เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13
  พิมพ์  
อ่าน: 59391 " เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 22:43

do มีความหมายว่า "เหมือนข้างต้น" ครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 23:25

ย่อมาจาก ditto น่ะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 08:34

ขอบคุณค่ะ   เหมือนเครื่องหมาย "  ในช่อง when built น่ะเอง
คุณม้า ดิฉันเคยใช้ ditto  ก่อนยุคซีรอกซ์  เพิ่งรู้ความหมายของคำว่า ditto เดี๋ยวนี้เอง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 08:58

อ.เทาชมพู ตั้งหัวข้อกระทู้นี้ "เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า" ได้เพราะนัก จึงได้พบว่าเป็นเพลงยาวในพระบวรนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ผมจึงขอคัดลอกเพลงยาวลงมาให้อ่านกันอย่างเต็มบท ครับ

"เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า   คิดบทเกลาไว้เป็นกลอนสุนทรสนอง
เป็นคติควรดิริห์ขอเชิญตรอง   ตามทำนองโบราณราชประเพณี
แม้ผู้ใดใครเป็นข้าราชกิจ      อย่าห่อนคิดถือโกรธเท่าเกษี
ถึงจะต้องราชทัณฑ์สักพันที   ก็ควรที่รับผิดอย่าคิดโกง
อีกข้อหนึ่งอย่าพึงทำบาปมาก   รู้สิ่งใดแล้วอย่าอยากพูดโผงโผง
ความข้างในออกไปนอกออกตะโกรง   จะชักโยงหักใจอย่าได้ทำ
อันปากบอนนี้เป็นการพานชั่วมาก   พอใจอยากชอบพอในข้อขำ
จะได้คิดยอกย้อนบอนระยำ   เหมาะหมายทำการชอบมอบกายา
ต้องคิดไปจึงจะได้เห็นว่าผิด   ความชั่วนั้นมันจะติดเพราะอิจฉา
วิสัยคนปากคันอกตัญญุตา   ไม่ซื่อต่อภัสดาที่ชื่นเชย
ถึงผู้ใดจักไปเลี้ยงดูเล่า      ชั่วของเจ้าเขาไม่ลืมดอกน้องเอ๋ย
ใครคิดร้ายต่อสามีไม่ดีเลย   อย่าเชือนเฉยตรึกตรองไว้ลองดู
นางโมราฆ่าพระจันทโครพ   ความไม่จบฦาเล่าจนเข้าหู
ควรจะจำใส่ใจไว้เป็นครู      จะได้รู้ชั่วเช่นไว้เป็นตรา
จงรำฦกนึกดูเมื่ออยู่บ้าน      เคยสำราญเป็นไฉนอย่างไรหนา
คนทั้งหลายเขาก็เรียกตามฉายา   ที่มีมาว่าอีนี่อีนั่นไป
ประเดี๋ยวนี้คนทั้งนั้นก็หันกลับ   มาคำนับว่าคุณจอมหม่อมฉันไหว้
มีวาสนาเหมาะเจาะขึ้นเพราะใคร   เหตุไฉนลืมคุณการุณา

อันตัวเรานี้ก็รองพระจอมเกล้า   เป็นปิ่นเกล้าในสยามภาษา
มียศศักดิ์ประจักษ์ทั่วทุกภารา   พระทรงธรรม์กรุณาชุบเลี้ยงเรา
ถึงใครใครที่จะตกมาเป็นห้าม   ไม่มีความขายหน้าดอกหนาเจ้า
เสียแต่ไม่ฉายเฉิดเพริศพริ้งเพรา   เพราะแก่เถ้าหงุบหงับไม่ฉับไว
ถ้าจะว่าไปจริงทุกสิ่งสิ้น      ก็พอกินตามแก่แก้ขัดได้
ฤาน้ำจิตต์คิดเห็นเป็นอย่างไร   จึงมิได้ปลงรักสักเวลา
การสิ่งใดที่ไม่ดีเรามิชอบ   อ้อนวอนปลอบจงจำอย่าทำหนา
ก็ไม่ฟังขืนขัดอัธยา      ยิ่งกับว่าตอไม้ไม่ไหวติง
ที่ข้อใหญ่ชี้ให้เห็นเรื่องเล่นเพื่อน   ทำให้เฟือนราชกิจผิดทุกสิ่ง
ถ้าจะเปรียบเนื้อความไปตามจริง   เสมอหญิงเล่นชู้จากสามี
นี่หากวังมีกำแพงแข็งแรงรอบ   เป็นคันขอบดุจเขื่อนคีรีศรี
ถ้าหาไม่เจ้าจอมหม่อมเหล่านี้   จะไปเล่นจ้ำจี้กับชายเอยฯ"
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 11:06

ในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ ได้บันทึกไว้ว่า หลวงสิทธิ์นายเวร สนใจในการศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง เป็นนายช่างไทยคนแรกผู้สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้
ท่านได้ต่อเรือกำปั่นรบ เรียกว่าเรือกำปั่นบริค ลำแรกเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โปรดพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" (แต่ฝรั่งเรียกว่า เรืออาเรียล)
และได้ต่อเรือรบอีกหลายลำมีน้ำหนักถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ ตัน สำหรับลำเลียง ทหารไปรบกับญวน ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๘

ได้ต่อเรือขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อว่า "ระบิลบัวแก้ว" (ภาษาอังกฤษว่า คองเคอเรอ) ซึ่งใหญ่กว่าเรือลำแรก
ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างอู่ต่อเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพ ฯ หลายอู่ เรือกำปั่นลำแรกที่ต่อเสร็จในอู่กรุงเทพฯ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า เรือแคลิโดเนีย เป็นเรือที่ต่อค้างจากจันทบุรี
หลวงนายสิทธิ ได้นำมาต่อเพิ่มเติมจนแล้วเสร็จในอู่กรุงเทพ ฯ เมื่อต่อเรือลำนี้เสร็จ โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้หลวงนายสิทธิ เป็นช่างต่อเรือหลวงและเป็นผู้บัญชาการอู่หลวง

ปี พ.ศ. ๒๓๗๙ หลวงนายสิทธิได้ต่อเรือกำปั่นเสร็จอีก ๔ ลำ ได้แก่ เรือรบวิทยาคม เรือรบวัฒนานาม (แอโร) เรือจินดาดวงแก้ว (ประเภทเรือบาร์ก ชื่อว่า ซักเซส) เรือลำที่สี่ชื่อ เทพโกสินทร์ (ประเภทเรือชิป ซึ่งเป็นเรือของแม่ทัพหน้าคราวยกไปตีเมืองบันทายมาศ) เนื่องจากมีเรือกำปั่นใบแบบฝรั่งหลายลำ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศ มาช่วยฝึกสอนวิชาเดินเรือให้แก่คนไทย ใน พ.ศ. ๒๓๘๐ โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวอังกฤษชื่อ กัปตันทริกซ์ มาสอนวิชาเดินเรือทั้งเรือรบและเรือเดินสินค้า ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ หลวงนายสิทธิได้สร้างเรือกำปั่นแบบฝรั่งขึ้นอีกหลายลำ ได้แก่ เรือราชฤทธิ (พ.ศ. ๒๓๘๔) เรือสยามภพ (พ.ศ. ๒๓๘๕) เรือโผนเผ่นทะเล (พ.ศ. ๒๓๙๒) และเรือจรจบชล (พ.ศ. ๒๓๙๓)


และจากที่คุณหนุ่มสยาม  นำมาลงไว้ใน คคค. ๑๖๐ (ขออนุญาตนำมาลงอีกครั้ง จะได้ดูได้สะดวก)


จะเห็นได้ว่า
เรือแกล้วกลางสมุทร ( Klaao klang samoot - Ariel)   
เรือวัฒนานาม  (Wattana nam – Arrow) 
เรือจินดาดวงแก้ว  (Chinda dooang kaao – Success) 
เรือสยามภพ  (Sayam pipop – Favorite) 
เรือโผนเผ่นทะเล  (Pon pen tale – Celerity)
เรือจรจบชล (Chawn chap chon – Wanderer)   
ซึ่งเป็นเรือที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค เมื่อครั้งเป็นหลวงนายสิทธิ์ และจมื่นไวยวรนาถ ในรัชกาลที่ ๓ ได้ต่อขึ้น  ยังใช้การได้จนถึงในรัชกาลที่ ๔ (๑๘๖๑-๑๘๖๒ หรือ ๒๔๐๔-๒๔๐๕)

ปีที่สร้างตรงกับที่ผมเคยว่าไว้  ยกเว้น เรือโผนเผ่นทะเล  (Pon pen tale – Celerity) ที่ผมลงไว้ว่า  ๒๓๙๒ (๑๘๔๙)  แต่ในบางกอกคาเลนดาว่า ๒๓๘๙ (๑๘๔๖)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 11:32

อ.เทาชมพู ตั้งหัวข้อกระทู้นี้ "เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า" ได้เพราะนัก จึงได้พบว่าเป็นเพลงยาวในพระบวรนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ผมจึงขอคัดลอกเพลงยาวลงมาให้อ่านกันอย่างเต็มบท ครับ

คุณ siamese กางใบแล่นไปถึงพระบวรนิพนธ์เสียแล้ว    ดิฉันตามไม่ทัน  ยังมัวนับเรือในรายการที่คุณเอามาลงอยู่ค่ะ
นอกจากเรือ bark  schooner ฯลฯ แล้ว ยังมีอีกอย่างคือ brig   เป็นเรือเสากระโดงคู่   คุณสมบัติแล่นเร็ว   ใช้ได้ทั้งเป็นเรือรบและเรือการค้า ก็เลยนิยมกันมากในสมัยนั้น
เรือบริก  ตกอับไปตั้งแต่มีเรือกลไฟเข้ามาแทนที่  ข้อเสียเปรียบคือต้องใช้ลูกเรือมาก  และถ้าเจอลมแรงก็บังคับทิศทางได้ยาก


เรือออกทะเลในอ่าวไทย และพ้นอ่าวไทยไปถึงอาณาจักรข้างเคียง คงจะชักนำจินตนาการของกวีให้บรรเจิด   
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯโปรด "ลองทะเล"   ข้าราชบริพารอย่างพระศรีสุนทรโวหารภู่ น่าจะเคยตามเสด็จ   สมัยนั้นคงโก้พอๆกับนั่งเครื่องบินไปลงเรือเดินสมุทรเที่ยวอลาสก้าสมัยนี้   
เรือสวยๆทันสมัยพวกนี้คงเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของประชาชนกรุงเทพ  สุนทรภู่น่าจะเคยนั่งเรือบริก เรือบ๊าค  เรือสกูเนอร์ ออกชมทะเลในอ่าวไทย หรือเคยโดยสารเรือพาณิชน์ของเจ้าสัวท่านใดท่านหนึ่ง ออกนอกอ่าวไทยไปค้าขายในประเทศใกล้ๆมาแล้ว   ถึงได้มีฉากทะเลในพระอภัยมณีเป็นฉากหลัก  แทนที่จะเป็นฉากป่าเขาลำเนาไพรอย่างขุนช้างขุนแผนในรัชกาลที่ ๒ และ ๓ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 14:12

โปรดสังเกตวงกลมสีแดง  ในรูปข้างล่าง
เป็นบันทึกถึงวาระสุดท้ายของเรือ ว่า เรือพระที่นั่งหลายลำ สูญหาย ถูกเผา หรือชำรุดเสียหาย    ในค.ศ. ต่างๆกัน  ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 22 ม.ค. 11, 11:33

เผอิญหนังสือพิมพ์บางกอกคาเลนดาไม่มีศักยภาพในการหาข่าว เหมือนหนังสือพิมพ์อเมริกันแท้ๆเสียด้วย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 22 ม.ค. 11, 11:51

ค่อยยังชั่วหน่อย  กระทู้ยังเดิน   นึกว่าจะต้องถามเองตอบเองคนเดียวเสียแล้วซีคะ    ยิงฟันยิ้ม
ขาประจำเฮโลไปกระทู้ "ภาพและเรื่องสมัยรัชกาลที่๕ ได้มาใหม่จากเวปฝรั่งเศส" กันหมด   ไม่ถึง ๒๔ ช.ม.  กระทู้โน้นวิ่งไป ๓ หน้าแล้ว  ยิ้มเท่ห์
ตอนนี้ข้างตัวมีหนังสือ Siam Glory  สมุดภาพสมัยรัชกาลที่ ๕  กับ หนังสือ ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง   เพิ่งได้มา  อ่านจบเมื่อไรคงมีเรื่องไปแจมที่กระทู้โน้น

เป็นอันรู้ตอนจบของเรือหลวงหลายลำ
เรือ Neptune  ไฟไหม้
เรือ Sea Flower สูญหาย
เรือ Victory   พัง หมดสภาพ
เรือ Sir Walter Scott สูญหาย
เรือราชรังษี   Sea Horse  ไฟไหม้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 22 ม.ค. 11, 13:47

เอาเรือกำปั่นไฟของเจ้าสัวมีชื่อ (แต่ชื่ออะไรมิทราบ) มาให้ชม

ก็คือเรือสำเภาเช่นที่ชำนาญในการต่อด้วยไม้ตะเคียนทองมาแต่ดั้งเดิมน่ะครับ ติดเครื่องเข้าไป พอให้วิ่งต่อได้ในยามลมฟ้าอากาศไม่อำนวย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 22 ม.ค. 11, 13:53

ส่วนเรือพระที่นั่งลำนี้ชื่อ "อรรคราชวรเดช" ไม่ยักปรากฏในสมุดทะเบียนของบางกอกคาเลนดา

แต่เป็นเรือพระที่นั่งสำคัญที่ใช้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ เป็นเหตุให้ทรงได้รับเชื้อไข้ป่า ประชวรหนักเมื่อถึงกรุงเทพ และเสด็จสวรรคตในระยะเวลาอันสั้น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 22 ม.ค. 11, 16:48

หมดภูมิรู้เรื่องเรือแล้วค่ะ
ขอนำเรื่องที่ค้างอยู่ตั้งแต่กระทู้พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์มาเล่าอีกที

สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงมีพระสนมที่โปรดปรานท่านหนึ่งชื่อเจ้าจอมมารดากลีบ มีพระองค์เจ้าหลายพระองค์ รวมทั้งพระองค์เจ้าเปียที่เซอร์จอห์น เบาริง บันทึกไว้ด้วย
นอกจากเป็นเจ้าจอมมารดาที่ถูกพระราชหฤทัย    ท่านคงทำกับข้าวเก่งอีกด้วย  จึงได้เป็นนายห้องเครื่อง คือเป็นหัวหน้าห้องครัววังหน้า ด้วย  แปลว่าอาหารการกินทั้งหลาย โดยเฉพาะของเสวย อยู่ในความควบคุมดูแลของท่าน

"เมื่อปีระกา (พ.ศ.๒๔๐๔) นั้น มีผู้กระซิบทูล (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)ว่า เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์ยาแฝด จึงได้โปรดฯให้พระยาพิไชยบุรินทรา  พระยามณเฑียรบาล ตุลาการหรือสมัยนั้นเรียกว่าตระลาการในพระบวรราชวังชำระความ
พวกครั้งนั้นตระลาการเห็นว่า พระอัธยาศัยไม่สู้กริ้วนัก  ขอตีความว่าอาจจะทรงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง    แต่มีผู้ทูลฟ้องก็ต้องสอบสวนไปตามระเบียบ   ก็ชำระแต่พอเป็นพิธี   ก็มิได้ความจริง
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เพื่อตัดข้อครหานินทา จึงทรงปลดเจ้าจอมมารดากลีบจากตำแหน่ง  ให้พระยาราชโยธา เข้ามากำกับเป็นนายเครื่อง เครื่องนั้นโปรดฯให้พวกพ่อครัวผู้ชายทำ   แต่พวกนี้คงทำไม่ถูกปาก   เมื่อทรงพระประชวรไม่สบาย เสวยพระกระยาหารไม่ได้ ก็ทรงคิดถึงแม่ครัวคนเก่า  อยากจะเสวยฝีมือเจ้าจอมมารดากลีบอีกครั้ง  
พวกขุนนางวังหน้า ดูออก พระยาพิไชยบุรินทรา  หลวงเสนาพลสิทธิ์  หลวงเพชรชลาลัย  จมื่นศรีบริรักษ์ จ่าการประกอบกิจ  ท้าวพิพัฒนโภชา  (แย้ม) ผู้ช่วย  ขำภรรยาพระพรหมธิบาล (เสม) จึงเข้าชื่อกัน ทำเรื่องราวรับประกันกลีบมารดา ถ้าเป็นผู้ทำเสน่ห์ยาแฝดแน่แท้แล้วหรือกลับทำใหม่อีก ก็ให้เอาโทษผู้นายประกันถึงสิ้นชีวิตคือยอมเอาหัวเป็นประกันว่าเจ้าจอมมารดากลีบไม่ได้ทำเสน่ห์  

ทรงทราบทัณฑ์บนดังนั้นแล้วก็โปรดฯให้เจ้าจอมมารดากลีบเข้ามาทำเครื่องเสวยตามเดิม        
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 23 ม.ค. 11, 10:33

        เมื่อเจ้าจอมมารดากลีบกลับเข้ามาทำพระกระยาหารถวายเหมือนเดิม   พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าก็เริ่มประชวร   หมอถวายยารักษาเท่าไรก็ไม่หาย   เป็นเรื้อรังมาถึง ๕ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๔-๒๔๐๘ ซึ่งตลอดเวลา เจ้าจอมมารดากลีบเป็นนายห้องเครื่อง ผู้ทำเครื่องถวาย
        พระโรคที่ประชวรคือวัณโรค   เป็นโรคร้ายไม่มียารักษาหาย   พอๆกับมะเร็งสมัยนี้    แต่หมอวังหน้าก็เก่ง ประคับประคองไว้ได้ถึง ๕ ปี  พระวรกายซูบผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก   ในตอนปลายที่ประชวรหนัก  เรื่องเดิมของเจ้าจอมมารดากลีบก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
         ในพระราชพงศาวดารบันทึกเรื่องราวไว้ว่า
        "ครั้นต่อมาถึงเดือน ๑ ปีฉลู (พ.ศ.๒๔๐๘) ทรงพระประชวรมากไป กลีบมารดาทำเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยวให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเสวยได้ ๒ ฉลองพระหัตถ์ ทรงเห็นเป็นขนอยู่ในชามพระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว"
        พงศาวดารไม่ได้บันทึกว่าเมื่อทรงเห็น "เป็นขน" แล้ว สืบสาวราวเรื่องขึ้นมา  หรือปล่อยไว้เฉยๆ  แต่คิดว่าน่าจะมีการทำอะไรสักอย่าง คงไม่ปล่อยไว้อย่างนั้น   พงศาวดารมาบันทึกอีกที ก็เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปประมาณ ๑ เดือน
        "ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จฯขึ้นไปเยี่ยมประชวร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงกราบบังคมทูลว่า ทรงประชวร ครั้งนี้ มีความสงสัยในกลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจึงทรงประชวรมากไป ขอรับพระราชทานข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวัง เป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยามณเฑียรบาล พระยาอนุชิตชาญไชย พระยาบริรักษราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระพรหมธิบาลพระพรหมสุรินทร์ เป็นตระลาการชำระ"
        สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ท่านไม่เอาตระลาการวังหน้ามาชำระอีกแล้ว คงจะไม่ไว้วางพระทัย หรือไม่ก็โดนขังกันไปทั้งชุดเลย   เพราะชำระครั้งก่อนตัดสินว่าไม่ผิด   ท่านทูลขอตระลาการจากวังหลวงมาทั้งชุด  ชุดใหม่นี้ก็สอบสวนทำคดี ตัดสินออกมาว่าทำเสน่ห์ยาแฝดจริง   สืบได้ด้วยว่ามีใครเป็นผู้สอนให้ทำ   คือ "อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง อ้ายโสม  เป็นครู"       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 23 ม.ค. 11, 10:34

 
         เมื่อได้ความ จึงให้ลูกขุนปรึกษาโทษว่า กลีบมารดา มีพระองค์เจ้าถึง ๑๒ พระองค์ ไม่มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณมาคิดทรยศ         อนึ่งอ้ายช้าง อ้ายโสม อ้ายขนานแดง ผู้เป็นครู น้อย แย้ม ขำ จ่าการประกอบกิจ ซึ่งเป็นญาติและรู้เห็นด้วย รวมทั้งสิ้น ๘ คน (ทั้ง ๘ คนนี้) ให้รับราชบาตรลงพระราชอาชญาเฆี่ยน แล้วให้ไปประหารชีวิตเสีย แต่พระยาพิไชยบุรินทรา จมื่นศรีบริรักษ์ หลวงเสนาพลสิทธิ์ เป็นแต่นายประกันทำตามพระราชอัธยาศัย ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ให้ถอดเสียจากที่ลงพระราชอาชญาจึงส่งไปคุก
        ยังอ้ายจันชุม อียา อีสุข อีอ่วม อีสุด อีป้อมก้อน อียิ้มแก้ว อีหนู ไม่ได้เป็นบ่าวทาส มารับอาสาให้กลีบมารดาใช้ และรู้เห็นด้วย ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วส่งไปจำไว้ ณ คุก
        ครั้นลูกขุนปรึกษาโทษแล้ว ก็ทรงพระประชวรหนักลงถึงสวรรคต"


        ตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯให้ตระลาการชำระ (วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๐๔) ถึงวันสวรรคต (วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๐๘) เป็นเวลาเพียง ๑๙ วัน คนโทษเหล่านี้จึงยังไม่ทันรับพระราชอาญา เพียงแต่จำคุกเอาไว้ก่อน
        จากนั้นเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว          พระราชพงศาวดาร เก็บความเรื่องนี้ถึงตอนจบว่า
       "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระราชดำริ สงสัยคลางแคลงอยู่ว่าการจะไม่จริง จึงทรงพระราชหัตถเลขาให้เนรเทศกลีบมารดา และญาติคือท้าวพิพัฒน์โภชา และขำ ภรรยาพระพรหมธิบาล ซึ่งเป็นญาติของเจ้าจอมมารดากลีบ-จุลลดาฯ ไปอยู่เสียเมืองสุโขทัย อ้ายโสม อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง หมอ ให้ส่งไปจำคุก จ่าการประกอบกิจ กับน้อย โปรดฯให้ยกโทษเสียปล่อยไป ส่วนพระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ จมื่นศรีบริรักษ์ ก็โปรดฯให้พ้นจากเวรจำ มิได้ตั้งขึ้นรับราชการอีก"
       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 23 ม.ค. 11, 10:34

คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ วิจารณ์ไว้ว่า

        "ทั้ง ๓ ท่านนี้ หากพิจารณาแล้ว ดูๆก็น่าสงสารอยู่ไม่น้อย เพราะที่กล้าเสี่ยงเอาชีวิตเข้าประกันก็ด้วยจงรักภักดีต่อเจ้านาย สงสารว่าท่านเสวยพระกระยาหารไม่ได้ แต่กลับมาพลอยต้องโทษ หรือบางทีอาจเป็นด้วยท่านคุ้นเคยนับถือกันกับเจ้าจอมมารดากลีบ ก็เป็นได้ เพราะเจ้าจอมมารดากลีบเป็นพระสนมเอกแต่ผู้เดียวที่ได้ขึ้นเฝ้าอยู่บนพระที่ นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งธรรมดาแล้ว โปรดประทับอย่างฝรั่ง มี 'บ๋อย' ผู้ชายเฝ้ารับใช้
       ในพระราชพงศาวดาร ที่เรียกเจ้าจอมมารดากลีบว่า 'กลีบมารดา' นั้น เพราะเมื่อต้องโทษ ยศศักดิ์ก็ต้องถูกถอด 'เจ้าจอมมารดา' ถือว่าเป็นยศศักดิ์ เมื่อเรียก จึงเรียกแต่ 'กลีบมารดา' ตัดคำว่า 'เจ้าจอม' ออกเสีย
        เช่นเดียวกับ เจ้านายเดิมทรงเป็นพระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้า หรือแม้แต่เจ้าฟ้า หากถูกลงพระราชอาญา 'ถอด' จากพระเกียรติยศ ตามธรรมเนียมต้องเรียกเจ้านายพระองค์นั้นว่า 'หม่อม'
        เรื่องเจ้าจอมมารดากลีบนี้ ได้ยินผู้ใหญ่สมัยก่อนๆท่านพูดกันว่า ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแคลงพระทัยนั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวรมาช้านานถึง ๔-๕ ปี จึงทรงสงสัยว่า จะทรงประชวรด้วยพระโรควัณโรคภายใน ซึ่งชาววังหลวงก็เป็นโรคเรื้อรังโรคนี้กันมาก โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดแปรพระราชฐานไปประทับตามต่างจังหวัด เช่นทางอีสาน ชลบุรี ซึ่งอาจจะไม่ถูกกับพระโรค หรือทำให้เป็นพระโรค ประการหนึ่ง
        อีกประการหนึ่ง ที่ว่าทรงเห็นเส้นขนอยู่ในชามพระเครื่องนั้น เจ้าจอมมารดากลีบเป็นผู้ทำก็จริง แต่ก็มี เจ้าพนักงานเป็นผู้เชิญ ขึ้นถวาย คือต้องผ่านมือผู้อื่น อาจมีการกลั่นแกล้งกันก็เป็นได้
        เพราะเจ้าจอมมารดากลีบเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปรานออกหน้าออกตายิ่ง กว่าผู้อื่นมาช้านาน จนมีพระโอรสธิดาถึง ๑๒ พระองค์ อาจเกิดการอิจฉาริษยากลั่นแกล้ง ด้วยในวังหน้านั้นมีเจ้าจอมพระสนมมากมาย
        "ท่านเสด็จไปหัวบ้านด้านเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที..."
        (จากพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานไปยังราชทูต พ.ศ.๒๔๑๖)
        ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 'ยกประโยชน์ให้แก่จำเลย' พระราชทานอภัยโทษมิได้ประหารชีวิต
        เจ้าจอมมารดากลีบนั้น เข้าใจกันว่า คงจะเป็นธิดาของเจ้าบ้านผ่านเมือง หรือกรมการเมือง หรือบิดาเป็นผู้มีเชื้อสาย เมืองสุโขทัย เมื่อพระราชทานอภัยโทษแล้ว จึงโปรดฯให้ไปอยู่ ณ เมืองสุโขทัย"
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.094 วินาที กับ 19 คำสั่ง