เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13
  พิมพ์  
อ่าน: 59091 " เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 14:15

มาลงชื่อว่าตามอ่านอย่างสนุกสนานครับ ขอบพระคุณทุกท่านครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 15:51

^
ตามอ่านอย่างเดียวไม่พอนะครับท่านม้า ต้องหาเรื่องเด็ดๆมาลงด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 17:56

ความพยายามที่จะสร้างเรือกลไฟที่สมเด็จเจ้าฟ้าเริ่มตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. ๒๓๘๗ แต่เวลาก็ได้หมดไปกับการศึกษาหาความรู้ที่ยากยิ่ง มิได้เข้ากูเกิลแล้วจะกดปุ่มออกมาได้อย่างสมัยนี้ กว่าจะได้ลงมือทำต้นแบบเครื่องกลจริงๆก็ต่อเมื่อได้เครื่องกลึงมาตั้งอยู่ในวังแล้วนั่นแหละ ดังนั้นกว่าเรือต้นแบบของพระองค์จะวิ่งขึ้นๆลงๆแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ก็เป็นปีพ.ศ. ๒๓๙๐เข้าไปโน่น

ดังที่คุณภาณุเมศฺวรว่า ในฐานะที่เป็นสหชาติที่มีความสนใจในอะไรๆที่คล้ายกัน และน่าจะสนิทสนมกันพอสมควรในฐานะที่ไปราชการการสงคราม เป็นแม่ทัพหน้าและแม่ทัพหลวง คราวเอากองเรือรบไปยิงกับญวนที่บันทายมาศมาด้วยกัน  สมเด็จเจ้าพระยาท่านจะต้องได้รับประโยชน์ในเครื่องต้นแบบของสมเด็จเจ้าฟ้าบ้าง

แต่ในช่วงผลัดแผ่นดิน ทุกฝ่ายก็คงต้องไปยุ่งๆกับเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่า  ในรัชกาลที่๔นี้ มีความเปลียนแปลงขนานใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้าได้รับสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ บัญชาการกองทัพเรือวังหน้า มีอู่ต่อเรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับคลองบางกอกน้อย หรือที่เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้เป็นสมุหพระกลาโหม และบัญชาการกองทัพเรือวังหลวง ซึ่งมีอู่ต่อเรืออยู่ที่ข้างๆวัดระฆัง ส่วนตัวท่านเองก็มีอยู่อยู่ที่ปากคลองสานอีกแห่งหนึ่งด้วย

ครั้นบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ปรากฎว่าเรื่องเรือกลไฟที่ใช้งานได้จริงๆนั้น ยังไม่ไปถึงไหน ความจริงที่ต้องยอมรับประการหนึ่งก็คือ สยามผลิตวัตถุดิบไม่ได้เลย แผ่นโลหะที่จะใช้สร้างเรือ ต้องสั่งมาจากยุโรป สั่งมาแล้วก็ขาดโน่นขาดนี่ ต้องรอของครบอีกนับเป็นเดือนๆ ยากเย็นแสนเข็ญที่จะสร้างเครื่องกล หรือตัวเรือได้เอง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมท่านจึงใช้ทางลัด สั่งเครื่องจักรไอน้ำสำหรับเรือมาจากอังกฤษแบบสำเร็จรูป เอาลงติดในเรือกำปั่นไม้ที่มีอยู่แล้ว สำเร็จขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่ก็ล่วงมาถึงพ.ศ. ๒๓๙๘ เกือบ๘ปีหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสร้างเรือต้นแบบสำเร็จ  
เรือของสมเด็จเจ้าพระยาท่านเป็นเรือจักรข้าง ยาว ๗๕ ฟุต พระราชทานชื่อเรืออย่างเหมาะสมน่าทึ่งว่า เรือสยามอรสุมพล ( อรสุม=ไอน้ำ พล=กำลัง) นับเปนเรือกลไฟลำแรกซึ่งใช้งานได้จริงๆที่มีขึ้นในประเทศนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงโปรดเรือลำนี้มาก เพราะเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารคไปยังหัวเมืองริมแม่น้ำ ริมทะเลหลายแห่งได้สะดวกด้วยเรือพระที่นั่งลำนี้ เกาะสีชังนั้นเสด็จบ่อย แต่ที่ไปไกลที่สุดคงจะเป็นสงขลา

ข้อมูลเรือสยามอรสุมพลมีความสับสน ทั้งสองรูปที่นำมานี้ถูกบรรยายว่าเป็นเรือสยามอรสุมพลทั้งสิ้น แต่ในรูปวาดนั้น ไม่ใช้เรือจักรข้าง เหมือนเรือในรูปถ่าย ดังนั้นต้องมีอะไรผิดกันสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ ผมก็เกิดไม่ทันได้เห็นซะด้วยจะได้ยืนยันได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 18:04

เมื่อเห็นว่าคนไทยทำได้เพียงเช่นนี้ จึงโปรดเกล้าให้อู่เรือวังหลวงต่อเรือไม้ ที่หาได้ง่ายในสยาม จะให้ดีอย่างไรก็ได้ แล้วสั่งเครื่องกลไฟจากฝรั่งเข้ามาติดตั้งดีกว่า

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเองก็ทรงให้อู่เรือวังหน้าต่อเรือขึ้นอีกหลายลำด้วยวิธีการเดียวกัน ต่อมาถึงกับทรงซื้อเรือของฝรั่งทั้งลำ มาดัดแปลงติดอาวุธใช้เป็นเรือรบด้วย เรือของกองเรือวังหน้าลำหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงต่อขึ้นเองอย่างประณีตมาก คือเรือยงยศอโยชฌิยา  สามารถเดินทางไปราชการที่สิงคโปร์ ได้รับคำชมเชยจากชาวต่างประเทศเป็นอันมากว่ามีผีมือได้ระดับ การเดินทางในครั้งนั้นเท่ากับเป็นการไปอวดธงในต่างประเทศ ธงสยามได้ถูกชักขึ้นคู่กับธงอังกฤษที่ฟอร์ทแคนนิ่งด้วย

เรือยงยศอโยชฌิยาทำด้วยไม้ ตัวเรือเป็นแบบสกูนเนอร์ ยาว ๑๔๐ ฟุต กว้าง ๒๙ ฟุต มีปืนใหญ่ ๖ กระบอก ระวางขับน้ำ ๓๐๐ ตัน กำลังเครื่องจักร ๖๐ แรงม้า พลประจำเรือ ๘๐ นาย เริ่มขึ้นระวางใช้ในราชการเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าข้ามรัชกาลเลยทีเดียว เคยยิงต่อสู้กับเรือปืนของฝรั่งเศสที่ป้อมพระจุล เคยร่วมขบวนกับเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือมกุฏราชกุมารไปส่งและรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ คราวเสด็จประพาศยุโรปที่สิงคโปรทั้งสองครั้ง
และภารกิจสำคัญสุดท้ายคือ เป็นเรือที่กรมหลวงชุมพรฯ ได้ทรงใช้นำนักเรียนนายเรือไปฝึกภาคสนามในทะเลอยู่หลายปีก่อนปลดระวางประจำการ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๑


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 20:15

ไปเจอหนังสือที่เล่าถึงเรือพระที่นั่งมงคลราชปักษี  เลยคัดมาให้อ่านกันค่ะ

จากนาวิกศาสตร์

เรือรบไทยสมัยรัชกาลที่๓
๑. เรือพุทธอำนาจ (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด ๒๐๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๑๐ กระบอก เรือลำนี้เป็นของพระบาท

สมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ไปราชการทัพรบกับญวน ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็น

กรมขุน อิศเรศรังสรรค์ ยกกองทัพไปรบกับญวน ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)
      ๒. เรือราชฤทธิ์ (Sir Walter Scott) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ เป็นเรือแบบเดียวกันกับพุทธอำนาจ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ไปราชการทัพรบกับญวน
      ๓. เรืออุดมเดช (Lion) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด ๓๐๐ ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ

.๒๓๘๔ ได้ใช้ไปราชการทัพรบกับญวน พ.ศ.๒๓๘๗ ได้นำสมณทูตไปลังกา
      ๔. เรือเวทชงัด (Tiger) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๖ เป็นเรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด ๒๐๐ ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
      ๕. เรือพุทธสิงหาศน์ (Cruizer) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ เป็นเรือชนิดชิพ ขนาด ๔๐๐ ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ฯ
      ๖.เรือมงคลราชปักษี (Falcon) ซื้อเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ เดิมเป็นเรือของชาวอเมริกัน ชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด ๑๐๐ ตัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงซื้อมา แล้วดัดแปลงใช้เป็นเรือรบ เรือพระที่นั่งของพระองค์

   เรือมงคลราชปักษี  เป็นเรือที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงชมเชยไว้ในพระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์และเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี  
(คงตัวสะกดแบบเดิม)

 " ....วังหน้าท่านซื้อเรือสกุเนอ  ลำหนึ่งเป็นเรืออเมริกัน ท่านจัดแจงเป็นเรือรบ เรือพระที่นั่ง  พระราชทานชื่อว่าเรือมงคลราชปักษี จัดแจงสอาดสอ้านงามหมดจดหนักหนาน่ารักน่าชม    ท่านเสด็จลงไปทอดพระเนตรการทำเองทุกวัน  ตั้งแต่เดือน ๙ มา  ครั้นการเสร็จแล้วในเดือน ๑๒   ท่านรับเงินไปแจกเบี้ยหวัดข้าราชการทั้งสิ้น ๑๐๐๐ ชั่ง  แล้วให้มารับเงินไปรวมหยุดไว้อีก ๑๐๐๐ ชั่ง  ยังไม่แจก  ก่อนท่านมาลาข้าพเจ้าว่าจะไปประพาสลมทะเลสักเดือนเศษ   ท่านเสด็จไปกับเรือพระที่นั่งมงคลปักษีแล้ว  ว่าท่านจะเสด็จไปถึงเมืองจันทบุรี
        
       เรือพระที่นั่งวังหน้าลำนี้คงโก้มาก เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยสมเด็จพระจอมเกล้าฯ    จนมีพระราชประสงค์จะได้เรือจากยุโรปเป็นส่วนพระองค์สักลำหนึ่ง    เห็นได้จากข้อความในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันนี้
      
       "อนึ่งเรือพระที่นั่งมงคลราชปักษีของวังหน้านั้น เขาเล่าฦๅกันมาก  สรรเสริญว่าหมดจดงดงามดีนัก ใครสู้ไม่ได้   ก็ท่านทูตานุทูตได้ไปเมืองลอนดอนทั้งที    ถ้าแม้นจะคิดอ่านหาเรือกำปั่นสกุเนอที่ทำด้วยเหล็กย่อมๆให้ข้าพเจ้าใช้เล่นสักลำหนึ่งจะได้ฤๅไม่ .....แต่ถ้าท่านจะเอาใจใส่ไต่ถามหาเรือเหล็กเล็กๆที่เขาจะขาย  หรือจะสั่งให้เขาทำจะได้ฤๅไม่   จะเป็นเรือกลไฟหรือเรือแล่นใบก็ตามจะเห็นควร    ถ้าทุนจะเสียเพื่อเรือเหล็กนั้นไม่มากนัก   อยู่ในสามร้อยชั่งลงมาแล้ว  ข้าพเจ้าก็ยินดีจะซื้อไว้ใช้เล่นสักลำหนึ่งพอเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้า"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 20:26

โปรดสังเกตว่าเรือพระที่นั่งทุกลำมีชื่อทั้งไทยและอังกฤษ   เรือพระที่นั่้งพุทธอำนาจ ในเว็บทหารเรือบอกว่าชื่อ Fairy แต่ในหนังสือของดิฉันบอกว่าชื่อ Sir Walter Scott    จะผิด   หรือเปลี่ยนทีหลัง อย่างไรก็ไม่ทราบ  ฝากท่านผู้รู้ตรวจสอบอีกที

สาเหตุที่มี ๒ ภาษา  ล้วนเป็นเหตุผลทางวิสัยทัศน์  คือ
๑   ต่อไปชื่อเรือเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ในหนังสือและเอกสารของฝรั่ง  ที่เข้ามาติดต่อกับสยาม     ถ้าคนไทยไปอ่านพบเข้าก็จะตรวจสอบได้ว่าชื่อไทยของเรือคือชื่ออะไร
๒   ชื่อไทยยืดยาวและเขียนยาก อ่านยาก ฝรั่งจำไม่ค่อยได้     ถ้ามีชื่ออังกฤษกำกับก็สะดวกในการติดต่อมากกว่า

ว่ากันว่าคนที่ถวายคำแนะนำให้เรือพระที่นั่งมีชื่อ ๒ ภาษาคือนายหันแตร โรเบิต ฮันเตอร์    คงเป็นตอนที่แกยังดีๆ พูดจากันรู้เรื่องอยู่  ยังไม่ได้แผลงฤทธิ์แผลงเดชขึ้นมา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 20:35

อ้างถึง
เรือมงคลราชปักษี (Falcon) ซื้อเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ เดิมเป็นเรือของชาวอเมริกัน ชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด ๑๐๐ ตัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงซื้อมา แล้วดัดแปลงใช้เป็นเรือรบ เรือพระที่นั่งของพระองค์

ทรงซื้อมาแล้ว ปรับปรุงสอาดสอ้านงามหมดจดหนักหนาน่ารักน่าชมแล้ว ก็ต้องเอาออกลองทะเล

 
หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ในรัชกาลที่ 4 เล่ม 1 แผ่นที่ 2 ฉบับวันอังคาร เดือนห้า แรมค่ำหนึ่ง จ.ศ.1220 ( ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม 2401 ในหน้า 14) มีเนื้อหาดังนี้


เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 แรมแปดค่ำ ปีมะเส็ง นพศก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมาแต่ประพาสทะเลถึงพระบวรราชวัง แล้วทรงพระราชดำรัสเล่าความว่า เสด็จพระราชดำเนินลงไปถึง เกาะช้าง หน้าเมืองตราด มีผู้กราบทูลว่า เมื่อก่อนเรือพระที่นั่งลงไปถึง เกาะช้าง สองสามวัน มีเรืออ้ายจีนสลัดหลายลำมาแล่นเที่ยวอยู่หน้า เกาะช้าง ข้างนอก เรือเล็กน้อยพวกหาปลาหาปลิง กลัวหนีเข้ามาฝั่งฟากเมืองตราดสิ้น

ครั้นได้ทรงทราบดังนี้ จึงทรงคาดการเห็นว่า สลัดถ้ามาเที่ยวตำบลนั้นแล้ว เมื่อน้ำในเรือหมดก็เห็นจะแวะมาตักน้ำใน คลองสลักคอก ที่ตำบล เกาะช้าง นั้นเอง จึงได้เลื่อนเรือกำปั่นพระที่นั่งมงคลราชปักษี กับกำปั่นพุทธสิงหาศน 2 ลำ มาทอดอยู่ที่ปาก คลองสลักคอก คอยจับสลัดอยู่ถึง 3 วัน ก็หาพบเรือสลัดมาไม่ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมา ทอดประทับเรือพระที่นั่งอยู่ที่แหลมสิงห์ ปากน้ำเมืองจันทบุรี

วันพุธ เดือนสี่ แรมสี่ค่ำ เวลาบ่าย 5 โมงเย็น คนในเรือพระที่นั่งส่องกล้องลงไปข้างล่างได้เห็นเรือใบแล่นอยู่ 3 ลำ ที่หน้าเกาะปิด เกาะเปิด ไกลที่เรือพระที่นั่งทอดอยู่ประมาณ 200 เส้นเศษ ลำหนึ่งทอด สองลำแล่นผ่านไปผ่านมาอยู่แล้ว ได้แลเห็นไฟวาบขึ้นในเรือลำใหญ่ ได้ยินเสียงปืนใหญ่ 3 นัด เอาความกราบทูล จึงทรงคาดการณ์สังเกตเห็นว่า เป็นเรืออ้ายจีนสลัดเข้าตีเรือลูกค้าเป็นแน่
ขณะนั้นเรือพระที่นั่งก็ม้วนใบไว้สิ้นคาดเพดานไว้ตลอดลำ ทรงกำหนดการเห็นว่า กว่าจะแก้เพดานแล้วชักใบขึ้นให้พร้อม แล้วจะแล่นลงไปได้ ก็จะไม่ทันอ้ายสลัด เวลาก็จะค่ำเสีย เดือนก็มืดลงไปก็จะไม่เห็นเรืออ้ายสลัด จึงได้โปรดให้งดรออยู่จัดแจงเรือกำปั่นทั้ง 2 ลำ ไว้ให้พร้อมต่อเวลา 4 ทุ่ม เดือนขึ้นสว่างแล้ว จึงจะแล่นเรือกำปั่นทั้ง 2 ลำ ลงไปสืบความและตามจับอ้ายสลัด ครั้นเวลาเดือนขึ้นแล้วก็ได้แล่นเรือพระที่นั่ง เรือพุทธสิงหาศน ลงไปตามกำหนด

พอพบเรือลำซึ่งถูกสลัดตีเมื่อเวลาเย็นวันนั้นแล่นขึ้นมา จึงโปรดให้เรือช่วงออกไปถาม ได้ความว่า เป็นเรือจีนเจ้าสัวเล่าแซ มีนายเรือลูกเรือคน 15 คน 16 อ้ายสลัดแล่นไล่มาแต่ เกาะช้าง ทันเข้าที่หน้าเกาะปิด เกาะเปิด อ้ายสลัดเอาปืนยิง 2 นัด เรือลำนั้นได้ยิงสู้ แต่ประจุดินใส่ปืนมากไป ปืนแตก ดินในถังก็ลุกขึ้นด้วย อ้ายสลัดเอาหม้อดินทิ้งลงด้วย คนในลำถูกดินลุกตายสองคน นอกนั้นป่วยเจ็บหมด เหลือเป็นคนดีอยู่สี่ห้าคน อ้ายสลัดร้องให้ลดใบและทอดสมอลง ด้วยความกลัวก็ได้ทำตามใจอ้ายจีนสลัด แต่อ้ายจีนสลัดจะขึ้นบนเรือก็หาทันไม่ ด้วยลมสำเภาพัดกล้า พัดเรืออ้ายสลัด แล่นเลยเรือที่ทอดสมออยู่นั้นขึ้นมา เรืออ้ายจีนสลัดจึงแล่นก้าวไปก้าวมา จะเข้าหาเรือที่ทอดสมออยู่ ก็เข้าไม่ติด พวกอ้ายจีนสลัดจึงลงเรือช่วงตีกรรเชียงมา จะขึ้นเรือลำนั้นให้ได้จีนจุ่นจูเรือลำนั้นกลัว เอาขอนไม้ผูกกับตัวโดดน้ำลอยหนีไป คนอีก 6 คน ก็โดดน้ำหนี ว่ายจนจมน้ำตาย เรือช่วงอ้ายจีนสลัดเข้ามาใกล้ร้องถามว่ามีสิ่งไรบนเรือ จีนบนเรือบอกว่าไม่มีสิ่งไรมีแต่จากบรรทุกมาขาย อ้ายจีนสลัดก็หาขึ้นบนเรือไม่ ตีกรรเชียงกลับไปเรืออ้ายจีนสลัด ครั้นค่ำลงเรืออ้ายจีนสลัดก็หายไป ไม่ทราบว่าไปทางไหน เรือลำนี้ก็แล่นขึ้นมา

จึงได้แล่นเรือพระที่นั่งลงไปตามในกลางคืน ก็หาพบเรืออ้ายสลัดไม่ พบแต่ตัวจุ่นจูซึ่งผูกกับไม้ขอนลอยน้ำอยู่ ได้รับตัวขึ้นเรือได้แต่ในกลางคืนวันนั้นแล้ว ครั้นเวลาเช้าขึ้นลมอุตราพัดลงกล้า ทอดพระเนตรลงไปเห็นเรือลำหนึ่งแล่นหนีอยู่ข้างล่าง ได้ไถ่ถามจีนที่ถูกสลัดตี ก็ยืนยันว่าเรือลำนั้นเป็นเรือสลัดแน่แล้ว จึงได้แล่นเรือพระที่นั่งไล่ลงไปใกล้เรือลำนั้น ประมาณ 50 เส้น 60 เส้น ลมอุตราก็สงบอ่อนไปเสีย เรือพระที่นั่งแล่นไม่เดิน เรือที่หนีนั้นก็ตีกรรเชียงเข้าฝั่งข้างจันทบุรีหายไป ข่าวอันนี้เป็นแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเล่าเมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร เมืองจันทบุรี ก็หาได้มีบอกข่าวนั้นเข้ามาไม่จนวันนี้ เป็นวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นสองค่ำ ปีมะเมียยังเป็นนพศก


เรือสกูนเนอร์ขนาด100ตัน เท่าในภาพนี้เองครับ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 20:49

ขอแนบเส้นทางการเดินเรือ ที่นายอองรี อูโมต์ เดินทางระหว่างสยาม - กัมพูชา ครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 12:06

คุณหลวงเล็ก ท่านกรุณาให้ลิงค์หนังสือบางกอกคาเลนดา (1861 และ 1862) มา  ผมเห็นว่ามีประโยชน์จึงนำมาลงไว้ที่นี้

1861
http://books.google.com/books?id=77BMAAAAYAAJ&printsec=frontcover&dq=Bangkok+Calendar&hl=th#v=onepage&q&f=false
เลขหน้า 44 - 47 แต่หน้าค้นหาเป็น 46 - 49

1862
http://books.google.com/books?id=XIs0AAAAMAAJ&printsec=frontcover&dq=Bangkok+Calendar&hl=th#v=onepage&q&f=false
หน้า 42 - 45


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 15:11

คุณหลวงเล็ก ท่านกรุณาให้ลิงค์หนังสือบางกอกคาเลนดา (1861 และ 1862) มา  ผมเห็นว่ามีประโยชน์จึงนำมาลงไว้ที่นี้

1861
http://books.google.com/books?id=77BMAAAAYAAJ&printsec=frontcover&dq=Bangkok+Calendar&hl=th#v=onepage&q&f=false
เลขหน้า 44 - 47 แต่หน้าค้นหาเป็น 46 - 49

1862
http://books.google.com/books?id=XIs0AAAAMAAJ&printsec=frontcover&dq=Bangkok+Calendar&hl=th#v=onepage&q&f=false
หน้า 42 - 45




ดึงออกมาจัดให้ดูสะดวกตาครับ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 15:42

หน้าต่อมา


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 15:47

แผ่นต่อมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 21:31

จากตารางทะเบียนเรือทั้งหมด บอกได้ว่า

๑ เรือสยามอรสุมพลนั้น เป็นเรือPaddleหรือ พายแบบกงล้อหมุนข้างลำเรือ ไม่ได้ใช้ใบจักรท้ายเรือ(ถึงว่าซิครับ ใบจักรเรือยังล้ำสมัยมากในยุโรปด้วยซ้ำ) รูปที่เริมต้นจากเวปนี้ แล้วลอกต่อๆกันไปนับสิบในโลกไซเบอร์นั้น ผิดครับ

http://www.navy.mi.th/nrdo/Chakri/king4.htm

๒ ผู้ที่ต่อเรือกลไฟได้ในสมัยรัชกาลที่๔นั้น มีมากมาย มิใช่เฉพาะอู่เรือวังหลวง และอู่เรือวังหน้า หรืออู่ปากคลองสานของสมเด็จเจ้าพระยาเท่านั้น ในบรรดาท่านที่ต่อได้เป็นรายแรกๆองค์หนึ่งก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงกำกับราชการมหาดไทย ว่ากรมพระคลังสินค้า
เรือบางลำที่ต่อโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ลงทะเบียนชื่อเจ้าของว่าPrime Minister ผมเพิ่งทราบบัดเดี๋ยวนี้แหละครับว่า ตำแหน่งสมุหพระกลาโหมที่ท่านดำรงอยู่ในครั้งรัชกาลที่๔ ฝรั่งเรียกว่า “นายกรัฐมนตรี”ตามความหมายในปัจจุบัน
เรือบางลำของท่านลงทะเบียนชื่อเจ้าของว่า สมเด็จองค์ใหญ่ แสดงว่าเป็สมบัติส่วนตัวของท่าน บางลำเป็นของสมเด็จองค์น้อย  หริอสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ
เจ้านายและขุนนางอื่นๆที่เป็นเจ้าของเรือก็มี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาทนิภาธร กำกับราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ  และพวกข้าราชการระดับพระยาสายสกุลบุนนาคหลายคน
ที่รวมกันแล้วก็จำนวนไม่น้อยคือพวกพ่อค้าจีน ที่ดังๆก็เจ้าสัวยิ้ม(พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์) เจ้าสัวฟัก(พระยาศิริไอยสวรรค์) ญาติผู้ใหญ่ของท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอม เจ้าสัวสอน ที่มาของชื่อตรอกเจ้าสัวสอนแถวเยาวราชทุกวันนี้ เจ้าสัวนอกนั้นชื่อยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นไทย ผมอ่านไม่ออก

๓ เรือกลไฟที่ต่อส่วนใหญ่เป็นเรือสินค้า ระวาง๒-๓รัอยตันขึ้นไป เรือรบส่วนใหญ่จะ๒๐๐ตันลงมา เพราะเน้นความคล่องตัว วิ่งเร็ว มากกว่าความจุ ในทะเบียนเรือไม่ยักแยกประเภทเรือรบกับเรือสินค้า

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 21:46

ในค.ห. 161 ที่คุณ siamese ยกมา   แกะออกมาได้อีก ๒ ชื่อ
คือ
๑  เรือชื่อ Kim Yook Heen เป็นเรือแบบ lugger (เรือใบขนาดเล็ก) ของพระยาโชฏึกราชเศรษฐี

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 21:52

๒  เรือชื่อ Antelope   ในช่องชนิดของเรือ เขียนว่า do ไม่แน่ใจว่าแปลว่าอะไร  หรือหมายถึงต่อเอง?  
เจ้าของคือพระยามนตรี(สุริยวงศ์)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 20 คำสั่ง