เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 38762 ขุนนางวังหน้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 04 ก.พ. 11, 18:53

ก่อนจะมีทำเนียบขุนนางวังหน้าเป็นเรื่องเป็นราวอย่างในสมัยรัตนโกสินทร์      ย้อนหลังไปสมัยอยุธยา ชื่อขุนนางที่ต่อมาสังกัดวังหน้า มีปรากฏอยู่ประปรายในพระราชพงศาวดาร    แต่ตำแหน่งขุนนางฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ไม่มีในทำเนียบในกฎหมายเดิม
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงประวัติของขุนนางวังหน้าไว้ว่า

"เนื่องในเรื่องตำนานของวังหน้าแต่ครั้งกรุงเก่า  ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯไม่ปรากฏทำเนียบในกฏหมายเดิม (ที่พิมพ์เป็นเล่มนั้น)  แต่มีข้าราชการบางตำแหน่งในทำเนียบเดิม เช่น หลวงมหาอำมาตย์ ว่าเป็นสมุหมหาดไทยฝ่ายเหนือ  หลวงธรรมไตรโลก ว่าเป็นสมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ  คำว่า "ฝ่ายเหนือ" ที่กล่าวในทำเนียบหมายความว่าราชธานีฝ่ายเหนือคือ เมืองพิษณุโลกเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย  คือเป็นอัครมหาเสนาบดีของเจ้าที่ครองเมืองพิษณุโลก ถึงเจ้ากรมพระตำรวจ ตำแหน่งขุนราชนรินทร์ ขุนอินทรเดช  ที่เรียกว่า "กรมพระตำรวจนอก" นั้น  ก็เป็นตำแหน่งตำรวจฝ่ายเหนืออย่างเดียวกัน  ด้วยมีปรากฏในเรื่องพระพงศาวดารว่า  เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีมาล้อมกรุงเก่าไว้  พระมหาธรรมราชาที่ครองเมืองพิษณุโลกมาในกองทัพพระเจ้าหงสาวดี  เสด็จเข้ามาว่ากล่าวชาวเมืองให้ยอมแพ้  ชาวเมืองไม่เชื่อกลับเอาปืนยิงพระมหาธรรมราชา  ขุนอินทรเดชเข้าอุ้มพระองค์พาหนีปืนไป  ความอันนี้เป็นหลักฐานว่า  ตำแหน่งขุนอินทรเดชเป็นตำรวจพิษณุโลก  

เลยส่อให้เห็นต่อไปว่าที่ เรียกในทำเนียบว่า "ตำรวจสนม"  ซึ่งขุนพรหมบริรักษ์ ขุนสุริยภักดีเป็นเจ้ากรมนั้น  เดิมเห็นจะเป็นตำรวจสำหรับพระอัคารมเหสี ตำรวจสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เดิมมีแต่ ๔ ตำรวจเท่านั้น  ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายเหนือที่กล่าวมานี้  เห็นจะรวมสมทบเข้าในทำเนียบข้าราชการวังหลวง เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง  หรือมิฉะนั้นก็ในแผ่นดินสมเด็จพระนเศวรมหาราช  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 19:24

ที่จริงตำแหน่งข้าราชการตามทำเนียบฝ่ายพระราชวังบวรฯ ที่ปรากฏในชั้นหลัง  เช่นพระยาจ่าแสนยากร และพระยากลาโหมราชเสนาเป็นต้น  น่าจะเกิดขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช  ด้วยมีพระเกียรติยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน  แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร  มามีชื่อขุนนางวังหน้าตามทำเนียบใหม่  บางตำแหน่งปรากฏต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้านารายณ์มหาราชเป็นพระมหาอุปราชในแผ่นดินสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  จึงสันนิษฐานว่าจะพึ่งตั้งทำเนียบข้าราชการวังหน้าสังกัดเป็นหมวดหมู่ เมื่อตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาเป็นเดิมมา 
ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯที่ตั้งในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น  เอาทำเนียบอย่างครั้งกรุงเก่ามาตั้ง  แล้วมาให้เพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔  ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ตรงกับทำเนียบวังหลวง  เหตุด้วยมีพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ตำแหน่งข้าราชการวังหน้าจึงมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

อนึ่ง ตามประเพณีมีแต่โบราณมา  เวลาว่างพระมหาอุปราช  จะเป็นด้วยเหตุพระมหาอุปราชเสด็จผ่านพิภพเก็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ดี  หรือพระมหาอุปราชสวรรคตก็ดี  ข้าราชการวังหน้าต้องมาสมทบเป็นข้าราชการวังหลวง  ผู้ที่รับราชการในกรมไหนในวังหน้า  ก็มารับราชการในกรมนั้นในพระราชวังหลวง  แต่นั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งทั้งตำแหน่งข้าราชกาลฝ่ายวังหลวงและ วังหน้า  จนทรงตั้งพระมหาอุปราชเมื่อใด  ข้าราชการที่ตำแหน่งเป็นฝ่ายพระราชวังบวรฯ ก็กลับไปรับราชการในพระมหาอุปราช  เป็นประเพณีมีมาดังนี้

พิเคราะห์ ในทางพงศาวดารของข้าราชการวังหน้าในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้  เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเลือกสรรผู้ซึ่งทรงคุ้นเคยใช้สอยในพระองค์มาก่อน  มาตั้งเป็นข้าราชการวังหน้าตามพระอัธยาศัย  ข้าราชการวังหลวงกับวังหน้าครั้งนั้นเสมอเป็นต่างพวก      มาในตอนปลายจึงมีเหตุเกิดอริกันดังอธิบายมาแล้ว  เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว  ข้าราชการวังหน้ามาสมทบอยู่ในพระราชวังหลวง ๓ ปี  ขุนนางครั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่ร้ายก็ถูกกำจัดไป  ที่ดีก็ย้ายไปรับราชการตำแหน่งในพระราชวังหลวง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 21:05

เข้าสู่เรื่องเลยดีกว่า

ตำแหน่งขุนนางสำคัญที่สุดของวังหน้า คือเจ้าพระยามุขมนตรี  ศรีศุภสุนทร บวรราชมหาอมาตยาธิบดี พิริยพาห   เป็นตำแหน่งสูงสุดของกรมมหาดไทย    ศักดินาเดิม ๘๐๐๐ แล้วเพิ่มเป็น ๑๐๐๐๐ พิเศษ
เป็นตำแหน่งเทียบเท่าสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้า

ในกรมมหาดไทยวังหน้า  รองลงมาคือพระยาจ่าแสนยากร    ศักดินา ๕๐๐๐  เป็นตำแหน่งเทียบเท่าสมุหนายก

พระยาอิศรานุภาพ      จางวาง   ศักดินา ๕๐๐๐
พระยาราชโยธา       เจ้ากรมมหาดไทย  ศักดินา  ๑๕๐๐    เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ   เทียบเท่าพระยามหาอำมาตย์ของวังหลวง
พระยาสุเรนทรราชเสนา      ศักดินา ๕๐๐   ปลัดทูลฉลอง  เทียบเท่าพระยาราชนิกุลของวังหลวง
พระอินทรารักษ์        ศักดินา ๔๐๐    ตำแหน่งปลัดชี   เทียบเท่าพระยาศรีสหเทพของวังหลวง
พระเสนาพิพิธ          ศักดินา  ๕๐๐  ในหนังสือเขียนตำแหน่งไว้ว่า พิเศษ จึงไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร
พระรักษ์เสนา           ศักดินา  ๔๐๐  ตำแหน่งปลัดทูลฉลองฝ่ายเหนือ  เทียบพระยาราชเสนาของวังหลวง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 21:18

ขอออกนอกเรื่องหน่อยค่ะ
จำได้ว่าพระยาจ่าแสนยากรที่ปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์อยุธยาตอนปลาย   คือพระยาจ่าแสนยากร(เสน) ขุนนางวังหน้าของเจ้าฟ้าอุทุมพร  กรมขุนพรพินิจ   ภรรยาชื่อท่านบุญศรี    ท่านเป็นบิดาของพระยาอรรคมหาเสนา หรือเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค)   ที่มาของชื่อสกุลบุนนาค

เมื่อกรมขุนพรพินิจขึ้นครองราชย์ ทรงเลื่อนพระยา จ่าแสนยากร (เสน)  ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหกลาโหม อัครมหาเสนาบดีปักษ์ใต้ ซึ่งมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร"

พระยาจ่าแสนยากร  สืบเชื้อสายลำดับชั้นที่ ๕ จากท่านเฉกอะหมัด หรือเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีต้นสกุลบุนนาค  เป็นที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม และตำแหน่งสุดท้ายของท่าน เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

ในเว็บของสกุลบุนนาคบอกว่า พระยาจ่าแสนยากรได้เลื่อนเป็นสมุหกลาโหม     แต่เช็คจากตำแหน่งขุนนางวังหน้า ตำแหน่งของพระยาจ่าแสนยากรเทียบเท่าสมุหนายก   ถ้าจะเลื่อนขึ้นก็น่าจะเป็นสมุหนายก    แต่กลับข้ามไปเป็นสมุหกลาโหม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 21:38

ในเว็บของสกุลบุนนาคบอกว่า พระยาจ่าแสนยากรได้เลื่อนเป็นสมุหกลาโหม     แต่เช็คจากตำแหน่งขุนนางวังหน้า ตำแหน่งของพระยาจ่าแสนยากรเทียบเท่าสมุหนายก   ถ้าจะเลื่อนขึ้นก็น่าจะเป็นสมุหนายก    แต่กลับข้ามไปเป็นสมุหกลาโหม

มันก็ไม่แน่นอนไม่ใช่เหรอครับอาจารย์เทา
แล้วแต่พระราชดำริของพระมหากษัตริย์ว่าใครจะเหมาะกับตำแหน่งหน้าที่ราชการอันไหนมากกว่า
อย่างสมเด็จองค์ใหญ่ ครั้งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ยังได้มากำกับกรมกลาโหมเลยนะครับ

เจ้าคุณบดินทร์ (สิงห์) เอง เมื่อตอนรัชกาลที่ 2 ก็ยังเป็นที่พระยาเกษตรรักษา อธิบดีกรมนาในวังหน้า
แถมยังนอกราชการเสียอีก พอผลัดแผ่นดินได้กระโดดมาเป็นพระยาราชสุภาวดีเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 21:53

เป็นการตั้งข้อสังเกตเฉยๆค่ะ     เพราะข้อแย้งก็เป็นอย่างที่คุณ Art ว่ามาคือตำแหน่งขุนนางไทยไม่ได้เป็นไปตามสายงานตรงๆ  จะเฉียงหรือโดดข้ามไปกรมไหนก็ได้ทั้งนั้น     บางทีมันก็ทำให้ตัดสินยากเหมือนกันว่าข้อมูลไหนถูกผิดกันแน่
อย่างหนึ่งคือเราไม่รู้ที่มาที่ไปของการไปกินตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง     ตัวอย่างที่คุณยกมา  ก็พอรู้ประวัติท่านเหล่านั้นได้  แต่ของพระยาจ่าแสนยากร ดิฉันไม่รู้    ตั้งข้อสังเกตมาเผื่อใครจะรู้รายละเอียดบ้าง ว่าจากสมุหนายกวังหน้า ไปเป็นสมุหกลาโหมวังหลวง เพราะอะไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 ก.พ. 11, 20:04

(ต่อ)

พระโยธาธิราช          ศักดินา ๔๐๐    เทียบภิรมย์ราชา 
พระมหาวินิจฉัย         ศักดินา ๔๐๐    ชำระความในมหาดไทย   เทียบราชพินิจจัย

มาถึงตรงนี้  ดิฉันไม่แน่ใจว่าขุนนางวังหลวงทั้งสองท่านข้างบนนี้ เป็นพระยาหรือว่าเป็นพระ    เดาจากศักดินาสองเท่าของขุนนางวังหน้าว่า ภิรมย์ราชาและราชพินิจจัยมีศักดินา ๘๐๐      แต่ไม่รู้ว่า ๘๐๐ ถึงขั้นพระยาหรือยัง   
ใครทราบช่วยบอกด้วยนะคะ

หลวงฤทธามาตย์       ศักดินา ๔๐๐   ปลัดบาญชี  (คงตัวสะกดแบบเดิม) ฝ่ายเหนือ  เทียบศรีเสนา
หลวงอนุรักษ์ภักดี      ศักดินา ๔๐๐    เทียบอนุชิตพิทักษ์
หลวงภักดีนุรักษ์        ศักดินา ๔๐๐    เทียบอนุรักษ์ภูเบศร์
หลวงบำรุงภูเบศร์      ศักดินา ๔๐๐    เทียบเสนาภักดี
หลวงภักดีณรงค์        ศักดินา ๔๐๐    เทียบเสนีพิทักษ์
หลวงโยธาสงคราม    ศักดินา ๔๐๐    นายงานมหาดไทย
รายชื่อทางขวามือที่ดิฉันไม่ได้ใส่ว่าเป็นหลวงหรือพระ   เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นถึงขั้นไหนกันแน่   

หลวงบุรินทามาตย์     ศักดินา ๑๒๐๐  เจ้ากรมพลัมภัง  เทียบ(พระยา)จ่าแสนบดี
สงสัยว่าพิมพ์ผิด    ศักดินาตั้ง ๑๒๐๐  ระดับเจ้ากรม เป็นแค่คุณหลวงไม่ได้   ต้องเป็นถึงพระยา

หลวงพินิจอักษร        ศักดินา ๓๐๐    เสมียนตรา
คงจำได้   สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เคยทรงรับราชการในกรมมหาดไทย รับบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงพินิจอักษร มาก่อนในปลายสมัยอยุธยา
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 ก.พ. 11, 22:57

(ต่อ)
พระโยธาธิราช          ศักดินา ๔๐๐    เทียบภิรมย์ราชา  
พระมหาวินิจฉัย         ศักดินา ๔๐๐    ชำระความในมหาดไทย   เทียบราชพินิจจัย

มาถึงตรงนี้  ดิฉันไม่แน่ใจว่าขุนนางวังหลวงทั้งสองท่านข้างบนนี้ เป็นพระยาหรือว่าเป็นพระ    เดาจากศักดินาสองเท่าของขุนนางวังหน้าว่า ภิรมย์ราชาและราชพินิจจัยมีศักดินา ๘๐๐      แต่ไม่รู้ว่า ๘๐๐ ถึงขั้นพระยาหรือยัง  
ใครทราบช่วยบอกด้วยนะคะ

พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน

กรมมหาดไท            ขุนราชพินิจใจ ราชปลัดถือพระธรรมนูน    นา ๘๐๐

ส่วนที่ภิรมย์ราชาไม่พบในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนครับ
ทว่าเมื่อดูจากศักดินา ๘๐๐ เท่ากับขุนราชพินิจใจ และขุนอื่นๆ เช่น ขุนอายาจักร ขุนบุรินธร ขุนเทพอาญา ขุนราชอาญา
รวมถึงหลวงเสนาภักดี หลวงอนุชิตพิทักษ์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ที่มีศักดินา ๘๐๐ เท่ากันแล้ว
สันนิษฐานได้ว่าหากมีที่ภิรมย์ราชาในสมัยอยุธยา ก็น่าจะมีบรรดาศักดิ์เป็น "ขุน" หรือ "หลวง" นะครับ

ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์คงมีการเลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นตามหน้าที่วงงานรับผิดชอบที่มากขึ้น
(เช่นช่วงเวลาที่มีการกำหนดทำเนียบข้าราชการวังหน้า เพราะสมัยอยุธยา "ราชนิกุล" ยังเป็นแค่ขุนตามนาพลเรือน ยังไม่ได้เป็น "พระยา")
จนบรรดาศักดิ์น่าจะสูงจนชั้น "พระ" หรือ "พระยา" ดังในสมัยรัชกาลที่ 5-6
เช่น พระยาราชพินิจจัย (อุทัยวรรณ อมาตยกุล)
พระภิรมย์ราชา (พร้อม วาจรัต)
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 05 ก.พ. 11, 23:28

หลวงฤทธามาตย์       ศักดินา ๔๐๐   ปลัดบาญชี  (คงตัวสะกดแบบเดิม) ฝ่ายเหนือ  เทียบศรีเสนา
หลวงอนุรักษ์ภักดี      ศักดินา ๔๐๐    เทียบอนุชิตพิทักษ์
หลวงภักดีนุรักษ์        ศักดินา ๔๐๐    เทียบอนุรักษ์ภูเบศร์
หลวงบำรุงภูเบศร์      ศักดินา ๔๐๐    เทียบเสนาภักดี
หลวงภักดีณรงค์        ศักดินา ๔๐๐    เทียบเสนีพิทักษ์
หลวงโยธาสงคราม    ศักดินา ๔๐๐    นายงานมหาดไทย
รายชื่อทางขวามือที่ดิฉันไม่ได้ใส่ว่าเป็นหลวงหรือพระ   เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นถึงขั้นไหนกันแน่   

หลวงเสนาภักดี                                นา ๘๐๐
หลวงอนุชิตพิทักษ์                             นา ๘๐๐
หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์                            นา ๘๐๐
หมื่นศรีเสนา ปลัดบัญชีกรมมหาดไทฝ่ายเหนือ นา ๕๐๐
อ้างอิงจาก พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน

หลวงบุรินทามาตย์     ศักดินา ๑๒๐๐  เจ้ากรมพลัมภัง  เทียบ(พระยา)จ่าแสนบดี
สงสัยว่าพิมพ์ผิด    ศักดินาตั้ง ๑๒๐๐  ระดับเจ้ากรม เป็นแค่คุณหลวงไม่ได้   ต้องเป็นถึงพระยา

พระยาจ่าแสนยบดี เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายพลำพัง นา ๒๔๐๐
หลวงบุรินทรามาตย์ นา ๑๒๐๐ คงจะถูกแล้วเพราะได้นากึ่งหนึ่งของขุนนางวังหลวง
ส่วนบรรดาศักดิ์ที่เป็นชั้น "หลวง" นั้น ไม่แน่ใจว่าถูกหรือไม่ แต่เคยพบว่า ราชทินนาม "บุรินทรามาตย์" นั้น
มีบรรดาศักดิ์เป็นแค่ "หลวง" ครับ ยังไม่เคยพบสูงกว่านั้นเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 21:44

ตอนแรก เข้าใจว่าผิด คือศักดินา 1200 ไม่น่าเป็นแค่คุณหลวง   เพราะถัดขึ้นไปข้างบน  ศักดินา 400 ขึ้นเป็นคุณพระกันแล้ว    ถ้าศักดินาตั้ง 1200 ยังเป็นแค่หลวง แถมยังรับผิดชอบงานระดับเจ้ากรม  ก็น่าน้อยใจแทนคุณหลวงบุรินฯ  
ส่วนที่คุณ art ออกความเห็นมา  ดิฉันสังเกตว่าในราชทินนามเดียวกัน   บรรดาศักดิ์ในสมัยอยุธยา จะต่ำกว่าสมัยรัตนโกสินทร์       ถ้าเป็นหลวงบุรินทามาตย์สมัยอยุธยาจะมีบรรดาศักดิ์แค่หลวง  ก็ไม่แปลก   แต่ถ้ามาถึงวังหน้ารัตนโกสินทร์ ศักดินาขึ้นถึง 1200    บุรินทามาตย์น่าจะถึงขั้นพระยาหรือพระ  

แต่เมื่อมาเช็คศักดินาของขุนนางวังหน้าในหนังสือเล่มนี้  พบอะไรแปลกๆ อย่าง ศักดินากับบรรดาศักดิ์ไม่ยักไปทางเดียวกัน      มีขุนนางหลายคนบรรดาศักดิ์เดียวกันแต่ศักดินาแตกต่างกันลิบลับ    คุณหลวงบางท่านศักดินา 200 อีกท่านก็หลวงเหมือนกัน ศักดินา 1500
เช่นหลวงรจนานิมิตร  ปลัดจางวางกรมช่างเขียนซ้าย ศักดินา 200   แต่หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรมอาลักษณ์  ศักดินาขึ้นไปถึง 1500  เป็นคุณหลวงเหมือนกันทั้งคู่
คุณหลวงลิขิตปรีชานั้น ศักดินาเท่ากับพระยาบริรักษ์ราชา  จางวางกรมพระตำรวจซ้าย  คือ 1500   พระยาบริรักษ์ราชา เทียบกับวังหลวงคือพระยาอภัยรณฤทธิ์

กรมพระตำรวจของวังหน้า  มีเจ้ากรมเป็นชั้นคุณพระ แต่ศักดินาน้อยกว่าคุณหลวงกรมอาลักษณ์เสียอีก คือแค่ 1000 เท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 22:03

ขอเวลานอก
หลังจากพิมพ์รายชื่อมาพักใหญ่ ก็คิดได้ว่าน่าจะสแกนคงประหยัดเวลาพิมพ์ได้มากกว่า   ปัญหาคือเวลาวางหนังสือคว่ำหน้าลงบนสแกนเนอร์   หนังสืออายุ 43 ปีเล่มนี้ก็เริ่มหลุดจากสันปกซึ่งกาวหมดประสิทธิภาพไปนานแล้ว    ทำให้ต้องจับอย่างเบามือมาก   กลัวจะหลุดออกมาหมดทั้งเล่ม
ขอท่านผู้รู้เรื่องหนังสือเก่า กรุณาแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 22:13

ใช้กล้องถ่ายรูป ใช้mode macro ถ่าย หนังสือจะไม่ช้ำเพราะไม่ต้องแบะสุดๆ แบบสแกนครับ
รูปที่ได้ เอามาcropซะหน่อย แม้จะเพี้ยนไปบ้าง แต่พออ่านออก ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 22:20

ขอบคุณมากค่ะ คุณ Navarat.C
กล้องถ่ายรูปของดิฉันเป็นภาษาไทยค่ะ    เดาว่า mode macro คือถ่ายภาพระยะใกล้ 
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 22:40

ตอนแรก เข้าใจว่าผิด คือศักดินา 1200 ไม่น่าเป็นแค่คุณหลวง   เพราะถัดขึ้นไปข้างบน  ศักดินา 400 ขึ้นเป็นคุณพระกันแล้ว    ถ้าศักดินาตั้ง 1200 ยังเป็นแค่หลวง แถมยังรับผิดชอบงานระดับเจ้ากรม  ก็น่าน้อยใจแทนคุณหลวงบุรินฯ   
ส่วนที่คุณ art ออกความเห็นมา  ดิฉันสังเกตว่าในราชทินนามเดียวกัน   บรรดาศักดิ์ในสมัยอยุธยา จะต่ำกว่าสมัยรัตนโกสินทร์       ถ้าเป็นหลวงบุรินทามาตย์สมัยอยุธยาจะมีบรรดาศักดิ์แค่หลวง  ก็ไม่แปลก   แต่ถ้ามาถึงวังหน้ารัตนโกสินทร์ ศักดินาขึ้นถึง 1200    บุรินทามาตย์น่าจะถึงขั้นพระยาหรือพระ 

แต่เมื่อมาเช็คศักดินาของขุนนางวังหน้าในหนังสือเล่มนี้  พบอะไรแปลกๆ อย่าง ศักดินากับบรรดาศักดิ์ไม่ยักไปทางเดียวกัน      มีขุนนางหลายคนบรรดาศักดิ์เดียวกันแต่ศักดินาแตกต่างกันลิบลับ    คุณหลวงบางท่านศักดินา 200 อีกท่านก็หลวงเหมือนกัน ศักดินา 1500
เช่นหลวงรจนานิมิตร  ปลัดจางวางกรมช่างเขียนซ้าย ศักดินา 200   แต่หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรมอาลักษณ์  ศักดินาขึ้นไปถึง 1500  เป็นคุณหลวงเหมือนกันทั้งคู่
คุณหลวงลิขิตปรีชานั้น ศักดินาเท่ากับพระยาบริรักษ์ราชา  จางวางกรมพระตำรวจซ้าย  คือ 1500   พระยาบริรักษ์ราชา เทียบกับวังหลวงคือพระยาอภัยรณฤทธิ์

กรมพระตำรวจของวังหน้า  มีเจ้ากรมเป็นชั้นคุณพระ แต่ศักดินาน้อยกว่าคุณหลวงกรมอาลักษณ์เสียอีก คือแค่ 1000 เท่านั้น

หลวงลิขิตปรีชา นา ๑๕๐๐ อาจเทียบได้กับที่ศรีภูริปรีชา นา ๕๐๐๐
ดูแล้วผมว่า ทางวังหน้าอาจจะอั้นศักดินาของข้าราชการไว้เพียง ๑๕๐๐ (ยกเว้นพวกจตุสดมภ์ที่ได้ ๕๐๐๐)
บางทีเพราะเหตุว่าหากให้หลวงลิขิตปรีชา ศักดินา ๒๕๐๐ ตามอย่างธรรมเนียมกึ่งหนึ่งแล้ว
มันก็จะมากกว่าพระยาบางคนที่มีศักดินาเพียง ๑๕๐๐ หรือ ๑๐๐๐ เช่นพระยาบริรักษ์ราชา เป็นต้น

แต่ครั้นจะหาเหตุว่าทำไมบางตำแหน่ง บรรดาศักดิ์กับหน้าที่การงาน และศักดินาไม่สัมพันธ์กันเลย อย่างอาจารย์เทาว่า
ข้อนี้ไม่อาจทราบได้จริงๆ  ฮืม
แต่จะลองหาเหตุผลมาอ้างอิงครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 07 ก.พ. 11, 22:55

เรื่องศักดินาขุนนางวังหน้า ที่สวนทางกับบรรดาศักดิ์ มีอยู่ตลอดเล่ม   ตอนนี้กำลังงง  จัดระเบียบไม่ถูก 
คุณ art กรุณาอดใจรอดิฉันถ่ายรูปหนังสือมาลงให้ดู   รับรองว่าได้การบ้านไปขบคิดอีกนาน

ส่วนที่คุณ art สงสัยว่าท่านอั้นศักดินาขุนนางวังหน้าไว้แค่ 1500 เว้นจตุสดมภ์ก็ไม่ใช่     มีหลายท่านได้  2500- 3000 กัน
เช่น พระสุนทรโวหาร  จางวางกรมอาลักษณ์วังหน้า  ศักดินา 2500    ถ้าเราเชื่อว่าเป็นสุนทรภู่   ท่านก็น่าจะบิ๊กเบิ้่มพอสมควรในวังหน้า
พระยาวงษาภรณภูษิต จางวางกรมพระภูษามาลา  ศักดินา 3000    แต่พอถึงกรมพระคชบาลซึ่งน่าจะสำคัญกว่ากรมเสื้อผ้า   จางวางคือพระยากฤษณรักษ์ (เทียบพระเพทราชา) ศักดินาแค่ 2500  เท่าจางวางกรมอาลักษณ์เท่านั้นเอง

อาภัพกว่านี้คือกรมหมอ  จางวางเป็นพระยา ชื่อพระยาประเสริฐสาตรธำรง  ศักดินา 1000 น้อยกว่าคุณหลวงลิขิตปรีชาข้างบนนี้เสียอีก

ถ้าย้อนกลับไปเกิดสมัยนั้น   จะเกิดเป็นคุณหลวงหรือพระยาวังหน้า ดีล่ะนี่?
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง