เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 11030 แม่น้ำ (เจ้าพระยา)
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 23:12

         .... พระประแดง เพี้ยนจากคำเขมรว่า กัมรเตง

พระประแดงมาจาก พระผแดง ครับ ไม่ใช่กัมรเตง
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 21 เม.ย. 15, 09:22

(ตามที่)คุณสุจิตต์ เคยเขียนไว้  ครับ

ส่วนนี้จาก ซากอยุธยา ในกรุงเทพฯ นสพ.มติชน 13 พ.ย. 2555

            ชุมชนเก่ายุคอยุธยาในกรุงเทพฯ มีกระจายห่างๆลงไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ทางใต้สุดถึง
บริเวณ(ท่าเรือ)คลองเตย ตรงนี้คือเมืองพระประแดง ยุคอยุธยา สืบเนื่องถึงยุคธนบุรี
 
           ชื่อพระประแดง ได้จากคำเขมรว่า กมรเตง กลายเป็น ประแดง ใช้เรียกพราหมณ์ยุคอยุธยา
แล้วเรียกเทวรูปเขมรพบที่คลองสำโรง(อยู่ใต้คลองเตย) เลยใช้เรียกย่านนั้นว่า เมืองพระประแดง
(ไม่ใช่มาจากคำบาแดงอย่างที่เข้าใจกัน)

          ครั้นยุคต้นกรุงเทพฯ เมืองพระประแดงย้ายลงไปอยู่บริเวณปัจจุบันเป็น อ. พระประแดง สมุทรปราการ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 21 เม.ย. 15, 12:16

อ.ศานติ ภักดีคำเขียนไว้ละเอียดที่นี่ครับ
http://it.hu.swu.ac.th/hu/updoc/11_%20บทความวิชาการ%20เรื่อง%20%20“ประแดง”%20“ผแดง”%20“ผะแดง”%20และ%20“ผาแดง.pdf

ผมจำได้ว่าเคยอ่านคุณจิตต์ ภูมิศักดิ์เขียนไว้ว่าผแดงเป็นตำแหน่งขุนนางเขมร ซึ่งถ้าความจำผมไม่ผิดพลาด ตรงนี้จะเป็นจุดที่ต่างจากที่อ.ศานติเขียนไว้ครับ(ว่าผแดงเป็นตำแหน่งในราชสำนักอยุธยา)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 21 เม.ย. 15, 14:03

ผมจำได้ว่าเคยอ่านคุณจิตต์ ภูมิศักดิ์เขียนไว้ว่าผแดงเป็นตำแหน่งขุนนางเขมร

จิตร ภูมิศักดิ์ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" หน้า ๗๘ ว่า

พระประแดง โคลงนิราสพระยาตรังใช้ พระแผดง, เขมรโบราณมีชื่อตำบลบ้านว่า แผดง, คำนี้เป็นชื่อยศราชการและแปลว่าเจ้าได้ด้วย


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 21 เม.ย. 15, 16:48

ขอบคุณครับ ได้พระแผดง แถมซรอกแขวะมาอีกคำ

ตอนอ่านกำสรวลสมุทร ผมผ่านคำนี้ไปแบบมืดแปดด้าน คิดอยู่ว่าน่าจะเป็นภาษาเขมร แต่ไม่คิดว่าซรอกจะเป็นคำเดียวกับชฺรูก คำว่าชฺรูกนี้อ่านออกเสียงว่า จรู้ก แปลว่าหมู เอาไปขุดหาในเน็ตต่อพบหมู่บ้านในจ.สุริทร์ชื่อบ้านจรูกแขวะ มีผู้กรุณาให้ความหมายของชื่อนี้ไว้ว่า หมูขวิด ครับ
http://www.oknation.net/blog/puprasit/2008/01/16/entry-1

ส่วนจะอยู่ที่ไหนแน่นอนนั้นคงต้องหากันต่อไป
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 09:21

จิตรเขียนถึง "แผดง" ไว้อีกใน "ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย"

