เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 96197 ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้และผู้สนใจ) ๓
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 11:04

ไม่รู้ว่า  เมื่อไม่กี่นาทีนี้  ใครสักคนส่งข้อความมาบ่นกับผู้เขียนหลังไมค์
แล้วจะตอบอย่างไร  ไม่เห็นจะเกี่ยวกับรามเกียรติ์เลย  พอตอนนี้ตอบเอาๆ

คุณอาร์ท  เอาไป อีก ๕ คะแนน รวมคะแนนเก่าเดิม เป็น ๑๕ คะแนน

คำถามข้อที่ ๕๗.
ยกวรรณคดีไทยมา ๒ เรื่อง
ที่ผู้แต่งนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง
หรือเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์

มาแต่งเป็นวรรณคดีที่ไม่ใช่วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงมหรสพ
พร้อมอธิบายลักษณะวรรณคดีที่ยกมาด้วย
(ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เนื้อเรื่อง)

ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์ โพสต์ได้ตั้งแต่บ่ายสองโมงยี่สิบสี่นาที
ตอบวรรณคดีซ้ำเรื่องกัน  หักคะแนนคนตอบทีหลัง เรื่องละ  ๒ คะแนน



แบบนี้ตอบเรื่อง "หนุมานพบจับโบ้เอ" ได้ไหมครับ  ยิ้มเท่ห์

ตอบมาสิ  ผมจะได้ให้คะแนน -๕๐ คะแนน แก่คุณโดยเฉพาะเลย ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 14:24

คำถามข้อที่ ๕๗.
ยกวรรณคดีไทยมา ๒ เรื่อง
ที่ผู้แต่งนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง
หรือเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์
มาแต่งเป็นวรรณคดีที่ไม่ใช่วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงมหรสพ
พร้อมอธิบายลักษณะวรรณคดีที่ยกมาด้วย
(ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เนื้อเรื่อง)

ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์ โพสต์ได้ตั้งแต่บ่ายสองโมงยี่สิบสี่นาที
ตอบวรรณคดีซ้ำเรื่องกัน  หักคะแนนคนตอบทีหลัง เรื่องละ  ๒ คะแนน

ขอตอบค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
1. เสือโคคำฉันท์
ผู้แต่ง : พระมหาราชครู สันนิษฐานว่ามีเชื้อสายพราหมณ์เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช อาจดำรงตำแหน่งพระมหาราชครูฝ่ายลูกขุน ณ.ศาลาหลวงหรือพระมหาราช
ประวัติ : สันนิษฐานว่าแต่งก่อนสมุทรโฆษคำฉันท์ โดยนำเค้าเรื่องมาจากปัญญาชาดก
ทำนองแต่ง : แต่งด้วยฉันท์และกาพย์ แต่มีจำนวนฉันท์และกาพย์น้อยชนิดกว่าสมุทรโฆษคำฉันท์
คุณค่าของเรื่องเสือโคคำฉันท์ :  เป็นวรรณคดีไทยที่มีคุณค่าสูงเรื่องหนึ่ง  เป็นฉันท์เรื่องแรกที่มีความยาวเป็นพิเศษ  แต่งด้วยฉันท์และกาพย์  เพื่อสอนคติธรรมโดยอาศัยเค้าโครงมาจากปัญญาสชาดก  บทสุดท้ายเป็นโคลงสี่สุภาพสองบท
เนื้อเรื่อง : กล่าวถึงลูกโคและลูกเสือซึ่งเกิดมีความผูกพันกัน  เริ่มจากในวันหนึ่งซึ่งลูกเสือถูกแม่ทิ้งไว้เกิดหิวนม  ลูกวัวจึงให้กินนมจากแม่ของตน  นับแต่นั้นมาทั้งสองก็เป็นสหายรักใคร่กัน  ลูกเสือขอให้แม่อย่าทำร้ายลูกโคและแม่โค  วันหนึ่งแม่เสือผิดสัญญา  ลูกเสือและลูกโคจึงช่วยกันทำร้ายจนถึงแก่ความตาย  พระฤๅษีถอดหัวใจของทั้งสองใส่ไว้ในพระขรรค์วิเศษคนละเล่ม  มอบให้ดูแลรักษา
เมื่อทั้งสองเดินทางมาถึง  จันทบูรนคร  สามารถปราบยักษ์ที่คอยทำร้ายชาวเมืองได้  พหลวิชัยได้อภิเษกสมรสกับ  นางสุรสุดา  พระธิดาของพระเจ้ามคธ  คาวีเดินทางไปจนถึงรมยนคร  เห็นกลองใบใหญ่เมื่อผ่าออกดูพบ  นางจันทร์ผมหอม หรือ  นางจันทร์สุดา  หรือ  นางจันทรวรา  (ซึ่งมีผมหอม)  พระธิดาของท้าวมัททราชและนางแก้วเกสรคาวีประหารนกอินทรีใหญ่ที่มากินชาวเมืองรมยนครได้อภิเษกสมรสกับนางจันทร์ผมหอม  วันหนึ่งนางอาบน้ำแล้วนำเส้นผมใส่ผอบปล่อยลอยน้ำไป  พระเจ้ายศภูมิ  (หรือท้าวสันนุราช)  แห่งเมืองพัทธพิสัยทรงพบผมหอมบังเกิดความลุ่มหลง  ใช้อุบายให้คนนำพระขรรค์ของคาวีไปเผาไฟชิงนางจันทร์มาได้สำเร็จแต่ไม่อาจเข้าใกล้ได้เพราะตัวนางจะร้อนเป็นไฟ   อันเนื่องมาจากอำนาจความซื่อสัตย์ต่อสามี
พหลวิชัยตามหาคาวีจนพบ  ชุบชีวิตให้คืนชีพ  จากนั้นพหลวิชัยปลอมตัวเป็นฤๅษีหลอกทำพิธีชุบตัวให้พระเจ้ายศภูมิกลับเป็นหนุ่ม  เมื่อสบโอกาสจึงผลักลงหลุมไฟ  คาวีกับนางจันทร์ผมหอมจึงได้ครองเมืองพัทธพิสัยสืบต่อมา

ความคล้ายกับรามเกียรติ์ มีหลายตอน เช่น
          -  ตอนถอดหัวใจ พหลวิชัย และคาวี ถอดหัวใจไว้ในพระขรรค์ รามเกียรติ์ มีไมยราพณ์ และทศกัณฑ์ ที่ถอดหัวใจได้                  
           - ตอนตัวนางจันทร์ผมหอม เหมือนกับนางสีดาในรามเกียรติ์ คือฝ่ายผู้ร้ายไม่สามารถจับต้องได้เพราะจะรู้สึกร้อนเป็นไฟ

2. อิลราชคำฉันท์
ผู้แต่ง : พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) แต่งเมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ที่ หลวงสารประเสริฐ
แต่งในสมัย : รัชกาลที่ 6
ประวัติ : เป็น วรรณคดี คำฉันท์ที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความไพเราะ และนิยมใช้เป็นแบบอย่างในการแต่งคำฉันท์มาช้านาน แม้จะมีความยาวเพียง 329 บท ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กเพียง 36 หน้ากระดาษเท่านั้น นับเป็นคำฉันท์อีกเรื่องหนึ่งที่นักศึกษาวรรณคดีเอ่ยถึงเสมอ
ทำนองแต่ง : แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ประกอบด้วยฉันท์ชนิดต่างๆ 15 ชนิด เป็นกาพย์ 2 ชนิด คือ กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ฉันท์ในเรื่องนี้ ได้แก่ กมลฉันท์, โตฏกฉันท์, ภุชงคประยาตฉันท์, มาณวกฉันท์, มาลินีฉันท์, วสันตดิลกฉันท์, สัททุลวิกกีฬิตฉันท์, สัทธราฉันท์, สาลินีฉันท์, อินทรวิเชียรฉันท์, อินทวงศ์ฉันท์, อีทิสังฉันท์, อุปชาติฉันท์, อุปัฏฐิตาฉันท์ และ อุเปนทรวิเชียรฉันท์
เนื้อเรื่อง : ในนครพลหิกา มีกษัตริย์ครองนคร ทรงพระนามว่า ท้าวอิลราช เป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม วันหนึ่งในวสันตฤดู ทรงออกป่าล่าสัตว์พร้อมบริวาร จนถึงตำบลที่กำเนิดของพระขันทกุมาร ในเวลานั้น พระอิศวรกำลังล้อเล่นกับพระอุมา ชายา ทรงจำแลงกายเป็นสตรี และบันดาลให้ทุกสิ่งในนั้นเป็นสตรีทั้งหมด ครั้นเมื่อท้าวอิลราชและข้าราชบริพารผ่านเข้าไปในป่าดังกล่าว ก็กลายเป็นสตรีไปทั้งหมด
ครั้นเมื่อท้าวอิลราชกลายเป็นสตรี ก็ตกใจ ทูลขออภัยจากพระอิศวร พระอิศวรไม่ทรงยอม แต่พระอุมาเทวีประทานพรให้กึ่งหนึ่ง คือเป็นบุรุษและสตรีสลับกันไปเดือนละเพศ เมื่อเป็นบุรุษ ชื่อ อิราช เมื่อเป็นสตรี ชื่อนางอิลา
เมื่อถึงเดือนที่เป็นสตรี นางอิลาและบริวารสตรีพากันไปเที่ยวเล่นในป่า และเผอิญพบกับพระพุธ ที่กำลังบำเพ็ญตบะในป่า นางอิลาได้อยู่เป็นชายาของพระพุธ จนครบเดือน เมื่อเป็นบุรุษ ก็ลืมความเป็นไปในภาคสตรีเพศ และเป็นเช่นนี้กระทั่งเก้าเดือน นางอิลาก็ให้ประสูติกุมารองค์หนึ่ง พระพุธให้นามว่า ปุรุรพ
เมื่อท้าวอิลราชคืนมาเป็นบุรุษ พระพุธเห็นใจ จึงประชุมมหาฤษีเพื่อหาทางแก้ไขคำสาปให้แก่ท้าวอิลราช ในที่สุดที่ประชุมตกลงทำพิธีอัศวเมธ ทำให้ท้าวอิลราชคืนมาเป็นเพศบุรุษอีกครั้ง

ความคล้ายกับรามเกียรติ์ คือมีพิธีอัศวเมธเหมือนกัน
        - พระรามทำพิธีอัศวเมธปล่อยม้าอุปการ เพื่อเสี่ยงทายจนได้เจอกับลูกคือพระมงกุฏ
        - ส่วนอิลราชคำฉันท์ ทำพิธีอัศวเมธ เพื่อช่วยท้าวอิลราช
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 14:43

 ตกใจ คุณดีดี นี่สุดยอดมากเลยครับ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 14:50

ไม่หรอกค่ะ ท่านอื่นรู้เยอะกว่าหนูแยะ หนูรู้แค่หางอึ่งเองค่ะ  อายจัง
อาศัยป้วนเปี้ยนอยู่แถวตู้หนังสือเรือนไทยนี่แหละค่ะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 15:13

ขออภัย ที่ผมต้องขออนุญาตกล่าวแก่คุณหนูดีดี ซึ่งอาจจะทำร้ายจิตใจกันบ้างว่า

ที่ทำมานั้น  ผมยังไม่สามารถให้คะแนนแก่คุณได้  (แม้แต่คะแนนเดียว)

อยากให้อ่านและพิจารณาคำถามข้อที่ ๕๗. ใหม่
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 15:18

อ้าว... ฮืม
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 15:20

คำถามข้อที่ ๕๗.
ยกวรรณคดีไทยมา ๒ เรื่อง
ที่ผู้แต่งนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง
หรือเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์
มาแต่งเป็นวรรณคดีที่ไม่ใช่วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงมหรสพ
พร้อมอธิบายลักษณะวรรณคดีที่ยกมาด้วย
(ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เนื้อเรื่อง)

ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์ โพสต์ได้ตั้งแต่บ่ายสองโมงยี่สิบสี่นาที
ตอบวรรณคดีซ้ำเรื่องกัน  หักคะแนนคนตอบทีหลัง เรื่องละ  ๒ คะแนน

ตอบใหม่นะคะ  ยิงฟันยิ้ม

1. ฉันท์พาลีสอนน้อง
พระนิพนธ์ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (โดยสันนิษฐาน)
ลักษณะคำประพันธ์ : คำฉันท์
ประวัติ : ปรากฏจารึกติดไว้ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังใต้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เนื้อเรื่อง : ฉันท์พาลีสอนน้องเป็นวรรณกรรมคำสอนข้าราชการถึงแนวทางปฏิบัติในการรับราชการใกล้ชิดพระราชา และปลูกฝังความจงรักภักดี เรื่องพาลีสอนน้องเป็นคำสอนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยผู้แต่งใช้โครงเรื่องจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพาลีถูกศรพระรามใกล้จะสิ้นชีวิต ได้เรียกสุครีพซึ่งเป็นน้อง และองคตซึ่งเป็นบุตรมาสั่งสอน เนื้อหาคำสอนมาจากวสติวัตร ซึ่งเป็นคำสอนในอรรถกถาชาดกเรื่อง วิธุรบัณฑิตชาดก
ตัวอย่างบางตอนที่ไพเราะ :
๏ พา ลีกระบี่ราชผู้      พงศ์พา นรินทร์ฤา
ลี ลาศคลาดหาวหา      พระน้อง
สอน แสดงแห่งมาตยา      นุวัตรเร่ง เรียนพ่อ
น้อง สดับรับรสพร้อง      พร่ำแล้วลาญชนม์ ฯ

2. โคลงทศรถสอนพระราม
พระนิพนธ์ : สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ลักษณะคำประพันธ์ : โคลงสี่สุภาพ ความยาว 12 บท
ประวัติ : เพื่อแสดงถึงพระจริยวัตรของพระเจ้าแผ่นดินที่ดี
เนื้อเรื่อง : ผู้แต่งใช้โครงเรื่องจากรามเกียรติ์ตอน ท้าวทศรถผู้เป็นบิดาของพระราม เรียกพระรามมารับโอวาท ในการที่จะมอบบ้านเมืองให้พระรามปกครองบริหารจัดการ ท้าวทศรถสอนได้สอนให้พระรามใช้เมตตากรุณา รักและสงสารประชาชน ละอกุศลมูล 3 ประการ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ มุ่งมั่นทำนุบำรุงประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรือง ดูและราษฏรให้อยู่เย็นเป็นสุข
ตัวอย่างบางตอนที่ไพเราะ :
อาณาประชาราษฏร์ทั้ง      กรุงไกร
จักสุขเกษมเปรมใจ         ชื่นช้อย
ไมตรีที่ประชุมใน           นรนาถ
เป็นบุษบาปรากฏร้อย       กลิ่นกลุ้มขจรขจาย
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 16:07

คุณดีดี ตอบอย่างนี้ เอาไป ๑๘ คะแนน
ที่หักคะแนนไป เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่พลาด
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 16:51

ขอบคุณค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
ถ้า คุณ luanglek จะกรุณาช่วยชี้แนะมาหลังไมค์ด้วยก็ดีนะคะว่าพลาดตรงไหน
คราวหน้าจะได้ไม่พลาดอีกค่ะ ขอบคุณอีกทีค่ะ  ยิงฟันยิ้ม

ว่าแต่วันนี้ดูเงียบเหงาพิกลนะคะ ไม่คึกคักเหมือนทุกวัน คุณ luanglek ว่าไหม นักรบท่านอื่นๆ หายไปไหนกันหมดคะ
หรือว่าออกไปตามล่าหา "สักวา" กันอยู่... ยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 18:11


สวัสดีค่ะคุณ ดีดี

       วันนี้คนหนึ่งไปตกหมึก
       พรุ่งนี้ สองคนจะไปตก บึก ค่ะ
       
       ดิฉันจะไปรับเอกสาร  และนำหนังสือหายากไปให้ทางราชการดู
       คนแถวนี้จะไปกินขนมเป็นเพื่อน  เพราะเกรงว่าดิฉันจะยกเอกสารให้ทางการไป

       มีเรื่องที่ต้องค้นมากเลยค่ะ

       เป็นห่วงกระทู้อยู่เหมือนกัน    เห็นคุณ ไซมีส กับคุณ ดีดี กระทำยุทธนาการแล้วก็ชื่นชม

       อยากเห็นคุณกะออมลงมาด้วยจังเลย

       
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 20:55

คำถามข้อที่ ๕๗.
ยกวรรณคดีไทยมา ๒ เรื่อง
ที่ผู้แต่งนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง
หรือเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์
มาแต่งเป็นวรรณคดีที่ไม่ใช่วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงมหรสพ
พร้อมอธิบายลักษณะวรรณคดีที่ยกมาด้วย
(ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เนื้อเรื่อง)


นิราศ  เกาะแก้วกาลกัตตา   

เก็บความจาก บุหลง  ศรีกนก   นามานุกรมวรรณคดีไทย  ชุดที่ ๑  ๒๕๔๘  หน้า ๕๐ - ๕๒
พิมพ์ครั้งแรก  ๒๔๖๓   โรงพิมพ์โสภณพิพรรฌธนากร


เป็นวรรณคดีจดหมายเหตุ  แต่งเป็นกลอน

มีกลอนเพลงหรือกลอนหัวเดียวแทรก   จบด้วยฉันท์ ๖ บท     ผู้แต่งคือ พระราชสมบัติ(กสรเวก  รัตนกุล)

ข้าหลวงในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ได้ออกไปหาซื้อเพชรพลอย ณ เมืองกาลกัตตา  อินเดีย  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒

สมเด็จ ฯ กรพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่า

        กระบวนกลอนพอทำเนา  แต่กระบวนความแต่งดีนักหนา   เพราะเล่าเรื่องที่ไปรู้เห็น  ไม่เพ้อเจ้อถึงทางสังวาส   ความที่บรรยายนั้นแจ่มแจ้ง

       การเดินทางไปกับบุตรคนโตและบ่าว ๑ คน  ลงเรือกำปั้นพระยาไทรบุรี  เดินทางไปทางทิศตะวันออก ไปปะหังตังโกรัน  ตรังกานู  เกาะนาค  เกาะหมอก  เกาะฝ้าย

ได้พบกับเจ้าเมือง  ชมบ้านเมือง  สถานที่สำคัญ


เมื่อผ่านจากเมืองไทรบุรีเข้าเขตตลุง (เมืองพัทลุง)  มีถ้ำเรียกตามชื่อใน รามเกียรติ์

เขาเรียกถ้ำพาลีที่ตรงนั้น                    มีสำคัญมั่นคงไม่สงไสย
เมื่อรบกับทรพีก็มีไชย                       โลหิตไหลนองถ้ำดังลำธาร

อันสภาพบ้านเมืองของพาลี                 เห็นแต่ที่ดูเขินเปนเนินดิน
แต่ศีศะทรพียังมีอยู่                          ชวนกันดูเหมือนควายกลายเป็นหิน
ลงทอดทิ้งพิงถ้ำตำแผ่นดิน                  ก็เห็นสิ้นสมกล่าวที่เล่ามา

การเดินทางมีความสำเร็จดังรับราชการไป

ได้ดังประสงค์ตาม                           มโนมาดก็สมหมาย
กลับคืนนครเทพ                             บุรีรัตนพรรณราย
นบบาทยุคลถวาย                           จุลจอมธเรศตรี




ราชาพิลาปคำฉันท์

เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาที่มีเนื้อเรื่องมาจากรามเกียรติ์  แต่งเป็นฉันท์และกาพย์รวม ๓๓๔ บท

ไม่สามารถระบุผู้แต่งและปีที่แต่งได้ชัด   สันนิษฐานว่าด่อนที่พระโหราธิบดีเรียบเรียง จินดามณี

มีการยกกาพย์ฉบังที่เป็นบทรำพันของพระรามที่ออกติดตามหานางสีดามาเป็นตัวอย่างโดยเรียกว่าฉันท์

ฉบำ

พระรามกับพระลักษณ์ออกตามหานางสีดา     แต่มิได้จับที่การผจญภัย  แต่แสดงอารมณ์ทุกข์โศก  คร่ำครวญ

พรรณาอย่างไพเราะ  สะเทิอนใจ
ใช้คำฉันท์ รวม ๑๖ ชนิด   มีกลบทแทรกอยู่ด้วยเพื่อความไพเราะ

       เรียมเสียสมบัติเสด็จจร                         เสด็จจากนคร

นัครามาพบชายา

       ชาเยศแล้วฤานิรา                               นิราศสีดา

เสียทั้งสมบัติแมนสวรรค์

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 21:01



คำถามข้อ ๕๖    ขอผ่าน    ไม่อาจจะแทรกตัวเข้าไปได้

เข้าใจว่า  คงไม่ล้าหลังมากนัก
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 21:08

คำถามข้อที่ ๕๗.
ยกวรรณคดีไทยมา ๒ เรื่อง
ที่ผู้แต่งนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง
หรือเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์
มาแต่งเป็นวรรณคดีที่ไม่ใช่วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงมหรสพ
พร้อมอธิบายลักษณะวรรณคดีที่ยกมาด้วย
(ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เนื้อเรื่อง)

1. โคลงพาลีสอนน้อง
ผู้แต่ง - สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมัยที่แต่ง - กรุงศรีอยุธยา
ลักษณะคำประพันธ์ - โคลงสี่สุภาพ 32 บท
ความมุ่งหมาย - เพื่อใช้เรื่องรามเกียรติ์เปรียบเทียบในการอบรมสั่งสอนข้าราชการ
เนื้อเรื่อง - เริ่มเรื่องว่า พาลีเจ้าเมืองขีดขิน เมื่อใกล้จะถึงแก่ความตายด้วยศรของพระราม เกิดสำนึกผิดในความประพฤติที่แล้วมาของตน
ได้เรียกสุครีพน้องร่วมมารดาและองคตลูกชายมาสั่งสอนข้อปฏิบัติตนในการที่จะรับราชการอยู่กับพระราม
ตัวอย่าง
พาลีเรียกสุครีพและองคตมาฟังคำสอน
๏ วานรวรราชเรื้อง          พาลี
เรียกอนุชอุดมศรี          แน่งน้อง
องคตยศยงมี               ใจเสน่ห์
มากล่าวพจนาพร้อง         ถี่ถ้วนขบวนความ ฯ
ห้ามทำชู้กับนางใน
๏ นักสนมกรมชะแม่แม้น   สาวสวรรค์
นางในไพบูลย์พรรณ        แน่งน้อย
เฝ้าไทภูทรงธรรม           ธิปราช
อย่าใฝ่ในเสน่ห์คล้อย       เนตรเลี้ยงเลียมแสวง ฯ
ไม่ยักยอกของหลวง
๏ หนึ่งของกองโกศไว้      ในคลัง
อย่าคิดปิดแสวงหวัง         อาจเอื้อม
เอาออกนอกคลังรัง        แรงโทษ
อย่าได้มีใจเงื้อม           เงื่อนร้ายสลายคุณ ฯ

2. จินดามณี
ผู้แต่ง - พระโหราธิบดี
สมัยที่แต่ง - กรุงศรีอยุธยา
ลักษณะคำประพันธ์ - ร้อยแก้ว แต่สลับด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆ
ความมุ่งหมาย - เพื่อใช้สอนหนังสือแก่กุลบุตรทั้งปวง
เนื้อเรื่อง - เริ่มเรื่องกล่าวประณามพระรัตนตรัย และพระสรัสวดี แล้วกล่าวถึงอักษรศัพท์ คำนมัสการ คำที่ใช้ ส ศ ษ ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ
อักษรสามหมู่ ผันอักษร เครื่องหมายต่างๆ อธิบายวิธีแต่งคำประพันธ์พร้อมยกตัวอย่างจากหนังสือเรื่องอื่น เช่น โคลงแช่งน้ำ มหาชาติคำหลวง
ลิลิตพระลอ และ คำพากย์รามเกียรติ์
ตัวอย่าง
ตอนศึกอินทรชิต
๏ สรวมชีพข้าไหง้ว      สมเด็จเดชฤๅแสดง
ขุนนี้มันเข้มแข็ง         ลูกรักษ์ราพนาสูร
๏ ได้ชื่อมหาบาศ        องอาจระงับริปูร
รี้พลมันหนานูน           เป็นหัวหน้าทสานล
ตอนคำรำพึงของพิเภกตอนทศกัณฐ์ล้ม
๏ ข้าห้ามข้าเตือนพี่      แลมิฟังคำน้องชาย
นบนิ้วบังคมถวาย        กล่าวให้ชอบบ่ยอมยิน
๏ ขึ้งเคียดขับข้าหนี      นิราศร้างพระภูมินทร์
เจียรจากเจ้าแผ่นดิน      รอบรูบกาลใจดล
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 23:05

คำถามข้อที่ ๕๕.
สักวา ก่อน ร,ศ, ๑๒๙  (ไม่ได้ให้แต่งสักวานะครับ)
ข้อนี้ตอบหน้าไมค์  คะแนนคิดตามข้อมูลที่ตอบมา ให้ได้สูงสุด  ๒๐  คะแนน
เริ่มโพสต์คำตอบได้  วันขึ้น ๕ ค่ำ  เดือน ๓ ปีเถาะ  (นับตามจันทรคติปฏิทินหลวง)
ตั้งแต่เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕ บาท

คำฉลย - สักวา ก่อน ร.ศ. 129 คือ สักวา ก่อน พ.ศ. 2453 เป็นสักวาที่เล่นในสมัยรัชกาลที่ 5 (จำเพาะเรื่องรามเกียรติ์)

(ภาคที่ 1)

สักวาเล่นที่ในสระพระราชวังบางปะอิน
บทสักวาเรื่องรามเกียรติ์ ตอนท้าวมาลีวรราชว่าความ เล่นคืนที่ 2 ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น 13 ค่ำ จุลศักราช 1239 (พ.ศ. 2420)
วงที่เล่น
1. วงอาลักษณ์ ของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ
2. วงนายทหารหน้า ของหลวงสิทธิศรสงคราม (แย้ม)
3. วงสัสดี ของหลวงพิชัยเสนา (เปลี่ยน ทัศนะพยัคฆ์)
4. วงหลวง (ผู้หญิง) ของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

หลวงสิทธิศร
๏ สักวาอัญชลียินดีนบ                    โดยเคารพคำนับน้อมจอมสยาม
ข้าพระบาทมุลิกาพยายาม                แสวงความชอบในใต้ธุลี
มิได้คิดกายาว่าเหนื่อยเหน็ด              ตามเสด็จพระภูมินทร์ปิ่นเกศี
ถ้าแม้นโปรดจะได้เปรื่องกระเดื่องดี        จะได้มีชื่อเสียงสำเนียงเอย ฯ
หลวงพิชัยเสนา
๏ สักวาข้าพระพุทธเจ้า                    ต่างก้มเกล้าประณตบทศรี
ใต้ละอองบาทาฝ่าธุลี                      ซึ่งเป็นที่เย็นเกล้าเหล่านิกร
ขอสิ่งซึ่งเป็นใหญ่ที่ในโลก                 จงดับโศกบำรุงสุขสโมสร
แต่พระมิ่งนฤเบศร์เกศนคร                 ดังนารายณ์ฤทธิรอนปางก่อนเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาอภิวาทบาทบงกช                  จะแจกบทแบ่งบั่นปันให้ว่า
แม่ลูกจันทร์นั้นที่โฉมสีดา                  วงนี้หน้าที่บรมพรหมพงศ์
สิทธิศรรับบททศพักตร์                     เล่นเมื่อซักสอบความตามประสงค์
ลำท่าพระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์              บทนี้องค์อสุราว่าก่อนเอย ฯ
หลวงสิทธิศร
๏ สักวาทศพักตร์ท้าวยักษา                จึงเข้ามากราบก้มบังคมไหว้
ข้านี้เห็นนางหลงในพงไพร                 เก็บมาได้โดยชัดเจนเป็นสัจจา
พระราเมศตามข่มเหงคะเนงร้าย            มาทำลายฆ่ายักษ์เสียหนักหนา
ชอบแต่เจ้ามาง้อขอสีดา                    ตามกิจจาจะได้ให้นางไปเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาองค์บรมพงศ์พรหเมศ              สดับเหตุทศพักตร์ขุนยักษา
จึงเอื้อนอรรถตรัสถามพระรามา             ที่เขาว่าจริงกระนั้นฤๅฉันใด
เขาว่าเก็บนางได้ที่ในป่า                    เจ้าจงว่าสินะเป็นไฉน
อย่ายักเยื้องแยบยนต์เป็นกลไก            จงว่าไปตามจริงอย่างนิ่งเอย ฯ
คุณพุ่ม
๏ สักวาพระอวตารให้การว่า               ฤๅษีพาเดินบกไปยกศิลป์
หลานยกได้ให้สีดายุพาพิน                ครั้นเสร็จสรรพกลับบุรินทรอยุทธยา
ต้องรับสัตย์ทรงฤทธิ์บิตุเรศ                พาดวงเนตรมาผนวชบวชในป่า
ทศพักตร์ยักษ์พาลเจ้ามารยา              ลักสีดาแจ่มจันทร์เมียฉันเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาภูวนัยครรไลหงส์                     สดับองค์อวตารให้การแก้
ความไม่ถูกต้องกันยังผันแปร              การจะแน่ข้างผู้ใดก็ไม่ชัด
จึงตรัสถามสีดาว่าไฉน                     จงว่าไปให้งามโดยความสัตย์
เจ้าคนกลางจงเป็นเช่นบรรทัด              อย่าเลี้ยวลัดกล่าววาจามุสาเอย ฯ
หลวงพิชัยเสนา
๏ สักวาลักษมีสีดานาฏ                    บังคมบาททูลความตามประสงค์
ข้ากับลักษณ์รามานราพงศ์                 มาดำรงสร้างพรตดาบศนี
ได้ยลกวางกลางป่าพนาเวศ                เป็นบังเหตุที่จะพรากจากถิ่นที่
พระราเมศประเวศมฤคี                      อยู่ข้างนี้ทศพักตร์ลักมาเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาภูมีมาลีวรราช                      สถิตอาศน์รถอิงพิงเขนย
ฟังคนกลางอ้างคารมสมจำเลย             จึงเอื้อนเอ่ยมธุรศแก่ทศกัณฐ์
อย่าละห้อยละเหี่ยด้วยเมียเขา             จงฟังเราอย่าโกโรมุ่นโมหันธ์
เร่งรีบส่งองค์สีดาวิลาวรรณ                 ให้ผัวขวัญของเขาเถิดเจ้าเอย ฯ
หลวงสิทธิศร
๏ สักวาฟังโองการบรรหารหัก              พระยายักษ์ทูลละอองสนองไข
เป็นความสัตย์โดยแท้แน่ในใจ              ข้าเก็บได้กลางดงที่พงพี
นางเห็นองค์พระรามงามสะอาด             ข้าเชื้อชาติทศพักตร์เป็นยักษี
ด้วยรูปร่างหม่อมฉันนั้นไม่ดี                ซึ่งนางนี้เห็นพระรามรูปงามเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาพรหมพงศ์ทรงสดับ                เห็นอุบอับขัดบังคับที่รับสั่ง
ประพฤติการทุจริตให้คิดชัง                ยากจะหยั่งความในให้เห็นจริง
จึงผินพักตร์ตรัสถามพระราเมศ             จงแจ้งเหตุตามสัจจังอย่านั่งนิ่ง
เมียคนหนึ่งอย่าอาลัยใจประวิง             คิดทองทิ้งให้กับเขาเถิดเจ้าเอย ฯ
คุณพุ่ม
๏ สักวาพระรามงามงอนขำ                ได้ฟังคำอัยกาบัญชาถาม
ทศพักตร์เจ้าสำนวนกระบวนความ          ว่ารูปฉันงามคัดค้านให้การยาว
จึงถวายอภิวาทบาทบรม                    เมียกระผมคู่คุมแต่หนุ่มสาว
อย่าเชื่อโจทก์โปรดรับสั่งสักครั้งคราว      ถามหลานสาวสีดาก่อนหนาเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาสอนให้ก็ไม่เชื่อ                    นึกน่าเบื่อยังตะบอยสำออยอ้อน
แล้วกล่าวถ้อยลอยหน้าสาระวอน           ทำแสนงอนอย่างผู้หญิงจริงจริงเชียว
นั่งเลือกผ้าท้าวแขนใส่แหวนก้อย           จนเหงื่อย้อยโทรมหน้าลูกตาเขียว
จงทำยอมให้เมียเสียทีเดียว                ทำลดเลี้ยวจะต้องตีเดี๋ยวนี้เอย ฯ
คุณพุ่ม
๏ สักวาพระรามงามเล็กเล็ก                พบยักษ์เจ๊กเจ้าสำนวนกวนโมโห
อัยกาอัยเกก็เฉโก                          มาพาโลพาเลอะเซอะสุดใจ
ว่าเลือกผ้าตาเขียวเหลียวมาขู่              ฤๅพระครูคิดกระดากไม่อยากได้
เห็นหมอบยิ้มกริ่มกรุ่มอิ่มอุ่นใจ             คงได้ไปฝากฝังที่หวังเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาเห็นไหมเล่าดูเอาสิ                 เตือนสติให้ยังมาว่ากันได้
ฤๅตรองตรึกนึกละเหี่ยเศร้าเสียใจ          เบี้ยหวัดไม่ขึ้นกับเขานั่งเหงางม
ได้ชั่งเดียวเปรี้ยวจี๋ปีนี้ขัด                   เชิญไปวัดริมบ้านหาท่านถม
แทงธรรมบทดูสักครั้งฟังคารม             อย่านิยมลูกเมียให้เสียเอย ฯ
คุณพุ่ม
๏ สักวาเตือนสติให้บิเบอะ                  ตรัสออกเปรอะแประเปราะเยาะขยับ
ตรงเบี้ยหวัดตัดหมดเพราะยศยับ           คงได้รับห้าชั่งสักครั้งคราว
ผัดเดือนยี่ปีขาลการที่ว่า                   ไปวัดวาจะทำไมมิใช่ลาว
ฟังเทศน์ธรรมกันชีวิตให้จิตยาว             หาไม่คราวนี้หมายจะตายเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาคิดคาดอาชาติหน้า                 คงได้ห้าชั่งบ้างเหมือนอย่างหมาย
ในชาตินี้แล้วคุณป้าอย่าตะกาย             บนแม่ยายแม่ย่าไม่กล้ารับ
คิดกำเริบเอิบโอบโลภเปล่าเปล่า           จนแก่เถ้ากร่อนเกรียนเจียนจะดับ
มีเงินทองกองให้แร้งมันแย่งยับ            กล่องเงินรับเผาผีดีแล้วเอย ฯ
คุณพุ่ม
๏ สักวาคิดคาดในชาตินี้                    ให้ฟ้าผี่เถิดเพคะกรมขุน
ฉันไม่อวดสวดมนต์ขอผลบุญ               อยากเป็นคุณท้าวอนงค์ทรงกันดาล
ตรงแม่ย่าสีกุกอย่าทุกข์ร้อน                ฉันอ้อนวอนแล้วแกคงจะสงสาร
ถ้าท่านอยากจะเป็นโสดเปรื่องโปรดปราน   จงคิดอ่านบนแม่ย่าล่วงหน้าเอย ฯ

.....
มีต่อภาค 2 โปรดรอติดตามชม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 00:33

(ภาคที่ 2)
สักวาเล่นในงานฉลองวัดบรมวงศ์อิศรวราราม ทุ่งทะเลหญ้า กรุงเก่า
บทสักวาเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามง้อนางสีดา เล่นคืนแรก ณ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น 14 ค่ำ จุลศักราช 1239 (พ.ศ. 2420)
วงสักวาที่เล่น
1. วงอาลักษณ์ ของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ
2. วงนายทหารหน้า ของหลวงสิทธิศรสงคราม (แย้ม)
3. วงสัสดี ของหลวงพิชัยเสนา (เปลี่ยน ทัศนะพยัคฆ์)
4. วงท่าพระ ของพระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์

หลวงสิทธิศร
๏ สักวาข้าพระองค์จำนงจิต               ตั้งหน้าคิดมาฉลองร้องถวาย
ก้มเศียรคำนับพร้อมโน้มน้อมกาย         ล้วนแต่ชายข้าบาทราชการ
ฉลองพระเดชพระคุณการุญรัก            สามิภักดิ์พระภูมินทร์ปิ่นสถาน
เพิ่มพระยศจอมเกล้าสุธาธาร             ไม่เกียจคร้านราชกิจสักนิดเอย ฯ
ท่าพระ
๏ สักวาน้อมประณตบทเรศ               ฉลองพระเดชพระคุณบุญราศี
ด้วยพระองค์ทรงพระบารมี                อุทิศที่วิสุงคามอารามเรือง
ขอเดชะบุญญาอานิสงส์                  ให้ดำรงโลกฦๅระบือเลื่อง
ให้ดับทุกข์ยุคเข็ญเย็นใจเมือง            ทั้งฟุ้งเฟื่องฟูพระยศปรากฏเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาเคารพน้อมนบบาท                ภูวนารถนฤเบศร์เกศสนาม
ทรงพระราชศรัทธาพยายาม               ประกอบความสืบบุญอดุลย์ดล
อนึ่งขอน้อมนบอภิวาท                    แทบบัวบาทบรมวงศ์ผู้ทรงผล
ขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรณ               ชูพระชนม์ยืนอย่าถอยจากร้อยเอย ฯ
หลวงพิชัยเสนา
๏ สักวาขึ้นสิบสี่ปีฉลู                      วันเดือนอ้ายหมายผู้คนพร้อมหน้า
แรมค่ำศุกร์ผูกพัทธสีมา                   ทรงศรัทธาสมโภชโปรดสามวัน
งิ้วหนังละครครบเพลงปรบไก่             ดอกไม้ไฟพระสวดประกวดประขัน
ปักฉัตรเบญจรงค์ลายรอบหลายพรรณ    พระสวดฉันไปจนฤกษ์งานเลิกเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาจะกำหนดบทให้เล่น               นายฤกษ์เป็นพระรามงามสง่า
วงแม่จันทร์นั้นที่โฉมสีดา                  ลำนี้ว่านักพรตกำหนดนาม
หมื่นนิพนธ์คนดีที่บุตรลบ                  เล่นเมื่อพบบิดรวิ่งวอนถาม
แต่จะขอย่อกำหนดบทพระราม            พยายามวอนฤๅษีเดี๋ยวนี้เอย ฯ
ท่าพระ
๏ สักวาพระรามงามสง่า                   เข้าวันทาพระนักพรตสลดจิต
จึงวอนว่าข้าแต่พระทรงฤทธิ์               ฉันคิดผิดขับหนีแม่สีดา
ด้วยได้เคยเชยโฉมประโลมเล้า           ครั้นจากเจ้ารัญจวนคร่ำครวญหา
ขอพึ่งพักนักบุญกรุณา                    ช่วยวอนว่าให้หล่อนคืนมาชื่นเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาพระมุนีฤๅษีแก่                    นั่งยิ้มแต่ป้องพักตร์แล้วซักถาม
เหตุอะไรไฉนเธอเออพระราม             จะนำความอาบัติมาซัดเรา
เป็นชีบานาสงฆ์ทรงสิกขา                 จะพูดจาไม่ถนัดขัดหนาเจ้า
แม้อ้อนวอนให้หนูลบช่วยรบเร้า           ก็เห็นเขาคงจะดีฟ้าผี่เอย ฯ
ท่าพระ
๏ สักวาจักรพงศ์ทรงสดับ                 น้อมคำนับพระสิทธาน้ำตาไหล
หมายพึ่งพักสักคราตัดอาลัย              เสียแรงใช้กระหม่อมฉานเนิ่นนานมา
จึงเหลียวหน้าไปหาพ่อบุตรลบ            ไปนอบนบมารดรนะหล่อนจ๋า
ให้แม่คืนชื่นชิดกับบิดา                    พระลูกยาได้เป็นสุขอย่าทุกข์เอย ฯ
หลวงสิทธิศร
๏ สักวาฟังบิดาน่าสงสาร                  เห็นอาการชนนีไม่ดีด้วย
จึงเข้าดอกบาทาระร่ารวย                 แม่จงช่วยเห็นกับฉันนั้นสักที
ฉันสงสารพระบิดาน้ำตาเล็ด               ท่านเฝ้าเช็ดน้ำเนตรท่วมจนบวมปี๋
เป็นลูกกำพร้าพ่อก็ไม่มี                   ให้ฟ้าผี่เถิดนะแม่อย่าแขเอย ฯ
หลวงพิชัยเสนา
๏ สักวาอัคเรศเกศนารี                    องค์พระลักษมีศรีสมร
ว่าแม่จากทรงฤทธิพระบิดร                ค่อยวายร้อนเพราะมุนีพระชีไพร
ถนอมลูกเลี้ยงไว้จนใหญ่เติบ              เที่ยวกำเริบเล่นป่าอาจับได้
เขาทำโทษโทษาแทบคาไลย             ขืนร่ำไรเรื่องนี้จะดีเอย ฯ
หลวงสิทธิศร
๏ สักวาบุตรลบเฝ้ารบเร้า                  พระแม่เจ้าไม่เห็นจริงทุกสิ่งสิ้น
คิดสงสารพระองค์พงศ์นรินทร์             พระภูมินทร์จงไปหาขรัวตาชี
ให้อ้อนวอนแล้วคงเปาะเห็นเหมาะเหม็ง    ตะแกเก่งข้างคาถาตาฤๅษี
เรียนเสน่ห์ท่านขรัวตาเห็นท่าดี             เร็วเร็วชีแม่ท่านโกรธโทษฉันเอย ฯ
ท่าพระ
๏ สักวาพระทรงสังข์ได้ฟังบุตร            บอกว่านุชหน่ายจิตคิดสงสัย
เจ้างามสรรพลับหลังจะอย่างไร           จึงรีบไปถึงพระคุณพระมุนี
ฝ่ายลูกอ้อนเข้าไปวอนมารดรแล้ว        พระน้องแก้วก็ยังแกล้งทำแหนงหนี
ควรดับเข็ญเป็นธุระของพระชี             เขาว่ามีเสน่ห์ช่วยฉันด้วยเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาพระมุนีฤๅษีเฒ่า                  ครั้นจะเอาเป็นธุระกลัวจะเสีย
ด้วยเป็นการพันพัวเรื่องผัวเมีย            จะไกล่เกลี่ยก็กลัวตัวบาปกรรม
จึงว่ากับองค์พระหริรักษ์                  รูปนี้จักพูดก็ยากถลากถลำ
จงไปอ้อนวอนสำออยด้วยถ้อยคำ        เรื่องเสน่ห์รูปทำไม่เป็นเอย ฯ
ท่าพระ
๏ สักวาสดับถ้อยนึกน้อยจิต              พระนักสิทธิสลัดเสียว่าเมียผัว
ซึ่งสิกขาอย่าครวญไม่ควรกลัว           ไม่หมองมัวพระบาลีก็มีมา
ถ้าเป็นเย็นเป็นชู้สู่สื่อชัก                  บาปกรรมนักอาบัติชัดหนักหนา
ไม่ถึงสังฆาทิเสสเวทยา                  พอปลงอาบัติได้เป็นไรเอย ฯ
อาลักษณ์
๏ สักวาเอ้อเฮอเออนั่นแน่                 พูดเป็นแง่ยอกย้อนมาตอนตัด
พระนัดดาเป็นมหาวัดสุทัศน์               ก็เจนจัดรู้จบครบคำพระ
จะแกล้งให้รูปต้องของหมกมุ่น            เป็นของเชื้อเจือเมถุนกุลทูสะ
รูปอยู่เดียวเปลี่ยวเพื่อนสมณะ             เห็นว่าจะปลงอาบัตินั้นขัดเอย ฯ
ท่าพระ
๏ สักวาแรกรู้เรียนอยู่มั่ง                  ครั้นตกถังก็นับถือพระฤๅษี
หมายเป็นหนึ่งพึ่งพาบารมี                 ตรัสพาทีเลอะเทอะว่าเลอะละ
พระสิทธาก็รักษาเพียงศีลสิบ             ไม่ควรหยิบยกว่าสาธุสะ
เพราะเห็นไม่มีสำรับคำนับพระ            คอยแต่ใช้ไม่ธุระจริงเจียวเอย ฯ
หลวงสิทธิศร
๏ สักวาเชิญพระองค์ผู้ทรงภพ            ลูกปรารภอยากให้พ่อพูดจ่อแจ๋
ทำเป็นเจ้าชู้ป๋อเฝ้ากอแก                 พระเจ้าแม่คงเมตตาท่าได้การ
แล้วพาองค์พระบิดาไปหลังกุฎิ์            จึงวิ่งผลุดทูลมารดาน่าสงสาร
มานี่แน่เจ้าขาข้ารำคาญ                  จงแก้ง่านข้าสักนิดตามจิตรเอย ฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง