เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 11068 แม่น้ำ (เจ้าพระยา)
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


 เมื่อ 29 ม.ค. 11, 18:30

เรื่องนี้มีสาเหตุจากเพื่อนขี้ผู้สงสัยของกระผมซึ่งเล่าเรียนแถวๆ บางรักตรงสถานทูตอังกฤษเก่า
วันหนึ่งขณะล่องเรือด่วนเจ้าพระยาด้วยกัน เขาก็เปรยว่า "แม่น้ำเจ้าพระยา" นั้น เริ่มเรียกมาตั้งแต่สมัยใด
เพราะเห็นฝรั่งต่างเมือง เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า "แม่น้ำ" กันอย่างเดียว ไม่เห็นมี "เจ้าพระยา" ตามหลังเลย

เรื่องนี้ทำให้กระผมเกิดปัญหาสงสัยขึ้นทันทีเฉกเช่นสหายผู้ตั้งคำถาม
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ฝรั่งจะคิดว่า "แม่น้ำ" คือชื่อของสายน้ำใหญ่แห่งนี้ พวกเขาจึงเรียกว่า River Menam
(เหมือนกับทะเลสาบแทนแกนกิยาในทวีปแอฟริกา ซึ่งภาษาพื้นเมือง คำว่า "แทนแกนกิยา" นั้น แปลว่าทะเลสาบ)
โดยอาจเป็นเพราะคนพื้นถิ่นบอกเพียงว่า "นี่คือแม่น้ำ" แต่ไม่ได้บอกว่ามันชื่อ "เจ้าพระยา" ก็เป็นได้ หรือไม่ ฮืม
หรือชื่อ "เจ้าพระยา" นี้จะเกิดขึ้นภายหลัง ฝรั่งมังค่าจึงไม่ได้เรียกชื่อที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้

เหตุฉะนี้กระผมจึงนำคำถามของเพื่อนมาเรียนถามท่านผู้รู้ทั้งหลายในเรือนไทยหลังงามหลังใหญ่หลังนี้
เผื่อจะได้คำตอบไปให้เพื่อนสนิทผู้ใคร่รู้คนนี้

ปล. ได้ยินเสียงฤาเสียงเล่าอ้างว่า "เจ้าพระยา" เป็นชื่อมาจาก "บางเจ้าพระยา" แถวปากน้ำเมืองสมุทรปราการ
ใครพอระบุชัดๆได้บ้างว่า บางเจ้าพระยา ตอนนี้คือที่ไหนครับ ฮืม
(เคยแว่วๆ ว่าปัจจุบันคือตำบลแหลมฟ้าผ่าที่ตั้งป้อมพระจุลฯ จริงหรือครับ)
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 ม.ค. 11, 19:47

แม่น้ำเจ้าพระยาที่เราเห็นกันอยุ่ทุกวันนี้ ไม่เหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปรากฎในแผนที่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมีการขุดลัด จนทำให้เกิดลำน้ำใหม่ ลำน้ำเก่าก็ลดบทบาทลง

จากบันทึกของนิโกลาส์ แชร์แวส นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาอาศัยอยุ่ในกรุงสยาม เป็นเวลา ๔ ปี ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกถึงสภาพแม่น้ำไว้อย่างกว้างๆว่า

"แม่น้ำ ชาวสยามเชื่อว่าแม่น้ำถือกำเนิดมาจากภูเขาใกล้ประเทศจีนและประเทศลาว บางคนเชื่อว่ามาจากประเทศอินเดีย น้ำในแม่น้ำนี้ใสสามารถดื่มได้ ในฤดูฝนจะขุ่นเล็กน้อย แม่น้ำสายนี้มีปลาชุกชุม
ที่มีมากที่สุดคือปลาช่อน มี ๒ ชนิด คือ หนังสีเทา และหนังสีดำ ชาวสยามตากแดดให้แห้งเพื่อเก็บไว้กินนานๆ รสชาติอร่อย เป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

พวกฮอลันดาเป็นชาวยุโรปที่ชอบกินปลาชนิดนี้มาก ใช้กินแทนหมูแฮม ได้รับขนานนามว่าอร่อยเท่ากับหมูแฮมแห่งเมืองมายังในเยรมันนี"



