่อนเข้าเรื่องต้องมีการออกแขกก่อน จากนั้นคนพากย์ก็จะนำเข้าสู่ท้องเรื่อง  เมื่อก่อนลิเกเป็นอาชีพที่เฟื่องฟูมาก ตอนหลังๆซบเซาลงไปมาก บางคราวถึงกับไปขอวัดเล่นแล้วเดินเรี่ยไรเงินจากคนดูก็มี  ลิเกป็นอาชีพที่ ติดอันดับหนึ่งในสี่ของอาชีพถือว่าเป็นพวกไว้ใจไม่ได้เรื่องผู้หญิง คือ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ   ลิเกภาคกลางมีถิ่นฐานอยู่แถว อยุธยา อ่างทอง  ลพบุรี และจังหวัดรอบๆ  จังหวัดที่มีลิเกอยู่มากเท่าที่เห็นคือที่ อยุธยา  ถ้านั่งรถไฟขึ้นเหนือ เมื่อผ่านสถานีอยุธยา ด้านขวามือหลังวิหารหลวงพ่อคอหักจะมองเห็นป้ายคณะลิเกจนตาลาย  ขึ้นไปจนถึงลพบุรี ที่นี่ก็มีคณะลิเกมากเช่นกันจากถนนข้างปรางค์สามยอดเรื่อยขึ้นไปจะเห็นป้ายลิเกมากมาย มากเสียกว่าที่อยุธยาอีก  ยุคที่ลิเกเฟื่องฟูนั้นมีวิกลิเกซึ่งเล่นกันหลายวันมีแม่ยกสนับสนุนอยู่ไม่ขาดขนาดย้ายไปเล่นที่อื่นไกลแค่ไหนก็ต้องตามไปดู   ตามงานวัดนั้นลิเกมักจะเล่นกันแค่ครึ่งคืน ส่วนหนังก็แล้วแต่ บางงานก็ครึ่งคืนบางงานก็สว่าง คนที่อยู่ดูหนังกันยันสว่างนั้นเหตุผลหนึ่งก็คือตอนกลับบ้านมืดมากและหนทางจะเปลี่ยว ส่วนใหญ่เมื่อมาแล้วก็อยู่จนสว่างแล้วค่อยกลับบ้าน 
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 ก.พ. 11, 15:08

ไอติมหลอดเป็นของประจำงานวัดและเป็นไอติมแท่งที่ขายกันโดยทั่วไปยุคก่อน  เป็นไอติมที่ทำกันตามบ้านแล้วส่งขาย มีทั้งวางขายเป็นถังหรือมีเด็กรับไปเดินขาย ไอติมหลอดแต่ก่อนมักจะใส่ใส้ต่างๆ ด้วย  เช่น ถั่วดำ ลอดช่อง ข้าวเหนียว และมีรสกะทิซึ่งหวานมันกว่าไอติมหลอดที่นำมาย้อนยุคเพราะมีแต่ความหวานจากน้ำหวานอย่างเดียว  เด็กขายไอติมจะสะพายตะกร้าไอติมซึ่งทำด้วยหวายมีหูยาวสำหรับสะพายไหล่  เวลากินไอติมเสร็จต้องดูไม้ไอติมให้ดี  ถ้าได้ “ไม้แดง” ได้กินฟรีอีก 1 อัน   จำได้ว่าเมื่อบริษัทโฟโมสต์ เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ ได้ทำการตลาดโดยการนำไอติมไปแจกนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ นักเรียนได้รับแจกไอติมคนละ 2 ถ้วย เป็นถ้วยย่อมๆทำด้วยกระดาษฟอล์ยมีจีบรอบถ้วย   ถ้วยหนึ่งเป็นสีฟ้าสด อีกถ้วยเป็นสีแดงสด มีช้อนตักเป็นไม้แบนๆ  เป็นไอติมที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกิน       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 ก.พ. 11, 18:20

เคยกินไอติมขายในกระติกที่คนขายสะพานเดินขายตามบ้าน    เป็นแท่งยาว มีหลายรส   ที่กินเป็นประจำคือสีแดง รสหวานแบบน้ำหวาน 


บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 18 ก.พ. 11, 13:46

นอกจาก ลูกหว้าแล้ว "ชำละเลียง" ก็เป็นของกินที่มีขายตามงานวัดเหมือนกัน ชำมะเลียงอย่างที่เห็นในรูปเป็น "ชำมะเลียงบ้าน" ลูกโตกว่าลูกหว้า มีสีเข้ม กินแล้วปากและฟันจะเป็นสีม่วงเข้มๆเหมือนสีเปลือกชำมะเลียง  อีกประเภทหนึ่งคือ "ชำมะเลียงป่า" ลูกเล็กกว่าชำมะเลียงบ้านกินได้เหมือนกันแต่มักไม่มีขาย หาได้ตามป่าละเมาะ "ชำมะเลียง" มีรสหวานอมฝาด แม่ค้ามักนำไปขายเสริมกับของกินอย่างอื่นมากกว่าเป็นของขายหลัก เพราะรสชาดไม่ค่อยถูกปากเด็กเท่าไรนัก  ชำมะเลียงป่า มีลูกขนาดเล็กพอดีรูไม้ไผ่ บางทีเด็กๆก็จะใช้เป็นกระสุน "ไม้โผละ" หรือ "ไม้โพล๊ะ" เอาไว้ยิงเล่นกัน ถ้าหาเม็ดชำมะเลียงไม่ได้ก็ใช้กระดาษอ่อนชุบน้ำแล้วปั้นเป็นก้อนยัดไปในรูไม้ไผ่แล้วใช้แกนไม้กระแทก เวลาโดนไม้โพล๊ะยิงจะรู้สึกเจ็บๆคันๆ เล่นกันเอาสนุกมากกว่าใช้เป็นอาวุธ




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 18 ก.พ. 11, 13:54

"ชำมะเลียงบ้าน" (ภาพจาก http://www.kaset4you.com/forum/index.php?topic=1479.0)


บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 18 ก.พ. 11, 22:53

ขออภัย ชำมะเลียงในจานเป็น "ชำมะเลียงป่า " ครับ
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 19 ก.พ. 11, 17:32

“ยกตะลุ่ม”  -   งานวัดมักจัดในวันพระสำคัญ ๆ โดยตอนเช้าจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ตอนกลางคืนจะมีมหรสพ  มีงานวัดแต่ละครั้ง นอกจาก พระ เณร ต้องทำงานหลายอย่างแล้ว เด็กวัดก็เหนื่อยเหมือนกันเพราะต้องทำงานตามที่พระสั่งแต่หลักๆจะเป็นงานที่ใช้แรง  สิ่งที่เด็กวัดชอบอยู่อย่างหนึ่งคือได้เปิดหูเปิดตาและได้กินอาหารดีๆที่ญาติโยมนำมาถวายพระหลังจากที่พระฉันเสร็จแล้ว บางทีก็จะได้เงินเล็กๆน้อยๆ จากหลวงลุง หลวงพี่ด้วย   กิจกรรมหลักของเด็กวัดตอนเลี้ยงพระก็คือการ “ยกตะลุ่ม” เป็นการยกอาหารที่ใส่ไว้ใน “โอ” ที่อยู่ในถาดนำไปประเคนให้พระ(จริงๆแล้วโอใส่อาหารต้องอยู่ใน ตะลุ่ม แล้วยกไปถวายพระ แต่ยุคหลังใช้ถาดแทนตะลุ่ม แต่ยังคงเรียกว่า “ยกตะลุ่ม “ อยู่)    “โอ” เป็นภาชนะคล้ายขันใบเล็กๆแต่ปากจะเล็กกว่าและทรงสูงกว่าขัน  “โอ” ใช้วัสดุเคลือบแบบจานสังกะสี  มี  สีขาว สีไข่ไก่ สีน้ำเงินและ สีเขียวอ่อน    เมื่อพระฉันเสร็จเด็กวัดก็จะยกถาดอาหารไปเก็บ พอพระสวดเสร็จก็จะได้กิน จากนั้นก็ทำหน้าที่ล้าง โอ จาน ถาดและบาตรพระ โดยเฉพาะบาตรพระต้องขัดทั้งข้างนอกข้างในจนดูเป็นเงาวับ   “โอ” คงจะหายไปพร้อมๆกับจานสังกะสีเพราะ เดี๋ยวนี้ใช้ถ้วยหรือจานกระเบื้องใส่อาหารแทน  จึงเหลือแต่ คำว่า  “ถ้วย โถ โอ ชาม”


บันทึกการเข้า
Rangson Boontham
มัจฉานุ
**
ตอบ: 50



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 ก.พ. 11, 21:52

ตอนเป็นเด็กไปงานวัดกับครอบครัว แม่จะเขียนชื่อกับที่อยู่ตัวเองใส่กระเป๋าให้ทุกครั้ง พูดถึงงานวัดแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กจัง  อายจัง
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 20 ก.พ. 11, 14:39

“พวงมโหตร”  เป็นสิ่งที่สร้างสีสันให้กับงานวัด โดยเฉพาะบนศาลาวัดที่ญาติโยมมาชุมนุมกัน  “พวงมโหตร “(พวง-มะ-โหด)  ทำด้วยกระดาษสีบางๆ มีหลายสี ทำโดยนำกระดาษสีมาพับเป็นชั้นๆแล้วตัดให้เป็นลายตามต้องการจากนั้นคลี่ออกจะกลายเป็นพวง ใช้แขวนประดับตามจุดต่างๆบนศาลาวัด  สิ่งประดับศาลาวัดอีกอย่างคือ “ธงสี” เป็นธงกระดาษสามเหลี่ยมติดไว้บนเชือกยาวประดับตามระเบียงศาลาวัด    ตรงกึ่งกลางเพดานศาลาวัดมักประดับด้วย “กระดาษสี”เส้นเล็กๆยาวหลายเมตร แขวนจากกึ่งกลางเพดานศาลาไปจรดชายคาโดยรอบ กระดาษสีจะถูกตีเป็นเกลียวเวลาเคลื่อนไหวจะพลิ้วไปมา   



บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 ก.พ. 11, 09:55

“เครื่องไฟ “– เมื่อก่อนบ้านนอกไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลามีงานวัดหรืองานบ้านต้องอาศัย “เครื่องไฟ” ทั้งนั้น คนบ้านนอกเรียกเครื่องปั่นไฟ เครื่องขยายเสียงรวมทั้งไฟประดับต่างๆว่า “เครื่องไฟ”   สมัยที่หลอดฟลูออเรสเซ็นต์(ที่เรากันเรียกติดปากว่าหลอดนีออน) ยังไม่แพร่หลาย ไฟส่องสว่างที่ใช้ตามโรงลิเกและที่ต่างๆเป็นแบบหลอดใส้ธรรมดา บรรยากาศจึงไม่สว่างไสวเหมือนหลอดแบบปัจจุบัน  เมื่อหลอดฟลูออเรสเซ็นต์แพร่หลายคณะเครื่องไฟก็นำไฟหลอดยาวๆมาใช้ตามงานวัด โดยผูกกับไม้ปักเรียงกันไปบนถนนหน้าวัด หลังวัด ข้างวัด ยาวไปหลายสิบเมตร  วัดตามบ้านนอกมักอยู่ใกล้ลำน้ำและใกล้ทุ่งนา ปกติจะมืดมาก พอนำไฟไปติดก็จะมีกองทัพแมลงมาเล่นไฟและจะมีฝูงคางคกนักร้อยๆก็จะมารุมกินแมลงตามหลอดไฟ พวกเด็กๆจะพากันไปไล่คางคกเป็นที่สนุกสนาน    อาชีพ “เครื่องไฟ” แต่ก่อนคงไม่ได้เป็นอาชีพที่มีรายได้ดีนัก เพลง “ชีวิตคนเครื่องไฟ” ที่คำรณ สัมบุณณานนท์ร้องจึงพรรณาถึงความลำเค็ญของคนเครื่องไฟเอาไว้อย่างมองเห็นภาพได้ (ฟังเพลง “ชีวิตคนเครื่องไฟ”http://www.baanmaha.com/forums/showthread.php?t=8913  )    ตามบ้านนอกนั้นถ้าวัดไหนมีงานและเปิดเครื่องขยายเสียง เสียงจะ “ดังลั่นทุ่ง” จากท้องทุ่งฟากหนึ่งไปถึงท้องทุ่งอีกฟากหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปหลายสิบเส้น เพลงที่เปิดก็คงเป็นเพลงแนวของ คำรณ สัมบุณณานนท์  ชาญ เย็นแข  กุหลาบ กฐินะสมิต เช่น เพลง  ชีวิตคนเครื่องไฟ เด็กข้างถนน สาวพลัดถิ่น เป็นต้น    แต่ก่อนเวลาหาเครื่องไฟมาเล่นต้องเดินทางไปเป็นวัน  จากวัดแถวบ้านบางทีต้องนั่งเรือและต่อรถไปถึง “แปดวา” คนสมัยก่อนเรียก “คลองรังสิต”  ว่า “แปดวา” ตามความกว้างของคลอง
บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 22 ก.พ. 11, 22:14


คุณpathuma พูดถึงพวงมะโหด ธงทิว
เมื่อสิบปีก่อน ชนอิสลามที่ผักไห่ ตัดขาย มีหลายแบบ ไม่ทราบว่ายังมีอยู่หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 24 ก.พ. 11, 10:03

“ข้าวตังงานวัด” – เมื่อมีงานวัด ที่วัดจะหุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่และต้องใช้คนที่หุงข้าวกระทะเป็นมาหุง   กระทะข้าวจะตั้งอยู่บนเตาที่ก่อด้วยอิฐและสุมด้วยฟืน คนหุงข้าวจะใช้พายคนข้าวอยู่เรื่อยๆ  การหุงข้าวแบบนี้ไม่ต้อง “เช็ดน้ำ”  พอข้าวสุกได้ที่คนหุงก็จะตักข้าวใส่กระบุงที่รองด้วยใบต้องหรือไม่ก็เป็นกาละมังใบใหญ่ๆ  เมื่อข้าวสวยถูกตักออกไปจากกระทะหมดแล้วข้าวที่เหลือในกระทะจะจับตัวเป็นแผ่นทั่วกระทะกลายจนกลายเป็น “ข้าวตัง”  พอข้าวใกล้สุกเด็กก็จะมารอเตรียมรับแจก ข้าวตัง   คนหุงข้าวจะปล่อยให้ข้าวตังแห้งพอประมาณไม่เกรียมมากนัก จากนั้นจะตัดแจกเด็กๆ รสชาดจืดชืดแต่ก็ถือว่าอร่อยสำหรับเด็กเพราะนานๆจะได้กินสักครั้ง    ถ้าคนหุงใจดีหน่อยก็จะเพิ่มรสชาดข้าวตังโดยการโรยเกลือป่นลงไปเล็กน้อยพอมีรสเค็มหรือไม่ก็โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด  กินตอนอุ่นๆ ได้ทั้งรสเค็มและรสมัน  “ข้าวตังงานวัด” เดี๋ยวนี้หากินยากเพราะหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้ากันหมด
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง