เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 59399 " เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 11 ม.ค. 11, 10:12

กระทู้นี้แยกมาจาก “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3700.0

เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า
            คิดบทเกลาไว้เป็นกลอนสุนทรสนอง
            เป็นคติควรดำริห์ขอเชิญตรอง
            ตามทำนองโบราณราชประเพณี

       สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ท่านทรงปฏิบัติพระองค์ตามกลอนพระราชนิพนธ์ คือทรงถือว่า "รองภูมินทร์"   จึงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปกครองแผ่นดิน  อันจะทำให้ระคายเคืองสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้   หากมีผู้ยุแยงตะแคงรั่ว  
      นอกจากนี้  เราก็รู้ๆกันว่าในรัชกาลที่ 4 อำนาจไม่ได้อยู่ที่เจ้านายฝ่ายเดียว แต่อยู่ที่ขุนนางตระกูลใหญ่ด้วย    สิ่งที่วังหน้าทำได้คือสร้างการทหารให้เข้มแข็งไว้เป็นดุลย์อำนาจ  เพื่อป้องกับปรามคนคิดการใหญ่ไปด้วยในตัว

พระราชกรณียกิจที่มีบันทึกไว้ เป็นเรื่องส่วนพระองค์เสียเป็นส่วนใหญ่

พระอัธยาศัยของทั้งสองพระองค์ก็ต่างกัน  สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักวิชาการ  ส่วนสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนักกีฬา     โปรดดนตรีพื้นเมืองอย่างแคน ว่ากันว่าทรงแอ่วลาวได้ไพเราะนัก  

   หากจะกล่าวถึงความ สนิทสนมส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาสมเด็จพระราชอนุชาเสมอ  คราวหนึ่งเสด็จขึ้นไปปิดทองพระพุทธรูปใหญ่วัด พนัญเชิง  ทรงปิดเฉพาะพระพักตร์ เว้นพระศอไว้พระราชทานพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าให้ทรงปิดต่อ   ทั้งสองพระองค์ทรงล้อเลียนกันอย่างสนิทสนม    สมเด็จ๚ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ว่า

   “ผู้อ่านพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ทราบพฤติการณ์แต่ก่อน น่าจะเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นอริต่อกัน ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นที่แท้เกิดแต่ พระอุปนิสัยต่างกัน พระราชนิยมก็ต่างกัน แต่ส่วนพระองค์ทรงรักใคร่ชอบชิดสนิทสนมกัน เพราะเหตุที่กล่าวมาจึงมักตรัสค่อนกันทั้งสองฝ่าย ด้วยถือว่าถึงอีกฝ่ายหนึ่งจะทรงทราบก็ไม่ทรงพระพิโรธ เล่ากันมาว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มักดำรัสเรียกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าพี่ทิดบ้าง พี่เถรบ้าง และตรัสค่อนว่าแก่วัด แต่หากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมิใคร่เขียนลายพระราชหัตถเลขาจึง ไม่ปรากฏคำทรงค่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นลายลักษณ์ อักษร ความซึ่งค่อนกันนั้นก็พึงสังเกตเห็นได้ว่ามิได้เกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมือง”

    มีเรื่องเล่ากันมาว่า วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ส่งชาจีนอย่างดีมาพระราชทาน เพราะทรงทราบว่าพระราชอนุชาโปรดเสวยชารสดี    สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงลองจิบดูแล้วก็มีรับสั่ง ว่า
   “พุทโธ นี่มันชาบังสุกุลนี่นา”
   ที่ตรัสเช่นนั้น ก็เป็นทำนองล้อว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราชเอาชาเก่าๆ ที่ทรงรับประเคนในสมัยที่ยังทรงผนวชมาพระราชทานนั่นเอง

   บรรดาฝรั่งมักจะให้ความนิยมนับถือวังหน้า  เพราะคุณสมบัติของพระองค์อย่างที่เซอร์จอห์น เบาริงกล่าวยกย่องมาแล้ว    หลายคนลงความเห็นตรงกันว่าทรงเป็น "ผู้ดี" เพราะพระองค์มีพระนิสัยสุภาพ โดยเฉพาะกับพระราชชนนี หมอบรัดเล (Bradley) เคยบันทึกไว้ว่า

   “ในระหว่างที่สมเด็จพระ ราชินีตรัสแก่หมอบรัดเลนั้น เจ้าฟ้าน้อยประทับนิ่งมิได้ตรัสประการใดเลย และดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงเกรงกลัวพระราชมารดามากทีเดียว”

    พระราชอัชฌาสัยของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯอีกประการหนึ่งคือไม่โปรดแสดงยศศักดิ์    โดยปกติเมื่อเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าก็เสด็จออกที่โรงรถ ต่อเวลามีการพิธีจึงเสด็จออกท้องพระโรง    ถ้าไม่ใช่ราชการงานเมือง  มักจะเสด็จแต่โดยลำพังพระองค์ บางทีทรงม้าไปกับคนตามเสด็จคนหนึ่งสองคน  มิให้ใครรู้ว่าพระองค์เสด็จ แม้จะเสด็จไปตามวังเจ้านายก็ไม่มีพิธีรีตองล่วงหน้า
    ครั้งหนึ่งที่วังของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เมื่อครั้งบังคับการกรมช่างสิบหมู่  และยังทรงเป็นหม่อมเจ้าอยู่    เวลาค่ำแล้วได้ยินเสียงคนมาร้องเรียกที่ประตูวัง ให้คนเปิดประตูออกมา พบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่วัง พระองค์เจ้าประดิษฐฯ ตกพระทัย ออกไปเชิญเสด็จมาประทับบนหอนั่ง เวลานั้นมีแต่ไต้จุดอยู่ใบหนึ่ง จะเรียกพรมเจียมมาปูรับเสด็จ  พระองค์ก็รับสั่งห้าม   ประทับยองๆ   ดำรัสเรื่องที่โปรดให้ทำสิ่งของถวายไปพลางและทรงเขี่ยไต้ไปพลาง จนเสร็จพระราชธุระ จึงเสด็จกลับไปพระบวรราชวัง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ม.ค. 11, 15:29 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ม.ค. 11, 18:52

       กีฬาที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือทรงม้า  อีกอย่างคือทรงคลี   บางคืนก็โปรดให้ข้าราชบริพารเล่นขี่ม้าซ่อนหา    วิธีเล่นคือมีคน ๒ คน ขี่ม้าสะพายย่ามติ้ว แต่งตัวเหมือนกัน  คนหนึ่งเป็นคนมีติ้ว  อีกคนอยู่โยง   คนขี่ม้าหนีต้องได้ติ้วก่อนจึงจะเข้าโยงได้ ความสนุกอยู่ที่ไม่รู้ได้ว่าม้าไหนเป็นม้าติ้ว และม้าไหนเป็นม้าอยู่โยง เพราะแต่งตัวเหมือนกัน บางทีคนขี่ม้าติ้วแกล้งไล่ ผู้ที่ไม่รู้หลงหนี เลยเข้าโยงไม่ได้ก็มี

       กีฬาอีกอย่างที่ตื่นเต้นไม่แพ้ล่อวัวกระทิงของสเปน คือทรงม้าเข้าล่อช้างตกมัน สมเด็จ๚ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่าครั้งหนึ่งได้ทรงม้าผ่านตัวโปรดขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาสายฟ้าฟาด เข้าล่อช้างพลายแก้ว ซึ่งขึ้นระวางเป็นพลายไฟภัทกัลป์ เวลาตกน้ำมัน พอช้างไล่    ทรงกระทบพระบาทจะให้ม้าวิ่ง ม้าตัวนั้นเป็นม้าเต้นน้อยดีไปเต้นน้อยเสีย เล่ากันว่าวันนั้นหากหมออาจซึ่งเป็นหมอช้างขี่พลายแก้ว เอาขอฟันที่สำคัญเหนี่ยวพลายแก้วไว้อยู่โดยฝีมือ อีกนัยหนึ่งว่าปิดตาช้าง แล้วเบนไปเสียทางอื่นทัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงไม่เป็นอันตราย

   โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่ หัว โปรดกีฬาเกี่ยวกับช้างนี้เองจึงปรากฏว่าได้เคยโปรดให้มีช้างบำรูงา (ช้างปะงา) ขึ้นครั้งหนึ่ง และดูเหมือนว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่มีช้างบำรูงาในเมืองไทย

   นอก จากนี้ยังกล่าวกันว่าโปรดการล่าสัตว์อีกด้วย ดังมีปรากฏอยู่ในบันทึกของหมอบรัดเล ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ตอนหนึ่งว่า “โปรดกีฬาต่างๆเช่นล่าสัตว์ เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากหนังเสือหนังหมีที่ฟอกแล้ว และประดับอยู่ในวังเป็นอันมาก”  แต่ที่แน่นอนก็คือโปรดการท่องเที่ยวไปตามหัวบ้านหัวเมืองทั้งเหนือและใต้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า
    “เป็นเพราะเกิดวัณโรคขึ้น ภายในพระองค์มีพระอาการประชวรเสาะแสะอยู่เสมอ จึงต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมืองเนืองๆ กล่าวกันว่ามักเสด็จไปประทับตามถิ่นที่มีบ้านลาวเสด็จไปประทับที่บ้านสัมปะ ทวน แขวงนครไชยศรีบ้าง ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง แต่ไปประทับที่พระตำหนักบ้านสีเทา จังหวัดสระบุรี เสียโดยมาก
     แท้ที่จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จไปเที่ยวประพาสตามหัวเมืองต่างๆมาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็น กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เพราะทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่าการเสด็จประพาส หัวเมืองเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง ด้วยสามารถจะทรงทราบทุกข์สุขของไพร่ฟ้าประชาชนได้เป็นอย่างดีกว่ารายงานใน กระดาษ

       นอกจากจะโปรดการเสด็จประพาสทางบกเข้าดงพงพีแล้วยังโปรด เสด็จประพาสทางชลมารคอีกด้วย การเสด็จประพาสทางทะเลครั้งสุดท้ายก่อนสวรรคตเห็นจะเป็นการเสด็จประพาสซึ่ง ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า

   “ครั้งมาถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๘ แรม ๙ ค่ำ (วันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๐๓) เวลาเช้า ๕ โมง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยทางชลมารค ไปประพาส ณ เมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองเพชรบุรีออกไปทุกๆเมือง ตลอดเมืองสงขลา วันพุธเดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ (วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๓) ถึงเมืองสงขลา ประทับแรมอยู่ที่ค่ายหลวงเมืองสงขลา ๑๐ ราตรี เสด็จกลับมาแวะเมืองนคร๚ วันเดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ ไปนมัสการพระบรมธาตุแล้วประทับอยู่ที่ค่ายหลวงเมืองนครฯ ๓ ราตรี ครั้น ณ วันเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ เสด็จกลับมากรุงเทพมหานคร”

   โดยเหตุที่พระ บาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาวิชาการและวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ทรงคุ้นเคยกับชาวต่างประเทศมาก ฉะนั้นพระอัธยาศัยบางประการจึงพลอยติดธรรมเนียมฝรั่งไปด้วย เช่น การชักธง กล่าวกันว่าได้ทรงริเริ่มเป็นพระองค์แรกมาตั้งแต่ในรัชกาลที่๓
     แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไม่โปรดฝรั่ง คราวหนึ่งเสด็จมาทอดพระเนตรธงบนยอดเสา ณ พระราชวังเดิมจึงแกล้งรับสั่งว่า

   “นั่นท่านฟ้าน้อย เอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม”

   เมื่อเสด็จประทับพระบวรราชวังแล้ว โปรดให้ตั้งเสาธงสำหรบพระบวรราชวังขึ้น ได้ชักธงพระจุฑามณีเป็นประจำ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ม.ค. 11, 19:00

ป.ล. ช้างบำรูงา ที่ทำเป็นอักษรสีแดงไว้ข้างบนนี้    หมายถึงการฝึกช้างให้รู้จักชนกัน หรือที่เรียกว่ายุทธหัตถี    วิธีคือผูกช้างขาหลังโยงกับเสาตลุง  ให้ประ กับช้างอีกตัวได้แค่ปลายงา  เพื่อกันช้างบาดเจ็บหากปะทะกันถึงตัวจริงๆ   เพราะจะทำให้ช้างเข็ดและไม่กล้าชนช้างเมื่อถึงเวลาออกรบจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 15:46

พระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ที่จะเล่าต่อไปนี้ คือทางด้านการทหาร 
 
พระราชกรณียกิจเรื่องนี้ไม่ได้เริ่มเมื่อทรงเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 4  แต่ย้อนไปถึงรัชกาลที่ 3   ตั้งแต่ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์   ได้เคยเสด็จนำทัพเรือไปตีเมืองญวน   ได้ญวนอพยพติดตามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยาม   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามเสน  อย่างที่เรารู้จักกันว่า บ้านญวนสามเสน
จากนั้น ก็โปรดเกล้าฯให้ทรงควบคุมทหาร  หัดทหารปืนใหญ่ไว้รับราชการ    ในเมื่อปืนใหญ่เป็นอาวุธฝรั่ง       สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีมาก่อนจนแตกฉานในภาษานี้ พอจะแปลตำราปืนใหญ่ได้   ก็ทรงนำชาวญวนอพยพที่ว่ามาหัดเป็นทหาร  เป็นชุดแรกก่อนชุดอื่นๆที่จะตามมาภายหลัง
ส่วนหนังสือก็ทรงแปลขึ้น เพื่อใช้เป็นตำราปืนใหญ่ฝึกทหาร   เมื่อพ.ศ. 2384
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:27

ตำราปืนใหญ่ประกอบไปด้วย ๓ บท

๑. ตำนานปืนใหญ่

๒. ตำรายิงปืนใหญ่รบกาลแปลง

๓. ตำรายิงปืนป้อมและยิงเรือรบ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:36

เป็นที่น่าสนใจมากครับ ว่าในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงครองราชย์อยู่นั้น เจ้าฟ้ามงกุฎก็ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวร และธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ แต่เจ้าฟ้าน้อย ท่านทรงทำสิ่งไรไว้บ้าง  ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:36

ถูกปาดเสียแล้ว  ยิงฟันยิ้ม

มีของแท้มาโชว์เหมือนกันค่ะ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:45

 อายจัง

จะกล่าวถึงพระอัจฉริยภาพด้านความรู้ภาษาอังกฤษของพระองค์ ซึ่งได้ทรงแปลตำราปืนใหญ่ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ โดยกล่าวถึงประวัติปืนใหญ่และประวัติของปืนใหญ่ตั้งแต่อดีตและมีการฝึกทหารอีกด้วย ทั้งนี้ทรงแปลภาษาไทย และกำกับภาษาอังกฤษไว้พร้อมกัน เช่น ปืนม่อตา (Mortar) ทรงแปลว่า "ปืนครก" หรือ ปืนซันแดะ (Thunder) แปลว่าฟ้าร้อง อีกทั้งเทคนิคการหล่อปืนใหญ่แบบไทย ซึ่งมีการวางอาคมไว้ด้วย


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 17:01

พระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ที่จะเล่าต่อไปนี้ คือทางด้านการทหาร 
 
พระราชกรณียกิจเรื่องนี้ไม่ได้เริ่มเมื่อทรงเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 4  แต่ย้อนไปถึงรัชกาลที่ 3   ตั้งแต่ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์   ได้เคยเสด็จนำทัพเรือไปตีเมืองญวน   ได้ญวนอพยพติดตามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยาม   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามเสน  อย่างที่เรารู้จักกันว่า บ้านญวนสามเสน จากนั้น ก็โปรดเกล้าฯให้ทรงควบคุมทหาร  หัดทหารปืนใหญ่ไว้รับราชการ    ในเมื่อปืนใหญ่เป็นอาวุธฝรั่ง       สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีมาก่อนจนแตกฉานในภาษานี้ พอจะแปลตำราปืนใหญ่ได้   ก็ทรงนำชาวญวนอพยพที่ว่ามาหัดเป็นทหาร  เป็นชุดแรกก่อนชุดอื่นๆที่จะตามมาภายหลัง
ส่วนหนังสือก็ทรงแปลขึ้น เพื่อใช้เป็นตำราปืนใหญ่ฝึกทหาร   เมื่อพ.ศ. 2384

ทำไมรัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวญวนที่อพยพติดตาม
ทัพสมเด็จพระเจ้าน้องเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เข้ามา 
ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามเสนล่ะครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 17:23

คุณ siamese ช่วยตอบหน่อยซีคะ  มีอยู่ในกระทู้เก่าไม่ใช่หรือ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 17:35

ประวัติปืนใหญ่  อีกหน้าหนึ่ง 
ตั้งใจจะสแกนหน้า 2  แต่สแกนผิดเป็นหน้า 3  ก็เลยขอให้ดูหน้า 3 แทนนะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 17:45

บทที่ 2   ทำเนียบนามปืนใหญ่  เป็นนามพระราชทานคล้องจองกันตลอด  อ่านแล้วเพลิดเพลิน
ชื่อที่ 1-10 เป็นชื่อคนชนชาติ หรือเชื้อชาติต่างๆที่อยู่ในสยามในยุคนั้น   

ขอมดำดิน
จีนสาวไส้
ไทยใหญ่เล่นหน้า
ชวารำกฤช
มุหงิดทะลวงฟัน
มักสันแหกค่าย
ฝรั่งรายปืนแม่น
แมนแทงทวน
ญวนง่าง้าว
ลาวตีคลี

คำว่ามุหงิด   เมื่ออ่านเข้าใจว่าหมายถึงชนชาติมลายู   แต่รอยอินชี้เฉพาะลงไปอีกว่า  น. ชื่อชนชาติชวามลายูในเกาะเซลีเบส, เรียกเพี้ยนเสียงเป็น ยุหงิด ก็มี.

คำที่ 8  แมนแทงทวน   รอยอินเก็บความหมายคำว่า "แมน" ไว้ ว่า เทวดา  แต่ในที่นี้เห็นจะไม่ได้หมายความถึงเทวดาเป็นเชื้อชาติไหน ใครรู้บ้างคะ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 18:00

มาเป็นมวยแทนตอบเรื่องญวน ระหว่างรอคิวต่อจากเรื่องปืนใหญ่ครับ
(เอามาจากเวปของกรุงเทพมหานครครับ ไม่ได้เขียนขึ้นเอง)


ความเป็นมาของชุมชนบ้านญวน สามเสน

หมู่บ้านสามเสน มีวิวัฒนาการมาจากการอยู่รวมกันของผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชาว โปรตุเกส ชาวเขมร และชาวญวนสำหรับชาวโปรตุเกสและชาวเขมรนั้นอยู่รวมกันจนกลายเป็น ชนกลุ่มเดียวกัน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในส่วนที่เรียกว่า "บ้านเขมร" ส่วนชาวญวนอยู่ด้านนอกถัดออก มาเรียกว่า "บ้านญวน" โดยมีคลองเป็นเส้นแบ่งเขต (ปัจจุบันถมเป็นถนนหมดแล้ว ดูแผนที่ ประกอบ) มีอาณาเขต ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตรา กฏหมายขึ้น เมื่อพ.ศ. 2452 ยกเนื้อที่ของสองหมู่บ้านให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซังโรมันคาทอลิก มีขอบเขตดังนี้
ทิศเหนือ มีคลองบ้านญวนเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองจนถึงเขตถนนสามเสนยาว 12 เส้น 4 วา
ทิศตะวันออก มีเส้นห่างจากขอบถนนสามเสนไปทางตะวันตก 6 วา เป็นเขตตั้งแต่ คลองบ้านญวนจนถึงคลองวัดราชาธิวาสยาว 6 เส้น 5 วา
ทิศใต้ มีคลองวัดราชาธิวาสเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองวัดราชธิวาสไปจรดถนนสามเสน ยาว 12 เส้น
ทิศตะวันตก มีฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองบ้านญวนฝั่งใต้จรดปาก คลองวัดราชาธิวาสฝั่งเหนือยาว 6 เส้น 19 วา
รวมเนื้อที่พระราชทาน 68 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา (วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ 2527:37)
 
ชุมชนบ้านญวน สามเสน เกิดขึ้นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด เกล้าฯ ให้ชาวญวนที่ติดตามกองทัพไทยเข้ามา เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ยกกองทัพไปทำสงคราม ขับไล่ญวนออกจากเขมรเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2376 (พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี ทรงเป็นแม่ทัพเรือ)โดยทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดส้มเกลี้ยงเหนือบ้านเขมร เพราะนับถือศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เช่นเดียวกับชาวเขมรที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินสวนแปลงใหญ่ใกล้เคียงกัน พระราชทานให้เป็นที่อยู่อาศัย พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างโปสถ์หลังแรกขึ้น ชื่อว่า" วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์" เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ ต่อมา พ.ศ. 2410 เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า "วัดนักบุญฟรังซีสเซเวียร์" ตามชื่อของท่านนักบุญฟรังซีสเซเวียร์ ซึ่งมีพระรูปของท่านประดิษฐานอยู่ในโบสถ์จนถึงปัจจุบัน
วัดนักบุญฟรังซีสเชเวียร์ ถือเป็นศูนย์รวมของชุมชนชาวญวนเป็นองค์กรที่สร้างความ ผูกพันในหมู่ชาวญวนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาโดยตลอด ทำให้สามารถรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีสืบเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน


วิถีชีวิตของชุมชนบ้านญวน สามเสน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีนโยบายในการจัดที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวญวนที่ เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แยกกันอยู่โดยถือหลักสองประการคือ แยกกันอยู่ตามศาสนาที่นับถือและ แยกกันอยู่ตามสาเหตุที่อพยพเข้ามา ชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์และติดตามกองทัพไทยเข้ามา ตามคำชักชวนของคนในกองทัพไทย ให้ไปอยู่รวมกับชาวเขมรและคนเชื้อสายโปรตุเกส ที่นับถือ ศาสนาคริสต์ ซึ่งอยู่มาก่อนที่ตำบลสามเสน เรียก "กองญวนสวามิภักดิ์" ส่วนชาวญวนที่นับถือ ศาสนาพุทธนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ที่ตำบลบางโพ (รวมกับชาวญวนพุทธเก่าที่เข้ามาตั้งแต่ครั้ง รัชกาลที่ 1 ) และที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม (บริเวณเชิงสะพานขาว) พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ ถูกกวาดต้อนมาจากสงครามไทยรบเวียดนาม (พ.ศ. 2376 - 2390 ) ชาวญวนกลุ่มนี้เรียก "กองญวนอาสารบ" การแยกกลุ่มเช่นนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการควบคุมและปกครอง

ชาวญวนทั้งสองกลุ่มนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้อยู่ในบังคับ บัญชาของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โดยชาวญวนที่สามเสนนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สักข้อมือว่า "ญวนสวามิภักดิ์" ให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระยาวิเศษ สงครามรามภักดี ซึ่งเป็นหัวหน้าชาวเขมรที่ตำบลสามเสน และให้เข้ารับราชการสังกัด "กรม ทหารปืนใหญ่" ทั้งหมด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 18:07

ในกระทู้เดิมของผม เรื่องสายสกุลจีนของเจ้าคุณจอมมารดาเอม เคยเขียนไว้ว่า หลังจากที่องเชียงสือนำเรือหนีออกไปจากพระนครได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงกริ้วพวกชาวญวนมาก ทรงไม่ไว้พระราชหฤทัยให้อยู่ในพระนครอีก โดยโปรดให้อพยพครัวญวณทั้งหมดจากแถวท่าเตียน ไปอยู่ที่สามเสน เหนือน้ำไกลกำแพงเมืองกรุงเทพออกไปให้มากหน่อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 18:28

สวัสดีค่ะคุณ Navarat.C  ขอบคุณที่ช่วยตอบ  

เป็นที่น่าสนใจมากครับ ว่าในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงครองราชย์อยู่นั้น เจ้าฟ้ามงกุฎก็ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวร และธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ แต่เจ้าฟ้าน้อย ท่านทรงทำสิ่งไรไว้บ้าง  ฮืม

ในรัชกาลที่ 3  ไทยรบกับศึกหลายด้าน   ทางตะวันออกคือญวน   รบกันหลายปี ไทยได้กัมพูชาคืนมา
ส่วนทางใต้  ไทรบุรีเป็นขบถขึ้นมา 2 ครั้ง  ไทยส่งกองทัพไปปราบ  ทำให้ไปกระเทือนอังกฤษเข้าด้วย  สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงวิตกว่า ถ้าญวนและ/หรืออังกฤษบุกมาทางทะเล  ก็คงผ่านเข้าปากอ่าวมาถึงกรุงเทพได้เลย เพราะไม่มีป้อมปราการแข็งแรงพอจะเป็นด่านกั้นไว้   จึงโปรดให้สร้างป้อมปราการเพิ่มเติมที่สมุทรปราการและนครเขื่อนขันธ์(พระประแดง)    นอกจากนี้ก็เพิ่มเติมป้อมปากน้ำขึ้นอีกที่ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร  สมุทรสงคราม  จันทบุรีและสงขลา
พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (หรือสมเด็จพระปิ่นเกล้า) รับพระบรมราชโองการเป็นแม่กองจัดแจงหัด  ฝึกหัดทหารปืนใหญ่ในเมืองหลวง และทุกเดือนก็ไปใส่ดินยิงปืนใหญ่ที่นครเขื่อนขัณฑ์

ส่วนปืนใหญ่ในตอนนั้นหาซื้อจากต่างประเทศมาได้ไม่ทันการ  สมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงโปรดฯให้ช่างมาฝึกหัดหล่อปืนใหญ่เป็นปืนเหล็ก    นำไปจากกรุงเทพ   ทหารประจำป้อมปืน  จะเอาจากทหารประจำป้อมตามปกติ ทรงเห็นว่าไม่พอ   ก็ทรงให้เกณฑ์ขุนหมื่นในกรมต่างๆทั้งทหารและพลเรือน ผลัดเปลี่ยนเวรมาฝึกหัดยิงปืนใหญ่ไว้สำรองราชการ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 20 คำสั่ง