๑. อย่างน้อยในบันทึกนี้ไม่ใช้คำว่า "แม่น้ำเจ้าพระยา"
๒. แผนที่กรุงศรีอยุธยาต่างๆ ใช้คำว่า "Menam River"
๓. ปลาช่อนตากแห้ง เป็นสินค้าส่งออก


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 ม.ค. 11, 20:04

ให้ดูว่าแผนที่ฉบับ พ.ศ. ๒๔๒๙ พิมพ์โดย Scottish Geographical Magazine, 1886 ยังคงเรียกว่า "Menam R." ส่วนแม่น้ำโขง เรียกว่า "Mekong or Cambodia River" ส่วนแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง ไม่ได้ระบุชื่อไว้ในแผนที่


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ม.ค. 11, 20:50

แผนที่นี้เขียนขึ้นโดย นายปาวี นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ได้ทำการสำรวจดินแดนสยาม และภูมิภาคอินโดจีนอย่างละเอียด ได้วาดเส้นทางเดินแม่น้ำของชาวสยามไว้เมื่อ ค.ศ. 1887 หรือ พ.ศ. ๒๔๓๐ ตั้งแต่แม่น้ำปิง ส่วน "Menam R." ให้ความสำคัญในการมาจากเทือกเขาทางแขวงไชยบุรี ด้านขวามือ เป็นหลัก


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ม.ค. 11, 21:42

ส่วนในบางกอกคาเลนเดอร์ ฉบับปี ค.ศ. 1862 หรือ พ.ศ. ๒๔๐๕ หมอบรัดเลย์ได้ตีพิมพ์ไว้ "Menam Chow Phya"


บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 ม.ค. 11, 22:33

ขอเข้ามาตอบนิดหน่อยนะครับ

จะว่าอะไรใหม หากผมจะขอบอกว่า "บางเจ้าพระยา"  ก็คือ "คลองตัน" ครับ

อ๊ะ อ๊ะ แต่คงไม่ใช่แขวงคลองตัน กทม เหมือนตอนปัจจุบัน ปี ๒๕๕๔ นี่หรอกนะครับ
จริงๆ ก็จะขออ้างอิงจาก สาส์นสมเด็จ (ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑) ครับ
ความว่า
"..........
ปากน้ำเจ้าพระยา ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตอนรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกล่าวว่า
พระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชายกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำพระประแดง เมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๑๐๑
และมีจดหมายเหตุของราชทูตไทยที่พาคณะพระสงฆ์ไปเมืองลังกาในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๒๑๕ กล่าวว่า
พวกราษฎรพากันลงเรือช่วยแห่พระสงฆ์ลงไปส่งถึง "ปากน้ำบางเจ้าพระยา"

เหตุที่เรียกชื่อปากน้ำอันเดียวผิดกันเป็น ๒ ชื่อในระยะเวลา ๑๙๓ ปีอย่างนี้พอจะเข้าใจได้ง่าย
ด้วยเมื่อรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมืองพระประแดงเดิมเป็นเมืองรักษาปากน้ำอยู่ใกล้ทะเล
แต่ต่อมาตลิ่งงอกรุกทะเลออกไปจนเมืองพระประแดงออยู่ห่างปากแม่น้ำมากนัก
จึงให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ให้ใกล้ทะเล  สำหรับรักษาปากน้ำแทนเมืองพระประแดง เมืองสมุทรปราการตั้งที่ใกล้คลองตันอันชื่อว่า "บางเจ้าพระยา"
จึงเรียกว่า"ปากน้ำบางเจ้าพระยา" เช่นเดียวกับเรียกปากน้ำบางมังกง........."


ที่คุณ Art มาถามว่า "ระบุชัดๆได้บ้างว่า บางเจ้าพระยา ตอนนี้คือที่ไหนครับ"

ก็ลองหาคลองตัน แถวๆฝั่งตัวเมืองสมุทรปราการ ดูครับ อาจจะใช่ก็ได้
ตัวผมเอง ยังไม่เคยไปย่างกรายแถวนั้นบ่อยนัก ยังไม่กล้าฟันธงครับ

รอคุณครู ท่านอื่นๆ บ้างดีกว่า
 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 ม.ค. 11, 09:33


จะว่าอะไรใหม หากผมจะขอบอกว่า "บางเจ้าพระยา"  ก็คือ "คลองตัน" ครับ

ที่คุณ Art มาถามว่า "ระบุชัดๆได้บ้างว่า บางเจ้าพระยา ตอนนี้คือที่ไหนครับ"

ก็ลองหาคลองตัน แถวๆฝั่งตัวเมืองสมุทรปราการ ดูครับ อาจจะใช่ก็ได้
ตัวผมเอง ยังไม่เคยไปย่างกรายแถวนั้นบ่อยนัก ยังไม่กล้าฟันธงครับ


ข้อมูลที่ให้มาพอจะระบุได้ว่า "บางเจ้าพระยา" คือตัวเมืองสมุทปราการ (ตำบลปากน้ำ) ในปัจจุบันนี้
ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคลองมหาวงษ์ กับคลองตาเค็ด

แต่ "คลองตัน" ในสาส์นสมเด็จนั้น ผมไม่แน่ใจว่าคือคลองใดกันแน่ระหว่างสองคลองข้างต้น
(คลองมหาวงษ์ไม่น่าจะเป็น "คลองตัน" เพราะไปออกทางคลองสำโรงได้
ส่วนคลองตาเค็ด ไม่แน่ใจว่าในอดีตนั้นออกทางคลองบางปิ้งได้หรือไม่ แต่ปัจจุบันนี้ตันไปเสียแล้ว)
หรือชื่อนี้เป็นเพียงชื่อสถานที่เรียกขาน ไม่เกี่ยวข้องกับคลองทั้งสองสาย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 31 ม.ค. 11, 13:26

บาง หมายถึงลำน้ำครับ ไม่ใช่ตำบล (ซึ่งถ้าเป็นตำบลก็ต้องหมายถึงชุมชนสองฝั่ง "บาง" ครับ)

บางเจ้าพระยา ก็คือ แม่น้ำเจ้าพระยาครับ

ปากน้ำบางเจ้าพระยาในยุคสมัยหนึ่งก็คือปากน้ำสมุทรปราการนั่นแหละครับ


บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 31 ม.ค. 11, 13:37

บาง หมายถึงลำน้ำครับ ไม่ใช่ตำบล (ซึ่งถ้าเป็นตำบลก็ต้องหมายถึงชุมชนสองฝั่ง "บาง" ครับ)

บางเจ้าพระยา ก็คือ แม่น้ำเจ้าพระยาครับ

ปากน้ำบางเจ้าพระยาในยุคสมัยหนึ่งก็คือปากน้ำสมุทรปราการนั่นแหละครับ

ถ้าเช่นนั้น "แม่น้ำเจ้าพระยา" ก็ย่อมจะมีชื่อนี้มาก่อนจะเรียกชุมชนว่า "บางเจ้าพระยา" สิครับ
(มีแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน พอมีชุมชนมาตั้งถึงเรียกว่า บางเจ้าพระยา ตามชื่อแม่น้ำ)

เช่นนั้น แม่น้ำนี้ก็ไม่ได้ตั้งชื่อตามบางเจ้าพระยา (เพราะเกิดทีหลัง) แล้วชื่อนี้มีที่มาอย่างไรกัน ฮืม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 31 ม.ค. 11, 14:23

ผมคิดว่าไม่เคยมีชุมชนที่ชื่อว่า "บางเจ้าพระยา" นะครับ

"ปากน้ำบางเจ้าพระยา" ที่มีกล่าวถึงในเอกสารเก่าแปลเป็นภาษาปัจจุบันได้ว่า "ปากแม่น้ำเจ้าพระยา" ไม่ใช่ปากแม่น้ำตรงชุมชนชื่อเจ้าพระยา

ชี้ให้เห็นว่าชื่อแม่น้ำ "เจ้าพระยา" ถูกเรียกมาอย่างช้าก็ตอนที่ปรากฏในเอกสารนั้นแล้ว

ความในสาส์นสมเด็จ เมืองสมุทรปราการตั้งที่ใกล้คลองตันอันชื่อว่า "บางเจ้าพระยา" เข้าใจว่าอยู่บนสมมติฐานของท่านที่ว่า "บาง" หมายถึงคลองที่น้ำขึ้นลงตามการขึ้นลงของน้ำทะเล

เรื่องนี้มีประเด็นให้สังเกตดังนี้
- ความหมายของ "บาง" ในยุคนั้นเริ่มสับสนแล้ว
- เมื่อสมเด็จฯท่านทรงจำกัดความไว้ว่า "บาง" คือคลอง ดังนั้นท่านจึงทรงมองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไป แล้วทรงมองหาคลองมารับชื่อ "บางเจ้าพระยา" ซึ่งก็ได้คลองตันมาเข้าสมมติฐานนี้ครับ

ส่วนชื่อ "เจ้าพระยา" มาจากไหนนั้น ผมยังหาสมมติฐานที่เข้าเค้าไม่ออกเหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 31 ม.ค. 11, 14:52

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนไว้ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
"ที่เราเรียกกันว่า ปากน้ำเจ้าพระยา ทุกวันนี้ แต่โบราณเรียกว่า ปากน้ำพระประแดง ภายหลัง เมื่อแผ่นดิน งอกห่างออกไปไกล เมืองพระประแดง จึงเรียกว่า ปากน้ำบางเจ้าพระยา"

ในสนธิสัญญาที่ไทย ได้ทำกับประเทศฝรั่งเศสครั้ง ม.ลาลูแบร์ ในรัชกาลสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า "แม่น้ำบางเจ้าพระยา"

ส่วน ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในคอลัมน์ "ข้าวไกลนา" หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2520 ว่า
"แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มต้นที่ จุดรวมของ แม่น้ำน่าน และแม่น้ำปิง ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ไปสิ้นสุดไหลออกทะเล ที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ตรงที่แม่น้ำนี้ ไหลออกทะเลนั้น เคยมีชื่อว่า เจ้าพระยา ชื่อตำบลนั้นก็เลยใช้เรียก ชื่อแม่น้ำทั้งสายว่า แม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับเอาชื่อ ตำบลที่แม่น้ำสายอื่น ๆ ไหลออกสู่ทะเล ไปเป็นชื่อแม่น้ำ เช่น แม่น้ำบางประกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น"

จาก http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=67687 ค่ะ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 31 ม.ค. 11, 15:00

อันนี้เป็นตำนาน นะคะ

ตำนานเจ้าพระยา

ก้องเกียรติ สุขลาภ เรียบเรียง

ท่านทราบหรือไม่ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากเป็นการรวมตัวของ ปิง วัง ยม น่าน อย่างที่เรารู้กันแล้วนั้น ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ทั้งวิถีชีวิต อารยธรรม รวมถึงตำนานต่าง ๆ มีอยู่หลายตำนานด้วยกัน แต่ที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์ของไทยนั้นมีอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มต้นเมืองประมาณ ปีพุทธศักราช 1893 พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1" ในขณะที่พระองค์ทรงได้ขึ้นครองราชย์นั้น ได้ให้พระราเมศวรราชบุตรไปปกครองเมืองลพบุรี และได้ให้ขุนหลวงพระงั่วพระเชษฐาไปปกครองเมืองสุพรรณบุรี

พุทธศักราช 1912 พระเจ้าอู่ทองทรงสวรรคต พระราเมศวรราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน แต่เวลาต่อมาก็จำต้องถวายราชสมบัติให้ขุนหลวงพระงั่ว พุทธศักราช 1913 ขุนหลวงพระงั่วได้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1" นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงใฝ่พระทัยในการทำสงครามมาแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง

ในขณะนั้นกรุงสุโขทัยมีพระมหาธรรมราชาลิไทเป็นกษัตริย์ปกครอง พระองค์ทรงอ่อนแอมาก ประเทศราชต่างก็แข็งเมือง ทางกรุงสุโขทัยไม่สามารถไปตีคืนมาครอบครองเหมือนดั่งเดิมได้

พุทธศักราช 1915 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระองค์ทรงยกกองทัพเข้าตีแคว้นสุโขทัยตอนใต้ โดยยกกองทัพเข้าตีเมืองจำปา (ชัยนาท) ได้ก่อน แล้วยกทัพมาตั้งมั่นล้อมเมืองพระบางไว้ ซึ่งเมืองพระบางนั้น เป็นเมืองหน้าด่านตอนใต้ของสุโขทัย ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำใหญ่ มีพระอนุมานวิจิตรเกษตรเป็น เจ้าเมืองในขณะนั้น มีเมืองในการปกครองอีก 4 เมืองคือ
1. เมืองไตรตรึงษ์ อยู่ทางเหนือเมืองพระบาง มีเจ้าพระยาอัษฎานุภาพเป็นเจ้าเมือง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร)
2. เมืองไพศาลี อยู่ทางทิศตะวันออก มีเจ้าพระยาราชมณฑปเป็นเจ้าเมือง (ปัจจุบันคือ บ้านหนองไผ่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์)
3. เมืองการุ้ง อยู่ทางทิศตะวันตก มีพระยาวิเศษศรไกรเป็นเจ้าเมือง (ปัจจุบันคือ บ้านการุ้ง ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี)
4. เมืองจำปา อยู่ทางทิศใต้ (ปัจจุบันคือเมืองชัยนาท)

เจ้าพระยาอนุมานวิจิตรเกษตร มีทหารเอกอยู่ 2 คน คือ สมบุญ และ ศรี แต่ทว่าศรี ไปขึ้นกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเพื่อหวังจะเป็นใหญ่ในพระบาง ทางด้านเมืองหน้าด่านของเมืองพระบางทั้งสาม (เว้นนครจำปาซึ่งถูกกรุงศรีอยุธยายึดไปแล้ว) จึงได้ยกทัพมาช่วย

อยุธยาล้อมเมืองพระบางอยู่ถึง 5 เดือนเต็ม และแล้วศรีผู้ทรยศ ก็สามารถนำกองทัพอยุธยาเข้าตีเมืองพระบางไว้ได้ เจ้าพระยาทั้งสี่พร้อมด้วยสมบุญทหารเอกถูกจับได้

พระบรมราชาธิราช ให้นำตัวเจ้าพระยาทั้งสี่ และสมบุญเข้าเฝ้า พระองค์ทรงตรัสว่า " เราได้ทราบว่าพวกท่านกล้าหารและเข้มแข็งนัก เรายินดีที่ได้พบและรู้จักพวกท่าน เราต้องขอโทษที่ต้องเข้าตีเมืองพระบาง เพราะเราเห็นว่า สุโขทัย นับวันจะเสื่อมโทรมลง เป็นช่องทางให้ข้าศึกศัตรูจู่โจมเข้ามา แย่งยื้อถือปกครอง เราจึงคิดรวบรวมไทยไว้ให้เป็นปึกแผ่น เราเห็นว่าพวกท่านทั้ง 5 คนนี้ เป็นคนซื่อสัตย์กตัญญู มั่นอยู่ต่อพระเจ้าอยู่หัวของท่านยิ่งนัก ยากที่จะหาคนอย่างพวกท่านได้อีก เราจะขอให้ท่านรับราชการกับเราสืบไป "

พระยาอัษฎานุภาพจึงกราบทูลว่า " นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แต่เสียใจที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้ง 5 นี้ ได้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในพระเจ้าอยู่หัวในราชวงค์สุโขทัยเสียแล้ว มิอาจอยู่ตากหน้ารับความสุข และลาภยศของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ ในเมืองพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้ากำลังตกอับซ้ำ ข้าทั้ง 5 ขอท่านกลับมาช่วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ชิงราชบัลลังก์"

พระบรมราชาธิราชจึงตรัสต่อไปว่า " ท่านเข้าใจผิด เราตั้งใจไว้ว่า หากเราได้กรุงสุโขทัยเราจะไม่ทำให้กรุงสุโขทัยต้องเดือดร้อน คงให้ดำรงพระยศเป็นกษัตริย์ฝ่ายเหนือตามเดิม แต่รวมอยู่กับอยุธยา"

พระยาราชมณฑปจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า "จะมีประโยชน์อะไรที่จะต้องอยู่อย่างผู้แพ้ อยู่อย่างประเทศราช ข้าพระพุทธเจ้ารู้พระทัยของพระเจ้ากรุงสุโขทัยดีว่า พระองค์ไม่พึงปรารถนาที่จะให้พระองค์ทรงชุบเลี้ยง ข้าพระพุทธเจ้าของยืนยันว่า แม้แผ่นดินยังไม่กลบหน้าตราบใดแล้ว ก็ต้องหาทางกอบกู้กรุงสุโขทัยกลับคืนมาจงได้ และเมื่อนั้นเลือดไทยก็ต้องหลั่งกันอีก"

พระยาวิเศษศรไกรกล่าวเสริมว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอยืนยันว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย มาถึง 7 ชั่วโคตร เคยแต่เป็นข้าของพระเจ้ากรุงสุโขทัย ที่จะกลับมาเป็นข้าของอยุธยานั้นอย่าหมาย ชาวเหนือถือเป็นคติประจำสันดานเสมอว่า ตายในสนามรบดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ เมื่อแพ้แล้วอยู่ไปจะประเสริฐอย่างไร ขอให้ประหารข้าพระพุทธเจ้าเสียเถิด"

" อ้ายบุญก็เหมือนกัน อย่าให้ต้องเป็นหมาสองรางอย่างอ้ายศรีเลย ขอให้พระองค์ชุบเลี้ยงอ้ายหมาหัวเน่าไว้เป็นข้าแต่ตัวเดียวเถิด" สมบุญทหารเอกพูดด้วยความโกรธแค้น

พระบรมราชาธิราชได้ฟังสมบุญพูดดังนั้น จึงตรัสปลอบว่า "เจ้าสมบุญ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราไทยด้วยกันค่อยพูดค่อยจากัน ออมชอมกันไว้ไม่ดีกว่าหรือ เป็นข้าคนไทยด้วยกันยังดีกว่าเป็นข้าของคนต่างด้าว เท้าต่างแดน แล้วเจ้าจะเอาอย่างไรต่อไป"

"อ๋อ ไม่ยาก ข้าพระพุทธเจ้าขออย่างเดียว ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากเสียอีก คือฆ่าพวกข้าพระพุทธเจ้าเสียให้หมด" สมบุญพูดด้วยใจเด็ดเดี่ยว

พระบรมราชาธิราชจึงตรัสต่อไปว่า "เราก็จนใจเมื่อพวกท่านทั้ง 5 ต้องการเช่นนั้น แต่เราให้พวกท่านเลือกตายตามสมัครใจ"

สมบุญกราบทูลว่า "สำหรับข้าพระพุทธเจ้าสมบุญทหารเอกเมืองพระบาง เกิดที่หนองสาหร่าย เกิดที่ไหนก็อยากตายที่นั้น เอาร่างถมแผ่นดินมาตุภูมิ ขอให้เอาข้าพระพุทธเจ้าไปฆ่าเสียที่หนองสาหร่ายเถิด จะเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง"

พระบรมราชาธิราชจึงตรัสแก่ทหารทั้งหลายว่า "ทหารจงดูไว้เป็นเยี่ยงอย่าง จะหาคนที่ประเสริฐอย่างนี้ได้ยากมาก เพื่อให้ชาวพระบางมีใจระลึกถึงความดีงาม และวีรกรรมของเจ้าสมบุญ เราขอประกาศเปลี่ยนชื่อหนองสาหร่ายเสียใหม่ว่า "หนองสมบุญ" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญของสมบุญทหารเอกแห่งเมืองพระบาง ทหาร ! พาสมบุญไปได้"

พระยาอนุมานฯ จึงกราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสี่ เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน ต่างอยู่ยงคงกระพัน ไม่มีทางฆ่าพวกข้าพระพุทธเจ้าได้ ขอได้โปรดนำพวกข้าพระพุทธเจ้าไปกดให้จมน้ำตาย ที่แม่น้ำหน้าเมืองนี้เถิด "

พระบรมราชาธิราชเมืองได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า "เราเสียดายท่านทั้งสี่ แต่เราก็จนใจในความตั้งใจของท่าน" แล้วจึงสั่งทหารให้นำพระยาทั้งสี่ไปกดน้ำให้จมน้ำตาย ที่หน้าเมืองพระบางตามความประสงค์

ก่อนตายเจ้าพระยาทั้งสี่ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า "ข้าแต่พระคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สิงสถิตย์อยู่ ณ วังน้ำอันเยือกเย็นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสี่ ได้เกิดมาในลุ่มอกแม่น้ำนี้ ลูกได้อาศัยดื่มกินมาชั่วลูกชั่วหลาน แม่มิได้เคยเหือดแห้ง บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสี่สิ้นวาสนา ขอฝากดวงวิญญาณแห่งชายชาติทหารของกรุงสุโขทัยไว้กับพระแม่คงคา ด้วยเดชะความซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวทีของข้าพระพุทธเจ้า ขอให้แม่น้ำสายนี้ จงอย่ามีวันใดเหือดแห้ง จงเป็นสายธารชีวิตของชาวไทย ได้หล่อเลี้ยงพืชผลแห่งไร่นา พาเอาง้วนดินเหนือ อันเกิดจากซากของผู้กล้า ที่เขาหลั่งเลือดเนื้อปกป้องปฐพี ไปเป็นอาหารแห่งพืชที่แม่พระคงคาไหลผ่านไป ขอให้ชาวไทยในลุ่มแม่น้ำสายนี้ จงวัฒนาสถาพรตลอดชั่วฟ้าดินสลาย"

และแล้วแม่น้ำสายนี้ก็ปรากฎชื่อว่า "แม่น้ำเจ้าสี่พระยา" แต่บัดนั้นกาลเวลาได้ผ่านมาห้าร้อยปีเศษ คำว่า "สี่" ก็จางหายไปเหลือแต่ "เจ้าพระยา" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งวีรกรรมอันกล้าหาญและซื่อสัตย์ของเจ้าพระยาทั้งสี่ ผู้ครอบครองเมืองหน้าด่านตอนใต้สุดของสุโขทัย

(หมายเหตุ : ตำนานแม่น้ำเจ้าพระยา และหนองสมบุญนี้ ได้ดัดแปลงมาจากหนังสือการแสดงละครเรื่อง "ตำนานเมืองพระบาง" ซึ่ง นายอ้อม ศรีรอด แห่งโรงเรียนศรีสัคควิทยา ตลาดสะพานดำ ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้ประพันธ์ขึ้น ตามเค้าเรื่องจากสมุดข่อยวัดเขื่อนแดง ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เขียนได้ไปค้นหาสมุดข่อยดังกล่าวที่วัดเขื่อนแดงแล้ว ปัจจุบันได้สูญหายและไม่ทราบว่าผู้ใดเอาไป)

ข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือนิทานพื้นบ้าน ของรองศาสตราจารย์วิเชียร เกษประทุม, หนังสือแหล่งท่องเที่ยวนครสวรรค์ สำนักพิมพ์ บริษัทชุณหสาส์น พับลิชชิ่ง จำกัด
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ก.พ. 11, 20:33

ในอำเภอเมือง สมุทรปราการ มีวัดชื่อ "วัดชัยมงคล" ตามประวัติกล่าวว่าเป็นวัดมอญ สร้างขึ้นแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย นับอายุถึงปัจจุบันก็เกือบ ๗๐๐ ปี
ถ้าตามประวัตินี้เชื่อถือได้ ก็หมายความว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของปากแม่น้ำเจ้าพระยานี้จะต้องเป็นแผ่นดินมาแล้วไม่น้อยกว่าพันปี จนมีชาวมอญอพยพมาตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชนขึ้น จนถึงมีการสร้างวัดของชุมชน
ในขณะที่ฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำเจ้าพระยามีประวัติย้อนหลังลงไปน้อยกว่า ที่พอจะอ้างถึงได้ก็คือชุมชนขุนสมุทรจีน และขุนสมุทรไทย ทางฝั่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ (ด้านฝั่งป้อมพระจุลจอมเกล้า)
ประวัติความเป็นมาของสองชุมชนนี้ สืบความได้เก่าแก่ที่สุดเพียงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้นโดยอนุมาณ และโดยที่ฝั่งตะวันตกจะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าชายเลนและลุ่มกว่าฝั่งตะวันออกมาก
หลักฐานการเกิดแผ่นดินงอกล่าสุดคือ พระสมุทรเจดีย์ ที่ก่อสร้างบนเกาะในมัยรัชกาลที่ ๒ ปัจจุบันกลายเป็นแผ่นดินเดียวกันกับแผ่นดินใหญ่ไปแล้ว

http://www.paknam.com/temples-in-amphoe-muang/wat-chai-mongkon.html

ผมไม่อ้างอิงจากหลักฐานหนังสือใดนะครับ เล่าเท่าที่จำได้




บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 10:25

          คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเรื่อง พระประแดง มีสงกรานต์ ลงนสพ.มติชน 17 เม.ย. 2558
มีข้อความอธิบายถึงที่มาของชื่อ แม่น้ำเจ้าพระยา จึงยกมาไว้ในกระทู้นี้

          เมืองพระประแดง มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา ราว 500 ปีมาแล้ว แต่กว่าจะถึงทุกวันนี้
อยู่ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ ต้องย้ายที่หลายแห่ง มีความเป็นมาอย่างย่อที่สุด 3 ระยะ ดังนี้
          ยุคต้นอยุธยา เมืองพระประแดง เก่าสุด อยู่บริเวณคลองเตย กรุงเทพฯ
          ยุคปลายอยุธยา เมืองพระประแดง ย้ายไปอยู่ อ. เมือง จ. สมุทรปราการ ทำให้มีชื่อบางเจ้าพระยา
          ยุครัตนโกสินทร์ สืบจนทุกวันนี้ เมืองพระประแดง ย้ายไปอยู่บริเวณ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ
 
          .... พระประแดง เพี้ยนจากคำเขมรว่า กัมรเตง เพื่อจะให้หมายถึงรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา
พราหมณ์ของขอม (เขมร) เพราะมีศาลพระประแดงของเทวรูป 2 องค์ มีจารึกนามว่าพระยาแสนตา กับ
บาทสังขกร ซึ่งพบโดยบังเอิญบริเวณคลองสำโรง (จ. สมุทรปราการ) ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี
(ที่ 2 ครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 2034-72)
           คลองสำโรง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ติดต่อกันระหว่างเขตบางนา กรุงเทพฯ กับ อ. เมือง จ. สมุทรปราการ
           ต่อมา พระยาละแวกยกทัพตีอยุธยา เมื่อต้นแผ่นดินพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. 2112-33) แล้ว
เชิญเทวรูป 2 องค์ ไปกัมพูชา
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 10:28

เจ้าพระยา ได้ชื่อจากเทวรูปพระประแดง

            “บางเจ้าพระยา” เป็นชื่อเรียกบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยามานานตั้งแต่แผ่นดินพระนารายณ์ฯ
หมายถึง เทวรูป 2 องค์
            บาง คือ ชุมชนบริเวณปากลำน้ำ, เจ้า คือ เทวรูป, พระยา คือ พญาแสนตาและพญาบาทสังฆกร

            เมืองพระประแดงที่คลองเตย เคยย้ายมาอยู่ที่เมืองปากน้ำ (สมุทรปราการ) จึงเรียกปากน้ำว่า
บางเจ้าพระยา แล้วเรียกปากแม่น้ำตรงนั้นว่า ปากแม่น้ำบางเจ้าพระยา นานเข้าจนทุกวันนี้ก็กร่อนเหลือว่า
แม่น้ำเจ้าพระยา
 
            ทั้งหมดนี้ ผมสรุปจากบทความวิชาการเรื่องเมืองพระประแดง : จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์
จบที่อ. พระประแดง ของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 20 คำสั่ง