เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21
  พิมพ์  
อ่าน: 173348 ภาพและเรื่องสมัยรัชกาลที่๕ ได้มาใหม่จากเวปฝรั่งเศส
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 08:43

เจ้าพระยาอภัยราชา(โรแลง) ท่านบันทึกไว้ ในขณะที่ท่านนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน

“ เวลาหนึ่งทุ่มครึ่ง กัปตันโจนส์(อัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพ) ได้มาที่บ้านด้วยอาการกระวนกระวาย บอกข้าพเจ้าว่า
ระหว่างที่เดินมาตามถนนสีลม ช่วงเวลาหกโมงครึ่งถึงหนึ่งทุ่ม เขาได้ยินเสียงปืนใหญ่ ประมาณ ๔๐-๕๐ ครั้ง และมีเสียงปืนเล็กอีกมากมาย ซึ่งแน่ชัดว่าเสียงมาจากทางด้านปากน้ำ แต่ในระหว่างที่นั่งทำงานอยู่ แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้ยินอะไรเลย

สรุปได้ว่าการต่อสู้ต้านทานเรือรบฝรั่งเศสคงไม่เป็นผลสำเร็จนัก เราจึงตกลงใจที่จะเดินไปยังพระบรมมหาราชวังด้วยกัน ระหว่างทางพบเซเวียร์ซึ่งตั้งใจออกมารับข้าพเจ้า เราจึงขึ้นรถม้าไปด้วยกัน เมื่อเราเข้าไปในวังนั้น ปรากฎว่าที่นั่นเต็มไปด้วยทหาร มีปืนใหญ่กระบอกหนึ่งตั้งอยู่ตรงประตูทางเข้า ในพระลานมีพวกข้าหลวง ทหาร และบรรดาข้าราชบริพารอยู่เต็มไปหมด
ในหลวงทรงประทับอยู่ในท้องพระโรง กัปตันโจนส์ลังเลที่จะเข้าไปข้างใน แต่ปริ๊นซ์ดำรงซึ่งเดินออกมาพบเรา ได้เชิญให้กัปตันโจนส์เข้าไปด้วย

ในท้องพระโรง เราได้พบว่าบรรดาเสนาบดี ได้เข้าเฝ้าอยู่ก่อนแล้ว ในหลวงประทับอยู่บนพระโซฟาเช่นเคย องค์มกุฎราชกุมารประทับอยู่เบื้องซ้าย ในหลวงกำลังเสียพระทัย พระองค์ตรัสกับเราว่า เรือปืนฝรั่งเศสสองลำ แองกองสตังค์และโคเมตได้ผ่านแนวป้องกัน รวมทั้งการยิงจากป้อม และบรรดาเรือของเราที่เข้าขัดขวางทั้งหมดเข้ามาหมดแล้ว

ความเสียหายของฝรั่งเศส ลูกเรือตาย ๓ คน(ภายหลังได้ทราบว่าเป็นสี่) และบาดเจ็บสองคน
ส่วนความเสียหายต่อตัวเรือนั้น นับว่าน้อยมาก(Insignificant) ฝ่ายสยามตาย ๓๑ คน บาดเจ็บ ๓๐ คน ส่วนใหญ่เป็นลูกเรือ มีที่ป้อมเป็นส่วนน้อย

ทุกๆคนในท้องพระโรงนั้น ดูสับสนและท้อใจ ในหลวงทรงตรัสถามข้าพเจ้าและริชลิว(พระยาชลยุทธ์ฯ) ว่าข้าพเจ้าคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ริชลิวเสนอรายงานแผนการ ว่าเขาต้องการให้เรือของเราสองลำ แล่นเข้าชนเรือปืนฝรั่งเศส ซึ่งข้าพเจ้าได้ถามว่า แล้วหากปฏิบัติการครั้งนี้สำเร็จ แต่สถานการณ์เลวลงล่ะ ?
เมื่อเขาเสนอขึ้นเช่นนั้น จึงเป็นประเด็นขึ้นมา ข้าพเจ้าย้ำการให้คำปรึกษาว่า ข้าพเจ้าลังเล
ที่จะแนะนำให้กระทำตามแผนนี้ แม้จะเชื่อว่ามีทางประสพความสำเร็จก็ตาม แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสงครามจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าปฏิบัติการนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลว มันหมายถึงเรือฝรั่งเศสจะยิงถล่มบางกอก และพระบรมมหาราชวัง คำตอบของข้าพเจ้าคือเราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติหลีกเลี่ยงสถานะศัตรูกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีกำลังพอที่จะยิงถล่มบางกอก แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าฝรั่งเศสจะยังไม่ใช้กำลังส่วนนี้ เนื่องจากจะทำให้สภาวะทางการเมือง และการรักษาภาพลักษณ์ทางคุณธรรมของเขามิให้เลวร้ายลงไป

ดังนั้น เราต้องเริ่มต้นจากการประท้วงการฝ่าด่านเข้ามา และการมาประจำสถานีของเรือรบฝรั่งเศสสองลำนี้ อีกทั้งต้องประกาศให้ชาวสยามคลายความตระหนก และอยู่ในความสงบ

ปาวีร้องขอให้มีการประชุมเจรจาในวันพรุ่งนี้(๑๔) และเขาได้ยื่นหนังสือประท้วงของทางฝ่ายเขา และการเจรจาจะมีขึ้นในเวลา ๕ โมงเย็น วันพรุ่งนี้


โชคดีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเลือกเชื่อความเห็นของฝ่ายบุ๋น มิฉะนั้นสงครามระหว่างสยามและฝรั่งเศสคงจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ และสยาม ซึ่งไม่พร้อมที่จะรบด้วยประการทั้งปวงคงจะสูญสิ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 08 ก.พ. 11, 09:34


และอังกฤษเองกับฝรั่งเศสก็ทำสัญญากันเองจัดสรรดินแดนรัฐกันชน ไม่ก้าวล่วงละเมิดอำนาจกัน โดยที่สยามไม่รับรู้เลย

สรุปว่า อังกฤษคิดว่าไม่พร้อมที่จะทะเลาะกับฝรั่งเศสเรื่องสยาม เพราะไม่คุ้ม สู้ถ้อยทีถ้อยแบ่งผลประโยชน์กันในภูมิภาคนี้ดีกว่า


คำตอบอยู่ตรงนี้  ว่าเจ้าพ่ออาณานิคมทั้งสองก็ตกลงแบ่งเค้กกันลงตัว    โดยปล่อยสยามเป็นรัฐกันกระทบอยู่ตรงกลาง    ไม่มีฝ่ายไหนเข้ามายึด อันจะเกิดให้เสียสมดุลย์ระหว่างกันไป
นับว่าพระสยามเทวาธิราชยังคุ้มครองแผ่นดินสยามอยู่   สองประเทศจึงตกลงกันได้แบบนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 08:02

เหตุการณ์ในพระบรมมหาราชวังที่เจ้าพระยาอภัยราชา(โรแลง)บันทึกไว้นั้น เป็นบทสรุปแล้ว ส่วนทางหลังไมค์นั้นมีผู้บันทึกไว้ว่า


“... แม้แต่การประชุมของเหล่าเสนาบดีมีสภาพคล้ายกับการทะเลาะกันในร้านเหล้า...เหล่าเสนาบดีไม่มีการทำงานที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว หรือแนวคิดและนโยบาย … ข้าราชการในคณะรัฐบาลสยามขณะนั้นมีความคิดเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย... ฝ่ายหนึ่งนำโดยพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ สนับสนุนการใช้กำลังตอบโต้ฝรั่งเศส อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มของกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ซึ่งสนับสนุนให้ใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่หลังจากทรงไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยดำเนินพระราโชบายตามข้อเสนอแนะของกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ การนองเลือดจึงไม่เกิดขึ้น!...."


การที่พระยาชลยุทธฯ(ริชลิว) ผู้บัญชาการทหารเรือสยามชาวเดนมาร์กคิดจะใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี ซึ่งเป็นเรือธงอันทันสมัยของสยามพรางไฟมืด แล้วพุ่งชนเรือฝรั่งเศสให้จมนั้น ความจริงแล้วแทบไม่เห็นทางที่จะชนะสงครามที่จะเกิดขึ้นได้ เรือของฝรั่งเศสก็มีอยู่ถึงสามลำ การพุ่งชนอาจจะทำลายได้เพียงลำเดียว แต่เรือพระที่นั่งจะต้องได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก และเราจะจะไม่มีเรือที่ใช้งานได้เหลืออยู่เลย โชคดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเห็นชอบกับแนวความคิดแบบคามิกาเช่ที่ฝรั่งภูมิใจเสนอ จึงต้องล้มเลิกไป

ลองคิดดูจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้  แค่เพียงนายทหารยศร้อยโทของฝรั่งเศสเสียชีวิต ฝรั่งเศสยังหาเรื่องเอาเรือรบเข้ามาเรียกร้องต่างๆ นานา นี่ถ้าเรือมันจมลงและมีคนตายไปอีก คงได้โอกาสที่ฝรั่งเศสจะอ้างความชอบธรรม รุกฆาตเราเหมือนกับที่ทำกับญวนเพื่อยึดเป็นเมืองขึ้น  เพราะฝรั่งเศสเองก็พร้อมที่จะทำสงครามกับสยามอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากเหตุการณ์ที่ปากน้ำผ่านไปไม่กี่วัน ฝรั่งเศสก็ได้ส่งเรือรบเข้ามาปิดอ่าวไทย ถึง ๙ ลำ



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 08:44

อย่างที่เรียนไว้ว่า อังกฤษกับฝรั่งเศส เริ่มมีความขัดแย้งกันเมื่อ ฝรั่งเศสต้องการยึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งอังกฤษเองก็เล็งเห็นว่า มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่บริเวณเมืองเชียงรุ่ง หรือ ดินแดนสิบสองปันนา ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เมื่อเป็นดังนี้อังกฤษจึงได้ทักท้วงเพื่อป้องกันดินแดนส่วนนี้


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 09:19

"Buffer State" หรือดินแดนส่วนกลางที่กันไว้ไม่ให้มีปัญหาเรื่องพื้นที่ดินแดนระหว่างกัน เป็นสิ่งที่อังกฤษกับฝรั่งเศสเจรจราความกันเอง โดยมิได้บอกให้สยามรับรู้ เกิดขึ้นและจบลงเมื่อฝรั่งเศสจะร่างสัญญาสงบศึกกับสยาม เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๓ ระหว่างลอร์ดดัฟเฟอริน สัมภาษณ์กับ ม. เดอแวลล์ (รมต.กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส) โต้แย้งในร่างสัญญามีข้อความตอนหนึ่งว่า

"...อีกประการหนึ่งคือ ใคร่ที่จะให้การเจรจากันที่กรุงปารีส เรื่องตั้ง "Buffer State" สำเร็จไปโดยเร็วด้วย"

ขอแนบแผนที่การแบ่งเขตอิทธิพล ในดินแดนสยาม โดยเส้นแบ่งในดินแดนอีสานเป็นเขตฝรั่งเศส และดินแดนลุ่มน้ำภาคกลางเป็นของอังกฤษ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 09:38

^
รูปข้างบนของคุณ siamese ทำให้นึกถึงแผนของอังกฤษที่จะแบ่งสยามออกเป็นสยามเหนือ-สยามใต้ ในศึกวังหลวง-วังหน้าในรัชกาลที่ ๕ ก่อนหน้า ร.ศ. ๑๑๒  ขึ้นมาได้   
ความคิดของเจ้าอาณานิคมสมัยนั้น  ไม่ว่าฝรั่งเศสหรืออังกฤษ  เห็นประเทศในเอเชียเป็นเค้กที่จะต้องแบ่งกันอยู่ร่ำไป   ถ้าไม่แบ่งกันในระหว่างฝรั่งเศส-อังกฤษ  ก็ทำแบบแบ่งแยกแล้วปกครอง

เรื่องนี้คงจะต้องแยกไปเป็นกระทู้ใหม่  เรื่อง วังหน้าพระองค์สุดท้าย  รอให้จบกระทู้นี้ก่อน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 10:16

นโยบายในด้านการป้องกันประเทศของสยามแต่ไหนแต่ไรมา มักชอบใช้บ๋อยมาบริการให้ โดยบังคับให้ชนต่างชาติในขอบขัณฑสีมาจัดตั้งกองกำลังขึ้น ใครเป็น“ผู้กว้างขวาง”ในชุมชนก็จะได้รับการอวยยศให้เป็นขุนนาง มีหน้าที่ควักกระเป๋าเกณฑ์คนเข้ามาเป็นกองอาสาสมัครเวลาหลวงต้องการ เช่นยามมีศึกสงคราม  ในประวัติศาสตร์เราจึงได้ยิน  กองอาสามอญ   กองอาสาญวน  กองอาสาลาว  กองอาสาจาม  กองอาสาจีน   กองอาสาญี่ปุ่น   กองอาสาแขกเทศ  กองอาสามลายู  กองอาสาโปรตุเกส  ฯลฯ เป็นต้น อาสาสมัครเหล่านี้  มีทั้งที่เต็มใจและมิได้เต็มใจ เพราะรางวัลในการทำสงคราม(หากไม่ตาย) ก็คือสมบัติเชลยที่ปล้นสดมภ์หยิบฉวยเรี่ยร่ายรายทางมาได้

ใครอย่ามาหาว่าคนไทยเถื่อนนะครับ สมัยนั้นทุกชาติก็ทำอย่างนี้  ไม่มีใครจะมีกองทัพกินเงินเดือนประจำได้ มันก็ต้องเกณฑ์มาอย่างนี้แหละ  ส่วนทหารไทยแท้ๆที่เป็นลูกชาวบ้านไทยๆก็ต้องเกณฑ์เหมือนกัน ถ้าจำเป็น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยง เพราะเอาลูกเขาไปเขาก็โวย แต่ละคนก็มีเส้นมีสาย และใช้เส้นกันทั้งนั้น ทหารอาชีพมีเงินหลวงเลี้ยงจริงๆเห็นจะมีแต่พวกทหารล้อมวัง กับทหารหน้า รวมกันสักพันสองพันคนกระมัง

ในสมัยรัชกาลที่๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงมีกองปืนใหญ่อาสาญวนถือคริสตศาสนา สำหรับปืนประจำป้อม หรือปืนเรือ เมื่อโอนกิจการทหารของวังหน้ามาขึ้นกับวังหลวงในต้นรัชกาลที่๕แล้ว ก็ได้ระบบนี้มาด้วย ทางวังหลวงเองก็มีอาสาจาม ส่งไปเป็นเบ๊อยู่ที่ป้อมผีเสื้อสมุทร ส่วนที่ป้อมพระจุลฯเป็นอาสาญวน ทหารเลวเหล่านี้จริงๆแล้วไม่ใช่ทหาร เกณฑ์กันมาเป็นผลัดๆ การฝึกฝนและการกำกับวินัยก็หย่อนยาน ปืนใหญ่ต่างๆที่เพิ่งนำมาติดตั้งที่ป้อมและบนเรือรบก็เป็นปืนทันสมัยบรรจุกระสุนทางท้าย ไม่ไช่เอาลูกบิลเลียดกรอกปากเช่นปืนวังหน้า นายทหารที่มาบังคับบัญชาทั้งบนเรือรบและที่ป้อมปืนจึงเป็นฝรั่งหัวแดง เว้าไทยบ่ด้ายทั้งสิ้น แถมยังไม่ใช่ทหารอาชีพเพราะมีห้อยท้ายว่าเป็นทหารอาสาเหมือนกัน แต่อาสาฝรั่งพวกนี้คงจะเป็นพวกวิศวกรขายปืนที่บริษัทจ้างมาติดตั้งและทดสอบปืนใหญ่ที่สยามเพิ่งซื้อมา มียศทหารไทยติดบ่าเป็นของแถม วันที่เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการทดสอบปืนอาร์มสรองที่ป้อมพระจุลฯนั้น ปืนเสือหมอบเจ็ดกระบอก สามารถยิงได้แค่กระบอกเดียว ที่เหลือล้วนสวมวิญญาณชาววังไม่ยอมลุกจากท่าหมอบขึ้นมาแสดงถวาย ฝรั่งอาสาแม้จะเสียหน้าบริษัทของตัวมากแต่ก็รับจะแก้ไข บังเอิญเหตุการณ์เดินหน้ารวดเร็ว ยังไม่ทันจะฝึกลูกแถวให้เข้าที่ เรือรบฝรั่งเศสก็เข้ามาแล้ว ผลจึงเป็นดังปรากฏในประวัติศาสตร์ พอรบปึงปังขึ้นมา ทหารอาสาทั้งหลายย่อมรักษาตัวเองก่อนที่จะรักษาชาติบ้านเมืองให้เจ้าของประเทศ ยิ่งฝรั่งยิ่งแล้ว ถ้าสู้กับฝรั่งด้วยกันขนาดเอาชีวิต หรือเลือดมาหยดแหมะบนแผ่นดินนี้ เพื่อชาวสยามให้นอนสบายๆแล้ว คงโง่เต็มที
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 10:23

ความเจ็บช้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯในครั้งนี้นั้น ทำให้ไม่เป็นอันเสวยจนทรงพระประชวรหนัก พระวรกายซูบผอม ซมพระองค์บนที่พระบรรทมเหมือนจะสิ้นแผ่นดิน แม้ใกล้ที่จะมีพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนม์พรรษาก็มิสนพระทัย ทรงท้อและตรัสพ้ออยู่เป็นนิจ หลังจากทรงประจักษ์ความจริงว่า

" ในเมืองเราเวลานี้ไม่ขัดสนอันใดยิ่งกว่าคน การเจริญอันใดจะเป็นไปไม่ได้เร็วก็เพราะเรื่องคนนี้อย่างเดียว เพราะเหตุขัดสนเช่นนี้จึงต้องจำใช้ฝรั่งในที่ซึ่งคนเรายังไม่มีความรู้และความสามารถพอ แต่การใช้ฝรั่งนั้นไม่ใช่เป็นการง่าย แลก็รู้ชัดเจนอยู่ในใจด้วยกันว่า เขาเป็นคนต่างชาติภาษา จะซื่อตรงจงรักภักดีอะไรต่อเราหนักหนา ก็ชั่วแต่มาหาทรัพย์กลับไปบ้าน เมื่อจะว่าเช่นนี้ก็ไม่สู้เปนยุติธรรมแท้ เพราะบางคนซึ่งอัธยาศัยดี มีความรู้ อยากจะได้ชื่อเสียงที่ดี ฤามีความละอาย ฤาอยากจะอยู่ทำการให้ยืดยืนไปเขาก็ทำดีต่อเรามาก ๆ อยู่บ้าง แต่อย่างไร ๆ ก็คงต้องนับว่าเป็นเพื่อนกินไม่ใช่เป็นเพื่อนตาย "


และแล้ว ทรงตื่นขึ้นจากฝันร้าย มีพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะรับมิอกับอุบายชาวต่างชาติที่หมายเข้ามายึดครองแผ่นดิน สิ่งแรกที่จะดำรงสยามต่อไปได้ภายภาคหน้าให้ตลอดรอดฝั่งนั้น จะต้องปฏิรูประบบกองทัพขึ้นใหม่ การว่าจ้างชาวต่างประเทศมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เป็นผู้บังคับการเรือ และป้อม รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการทหารนั้น ไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศสยามเอาไว้ได้อีกแล้ว จึงโปรดส่งพระราชโอรสทั้งหลายออกไปศึกษาวิชาการ วิชาทหารและวิทยาการทั้งปวง ณ ทวีปยุโรป

สยามจะต้องปฏิรูปประเทศ มิใช่แต่การทหาร แต่ระบบการศึกษา การปกครองภายในประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะต้องถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมตามแบบแผนของสากล

บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 10:28

อ้างถึงความเห็นที่ 289 ของคุณ siamese

อังกฤษกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำสัญญากัน กำหนดให้สยามเป็นดินแดนกันชน (Buffer State) ชาติทั้งสองรับรองจะรักษาเอกราชไว้โดยรับจะไม่ยึดเอาดินแดนลุมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำอิง และพื้นที่ตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุณ (ประจวบคีรีขันธ์) จนถึงเมืองแกลง (ระยอง) เป็นอาณาจักรองตน

สัญญารับรองดินแดนกันชนที่กล่าวนี้ได้ลงนามกันที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๘ หรือ ร.ศ. ๑๑๔  เมื่อชาติทั้งสองได้ลงนามในสัญญา เป็นระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์คดีพระยอดเมืองขวาง จนพระยอดเมืองขวางถูกศาลผสมกัน (ไทย-ฝรั่งเศส) พิพากษาจำคุก ๒๐ ปีแล้ว

หนังสือธรรมศาสตร์วินิจฉัยได้แปลบทความของหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งเรื่องดินแดนกันชน แล้วนำลงพิมพ์ในหนังสือธรรมศาสตร์วินิจฉัยเล่ม ๒ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ เดือนธันวาคม ร.ศ. ๑๑๒ ฉบับที่ ๖๔ ชื่อเรื่องว่า "ว่าด้วยเมืองกลางซึ่งอังกฤศและฝรั่งเศสจะตั้งขึ้นฝ่ายทิศเหนือพระอาณาเขตสยาม"
อ้างถึง - สุจริต ถาวรสุข, คดีพระยอดเมืองขวาง เจ้าเมืองคำมวน ตอน คดีบางเบียนแห่งทุ่งเชียงคำ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 10:42

เพิ่มเติม -

ก่อนที่จะมีการทำสัญญากันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้น ทางสยามก็ได้มีการติดตามเรื่องนี้อยู่โดยตลอดว่าจะมีแนวโน้มข้อตกลงไปในทางใด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเจนาของการทำสัญญาจะเป็นอย่างไรนั่นเอง จนผลที่สุดจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณเป็นอัครราชทูตไปเจรจาสนับสนุนให้เกิดสัญญานี้ นอกจากนี้แล้วยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศคอยติดตามข่าวตลอดเวลา

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 11:03

เหตุการณ์ที่ปากแม่น้ำ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖

มีอะไรเกิดขึ้นในคืนนั้น ขอให้อ่านจากประกาศของทางราชการ เรื่องเรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ เข้ามาในลำแม่น้ำ

พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าให้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และราษฎรทั้งปวงได้ทราบทั่วกันว่า ในการที่ฝรั่งเศสกับกรุงสยามทุ่มเถียงกันด้วยเรื่องเขตแดนทางฝั่งแม่น้ำโขงคราวนี้ แต่แรกฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบลำหนึ่งเข้ามารักษาคนในบังคับช้านานมาแล้ว บัดนี้อ้างเหตุว่าเรือรบฝ่ายประเทศอังกฤษจะเข้ามารักษาผลประโยชน์บ้าง ราชทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ได้นำความบอกขออนุญาตให้เรือทั้งสองนี้ขึ้นมาแล้ว ฝ่ายเราเห็นว่าเวลานี้เป็นสมัยที่ยังไม่ควรมีเรือรบต่างประเทศเข้ามาจอดในลำแม่น้ำอีกกว่าประเทศละลำหนึ่งขึ้นไป จึงได้ปรึกษาด้วยราชทูตฝรั่งเศสและมีโทรเลขไปยังคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสที่กรุงปารีสแล้ว ก็ได้รับตอบทางโทรเลขรับรองด้วยราชทูตฝรั่งเศสและมีโทรเลขไปยังคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสที่กรุงปารีสแล้ว ก็ได้รับตอบทางโทรเลขรับรองตกลงว่าจะเลิกสั่งการเรื่องที่จะส่งเรือเข้ามาในแม่น้ำนั้นอีกแล้ว และข้างฝ่ายราชทูตฝรั่งเศสในนี้ก็ได้ตกลงยอมไม่ให้เรือรบขึ้นมาและขอให้เรือไฟให้นายทหารเรือออกไปห้ามแล้ว แต่เรือทั้งสองก็ยังฝืนเข้ามาในปากน้ำถึงที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพนักงานทหารเรือได้ยิงห้ามนัดหมายตามธรรมเนียม เรือรบไม่ฟังกลับยิงตอบบ้าง จึงเกิดยิงโต้ตอบกันขึ้น แล้วเรือรบทั้งสองนั้นก็ขึ้นมาทอดอยู่ในลำน้ำหน้าสถานทูตฝรั่งเศส

การที่เป็นไปแล้วครั้งนี้ ยังเชื่อว่าจะมีเหตุการณ์ที่เข้าใจผิดอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะในคำโทรเลขจากปารีสบอกความชัดเจนว่า เสนาบดีต่างประเทศฝรั่งเศสแสดงถ้อยคำว่าไม่ได้หมายที่จะทำอันตรายอันใดต่อความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของกรุงสยาม เพราะเหตุฉะนี้อย่าให้ชนทั้งหลายวิตกตื่นไปว่าจะมีการรบพุ่งอันใดในกรุงเทพฯ นี้เลย และเรือรบที่เข้ามาใหม่ ผสมกับลำเก่ารวมเป็น ๓ ลำนี้มีเพียง ๓๐๐ คนอย่างยิ่ง ไหนเลยจะสามารถขึ้นมารุกรานต่อตีในหมู่กลางประชุมทหารนี้ได้ แต่เหตุการณ์สำคัญที่ควรแก้ไขบัดนี้มีอยู่ที่คนทั้งหลายจะพากันวิตกตื่นเต้นไปต่าง ๆ โดยไม่ทราบการหนักเบา จึงได้ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้กรมนครบาลจัดการป้องกันระวังรักษาทรัพย์สมบัติและพลเมืองให้พ้นจากคนเบียดเบียน อนึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรตรวจตราพลทหารประจำกองในกรุงเทพฯ ทั่วไปแล้ว เป็นที่ทรงยินดีต้องพระราชหฤทัยยิ่งนักว่าจะระงับเหตุการณ์ในบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและป้องกันรักษาอาณาประชาชนให้พ้นจากภยันตราย และในการครั้งนี้ก็ยังได้มีการโต้ตอบปรึกษาหารือกันด้วยคอเวอนเมนต์ฝรั่งเศสทั้งที่กรุงเทพฯ และที่กรุงปารีส ดังปรากฎในหนังสือพิมพ์เรื่องนี้ ซึ่งได้ตีพิมพ์ประกาศมาให้ทราบ ขอให้ชนทั้งหลายพิเคราะห์เหตุผลตามกระแสพระราชดำริที่ได้แจ้งมาแล้วนี้ อย่าได้หวาดหวั่นวิตกตื่นไปกว่าเหตุ จงรักษาความสงบเรียบร้อยตามปรกติของตนทั่วถึงกันเถิด

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒
 

ประกาศฉบับนี้เป็นผลมาจากการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และรับมือกับปัญหาของรัฐบาล สภาพกรุงเทพฯ เวลานั้น เต็มไปด้วยความชุลมุนวุ่นวายทหารถูกส่งไปประชุมตามจุดต่าง ๆ เช่น สะพานหัน บริเวณสามยอด ปืนใหญ่ตั้งเรียงรายเพื่อเตรียมรักษาพระบรมมหาราชวังในตอนดึกของคืนนั้น เสนาบดีสภาประชุมเป็นการด่วน โดยมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธาน บันทึกของเจ้าพระยาอภัยราชาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปชาวเบลเยี่ยม เผยให้เราทราบว่าบรรยากาศที่ประชุมเต็มไปด้วยความวิตกเสียขวัญ สิ่งที่ทุกคนกลัวคือการระดมยิงกรุงเทพฯ มีข้อเสนอของฝ่ายทหารเรือ โดยเฉพาะจากเจ้าพระยาชลยุทธโยธิน (A.du Plesis de Richelieu) ชาวเดนมาร์ก รองผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของป้องพระจุลจอมเกล้า ให้ปฏิบัติการจมเรือรบของฝรั่งเศสทั้ง ๓ ลำ แต่เมื่อที่ประชุมถามถึงความมั่นใจในผลสำเร็จผู้เสนอก็ไม่มั่นใจ ข้อเสนอจึงตกไป ในที่สุดที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปว่าไทยกับฝรั่งเศสยังมีช่องทางการเจรจา เนื่องจากยังมิได้ตัดขาดไมตรีฝ่ายไทยควรประท้วงการบุกรุกจู่โจมของฝรั่งเศส รวมทั้งออกประกาศชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ประชาชนและชาวต่างประเทศได้ทราบ   และเพื่อมิให้ทำลายบรรยากาศของการเจรจาระหว่าง ๒ ฝ่าย ทางรัฐบาลได้มีคำสั่งว่า

ให้คิดอ่านซ่อนพลทหารเสีย ให้ทันก่อนเวลารุ่งเช้าแลให้ซ่อนปืนใหญ่เข้าไว้ในที่กำบังอย่าให้มองเห็นได้โดยเปิดเผย....

สืบเนื่องจากคำประกาศนี้ สิ่งที่ควรพิจารณาในที่นี้คือ ความเข้าใจผิดที่ก่อให้เกิดการต่อสู้ของทั้งสองประเทศ และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายไทยนั้นคืออะไร สถานการณ์ที่นำไปสู่การสู้รบของทั้งสองฝ่ายนั้นมีความเป็นมาอย่างไร

รายการอ้างอิง

๑. หจช. ฝ ๑๘/๑๘ สำเนาร่างประกาศพระบรมราชโองการเรื่องเรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ เข้ามาในลำน้ำ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม รศ.๑๑๒.

๒. Tip,Walter E.J, Siam’s Struggie for Survival, White Lotus, หน้า 1996. sohk 84-88.

๓. หจช.ฝ ๑๘/ ๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงพระยาสุรศักดิ์มนตรี . ลงวันที่ ๑๓ กรกฏาคม ร.ศ. ๑๑๒


รศ. ๑๑๒ : จุดวิกฤติของการคุกคามจากจักรวรรดินิยม : จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ : วารสารคณะมนุษยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยนเรศวร : ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ มกราคม - มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒

http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=2099&page=1
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 11:13

อาจารย์เทาชมพูครับ กรุณาขยายขนาดอักษรตัวเอนด้วยครับ

สมาชิกสูงวัยต้องใช้แว่นขยายส่องอ่านแล้วครับ ...

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 11:27

อาจารย์เทาชมพูครับ กรุณาขยายขนาดอักษรตัวเอนด้วยครับ

สมาชิกสูงวัยต้องใช้แว่นขยายส่องอ่านแล้วครับ ...

หน้าจอของดิฉัน ตัวอักษรโตชัดเจนทีเดียวค่ะ  คุณลุงไก่ลองกด  ctrl และ กด +  ดีไหมคะ  มันจะขยายตัวอักษรขึ้นมาเรื่อยๆเวลากด + ซ้ำๆ กัน
ถ้าคุณใช้ internet explorer  เข้าไปที่ view แล้ว zoom ภาพเป็น 150% หรือ 200% ก็ได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 12:35

อาจารย์เทาชมพูครับ กรุณาขยายขนาดอักษรตัวเอนด้วยครับ

สมาชิกสูงวัยต้องใช้แว่นขยายส่องอ่านแล้วครับ ...

หน้าจอของดิฉัน ตัวอักษรโตชัดเจนทีเดียวค่ะ  คุณลุงไก่ลองกด  ctrl และ กด +  ดีไหมคะ  มันจะขยายตัวอักษรขึ้นมาเรื่อยๆเวลากด + ซ้ำๆ กัน
ถ้าคุณใช้ internet explorer  เข้าไปที่ view แล้ว zoom ภาพเป็น 150% หรือ 200% ก็ได้ค่ะ

เออหนอเรา ... ไม่ได้นึกถึงเลย เพราะไม่เคยใช้

ขอบคุณอาจารย์ครับ ...

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 09 ก.พ. 11, 14:07

La reine, les princesses, toute la famille royale et toute la La cour se rendaient, le jour où ces photographies ont été prises, à une des plus significatives cérémonies religieuses du Siam.
Les Siamois sont des bouddhistes orthodoxes, et ils le sont avec ferveur. Leur ardeur religieuse s'atteste de la manière la plus manifeste par le grand nombre de bonzes qu'ils nourrissent et entretiennent. Elle s'affirme encore par la multiplicité des pagodes et des sanctuaires. Les riches, non contents de faire des donations, construisent un temple qu'ils se plaisent à enrichir et où doivent être déposées leurs cendres: les pauvres donnent au moins une idole du bouddha. Enfin, la profondeur du sentiment religieux de ce peuple éclate dans la vénération dont est entouré le roi.

คุณ Navarat.C  แปลว่า
วันที่ถ่ายภาพเหล่านี้ พระราชินี พระราชวงศ์ทั้งหญิงและชาย ตลอดจนข้าราชสำนัก ได้ไปร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสยาม
สยาม นับถือศาสนาพุทธแต่โบราณกาล  และมีศรัทธาสูงส่งมาก  ความเคร่งครัดศาสนาของพวกเขาที่พิสูจน์ได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือ จำนวนของพระสงฆ์ที่มีมากมายมหาศาลซึ่งพวกเขาช่วยกันอุปถัมภ์ค้ำชู  ที่ยิ่งไปกว่า คือจำนวนเจดีย์และวัดวาอารามหลายหลากรูปแบบเหล่านั้น
คน รวย ไม่ได้วัดที่การบริจาคเงิน พวกเขาสร้างวัดเพื่อต้องการให้ตนเองรวยขึ้น และเพื่อใช้เป็นสถานที่ที่จะบรรจุเถ้าถ่านของพวกเขา คนจน อย่างน้อยก็จะบริจาคสำหรับการสร้างรูปพระพุทธเจ้า สุดท้าย ก้นบึ้งของความรู้สึกต่อศาสนาของประชาชน ก็คือการนับถือที่โอบอุ้มโดยพระเจ้าแผ่นดิน


ดิฉันอ่านได้ส่วนหนึ่ง    ติดอยู่ตรงประโยคสุดท้ายซึ่งกูเกิ้ลอังกฤษแปล กลับตาลปัตรไปอีกทาง ทำให้งงงวย แปลไม่ออก ต้องไปขอพี่มนันยาช่วย
พี่มนันยาขอให้เพื่อนของเธอชื่ออ.วรากุลซึ่งสมรสกับชาวฝรั่งเศสช่วยตรวจสอบอีกที     ผลการแปลออกมาตามที่คุณ Navarat.C แปลไว้  เว้นแต่ 2 คำคือ Orthodox แปลว่าโบราณดั้งเดิม   กับประโยคท้ายที่ควรเป็น active voice  กูเกิ้ลดันแปลเป็น passive voice  เลยอ่านไม่รู้เรื่อง

ในที่สุดจึงออกมาตามนี้

วันที่ถ่ายภาพเหล่านี้ พระราชินี พระราชวงศ์ทั้งหญิงและชาย ตลอดจนข้าราชสำนัก ได้ไปร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสยาม
สยามนับถือศาสนาพุทธนิกายดั้งเดิม  และมีศรัทธาสูงส่งมาก  ความเคร่งครัดศาสนาของพวกเขาที่พิสูจน์ได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือ จำนวนของพระสงฆ์ที่มีมากมายมหาศาลซึ่งพวกเขาช่วยกันอุปถัมภ์ค้ำชู  ที่ยิ่งไปกว่า คือจำนวนเจดีย์และวัดวาอารามหลายหลากรูปแบบเหล่านั้น
 
คนรวย ไม่ได้วัดที่การบริจาคเงิน พวกเขาสร้างวัดเพื่อต้องการให้ตนเองรวยขึ้น และเพื่อใช้เป็นสถานที่ที่จะบรรจุเถ้าถ่านของพวกเขา  คนจน อย่างน้อยก็จะบริจาคสำหรับการสร้างรูปพระพุทธเจ้า สุดท้าย ก้นบึ้งของความรู้สึกต่อศาสนาของประชาชน ก็คือการนับถือพระเจ้าแผ่นดิน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง