เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 59093 " เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 16 ม.ค. 11, 22:33

ขอพูดถึงพระปรีชาทางด้านภาษาอีกหน่อย  ก่อนจะไปเรื่องพระราชกรณียกิจอื่นๆต่อไป

ในพระนิพนธ์ ความทรงจำ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ทรงเอ่ยถึงพระปรีชาทางภาษาของสมเด็จพระปิ่นเกล้าว่า

"เมื่ออังกฤษให้เซอร์เจมส์ บรุ๊ค เป็นทูตเข้ามาในตอนปลายรัชกาลที่ ๓    หนังสือที่มีไปมากับไทยใช้ภาษาอังกฤษเป็นคราวแรก   ข้างฝ่ายไทยไม่มีผู้ชำนาญภาษาอังกฤษ   ต้องอาศัยมิชชันนารีอเมริกันชื่อ มิสเตอรโจนส์ (เรียกกันว่าหมอยอนส์) คน ๑ กับฝรั่งครึ่งชาติชื่อเจมสเฮส์ (เรียกกันว่าเสมียนยิ้ม)อีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ชำนาญภาษาไทย  เป็นผู้แปลและแต่งภาษาอังกฤษแล้วให้ส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรียกในจดหมายเหตุว่า ทูลกระหม่อมพระ) ทรงตรวจทุกฉบับ     พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในสมัยนั้นอีกพระองค์ ๑    แต่คงเป็นเพราะไม่ทรงทราบลึกซึ้งถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   จึงไม่ปรากฏว่าได้มีหน้าที่ช่วยตรวจหนังสือที่มีไปมากับเซอรเจมส"

ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับข้อที่ว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯไม่ค่อยจะทราบภาษาอังกฤษลึกซึ้งเท่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  คิดว่าสองพระองค์น่าจะทรงรู้ภาษาอังกฤษไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

เซอร์เจมส์ บรุ๊คเข้ามาในสยามเมื่อพ.ศ. 2393  ส่วนเซอร์จอห์น เบาริงเข้ามาหลังจากนั้นอีกแค่ 4 ปี  ในพ.ศ. 2397   ในบันทึก เขาเล่าเมื่อได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯว่า โปรดนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เรื่อง Pickwick Papers   ในพระที่นั่งอิศเรศฯ ก็มีห้องสมุดและตู้หนังสือ   บรรยากาศเหมือนเข้าไปอยู่ในบ้านผู้ดีอังกฤษ   
ถ้าออกปากชมกันขั้นนี้ก็แสดงว่าหนังสืออังกฤษที่ทรงอ่าน มีอยู่มากทีเดียว  ไม่ใช่แค่สิบยี่สิบเล่ม
นอกจากนั้น Pickwick Papers เป็นหนังสือตลก     ตลกชนิดหัวร่อกันงอหายสำหรับฝรั่้งอังกฤษ     เราก็รู้ๆกันว่าเรื่องขำของแต่ละชาติไม่เหมือนกัน   อะไรที่อังกฤษขำ  คนไทยหรือจีนหรืออินเดียอาจจะเฉยๆ ทำนองเดียวกัน   เรื่องขำของคนไทย ฝรั่งก็อาจงงๆก็ได้ว่าไม่เห็นตลกตรงไหน
เพราะฉะนั้นใครอ่านเรื่อง Pickwick Papers แล้วขำได้   ก็ต้องแตกฉานไม่เฉพาะแต่ภาษา แต่เข้าใจวัฒนธรรมฝรั่งด้วย   จะเป็นได้ต่อเมื่อได้ทรงศึกษากับฝรั่งด้วยความเอาพระทัยใส่ทั้งภาษาและวัฒนธรรม และทรงรู้ภาษาขั้นดีทีเดียว     

Pickwick Papers มีให้อ่านได้ในเน็ตค่ะ  อยากรู้ว่าอ่านยากง่ายแค่ไหน  ก็ลองไปหาอ่านดู
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 00:19

อ้างถึง
ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับข้อที่ว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯไม่ค่อยจะทราบภาษาอังกฤษลึกซึ้งเท่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  คิดว่าสองพระองค์น่าจะทรงรู้ภาษาอังกฤษไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

จดหมายเหตุในรัชกาลที่๓ เรื่องเซอรเจมสบรุ๊คเข้ามาทำสัญญา  มีความตอนหนึ่งว่า

“การครั้งนี้ก็เป็นการฝรั่ง  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก  ควรจะเอาเปนที่ปฤกษาใหญ่ได้  ก็แต่ว่าติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ  จมื่นไวยวรนารถเล่า ก็เปนคนทันสัดในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง  ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่  แต่ทว่าเห็นจะได้พูดจาปฤกษาหาฤๅกับเจ้าพญาพระคลังแล้ว  ก็เห็นจะถูกต้องกันกับเจ้าพญาพระคลัง  ยังแต่พญาอุไทยธรรมราช  ก็เปนบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราชอายุก็เป็นผู้ใหญ่อยู่บ้า ง สารพัดจะรู้การครั้งเจ้าพญานครศรีธรรมราชเจราจากับฝรั่งทุกสิ่งทุกประการ  ก็ต้องลงไปอยู่เมืองสมุทรปราการ  ให้พญาศรีพิพัฒน์แต่งคนดีมีสติปัญญาเข้าใจความ  เชิญกระแสพระราชดำริห์ลงไปปฤกษา เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พญาอุไทยธรรมราชที่เมืองสมุทรปราการ  พญาสูรเสนาที่เมืองเขื่อนขันธ์ด้วย  แลกระแสพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่อยู่กรุงเทพฯ แลที่ลงไปรักษาราชการอยู่ ณ เมืองสมุทรปราการ เมืองนครเขื่อนขันธ์ก็ดี  ให้ประชุมปฤกษาหาฤๅจงพร้อมมูลปรองดองกัน  อย่าได้ถือทิฐิมานะเกี่ยงแย่งให้เสียราชการไป”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 00:25

ส่วนข้อความนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงท่านทรงนิพนธ์ขึ้นเองครับ       

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรแล้ว  ยังต้องทรงกังวลด้วยเรื่องราชทูตอังกฤษมาขอแก้สัญญาเป็นพระราชภาระอันใหญ่ยิ่ง  อีกทั้งเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งทรงวางพระราชหฤทัยและพอจะรับราชการสนองราชกิจเรื่องนี้ได้  ต้องติดภารกิจสำคัญน้อยใหญ่มิได้อยู่ประจำพระนครใกล้ชิดพระองค์  ให้เป็นเครื่องพออุ่นพระหฤทัยได้เลย  จะทรงเหลียวทางใดย่อมทรงอ้างว้างวิตกในพระราชหฤทัยเป็นธรรมดา   ครั้งนั้นได้อาศัยอาศัยมิชชันนารีอเมริกันชื่อมิสเตอร์ โจนส์  ที่เรียกกันในพื้นเมืองนี้ว่า Dr.ยอนส์คน ๑  กับฝรั่งครึ่งชาติชื่อ เจมสเฮส์  ซึ่งเรียกกันว่า เสมียนยิ้ม อีกคน ๑  ซึ่งทั้ง ๒ คนก็ไม่ชำนาญภาษาไทย  เป็นผู้แปลและแต่งภาษาอังกฤษ  แล้วส่งไปถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ  ซึ่งเรียกในจดหมายเหตุเรื่องเซอรเจมสบรุ๊คเข้ามาทำสัญญาว่า “ทูลกระหม่อมพระ” ทรงตรวจทุกฉบับ  การส่งภาษาตอบโต้ในการทูตครั้งนั้นจึงเป็นไปได้โดยสะดวก  และอุ่นพระราชหฤทัยปลดเปลื้องพระราชภาระครั้งนี้ไปได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 00:33

อ้างถึง
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในสมัยนั้นอีกพระองค์ ๑    แต่คงเป็นเพราะไม่ทรงทราบลึกซึ้งถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   จึงไม่ปรากฏว่าได้มีหน้าที่ช่วยตรวจหนังสือที่มีไปมากับเซอรเจมส

ส่วนข้อความในล้อมกรอบนี้ไม่ทราบว่าปรากฎขึ้น โดยใครไปแต่งเสริมให้สมเด็จท่านหรือเปล่า

ถ้าจะให้ผมตีความนะครับ ผมเชื่อว่าตอนเจรจาร่างสัญญาอะไรกันนั้น ท่านให้ไปปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และพญาอุไทยธรรมราช เพราะเป็นเรื่องของฆราวาส เขาจะเชือดเฉือนกันเรื่องผลประโยชน์ หาใช่กิจของสงฆ์ไม่
เมื่อการเจรจาลงตัวแล้ว สัญญาร่างขึ้นมาเสร็จสรรพ เหลือเพียงความถูกต้องในเรื่องของการแปลภาษาไทยเป็นอังกฤษ หรืออังกฤษเป็นไทย ถูกผิดอย่างไร อันนี้พระแก้ได้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์

และยังถือเป็นการถวายเกียรติครบทั้งสองพระองค์ในฐานะบุคคลสำคัญด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 07:30

เจมส์ บรูค เกิดที่เมืองพาราณสี ประเทศอินเดียในปัจจุบัน แต่ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนนอร์วิชในอังกฤษ ต่อมาบรุคได้เดินทางไปรบกับพม่าพร้อมกับกองทหารของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้รับบาดเจ็บ จึงถูกส่งตัวกลับไปพักฟื้นที่อังกฤษ เมื่อหายดีแล้วจึงได้กลับมาใหม่ เริ่มต้นพยายามทำการค้าแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อบิดาเสียชีวิตลง ทิ้งมรดกให้บรูคถึง 30,000 ปอนด์ จึงได้ลงทุนซื้อเรือสกูนเนอร์ ที่ต่อแบบใหม่ติดอาวุธมีความเร็วสูง ตั้งชื่อว่า"เดอะรอยัลลิสต์"แล้วออกเดินทางไกลไปจนถึงเกาะบอร์เนียว เหมือนหนังฮอลิวูดเลยที่ตอนนั้นชาวเมืองกำลังก่อกบฎ ต่อต้านสุลต่านแห่งบรูไนอยู่พอดี บรูคได้จังหวะเข้าสอดแทรกและเสนอตนเป็นคนกลาง เพราะทุกฝ่ายเกรงอำนาจกองทหารอังกฤษที่เขาจ้างให้มากับเรือ ทำให้การเจรจาสงบศึกเป็นผลสำเร็จ สุลต่านต้องยกรัฐซาราวัคให้ปกครอง โดยแต่งตั้งบรูคให้ดำรงตำแหน่ง ราชาแห่งซาราวัค มีสมญานามว่า “The White Raja of Sarawak”

บรูคเริ่มวางรากฐานปูอำนาจของตนไปทั่วซาราวัก ปฏิรูประบบบริหาร แก้ไขปรับปรุงกฎหมายปราบปรามโจรสลัดซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องไปตลอดเวลาที่บรูคปกครอง เมื่อเดินทางกลับอังกฤษเป็นการชั่วคราวในพ.ศ. 2390 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการและผู้บัญชาการทหารแห่งลาบวน ได้เป็นกงสุลทั่วไปของอังกฤษแห่งบอร์เนียว และได้รับพระราชทานเหรียญตราเป็นอัศวินชั้นบาธ ใช้คำนำหน้านามว่าท่าน"เซอร์" ตั้งแต่บัดนั้น

ในปีพ.ศ. 2393 ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษได้ส่งเซอร์ เจมส์ บรูค เดินทางเข้ามาขอแก้ไขสัญญาเบอร์นี่กับไทย ซึ่งอังกฤษต้องการให้ไทยยกเลิกระบบการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า ขอให้ไทยลดภาษีปากเรือจากวาละ 1,700 บาท เหลือ 500 บาท และห้ามเก็บค่าธรรมเนียมอื่นใดอีก ขอให้กงสุลอังกฤษเข้ามาร่วมพิพากษาคดีความที่เกิดกับคนในบังคับอังกฤษ รวมทั้งขอสิทธิพิเศษอีกหลายข้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์กับอังกฤษทั้งสิ้น ขณะที่ไทยเห็นว่าข้อตกลงในสัญญาเบอร์นี่ มีความเหมาะสม อังกฤษได้รับผลประโยชน์มากอยู่แล้ว ถ้าไทยยอมแก้ไขสัญญาให้สิทธิพิเศษแก่อังกฤษมากไป จะทำให้ชาติอื่นๆ ถือเป็นแบบอย่าง ทำตามอังกฤษบ้าง ดังนั้น การเจรจาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเซอร์ เจมส์ บรูค กลับไปถึงสิงคโปร์ ได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษใช้กำลังทหารบีบบังคับไทยให้ยอมแก้ไขสัญญา แต่รัฐบาลอังกฤษไม่เห็นชอบ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษจึงเป็นไปตามสนธิสัญญาเบอร์นีที่จัดทำขึ้นในปี 2369
 
ในปี พ.ศ. 2394 เซอร์ เจมส์ บรูค ถูกกล่าวว่าใช้อำนาจในทางที่ผิด และถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการสอบสวนที่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากสิงคโปร์ แม้จะพ้นข้อหา แต่เหตุการณ์ก็ได้หลอกหลอนเขาอยู่ตลอดเวลาจนเส้นโลหิตในสมองแตก  เซอร์ เจมส์ บรูคเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2411
 
เซอร์ เจมส์ บรูคมีทัศนคติที่ไม่ดีกับคนไทยเท่าไร ถ้าคนๆนี้ยังมีอำนาจต่อไป ไม่โดนการเมืองเล่นงานอ่วมอยู่ที่สิงคโปร คนไทยคงได้เจอเรือรบอังกฤษเข้ามาย่ำยีแน่ๆ  แต่ในขณะที่เขียนรายงานตำหนิโน่นนี่ ก็ยังอุตส่าห์ชมเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ แต่ผมพิเคราะห์แล้วคงจะไม่ได้พบกัน เซอร์ เจมส์ บรูคอาจได้ข้อมูลนี้มาจากพวกฝรั่งที่เป็นล่ามฝ่ายไทยนั่นเอง




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 08:51

อ้างถึง
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในสมัยนั้นอีกพระองค์ ๑    แต่คงเป็นเพราะไม่ทรงทราบลึกซึ้งถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   จึงไม่ปรากฏว่าได้มีหน้าที่ช่วยตรวจหนังสือที่มีไปมากับเซอรเจมส

ส่วนข้อความในล้อมกรอบนี้ไม่ทราบว่าปรากฎขึ้น โดยใครไปแต่งเสริมให้สมเด็จท่านหรือเปล่า


ในหนังสือที่ดิฉันลอกมาให้อ่าน บอกว่ามาจาก ความทรงจำ ตอน ๒  พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ค่ะ
อาจเป็นฉบับที่ไม่ได้ตัดทอนข้อความนั้นออกไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 09:50

นั่นแน่ เจอแล้วครับ ต้นตอมาจากคุณกัมม์ คนชอบพอกันกับผมอีกท่านหนึ่งนี่เอง

http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums2/http/
www.pantip.com/cafe/library/topic/K5312615/K5312615.html

   ประเด็นเรื่อง "ความสามารถทางภาษาอังกฤษ"

         ....เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาฝรั่ง ปรากฎว่าเริ่มทรงศึกษาภาษาละตินก่อน ด้วยเมื่อเสด็จประทับอยู่วัดราชธิวาส เขตวัดติดต่อกับวัดคอนเซปชั่น Immaculate Conceptiovn Church ของพวกโรมันคาทอลิก และเวลานั้นสังฆราชปาลกัวต์ยังเป็นบาทหลวงอธิการของวัดนั้นชอบไปเฝ้าทูลถามภาษาและขบนธรรมเนียมไทยเนืองๆจนทรงคุ้นเคย จึงโปรดฯให้สอนภาษาละตินถวายเป็นทำนองแลกเปลี่ยนความรู้กั จะได้ทรงศึกษาอยู่ตลอดเวลาสักเท่าใดและถึงเพียงไหนก็ไม่ปรากฎ แต่สังเกตในลายพระราชหัตถเลขาเมื่อเสวยราชย์แล้ว มักทรงใช้ศัพท์ภาษาละตินเนืองๆ เห็นได้ว่าทรงทราบไวยกรณ์ของภาษานั้น แต่การที่ทรงศึกษาภาษาละตินคงหยุดเมื่อเสด็จย้ายจากวัดราชาธิวาส แต่ภาษาอังกฤษยนั้นเสด็จกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศฯแล้วหลายปี จึงได้เริ่มทรงศึกษาต่อมิชชั่นนารีอเมริกัน....  

 .....พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับมิสเตอรแคสเวล จนสามารถจะอ่านเขียนและตรัสภาษาอังกฤาได้สะดวกดียิ่งกว่าใครๆ ที่เป็นไทยด้วยกันในสมัยนั้นทั้งสิ้น ข้อนี้มีหลักฐานปรากฎเมื่อรัฐบาลอังกฤษให้เซอรเจอมสบรุ๊คเป็นทูตเข้ามาเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ หนังสือที่มีไปมากับไทยใช้ภาษาอังกฤษเป็นคราวแรก เวลานั้นข้างฝ่ายไทยไม่มีผู้ชำนาญภาษาอังกฤษ ต้องใช้มิชชันนารีอเมริกันชื่อ มิสเตอร์โจน (เรียกกันว่า "Dr.ยอนส์") คน ๑ กับฝรั่งครึ่งชาติชื่อเจมสเฮส์(เรียกกันว่า "เสมียนยิ้ม") อีกคน ๑ ซึ่งไม่ชำนาญภาษาไทย เป็นผู้แปลและแต่งภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรียกในจดหมายเหตุว่า "ทูลกระหม่อมพระ") ทรงตรวจทุกฉบับ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในสมัยนั้นอีกพระองค์ ๑ แต่คงเป็นเพราะไม่ทรงทราบอย่างลึกซึ้งถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงไม่ปรากฎว่ามีหน้าที่ช่วยตรวจหนังสือที่มีไปมากับเซอรเจมสบรุ๊ค

         .....วิชาความรู้ต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาจากตำราภาษาอังกฤษจะมีอย่างใดบ้าง ข้อนี้มีหลักฐานปรากฏว่าได้ทรงศึกษาวิชาคนาวิธีอย่าง ๑ วิชาโหราศาสตร์อย่าง ๑ ประวัติศาสตร์อย่าง ๑ กับการเมืองด้วยอีกอย่าง ๑ การที่ได้ทรงศึกษาวิชาคณนาวิธีและโหราศาสตร์ ปรากฏในเรื่องสุริยอุปราคาที่กล่าวมาแล้วในตอนก่อน การที่ทรงศึกษาประวัติศาสตร์ มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ปรากฏอยู่ในหนังสือ เซอรจอน เบาริ่ง แต่งว่า เมื่อจะเป็นอัครราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีใน พ.ศ. ๒๓๙๘ นั้น เกรงไทยจะรับรองไม่สมศักดิ์ ด้วยทูตอังกฤษมที่เคยเข้ามากรุงเทพฯแต่ก่อน เป็นแต่ทูตของอุปราชในอินเดีย หรือทูตของรัฐบาลอังกฤษ แต่เซอรจอน เบาริ่ง เป็นอัครราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาแต่งพระองค์สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย จะต้องให้รับผิดกัน เซอรจอน เบาริ่ง ค้นหาแบบอย่างที่ไทยเคยรับาชทูตของพระเจ้าแผ่นดิน พบในหนังสือเก่าเล่าเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับ เชอเลีย เดอ โชมอง ราชูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ เอารายการในหนังสือนั้นมาเปรียบเทียบ ข้างฝ่ายไทยในเวลานั้นไม่มีใครรู้แบบแผน เพราะตำราสูญเสียแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบพระองค์เดียว เพราะได้หนังสือพงศาวดารการเกี่ยวข้องในระหว่างไทยกับฝรั่ง ที่ฝรั่งแต่งไว้แต่โบราณ ทรงคาดใจเซอร จอน เบาริ่ง ว่าคงปรารถนาจะให้รับรองผิดกับทูตอังกฤษที่มาแล้วแต่ก่อน จึงโปรดฯให้เอาแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับราชทูตฝรั่งเศสมาใช้เป็นระเบียบ ก็ถูกใจ เซอรจอน เบาริ่ง ไม่มีทางที่เกี่ยงงอนได้.....


ในรัชกาลที่ ๓  เรื่องหนังสือต่างประเทศ  โปรดฯให้ปรึกษาเจ้าฟ้าพระโดยตลอด  และเป็นกำลังสำคัญพระองค์หนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระเชษฐาธิราช  ส่วน "ฟ้าน้อย" พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ปรากฏว่าได้ทรงปรึกษาราชการต่างประเทศด้วยเรื่องภาษาเลยครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 10:06

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเองก็ยอกรับว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้นทรงกว้างขวางกว่าพระองค์ ดังพระราชหัตถเลขา เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง ถึงพระยามนตรีสุรยวงศ์ และเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ในเรื่องเจรจาซื้อเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 10:26

นั่นแน่ เจอแล้วครับ ต้นตอมาจากคุณกัมม์ คนชอบพอกันกับผมอีกท่านหนึ่งนี่เอง

http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums2/http/
www.pantip.com/cafe/library/topic/K5312615/K5312615.html


ดิฉันไม่ได้เอามาจากคุณกัมม์ แต่เอามาจากหนังสือเรื่อง ข้อมูลประวัติศาสตร์บางเรื่อง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   เป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนางพวง ปราบอังวะ
สังเกตดูว่าข้อความก็เกือบจะเป็นพิมพ์เดียวกันกับที่คุณ Navarat ยกมา  แต่ไม่มีประโยคเกี่ยวกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ    คุณ Navarat ได้มาจากหนังสือเล่มไหนคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 11:20

อ้างถึง
แต่ไม่มีประโยคเกี่ยวกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ    คุณ Navarat ได้มาจากหนังสือเล่มไหนคะ

ประโยคไหนครับ
ส่วนใหญ่ ผมก็ค้นๆมาจากในเวปนี้เอง แต่ก็ไม่ได้สนใจจะให้เครคิตใคร เพราะที่เห็นๆก็ลอกๆกันมาจนไม่ทราบว่าต้นตอจริงๆที่ควรจะได้รับเครดิตนั้นคือใคร

แต่เอาเถอะ เราผ่านไปคุยกันเรื่องอื่นดีกว่ากระมังครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 11:26

มาต่อกันที่เซอร์ จอห์น เบาวริงสักหน่อย

คนไทยเราส่วนใหญ่รู้จักเซอร์ จอห์น เบาวริงในแง่บวก ทั้งๆที่เขาเข้ามทำให้เราตกอยู่ในสัญญาเสียเปรียบในเรื่องผลประโยชน์อย่างมากมาย กว่าจะมาดิ้นหลุดได้ในสมัยรัชกาลที่๖ ก็อีก๗๐ปีให้หลัง  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะที่เขาทำให้ฝันร้ายว่าเมื่อไหร่อังกฤษจะมาเชือดเรา อย่างกับที่ทำกับพม่าและจีนเสียทีนั้น ยุติลงได้
 
เมื่อครั้งเซอร์ เจมส์ บรูก กลับบ้านไปมือเปล่า ได้อาฆาตไว้ว่าจะส่งกองเรือรบอังกฤษมากรุงเทพอีกครั้งหนึ่งนั้น มีหรือที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง๒พระองค์จะไม่ทรงได้รับทราบ ความเคลื่อนไหวของอังกฤษที่สื่อเอามาตีพิมพ์ในสิงคโปร คงจะได้ผ่านสายพระเนตรท่านด้วย การที่รัฐบาลอังกฤษยังไม่ทำอะไรไทยตามความต้องการของท่านเซอร์ ก็เพราะว่ายังยุ่งกับสงครามฝิ่นในจีนมากกว่า จีนตอนนั้นเป็นหมูอ้วน สิงโตอังกฤษจ้องจะฟัดอยู่ให้จมเขี้ยว สยามเป็นกระต่ายตัวน้อย มาวิ่งไล่ก็เปลืองแรง ถึงฆ่าได้ก็กินไม่อิ่ม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 11:33

พอทำสงครามฝิ่นกับจีนครั้งแรกจบลง อังกฤษก็พร้อมที่จะเชคบิลกับสยามเสียที

รัฐบาลทางลอนดอนสั่งเซอร์ จอห์น เบาวริง ให้คุมเรือรบอังกฤษแล่นมาสู่สยาม โชคดีทีสยามผลัดแผ่นดินแล้ว ข่าวแพร่ออกไปว่า เจ้าฟ้ามงกุฏและพระอนุชา ผู้ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของฝรั่งทั้งหลายได้สืบราชสมบัติแทนพระมหากษัตริย์ที่ทรงตั้งข้อรังเกียจชาวตะวันตก ด้วยความยินยอมพร้อมใจกันของข้าราชการไทยที่มีหัวก้าวหน้า มีความรู้ในเรื่องของชาวตะวันตกทั้งปวง เซอร์ จอห์น เบาวริงจึงไม่อยากจะผลีผลาม

เมื่อมาเจอกับท่าทีที่เป็นมิตรอย่างยิ่งของสยาม และเซอร์ จอห์น เบาวริงก็ได้ทุกอย่างที่อังกฤษต้องการโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีของทั้งสองฝ่าย ทางคนไทยนั้นก็โล่งใจ สามารถนอนหลับยาวๆโดยไม่ต้องฝันร้ายไปได้อย่างน้อยก็อีกสักระยะหนึ่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 11:41

คนไทยไม่ได้ปอดกองเรือของอังกฤษจนเกินเหตุหรอกครับ เซอร์ จอห์น เบาวริงเองแกก็ไม่ค่อยชอบคนเอเซียนักหรอก ใจแกก็ร้ายไม่หยอก กลับจากเมืองไทยไปโดยที่ไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย ถึงเมืองจีนแกก็หาเรื่องเล่นงานคนจีนทีเดียว

ตอนนั้นเซอร์ จอห์น เบาวริง เป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำประเทศจีน ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เกาะฮ่องกงที่บังคับเช่ามาจากจีนเมื่อชนะสงครามฝิ่นครั้งแรก ถูกกดดันจากพวกพ่อค้าให้เสนอขอแก้ไขสนธิสัญญานานกิงกับข้าหลวงตรวจการของจีนประจำเมืองกวางตุ้ง คือจะเอาประโยชน์เพิ่มอีก จีนจึงไม่สนใจจะเจรจาด้วย อังกฤษจึงต้องรอจังหวะที่หาเรื่อง พอดีเกิดกรณีที่ตำรวจชายฝั่งของจีนเข้าจับกุมเรือต้องสงสัยว่าเป็นโจรสลัดและค้าของเถื่อน เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ.2399

 เรือลำนี้ชื่อ “แอร์โรว์”  ซึ่งเป็นเรือของตั๊วเฮียจีนแต่ติดธงอังกฤษ กงสุลของอังกฤษในเมืองกวางตุ้ง(กวางเจา)ได้รับคำสั่งจากฮ่องกงให้ประท้วงจีน เรียกร้องให้ปล่อยเรือและลูกเรือทันที อ้างว่าเรือดังกล่าวจดทะเบียนในฮ่องกงถือเป็นสัญชาติอังกฤษ จีนไม่มีสิทธิตรวจค้นตามสนธิสัญญาที่เพิ่งกระทำกัน และให้รัฐบาลจีนขอโทษอย่างเป็นทางการ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะไม่ละเมิดสิทธิ์ของอังกฤษอีก จีนตอบไปว่าตอนจับกุมไม่ยักเห็นว่ามีธง แต่อังกฤษยืนยันว่ามี แต่ถูกตำรวจจีนฉีกทำลาย การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น สุดท้ายจีนจำใจยอมปล่อยตัวลูกเรือทั้ง12คน แต่ไม่ยอมออกหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการ

เซอร์ จอห์น เบาวริง ข้าหลวงใหญ่อ้างเป็นเหตุเพียงเล็กน้อยนี้ ประกาศว่ากรณีพิพาทไร้ข้อยุติ และกระทำการอันป่าเถื่อนไร้คุณธรรม ด้วยการออกคำสั่งให้กองเรือรบอังกฤษวิ่งขึ้นไปในแม่น้ำ และให้เรือทุกลำยิงปืนใหญ่ถล่มใส่เมืองกวางตุ้งทุกๆสิบนาที จนกว่ารัฐบาลจีนจะยอมแพ้ การทำลายล้างคนจีนอย่างโหดเหี้ยมเริ่มจาก23 ตุลาคมนั้นเอง ไปจนถึง13พฤศจิกายน จึงหยุดยิง  ในการนี้ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสส่งกองเรือรบเข้ามาผสมโรงถล่มจีนด้วย หวังที่จะขอแบ่งเค๊กก้อนใหญ่ จีนเองก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายและพลเรือนจีนต้องเสียชีวิตบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ศึกครั้งนี้ยืดเยื้อข้ามปี ในที่สุดอังกฤษและฝรั่งเศสถือเป็นโอกาสทอง ส่งกำลังทหารเข้าทำลายกรุงปักกิ่งและพระราชวังต้องห้ามอย่างยับเยิน รัฐบาลจีนจึงยอมให้สัตยาบันในการร่างสนธิสัญญาเทียนสินใน พ.ศ.2401



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 12:16

เซอร์ จอห์น เบาวริงเขียนบันทึกถึงพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคืด้วยทัศนคติที่ดี เป็นเหตุหนึ่งที่คนอังกฤษไม่กล้าทำอะไรรุนแรงกับไทยอย่างที่ทำกับจีน ในส่วนที่เขายกย่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯนั้น ผมได้เอ่ยถึงไปบ้างแล้วในกระทู้นี้ ข้อความในหนังสือที่คัดมา เป็นเพียงบทสรุป



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 17 ม.ค. 11, 12:44

อ้างถึง
เซอร์เจมส์ บรุ๊คเข้ามาในสยามเมื่อพ.ศ. 2393  ส่วนเซอร์จอห์น เบาริงเข้ามาหลังจากนั้นอีกแค่ 4 ปี  ในพ.ศ. 2397   ในบันทึก เขาเล่าเมื่อได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯว่า โปรดนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เรื่อง Pickwick Papers   ในพระที่นั่งอิศเรศฯ ก็มีห้องสมุดและตู้หนังสือ   บรรยากาศเหมือนเข้าไปอยู่ในบ้านผู้ดีอังกฤษ   
ถ้าออกปากชมกันขั้นนี้ก็แสดงว่าหนังสืออังกฤษที่ทรงอ่าน มีอยู่มากทีเดียว  ไม่ใช่แค่สิบยี่สิบเล่ม
นอกจากนั้น Pickwick Papers เป็นหนังสือตลก     ตลกชนิดหัวร่อกันงอหายสำหรับฝรั่้งอังกฤษ     เราก็รู้ๆกันว่าเรื่องขำของแต่ละชาติไม่เหมือนกัน   อะไรที่อังกฤษขำ  คนไทยหรือจีนหรืออินเดียอาจจะเฉยๆ ทำนองเดียวกัน   เรื่องขำของคนไทย ฝรั่งก็อาจงงๆก็ได้ว่าไม่เห็นตลกตรงไหน
เพราะฉะนั้นใครอ่านเรื่อง Pickwick Papers แล้วขำได้   ก็ต้องแตกฉานไม่เฉพาะแต่ภาษา แต่เข้าใจวัฒนธรรมฝรั่งด้วย   จะเป็นได้ต่อเมื่อได้ทรงศึกษากับฝรั่งด้วยความเอาพระทัยใส่ทั้งภาษาและวัฒนธรรม และทรงรู้ภาษาขั้นดีทีเดียว     

Pickwick Papers มีให้อ่านได้ในเน็ตค่ะ  อยากรู้ว่าอ่านยากง่ายแค่ไหน  ก็ลองไปหาอ่านดู

มีชาวอังกฤษอีกคนหนึ่ง ชื่อ เฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสพการณ์ชีวิตของตนในสยาม และกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯไว้พอสมควร ลองอ่านดูครับ



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 20 คำสั่ง