ที่ อ. เทาชมพู กรุณาตั้งข้อสังเกตนั้น ผมเองก็ไม่ทราบ แต่ขอแสดงความคิดเห็นว่า
คงเพราะ ศักดิ์ของกรม ก็เป็นได้ (แต่ถ้าเป็นผู้ใกล้ชิด ก็อาจได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ หรือ ศักดินา เป็นกรณีพิเศษกว่าในทำเนียบ)
กล่าวคือ ถึงแม้มีหน้าที่กว้างขวาง มีศักดินามาก แต่ศักดิ์ของกรม ไม่สูงพอที่จะเป็นได้เกินกว่าหลวง
สมัยก่อน ศักดิ์ของกรม ไล่จาก อัครมหาเสนาบดี ๒ จตุสดมภ์ ๔ มนตรี ๖
เมื่อเทียบทั้ง พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน พระไอยการตำแหน่งนาทหาร และ พระไอยการตำแหน่งนาหัวเมือง
(สองฉบับหลัง มักเรียกรวมกัน เพราะเขียนไว้ต่อกัน แต่ถ้าพิจารณาดี ๆ จะเห็นว่า แยกกันต่างหาก)
บางครั้ง เจ้าเมืองเอกอุ หรือ เมืองเอก อาจเป็นถึงที่ เจ้าพญา ในขณะที่ จตุสดมภ์ บางครั้งอาจเป็นเพียง พญา
ถึงจะมีศักดินาเท่ากัน แต่โดยศักดิ์แล้ว ถือว่า เสนาบดีจตุสดมภ์ สูงกว่า เจ้าเมืองหัวเมืองเอกอุ หรือ หัวเมืองเอก
(ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดนะครับ

)
ส่วนในพระนคร (หรือที่ปัจจุบันคือ ส่วนกลาง) กรมอื่น ๆ ถือว่า ศักดิ์ของกรม ต่ำกว่า อัครมหาเสนาบดี ๒ จตุสดมภ์ ๔ มนตรี ๖ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ถือว่าเป็นโดย นิตินัย (de jure) เพราะในทางพฤตินัย (de facto) เจ้ากรมที่ศักดิ์ต่ำกว่า อาจมีกำลัง อำนาจ บารมีมาก เช่น กรมมหาดเล็ก กรมพระคชบาล กรมอาสาหกเหล่า
และบางครั้ง ขึ้นกับความสามารถ บารมี และความใกล้ชิด ของบุคคลด้วย
ถ้าลองเทียบในปัจจุบัน
ในราชการบริหารส่วนภูมิภาค (หัวเมือง) ผู้ว่าราชการจังหวัด (เจ้าเมือง) เป็น ผู้บริหารระดับสูง (ระดับ ๑๐ เดิม) เท่ากับ อธิบดี และ รองปลัดกระทรวง
แต่หลายครั้ง ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ามาเป็น รองอธิบดี ในราชการบริหารส่วนกลาง (ในพระนคร) ซึ่งเป็นเพียง ผู้บริหารระดับต้น (ระดับ ๙ เดิม) ระดับเดียวกับ รองผู้ว่าราชการจังหวัด
และเห็นด้วยกับ คุณ art47 ครับ ว่า
ปลัดทูลฉลอง ไม่ได้สำคัญเท่า ปลัดกระทรวง ดั่งในปัจจุบัน
เพราะ กรม ในสมัยนั้น แทบจะเป็น เอกเทศ อาจยกเว้น กรมที่ระบุชัดว่า ขึ้นกับกรมใด
สมุหกลาโหม สมุหนายก ก็มีอำนาจในทางพฤตินัยเหนือ กรมกลาง กรมฝ่ายเหนือ และกรมพะลัมภัง เท่านั้น
แม้ทางนิตินัย จะเป็นอัครมหาเสนาบดี
ปลัดทูลฉลอง จึงเป็นเหมือน ปลัดกรม ของกรมนั้น ๆ เท่านั้น
เพียงแต่กรมอัครมหาเสนาบดี กรมจตุสดมภ์ และกรมใหญ่ ๆ
ปลัดกรม ต้อง เข้าเฝ้า ฯ แทน เจ้ากรม (ที่เป็นระดับเสนาบดี หรือ เทียบเท่า หรือ ตำแหน่งสำคัญ ๆ) จึงเรียกว่า ปลัดทูลฉลอง
ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย ไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือ เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ หรือ เจ้ากรมพะลัมภัง
สุดท้าย การปรับเปลี่ยนตำแหน่ง บางครั้ง อาจไม่ได้เป็นเฉพาะกรณี
เมื่อเกิดเหตุสำคัญมาก ๆ ก็อาจปรับเปลี่ยน ทำเนียบในพระไอยการได้
เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ให้แบ่ง ทหาร พลเรือน
พอมาถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทรงเป็นสมุหกลาโหม และมีอำนาจจนก่อกบฏได้ จึงให้แบ่งเป็น ดูแลหัวเมือง ปากใต้ ฝ่ายเหนือ (ข้อสันนิษฐาน)
หรือ เมื่อสมุหกลาโหม มีความผิด (สมัยพระเจ้าปราสาททอง ถึง พระเจ้าบรมโกศ โดยมากว่า พระเพทราชา หรือ พระบรมโกศ - ข้อสันนิษฐาน)
ก็ให้เอาหัวเมืองปากใต้ ไปขึ้นกับกรมท่า
พอสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ให้แบ่งหัวเมืองปากใต้อยู่กับกลาโหม ฝ่ายเหนือกับมหาดไทย และฝ่ายตะวันออกกับกรมท่า
หรือเวลาจัดทำทำเนียบขุนนาง
ก็ยึดเอาแบบอย่างในรัชกาลก่อน ๆ มาจดไว้ ทั้งบรรดาศักดิ์ ราชทินนาม
ซึ่งอาจไม่ตรงกับในทำเนียบพระไอยการ หรือ ในเวลาปัจจุบัน (ที่จัดทำนั้น)
เพราะในแต่ละช่วงเวลา อาจโปรดเกล้า ฯ ให้ขุนนางแต่ละท่าน มีบรรดาศักดิ์ ราชทินนาม และ ศักดินา ตามพระราชประสงค์ (ที่ไม่ขัดกับพระไอยการ และธรรมเนียมประเพณีมากเกินไป)