คำถามข้อที่ ๖๘.
คำถามข้อนี้ ส่งมาจากนักเลงแผงพระเครื่องแถวท่าพระจันทร์
ถามว่า เรื่องรามเกียรติ์มีอิทธิพลอย่างไร
กับความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังของคนไทยในปัจจุบัน
จงตอบพร้อมยกตัวอย่างมาประกอบให้เห็นชัดเจน
ข้อนี้ คนถามให้ราคาเริ่มต้นที่ ๑๐ คะแนน
ถ้าตอบดีมีตัวอย่างประกอบ เพิ่มคะแนนให้ สูงสุด ๒๐ คะแนน
ให้ตอบหน้าไมค์ ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น.
อ้อ ใครตอบหลังจาก ๑๕.๑๕ น. ไปแล้ว หัก ๒ คะแนนจากคะแนนที่ได้
ขอตอบค่ะ

ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง มีมาแตโบราณ เนื่องจากมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ล้วนมีความกลัวเป็นที่ตั้ง กลัวเจ็บ กลัวตาย กลัวไม่เก่ง เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความควบคุม out of control มนุษย์จึงต้องสร้างกลอุบายเพื่อกลบความกลัวเหล่านั้น เครื่องรางของขลัง จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ สร้างขวัญกำลังใจ ให้มีความหวังในสิ่งที่ปรารถนาคือ สุขภาพ เงินทอง ความปลอดภัย ความเก่งกล้าสามารถเหนือคนอื่น ฯลฯ
เครื่องรางของขลังของคนไทย ส่วนมากจะสร้างจาก วัตถุที่หายาก มีความนิยมว่าศักดิ์สิทธิ์ นำมาผูกเข้ากับอักขระเลขยันต์ และกำกับด้วยคาถาอาคม เพื่อหวังผลให้เกิดอานุภาพแบบครอบคลุม หรือนำมาผูกอักขระเลขยันต์เฉพาะด้านโดยกำหนดให้มีคาถาอาคมกำกับเป็นการเฉพาะ
เรื่องรามเกียรติ์ เป็นความเชื่อทางศาสนาผสมผสานเข้ากับกับคติธรรม ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ตัวละครแต่ละตัวมีความเก่งกาจสามารถ ล้วนเป็นเทพเจ้าจากสวรรค์ เก่งทั้งวิชาความรู้ ความสามารถและมีเสน่ห์ จึงได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเป็นอย่างมาก โดยนำมาผูกเข้ากับความเชื่อ จัดทำเป็น เครื่องรางของขลัง โดยใช้วัสดุที่มีความขลัง เช่นกะลาตาเดียว ฯลฯ ผนวกเข้ากับอักขระเลขยันต์ กำกับด้วยคาถาอาคม จากพระสงฆ์ และอาจารย์ผู้มีวิชาอาคม ต่างๆ
ตัวอย่าง เรื่องรามเกียรติ์มีอิทธิพลกับความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังของคนไทยในปัจจุบัน
-
หนุมาน ได้รับความนิยมจัดทำเป็นเครื่องรางของขลังมาก เนื่องจากมีอิทธิฤทธิ์แบบครอบจักรวาล เก่งมีฤทธิ์เดชมาก มีเสน่ห์ เพราะมีภรรยาหลายตน อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม จึงได้รับความนิยมสูง วัสดุที่ใช้จัดทำก็มีหลากหลาย รวมถึงมีการเพิ่มความขลังด้วยการผนวกสัตว์ต่างๆ เข้ามาร่วมด้วยในรูปแบบหนุมานผสานกาย วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังที่เกี่ยวกับหนุมาน เช่น
หนุมานงาช้างแกะสลักของหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน
หนุมานจากด้ามตาลปัตร ของ หลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ
หนุมานเชิญธงขี่สิงห์ ของหลวงปู่ทองสุข วัดโตนดหลวง
-
พระลักษมณ์หน้าทอง มีความสามารถสูง มีเสน่ห์ ใจเย็น จึงนิยมจัดทำเป็นวัตถมงคล ด้านเมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรือง วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังที่เกี่ยวกับพระลักษมณ์ เช่น
พระลักษมณ์หน้าทอง ของหลวงปู่กาหลงเขี้ยวแก้ว ใช้เสกแป้งทาหน้า เมตตามหานิยม มีคนอุปถัมภ์
พระผง พระลักษมณ์หน้าทอง วัดเกษตรสุข จ.พะเยา
-
นางกวัก มีความเชื่อมาจาก เรื่อง "รามเกียรติ์ " โดยกล่าวถึงท้าวอุณาราช เจ้าเมืองสิงขรเป็นฝ่ายยักษ์ ขณะที่พระรามกำลังตามหานางสีดาที่ดำดินหนีได้ไปพบท้าวอุณาราช จึงได้ใช้ต้นกกแผลงเป็นลูกศรไปต้องท้าวอุณาราชที่หน้าอก คนทั้งหลายเลยพาเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ท้าวกกขนาก" เมื่อพระรามได้สาปให้ท้าวกกขนาก ถูกตรึงด้วยลูกศรอยู่ ณ ที่เขาวงพระจันทร์อย่างทุกข์ทรมาน จนกว่าจะถึงศาสนาพระศรีอารย์จึงจะหลุดพ้นคำสาป เมื่อข่าวนี้ทราบถึงนางประจันทร์ซึ่งเป็นธิดาของท้าวอุณาราชจึงได้มาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้เพื่อมาอยู่ปฏิบัติดูแลพระบิดาและได้พยายามทอจีวรด้วยใบบัวเพื่อไว้ถวายพระศรีอารย์ ในกาลอนาคต ซึ่งจะเสด็จมาโปรดพระบิดาของนางจึงจะพ้นคำสาป
ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองทั่วไปต่างพากันเกรงกลัวท้าวกกขนาก ว่าหากหลุดพ้นจากคำสาปจะออกมาอาละวาดฆ่าฟันเหล่ามวลมนุษย์จึงทำให้ชาวบ้านทั่วไปพากันเกลียดชังนางประจันทร์ไปด้วย ทำให้นางประจันทร์ได้รับการทุกข์ทรมานจากการกระทำต่าง ๆ นานา แต่นางประจันทร์ก็ไม่เคยปริปากพยายามอดทนเพื่อดูแลพระบิดา เป็นเหตุให้ปู่เจ้าเขาเขียวซึ่งเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายร่วมตายกับท้าวอุณาราช ท่านจึงได้ส่งนางกวักบุตรสาวของท่านให้มาอยู่เป็นเพื่อนกับนางประจันทร์
เมื่อนางกวักได้เข้ามาอยู่เป็นเพื่อนกับนางประจันทร์แล้วก็ปรากฎว่าผู้คนในเมืองที่เคยเกลียดชังนางประจันทร์มาก่อนก็พากันกลับมารักใคร่นางอย่างไม่คาดคิด และถึงแม้ที่อยู่ของนางจะทุรกันดารสักแค่ไหนก้จะมีผู้คนนำเอาลาภสักการะและแก้วแหวนเงินทองไปสู่สำนักของนางประจันทร์เป็นจำนวนมากอย่างไม่ขาดสาย
ด้วยเหตุนี้ท่านโบราณจารย์ผู้ชาญฉลาดตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงพากันประดิษฐ์คิดแต่งรูปแม่นางกวักขึ้นไว้เพื่อบูชาด้วยทัพสัมภาระต่าง ๆ ดังเช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์ จะนิยมแกะรูปนางกวักด้วยงาช้าง ส่วนหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จังหวัดนครปฐม จะแกะด้วยไม้ไผ่สีสุก และท่านอาจารย์เฮง ไพรยวัล ก็นิยมแกะรูปนางกวักด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งบรรจุอิทธิคุณและพุทธคุณต่าง ๆ ไว้ภายใน เพื่อให้ที่ลูกศิษย์ลูกหาได้รับอานิสงส์เฉกเช่นเดียวกับนางประจันทร์