ในหนังสือ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ มีบทความหนึ่งชื่อ แผดง-กุมฦๅแดง(มีนฤคหิตอยู่บน ก แต่พิมพ์ไม่ได้ครับ) เป็นส่วนหนึ่งโครงร่างวิทยานิพนธ์เรื่อง "คำเขมรโบราณในภาษาไทย" ของจิตร ภูมิศักดิ์ครับ บทความนี้เขียนราว ๒๔๙๖-๒๔๙๗

พอจะเก็บความงูๆปลาๆได้ดังนี้ครับ

แผดง หรือ ประแดง เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมีศักดินาตั้งแต่ ๒๐๐-๖๐๐ โดยมากมีหน้าที่เกี่ยวกับงานหนังสือ แต่บางครั้งก็ทำหน้าที่อื่น เช่น ประแดงทองก้อนขวา และ ประแดงเกยดาบซ้าย ทำหน้าที่ดูแลพระราชมนเทียร

นอกจากนี้เท่าที่จิตรตรวจสอบ ยังมีประแดงอีก ๔ ตำแหน่งที่ทำหน้าที่เป็นต้นบัญชีทหารหัวเมือง ชื่อตำแหน่งทั้ง ๔ นี้ไปพ้องกับชื่อตำแหน่ง กุมฦๅแดง ในกรมพระสุรัสวดี(สัสดี) ซึ่งจิตรตั้งข้อสังเกตว่า ประแดง และ กุมฦๅแดง อาจจะเป็นตำแหน่งเดียวกัน

สำหรับคำ แผดง นี้ จิตรเชื่อว่าน่าจะเป็นคำเขมร แต่เท่าที่จิตรอ่านจารึกเขมรมาหลายสิบหลัก(ในเวลานั้น) ไม่เคยพบคำว่าแผดงหรือคำที่ออกเสียงใกล้เคียงเลย จะมีก็แต่บันทึกของทูตจีนโจวต้ากวานเท่านั้นที่มีกล่าวถึงขุนนางพวก pa ting และ ngan ting ซึ่งจิตรสันนิษฐานว่า pa ting คือ เผดง และ ngan ting คือ กมรเตง (ตรงนี้น่าเสียดายว่าตอนที่เขียนบทความนี้ จิตรยังไม่รู้ภาษาจีน และอ้างอิงบันทึกโจวต้ากวานฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Gedney การถ่ายเสียงยังเป็นที่สงสัยอยู่ แต่ถ้าจำไม่ผิด คุ้นๆว่าฉบับแปลไทยโดย อ.เฉลิม ยงบุญเกิด จะถ่ายเสียงเป็น อัน ติง หนังสือไม่ได้อยู่ข้างตัวตอนนี้ เปิดดูเมื่อไหร่จะมารายงานครับ ถ้าคุณ Peking Man หาต้นฉบับภาษาจีนได้ก็เยี่ยมไปเลยครับ - CrazyHOrse)

โดยที่คำนำหน้าชื่อและตำแหน่งขุนนางเขมรโบราณเรียงจากสูงลงมาตามลำดับเป็นดังนี้

พระบาทกมรเตงอัญ

พระกมรเตงอัญ

พระกมรเตง

กมรเตง

อมรเตง

มรเตง

กำเสตง

เสตงอัญ

เสตง

เตงตวน

เตง


จิตรจึงสันนิษฐานว่า กุํมฦๅแดง คือ กมรเตง ส่วน แผดง คือ เตง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 16:11

ขอบคุณครับ ใครเขียนไว้ก็ไม่รู้นะครับ คุ้นๆ  อายจัง

มาคิดดูแล้วก็แปลกๆอยู่ครับ
กัมรเตง -> แผดง เสียง กัม หายไปอย่างไร้ร่องรอย
เตง -> แผดง เสียง ผ โผล่มาจากไหน

เป็นไปได้ไหมครับว่า แผดง มาจาก มรเตง เสียง มร กลายเป็นเสียง ผ

ว่าแต่ลำดับยศขุนนางเขมรโบราณนี้เป็นของยุคไหน คุณจิตรได้มาอย่างไร
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 16:39

           ดาวน์โหลดบทความของ อ.รุ่งโรจน์ ที่คุณสุจิตต์อ้างถึงได้ที่

      http://www.damrong-journal.su.ac.th/index.php?page=view_article&article_id=76   


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 20:24

ขอบคุณครับ เป็นบทความที่อ่านสนุกมากครับ เดิมผมเข้าใจว่าคุณสุจิตต์อ้างอ.ศานติ แต่กลับกลายเป็นว่าอ้างอ.รุ่งโรจน์ ซึ่งอ้างมาอีกทีจากศัพท์สันนิษฐานฯ ของคุณจิตร เล่มเดียวกับที่ผมอ้าง ตอนนี้ผมไม่มีหนังสือในมือ กว่าจะเปิดดูได้คงต้องปลายสัปดาห์หน้าเป็นอย่างเร็วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 24 เม.ย. 15, 10:29

เมืองพระประแดงที่คลองเตย ในการเสวนา หัวข้อ ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการชุ­มชนโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดย อาจารย์ ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ม.รามคำแหง ดำเนินรายการโดย คุณนิรมล เมธีสุวกุล ในการประชุมสัมมนา เรื่อง แหล่งมรดกวัฒนธรรมและชุมชนโบราณริมแม่น้ำเ­จ้าพระยา วันที่ ๑๗ กรกฎคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จัดโดย สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 16 ต.ค. 15, 10:31

     14 ต.ค.นี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนบทความลง นสพ.มติชนรายวัน สรุปให้อ่านง่ายเรื่องชื่อ แม่น้ำเจ้าพระยา
อีกครั้ง จึงนำมาบันทึกลงในกระทู้นี้ ครับ

                    แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อจากเทวรูปขอม

          เจ้าพระยา ในชื่อ แม่น้ำเจ้าพระยา หมายถึงเทวรูป 2 องค์ ฝีมือช่างแบบขอม (เขมร) เมืองละโว้ (ลพบุรี)

              เจ้า คือ เทวรูปแบบขอม,

              พระยา คือ พญาแสนตาและพญาบาทสังฆกร พบที่คลองสำโรง (จ. สมุทรปราการ) ระหว่าง
พ.ศ. 2034-2072 ต่อมา พระยาละแวกยกทัพตีอยุธยา หลังเสียกรุงครั้งแรก (พ.ศ. 2112) แล้วเชิญเทวรูป
2 องค์ไปกัมพูชา

[ไม่รู้เอง แต่ผมรู้จากอาจารย์ 2 ท่าน คือ อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (ม. รามคำแหง) กับ อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร
(ม. ศิลปากร)]
 
          เทวรูป 2 องค์ คนแต่ก่อนเรียกอย่างยกย่องด้วยคำเขมรศักดิ์สิทธิ์ว่า“กัมรเตง” แล้วเพี้ยนเป็น“พระประแดง”

          เมืองพระประแดงแรกสุด(เป็นที่รู้กันมานานว่า)อยู่คลองเตย (กรุงเทพฯ) เคยย้ายไปอยู่ที่เมืองปากน้ำ
(สมุทรปราการ) จึงเรียกปากน้ำว่าบางเจ้าพระยา ตั้งแต่ยุคพระนารายณ์ฯ

          แล้วเรียกปากแม่น้ำตรงนั้นว่า ปากแม่น้ำบางเจ้าพระยา นานเข้าจนทุกวันนี้ก็กร่อนเหลือว่า แม่น้ำเจ้าพระยา
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 16 ต.ค. 15, 20:27


เรื่องพระยาละแวกอัญเชิญเทวรูปไปกัมพูชาฟังดูแปลกๆ นะครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 16 ต.ค. 15, 21:12


เมืองพระประแดงมีมาก่อนขุดพบเทวรูปครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 17 ต.ค. 15, 16:59

อิงจากหลักฐานสมัยอยุทธยา อย่างในวรรณกรรมเรื่อง 'ต้นทางฝรงงเสษ' ซึ่งแต่งโดยกวีที่ได้ติดตามคณะทูตชุดออกพระวิสุทสุนธร(ปาน)ไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๒๒๘ มีการกล่าวถึง 'บางเจ้าพญา' ในช่วงการเดินทางออกจากกรุงศรีอยุทธยาครับ

๐  ศุภมัศดี          ศักกระราชพระศรี    สองพันล้วงไป
สองรอยญีสิบ       เกาว่ษาใน            สูระชะยามไชย     มีค่เสียรมาษ  
๐  สัตมีดีดถี        กาลปักฃี              ปีอุสพราช
เหมันตเพลา         พระสนทโยบาท      จืงเขจ่รยาต         ตราลีลาไป
๐  ตงงหนาออกมา  จากบางเจ้าพญา      พระทวารอันไห่ญ
จักไปฝรงงเสษ      ปรเทษเมีองไกล      ขายกมือใหว       อารักษทงงปวง

คำแปลคือเริ่มออกเดินทางใน พ.ศ.๒๒๒๙(นับศักราชแบบลังกา เร็วกว่าปัจจุบัน ๑ ปี) วันจันทร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีฉลู(๑๗ ธันว่าคม พ.ศ.๒๒๒๘) เวลาเย็น

ในวรรณกรรมนี้ระบุว่าบางเจ้าพญาเป็น 'พระทวารอันไห่ญ' จึงน่าจะเป็นการสื่อว่า บางเจ้าพญาเปรียบเสมือนปากทางเข้าออกของอาณาจักรอยุทธยา จึงเป็นไปได้ว่า 'บางเจ้าพญา' ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นคำที่ใช้เรียกปากแม่น้ำ เทียบกับในสนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.๒๒๓๐ ระบุถึงการทำการซื้อขายหนัง 'ณจังหวัดดิกรุงศรีอยุทธยาฝายเหนือฝายไต่ จนปากน้ำบางเจ้าพญา' จึงน่าจะเป็นการสื่อเช่นเดียวกันว่าปากน้ำเจ้าพญาเป็นทางออกของกรุงศรีอยุทธยา


ส่วนในจดหมายเหตุระยะทางพระอุบาลีไปลังกาทวีป ที่เขียนในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ระบุถึงสถานที่ที่เรียกว่า 'น้ำเขียวปากน้ำบางเจ้าพระยา' ซึ่งตามจดหมายเหตุแล้วอยู่เลยจากเมืองพระประแดงไปอีกครับ ซึ่งใน 'ต้นทางฝรงงเสษ' ก็มีระบุถึง 'น้ำเขียว' เช่นกันและกล่าวว่าอยู่ใกล้ทะเลครับ ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นปากน้ำนั่นเอง

๐   ครั่นเถีงนำเขียว  เรงแลเรงเหลียว   จงลิ่วสุดตา
พระทเลไหญกวาง      ภุกพันคลนา       พระภายพัดภา    สํเภาล้อยไป


สันนิษฐานว่า 'บางเจ้าพญา' ก็คือแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างที่คุณ CrazyHOrse อธิบายไว้แล้วว่าความหมายของ บาง คือ ลำน้ำ  ส่วนบริเวณที่เป็นปากแม่น้ำจริงๆ คือที่เรียกว่า 'ปากน้ำบางเจ้าพญา' 'น้ำเขียวปากน้ำบางเจ้าพระยา' หรือ 'น้ำเขียว' ซึ่งก็คือปากน้ำเมืองสมุทรปราการในปัจจุบันครับ

ส่วนที่ใน 'ต้นทางฝรงงเสษ' กล่าวถึง 'บางเจ้าพญา' เหมือนทวารเข้าออก คิดว่าตามความหมายจริงๆคงจะสื่อถึงปากน้ำบางเจ้าพระยาเหมือนในสนธิสัญญาสมัยเดียวกัน แต่ด้วยความที่ต้องเขียนให้ได้ฉันทลักษณ์เลยตัดทอนให้สั้นลงครับ



บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 17 ต.ค. 15, 17:31

    14 ต.ค.นี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนบทความลง นสพ.มติชนรายวัน สรุปให้อ่านง่ายเรื่องชื่อ แม่น้ำเจ้าพระยา
อีกครั้ง จึงนำมาบันทึกลงในกระทู้นี้ ครับ

                    แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อจากเทวรูปขอม

          เจ้าพระยา ในชื่อ แม่น้ำเจ้าพระยา หมายถึงเทวรูป 2 องค์ ฝีมือช่างแบบขอม (เขมร) เมืองละโว้ (ลพบุรี)

              เจ้า คือ เทวรูปแบบขอม,

              พระยา คือ พญาแสนตาและพญาบาทสังฆกร พบที่คลองสำโรง (จ. สมุทรปราการ) ระหว่าง
พ.ศ. 2034-2072 ต่อมา พระยาละแวกยกทัพตีอยุธยา หลังเสียกรุงครั้งแรก (พ.ศ. 2112) แล้วเชิญเทวรูป
2 องค์ไปกัมพูชา

[ไม่รู้เอง แต่ผมรู้จากอาจารย์ 2 ท่าน คือ อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (ม. รามคำแหง) กับ อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร
(ม. ศิลปากร)]
 
          เทวรูป 2 องค์ คนแต่ก่อนเรียกอย่างยกย่องด้วยคำเขมรศักดิ์สิทธิ์ว่า“กัมรเตง” แล้วเพี้ยนเป็น“พระประแดง”

          เมืองพระประแดงแรกสุด(เป็นที่รู้กันมานานว่า)อยู่คลองเตย (กรุงเทพฯ) เคยย้ายไปอยู่ที่เมืองปากน้ำ
(สมุทรปราการ) จึงเรียกปากน้ำว่าบางเจ้าพระยา ตั้งแต่ยุคพระนารายณ์ฯ

          แล้วเรียกปากแม่น้ำตรงนั้นว่า ปากแม่น้ำบางเจ้าพระยา นานเข้าจนทุกวันนี้ก็กร่อนเหลือว่า แม่น้ำเจ้าพระยา


ข้อสันนิษฐานของสุจิตต์ วงษ์เทศเรื่องที่มาของชื่อแม่น้ำเจ้าพระยา ผมคิดว่ายังไม่มีหลักฐานรองรับเท่าไหร่ครับ และข้อความในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงรูปทั้งสองนี้ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็กล่าวว่ามีทั้งเมืองพระประแดงและปากน้ำเจ้าพระยาอยู่ก่อนแล้วครับ

"ขณะนั้นคลองสำโรงที่จะไปคลองศีรษะจระเข้ คลองทับนางจะไปปากน้ำเจ้าพระยาตื้น เรือใหญ่จะเดินไปมาขัดสน จึงให้ชำระ ขุดได้เทพารักษ์ ๒ องค์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ จารึกองค์หนึ่ง ชื่อพญาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังขกร ในที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนางต่อกัน จึงให้พลีกรรมบวงสรวง แล้วรับออกมาปลูกศาลเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง" - พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)

พระประแดง น่าจะมาจาก แผดง อย่างที่ได้กล่าวๆกันไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานการเรียกรูปเคารพดังกล่าวอย่างที่ว่าครับ

ถ้าจะเชื่อว่าข้อสันนิษฐานของสุจิตต์ วงษ์เทศ กับอ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูลถูก ก็อาจจะต้องสันนิษฐานไว้ว่าพงศาวดารเรียกชื่อเมืองและปากแม่น้ำด้วยชื่อในสมัยหลัง(ซึ่งความตอนนี้เองก็มีร่องรอยว่าถูกเพิ่มในสมัยหลัง เพราะไม่พบในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระสมัยสมเด็จพระนารายณ์) ซึ่งเรื่องที่มาของชื่อเมืองพระประแดงอาจจะเป็นไปได้อยู่ครับ



แต่เรื่องเอาเทวรูปไปโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยา ผมคิดว่ายังไม่มีหลักฐานมากพอครับ

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 20 คำสั่ง