เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5970 ละคอนผู้หญิงในราชสำนัก
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 01 ก.พ. 11, 16:07

  


     อ่านมาจาก  ศิลปละคอนรำ หรือ คู่มือนาฎศิลปไทย    เรียบเรียงโดย  ธนิต  อยู่โพธิ

ศิลปากรจัดพิมพ์ เป็นครั้งที่ ๑  พ.ศ. ๒๕๓๑  เพราะฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ ในปี ๒๕๑๖ เป็นหนังสือหายากไปแล้ว


คำนำในการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๑   เล่าว่า  "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร  ทรงเป็นเจ้านายที่ทรงพระปรีชารอบรู้และ

ฝักใฝ่พระทัยในศิลปและวรรณคดี    ได้ทรงเกื้อกูลและอุปถ้มภ์ทั่งศิลปและศิลปินตลอดมา

ได้ทรงชักชวนให้คุณธนิต  อยู่โพธิ  เขียนเรื่องงานศิลปเกี่ยวกับโขนต่อไปหลังจากที่ได้เขียนเรื่องโขนเมื่อหลายปีมาแล้ว


       คนไทยเป็นนักศิลปมาเป็นเวลาช้านาน  ได้เล่นได้แสดง  และได้ดูได้ชมโขนละคอนฟ้อนรำดุริยดนตรีกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

ทั้งเล่นได้แสดงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  แต่ไม่มีหนังสือคู่มือ  หรือตำรา  ในทางนี้เท่าที่ควรมี    

อาจจะเป็นเพราะศิลปินแต่ก่อน  สนใจในทางร้องรำทำเพลง  มิได้ขีดเขียนตำรากันไว้  หรืออาจเป็นอย่างที่กล่าวกันมา  

ว่าศิลปินบางท่านหวงวิชาความรู้  ปิดวิชา   จึงมิได้เขียนเป็นตำราไว้"


หนังสือเล่มนี้  คุณธนิตและผู้มีนามร่วม  เขียนถวายในมงคลวารแห่งการประสูติ  ครบพระชันษา ๕ รอบ ถวาย  

พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ก.พ. 11, 16:16



ขอคัดลอกบทความตอน  ละคอนผู้หญิงในราชสำนัก  หน้า  ๕๑ - ๖๑

เป็นเรื่องราวของเจ้าจอมละคอนตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นต้นมา


เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

นำมาฝาก เรือนไทย ในเวลาอันเย็นสบาย ลมรำเพย  และการเวกในสวนส่งกลิ่นฟุ้ง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ก.พ. 11, 17:19



     
       "ละคอนผู้หญิงครั้งรัชกาลที่ ๑  มีได้แต่ในราชสำนักตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า   แต่เดิมมามีประเพณีที่เจ้านายขุนนาง

และผู้ลากมากดี นิยมนำลูกสาวหลานสาวไปถวายตัวไว้แต่เยาว์วัย  เพื่อรับใช้ราชการฝ่ายในในราชสำนัก

นอกจากพึ่งพระบารมีแล้ว  ยังเพื่อที่จะให้ลูกหลานได้ศึกษาชีวิตในสังคมชั้นสูง  และได้รับการฝึกหัดมารยาททแบบผู้ดีด้วย

เพราะในสมัยนั้น  ไม่มีสถานศึกษาแห่งใดจะดีเท่าเทียมในราชสำนัก  ซึ่งเป็นที่พำนักอาศัยและเป็นสถานที่ให้การศึกษา  ปลูกฝัง

และทำนุบำรุงศิลปวิทยาการตลอดไปด้วย       การใดที่จำเป็นต้องใช้ความปราณีตงดงาม  ก็ต้องจัดหาเลือกเฟ้นผู้ปฎิบัติให้เหมาะสมกับการนั้น

ศิลปทางนาฏศิลปในราชสำนักจึงประณีตงดงามทั้งในเชิงศิลปและนาฏศิลปิน


       ราชสำนักจึงเป็นที่รวมของศิลปที่ประณีตและนักนาฎศิลปผู้งดงามตลอดมา

       ศิลปินผู้มีตัวอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์     เท่าที่สามารถทราบกันได้ในขณะนี้ คือ


๑.   บุนนากสีดา

       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าไว้ว่า    "เมื่อในรัชกาลที่ ๑  ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในพระบรมมหาราชวัง

โปรดพระราชทานเบี้ยหวัดถึงปีละ  ๑๐ ชั่ง   ทั้งเป็นเจ้าจอมตัวเปล่าไม่มีพระองค์เจ้า  และชาติตระกูลก็หาทราบไม่   ทราบว่าบิดาเป็นจีน  มารดาเป็นญวน

หาได้เป็นข้าราชการตำแหน่งใดไม่      แจ่จะดีอย่างไรจึงเล่าจึงลือ  จึงโปรดปรานหนักหาก็ไม่ทราบเลย  ได้เห็นเมื่อชราแล้ว  เอาเป็นแน่ไม่ได้"

เข้าใจว่าบุนนากสีดาคงมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๔"

     เงิน ๑๐ ชั่งนั้นเป็นเงินจำนวนมหาศาล    ในรัชกาลที่สาม  พระสนมเอกได้รับพระราชทานปีละ ๒ ชั่ง  เมื่อกระทำความผิดเป็นที่ปรากฎ  แต่ความดีของบิดาก็

ได้ช่วยฐานะของเจ้าจอมไว้  โดนลดเงินลงไป ๑๐ ตำลึง

บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ก.พ. 11, 21:46

ระหว่างรอท่านเจ้าของกระทู้เตรียมข้อมูลลงโพสต์
กระผมจึงนำ "กลอนตำรารำ" มาให้ท่านทั้งหลายอ่านพลางๆ ก่อนแก้เหงา

"๏ เทพประนม ปฐม พรหมสี่หน้า
สอดสร้อยมาลา ช้านางนอน
ผาลาเลียงไหล่ พิสมัยเรียงหมอน
กังหันร่อน แขกเต้าเข้ารัง
กระต่ายชมจันทร์ จันทร์ทรงกลด
พระรถโยนสาร มารกลับหลัง
เยื้องกราย ฉุยฉายเข้าวัง
มังกรเลียบท่ามุจลินท์
กินนรรำ ซ้ำช้างประสานงา
ท่าพระรามก่งศิลป์
ภมรเคล้า มัจฉาชมวาริน
หลงใหลได้สิ้น หงส์ลินลา
ท่าโต่เล่นหาง นางกล่อมตัว
รำยั่ว ชักแป้งผัดหน้า
ลมพัดยอดตอง บังพระสุริยา
เหราเล่นน้ำ บัวชูฝัก
นาคาม้วนหาง กวางเดินดง
พระนารายณ์ฤทธิรงค์ขว้างจักร
ช้างหว่านหญ้า หนุมานผลาญยักษ์
พระลักษณ์แผลงอิทธิฤทธี
กินนรฟ้อนฝูง ยูงฟ้อนหาง
ขัดจางยาง ท่านายสารถี
ตระเวนเวหา ขี่ม้าตีคลี
ตีโทนโยนทับ งูขว้างค้อน
รำกระบี่สี่ท่า จีนสาวไส้
ท่าชนีร่ายไม้ ทิ้งขอน
เมขลาล่อแก้วกลางอัมพร
กินนรเลียบถ้ำ หนังหน้าไฟ
ท่าเสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง
โจงกระเบนตีเหล็ก แทงวิสัย
กรดสุเมรุ เครือวัลย์พันไม้
ประลัยวาด คิดประดิษฐ์ทำ
กระหวัดเกล้า ขี่ม้าเลียบค่าย
กระต่ายต้องแร้วแคล้วถ้ำ
ชักซอสามสายย้ายลำนำ
เป็นแบบรำแต่ก่อนที่มีมา"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ก.พ. 11, 23:37

ขอบคุณคุณสะอาดค่ะ   ในไมตรี  และคงจะมีโอกาสตอบแทนสักครั้งเป็นแน่


๒.   "ภู่สีดา    มีมารดาชื่อเอี้ยง  เป็นนายวิเศษ    

       รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดปรานประทานลูกสาวและแม่แด่สมเด็จพระอนุชา  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  

ทั้งสองแม่ลูกจึงมาอยู่ ณ พระราชวังบวร

เอี้ยงได้เป็นวิเศษปากบาตรและภู่ได้เป็นเจ้าจอม   เลื่องชื่อลือชาว่าเป็นหญิงที่งามมากในครั้งกระโน้น


       ในปี พ.ศ. ๒๓๒๖   ปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า  กรมพระราชวังบวรโปรดให้ตั้งพระกำหนดว่า  ให้เจ้าพนักงานเตรียม

ข้าวทรงบาตรมาตั้งที่   ให้สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์มารับให้พร้อมทันเวลา  จะเสด็จทรงบาตร ณ เวลาเช้าโมงหนึ่งเป็นนิตย์ไป


       ด้วยเหตุนี้ประตูดินพระบวรราชวังจึงเปิดก่อนย่ำรุ่ง           พวกวิเศษปากบาตรได้ขนข้าวทรงบาตรเข้าไปตั้งเป็นธรรมเนียมมา

       มีบัณฑิต ๒ คนมาจากเมืองนครนายก   อวดว่ามีความรู้ล่องหนหายตัว    ได้มาอาศัยอยู่กับเอี้ยง  นายวิเศษปากบาตรหลายวัน      

แล้วคบคิดกับขุนนางหลายนายมีพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นต้น         เมื่อวันศุกร์เดือน ๕  แรม ๒ ค่ำ  เวลาเช้า  เมื่อหญิงวิเศษวังหน้าขน

กระบุงข้าวทรงบาตรเข้าไปทางประตูดิน   เอี้ยงเป็นต้นคิด แต่งอ้ายบัณฑิต ๒ คนเป็นหญิง

ถือดาบซ่อนไว้ในผ้าห่มแล้วพาปลอมเข้าวัง

       วันนั้นมิได้เสด็จลงทรงบาตรไม่  ได้เสด็จมาวังหลวงแต่เวลาเช้าก่อนทรงบาตร          ไม่มีช่องให้ทำร้าย        นางพนักงานเฝ้าที่

เห็นก็ตกใจร้องกันขึ้น   ขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่งคุมคนเข้าไปก่อถนนในพระราชวังก็ถูกฟันศีรษะขาด          

เจ้าจอมข้างในและจ่าโขลนก็ร้องกันขึ้น   ข้าราชการฝ่ายหน้าเป็นอันมากก็เข้าไปในพระราชวังล้อมจับ  บ้างก็ปาด้วยไม้พลองและทุบอิฐขว้าง

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ  ดำรัสให้ข้าราชการทั้งปวงและตำรวจหลวงทั้งพระบรมมหาราชวังและวังหน้าไปจับตัวมา        ได้ซัดทอดข้าราชการเป็นอันมาก

เจ้าจอมภู่สีดากับมารดาจึงต้องรับพระราชอาชญาตามโทษสิ้นชีวิต    เพราะเอี้ยงให้การว่า  หลงเชื่ออ้ายบัณฑิต  และจะยอมยกบุตรสาวให้เป็นภรรยา"

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 ก.พ. 11, 07:55

เมื่อได้กลอนตำรารำแล้ว ก็ขอช่วยเข้าแทรกภาพละครใน เพลิดเพลินตา สำราญใจ


เหตุการณ์ในปี พ.ศ. ๒๓๒๖  หลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มาได้ ๑ ปี เกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายกรมพระราชวังบวรฯ ถือเป็นกบฏครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหนังสือบางเล่ม เรียกว่า "กบฏอ้ายบัณฑิต"


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 ก.พ. 11, 09:50


วงหน้าของตัวละคอนของคุณไซมีสเป็นรูปไข่ทุกคน    รัดเครื่องแล้วงามจริงยิ่งนางสวรรค์    ขอบคุณค่ะ


๓.​​​  ศรี สีดา

     "เป็นธิดาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด  ต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์)  เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี    ศรี สีดามีอายุ ๑๒ ปี

นับเป็นละคอนรุ่นเล็ก หรือรุ่นจิ๋วก็ว่าได้     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้พระราชทานไปให้คู่ตุนาหงันเดิม คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร

เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๒๘   "ได้ยินว่าโปรดมาก"   ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒  มีพระธิดา ๒ องค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงจักรจั่น  และพระองค์เจ้าหญิงบุบผา

แต่สองพระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนเจ้่าจอมมารดา       ต่อมาท่านสมบูรณ์มาก  จึงเรียกกันว่า เจ้าคุณพี"




๔.  อิ่มอิเหนา

     "เป็นธิดาเจ้าพระยารัตนาธิเบศร (กุน  ต้นสกุลรัตนกุล) สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒     อิ่ม อิเหนาเป็นละคอนรุ่นใหญ่       ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๑ เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๓๓

มีพระธิดาองค์หนึ่ง   ในหนังสือราชสกุลวงศ์ ว่า   คือพระองค์เจ้าหญิงจักรจั่น   แต่หนังสือลำดับสกุลเก่าภาคที่ ๑ ว่า  พระองค์เจ้าหญิงสุมาลี

       ต่อมาในรัชกาลที่ ๒     เจ้าจอมมารดาอิ่มได้เป็นท้าววรจันทร์

        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าถึง ๑. บุนนาก สีดา    ๒. ภู่ สีดา    และ ศรี  สีดา ว่า "เล่าลือว่างามมากทั้งสามนาง"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 ก.พ. 11, 13:16


นาฎศิลปินรุ่นกลาง

ในรัชกาลที่หนึ่งนั้น  มีละคอนหญิงของหลวงรุ่นกลางอีกชุดหนึ่ง


๕.   ป้อม  สีดา

"เป็นธิดาพระยารัตนจักร(หงส์ทอง)  สกุลอำมาตย์รามัญ   มารดาเป็นสกุลชาวสวนบางเขน    เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ 

ป้อม  สีดาได้เป็นเจ้าจอมมารดา     มีพระธิดาองค์หนึ่ง  คือ พระองค์เจ้าหญิงเรไร         ป้อม สีดานี้ 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสถึงคำเล่าลือ  "ว่างามมาก       เมื่อได้เห็นเป็นผู้ใหญ่แล้ว"




๖.   เพ็ง  พระราม

"เป็นพระเอกสำรับเดียวกับ ป้อม สีดา         พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าไว้

"ดีแต่บทบาท   แต่รูปพรรณน่าตาไม่ค่อยงาม  ถึงเมื่อออกโรงก็เป็นแต่สวมหน้าโขน"     เป็นธิดาพระยารัตนจักร(หงส์ทอง)

ต่างมารดากับป้อม  สีดา     นอกจากเป็นตัวพระราม    เคยเป็นตัวนางบาหยันต่อมาได้เป็นเจ้าจอมละคอนในรัชกาลที่ ๒

มีชีวิตสืบมาจนรัชกาลที่ ๔  และมาเป็นครูละคอนคนหนึ่งของ  คณะละคอนกรมพระพิทักษ์เทเวศร(ต้นสกุลกุญชร)"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 ก.พ. 11, 13:16


๗.   มรกต  พระลักษมณ์

เข้าใจว่าเป็นลูกสาวนายบุญมี  นางเอกตัวละคอนของโรงนายบุญยังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ท่านเป็นตัวพระลักษมณ์และตัวยืนเครื่องอื่น ๆของละคอนผู้หญิงของหลวง  สำรับเดียวกับป้อม สีดา

และ เพ็ง พระราม   เล่าว่ารูปพรรณหน้าตาก็ไม่สู้งาม  แต่บทบาทดี




๘.   จุ้ย  หนุมาน

จุ้ยเป็นตัวหนุมาน  และได้เป็นตัวละคอนในพระราชวังบวร ฯ ในรัชกาลหลัง ๆ ต่อมา




๙.   เรือง

เป็นตัวนางของละคอนหลวง    และได้เป็นครูนาง   สอนละคอนรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑  เข่นเป็นครูของ

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก  ในรัชกาลที่ ๒  เป็นต้น



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 ก.พ. 11, 13:40



นาฎศิลปินรุ่นเล็ก      ต่มมาในรัชกาลที่ ๑ นั้น   เมื่อมีบทพระราชนิพนธ์ละคอนเรื่องอิเหนาขึ้นแล้ว 

ก็โปรดให้หัดละคอนหญิงของหลวงรุ่นเล็กขึ้นอีกชุดหนึ่ง    เท่าที่ทราบชื่อมี


๑๐.   พัน  หรือ  อำพัน  พระเอก

เป็นธิดาของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน  ต้นสกุล สนธิรัตน์)  สมุหนายกในรัชกาลที่ ๑   เป็นตัวละคอนคู่

กับ เอม ที่จะกล่าวถึงข้างหน้า(หมายเลข ๑๒)   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าไว้ว่า  "ถึงทอดหลัง 

เมื่อทรงอิเหนา  พระเอกนางเอกที่ออกชื่อระบือเล่า  (ก็) แต่ พัน  บุตรเจ้าพระยารัตนพิพิธ  เป็นพระเอก  (และ) เอม

บุตรเจ้าพระยาจักราราชมนตรีเป็นนางเอก"   เข้าใจว่า พัน  หรือ อำพันผู้นี้จะได้เป็นตัวอิเหนา  แต่ไม่มีหลักฐานบอกไว้     

ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่  ๒




๑๑.   ปุก   เกนหลง

ธิดาเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน  สนธิรัตน์)   ได้ฝึกเป็นละคอนหลวงในพระบรมมหาราชวัง  แสดงเป็น

ตัวนางเกนหลงในเรื่องอิเหนา       มาแต่ในรัชกาลที่ ๑    ครั้ยถึงรัชกาลที่ ๒   ปุกได้มารับราชการในพระราชวังบวร   

ต่อเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทิวงคตแล้ว   จึงกลับไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง  ตำแหน่งเจ้าจอมอยู่งาน   

ครั้นในรัชกาลที่ ๓  ท่านได้เป็นเจ้าจอมมารดา   มีพระธิดาองค์หนึ่ง คือ  พระองค์เจ้าหญิงจามรี       

เจ้าจอมมารดาปุก  อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕   ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน  พ.ศ. ๒๔๒๑  อายุ ๘๒ ปี

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 ก.พ. 11, 13:57

ช่วยลงภาพละครใน แต่เป็นละครในราชสำนักเขมร พระที่นั่งจันทร์ฉาย


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 ก.พ. 11, 15:44


ขอบคุณในความเอื้อเฟื้อค่ะ  คุณไซมีสที่รักและนับถือยิ่ง 


๑๒.   เอม  นางเอก

เป็นธิดาพระยารัตนจักร(หงส์ทอง)   หรือตามพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ทรงเรียกว่า   พระยาจักราราชมนตรี      และที่ว่าเป็นนางเอกนั้น   คงจะเป็นตัวบุษบาคู่กับอำพันที่กล่าวมาแล้ว(หมายเลข ๑๐)

ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒   มีพระองค์เจ้าชาย  คือ  กรมหลวงวรศักดาพิศาล (ต้นสกุล อรุณวงศ์)




๑๓.   ปริก  พระเอก

เป็นธิดาเจ้าพระยาพระคลัง (เข้าใจว่า เจ้าพระยาพระคลัง หน)

ได้แสดงเป็นตัวย่าหรันบ้าง  อุนากรรณบ้าง   อยู่มาถึงรัชกาลที่ ๔




๑๔.   ศรี  นางเอก

เป็นธิดาพระยาจันทบุรี  เล่นเป็นนางจินตหรา   มีอายุยืนอยู่ต่อมาจนในรัชกาลที่ ๔




๑๕.   อัมพา  กาญจหนา

เป็นธิดาพระอินทอากร  เป็นเชื้อจีนที่เรียกว่าเจ้าสัวเตากะทะ   ครั้งรัชกาลที่ ๑  เล่นเป็นตัวนางกาญจหนา

ได้เป็นเจ้าจอมมารดา  มีพระโอรสธิดารวม ๖ องค์  มีพระองค์เจ้าชายผู้สืบสกุลต่อมา คือ

กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (ต้นสกุล กปิตถา)  และ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ(ต้นสกุลปราโมช)

กล่าวกันว่าเมื่อรัชกาลที่ ๒ นั้น   เจ้าจอมมารดา อัมพาเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังผู้หนึ่ง   มีคนนับถือยำเกรงมาก

เพราะเป็นเจ้าจอมที่โปรดปราน  มีพระเจ้าลูกเธอมากผู้หนึ่ง


       ถึงรัชกาลที่ ๓  เมื่อท่านออกไปอยู่วัง  ได้หัดละคอนขึ้นโรงหนึ่ง เป็นละคอนนอก   ตัวละคอนของเจ้าจอมมารดาอัมพา 

ได้เป็นครูละคอนของโรงอื่นอีกหลายโรง

       ท่านมีชีวิตอยู่ต่อมาจนในรัชกาลที่ ๔   ในหลวงรัชกาลที่ ๔  ทรงยกย่องมาก  เป็นต้นว่า โปรดให้เป็นผู้รับเสด็จ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธอแรกประสูติในรัชกาลที่ ๔ หลายพระองค์  เช่น เจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช

และในเวลาสมโภชเดือน  สับผลัดเปลี่ยนกันอุ้มกับ เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่  ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาของ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท

   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 ก.พ. 11, 16:06


๑๖.  ลูกจันทน์

เป็นธิดาเจ้าสุก  ชาวหลวงพระบาง   บิดานำตัวมาถวายตั้งแต่รัชกาลที่ ๑  เมื่อมีอายุ ๘ ขวบ  พร้อมกับน้องสาวอีก ๒ คน

ได้รับการฝึกหัดให้เป็นตัวนางวิยะดา  เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑ นั้น  อายุได้ ๑๑ หรือ ๑๒ ปี   ในรัชกาลที่ ๒  ได้เป็นนางมะเดหวี

ได้เป็นเจ้าจอมมารดา  มีพระธิดา คือ  พระองค์เจ้าหญิงแม้นเขียน   ได้เป็นครูละคอนหลวงมาตั้งแต่ รัชกาลที่ ๔  จนรัชกาลที่ ๕

และเป็นครูละคอนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย

ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๑๖​กุมภาพันธ์ ๒๔๓๑  อายุ ๙๐ ปี

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  และพระองค์เจ้าแม้นเขียนเป็นผู้จัดการศพ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 20:33


๑๗.   ภู่ อิเหนา

        เป็นละคอนหลวงชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒   ได้เป็นตัวอิเหนา

และได้เป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒  มีพระโอรส

คือกรมหมื่นสิทธิสุขุมการ (ต้นสกุลรองทรง)




๑๘.   มี  บุษบา

       ไม่ปรากฏชัดเจนว่า  เป็นละคอนมาตั้งแต่เมื่อไร   เข้าใจว่า  เป็นละคอนรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑

ต่อมาในรัชการที่ ๒  ได้เป็นบุษบา  และเป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ 

มีพระโอรส คือ พระองค์เจ้าชายสุดวอน




๑๙.   พลับ  จินตะหรา

        บางทีจะเป็นคนเดียวกับที่เรียกว่าพลับเจ๊ก   ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงพระราชนิพนธ์

ล้อไว้  ในคราวทรงเล่นเรือในสวนขวาว่า  "จับได้เรือหม่อมพลับเจ๊ก  รูปร่างเล็ก ๆ น่าเอ็นดู  ถือท้ายเรือเล่าก็ดี

เสียแต่ไม่มีหางหนู"   แต่อาจจะเป็นคนละคนก็ได้  เพราะ พลับ จินตะหรา ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระราชวังบวร ฯ

ในรัชกาลที่ ๒      เข้าใจว่า เป็นละคอนหลวงรุ่นเล็กมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ เหมือนกัน   มีพระโอรสองค์หนึ่ง  คือ

พระองค์เจ้าชายรัชนิกร (ต้นสกุล รัชนิกร)



นอกจากนี้ยังมี  ช่วย   ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี  เข้าใจว่า เจ้าพระยา สุธรรมมนตรี  พัฒน์  (ต้นสกุล ณ นคร)

คุณช่วยผู้นี้  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเข้าอยู่หัว  ตรัสเล่าไว้ว่า  "ไม่ได้เป็นละคอน  แต่เป็นทรงเห็นว่ารูปงาม  จึงให้แต่งเป็น

นางเชิญมยุรฉัตรแห่โสกันต์บ้าง  และแต่งเป็นนางเอก  ออกไปนั่งที่โรงละคอนบ้าง  ไม้ได้รำ"


ในรัชกาลที่ ๑  เห็นได้ว่า  นิยมเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์และเรื่องอิเหนา  จึงปรากฎมีตัวละคอนผู้มีชื่อเสียงในบทบาทของตัวละคอนตัวเอก ๆ

ในเรื่องทั้งสองนั้น   หาปรากฎว่ามีตัวละคอนผู้มีชื่อเสียงในบทบาทของตัวละคอนในเรื่องอื่น เช่น เรื่องอุณรุทไม่   เข้าใจว่าเรื่องอุณรุท

จะไม่สู้ได้นำออกแสดงกันมากเหมือนเรื่องที่กล่าวมาแล้ว
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 21:20

ช่วยแทรกภาพนางเชิญมยุรฉัตร ตอนงานพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า

เครดิตภาพ อ. Navarat c.


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง