เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 96283 ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรติ์ (สำหรับแฟนพันธุ์แท้และผู้สนใจ) ๓
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 04:07


ความดีของกระทู้นี้

       ยั่วยวนผลักดันให้เยาวชนแห่งเรือนไทยไปหอสมุดแห่งชาติหลายครั้งแล้วในเวลาเดือนสองเดือนที่ผ่านมา

       น่าขอเหรียญหอสมุดสรรเสริญให้

       
บันทึกการเข้า
กะออม
พาลี
****
ตอบ: 222


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 07:29


สวัสดีค่ะคุณ ดีดี

       วันนี้คนหนึ่งไปตกหมึก
       พรุ่งนี้ สองคนจะไปตก บึก ค่ะ
       
       ดิฉันจะไปรับเอกสาร  และนำหนังสือหายากไปให้ทางราชการดู
       คนแถวนี้จะไปกินขนมเป็นเพื่อน  เพราะเกรงว่าดิฉันจะยกเอกสารให้ทางการไป

       มีเรื่องที่ต้องค้นมากเลยค่ะ

       เป็นห่วงกระทู้อยู่เหมือนกัน    เห็นคุณ ไซมีส กับคุณ ดีดี กระทำยุทธนาการแล้วก็ชื่นชม

       อยากเห็นคุณกะออมลงมาด้วยจังเลย

       

ขอบคุณค่ะ คุณวันดี ที่คิดถึง
อยากจะมาบ่อยกว่านี้เหมือนกันค่ะ
แต่อยู่ไกล ประมาณว่าริมขอบแดน (และไม่ได้เป็นจารบุรุษ แน่นอน)
ไกลจากตู้หนังสือ  จึงไม่มีรามเกียรติ์อยู่ในมือ
ทุกวันนี้อาศัยคว้าข้อมูลกลางอากาศบ้าง ตามเอกสารเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีใกล้ตัวบ้าง
อะไรที่ต้องอ้างอิงมาก ก็จนใจ  อายจัง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 08:55

ผมขออนุญาตถามเพื่อขอฉันทามติจากท่านผู้เข้าร่วมตอบกระทู้นี้

ตามที่คุณอาร์ทได้ตอบคำถามข้อที่   ๕๕.
สักวา ก่อน ร,ศ, ๑๒๙  (ไม่ได้ให้แต่งสักวานะครับ)
ข้อนี้ตอบหน้าไมค์  คะแนนคิดตามข้อมูลที่ตอบมา ให้ได้สูงสุด  ๒๐  คะแนน
เริ่มโพสต์คำตอบได้  วันขึ้น ๕ ค่ำ  เดือน ๓ ปีเถาะ  (นับตามจันทรคติปฏิทินหลวง)
ตั้งแต่เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๕ บาท
โดยได้ค้นหาข้อมูลมาตอบลงยาวเหยียดละเอียดดีไม่มีที่จะติได้นั้น

ผมเห็นว่า  อยากจะให้คะแนนแก่คุณอาร์ทถึง  ๔๐ คะแนน
จากเดิมที่ผมกำหนดไว้  ๒๐ คะแนนเป็นสูงสุด   เพื่อให้สมกับค่าแห่งความพยายาม
ไม่ทราบว่า  จะมีนักรบท่านใดคัดค้านหรือไม่

ผมขอความเห็นจากทุกท่าน โปรดแสดงความเห็นมาด้วย ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 08:57

คำถามข้อที่ ๕๗.
ยกวรรณคดีไทยมา ๒ เรื่อง
ที่ผู้แต่งนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง
หรือเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์
มาแต่งเป็นวรรณคดีที่ไม่ใช่วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงมหรสพ
พร้อมอธิบายลักษณะวรรณคดีที่ยกมาด้วย
(ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เนื้อเรื่อง)


นิราศ  เกาะแก้วกาลกัตตา  

เก็บความจาก บุหลง  ศรีกนก   นามานุกรมวรรณคดีไทย  ชุดที่ ๑  ๒๕๔๘  หน้า ๕๐ - ๕๒
พิมพ์ครั้งแรก  ๒๔๖๓   โรงพิมพ์โสภณพิพรรฌธนากร


เป็นวรรณคดีจดหมายเหตุ  แต่งเป็นกลอน

มีกลอนเพลงหรือกลอนหัวเดียวแทรก   จบด้วยฉันท์ ๖ บท     ผู้แต่งคือ พระราชสมบัติ(กสรเวก  รัตนกุล)

ข้าหลวงในพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ได้ออกไปหาซื้อเพชรพลอย ณ เมืองกาลกัตตา  อินเดีย  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒

สมเด็จ ฯ กรพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่า

        กระบวนกลอนพอทำเนา  แต่กระบวนความแต่งดีนักหนา   เพราะเล่าเรื่องที่ไปรู้เห็น  ไม่เพ้อเจ้อถึงทางสังวาส   ความที่บรรยายนั้นแจ่มแจ้ง

       การเดินทางไปกับบุตรคนโตและบ่าว ๑ คน  ลงเรือกำปั้นพระยาไทรบุรี  เดินทางไปทางทิศตะวันออก ไปปะหังตังโกรัน  ตรังกานู  เกาะนาค  เกาะหมอก  เกาะฝ้าย

ได้พบกับเจ้าเมือง  ชมบ้านเมือง  สถานที่สำคัญ


เมื่อผ่านจากเมืองไทรบุรีเข้าเขตตลุง (เมืองพัทลุง)  มีถ้ำเรียกตามชื่อใน รามเกียรติ์

เขาเรียกถ้ำพาลีที่ตรงนั้น                    มีสำคัญมั่นคงไม่สงไสย
เมื่อรบกับทรพีก็มีไชย                       โลหิตไหลนองถ้ำดังลำธาร

อันสภาพบ้านเมืองของพาลี                 เห็นแต่ที่ดูเขินเปนเนินดิน
แต่ศีศะทรพียังมีอยู่                          ชวนกันดูเหมือนควายกลายเป็นหิน
ลงทอดทิ้งพิงถ้ำตำแผ่นดิน                  ก็เห็นสิ้นสมกล่าวที่เล่ามา

การเดินทางมีความสำเร็จดังรับราชการไป

ได้ดังประสงค์ตาม                           มโนมาดก็สมหมาย
กลับคืนนครเทพ                             บุรีรัตนพรรณราย
นบบาทยุคลถวาย                           จุลจอมธเรศตรี




ราชาพิลาปคำฉันท์

เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาที่มีเนื้อเรื่องมาจากรามเกียรติ์  แต่งเป็นฉันท์และกาพย์รวม ๓๓๔ บท

ไม่สามารถระบุผู้แต่งและปีที่แต่งได้ชัด   สันนิษฐานว่าด่อนที่พระโหราธิบดีเรียบเรียง จินดามณี

มีการยกกาพย์ฉบังที่เป็นบทรำพันของพระรามที่ออกติดตามหานางสีดามาเป็นตัวอย่างโดยเรียกว่าฉันท์

ฉบำ

พระรามกับพระลักษณ์ออกตามหานางสีดา     แต่มิได้จับที่การผจญภัย  แต่แสดงอารมณ์ทุกข์โศก  คร่ำครวญ

พรรณาอย่างไพเราะ  สะเทิอนใจ
ใช้คำฉันท์ รวม ๑๖ ชนิด   มีกลบทแทรกอยู่ด้วยเพื่อความไพเราะ

       เรียมเสียสมบัติเสด็จจร                         เสด็จจากนคร

นัครามาพบชายา

       ชาเยศแล้วฤานิรา                               นิราศสีดา

เสียทั้งสมบัติแมนสวรรค์


คุณวันดีตอบมา   เรื่องแรกไม่ต้องตามโจทย์ ไม่มีคะแนนให้
เพราะเป็นแต่ผู้แต่งนิราศอ้างถึงตัวละครในรามเกียรติ์เท่านั้น
หาใช่การนำตอนใดตอนหนึ่งมาแต่งใหม่ไม่
เรื่องที่ ๒ ถูกต้องตามโจทย์  ให้  ๑๐  คะแนน

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 09:00

คำถามข้อที่ ๕๗.
ยกวรรณคดีไทยมา ๒ เรื่อง
ที่ผู้แต่งนำเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง
หรือเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์
มาแต่งเป็นวรรณคดีที่ไม่ใช่วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงมหรสพ
พร้อมอธิบายลักษณะวรรณคดีที่ยกมาด้วย
(ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เนื้อเรื่อง)

1. โคลงพาลีสอนน้อง
ผู้แต่ง - สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมัยที่แต่ง - กรุงศรีอยุธยา
ลักษณะคำประพันธ์ - โคลงสี่สุภาพ 32 บท
ความมุ่งหมาย - เพื่อใช้เรื่องรามเกียรติ์เปรียบเทียบในการอบรมสั่งสอนข้าราชการ
เนื้อเรื่อง - เริ่มเรื่องว่า พาลีเจ้าเมืองขีดขิน เมื่อใกล้จะถึงแก่ความตายด้วยศรของพระราม เกิดสำนึกผิดในความประพฤติที่แล้วมาของตน
ได้เรียกสุครีพน้องร่วมมารดาและองคตลูกชายมาสั่งสอนข้อปฏิบัติตนในการที่จะรับราชการอยู่กับพระราม
ตัวอย่าง
พาลีเรียกสุครีพและองคตมาฟังคำสอน
๏ วานรวรราชเรื้อง          พาลี
เรียกอนุชอุดมศรี          แน่งน้อง
องคตยศยงมี               ใจเสน่ห์
มากล่าวพจนาพร้อง         ถี่ถ้วนขบวนความ ฯ
ห้ามทำชู้กับนางใน
๏ นักสนมกรมชะแม่แม้น   สาวสวรรค์
นางในไพบูลย์พรรณ        แน่งน้อย
เฝ้าไทภูทรงธรรม           ธิปราช
อย่าใฝ่ในเสน่ห์คล้อย       เนตรเลี้ยงเลียมแสวง ฯ
ไม่ยักยอกของหลวง
๏ หนึ่งของกองโกศไว้      ในคลัง
อย่าคิดปิดแสวงหวัง         อาจเอื้อม
เอาออกนอกคลังรัง        แรงโทษ
อย่าได้มีใจเงื้อม           เงื่อนร้ายสลายคุณ ฯ

2. จินดามณี
ผู้แต่ง - พระโหราธิบดี
สมัยที่แต่ง - กรุงศรีอยุธยา
ลักษณะคำประพันธ์ - ร้อยแก้ว แต่สลับด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆ
ความมุ่งหมาย - เพื่อใช้สอนหนังสือแก่กุลบุตรทั้งปวง
เนื้อเรื่อง - เริ่มเรื่องกล่าวประณามพระรัตนตรัย และพระสรัสวดี แล้วกล่าวถึงอักษรศัพท์ คำนมัสการ คำที่ใช้ ส ศ ษ ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ
อักษรสามหมู่ ผันอักษร เครื่องหมายต่างๆ อธิบายวิธีแต่งคำประพันธ์พร้อมยกตัวอย่างจากหนังสือเรื่องอื่น เช่น โคลงแช่งน้ำ มหาชาติคำหลวง
ลิลิตพระลอ และ คำพากย์รามเกียรติ์
ตัวอย่าง
ตอนศึกอินทรชิต
๏ สรวมชีพข้าไหง้ว      สมเด็จเดชฤๅแสดง
ขุนนี้มันเข้มแข็ง         ลูกรักษ์ราพนาสูร
๏ ได้ชื่อมหาบาศ        องอาจระงับริปูร
รี้พลมันหนานูน           เป็นหัวหน้าทสานล
ตอนคำรำพึงของพิเภกตอนทศกัณฐ์ล้ม
๏ ข้าห้ามข้าเตือนพี่      แลมิฟังคำน้องชาย
นบนิ้วบังคมถวาย        กล่าวให้ชอบบ่ยอมยิน
๏ ขึ้งเคียดขับข้าหนี      นิราศร้างพระภูมินทร์
เจียรจากเจ้าแผ่นดิน      รอบรูบกาลใจดล

คุณอาร์ท ตอบว่า โคลงพาลีสอนน้อง  ได้ ๑๐ คะแนน
แต่จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี เป็นการยกตัวอย่างจากวรรณคดี
ที่มีคนแต่งไว้มาใส่ในหนังสือที่ตนเองแต่งไม่เข้าตามเกณฑ์โจทย์  ไม่มีคะแนน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 09:02

ผมขออนุญาตถามเพื่อขอฉันทามติจากท่านผู้เข้าร่วมตอบกระทู้นี้

ผมเห็นว่า  อยากจะให้คะแนนแก่คุณอาร์ทถึง  ๔๐ คะแนน
จากเดิมที่ผมกำหนดไว้  ๒๐ คะแนนเป็นสูงสุด   เพื่อให้สมกับค่าแห่งความพยายาม
ไม่ทราบว่า  จะมีนักรบท่านใดคัดค้านหรือไม่

ผมขอความเห็นจากทุกท่าน โปรดแสดงความเห็นมาด้วย ยิงฟันยิ้ม


ก็ให้ตามเนื้อผ้าเห็นแต่สมควรครับ เล่นบุกไปหอพระสมุดขนาดนี้ก็ต้องยินดีปรีดา
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 09:10


สวัสดีค่ะคุณ ดีดี

       วันนี้คนหนึ่งไปตกหมึก
       พรุ่งนี้ สองคนจะไปตก บึก ค่ะ
       
       ดิฉันจะไปรับเอกสาร  และนำหนังสือหายากไปให้ทางราชการดู
       คนแถวนี้จะไปกินขนมเป็นเพื่อน  เพราะเกรงว่าดิฉันจะยกเอกสารให้ทางการไป

       มีเรื่องที่ต้องค้นมากเลยค่ะ

       เป็นห่วงกระทู้อยู่เหมือนกัน    เห็นคุณ ไซมีส กับคุณ ดีดี กระทำยุทธนาการแล้วก็ชื่นชม

       อยากเห็นคุณกะออมลงมาด้วยจังเลย

       

ความดีของกระทู้นี้

       ยั่วยวนผลักดันให้เยาวชนแห่งเรือนไทยไปหอสมุดแห่งชาติหลายครั้งแล้วในเวลาเดือนสองเดือนที่ผ่านมา

       น่าขอเหรียญหอสมุดสรรเสริญให้

       

ความดีนี้  ไม่อาจจะอยู่ได้ลำพังผมเจ้าของกระทู้คนเดียว
ผู้ที่ได้ตอบคำถามทุกท่านและผู้เข้ามาอ่าน ล้วนมีส่วนในกระทู้นี้ทั้งสิ้น

ก็ไม่คาดคิดว่าจะมีผู้เล่นที่ลงทุนลงแรงหาข้อมูลมาตอบกันอย่างแข็งขันขยันยิ่ง
ทำให้คนตั้งคำถามเองก็กลุ้มเหมือนกัน 

ตอนที่คิดตั้งกระทู้  ได้ถามสหายท่านหนึ่ง
ท่านสหายสนับสนุนเต็มที่  ทั้งที่บอกว่ายากนะ
ท่านก็ยุว่าเอาเถอะ  แฟนพันธุ์แท้ที่ตามกระทู้นี้ต้องมีแน่ๆ
เล่นมาครึ่งทางแล้ว ก็คิดว่าที่สหายพูดก็คงจริง
ดูจากนักรบบางท่านไปค้นถึงหอสมุดทีเดียว
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 09:18

คำถามข้อที่ ๕๘.

การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องรามเกียรติ์
จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจน

ข้อนี้ ให้สูงที่สุด  ๒๐ คะแนน  ตอบหน้าไมค์   เริ่มตอบเวลา  ๑๔.๐๐ น.
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 14:00

คำถามข้อที่ ๕๘.

การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องรามเกียรติ์
จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจน

ข้อนี้ ให้สูงที่สุด  ๒๐ คะแนน  ตอบหน้าไมค์   เริ่มตอบเวลา  ๑๔.๐๐ น.

++++++++++++++++++++++++++++++

การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวิธีการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณและให้ความจงรักภักดีกับผู้ปกครองประเทศ จะไม่ทรยศและหักหลัง ซึ่งจะขั้นตอนจะมีการแช่งและการนำอาวุธมาทิ่มแทงน้ำ เพื่อเป็นตัวผ่านเพื่อให้ผู้ทำสัตย์ฯ ดื่มกิน หากผิดคำสัตย์ที่ตั้งไว้ คือ มีการคิดทรยศ ก็จะต้องโดนคำสาปแช่งและถูกอาวุธทิ่มแทงอย่างอนาจ

ในเรื่องรามเกียรติ์การเข้ามาเป็นทหารรับใช้องค์พระรามนั้นดูแล้วมีด้วยกันหลายวิธี คือ สมัครใจมา หรือ ติดตามมาด้วยเครือญาติบริวาร ซึ่งก็เชื่อถือในการถวายตัวรับใช้ ยกเว้นอยู่ตอนหนึ่งคือ การเข้ามาของ “ภิเภก

ซึ่งรู้อยู่ว่า ภิเภก เป็นยักษ์แถมยังเป็นน้องของทศกัณฐ์มาเข้าด้วยพระราม ทำให้เกิดข้อกังวลขึ้นในการรับเข้ามารับใช้ในฝ่ายพระราม เมื่อภิเภกถูกขับไล่ออกมาจากกรุงลงกา การพิจารณาต้องทำกันอย่างรอบคอบ จนเมื่อภิเภกได้พบกับนิลเอกจึงขอสมัครเข้าเป็นทหารของพระราม นิลเอกจึงนำภิเภกเข้าไปยังที่ประชุมทหาร แจ้งความแก่สุครีพ แล้วจึงถามข้อสงสัยต่างๆแล้วจึงเข้าเฝ้าพระรามเพื่อถวายตัว
เมื่อพระรามเห็นพ้องแล้วจึงถามกลับไปยังเหล่าหหารว่าสมควรรับหรือไม่ เหล่าทหารก็บอกว่าสมควรรับไว้ เนื่องจากการไต่ถามจากภิเภกแล้วแจ้งว่าได้ความจริงมาตลอด แต่มีข้อโต้แย้งว่าภิเภกนั้นเป็นฝ่ายศัตรู จึงควรให้ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเสียก่อน ซึ่งเป็นการป้องกันไว้สำหรับการที่จะรับทหารภายนอกเข้ามารับใช้พระราม

“ถึงกระนั้นก็เป็นปัจจามิตร   จะวางจิตว่าดีก็มิได้
ชอบให้ทำสัตย์สาบานไว้   ต่อใต้เบื้องบาทจักรี
แล้วจึ่งเอาใช้ในสงคราม    จะเกรงขามอะไรแก่ยักษี
แม้นไม่จงรักภักดี               จึ่งมล้างชีวีให้มรณา
ถ้าว่าสุจริตซื่อตรง               การรณรงค์ก็จะทำไปภายหน้า
เกลือกจะขัดสนสิ่งใดมา        จะได้ถามกิจจาอสุรี”


จะเห็นว่าอันน้ำใจของภิเภกเองก็มีความจงรักและภักดีมาโดยตลอด

ศาสตราจารย์  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ตีความใหม่ให้เห็นว่า พิเภกเป็นยักษ์ที่กล้าหาญและมีศักดิ์ศรี มิใช่ ยักษ์หมอดูขี้ขลาดอย่างที่เคยแสดงกันมา นอกจากนั้นยังมีฉากดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ต่อหน้าพระพักตร์พระรามในขณะที่พระรามสำแดงพระองค์ให้ประจักษ์ว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร เป็นฉากที่ประทับใจประทับตายิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีต่อองค์ พระมหากษัตริย์เพื่อธำรงไว้ซึ่งธรรม

อนึ่งตัวเราเพิ่งทราบว่า    บรรดาเพื่อนพ้องไปหอสมุด
อันคุณหลวงจึ่งเร่งฤทธิรุธ   พกปูนบำเหน็จเกินอัตรา
จึ่งรีบค้นคลังคว้าภาพ        ประกาศก้องจัดให้เร็วหนา
ประทานภาพถือน้ำพิพัธสัตยา   ที่มหาศรีรัตนศาสดาราม
ภาพนี้เล่าได้โดยแจ้ง         สำแดงถ่ายเองจัดหา*
จึ่งอ้อนคุณหลวงให้คะแนนมา    พิเศษหนักหนาอย่าช้าใย
จะขอพิเศษไม่มากหรอก    จักกี่โกฎิกี่ชั่งยกมาหนา
จึ่งได้จัดภาพสวยจำเริญตา  มายังที่กลางประชุม
*หมายเหตุ ภาพนำมาซ้อนกันเนื่องจากเป็นสองห้องต่อกัน ถ่ายมา ๒ ภาพเลยนำมาปะติดไว้ด้วยกัน


ห้องที่ ๔๑
จักกฤษณ์จึ่งตรัสด้วย มนตรี
พิเภามาฝากชี พิตไว้
รับควรมิควรดี ใดบอก เราเอย
ญาณฤกษ์ควรเลี้ยงใช้ แต่เชื้อทศกัณฑ์
สุครีพทูลว่าต้อง ทดลอง
ให้กระทำสัตย์สนอง บาทไว้
ใจตรงจึ่งควรปอง โปรดชุบ เลี้ยงแฮ
ผิวพิรุธจักได้ เฆี่ยนซ้ำบั่นเศียร
(พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ทรงแต่ง)


บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 14:06

คำถามข้อที่ ๕๘.

การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องรามเกียรติ์
จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจน

ข้อนี้ ให้สูงที่สุด  ๒๐ คะแนน  ตอบหน้าไมค์   เริ่มตอบเวลา  ๑๔.๐๐ น.

ขอตอบค่ะ  ยิงฟันยิ้ม

ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า: ดื่มนํ้าสาบานถวายพระเจ้าแผ่นดิน, เรียกสั้น ๆ ว่า ถือนํ้า

      พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นการนำจิตวิทยาเกี่ยวกับความเชื่อและความกลัวของคนมาใช้ประโยชน์ โดยใช้คำสัตย์สาบาน เทพเจ้า และคำสาปแช่ง มาทำให้เกิดความจงรักภักดี และความซื่อสัตย์
      ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ กระทำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงความจงรักภักดี  เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ไทยได้แบบอย่างมาจากขอมและอินเดีย พิธีกรรมที่ทำคือ ทำพิธีให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำพิพัฒน์สัตยา) แล้วนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มาตั้งในพิธี แทงอาวุธลงในน้ำ ให้บรรดาผู้ที่ทำพิธีดื่มน้ำเพื่อสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หากผู้ใดมิได้รักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวไว้ ก็ให้มีอันเป็นไปด้วยอาวุธหอกดาบอันใช้จุ่มในน้ำที่ตนดื่ม
      โองการแช่งน้ำเป็นบทสวดที่ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ผู้ถือน้ำสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกษัตริย์ มิฉะนั้นจะมีอันเป็นไปด้วยเหตุร้ายต่าง ๆ
      ผู้ที่ถือน้ำในพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาได้แก่
- ข้าราชการประจำ
- ศัตรูที่เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
- ทหารที่ถืออาวุธ

-  การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ : เพราะรามเกียรติ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำศึกสงคราม การที่ศัตรูฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนใจมาเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องมีการนำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความเชื่อใจ วางใจได้ว่า ผู้นั้นจะมีความจงรักภักดี และซื่อสัตย์ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีอันเป็นไปตามคำสัตย์ปฏิญาณและคำแช่งที่ให้ไว้
-  การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ปรากฏในรามเกียรติ์ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์พระราม  
หลังจากที่พิเภกทำนายฝันร้ายให้ทศกัณฑ์ และแนะนำให้คืนนางสีดาแก่พระราม เป็นเหตุให้ทศกัณฑ์โกรธ  หาว่าพิเภกเข้าข้างศัตรู จึงเนรเทศพิเภกออกจากเมือง และลงโทษนางตรีชาดาชายาพิเภก ให้ไปเป็นนางทาสีรับใช้นางสีดา อยู่ในสวน แต่พิเภกรู้ดวงชะตาของตนว่า จะได้พระนารายณ์อวตารเป็นองค์อุปถัมภ์ จึงเหาะไปเฝ้าพระรามที่ภูเขาคันธกาลา แล้วเล่าเรื่องราวให้ฟังพร้อมทั้งขอสวามิภักดิ์ต่อพระราม พระรามจึงให้ทำพิธี ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
  
                  เมื่อนั้น             พระอวตารผ่านภพสบสมัย
ฟังพิเภกทูลสนองต้องพระทัย        สิ้นสงสัยในตัวอสุรี
ว่าพลางทางหยิบพระศรทรง          ส่งให้สุครีพกระบี่ศรี
จงเอาไปชุบวารี                      ทำพิธีถือน้ำสัตยา

      จากนั้นพิเภก ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา  และถวายตัวเป็นข้ารับใช้พระราม

       จึงตั้งความสัตย์อธิษฐาน   ขอเทวัญชั้นวิมานเมืองสวรรค์
อีกปู่เจ้าเขาเขินเนินอรัญ          พร้อมกันช่วยเห็นเป็นพยาน
ถ้าข้าทุจริตคิดกลับกลาย        ให้ศรจักร์นารายณ์สังหาร
ทั้งเทวัญบรรดาเชี่ยวชาญ        จงรอนรานผลาญชีพชีวี
แม้ข้าตรงจงรักพระจักรา          ไม่ชั่วช้าเป็นอุบายหน่ายหนี
ให้ผาสุกทุกทิวาราตรี             แล้วยักษีเคารพอภิวันท์

      หลังจากพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแล้ว ก็เป็นอันว่าไว้เนื้อเชื่อใจกันได้
และพิเภกก็ได้เป็นผู้ช่วยเหลือชี้แนะ และมีความสำคัญยิ่งต่อกองทัพของพระราม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 14:21

เออ อุเหม่  ตอบกันตรงเวลานัดเป๊ะเชียว

คุณไซมีส ตอบพร้อมภาพ และตัวอย่างคำประพันธ์  ครบถ้วน
แต่ขอหักคะแนน ตรงคำที่สะกดผิด  ๑ ๑/๒ คะแนน  ได้ ๑๘ ๑/๒ คะแนน

คุณดีดี  ตอบพร้อมยกตัวอย่างคำประพันธ์ มาประกอบด้วย
แต่ขอหักคะแนน  ตรงคำที่สะกดผิด  ๑ ๑/๒ คะแนน  ได้ ๑๘ ๑/๒ คะแนน

อันที่จริงจากคำตอบอย่างนี้แล้ว ยังสามารถตอบได้อีกอย่างหนึ่งด้วย
ตอบอย่างไหน  ไม่บอก   แต่ใครตอบได้  ผมมีคะแนนพิเศษให้อีก ๕ คะแนน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 14:26

คำถามข้อที่ ๕๙.

ดูภาพแล้วเล่าประวัติของวัตถุที่ปรากฏในภาพ

ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์  ตอบได้ตั้งแต่  ๒๐.๓๐  น.



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 14:57

คำถามข้อที่ ๕๙.

ดูภาพแล้วเล่าประวัติของวัตถุที่ปรากฏในภาพ

ข้อนี้  ๑๐  คะแนน  ตอบหน้าไมค์  ตอบได้ตั้งแต่  ๒๐.๓๐  น.


ศรแดง...เอ๊ย!!...ศรเพชร....เอ๊ย!! 

น่าจะรูปใหญ่กว่านี้สักนิดนะครับ เนื่องจากจะได้ช่วยกันจ้อง ช่วยกันมอง สายตามิใคร่จะดี อายุก็ขึ้นสะพานพระนั่งเกล้าฯ กันแล้ว
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 15:06

ก็รูปมันมีให้เซฟเท่านี้นี่   ไปขยายมันก็กลัวจะเกรนแตก  ยิ่งจะไม่ชัดไปกันใหญ่

บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 15:09

เอาน่า ท่านทั้งสองอย่าทะเลาะกัน
รอคำตอบดีกว่า
55555 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง