เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 10180 จากกระทู้เรื่อง กรุงธนบุรี มารัตนโกสินทร์ตอนต้นกันบ้างดีมั้ยครับ
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 11 มี.ค. 01, 12:26

จากที่คุยเรื่องเหตุการณ์สมัย กรุงธนบุรี มาเป็น กรุงรัตนโกสินทร์กันแล้ว คราวนี้ผมอยากจะถาม กรณีช่วงเริ่มของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยที่ยังมีวังหน้าอยู่ เพราะ เท่าที่ทราบวิธีสืบราชบัลลังก์ในสมัยก่อน จะเป็นการตั้งน้องขึ้นเป็น วังหน้า อย่าง ร. 1 กับ กรมพระราชวังบวรฯ ในสมัย ร. 2 ก็(ไม่แน่ใจ) คิดว่าคงมี วังหน้าเช่นกัน สมัย ร. 3 ผมยิ่งไม่ทราบใหญ่เลย แต่สมัย ร.4 นั้น สมเด็จพระปิ่นเกล้า ได้สถาปนา เป็นเหมือน กษัตริย์ อีกองค์นึงคู่กับ ร.4 เอง แต่ผมขอเรียกว่า เป็นเคราะห์ดีของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ไม่ต้องมีปัญหาเหมือนกรุงศรีอยุธยา ตรงที่ไม่ต้องมีการแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างอากับหลาน หรือพี่กับน้อง แบบรุนแรงต้องเอากันให้ตายและฆ่าขุนนางทิ้งเยอะ ๆ เลย จากข้อสังเกตุนึง คือ
กรมพระราชวังบวร หลาย ๆ ท่าน มักจะอายุสั้นกว่า องค์พระมหากษัตริย์ เป็นส่วนใหญ่
ถึงจะมีเหตุการณ์หวาดเสียวในสมัย ของ ร.5 บ้างก็ตาม
ส่วนอีกเหตุการณ์นึง ผมยกย่อง ร. 3 ครับ ผมยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมพระองค์ทรงไม่ยกราชสมบัติให้กับเชื้อสายของพระองค์ แต่กับยกคืนให้กับ พระอนุชาต่างมารดา คือ ร. 4 ซึ่งตอนนั้น ผนวชอยู่ ไม่น่าจะมีอำนาจทางการเมืองเหลืออยู่แล้ว เพื่อน ๆ ที่รู้รายละเอียดลองมาคุยกันนะครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 00:27

การตัดสินพระทัยของ ร.3 นั้น ผมว่าน่านับถือท่านมาก
ผมเข้าใจว่า เมื่อได้รับราชสมบัตินั้น ก็เพราะทรงเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ใน ร.2 ในแง่พระชนมายุ (และในแง่ว่าทรงได้ทำราชการถวายมาก่อนนานแล้วด้วย) แต่ไม่ใช่เป็นพระโอรสที่เกิดแต่พระมเหสีเอก ซึ่งคือเจ้าฟ้ามงกุฏ (ร.4)

ผมรู้สึกว่า ร.3 ทรงวางพระองค์เป็นเพียงผู้รักษาแผ่นดินตลอดรัชกาล จนจวนสวรรคต ก็พระราชทานแผ่นดินคืนให้พระบรมวงศานุวงศ์เสนาอำมาตย์ทั้งหลายประชุมกันหาผู้ใดที่จะมีสติปัญญาความสามารถรับภาระเป็นกษัตริย์ต่อไปได้ ก็ให้ถวายแก่เจ้านายพระองค์นั้น ไม่ทรงกีดกันเอาไว้ว่าจะต้องเป็นเชื้อสายโดยตรงของพระองค์  นับว่าทรงเห็นแก่ส่วนรวม น่าสรรเสริญ

ไม่ได้พระราชทานราชสมบัติให้เจ้าฟ้ามงกุฏนะครับ แต่พระราชทานคืนให้เป็นของกลางสุดแต่ที่ประชุมเจ้านายขุนนางจะว่าอย่างไร (ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็เลือกที่จะถวายราชสมบัติให้เจ้าฟ้ามงกุฏ) ดูเหมือนจะมีพระราชปรารภเป็นการส่วนพระองค์ เปรยๆ อยู่เมื่อปลายรัชกาลถึงผู้ที่จะอยู่ในข่ายที่จะสืบราชสมบัติได้ ทรงเอ่ยถึงเจ้านายหลายพระองค์ (ที่มีใช่เป็นเชื้อสายตรงของพระองค์) ซึ่งผมจำรายละเอียดไม่ได้ แต่ทรงเอ่ยถึงเจ้าฟ้ามงกุฏด้วยองค์หนึ่ง ทำนองว่า เจ้าฟ้ามงกุฏก็เป็นองค์หนึ่งที่สามารถจะรับราชสมบัติได้ แต่ทรงติดอยู่นิดเดียวที่สงฆ์คณะธรรมยุติของ ร.4 ทรงเกรงว่าถ้า ร.4 ได้ราชสมบัติก็จะทรงสั่งให้พระไทยห่มผ้าแบบพระมอญทั้งแผ่นดิน เรื่องอื่นๆ รวมทั้งพระปรีชาสามารถของเจ้าฟ้ามงกุฏ ไม่ทรงติดพระทัยสงสัยเลย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เป็นแค่พระราชปรารภส่วนพระองค์เท่านั้น ในที่สุดพระบรมราชโองการสุดท้ายก่อนจะสวรรคต ก็ทรงมอบเวนคืนแผ่นดินแก่ที่ประชุมเจ้านายขุนนางเท่านั้น ไม่ได้ทรงชี้นำว่าควรจะถวายให้ใคร ไม่ให้ใคร เพราะเหตุใด เลย
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 00:36

ขอบคุณครับ คุณ นกข ถ้าอย่างนั้นก็ทรงเป็นที่น่านับถือมากขึ้นไปอีก สำหรับ พระองค์ท่าน ร. 3 ผมรู้สึกว่า ที่ท่านได้ขึ้นครองราชย์ก็เพราะว่าท่าน เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ แล้วก็เหมือนจะปฎิบัติราชกิจแทนพระบิดามานานแล้ว
เห็นจากหลายเรื่อง ทั้งเรื่องค้าขาย เรื่องการชำระเหตุการณ์เจ้าฟ้าเหม็น ส่วนพระบิดาท่านนั้น ทรงพระปรีชามากในเรื่องกวี ซะมากกว่า
บันทึกการเข้า
เอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 01:21

วังหน้า หรือ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวร…(ต่อด้วยพระนาม) มีทั้งสิ้น 6 พระองค์
ในร.1 คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ซึ่งในร.1 มีวังหน้า 2 พระองค์ อีกพระองค์ คือ ร.2 ซึ่งเป็นวังหน้าเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับราชสมบัติ
ในร.2 คือ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
ในร.3 คือ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์
ในร.4 คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงฐานันดรศักดิ์เหนือกรมพระราชวังบวรทุกพระองค์ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจเทียบกับพระมหากษัตริย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ศ.(พิเศษ) สูงกว่า รศ. แต่ก็ไม่ถึง ศ. นั่นแหละ
 ในร.5 คือ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เป็นวังหน้าพระองค์สุดท้าย
 สำหรับพระอัฐิและพระบวรอัฐิประดิษฐานไว้ที่หอพระนาก  ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
 จากนั้น ร.5  จึงสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น คือ สมเด็จพระปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาก็ทิวงคตตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย ตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ ร.6 ในร.6 ก็ไม่มีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เพราะทรงมีพระราชธิดา คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี ปัจจุบันประทับที่วังรื่นฤดี ในรัชกาลปัจจุบัน คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพวรางกูร สิริกิติยสมบูรณ์ สว่างควัฒน์ วรขัตติราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ์ สยามมกุฎราชกุมาร (ถ้าสะกดผิดก็ขอโทษด้วยครับ)


สาเหตุที่ ร.3 ทรงยอมยกราชสมบัติให้กับ ร.4 นั้นอาจจะเนื่องจากในสมัยนั้นมีการแบ่งพรรคพวกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน เพราะอีกฝ่ายเห็นว่า ร.3 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน ร.2 อีกฝ่ายเห็นว่า ร.4 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี แต่ ร.3 พระราชสมภพจากพระราชมารดาสามัญชน ต่อมาสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย ร.3 จึงรับพระราชสมบัติไว้เพราะ ร.4 ทรงผนวชอยู่ แต่ก็รักษาราชสมบัติไว้ให้ ร.4 ด้วยทรงถือว่า ร.4 สมควรที่จะได้รับราชสมบัติด้วยเหตุผลดังกล่าว ร.3 ไม่ได้สถาปนาสมเด็จพระอัครเมสี พระราชโอรสจึงไม่ใช่เจ้าฟ้า ดังนั้นจึงไม่มีพระองค์ใดเข้าข่ายที่จะรับราชสมบัติได้ และอีกอย่างจะเห็นได้ว่า ทรงนำมงกุฎโลหะพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานเหนือนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามซึ่งพระปรางค์ส่วนมากยอดสุดจะเป็นนภศูลหรือฝักเพกา  อันทำให้ผู้คนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปคือ เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือ ร.4


จากสาเหตุที่ไม่มีการแย่งชิงราชสมบัติหรือเหตุการณ์รุนแรงนี้เอง ร.4 จึงทรงสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ สูง 8 นิ้วฟุต ปัจจุบันประดิษฐานที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพราะทรงเชื่อว่ามีเทพยดาปกป้องรักษาประเทศไทย และใน ร.5 ได้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าขึ้น เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ซึ่งมีการพระราชทานตราสืบตระกูลด้วย ในรัชกาลปัจจุบันพระราชทานในวันฉัตรมงคล (5 พฤษภาคม) ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อย่างที่เป็นข่าวทุกปีที่ฝ่ายในหรือฝ่ายหญิงที่ได้รับพระราชทานจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ท่านผู้หญิง สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานในชั้นสายสะพาย และ คุณหญิง สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานในชั้นดวงตราที่ผูกเข้ากับโบว์เป็นรูปแมลงปอ
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 08:39

ได้ยินมาว่ารัชกาลที่ 4 ท่านทรงยก สมเด็จพระปิ่นเกล้าให้เป็นเสมือนเกือบ
กษัตริย์องค์ที่สองของสยามทีเดียว บังเอิญประวัติศาสตร์ตอนนี้ผมไม่ค่อยทราบนัก
อยากทราบว่า เหตุใดพระองค์จึงยกย่องพระอนุชาเช่นนั้น
เป็นเพราะความรักและสนิทสนมกัน หรือเหตุผลทางการเมืองอื่น
เพราะผมเห็นว่าการตั้งกษัตรย์สองคนนั้นดูจะไม่มั่นคงทางการเมืองเท่าไหร่
อย่างน้อยขุนนางใกล้พระมหากษัตรย์ก็คงต้องระแวง หรือ ทูลคัดค้านบ้างล่ะ

แล้วสมเด็จพระปินเกล้า มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองจริงๆ คือมีบทบาท
ทางการเมือง จริงๆ หรือเปล่าครับ หรือว่าเป็นเพียงการยกย่องเฉยๆ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 14:34

เคยอ่านจากหนังสือนิทานโบราณคดีของกรมพระยาดำรงว่าสาเหตุที่ ร.4 ทรงขอให้ยกพระปิ่นเกล้าขึ้นเป็นกษัตริย์คู่กับพระองค์(เมื่อมีข้าราชการไปขอให้พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์)คือ ได้ตรวจดูดวงชะตาของพระปิ่เกล้าแล้วเห็นว่าชะตาแรงนัก จักได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าไม่ยกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน จะเป็นการ "อัปมงคล" ส่วนจะมีเบื้องหลังทางการเมืองหรือไม่ใน เชิญเสวนากันต่อไปตามอัธยาศัยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 15:20

ในหนังสือ เทศนาบวรราชประวัติ  ของพระวันรัต(ทับ)วัดโสมนัสวิหาร ถวายที่วังหน้าในโอกาสเฉลิมพระนครครบ ๑๐๐ ปี  กล่าวถึงแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ เมื่อขึ้นครองราชย์ว่า
"....ทรงพระดำริเห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ซึ่งเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชนั้นทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครและต่างประเทศและขนบธรรมเนียมต่างๆ  และชำนาญในสรรพาวุธในการรณรงค์สงครามเป็นอันมาก   และแคล่วคล่องชัดเจนในการทรงพาหนะมีคชสารเป็นต้น   อนึ่งเป็นที่นิยมนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์...จึงให้รับพระบวรราชโองการพระราชทานพระเกียรติยศยิ่งใหญ่กว่ากรมพระราชวังบวรทุกๆแผ่นดิน"

สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ฝรั่งเรียกว่า The Second King of Siam พระอัธยาศัยชอบด้านการทหารและการช่าง    แต่ไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง   ทรงระวังที่จะไม่ให้เป็นที่ระแวงแคลงพระทัยของพระเชษฐา   ไม่ทรงมีข้าราชบริพารคนโปรดที่เป็นกำลังสำคัญในการสะสมอำนาจ  แม้ว่าทรงชอบฝึกทหารและมีกำลังทหารมากมายในวังหน้าราว ๒ เท่าของวังหลวง ก็ตลอดเวลา  ไม่เคยทำสิ่งใดให้เห็นว่าจะมีไว้เพื่อคุกคามราชบัลลังก์   ตรงกันข้าม เมื่อประชวรใกล้เสด็จสวรรคต  สมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จไปเยี่ยม ก็ทูลว่าทรงสะสมไว้เพื่อคานอำนาจพวกขุนนางที่อาจคิดเป็นใหญ่ได้    ถึงไม่ได้เอ่ยชื่อใครออกมาก็รู้กันว่าขุนนางนั้นหมายถึงสกุลบุนนาค ซึ่งบุคคลสำคัญคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ต่อมาก็เป็นจริงอย่างที่ทรงคาด คือสกุลบุนนาคมีอำนาจสูงสุดอยู่หลายปีตอนต้นรัชกาลที่ ๕

เรื่องความกินแหนงแคลงใจระหว่างสมเด็จพระจอมเกล้าฯและสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มีบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องการเมือง   เป็นเรื่องความขวางพระเนตรเล็กๆน้อยๆ ที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีในตัวพระอนุชา   ถึงกับทรงเขียนเหน็บแนมไว้ ในเรื่องความ popular ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่ไม่ว่าเสด็จออกหัวเมืองที่ไหนต้องมีคนมาถวายลูกสาวเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามกันมาก  และการที่หนังสือพิมพ์ฝรั่งลงชมเชยยกย่องสมเด็จพระปิ่นเกล้ามากกว่าพระองค์   แต่เท่าที่อ่านดิฉันก็ไม่รู้สึกว่าซีเรียสนัก   เพราะพระอัธยาศัยของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เท่าที่สังเกตจากพระราชหัตถเลขา ท่านออกจะเจ้าอารมณ์แบบโกรธง่ายหายเร็ว  มีอารมณ์ขันในการเหน็บแนมแกมประชดเรื่องในครอบครัว  แต่พอถึงเรื่องสำคัญๆก็ทรงสุขุมไม่วู่วาม ไม่ตัดสินลงไปด้วยอารมณ์  

อย่างเรื่องสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ทรงแสดงให้เห็นในระหว่างพี่น้องว่า "เลือดข้นกว่าน้ำ"  เมื่อพระอนุชาประชวรหนักก็เสด็จไปเยี่ยมทุกวัน   ทรงให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ(สมเด็จพระจุลจอมเกล้า) เข้าเฝ้าเป็นที่รักและสนิทสนมของพระปิ่นเกล้าโดยตลอด  ไม่ได้กีดกันห้ามปราม  

เรื่องรังเกียจระหว่างเจ้านายวังหลวงและเจ้านายวังหน้ามาเกิดครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จไปพึ่งอังกฤษจนบ้านเมืองเกือบจะถูกแบ่งเป็น ๒ ประเทศ  เมื่อเรื่องสงบลงเพราะอังกฤษตัดสินใจไม่ทำเช่นนั้น    เจ้านายวังหน้าก็เป็นที่กินแหนงแคลงใจของเจ้านายวังหลวงต่อมา แต่เป็นความรู้สึกภายใน   ไม่ได้กระทบกระทั่งกันจนเป็นเรื่องราว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 15:35

ย้อนกลับไปถึงเรื่องปลายรัชกาลที่ ๓

ตลอดรัชกาลที่ ๓ พระบาสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าจอมหรือเจ้านายสตรีผู้ใดขึ้นเป็นพระอัครมเหสี  พระราชโอรสธิดารวม ๕๑ พระองค์ก็ไม่มีองค์ใดได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้า  คงเป็นแต่พระองค์เจ้าทั้งหมด

พระราชโอรสที่ทรงเป็นกำลังอยู่ในราชการ ก็มีหลายพระองค์ เช่นพระองค์เจ้าโกเมน พระองค์เจ้าคเนจร  พระองค์เจ้าลดาวัลย์  พระองค์เจ้าชุมสาย  พระองค์เจ้าสิงหรา ลฯล เป็นต้น  แต่ก็ไม่ได้สถาปนาองค์ไหนขึ้นเป็นวังหน้า   หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์สิ้นพระชนม์ไปเมื่อต้นรัชกาล ทรงตำแหน่งได้เพียง ๗ ปี

พงศาวดารกล่าวไว้ว่า เมื่อประชวรคราวสุดท้ายก่อนสวรรคต  มีพระราชดำรัสกับพระยาราชสุภาวดีและพระยาศรีพิพัฒน์ (บุญศรี) ว่าทรงรู้พระองค์ว่าพระอาการหนักมาก เหลือกำลังแพทย์จะเยียวยา

"....แล้วทรงมีพระราชดำรัสว่ากรุงเทพมหานครศรีอยุธยาขอบขัณฑสีมาอาณาจักรกว้างขวางพระเกียรติยศก็ปรากฏไปทั่วนานาประเทศ    ถ้าทรงพระมหากรุณาพระราชทางอิสสริยยศมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งพอพระทัย ให้ขึ้นเสวยราชสมบัติแทนพระองค์ต่อไป  แต่ตามชอบอัธยาศัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวนั้น เกลือกเสียสามัคคีรสร้าวฉาน   ไม่ชอบใจไพร่ฟ้าประชาชนและคนมีบรรดาศักดิ์   ผู้ทำราชกิจทุกพนักงานก็จะเกิดอุปัทวภยันตรายเดือดร้อน   แต่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร  จะได้ความลำบากเพราะมิได้พร้อมใจกัน   ด้วยกำลังทรงพระมหากรุณาดำรัสให้จดหมายกระแสพระราชโองการปฏิญาณยกพระนามรัตนตรัยสรณคมน์  อันอุดมเป็นประธานพยานอันยิ่งให้เห็นจริงในพระราชหฤทัยแล้ว   ทรงพระราชดำรัสยอมอนุญาตให้เจ้าพระยาพระคลัง  ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม  พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา  พระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก กับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง   จงมีความสโมสรสามัคคีรสปรึกษาพร้อมกัน   เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร  เป็นศาสนูปถัมภก  ยกพระบวรพุทธศาสนา และปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรรักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง  เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้  ก็สุดแท้แต่จะเห็นดี  ประนีประนอมพร้อมใจกันยกพระบรมวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ถวัลยราช  สืบสันตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด  อย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย   เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้าอย่าให้เกิดรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร
จดหมายกระแสพระราชโองการ ได้พระราชทานให้นำออกมาส่งแก่เสนาบดี ณ วันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ

สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นกวีเอกคนหนึ่งในรัชกาลที่ ๒ แต่พอขึ้นครองราชย์ ทรงละเรื่องบันเทิงทั้งหมด ไม่ว่าการแต่งบทละคร หรือแม้แต่การแสดงละครในวัง

ทรงมีบทพระราชนิพนธ์บางบทก็เอาไว้เป็นตำราจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน  หรือไม่ก็เพื่อสั่งสอนเตือนใจ

ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวปลงสังขารไว้ว่า
(กลอนเพลงยาวเริ่มต้นด้วยบาทที่สองค่ะ)
........................................
สงสารตัวกลัวภัยในเบ็ญจขันธ์
เป็นที่เกิดทุกข์เทวษเภทภยัน
ทั้งโรคันอันตรายระคายเคือง
นักปราชญ์ปรีชาชาญผู้หาญหัก
มิได้รักรูปชีวิตสู้ปลิดเปลื้อง
เจริญเรียนวิปัสสนาปัญญาเรือง
บรรลุเมืองอมรโมกข์ศิวาลัย
นิจจาเอ๋ยกระไรเลยโอ้เบ็ญจขันธ์
จะผูกพันตราตรึงไปถึงไหน
ยามนอนก็ได้นอนสักอึดใจ
ควรหรือไม่เห็นว่าขันธ์นั้นมิดี
ยังจะหลงหมักหมมด้วยสมบัติ
ไม่หลีกละสละสลัดเอาตัวหนี
อันบาปมิตรสนิทต่อหน้าทั้งตาปี
จะยินดีก็ได้แต่ได้สมใจนึก
บุราณท่านย่อมว่าปัญญาปราชญ์
ควรฉลาดในทำนองจะตรองตรึก
ฉันใดจะได้ผลธรรมอันล้ำลึก
จงรู้สึกสติตรองสอดส่องความ
ถึงจะเรืองด้วยบุญเดชาก็อย่าประมาท
ยุงกัดดังมัจจุราชไม่เกรงขาม
แม้นตื่นอยู่จะดูเล่นให้เห็นงาม
ถ้าหลับตาแล้วอย่าถามถึงใครเอย

*************************
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 17:05

อยุธยา เป็นสมัยของ "ลุยเลือดนั่งบัลลังก์ราช"  พี่ชายกับน้องชาย อากับหลาน  มักจะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเมื่อถึงการสืบราชบัลลังก์  เริ่มมาตั้งแต่เจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาตอนต้นอยุธยาโน่นทีเดียว
คือลงเอยด้วยการฆ่ากันตายไปข้างหนึ่ง แทนการประนีประนอมออมชอมกัน หรือยอมรับสิทธิ์ของอีกฝ่าย

ราชวงศ์สุดท้าย คือบ้านพลูหลวงเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดของการรบราฆ่าฟันเมื่อผลัดแผ่นดิน   เกือบจะทุกครั้ง
แม่ทัพนายกองเก่งๆที่เข้าข้างเจ้านายตัวเองก็ต้องเสียชีวิตไปมากมายเมื่อเจ้านายเป็นฝ่ายแพ้   อย่างในกรณีเจ้าฟ้าอภัย
สิ่งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภายในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง  ก่อนจะถึงปลายแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ

เมื่อมาถึงรัตนโกสินทร์   ความรู้สึกหวาดเกรงว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยแบบนี้ยังคงสืบต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๕  เพราะมีเหตุคล้ายคลึงกันในปลายรัชกาลที่ ๑ ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า

พงศาวดารระบุว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาททรงมีเรื่องเคืองพระทัยกับรัชกาลที่ ๑   รุนแรงจนเกือบเกิดศึกภายใน  ดีแต่พระพี่นางทั้งสองทรงไปห้ามและไกล่เกลี่ยไว้ทัน
จึงไม่เกิดศึกชิงราชบัลลังก์ขึ้นมา  แต่ก็ยังไม่วายมีเรื่องกบฎวังหน้า  ทำให้พระเจ้าลูกเธอในกรมพระราชวังบวรฯคือพระองค์เจ้าลำดวนกับพระองค์เจ้าอินทปัต ถูกประหารไป พร้อมกับพระยากลาโหมทองอิน  บุตรบุญธรรมของกรมพระราชวังบวรฯ

เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒  ความสัมพันธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าและกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ดำเนินไปด้วยดีจนตลอดพระชนม์ชีพ
แม้ว่าหม่อมคนสำคัญของกรมพระราชวังบวรฯ คือเจ้าจอมมารดาสำลีวรรณ พระธิดาพระเจ้าตาก ถูกสำเร็จโทษข้อหากบฎพร้อมกรมขุนกษัตรานุชิต   ก็ไม่ได้ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ ทรงคิดกระด้างกระเดื่องต่อพระเชษฐา

เมื่อถึงรัชกาลที่ ๓  ยิ่งไม่มีปัญหา เพราะกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ซึ่งเป็นอาของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  พระชนม์ห่างกันเพียง ๒ ปี  นอกจากจะทรงปรองดองกันดี  เคยร่วมทำศึกมาด้วยกัน   สนิทกันมากเหมือนพี่น้อง      นอกจากนี้ ยังทรงครองตำแหน่งสั้นมาก ๗ ปีก็สิ้นพระชนม์  หลังจากนั้นก็ว่างวังหน้ามาตลอดรัชกาล

มาถึงรัชกาลที่ ๔   ความสัมพันธ์ของพระจอมเกล้าฯและพระปิ่นเกล้า ฯ ก็ไม่เคยมีอะไรบาดหมางรุนแรง เพราะพระจอมเกล้าฯท่านไม่ได้เคืองจริงจัง และพระปิ่นเกล้าก็ทรง "ลง" ให้พระเชษฐาอยู่มาก  อีกอย่างก็ประชวรเป็นวัณโรคอยู่ถึง ๕ ปี  มีบทบาทในตำแหน่งอยู่ประมาณ ๑๐ ปี

มามีเรื่องก็สมัยรัชกาลที่ ๕   หลังจากนั้นก็ทรงยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสิ้นพระชนม์ไป  
เป็นอันจบปัญหาเรื่องวังหลวงกับวังหน้านับแต่นั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 17:23

ที่คุณพระนายถามว่า พระอนุชาต่างมารดา คือ ร. 4 ซึ่งตอนนั้น ผนวชอยู่ ไม่น่าจะมีอำนาจทางการเมืองเหลืออยู่แล้ว

นอกเหนือจากเหตุผลหลายอย่างที่แสดงว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ทรงยอมรับเจ้าฟ้ามงกุฎอยู่ในทีมาตลอดรัชกาล  ยังมีผู้ทำวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์ว่า เจ้าฟ้ามงกุฎได้สะสมบารมีเอาไว้มากตลอดรัชกาลที่ ๓   ผ่านทางการสร้างความมั่นคงทางศาสนา และการเรียนรู้วิชาการตะวันตก  กับการเป็นที่นิยมของขุนนางสำคัญๆ เพราะทรงเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง
บุคคลสำคัญที่ใกล้ชิดเจ้าฟ้ามงกุฎ คือจมื่นไวยวรนารถ (ชื่อคล้ายๆใครเอ่ยในกระทู้ดวลเพลง)  เรียนวิชาจากฝรั่งเช่นกัน คือวิชาต่อเรือ  สามารถพูดและอ่านภาษาอังกฤษได้
ต่อมาบุคคลผู้นี้ก็คือผู้นำขุนนาง-สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  มีอำนาจมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ ตลอดรัชกาลที่ ๔ และต้นรัชกาลที่ ๕
เป็นผู้นำของสกุลบุนนาคที่สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ขึ้นครองราชย์  เมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเปิดโอกาสให้ขุนนางใหญ่น้อยถวายราชสมบัติให้เจ้านายที่เห็นสมควร
และเป็นผู้ถวายตำแหน่งวังหน้าให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  โดยไม่ได้ฟังเสียงเจ้านายองค์อื่นๆเช่นกรมขุนวรจักรธรานุภาพ (ปู่ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ที่ทรงค้านเรื่องนี้
ถ้าหากว่าเจ้าพระยาท่านอยู่ในประวัติศาสตร์อังกฤษ อาจจะได้สมญาว่า the king-maker อีกคนหนึ่งก็เป็นได้
จะว่าไปสมัยนั้นก็หาเจ้านายที่โดดเด่นเป็นพิเศษยากเต็มที  เพราะพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๓ ก็ไม่ปรากฏว่าได้บังคับบัญชาด้านกำลังพล
ก่อนหน้านี้  มีอยู่คนหนึ่งที่พอจะแข็งอยู่ไม่น้อยคือกรมหลวงรักษ์รณเรศ พระโอรสในรัชกาลที่ ๑  ทรงเป็นปรปักษ์หมายเลข ๑ ของเจ้าฟ้ามงกุฎ  
แต่ก็ทรงถูกสำเร็จโทษไปเสียก่อนด้วยหลายข้อหา   ไม่งั้นคงยุ่งเหมือนกัน เพราะทรงตอบพระเจ้าอยู่หัวว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินร. ๓ แล้วจะไม่ยอมเป็นข้าของใคร

เมื่อเวลาล่วงมาถึงปลายรัชกาลที่  ๓  ความรู้สึกว่าคนที่จะมาเป็นกษัตริย์ต้องเป็นจอมทัพอย่างสมัยพระเจ้าตากและร. ๑ เริ่มจางไปแล้ว
เพราะไทยไม่มีข้าศึกศัตรูหนักๆอย่างตอนต้นรัตนโกสินทร์
แต่การคุกคามจากมหาอำนาจทางตะวันตกเริ่มส่อความยุ่งยากมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓    ผู้นำไทยจึงเหมาะแก่คนเฉลียวฉลาดทันเหตุการณ์  ติดต่อสื่อสารกับฝรั่งได้  จำเป็นต้องเก่งทางนโยบายต่างประเทศ (รวมการค้าด้วยค่ะ) มากกว่าการศึกสงคราม
เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีคุณสมบัติดังนั้นครบถ้วน  นอกเหนือจากคุณสมบัติทางชาติกำเนิดซึ่งสูงส่งกว่าเจ้านายทุกพระองค์ในยุคนั้น
เพราะเป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิด   ไม่ใช่พระองค์เจ้าอย่างองค์อื่นๆ
มีเจ้าฟ้าอีกองค์เดียวในสมัยนั้นก็คือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีเดียวกัน
บันทึกการเข้า
Sinanthropus
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 มี.ค. 01, 21:15

เป็นเรื่องของการเมืองเมืองทั้งนั้นแหละครับผมว่า เพราะในช่วงที่ ร.4 ทรงผนวชพระองค์ก็ทรงอาศัยฐานะทางศาสนาเป้นเครื่องมือในการสะสมบารมีอย่างที่คุณเทาชมพูว่าแหละครับ ในเรื่องที่ยกพระปิ่นเกล้าขึ้นมาก็เป็นเรื่องทางการเมืองเช่นเดียวกันและถ้าพูดถึงความสามารถแล้วพระปิ่นเกล้าทรงเหนือกว่าพระมงกุฎมากมายอันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ อีกอย่างในเรื่องอัธยาศัยแล้วมีหลายอย่างมากที่พระมงกุฏไม่ต้องพระทัยในพระปิ่นเกล้า แต่พระองค์ก็ไม่ทรงที่จะกล้าว่ากล่าวตักเตือน และอีกอย่างหนึ่งพระปิ่นเกล้าก็ไม่ทรงกลัวเกรงใครทั้งนั้นยกเว้นแต่พระมารดาของพระองค์
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 11 มี.ค. 01, 00:32

อืมในความเห็นของผม ก็ยังเห็นว่า
สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ท่านทรงเป็นห่วงบ้านเมืองอย่างแท้จริง ท่านได้ราชสมบัติมาเพราะขุนนางสมัย ร. 2 เห็นว่าท่านสมควรเป็น เนื่องจากท่านทำราชการแทนพระบิดาอยู่เกือบตลอดเวลา แต่พอมาถึงสมัยท่าน ถ้าท่านจะคิดทำแต่เพื่อ ลูกของท่าน ท่านก็อาจจะกำจัดหลาย ๆ คนที่เป็นเสี้ยนหนามไปได้ แต่ท่านไม่ทรงทำ ทรงคืนอำนาจให้เหล่าขุนนางตัดสินใจเหมือนสมัยที่ ท่านได้ราชสมบัติมา นับว่าพระองค์ทรงคิดถึงบ้านเมืองมากกว่าพระองค์เองจริง ๆ นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 11 มี.ค. 01, 09:06

ลืมตอบความเห็นของคุณพระนายไปค่ะ
ดิฉันเห็นด้วยกับคุณพระนายว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯท่านเป็นห่วงบ้านเมือง   นอกจากเรื่องเจ้าฟ้ามงกุฎที่ไม่ทรงกีดกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องเงินถุงแดงอีกด้วย เคยเขียนเป็นบทความไว้แล้ว

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงยกย่องสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไว้ ว่า ทรงเป็นผู้มีน้ำพระทัยดี  ปราศจากความอิจฉาริษยา    และทรงอดกลั้นต่อความไม่พอพระทัยหลายๆอย่างได้มาก  อย่างเรื่องที่ไม่โปรดเลยคือพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายห่มผ้าอย่างมอญ ก็ทรงอดกลั้นไว้เกือบ ๒๐ ปี จนประชวรหนักใกล้สวรรคตจึงทรงขอให้สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรไปทูลเจ้าฟ้ามงกุฎถึงเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังมีอีกเกร็ดเล็กๆน้อยๆอีกหลายๆเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ทรงยอมรับเจ้าฟ้ามงกุฎว่าวันหนึ่งก็คงได้ครองราชย์ต่อไป  ตัวท่านเพียงรักษาแผ่นดินไว้เท่านั้น  เพราะเมื่อเริ่มรัชกาล ยังมีศึกที่ต้องระวังอยู่  ต้องอาศัยผู้นำที่มีบารมีสูงพอ

เรื่องเงินถุงแดงก็เป็นเรื่องที่เห็นชัดว่าทรงทำเพื่อแผ่นดิน  เงินทองมากมายที่ค้าสำเภามาไม่ได้ตกทอดไปถึงลูกหลานของท่าน  ส่วนหนึ่งยกให้ทะนุบำรุงวัด อีกส่วนเอาไว้ " ไถ่บ้านเมือง"
เคยได้ยินจาก ม.ร.ว. ผู้หนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดีในรัชกาลที่ ๓ ว่า  เจ้านายราชสกุลในรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้านายที่ยากจนกว่าสายอื่น  แต่ทุกคนก็ภูมิใจมากที่เป็นเช่นนั้น เพราะหมายถึงว่าต้นราชสกุลได้เห็นแก่แผ่นดินมากกว่าประโยชน์สุขส่วนลูกหลาน

เรื่องราวระหว่างรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่รู้บทบาทของตนและยอมรับสิทธิ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง ตามกาลเทศะอันสมควร
อ่านจากหลักฐานต่างๆว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงรู้สึกต่อรัชกาลที่ ๓ อย่างไรเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว  ก็พบว่ามีเหตุการณ์หลายครั้ง ที่แสดงให้เห็นว่าทรงเคารพรัชกาลที่ ๓ อย่างมาก    และทรงสั่งสอนอบรมพระราชโอรสให้ยกย่องรัชกาลที่ ๓ ด้วยเช่นกัน
บันทึกการเข้า
Sinanthropus
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 มี.ค. 01, 18:49

รัชกาลที่ 3 เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งที่ทรงมีบุญคุณต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก วัดต่างๆที่ยังปรากฏบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ก็เป็นส่วนหนึ่งจากเงินค้าขายของท่าน รวมถึงเงินไถ่แผ่นดินที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ ตามที่คุณเทาชมพูกล่าวมาแล้ว และเราจะเห็นว่าในบรรดากษัตริย์องค์ต่างๆก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่เคยที่หาเงินเข้าประเทศได้มากอย่างเช่นรัชกาลที่ 3 ส่วนใหญ่แล้วมีแต่ใช้มากกว่า และในสมัยพระองค์ท่านถือได้ว่าประเทศสยามเป็นประเทศมหาอำนาจมากเช่นกันเพราะในสมัยก่อนใครมีเงินมากก็มีอำนาจมาก
บันทึกการเข้า
นวล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 มี.ค. 01, 23:54

พอดีอ่านเรื่องเกี่ยวกับวังหน้ารัตนโกสินทร์อยู่ เลยขออนุญาตเพิ่มเติม
ข้อมูลเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ค่ะ

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงขึ้นครองราชสมบัติ ก็ได้โปรดเกล้าฯ
สถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จ
พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 เพราะทรงเห็นว่า
เจ้าฟ้าจุฑามณีฯ นั้นมีดวงชะตาแรง ตามวิชาโหราศาสตร์ถือว่า
ชะตาเช่นนี้จะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงครองราชสมบัติ
แต่พระองค์เดียว จะเสด็จอยู่ไไม่ได้นามเท่าใด ก็จะเกิดอัปมงคล
ด้วยไปกีดขวางบารมีของพระอนุชา จึงได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
อีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระบวรราชาภิเษกเป็น
พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 43 พรรษา มีพระนามจารึก
ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็นพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์
มหรรตวรรคโชไชยมโหฬารคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์
บวรจักรพรรดิราช บวรนาถบพิตรพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสิ่งใดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีในพระบรมมหาราชวัง
ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีในพระบวรราชวังดัวย

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้นได้ทรงพระปรีชาสามารถมาก ดังจะ
เห็นได้จากการเข้าร่วมเจรจาทำสัญญากับต่างประเทศหลายครั้งด้วยกัน
เช่น สนธิสัญญากับเซอร์จอห์น เบาริง  ทรงต่อเรือกลไฟเองเพื่อใช้
เป็นเรือรบไว้ใช้ในราชการหลายลำ ฯลฯ
เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 57 พรรษา ครองราชสมบัติอยู่
ประมาณ 15 ปี และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ
ให้เรียกพระศพว่า "พระบรมศพ" และทรงจัดการพระราชพิธีทุกอย่าง
เหมือนพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกประการ เว้นแต่มิได้ประกาศ
ให้โกนหัวไว้ทุกข์ทั้งแผ่นดิน

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะทรงมีพระเกียรติพระยศเทียบเท่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่ไม่ว่าสิ่งใดที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แล้ว จะทรงใช้
"บวร" มิใช่ "บรม" เว้นแต่ "พระบรมศพ" เท่านั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง