เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 13
  พิมพ์  
อ่าน: 59097 " เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 18 ม.ค. 11, 18:28

อ้างถึง
แต่เห็นว่าญวนไปได้แต่ตัวเมืองบันทายมาศเท่านั้น ส่วนดินแดนยังอยู่ในฝั่งกัมพูชา และเป็นของกัมพูชาจนทุกวันนี้
เท็จจริงอย่างไรครับ

ก็อาจจะจริงนะครับ ดินแดนบางส่วนที่เคยเป็นจังหวัดบันทายมาศของเขมร ที่ญวนไม่ติดใจว่าเป็นของตน เขมรก็ยังคงครอบครองต่อไป แต่หัวใจ คือตัวเมืองและภูมิประเทศที่ติดชายฝั่ง สามารถเป็นเมืองท่าค้าขายได้เป็นอย่างดี มีชายหาดสวยงาม เหมือนอ่าวพระนาง จังหวัดกระบี่บ้านเรา ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นรีสอร์ทนักท่องเที่ยวนั้น เป็นของญวนหมด

แถม
อ้างถึง
“จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้ซึ่งต้องยกย่องว่าเป็นปราชญ์ในเรื่องอารยธรรมเขมรคนหนึ่งของเมืองไทย จิตรภูมิศักดิ์ได้กล่าวถึงปราสาทหินแห่งหนึ่งในกัมพูชาชื่อ “บันทายฉมาร์” (BanteayChamar) ว่า ทางฝั่งไทยจะรู้จักในชื่อ “บันทายสมันต์” หรือ “ผไทสมันต์” คำว่า“บันทาย” ในภาษาเขมรออกเสียงเป็น “บันเตียย”หมายถึงเมืองที่มีลักษณะเป็นป้อมค่ายแข็งแรง คำนี้คนไทยจะเรียกเพี้ยนเป็น บันทายหรือ พุทไธ เสมอ เช่น บันทายศรี บันทายมาศ พุทไธมาศ (เมืองฮาเตียนปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม มีผู้รู้บอกว่าคนไทยเรียกเพี้ยนเป็นท่าเตียน)เป็นต้น



บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 18 ม.ค. 11, 18:29

เรือกำปั่นแปลง ยกจากตำนานเรือรบระบุไว้ดังนี้

"เมื่อเกิดรบขึ้นกันกับญวนในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) คิดแบบอย่างเรือรบขึ้นใหม่ เจ้าพระยานครฯ คิดต่อเปนเรือกำปั่นแปลงขนาดยาว ๑๑ วา กว้าง ๙ ศอกคืบ หัวเปนเรือปากปลา ท้ายเปนกำปั่น มีหลักแจวรายตลอดลำทั้งสองแคม สำหรับแจวในแม่น้ำลำคลอง และมีเสาใบสำหรับแล่นใบในทะเลด้วย

เมื่อคิดแบบอย่างตกลงกันแล้ว โปรดฯ ให้เจ้าพระยานครฯ ต่อเรือกำปั่นแปลงลำแรกที่บ้านหน้าวัดมหาธาตุ ต่อสำเร็จแล้วถวายทอดพระเนตร ก็โปรด พระราชทานชื่อว่า เรือมหาพิไชยฤกษ์ ...และได้ต่อขึ้นอีก ๓๐ ลำ พระราชทานเงินช่วยลำละ ๒,๔๐๐ บาท"

"ครั้งนั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เข้ามาเฝ้าช่วยในการพระบรมศพด้วย ทรงพระราชดำริว่า กองทัพฝ่ายเราไปฆ่าอ้ายญวนเสีย เจ้าเวียดนามมีความโกรธแค้นอยู่ จะไว้ใจทางทะเลไม่ได้ จึ่งโปรดให้เจ้าพระยานครคิดต่อเรือรบขึ้นเป็นตัวอย่างลำ ๑  ให้ใช้ทั้งในคลองและทะเลได้  เจ้าพระยานครจึ่งคิดต่อเป็นเรือปากปลาท้ายกำปั่นแปลง  มีพลแจวได้ ๒ ข้างตลอดลำ  ปากกว้าง ๑ ศอก ๑ คืบ ยาว ๑๑ วา   ครั้นถวายตัวอย่างโปรดแล้ว   เจ้าพระยานครก็ต่อขึ้นที่หน้าบ้านลำ ๑   พระราชทานชื่อ มหาพิไชยฤกษ์ แล้วเกณฑ์เสนาบดี เจ้สัว เจ้าภาษี นายอากร ต่อคนละลำบ้าง ๒ คนต่อลำบ้าง ได้เรือ ๓๐ ลำ  พระราชทานเงินช่วยแรงลำละ ๓๐ ชั่ง  พระราชทานชื่อว่า
ไชยเฉลิมกรุง ๑ บำรุงศาสนา ๑ อาสาสู้สมร ๑ ขจรจบแดน ๑ แล่เลยลม ๑ อุดมเดชะ ๑ ชนะชิงชัย ๑ บรรลัยข้าศึก ๑ พิลึกเลอสรวง ๑ ทะลวงกลางรณ ๑ ประจญโจมทัพ ๑ จับโจรทมิฬ ๑ บินอรณพ ๑ ตลบล่องคลื่น ๑ ฝืนชลเชี่ยว ๑ เที่ยวอุทก ๑ กระหนกจาม ๑ ทรามคะนอง ๑ ผยองสมุทร ๑ ประทุษฐเมืองพาล ๑ รำบาญปรปักษ์ ๑ จักรอมเรศร์ ๑ ตระเวนวารี ๑ ตรีเพชฌฆาต ๑ พรหมาสตร์นารายณ์ ๑ ลอยชายเข้าเมือง ๑ กระเดื่องบุญฤทธิ์ ๑ พานิชภิเศก ๑ เฉกเทพดาสรรค์ ๑ มหันตมงคล ๑
แล้วปลูกโรงไว้ที่คลองบางกอกใหญ่ หน้าวัดสังข์กระจายข้าม"

และดูเหมือนว่าราชนาวีไทย เคยนำชื่อเรือเหล่านี้บางส่วนมาเป็นนามสำหรับเรือที่ประจำการอยู่ในขณะนั้นด้วย
เช่น เรือหลวงเที่ยวอุทก เรือหลวงตระเวนวารี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 18 ม.ค. 11, 20:41

^
เรื่องเรือรบที่คุณart47ยกมานั้น เป็นสงครามสยามกับญวนครั้งที่๒ครับ เรื่องไทยรบกับญวนนี้เคยเป็นมหากาพย์ชื่อ “อานามสยามยุทธ สงครามสร้างชาติสยาม” ที่ตั้งใจจะมี๓ตอน แต่เอาเข้าจริงๆ ตอน๓หายไปเฉยๆ ทั้งๆที่เป็นกระทู้ที่สนุกมาก คนติดตามอ่านเยอะแยะ เจ้าของกระทู้ชื่อคุณแมวเซา สำบัดสำนวนที่เขียนถือเป็นชั้นครูทีเดียว ทำให้เรื่องที่น่าเบื่อ กลายเป็นเรื่องที่น่าอ่านได้

เพื่อไม่ให้สับสนกับกระทู้นี้ ผมได้เอาลิงค์มาให้ผู้ที่สนใจ อยากจะตาแฉะเข้าไปอ่านดู เป็น “อานามสยามยุทธ สงครามสร้างชาติสยาม ภาค 2” ที่ผมคิดว่าเป็นตอนที่มันส์ที่สุดนะครับ ภาคแรกไปปูทางเรื่องลาวเรื่องเขมรเสียหมด ส่วนภาค๓ นัยว่าจะมีเรื่องที่กรมขุนอิศเรศฯเป็นแม่ทัพเรือ เอาเรือปืนไปถล่มบันทายมาศ รู้สึกว่าท่านเจ้าของกระทู้หมดแรงไปเสียก่อน ผมหาร่องรอยไม่เจอว่าตกลงได้เขียนขึ้น หรือไม่ได้เขียน

คลิ๊กตามนี้เลยนะครับ

http://salakohok.freeforums.org/2-t11.html

ผมจะลองฉายหนังตัวอย่างให้ดู

กลับมาที่สมรภูมิปากคลองวามนาวต่อนะครับ

ที่ผมพาแวะไปสำรวจกำลังของกองทัพเรือสยามเสียก่อน ก็พอจะได้จินตนาการให้เห็นความงดงามของกระบวนทัพเรือสยามที่เป็นสำเภาแบบจีน ติดตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือ และที่กาบเรือ รวม 6กระบอก ติดธงทิวสีแดง ทหารสวมเสื้อผ้านุ่งสีแดง สวมหมวกตุ้มปี่สีแดง(รูปทรงคล้ายดอกลั่นทม) ประมาณลำละ40-50คน

ผมมองเห็นขบวนเรือหลายสิบลำกรรเชียงด้วยพายอย่างยาวมาเป็นแถวตามลำน้ำโขงที่กว้างใหญ่ พร้อมยิงปืนใหญ่หน้าเรือและกราบซ้ายจนควันขาวตลบอบอวลไปทั่วท้องน้ำ เมื่อมาประจัญหน้ากันตลอดทั้งแนวค่ายก็แปรขบวนทิ้งสมอเรือให้หันหน้าสู้กระแสน้ำเป็นแถวยาวเหยียด เพื่อยิงปืนทางกราบเรือด้านขวามือ การยิงปืนใหญ่อย่างต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืน คงจะหมดกระสุนไปเป็นพันนัดเหมือนกัน แต่อย่างนั้นก็ตามทหารผ่ายญวนก็ไม่มีท่าทีว่าจะยอมแพ้

ผมเอาทางกองทัพเรือสยามมาบรรยายเสียยืดยาวก็เพื่อจะรำลึกถึงตอนที่กองทัพเรือสยามได้มีส่วนร่วมในชัยชนะครั้งสุดท้ายของกองทัพเรือในสงคราม “อานามสยามยุทธ” ภาคที่สองนี้ครับ

แมวเซา
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 09:35

^
เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมขุน อิศเรศรังสรรค์ ยกกองทัพไปรบกับญวน ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)
ช่วยอธิบายเส้นทางให้ทราบได้ไหมคะว่า ออกจากปากอ่าวไทย เลียบไปทางไหน จนถึงบันทายมาศ

เข้าไปอ่านลิงค์อานามสยามยุทธที่คุณNAVARAT.C แปะลิงค์ส่งให้อ่าน ก็พบกับ เส้นทางการเดินเรือดังนี้ครับ

ฉะบับที่ ๒๐ ระยะทางเรือใบไปเมืองญวน
ข้าพระพุทธเจ้า พระภักดีวานิจ พระสุนทรวานิจ พระไมตรีวานิจ หลวงจำเริญวานิช รับใส่เกล้า ฯ ได้ไปปรึกษากับไต่ก๋ง จีนญวน พร้อมกันทำระยะทางทูลเกล้า ฯ ถวาย

แต่เมืองเว้จะเข้า มาเมืองไซ่ง่อน ถ้าเดือนยี่ เดือน ๓ เดือน ๔ เดือน ๕ เป็นฤดูลมตะวันออกลมดีมาได้คล่อง ๙ วัน ๑๐ วันถึงเมืองไซ่ง่อน
ถ้าจะกลับไปในเดือนยี่ เดือน ๓ เดือน ๔ ลมต้านหน้าไปไม่ได้ ต่อเดือน ๕ พอแล่นก้าวไปได้บ้าง ๑๗ วัน ๑๘ วัน จึงจะถึงเมืองเว้
เดือน ๖ เดือน ๗ เดือน ๘ เป็นฤดูลมสำเภา สลาตัน ลมขัด เมืองเว้จะลงมาเมืองไซ่ง่อนไม่ได้ ถ้าจะกลับไปสมสลาตันส่งท้ายไปคล่อง ๙ วัน ๑๐ วันถึงเมืองเว้ เดือน ๙ เดือน ๑๐ เดือน ๑๑ เป็นฤดูลมตะวันออก ลมอุตรา ลมตะวันตก ลมแปรปรวนหายืนไม่ เมืองเว้จะลงมาเมืองไซ่ง่อน ต้องแล่นก้าวเข้ามา ๒๑ วัน ๒๒ วัน จึงจะถึงเมืองไซ่ง่อน

ถ้าจะกลับไปต้องแล่นก้าว ลมไม่เป็นประตูเดียวไป ๒๕ วัน ๒๖ วันถึงเมืองเว้ เดือน ๑๒ เดือนอ้าย เป็นฤดูลมว่าวลมอุตรากล้า คลื่นใหญ่เกิดพายุในตกหนัก เมืองเว้จะลงมาเมืองไซ่ง่อนไม่ได้ ถ้าจะกลับไปเป็นลมพายุฝนคลื่นใหญ่ตีเข้าฝั่งถึงจะแล่นก้าวก็ไม่ได้
ระยะทางนอกแต่เมืองเว้ จะมาเมืองไซ่ง่อนที่จะแวะเข้าตักน้ำหาฟืน ถ้าลมดีแล่นมาแต่เมืองเว้ วันหนึ่งถึงเขาหันสอหน้าเมืองหุ้ยอาน แต่เขาหันสอแล่นมาครึ่งวันถึงเกาะเจียมปิดหลอมาวันหนึ่งถึงเกาะวัวโลตรงปาก น้ำเมืองกวางง่าย แต่เกาะวัวโลแล่นมา ๒ วัน ถึงปากน้ำเมืองกุยเญิน แต่ปากน้ำเมืองกุบเญินแล่นมาวันหนึ่งถึงปากน้ำเมืองภูเอียน แต่ปากน้ำเมืองภูเอียนแล่นมาวันหนึ่งถึงปากน้ำเมืองภูเอียน แต่ปากน้ำเมืองภูเอียนแล่นมาวันหนึ่งถึงปากน้ำเมืองอยาตรัง แต่ปากน้ำเมืองอยาตรังแล่นมา ๒ วันถึงวัวญิมปากน้ำเมืองไซ่ง่อน

แต่เมืองไซ่ง่อนจะมาเมืองพุทไธมาศทางนอก ถ้าเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนอ้ายเป็นฤดูลมตะวันออกมาคล่อง ๔ วัน ๕ วันถึงเมืองพุทไธมาศ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ เดือน ๕ แล่นก้าวมาได้ ถ้าเป็นฤดูลมว่าวต้องแล่นก้าวบ้าง มา ๖ วัน ๗ วันจึงถึงเมืองพุทไธมาศ
ถ้าจะกลับไปเมืองไซ่ง่อนต้องแล้นก้าวไป ๓ วัน ๔ วันถึงเกาะมัน แต่เกาะมันจะไปเมืองไซ่ง่อน ลมตะวันออกลมว่าวต้านหน้าไปไม่ได้
ถ้าเดือน ๖ เดือน ๗ เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐ ห้าเดือนเป็นลมสลาตันลมสำเภาคลื่นลมกล้า เมืองไซ่ง่อนจะมาเมืองพุทไธมาศไม่ได้ ถ้าจะกลับไปได้คล่อง ลมตะวันตกส่งท้ายไป ๕ วัน ๖ วัน ถึงเมืองไซ่ง่อน

แต่ปากน้ำเมืองไซ่ง่อนมาทะเลทางใน ล้าลมดีครึ่งวันถึงปากน้ำเมืองสมีถ้อ แต่ปากน้ำเมือยล่องโห้มาครึ่งวันถึงปากน้ำเมืองล่องโห้ แต่ปากน้ำเมือยล่องโห้มาครึ่งวันถึงปากน้ำเมืองปาศักดิ์ แต่ปากน้ำเมืองปาศักดิ์มาครึ่งวันถึงเกาะอุยเลย ถ้าคลื่นลมกล้าเรือเดินในเกาะอุยเลยถ้าคลื่นลมปกคิเรือเดินนอกเกาะอุยเลยใน เกาะมัน ๆ กับเกาะอุยเลยตรงกัน ห่างกันทางประมาณครึ่งวัน ถ้าเรือสำเภา เรือปากใต้แล่นนอกเกาะมัน ถ้าเรือศีร์ษะญวนยาว ๑๑ วา ๑๒ วา เดินทางในเกาะมันในเกาะอุยเลยออกจากท้ายเกาะอุยเลยแลเห็นปากน้ำเมืองเขมา แต่เมืองเขมามาวันหนึ่งถึงเมืองเตกเซีย

แต่เมืองเตกเซียมาวันหนึ่งถึงเมืองพุทไธมาศ แต่เมืองพุทไธมาศมาครึ่งวันถึงเมืองกำปอด แลเห็นเกาะตุนอยู่ทิศสำเภาประมาณครึ่งวัน แต่เมืองกำปอดมาครึ่งวันถึงฉองตงมึง สำหรับเรือไปมาแวะเข้าตักน้ำหาฟืน แต่ตงมึงมาวันครึ่งถึงเมืองกระพงโสม แต่เมืองกระพงโสมมาวันครึ่ง มาแต่ไซ่ง่อนทาง ๖ วัน ๗ วันถึงเกาะกง
แต่เกาะกงมาวันหนึ่งถึงเกาะกูด เกาะช้าง หน้าเมืองตราด แต่เกาะช้างมาวันหนึ่งถึงแหลมสิงห์ปากน้ำเมืองจันทบุรี แต่ปากน้ำเมืองจันทบุรีมาวันหนึ่งถึงเกาะสม็ด แต่เกาะเสม็ดครึ่งวันถึงปากน้ำเมืองระยอง แต่ปากน้ำเมืองระยองมาครึ่งวันถึงช่องแสมสาร แต่ช่องแสมสารมาวันหนึ่งถึงเกาะศรีชังหน้าเมืองบางละมุง แต่เกาะศรีชังวันหนึ่ง แต่ไซ่ง่อนมา ๑๓ วัน ๑๔ วันถึงปากน้ำเจ้าพระยา แต่ปากน้ำเมืองไซ่ง่อนเรือใหญ่จะเดินทางนอก ๒ วัน ถึงเกาะมันออกจากเกาะมันมาวันครึ่งถึงขวางใหญ่ แต่ขวางใหญ่มาวันหนึ่งถึงขวางน้อย แต่ขวางน้อยจะเข้ามา ถ้าเดือนยี่ เดือน ๓ สองเดือนเป็นฤดูลมตะวันออกลมอุตรา ต้องแล่นเลียบฝั่งตะวันออกมา ๓ วัน ๔ วันถึงหน้าเกาะช่องกำปั่น มาแต่เกาะช่องกำปั่นวันหนึ่งถึงเกาะไผ่ออกจาเกาะไผ่วันหนึ่งถึงหลังเต่าตรง เข้าปากน้ำเจ้าพระยาเป็นทาง ๙ วัน ๑๐ วัน ถ้าเดือน ๔ เดือน ๕ สองเดือนเป็นลมสำเภาสลาตัน ออกจากขวางน้อยแล่นข้ามมา ๔ วัน ๕ วันถึงหน้าเขาสามร้อยยอด ออกจากเขาสามร้อยยอดครึ่งวันมาถึงเจ้าลาย ออกจากเจ้าลายครึ่งวันถึงเกาะไผ่ มาวันหนึ่งถึงหลังเต่าตรงเข้าปากน้ำเจ้าพระยาเป็นทาง ๗ วัน

ถ้าเดือน ๖ เดือน ๗ เดือน ๘ เดือน ๙ สี่เดือนนี้ฤดูลมสลาตันลมตะวันตกพัดกล้าคลื่นใหญ่ เมืองพุทไธมาศ ขวางน้อย จะเข้ามาไม่ได้ ถ้าเดือน ๑๐ เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนอ้าย สี่เดือนนี้เป็นฤดูลมตะวันออกลมศีร์ษะเขา ทางนอกมาไม่ได้ลมพัดกล้าคลื่นใหญ่ ถ้าจะมาต้องมาทางใน ที่จะตั้งกองลาดตระเวนคอยดูเรือไปมาทางนอกทิศตะวันออก ที่เกาะกูดแห่งหนึ่งที่เกาะช่องกำปั่นแห่งหนึ่ง

ข้างทิศตะวันตกที่สามร้อยยอดแห่งหนึ่ง ถ้าจะตั้งกองตระเวนทางในที่ตั้งเกาะกง เกาะช้าง เกาะกูดเกาะศรีชังแห่งหนึ่ง แต่เมืองไซ่ง่อนจะมาเมืองพุทไธมาศเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนอ้าย มาได้คล่อง เดือนยี่เดือน ๓ เดือน ๔ เดือน ๕ ต้องแล่นก้าวจึงมาได้ เดือน ๖ เดือน ๗ เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐ มาไม่ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 11:17

^
พิศดารดีจริงๆนะครับ อ่านแล้วต้องใช้เวลาเป็นวันแกะแผนที่จึงจะเห็นภาพ

ขออนุญาตเดินเรื่องต่อ
ผมจะขอเล่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯกับเรือกลไฟลำแรกของสยามที่พระองค์ทรงต่อขึ้นสักหน่อย นักประวัติศาสตร์บางท่านอาจจะบันทึกว่า เรือกลไฟลำแรกที่สยามได้ต่อขึ้นชื่อ “เรือสยามอรสุมพล” ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ต่อขึ้นสำหรับกองเรือวังหลวง เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ต้องท้าวความไปถึงสมัยรัชกาลที่๓ เมื่อนายหันแตรนำเรือกลไฟมาแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก
 
นายหันแตร คือชื่อที่คนไทยสมัยนั้นเรียกนายฮันเตอร์(Robert Hunter)พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสก๊อต  ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้งห้างสรรพสินค้าในสยาม ชื่อห้างหันแตร  ถ้าเขียนแบบฝรั่งเรียกจะสะกดว่า พริฏิษ แฟกฏอรี่ (The British Factory)
คุณหลวงเล็กได้เขียนเรื่องนี้ไว้โดยพิศดารในห้องเรือนไทยนี้เอง ท่านไปคลิ๊กอ่านได้ที่

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3268.0

นายฮันเตอร์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช เพราะมีความดีความชอบถวายปืนคาบศิลา จำนวน๑๐๐๐กระบอก ขณะที่ไทยมีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

นายฮันเตอร์ยังได้เป็นคนที่นำตัว ฝาแฝดอิน-จันชาวสยามเดินไปแสดงตัวที่สหรัฐอเมริกา จนโด่งดังและทำให้สากลโลกได้รู้จักกับแฝดสยามจนบัญญัติศัพท์คำว่า Simese Twin ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่นายฮันเตอร์มีพฤติกรรมที่ไม่น่ารักนัก เช่น เคยเสนอขายพรมให้แก่หลวงโดยที่ไม่ได้สั่ง แต่พอหลวงไม่ซื้อก็เกิดความไม่พอใจ บางครั้งลักลอบนำเข้าฝิ่นเถื่อน ทั้งที่กฎหมายไทยในเวลานั้นประกาศห้ามสูบฝิ่น เมื่อถูกตรวจพบ นายฮันเตอร์ก็มักอ้างความสัมพันธ์ระหว่างชาติ หรือไม่ก็ขู่ว่าจะนำเรื่องไปฟ้องต่อทางการอังกฤษให้นำเรือรบมาปิดปากอ่าวเป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างนายฮันเตอร์กับทางราชการขาดสะบั้นลง เมื่อเห็นสยามเปิดสงครามกับญวน นายฮันเตอร์ได้สั่งปืนคาบศิลาหวังจะมาขายจำนวน๒๐๐กระบอก โดยหวังว่าหลวงจะซื้อทั้งหมด ปืนนั้นเข้ามาช้า พอดีสงครามซาลงแล้ว ทางราชการไม่มีความจำเป็น แต่พยายามรักษาน้ำใจขอรับซื้อไว้๑๐๐กระบอกเท่านั้น แต่นั่นยังเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ก็คือ ปืนชุดนี้เดินทางเข้ามาพร้อมกับเรือกลไฟ ที่ชื่อ เอ็กเพรส (Express)
 
เรือลำนี้แล่นมาจากเมืองท่าลิเวอร์พูล กัปตันชื่อ พี.บราวน์ ได้นำเข้ามาวิ่งทวนน้ำตามน้ำโชว์ตัวในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้คนกรุงแห่กันไปดูแน่นขนัดริมฝั่ง อย่าว่าแต่คนไทยเลย พวกฝรั่งหลังเขาตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเห็น "เหล็กลอยน้ำได้"  สิ่งประดิษฐ์ใหม่แห่งยุค อย่างเช่นเรือกลไฟมาก่อน แต่นายฮันเตอร์ได้เสนอขายในราคา ๕๐๐๐๐เหรียญสหรัฐ แต่คนไทยบอกว่าแพงไป เพราะเรือขึ้นสนิมแล้ว นายฮันเตอร์ก็วีนแตก ประกาศว่าจะนำไปขายให้ญวนซึ่งเป็นคู่แค้นของไทยแทน คงจะทะเลาะกันหนักและแสดงกิริยาที่หยาบคายสุดๆ หนังสือบางฉบับกล่าวว่านายฮันเตอร์ถึงกับขู่ว่าจะยิงลูกระเบิดถล่มพระราชวังเสียด้วย ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งทรงหน่ายกับพฤติกรรมของฝรั่งคนนี้อยู่แล้ว จึงรับสั่งให้เนรเทศนายฮันเตอร์กับภรรยาที่อยู่ในเมืองไทยมา๑๘ปีแล้วออกนอกราชอาณาจักร ห้ามกลับเข้ามาอีกตลอดชีวิต นายฮันเตอร์จึงต้องออกไปสิงคโปร์พร้อมกับเรือเอ็กเพรส  ขูดสนิมทาสีใหม่ที่อู่ของอังกฤษแล้ววิ่งไปไซ่ง่อน ขายเรือลำนี้ให้ญวนไปในราคาที่เคยเรียกเอากับสยาม

ผมหารูปเรือเอกเอ็กเพรสไม่พบ พบแต่เรือร่วมสมัยที่ต่อจากลิเวอร์พูล เลยเอามาลงพอเป็นจินตนาการ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 11:23

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ เขียนไว้ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที๒๖ ฉบับที่๐๙ ดังนี้

จดหมายข่าวของมิชชันนารีในสยาม ที่ลงเรื่องเกี่ยวกับเรือลำนี้ไว้ในส่วนที่เป็นปัจฉิมลิขิต จดหมายข่าวดังกล่าวเป็นฉบับประจำวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) เล่าเรื่องเรือลำนี้ไว้อย่างค่อนข้างน่าสนใจ ตอนท้ายของปัจฉิมลิขิตนี้ มีข้อความที่อ่านแล้วอดขำในความช่างแขวะของบาทหลวงฝรั่งที่เขียนเรื่องนี้ไม่ได้ การแขวะศาสนาพุทธโดยมิชชันนารีฝรั่งในครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหูแต่อย่างใด และเป็นเรื่องทำนองขี้แพ้ชวนตีเสียมาก
 
"เหตุการณ์แปลกใหม่อย่างยิ่งสำหรับประเทศสยามเพิ่งเกิดขึ้น ประมาณ ๙ โมงเช้าวันนี้ เรือกลไฟของอังกฤษชื่อ เอ็กสเปรส โดยกัปตัน พี บราวน์ เดินทางขึ้นแม่น้ำมา ความใหญ่โตโอฬารของเรือสร้างความโกลาหลให้แก่เรือลำเล็กลำน้อยในแม่น้ำนี้อย่างมาก ส่วนพละกำลังของเรือก็ทำให้ชาวบ้านนับพันพากันแตกตื่น บางกอกไม่เคยเห็นภาพเช่นนี้มาก่อน พระเจ้ากรุงสยามทรงเป็นราวปักษีน้อยในกรงทอง๑ เราเกรงว่าพระองค์ยังไม่ทรงเห็นสิ่งมหัศจรรย์นี้ แม้ว่าเรือได้แล่นผ่านหน้าพระบรมมหาราชวัง และเลี้ยวกลับหลังอวดตัวเสร็จแล้ว บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางและข้าราชการของรัฐบาล ต่างรู้สึกทึ่งกันทั่วหน้า และกล่าวกันว่า "เรือลำนี้เป็นที่สุดของหัวใจของพวกเขา" อันเป็นการแสดงออกที่มีความหมายเหมือนกับที่ราชินีแห่งชีบาทรงรู้สึก เมื่อพระนางทรงเห็นชัยชนะของโซโลมอน และว่ากันว่า "ไม่มีจิตวิญญาณอื่นใดเหลืออยู่ในพระวรกายของนางแล้ว" พระคลังกล่าวว่า เรือลำนี้เป็นฝีมือของทวยเทพ หาใช่มนุษย์ไม่ เป็นที่หวังกันอย่างที่สุดว่า พระมหากษัตริย์จะทรงแหวกม่านประเพณีหลวงเพื่อการนี้สักครั้ง และเสด็จไปบนเรือเพื่อทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เรือเอ็กสเปรสได้รับการซ่อมแซมและนำมาสู่สยาม ตามพระราชปรารภของพระองค์ที่มีพระราชประสงค์ที่จะซื้อเรือเช่นนี้ แต่เรือลำนี้ก็ก้าวหน้าเกินกว่าสติปัญญาและทักษะของชาวสยามเหลือเกิน จึงมีโอกาสเสี่ยงที่พระองค์อาจทรงเบี่ยงบ่ายหลีกเลี่ยงจากข้อตกลงที่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนหน้านี้ เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด พระองค์ทรงอุทิศตนเพื่อพระราชกรณียกิจในการสร้างและตกแต่งวัดวาอาราม และอาจทรงเห็นว่าเรือลำนี้มีราคาแพงเกินไป สู้เอาไปบำรุงพระเจ้าที่ไร้ความหมายของพระองค์ไม่ได้ เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าของเราจะทรงใช้เหตุการณ์นี้เพื่อแผ้วถางทางให้พระองค์เข้าสู่จิตใจของผู้คนเหล่านี้ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่สร้างขึ้นจากสติปัญญาและอำนาจของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนวิญญาณของผู้คนเหล่านี้ให้หันเข้าหาพระคริสต์ได้ เว้นแต่พระวรสารเท่านั้น"
 
เหนือข้อความข้างต้น มีข้อความ ๒ ประโยคที่เขียนด้วยมือ ใจความว่า "พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้สั่งเรือลำนี้แต่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะรับซื้อไว้ เรือจะไปสิงคโปร์พรุ่งนี้"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 11:33

เป็นอันว่า เมื่อนายฮันเตอร์จากไป ความหวังที่จะมีเรือกลไฟไว้ใช้ในสยามก็จางหายไปด้วย แต่เรือ "เอ็กสเปรส" ก็เป็นแรงดลใจให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงสร้างเรือกลไฟขึ้น

พระราชกิจจานุกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ (ค.ศ. ๑๘๔๗) และได้ทรงร่วมกับ Rev. J.H. Chandler สร้างเรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ที่ต่อมาเรียกว่า "เรือกลไฟ" หรือ "เรือไฟ" เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้ทรงทดลองแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา"

ความจริง เรือกลไฟลำแรกที่กล่าวถึงนี้ เป็นเรือแบบมีล้อใบพัดน้ำด้านข้าง ขนาดประมาณ ๒๐ กว่าฟุต หรือ๖เมตร เป็นเรือขนาดเล็กที่ทรงทดลองต่อขึ้นเป็นเรือต้นแบบ ยังไม่ใช่เรือที่มีประสงค์จะนำมาใช้งานอย่างจริงจัง

ผมเอารูปเรือที่เป็นต้นแบบของการใช้เครื่องจักรไอน้ำมาลงพอเป็นสังเขปนะครับ ดังนั้นผู้ที่ค่อนขอดว่า เรือที่พระองค์ต่อขึ้นลำนี้ใช้งานจริงไม่ได้เพราะไม่มีปืนใหญ่สักกระบอก ก็จริงของเขานั่นแล แต่อยู่ๆใครจะต่อเรือกลไฟขึ้นมาขนาดจะใช้ติดอาวุธเป็นเรือรบได้ มันก็ต้องเริ่มต้นจากเรือต้นแบบเช่นนี้ก่อนทั้งนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 11:41

ดังนั้น คงมีฝรั่งคนใดคนหนึ่งได้เห็น และชื่นชมพระองค์มาก ถึงขนาดส่งเรื่องไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “Singapore Free Press” ที่สิงคโปร์ ไม่แน่ว่าเป็นพระราชประสงค์หรือเหตุบังเอิญกันแน่ที่เรือลำนี้ออกแล่นอวดโฉมในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม อันเป็นวันชาติสหรัฐพอดี ต่อมานิตยสาร " Scientific American " จึงได้นำบทความเรื่องราวเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระองค์ดังกล่าว ไปลงพิมพ์อีกครั้งหนึ่งดังนี้

หนังสือพิมพ์ Singapore Free Press ฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ (ค.ศ. ๑๘๔๘) ตีพิมพ์ข่าวต่อไปนี้จากเมืองบางกอก ประเทศสยาม โดยเล่าเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะการช่างของเจ้าชายพื้นเมืองพระองค์หนึ่ง
 
เป็นที่ทราบกันสักระยะหนึ่งแล้วว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ทรงริเริ่มสร้างเครื่องจักรไอน้ำขนาดเล็กขึ้น การสร้างดังกล่าว ซึ่งเกิดจากความอุตสาหะพยายามอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและความทรหดอดทนของพระองค์ท่าน ได้เสร็จสมบูรณ์ลงแล้วหลังจากใช้เวลามานาน และชาวสยามก็สามารถคุยเขื่องได้แล้วว่า ตนมีเรือกลไฟไว้แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ชิ้นส่วนทุกชิ้นของเรือถูกสร้างและผลิตขึ้นในประเทศโดยชาวสยามเอง เรือลำนี้มีความยาว ๒๖ ๑/๒ ฟุต ความกว้าง ๓ ฟุต และมีเครื่องยนต์ ๒ แรงม้า ปรากฏการณ์ขนาดย่อมนี้ได้แล่นขึ้นลงแม่น้ำสายนั้นหลายเที่ยวแล้ว ท่ามกลางสายตาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกประหลาดใจและชื่นชมของฝูงชนนับพันที่ยืนแออัดกันบนฝั่งแม่น้ำทุกครั้งที่เรือแล่นผ่าน โดยที่ส่วนใหญ่เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงเป็นนายท้ายเรือด้วยพระองค์เอง เป็นธรรมดาอยู่เองที่พระองค์ทรงปลื้มพระทัยกับเรือไอน้ำลำนี้ของพระองค์ยิ่งนัก ไม่กี่วันที่ผ่านมา พระองค์ทรงนำเรือดังกล่าวแล่นไปมาหน้าพระบรมมหาราชวังต่อเบื้องพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงปลาบปลื้มพระทัยจนถึงกับทรงกล่าวคำสรรเสริญในความช่างประดิษฐ์ของเจ้าฟ้ากรมขุนฯ พร้อมพระราชทานของกำนัล นอกจากนั้นยังมีพระบรมราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมขุนฯ สร้างเรือกลไฟขึ้นอีกลำหนึ่ง ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะเดินทางไปยังสิงคโปร์ได้ ซึ่งเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ก็ทรงรับที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ เนื่องจากประเทศสยามไม่มีทองแดงหรือเหล็กที่มีความหนาพอ เตาต้มน้ำจึงถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่มีน้ำหนักมาก อันส่งผลให้ความเร็วของเรือลดลง อย่างไรก็ตามเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ไม่มากก็น้อย พระองค์มีรับสั่งให้จัดสร้างเรืออีกลำหนึ่งขึ้นจากแบบจำลองที่แตกต่างจากเดิม โดยที่สามารถลอยตัวในน้ำได้ดีกว่าลำปัจจุบัน และมีล้อใบพัดน้ำขนาดใหญ่กว่าเดิม พระองค์ทรงสั่งซื้อทองแดงที่มีความหนาพอสำหรับเตาต้มน้ำตัวใหม่จากสิงคโปร์แล้ว
 
แม้แต่ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ขนาดจิ๋วก็ทำด้วยฝีมือที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง และสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของเจ้าฟ้าผู้ทรงมีฝีมือช่างพระองค์นี้ ซึ่งทรงกำกับดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิดและทรงตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนความสามารถของเหล่าช่างผู้รับใช้พระองค์ ที่ล้วนเรียนรู้ด้วยตนเอง

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ  วารสารศิลปวัฒนธรรม


ในเวลาใกล้เคียงกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ “ The New York Tribune “ ที่ได้ลงข้อความสดุดีเจ้านายสยามองค์นี้ด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 12:05

ความจริงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพระองค์ คือชาวอเมริกันชื่อ J.H. Chandler คนไทยเรียกหมอจันทเล  นายคนนี้ไม่ใช่หมอจริงๆ และไม่ใช่หมอสอนศาสนาด้วย แต่ธรรมเนียมคนไทย เมื่อเห็นฝรั่งทำงานกับมิชชันนารีก็เรียกหมอไว้ก่อน ทั้งๆที่รักษาโรคไม่ได้ ที่มิชชันนารีจ้างไว้ก็เพราะมีความรู้ทางช่าง สัมพันธภาพระหว่างนายแชนด์เลอร์กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้เริ่มต้นอย่างดี ก่อนที่จะจบแบบไม่สวยเท่าไหร่ เพราะบทความที่หนังสือพิมพ์เอาไปลง ดูเหมือนว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะแย่งซีนไปเป็นพระเอกแต่พระองค์เดียว นายแชนด์เลอร์ผู้กระหายจะมีชื่อเสียงบ้าง จึงต้องลงมือเขียนจดหมายไปถึงวารสาร Scientific American บ้างเพื่อระบายความในใจ
 
หมอบลัดเลย์เขียนถึงนายแชนด์เลอร์กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แต่เพียงดังนี้


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 12:17

"แต่คนไทยบอกว่าแพงไป เพราะเรือขึ้นสนิมแล้ว"

แสดงว่ามีการให้ชาวสยามได้ขึ้นไปยังเรือเพื่อสำรวจใช่ไหมครับ เหมือนเคยอ่านทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงขึ้นไปสำรวจเรือ หรือขุนนางสักท่านปลอมตัวเข้าไปยังบนเรือ เพื่อสำรวจเรือว่าเหล็กจะลอยน้ำได้อย่างไร ใช่ไหมครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 12:18

จดหมายของนายแชนด์เลอร์ที่เขียนถึงบรรณาธิการวารสาร Scientific American นั้น ได้รับการลงพิมพ์ในฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๓ (ค.ศ. ๑๘๕๐) มีเนื้อความดังนี้
 
จดหมายจากสยาม อินเดียตะวันออก
บางกอก ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๓ (ค.ศ. ๑๘๕๐)
 
เรียนคุณมันน์ และสหาย
 
ในวารสาร ฉบับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๒ (ค.ศ. ๑๘๔๙) มีบทความภายใต้หัวเรื่องว่า "ช่างเครื่องกลเชื้อพระวงศ์ชาวสยาม" ซึ่งกล่าวว่า T.N. Chaufa Kromakun (บางครั้งเรียกว่า T. Momfanoi) ได้ทรงสร้างเรือไอน้ำลำเล็กขึ้นลำหนึ่ง ปรากฏในเนื้อหาของบทความว่า "เครื่องยนต์และลำเรือถูกสร้างขึ้นจากความอุตสาหะพยายามอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและความทรหดอดทนของพระองค์ท่าน และขณะนี้ชาวสยามก็สามารถคุยเขื่องได้แล้วว่า ตนมีเรือไอน้ำไว้แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ชิ้นส่วนทุกชิ้นของเรือถูกสร้างและผลิตขึ้นในประเทศโดยชาวสยามเอง" ข้อความนี้ถูกต้องแน่หรือ พระองค์และชาวสยามอาจ "คุยเขื่อง" ได้ แต่ความจริงแล้ว ข้อความนั้นเป็นจริงเพียงครึ่งเดียว ของกำนัลที่กล่าวกันว่าเจ้าฟ้าพระองค์นี้ได้รับนั้นมีมูลค่าน้อยกว่า ๑๕๐ เหรียญสหรัฐ และแม้ว่า "ในหลวงยังมีพระบรมราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมขุนฯ สร้างเรือไอน้ำขึ้นอีกลำหนึ่ง ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะเดินทางไปยังสิงคโปร์ได้" กระนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างเรือดังกล่าวขึ้นมาแต่อย่างใด ทองแดงที่อ้างกันว่าสั่งเข้ามาสำหรับเตาต้มน้ำก็ไม่เคยมาถึง และเป็นไปได้ว่าผู้ที่รับใบสั่งสินค้าไม่กล้าผลิตสินค้าให้ ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด
 
บทความดังกล่าวปิดท้ายด้วยข้อความที่ว่า "แม้แต่ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ขนาดจิ๋วก็ทำด้วยฝีมือที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง และสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถของเจ้าฟ้าผู้ทรงมีฝีมือช่างพระองค์นั้น ซึ่งทรงกำกับดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิดและทรงตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนความสามารถของเหล่าช่างผู้รับใช้พระองค์ท่านที่ล้วน "เรียนรู้ด้วยตนเอง" ในการสร้างเครื่องยนต์ดังกล่าว ผมมักถวายคำปรึกษาเนืองๆ และคำชี้แนะของผมก็ได้รับการปฏิบัติตาม บ่อยครั้งที่เราพบช่างเครื่องที่เรียนรู้ด้วยตนเองในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งเป็นช่างฝีมือดี แต่การคิดว่าบุรุษที่เรียนรู้ด้วยตนเองท่ามกลางคนป่าเถื่อนสามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำได้นั้น เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อเลย
 
แต่ทั้งเจ้าฟ้าพระองค์นั้นและผู้ติดตามของพระองค์ต่างก็มิได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อผมมาถึงที่นี่ในปี ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ผมนำเครื่องกลึงแบบเลื่อนขนาดเล็กติดตัวมาด้วย หลังจากติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ผลิตเครื่องมือหลายชิ้นถวายแด่เจ้าฟ้าพระองค์นั้น และจำหน่ายให้พระองค์ในที่สุด จากนั้นพระองค์ก็ทรงขอให้ผมช่วยในการสร้างโรงจักรกล เครื่องกลึงและเครื่องมือต่างๆ ซึ่งผมก็กระทำตามพระประสงค์ และถวายคำชี้แนะให้พระองค์ตลอดจนบริวารของพระองค์เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ และช่วยสร้างเครื่องจักรกลขนาดเล็กให้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) หลังจากที่ได้สร้างโรงจักรกลและเครื่องมือต่างๆ เสร็จแล้ว เจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็มีพระประสงค์ที่จะสร้างเรือไอน้ำขนาดเล็ก ผมสร้างรูปจำลองหลายชิ้นสำหรับเครื่องยนต์ขึ้นจากไม้ แต่พระองค์มีพระประสงค์สิ่งอื่นที่ดีกว่านั้น ผมจึงส่งเงิน ๒๐๐ เหรียญสหรัฐไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อสั่งทำแบบจำลองที่ใช้งานได้ พร้อมทั้งลำเรือโดยสมบูรณ์ เมื่อเรือซึ่งนำแบบจำลองนั้นมาถึงสันดอนปากน้ำ พระองค์ก็ทรงอดพระทัยรอให้เรือเข้ามาในเมืองไม่ไหว และทรงเร่งให้ผมฝ่าฝนไปรับแบบจำลองนั้นมา ผมต้องการสนองพระประสงค์ของพระองค์ จึงรุดออกไปตามรับสั่ง แม้ว่าต้องกลับมาไม่สบายไปหลายวัน
 
เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะคิดว่าหลังจากได้รับความเอาใจใส่และความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว เจ้าฟ้าผู้มั่งคั่งก็จะประทานรางวัลแก่ผู้ให้ความช่วยเหลือบ้างไม่มากก็น้อย เวลาที่ใช้ในการถวายความช่วยเหลือแด่พระองค์ ต้องประมาณได้ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ เหรียญสหรัฐ แต่ทั้งหมดที่ได้รับในรูปสินน้ำใจนั้น คือของกำนัลเล็กน้อยสองสามชิ้นที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ ๒๕ เหรียญสหรัฐ ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะขอรับค่าตอบแทนสำหรับแบบจำลองเรือไอน้ำในเวลาไม่นานหลังจากที่มันมาถึง แต่พระองค์ก็ทรงบ่ายเบี่ยงครั้งแล้วครั้งเล่า และผมก็ไม่ได้รับจนกระทั่งหลังจากนั้นมาอีกสองปี
 
ผมได้แนบคำประกาศสั้นๆ เกี่ยวกับเรือของเจ้าฟ้าพระองค์นี้และโรงจักรกลโรงใหม่ ซึ่งนำมาจากบางกอกคาเลนดาร์ ในปี ค.ศ. ๑๘๔๙ (พ.ศ. ๒๓๙๒)
 
ผมได้รับ Scientific American นับจากเล่มที่ ๒ เป็นต้นมา เป็นประจำ และชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ผมหวังให้คุณประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในความพยายามกระจายข่าวสารด้านเครื่องกล ผมขอแสดงความนับถือมา ณ ที่นี้
 
เจ แฮสเซตต์ แชนด์เลอร์


วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 12:32

อ้างถึง
"แต่คนไทยบอกว่าแพงไป เพราะเรือขึ้นสนิมแล้ว"

แสดงว่ามีการให้ชาวสยามได้ขึ้นไปยังเรือเพื่อสำรวจใช่ไหมครับ เหมือนเคยอ่านทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงขึ้นไปสำรวจเรือ หรือขุนนางสักท่านปลอมตัวเข้าไปยังบนเรือ เพื่อสำรวจเรือว่าเหล็กจะลอยน้ำได้อย่างไร ใช่ไหมครับ

ของจะซื้อจะขายกัน ต้องมีการขึ้นไปสำรวจแน่นอนครับ บุคคลสำคัญในเรื่องนี้อีกท่านหนึ่งคือจมื่นไวยวรนาถ หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คนโปรดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีฝีมือและผลงานในทางต่อเรือให้วังหลวงเช่นกัน ท่านผู้นี้ฉลาดปราชญ์เปรื่อง ฝรั่งมั่วไม่ได้หรอก

ผมเดาว่า เรือคงซื้อมือสองมา และรีบจะนำมาให้ทันสงครามญวนจนไม่ได้ซ่อมแซมปะผุ ยิ่งฝ่าทะเลเป็นแรมเดือนกว่าจะมาถึงสยาม คงจะทรุดโทรมไปอีกไม่น้อย คนซื้อก็ต้องอยากได้ของใหม่ ถ้าเรียกราคาถึงขนาดนี้

ผมจึงสันนิฐานต่อว่า พอคนไทยไม่ซื้อ นายหันแตรก็เอาเรือลำนี้ไปสิงคโปร ที่นั่นเป็นฐานทัพเรืออังกฤษ ย่อมมีอู่ที่จะซ่อมแซมเรื่องพวกนี้ได้ เรือเมื่อซ่อมดีแล้วเอาไปญวน ญวนจึงซื้อเพราะจำเป็น เพราะตอนนั้นญวนก็เริ่มมีเรื่องกับฝรั่งเศสแล้ว

นายหันแตรคงขาดทุนกำไรไปโขอยู่ แต่ถ้าไม่ซ่อม ออกจากกรุงเทพวิ่งไปขายญวนในไซ่ง่อนอีก ก็คงหงายหลังเป็นครั้งที่สอง
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 13:39

หลวงนายสิทธิ์ ใน คคห. ๑๔๓ ก็คือ
(ในรัชกาลที่ ๓) หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก (ช่วง บุนนาค) ต่อมาก็คือ จมื่นไวยวรนาถ (เพิ่มสร้อยเป็น จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์) หัวหมื่นมหาดเล็ก
และได้เลื่อนเป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ประมาณปีสุดท้ายในรัชกาล    
ในรัชกาลที่ ๔ เป็นที่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ศักดินา ๒๐๐๐๐ (พิเศษ) เครื่องยศเทียบที่เจ้าต่างกรม (เข้าใจว่า เทียบที่พระองค์เจ้าตั้ง คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในบัดนี้)
ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็น ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และภายหลังได้เป็นที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ศักดินา ๓๐๐๐๐  เครื่องยศเทียบที่พระองค์เจ้าต่างกรม
(เข้าใจว่า เทียบที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในบัดนี้ บ้างก็ว่าเทียบที่ กรมหลวง)

อธิบายยืดยาว เผื่อท่านที่ไม่ทราบว่า หลวงนายสิทธิ์ หรือ จมื่นไวยวรนาถ ในรัชกาลที่ ๓ ที่มีบทบาทในการต่อเรือ การทหารเรือ คือผู้ใด  ยิงฟันยิ้ม

ในรัชกาลที่ ๔ ท่านได้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า

ตำแหน่ง ผบ.ทร.วังหน้า นั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สืบทอดต่อจากพระราชบิดา
ส่วน ผบ.ทร. วังหลวง นั้น "เจ้าคุณทหาร" เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ วร บุนนาค สืบทอดต่อจากบิดา



ในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ ได้บันทึกไว้ว่า หลวงสิทธิ์นายเวร สนใจในการศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง เป็นนายช่างไทยคนแรกผู้สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้
ท่านได้ต่อเรือกำปั่นรบ เรียกว่าเรือกำปั่นบริค ลำแรกเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โปรดพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" (แต่ฝรั่งเรียกว่า เรืออาเรียล)
และได้ต่อเรือรบอีกหลายลำมีน้ำหนักถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ ตัน สำหรับลำเลียง ทหารไปรบกับญวน ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๘

ได้ต่อเรือขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อว่า "ระบิลบัวแก้ว" (ภาษาอังกฤษว่า คองเคอเรอ) ซึ่งใหญ่กว่าเรือลำแรก
ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างอู่ต่อเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพ ฯ หลายอู่ เรือกำปั่นลำแรกที่ต่อเสร็จในอู่กรุงเทพฯ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า เรือแคลิโดเนีย เป็นเรือที่ต่อค้างจากจันทบุรี
หลวงนายสิทธิ ได้นำมาต่อเพิ่มเติมจนแล้วเสร็จในอู่กรุงเทพ ฯ เมื่อต่อเรือลำนี้เสร็จ โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้หลวงนายสิทธิ เป็นช่างต่อเรือหลวงและเป็นผู้บัญชาการอู่หลวง

ปี พ.ศ. ๒๓๗๙ หลวงนายสิทธิได้ต่อเรือกำปั่นเสร็จอีก ๔ ลำ ได้แก่ เรือรบวิทยาคม เรือรบวัฒนานาม (แอโร) เรือจินดาดวงแก้ว (ประเภทเรือบาร์ก ชื่อว่า ซักเซส) เรือลำที่สี่ชื่อ เทพโกสินทร์ (ประเภทเรือชิป ซึ่งเป็นเรือของแม่ทัพหน้าคราวยกไปตีเมืองบันทายมาศ) เนื่องจากมีเรือกำปั่นใบแบบฝรั่งหลายลำ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศ มาช่วยฝึกสอนวิชาเดินเรือให้แก่คนไทย ใน พ.ศ. ๒๓๘๐ โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวอังกฤษชื่อ กัปตันทริกซ์ มาสอนวิชาเดินเรือทั้งเรือรบและเรือเดินสินค้า ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ หลวงนายสิทธิได้สร้างเรือกำปั่นแบบฝรั่งขึ้นอีกหลายลำ ได้แก่ เรือราชฤทธิ (พ.ศ. ๒๓๘๔) เรือสยามภพ (พ.ศ. ๒๓๘๕) เรือโผนเผ่นทะเล (พ.ศ. ๒๓๙๒) และเรือจรจบชล (พ.ศ. ๒๓๙๓)

หลวงสิทธินายเวร (ช่วง บุนนาค) รับราชการมี ความดีความชอบมากจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ ได้เลื่อนเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๓๘๔ เพิ่มสร้อยนามของท่านเป็นจมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์

ในปีนี้ได้เกิดสงครามกับญวน รัชกาลที่ ๓ ได้ให้จัดกองทัพเรือกำปั่นที่ต่อใหม่ โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพหลวง และจมื่นไวยวรนาถ เป็นทัพหน้ายกไปตีเมืองบันทายมาศ



จาก http://www.marinerthai.com/sara/view.php?No=1113
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ค้นพบมองข้ามเรือกลไฟลำแรกที่ว่านี้ แล้วจัดให้เรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลเป็นเรือกลไฟลำแรกที่คนไทยต่อขึ้นใช้ได้เอง เรือพระที่นั่งลำนี้มีความยาว ๗๕ ฟุต และความกว้าง ๒๐ ฟุต โดยต่อตัวเรือกันที่อู่ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ส่วนเครื่องจักรกำลัง ๑๕ แรงม้านั้น สั่งซื้อมาจากเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เรือลำนี้สร้างเสร็จและขึ้นระวางประจำการเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) เว็บไซต์ของกองทัพเรือจัดให้เป็นเรือรบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่หนังสือของอาจารย์ ส. พลายน้อย เห็นว่าควรเป็นเรือกลไฟธรรมดา ไม่ใช่เรือรบ เพราะไม่มีปืนใหญ่

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ทรงกล่าวถึงเรื่องการสร้างเรือกลไฟในหนังสือตำนานเรือรบไทยว่า (คัดลอกมาโดยไม่เปลี่ยนตัวสะกด) "เรื่องต่อเรือกลไฟในประเทศนี้ มีปรากฏในจดหมายเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกัน กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้หมอจันดเลเปนผู้ช่วย ทรงพยายามทำหม้อและเครื่องจักรต่อเรือกลไฟขึ้นได้ลำ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๓ แต่ว่าเปนเรือพอแล่นได้ จะใช้การหาได้ไม่ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สั่งเครื่องจักรกลไฟมาแต่เมืองอังกฤษ มาต่อเรือขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เปนเรือจักรข้าง ยาว ๗๕ ฟุต พระราชทานชื่อว่า เรือสยามอรสุมพล นับเปนเรือกลไฟลำแรกซึ่งมีขึ้นในประเทศนี้"

บันทึกของพระองค์ยืนยันเรื่องราวที่กล่าวไว้แล้วเป็นอย่างดี ยกเว้นเฉพาะแหล่งที่มาของเครื่องจักรสำหรับเรือสยามอรสุมพลเท่านั้นที่ขัดกันอยู่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 13:49

ขอบคุณคุณภาณุเมศฺวรมากครับ

ข้อเขียนข้างต้นได้ปูพื้นฐานความเข้าใจให้เป็นอย่างดี เดี๋ยวผมจะได้เข้าเรื่อง"เรือสยามอรสุมพล"เลย
แต่ก่อนไปจะขอเคลียร์เรื่องคาใจอีกเล็กน้อย

จดหมายของนายแชนด์เลอร์ที่ตีพิมพ์ออกไปดังกล่าวเป็นที่สับสนสำหรับคนอ่านอยู่มาก ตกลงแล้วอะไรเป็นอะไร ผมพยายามวิเคราะห์ดู จากเขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนบาทหลวงคนหนึ่งในจดหมายลงวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๗ (ค.ศ. ๑๘๔๔) โดยมีเนื้อความบางตอนดังนี้
 
"เวลาของผมในช่วงเดือนที่ผ่านมาหมดไปกับการถวายความช่วยเหลือแก่เจ้าฟ้าน้อย แรกทีเดียวพระองค์ทรงส่งงานชิ้นย่อยมาให้ทำ ซึ่งก็เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ต่อมาก็มีมาเรื่อยๆ มีบุรุษสองสามคนในโรงกลึงเข้ามาใช้เครื่องกลึงและเครื่องมืออื่นๆ เกือบตลอดเวลา การดูแลคนและงานของพระองค์เป็นเรื่องที่กินเวลาส่วนใหญ่ของผมไปมาก จนผมคิดว่าเราต้องปฏิเสธไม่ให้ใช้เครื่องกลึง หรือไม่ก็ขายให้เสียเลยจะดีกว่า พระองค์ทรงกำลังทำเครื่องจักรหลายตัว ในบรรดาสิ่งเหล่านั้นมีเครื่องยนต์ไอน้ำขนาดเล็กรวมอยู่ด้วย และต้องใช้เครื่องกลึงตลอดเวลา ผมสรุปว่า ถ้าขายให้พระองค์ก็จะลดความยุ่งยากลง ดีกว่าที่จะให้คนและงานของพระองค์มาที่โรงกลึงต่อไป
 
พระองค์พระราชทานเงินให้ผม ๑๐๘ เหรียญ หรือ ๑๘๐ อัฐ เป็นค่าเครื่องกลึง ตะไบขนาดเล็กสองสามเล่ม และเครื่องมืออื่นๆ เงินนี้พอเป็นค่าใช้จ่ายและอื่นๆ ชาวสยามนี่พอใจกับทุกอย่างที่มาจากสหรัฐ”
(ที่ถูกน่าจะเป็น๑๐๘บาท Tical เป็นภาษาโบราณเรียกหน่วยเงินบาท ไม่ได้แปลว่าอัฐนะครับ)

สรุปแล้วเครื่องยนต์ไอน้ำขนาดเล็กที่ว่า ก็สำเร็จลงในโรงกลึงที่วังนะครับ ไม่ใช่ที่โรงกลึงของนายแชนด์เลอร์ และโดยช่างที่เป็นคนไทยที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯจะทรงกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากแบบที่ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง

อีกประการหนึ่ง นายแชนด์เลอร์กล่าวในจดหมายว่าได้รับพระราชทานเงิน๑๐๘ เหรียญสำหรับเครื่องกลึง แต่เขียนไปลงหนังสือพิมพ์ กล่าวหาว่าทรงบ่ายเบี่ยงที่จะจ่ายเงิน๕๐๐ เหรียญตอบแทนสำหรับแบบจำลองเรือไอน้ำต้นแบบที่นายแชนด์เลอร์อ้างว่าได้ส่งเงินไป๒๐๐เหรียญ เพื่อสั่งให้ทำมาจากลอนดอน

พิจารณาดูก็น่าแปลกอยู่ เครื่องกลึงเหล็กเครื่องเบ้อเร่อ ราคา๑๐๘เหรียญ ส่วน "แบบจำลอง" นั้น ถึงจะประดิษฐ์อย่างใกล้เคียงของจริงอย่างไรก็ยังเป็นของเล่นอยู่ดี(ดูภาพประกอบ)  ที่อ้างว่าลงทุนสั่งถึง๒๐๐เหรียญ เปรียบเทียบราคากับเครื่องกลึงทั้งชุดผมก็ว่าจะเวอร์ไปแล้ว นี่จะไปเรียกเอากับท่านถึง๕๐๐เหรียญ โอโห จะเอากำไรอะไรนักหนา สมควรแล้วที่ถูกดองเรื่องไว้ถึง๒ปี ไม่ทราบว่าที่สุดแล้วจบกันที่จำนวนเท่าใด แต่จบก่อนที่นายแชนด์เลอร์จะเขียนหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์แน่นอน และทั้งสองฝ่ายคงจะพอใจในข้อยุติ นายแชนด์เลอร์ยังคงทำมาหากินอยู่ในสยามต่อไปอีกยาวนาน อาชีพตอนหลังนี้คือเปิดโรงพิมพ์ทำหนังสือพิมพ์ คุณหนุ่มสยามรู้จักโรงพิมพ์ของหมอจันทเลนี้ดี มีรูปถ่ายสมัยโน้นด้วย

ส่วนของกำนัลที่นายแชนด์เลอร์ตีราคาไว้๒๕เหรียญนั้น ก็คือสินน้ำใจ ไม่ใช่ทรงชำระที่นายแชนด์เลอร์เชคบิลแน่นอน


บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 19 ม.ค. 11, 14:13

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นั้น
ถือว่าเป็น "สหชาติ" โดยปี (คือปี ๒๓๕๑ ในรัชกาลที่ ๑)

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ ๔ กันยายน ๒๓๕๑
(พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าน้อย พระราชโอรสในสมเด็จ ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กับเจ้าฟ้าบุญรอด พระราชธิดาในสมเด็จ ฯ กรมพระศรีสุดารักษ์      พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ กับสมเด็จ ฯ กรมพระอมรินทรามาตย์)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อุปบัติ เมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๓๕๑
(นายช่วง บุตรจมื่นไวยวรนาถ ดิศ กับคุณจันทร์ ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ ทองอิน      หลานเจ้าพระยามหาเสนา บุนนาค และเจ้าคุณนวล)

สมเด็จ ฯ กรมพระอมรินทรามาตย์ (ภายหลังได้เฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑) กับเจ้าคุณนวล (เจ้าคุณพระราชพันธุ์ ชั้นที่ ๑) นั้น
กล่าวอย่างธรรมดา คือ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา กัน   เกิดใน ราชินิกุลบางช้าง

ถ้ามิเป็นการอาจเอื้อม  อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  
เป็นลูกเรียงพี่เรียงน้องกัน เป็นญาติชั้นเดียวกัน มีย่าเป็นพี่น้องกัน
เป็นสหชาติโดยปี เกิดปีเดียวกัน
สนใจภาษาและแบบอย่างธรรมเนียมฝรั่งเหมือนกัน
สนใจการต่อเรือ การทหารเรือ เหมือนกัน
รับราชการสนองพระเดชพระคุณเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 20 คำสั่ง